xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานหญิงแกร่งแห่งคลองเตย!! “เจ๊จง-หมูทอดร้อยล้าน” ผู้ไม่ลืมแบ่งยามวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชีวิตผ่านมาหมด เป็นหนี้ บ้านโดนยึด คิดสั้นฆ่าตัวตาย ครอบครัวแตกแยก แต่ด้วยความขยันอดทน จากร้านข้าวแกงบุฟเฟต์ สู่หมูทอดร้อยล้านชื่อดัง ที่วันนี้มีถึง 13 สาขา พร้อมกอบกู้ครอบครัวให้มาอบอุ่นอีกครั้ง แถมยังใจบุญช่วยเหลือคนในทุกวิกฤต


หมูทอดพลิกชีวิต

“จนวันหนึ่งมาขายหมูทอด จากที่เราไม่เคยถือเงินกลับบ้านเลย เราเริ่มมีเงินกลับบ้าน เริ่มมีเงินอยู่หัวเตียง เจ๊รู้แล้วว่าเจ๊เคลียร์หนี้ได้แน่นอน”

เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จง หมูทอดร้อยล้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังย่านคลองเตย ที่เปิดมานานกว่า 17 ปี จนตอนนี้มีถึง 13 สาขา

ประสบการณ์ชีวิตล้มลุกคลุกคลาน จากการเป็นหนี้ ชีวิตติดลบ จนครอบครัวต้องมาแตกแยก เพราะมีปัญหาการเงิน ชีวิตเป็นทุกข์ถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย ไม่อยากมีชีวิตตื่นมาดูโลกอีกต่อไป

“เจ๊เคยกินยานอนหลับ ตื่นกิน ตื่นกิน จนเจ๊ไม่รู้ว่าวันนี้มันเป็นวันอะไร พอตื่นปุ๊บก็กินอีก คือ มันทุกข์มาก ลืมตาได้ก็คว้ายามากิน จนวันหนึ่งเจ๊ไม่รู้ว่านี่มันเป็นวันอะไร กินแบบไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร มันคือวันอะไร

เมื่อก่อนเจ๊คิดว่าทำไมความทุกข์มันเกาะอยู่ข้างเตียงวะ คือ แบบโคตรทุกข์เลย กินข้าวทั้งน้ำตาเป็นยังไงเจ๊รู้เลย กินไม่ลง เราก็ต้องกินไม่ลง มันเครียดมาก

ทำไมความทุกข์มันทุกข์ขนาดนี้ ทุกข์แบบตื่นขึ้นมา คือ ปัญหามันไม่จบจากเรา ปัญหามันเกาะติดอยู่กับเราตลอด ทำให้เรารู้เลยว่า มันหนียังไงก็หนีไม่พ้นอยู่แล้ว เวลาที่เกิดปัญหา มันมีอยู่ทางเดียว คือ เราต้องแก้ปัญหานั้น”


ชีวิตผ่านมาหมด ทั้งท้อแท้ ผิดหวัง เสียใจ แต่เพราะความขยัน อดทน สู้ชีวิต เริ่มต้นด้วยการเปิดข้าวแกงขาย ร้านเล็กๆ ราคาถูก เป็นทางเลือกให้สำหรับผู้มีรายได้น้อยในชุมชนคลองเตย สามารถพลิกมาสู่หมูทอดเจ๊จง หมูทอดเงินล้านที่ทุกวันนี้ ลูกๆ ช่วยกันบริหารถึง 13 สาขา

เจ้าของร้านหมูทอดชื่อดังย่านคลองเตย เล่าว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เมื่อก่อนตัวเองและสามีเปิดร้านขายของชำเล็กๆ อยู่ในแฟลตคลองเตย มีรายได้พอมีพอกิน ไม่ลำบากมากนัก แต่ต้องมาเป็นหนี้จากความเชื่อใจ

“พอเราไปอยู่ในสังคมแฟลต อยู่ตลาด เจ๊ก็เริ่มเห็นแล้วว่าคนนี้กู้เงินเขามาแพง คนนี้ก็กู้เงินดอกแพง แต่ละคนคือเสียดอกแพงๆ ทั้งนั้นเลย เจ๊ก็ชวนมาอยู่กับเจ๊เลย ชวนแต่คนแย่ๆ ทั้งหมดมาอยู่กับเจ๊ แล้วเป็นเท้าแชร์ จะเล่นกี่มือก็ได้ให้เล่น แล้วให้เปียหมดด้วย พูดแค่คำเดียวมึงอย่าทำกูนะ

พอสุดท้ายปุ๊บอีคนนี้เปียเอาไปหมดปุ๊บฆ่าตัวตาย อีคนนี้เปียเอาไปหมดปุ๊บหนีไป หนีๆ จนแบบตายห่าแล้ว เราไม่ได้เป็นคนรวย ไม่ได้มีเงินสำรอง ก็เป็นหนี้เลยทีนี้”


ครอบครัวเจ๊จงมีสามีและลูกๆ อีก 3 คน โดยลูกสาวคนโตได้ย้ายไปอยู่กับย่าเมื่อครั้งยังเล็กๆ ก่อนจะมีปัญหาต้องแยกกันอยู่กับสามี ส่วนลูกคนเล็กก็ไปอาศัยอยู่กับยาย เพราะปัญหาหนี้สิน และการบริหารเงินที่ผิดพลาด

“เจ๊ก็เริ่มเอาอันนี้มาจ่ายอันนี้ เอาอันนี้มาจ่ายอันนี้ จ่ายๆ สลับๆ กันไป จากหนี้ก้อนเท่านี้ มันก็ค่อยๆ บาน จนเป็นหนี้กองใหญ่ แล้วสรุปสุดท้ายเจ๊ก็มาคิดว่า เราต้องหยุดแล้ว ถ้าเราไม่หยุดตอนนี้เราต้องตายแน่นอน

แต่เจ๊ไม่มีความคิดที่จะหนีหนี้ ตอนนั้นมีอะไรจ่าย จ่าย จนแบบแฟนเจ๊บอกว่า ถ้ากูอยู่กับมึงลูกกูต้องอดตาย แฟนเจ๊ก็พาลูกกลับไปอยู่กับแม่เขา แต่ชั่วโมงนั้นไม่มีความคิดว่าโดนผัวทิ้งเลยนะ คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้เขา

จ่ายแต่หนี้ไม่มีเงินเหลือ แม้กระทั่งลูกไม่มีข้าวกิน เจ๊ยังจ่ายเขา จนเจ๊ต้องเดินไปเซ็นข้าวเขามาให้ลูกกิน แต่ว่าแฟลตที่เจ๊อยู่ เจ๊ก็จำนองหมดนะ คือ มันไม่เหลืออะไร ถูกเขายึด ยึดมาปุ๊บแล้วเจ๊ก็ต้องเช่าเขา เช่าบ้านซึ่งมันเป็นบ้านเรา”

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้สูญเสียไปทุกๆ อย่าง ครอบครัว บ้าน ทรัพย์สิน เงินทอง หมดสิ้นไม่เหลือ แต่สิ่งที่มีอยู่ในความคิดตอนนั้นคือ ต้องใช้หนี้ให้หมด

“ก็เสียใจนะคะ แต่เราไม่รู้จะทำไง ในเมื่อเราอยากจ่ายเขา เจ๊อยากจะบอกหลายๆ คนเลยนะ เจ๊รู้สึกว่าต้องขอบคุณตอนนั้น ทำให้เรารู้สึกว่าทุกวันนี้ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นเราต้องทำไง

เจ๊ได้สอนคนไปหลายๆ คนเลยว่า เวลาที่เป็นหนี้อย่ารั้งเอาไว้ อะไรที่ปล่อยได้ก็ปล่อยไป บางคนจะรั้ง พอยิ่งรั้งหนี้มันยิ่งโต ถ้าเราปล่อย สมมติบ้านปล่อยให้เขายึดไปเลย รถปล่อยให้เขายึดไปเลย สุดท้ายเวลาที่เราปล่อยไปแล้ว แล้วเราลุกขึ้นมาทำให้กลับมันมาเต็มที่ เราได้กลับมาดีกว่าเก่า”


จุดเริ่มต้น หมูทอดร้อยล้าน

ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ เจ๊จง เล่าว่า มีสามีและลูกอีก 3 ชีวิต อาศัยห้องพักเล็กๆ ในแฟลตคลองเตย เปิดร้านของของชำ พอมีรายได้พอกินพอใช้ ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือคน จึงมีเพื่อนฝูงมาก เป็นที่รักใคร่ของพ่อค้าแม่ค้าในละแวกใกล้เคียง

ด้วยความมีน้ำใจและเชื่อใจ จึงได้ตั้งวงแชร์เพื่อระดมเงินทุนให้พ่อค้าแม่ค้า หลุดพ้นจากหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยแพง แต่ก็ไม่เป็นอย่างที่คิด จากเพื่อนที่สนิทไว้ใจ กลับกลายเป็นพิษทำลายชีวิตเป็นหนี้ ครอบครัวต้องแตกแยก

“คือ จริงๆ แล้วตอนนั้นพอเจ๊ลุกขึ้นมา แล้วมาอยู่ตรงนี้ เพื่อที่จะมาขายของ ตอนที่เจ๊มาใหม่ๆ เจ๊ไม่มีเงินมา เจ๊ก็กู้เงินเขามาลงทุนนะ ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลยในการขาย เจ๊ก็ยืมเขา กระทะ ตะหลิว อะไรทุกอย่างเจ๊ยืมเขามาเพื่อที่จะมาขาย เพื่อที่จะหาเงินให้ได้

เริ่มขาย มันก็ไม่ใช่ว่าขายดี เจ๊ก็ขายไป นอนรอลูกค้าไป บางวันเมาอยู่ด้วยซ้ำ หลังจากเลิกกินยานอนหลับ ก็หันมากินเหล้าแทน เมาชนิดที่ว่าเมื่อคืนนี้ไปกินที่ไหนมา ทั้งๆ ที่ไม่มีเงินนะ”


อยากเป็นตัวอย่างที่ดีของลูกๆ จึงหันกลับมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ฮึดสู้อีกครั้ง ขายแบบไม่หวังผลกำไรมากเกินไป คำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก จนทำให้ร้านขายดิบขายดี จนแทบจะไม่มีเวลานั่ง

“จนวันหนึ่งเราก็มีความรู้สึกว่า เราทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะว่าถ้าเราทำแบบนี้ เราจะเป็นแบบอย่างให้ลูกได้ยังไง ตอนนั้นลูกคนกลางอยู่ด้วย แต่ว่าลูกสาวคนโตเขาจะไปอยู่กับย่าตั้งแต่ 3 ขวบ แล้วก็ลูกชายคนเล็กแม่ก็ช่วยเลี้ยง

ก็มาถึงเราก็มาขายอาหารตามสั่ง แรกๆ ก็ยังขายไม่ดี แต่พอตอนหลังขายแบบไม่ได้นั่งเลย เพราะเจ๊จะเป็นคนประเภทที่ว่า พอลูกค้าขอเพิ่ม เจ๊ก็จะได้ค่ะ ได้หมด แล้วจะไม่มีคิดตังค์เพิ่มกับเขา จนลูกค้าเจ๊เยอะมาก เยอะจนแบบไม่มีเวลานั่งเลย”

ขายดีเกินไปก็ไม่ใช่จะส่งผลดี เพราะร่างกายคนเราก็ต้องการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ถึงจะมีแรงกาย แรงใจสู้ต่อ จนได้รับคำแนะนำจากคนรู้จักให้ลองหันมาขายข้าวแกงบุฟเฟต์

อันไหนไม่เป็น ก็ไปฝึกหัด เรียนรู้จากหนังสือตามร้านในห้างจนได้มาเปิดร้านข้าวแกงบุฟเฟต์ ก่อนมาเป็นหมูทอดที่เลื่องชื่อในปัจจุบัน พร้อมกอบกู้ครอบครัวให้กลับมาอยู่ด้วยความอบอุ่นอีกครั้ง

“พอเจ๊ขายอาหารตามสั่งใช่ไหมคะ ก็มีพี่อยู่คนหนึ่งเขาก็มาเห็นเจ๊ทำ เขาจะเรียกอีเจ๊เขาจะเรียกอย่างนี้ ถ้ามึงทำแบบนี้วันหนึ่งมึงต้องตายแน่ๆ เพราะเขาเห็นจากที่เรายืนทำ เขาก็แนะนำเจ๊ก่อนว่าให้ขายข้าวแกงบุฟเฟต์ เจ๊ก็คิดว่าทำไงว่ะข้าวแกงบุฟเฟต์ ทำข้าวแกงก็ไม่เป็น

“เจ๊ก็ใช้วิธีการไปดูคนที่เขาขายข้าวแกงบุฟเฟต์ว่าเขาขายกันยังไง พอเจ๊ไปเห็นปุ๊บความรู้สึกแรกรู้เลยว่าทำได้ พอกลับมาเจ๊บอกกับพ่อเจ๊เลยว่าจะเลิกขายอาหารตามสั่งแล้ว จะมาขายข้าวแกงบุฟเฟต์

ขึ้นไปบนโลตัส แล้วเจ๊ก็ขึ้นไปที่ร้านซีเอ็ด แล้วเจ๊ก็ไปอ่านหนังสือ วิธีการทำว่าทำยังไง แล้วเจ๊ก็มาทำ ตอนที่ทำก็ยังไม่มีเงินซื้อพวกถาดด้วยนะ ก็ไปยืมเพื่อนมา”


หลังจากได้หันมาเปิดร้านข้าวแกงบุฟเฟต์ ทำให้มีรายได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้หนี้ จึงหาลู่ทางค้าขายอย่างอื่นเพิ่มเติม

“ก็มาคิดว่า คนเราเป็นหนี้แล้วเอาเวลาทิ้งไป 7-8 ชั่วโมง มันไม่ใช่แล้ว คือ เจ๊ขายของเสร็จบ่ายโมง แล้วกลับบ้าน กว่าจะนอนคือสองทุ่ม ก็มาคิดว่าแม่ไม่ใช่แล้ว ทิ้งเวลาไปวันหนึ่ง 7-8 ชั่วโมง ตอนนั้นเจ๊คิดอย่างนั้นจริงๆ

แล้วก็คิดว่าแล้วเราจะทำอะไรต่อจากข้าวแกงนี้ดี ตอนแรกคิดว่าจะต้มพวกน้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบอะไรอย่างนี้ แต่คิดของเจ๊แบบไม่ได้ลงมือ มันเหมือนกับว่ามันยังไม่ใช่

ด้วยความบังเอิญ ไปซื้อข้าวเหนียวหมูมาให้ลูกกิน แต่ในห่อนั้นมีหมูเพียงแค่ 4 ชิ้น คิดว่ามันน้อยไปสำหรับผู้บริโภค นั่นจึงเป็นที่มาของการริเริ่มอยากขายหมูปิ้ง

“แล้วบังเอิญมาก เจ๊ไปซื้อข้าวหมูทอดมาให้ลูกกิน พอเปิดออกมาปุ๊บมันมี 4 ชิ้น เจ๊บอกกับน้องแต้ว (ลูกสาว) เลย ตอนนั้นน้องแต้วนั่งอยู่ข้างๆ น้องแต้วมึงคอยดูนะ แม่จะทำให้มึงดู แม่จะขายอันนี้

พอวันรุ่งขึ้น เจ๊ไปซื้อข้าวแกงมาทำขายปกติ แต่เจ๊ซื้อหมูมาอีก 8 โล เพื่อที่จะทอดขายต่อจากข้าวแกง พอข้าวแกงหมด เจ๊เก็บถาด พอลูกค้ามา ข้าวแกงหมด เจ๊ก็บอกไอ้น้องมึงรอก่อน เดี๋ยวเจ๊จะมีหมูทอดขาย ซึ่งตอนนั้นแฟนเจ๊ก็ลุกขึ้นมาช่วยเจ๊ทอด ลูกเจ๊ก่อนไปโรงเรียนก็มาช่วยเจ๊ขายก่อน”


รู้จักแบ่งปัน ไม่ฉวยโอกาสในยามวิกฤต

“เจ๊เชื่อว่าวิกฤตทุกอย่างเราจะหนีไปคนเดียวไม่ได้ เดินคนเดียวไม่ได้ มันต้องไปด้วยกันค่ะ จับมือกัน แล้วช่วยกัน”

นอกเหนือจากร้านขายข้าวแกง หมูทอด ที่คนรู้จักแล้ว สิ่งที่ทำให้คนรู้จักอีกอย่างหนึ่ง คือ “การให้” เป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นขายอาหารราคาถูก เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนมีรายได้น้อยให้ได้กินอาหารอร่อย

ขณะเดียวกัน ในยามที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ก็ไม่เคยละเลยสังคม ยังทำอาหารกล่อง แจกจ่าย ช่วยเหลือสังคม

“มีไป 4 โรงพยาบาลค่ะ มี บำราศนราดูร รามาธิบดี ราชวิถี แล้วก็บ้านแพ้ว คือ จริงๆ แล้ว ครอบครัวเจ๊แต่ละคนเป็นคนที่ชอบทำพวกนี้อยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยยังไม่เป็นเจ๊จง ก็แจกกันอยู่แล้ว แล้วพอดีโชคดีที่ได้เข้ามาอยู่ในกลุ่ม “Chefs for Chance” ซึ่งมี พี่หนุ่ย-ดร.ศิริกุล เลากัยกุล เป็นคนก่อตั้งโครงการนี้

แกก็โทร.มาบอกเจ๊ประมาณว่า เจ๊จงจะทำได้ไหมวันละ 1,200 กล่อง เพื่อที่จะส่งไปให้คุณหมอกับพยาบาล ตามโรงพยาบาลต่างๆ เจ๊ก็บอกว่าได้ค่ะ แต่มีข้อแม้ว่าทางเจ๊จะต้องซัปพอร์ตตัวเอง ควักเงินออกมาก่อน

เพราะว่าจริงๆ แล้วโครงการ “Chefs for Chance” มันเป็นโครงการที่เราลุกขึ้นมาให้โอกาสแก่คนที่ไม่มีโอกาสเหมือนอย่างเรา”
นอกจากนี้ ยังหยิบยื่นและให้โอกาส รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ โดยการเข้าไปฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ จนกลายเป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมน้ำใจที่คนใจบุญมักแวะไปร่วมสมทบทุนทำโครงการ

“มีเข้าไปสอนอาชีพให้แก่น้องๆ ในเรือนจำ ใครเก่งอาชีพอะไรก็ไปสอน อย่างเจ๊ก็ไปสอนวิธีการทำหมูทอด ทำผัดกระเทียม แล้วก็ปูจ๋า

มันก็เหมือนเราคืนให้แก่สังคม คนเราจะอยู่แบบเอาอย่างเดียวมันก็ไม่ได้ใช่ไหม ยิ่งในวิกฤตแบบนี้ เจ๊ยังบอกลูกเลยนะ บอกว่าในวิกฤตแบบนี้เราจะโลภไม่ได้

เจ๊มีความรู้สึกว่า เขาบ้างเราบ้าง แบ่งกันค่ะ ไม่ใช่ว่าเราขายแล้ว เราจะไม่เอากำไรเลย เราก็เอากำไร แต่กำไรของเราก็คือเหมือนกับว่าเราก็อยู่ได้ ลูกเจ๊แต่ละคนที่เปิดสาขา เขาก็เปิด เขาก็อยู่กันได้ มีกำไร แต่กำไรของเรา เราไม่ได้แบบโลภค่ะ


ไม่เพียงเท่านี้ สำหรับช่วงเศรษฐกิจซบเซา ยังมีโครงการ “เราจะรอดไปด้วยกัน” ให้วินมอเตอร์ไซค์และคนขับแท็กซี่รับข้าวกล่องไปขายด้วยวิธี “ใจแลกใจ” รับไปขายก่อน มาจ่ายทีหลัง

เชื่อว่า ยิ่งให้ยิ่งได้ ความสุขจากการได้ให้ นับว่าเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไมได้ พร้อมยังเชื่ออีกว่า ตราบใดที่สังคมเรายังมีน้ำใจต่อกัน ต่อให้วิกฤตหนักแค่ไหน ก็จะสามารถข้ามผ่านไปได้อย่างแน่นอน

“ยิ่งให้ยิ่งได้ อันดับแรกเลยลูกค้ากลับมาอุดหนุนเจ๊แบบเยอะมาก แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง เจ๊ก็จะเห็นในองค์กรเรา เด็กหลายๆ คนก็จะได้รู้จักคำว่าให้ เราให้แล้วเป็นยังไง ครอบครัว หรือลูกเจ๊ ก็จะเห็นว่าสิ่งที่แม่ทำมันเป็น

คือ สิ่งที่เราให้ตั้งแต่แรก เราไม่ได้คิดถึงว่าเราให้ แล้วเราจะได้ มันเกิดจากที่เราอยากให้ก่อน แต่สุดท้ายสิ่งที่มันได้กลับมา มันยิ่งกว่าผลกำไรที่เราขายแต่ละวันอีกนะ โคตรมีความสุขเลยว่าง่ายๆ มันเป็นอะไรที่แบบว่า คำว่าให้มันยิ่งกว่ารับอีกนะกับสิ่งที่เราให้เขา”


และด้วยแนวคิดที่มีความจริงใจต่อลูกค้า ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะขนาดไหน ทางร้านก็ไม่เคยได้รับผลกระทบเรื่องรายได้เลย

“ไม่ว่าวิกฤตอะไรจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่ เจ๊ไม่เคยเลยที่จะขายไม่ได้ จุดยืนของเจ๊ ก็คือว่า ต้องถูก ทุกอย่างต้องดี แล้วก็ต้องมีน้ำใจ คืออย่างถูกของเจ๊ ขายมา 17 ปี ขึ้นมา 6 ครั้ง ครั้งละบาท เท่ากับข้าวใส่ถุงที่กลับบ้านราดหมู แต่ก่อนขาย 15 บาท เริ่มจาก 10 บาทด้วยซ้ำนะ 15 บาท นี่คือพิเศษเลยนะ แล้วก็ค่อยๆ ไล่มา จนทุกวันนี้ถุงละ 21 บาท

ไม่กระทบเลย ขายดีด้วยซ้ำ ยอดมันจะพุ่งขึ้นไป แต่สุดท้ายเลย คือ เจ๊รับไม่ได้ รับไม่ได้เลยกับการที่คนมาต่อแถว แล้วไม่ยอมอยู่กันห่างๆ คือ ไม่ใช่ว่าเราไม่จัดระเบียบ เราจัดระเบียบแล้ว เราตะโกนบอกแล้วทุกอย่าง แต่เขาไม่ฟังเรา เราเลยต้องหันกลับมาปรับตัวเราเอง

เรียกลูกมาคุย ในวิกฤตแบบนี้เราจะโลภไม่ได้ เราจะไม่เห็นแก่ยอดที่มันพุ่งขึ้นไป เจ๊ก็เลยมาคุยกันว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า เราเลิกทำกับข้าวเลย บางสาขาที่เขาทำเอง เขายังทำอยู่ แต่บางสาขาที่ต้องเอาจากที่นี่จะไม่มีกับข้าว จะเป็นแต่หมูกับของทอด ปรากฏว่า ยอดหายไปคือเป็นครึ่งหนึ่งเลย แต่เราขายแล้วมีความสุขกว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นแต่ละวิกฤต ร้านเจ๊ก็ขายได้ทุกครั้งเลยนะคะ”

ท้ายนี้ยังฝากให้กำลังใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบกับสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า ขอให้สู้ๆ ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสเสมอ

“ก็อยากให้กำลังใจ ตอนนี้อย่างเพื่อนๆ กัน ที่ขายกันไม่ได้ อยากให้เขาสู้ๆ ค่ะ มันไม่มีคำไหนนอกจากคำว่าสู้ๆ แล้ว แล้วก็ลองหันมามองสิว่าเราจะปรับเปลี่ยนยังไง”

สัมภาษณ์ รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “ร้านหมูทอดเจ๊จง”


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น