xs
xsm
sm
md
lg

คนเดือดร้อนจากโควิด-19 ทะลัก จนของหมดโกดัง!! “มูลนิธิกระจกเงา” เผยเสี่ยงอดตาย-ฆ่าตัวตายพุ่ง!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เรานิ่งเฉยกับสถานการณ์นี้ไม่ได้ และปล่อยให้คนอดในสภาวะแบบนี้ไม่ได้” เสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่ “มูลนิธิกระจกเงา” หลังขอรับบริจาคข้าวสาร-อาหารแห้ง หวังช่วยผู้ป่วยติดเตียง-คนเดือดร้อนจากไวรัสร้าย จนของบริจาคหมดโกดัง ย้ำวิกฤตหนัก เพราะยังมีคนรอการช่วยเหลือหลักหมื่น!!




เดือดร้อนหนัก ถึงขั้นแย่งกันเก็บ “ผักข้างทาง” กิน!!




“เราประกาศว่าคนที่เดือดร้อน ให้เข้ามาหาเราได้เลย เราจะส่งข้าวสารอาหารแห้งไปให้ ขอให้คน inbox เข้ามาหาเรา หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว inbox ของทุกเพจมูลนิธิ (กระจกเงา) มีคนส่งข้อความเข้ามา


แล้วของในโกดังเราก็แพกส่งออก ภายในสัปดาห์เดียวหมดเกลี้ยงเลยค่ะ ในขณะที่ใน inbox ยังมีคนขอความช่วยเหลือ ทยอยกันเข้ามาเป็นพัน คิดว่าตอนนี้น่าจะเข้าหลักหมื่น”





ตี๋ - วีรภรณ์ ประสพรัตนสุข หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร และระดมทุนมูลนิธิกระจกเงา เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live หลังทางมูลนิธิกระจกเงาวิกฤตหนัก ขอรับบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจาก สถานการณ์โควิด-19 จนกระทั่งของในโกดังหมดเกลี้ยง ซึ่งตอนนี้ยังมีผู้เดือดร้อนอีกจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือ
โดยทำภายใต้โครงการอาสามาเยี่ยมบ้าน เธอได้บอกเล่าว่าก่อนหน้านี้ได้เปิดรับข้าวสาร อาหารแห้งให้แก่ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุอยู่แล้ว


“เราคิดว่าสภาวะแบบนี้ โครงการอาสามาเยี่ยม รวมถึงมูลนิธิกระจกเงา เรามี Skill ที่ดูแลคนเจ็บ คนยากไร้ คนไร้ที่พึ่งแบบนี้มาระยะยาว 10 ปี เราดูเรื่องนี้มา 10 ปี ดังนั้นเรานิ่งเฉยกับสถานการณ์นี้ไม่ได้ เราปล่อยให้คนอดในสภาวะแบบนี้ไม่ได้ ดังนั้น มูลนิธิเราจึงทำเท่าที่ทรัพยากร เราจะทำทุกทางเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดตามที่กำลังมูลนิธิมีอยู่”


ไม่เพียงเท่านี้เมื่อเกิดเหตุโควิด-19 ขึ้นมา เธอสะท้อนให้เห็นการจัดการของระบบของภาครัฐ ส่งผลให้ครอบครัวเหล่านี้ได้รับผลกระทบตามมาทันที และด้วยสายงานที่ต้องลงพื้นที่กลับเห็นภาพความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น จนถึงขั้นเก็บหญ้ามาขาย เพื่อประทังเอาชีวิตรอด


"เราไปลงชุมชนแถวอ่อนนุช ที่นี่ถึงขั้นว่าเขาไปเก็บผัก เก็บหญ้ากินตามทาง ส่วนหนึ่งก็กลายเป็นวิถีชีวิต เป็นทางรอดใหม่ ส่วนหนึ่งก็เอามาต้มกิน ตอนนี้เริ่มมีคู่แข่งแล้ว คนแย่งกันเก็บเพื่อเอาไปขาย

คนกลุ่มเหล่านี้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นเพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มพวกแรงงานก่อสร้าง คือพอไม่มีการจ้าง เขาก็ไปเก็บผัก มีอะไรบ้าง เช่น กระถินอย่างนี้ที่ขึ้นริมทาง ตำลึง ผักหวานที่ขึ้นข้างทาง แล้วก็เอามาขายกับตลาดนัดที่เปิดอยู่ (เขา) ไม่ได้ขายได้กับทุกตลาดนัด เพราะบางตลาดเขาปิดไปแล้ว ก็ขายไม่ได้ก็อยู่แบบประทังชีวิตเลย ค่อนข้างยากลำบากเลยค่ะ

หรืออย่างวันนี้มีเคสที่เราโทร.คุย โทร.กลับไปหาเขา คือมันยังมีอีกหลายเคสที่เข้าไม่ถึงระบบออนไลน์นะคะ ยากจนจริงๆ เลย แล้วตกหล่นมากๆ ดังนั้น มาตรการรัฐที่บอกว่าให้ส่ง (ชื่อ) ลงทะเบียนเข้ามาทางระบบออนไลน์ได้เลย ไม่ต้องเดินเข้ามาหาจะได้ลดความแออัด

ในความเป็นจริงมันมีกลุ่มพวกนี้ที่เขาเข้าไม่ถึง โดยไม่มีแม้กระทั่งโทรศัพท์อย่างนี้ค่ะ คือมีแบบนี้เต็มเลย วันนี้มีโทร.เข้ามาหาเรา เราโทร.คุยกัน เคสนี้ขาดทุกอย่างไม่มีอะไรเลย เหลือข้าวครึ่งกิโล แล้วก็คิดสั้นไปแล้วด้วย จะรมแก๊สฆ่าตัวตายยกครอบครัวเลย 6 คน ปรากฏว่าแก๊สหมดก่อน คือแก๊สยังมีไม่พอ ก็เลยไม่สำเร็จ แล้วก็ติดต่อเข้ามาหาเรา วันนี้เราส่งข้าวสารอาหารแห้งไปแล้ว”

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19 หลายคนได้รับความเดือดร้อน ต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งสำหรับการช่วยเหลือให้ทั่วถึงนั้น เพียงองค์กรเดียวนี้คงเป็นเรื่องที่ยาก เมื่อถามว่าของบริจาคที่ได้รับ มีมาตรการการจัดการ และตรวจสอบให้ถึงผู้เดือดร้อนจริงๆ

อย่างไร หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรคนนี้บอกว่า ทางมูลนิธิมีการตรวจสอบข้อมูล ให้ทั่วถึงผู้เดือดร้อน และสิ่งของที่ให้นั้นจะดำรงชีพได้ถึง 3 อาทิตย์



“แต่ละเคสที่เราส่งไปให้ได้อยู่อย่างน้อย 3 สัปดาห์อยู่แล้ว ดังนั้น เราจะพยายามสกรีนไม่ให้ส่งซ้ำ แล้วก็ดูว่าเดือดร้อน ได้รับผลกระทบแน่ๆ ยังไงเราส่งให้ค่ะ สิ่งของที่ให้เป็นข้าวสาร อาหารแห้ง เราระบุแม้กระทั่งว่าถ้าครอบครัวคุณมีเด็กอ่อน ให้คุณระบุมีแบบฟอร์มให้ใส่เลย


ถ้าคุณมีผู้ป่วยติดเตียงขอให้คุณระบุเราจะได้แจกของให้ตรงจุด ถ้าคุณเป็นมุสลิม คุณต้องการอาหารฮาลาลอย่างนี้ เราจะได้ระบุให้ อย่างเด็กอ่อนถ้าเป็นมุสลิมด้วยอย่างนี้ เราจะได้ส่งได้ถูก ส่งนมผงที่มีสัญลักษณ์ฮาลาลไปแบบนี้ค่ะ ก็คือเราลง detail ขั้นนั้นเลย”







กว่า 700 หลังคาเรือนรอช่วยเหลือให้ตรงจุด



นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ยังมีอีกเรื่องราวที่ทำให้หลายคนๆ เกิดการตั้งคำถาม ถึงการออกมาตั้งรับบริจาค ซึ่งเขายังสะท้อนให้ฟังว่าหากภาครัฐ และเอกชนมีการจัดระบบการช่วยเหลือเชื่อมโยงเข้าหากัน อาจจะทำให้ระบบตรงนี้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
“คิดว่าจริงๆ ตอนนี้ทุกภาคส่วนพยายามช่วยกันอยู่แล้ว ทั้งภาครัฐ ทั้งเอกชน แต่ว่าสิ่งที่อาจจะทำให้เข้มแข็งมากขึ้น คือการเชื่อมโยงความช่วยเหลือเข้าหากัน ซึ่งคิดว่าภาครัฐถ้ามีหน่วยประสานกลาง เพื่อเชื่อมโยงการช่วยเหลือ ก็จะทำให้เห็นความหนักเบาว่าที่ไหนควรได้รับความช่วยเหลือ หรือว่าองค์กรที่มีศักยภาพ ที่ทำได้ครอบคลุม ก็จะได้ทำตรงจุดได้แม่นยำมากยิ่งขึ้นก็คือจะช่วยได้เยอะ


แต่จริงๆ ต้องมีการจัดระบบความช่วยเหลือ แล้วก็เอาโครงสร้างทางสังคมที่มีอยู่เดิม หยิบขึ้นมาใช้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น”
ทว่า การทำงานร่วม 10 ปี จากภาวะเชื้อไวรัส ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาทำให้เพวกเขาทำการบริจาคให้แก่ครอบครัวของผู้ป่วย รวมถึงผู้เดือดร้อนไปมากกว่า 700 ครอบครัว ทำให้การช่วยเหลือนั้นไม่เพียงพอ


“คือเราทำงานเรื่องนี้มา 10 ปีแล้ว เราอยากให้เชื่อมั่นในเรื่องการส่งออกของเรา ตอนนี้เวลาความช่วยเหลือ มันเข้าไป มันจะเป็นไปที่ระบบสาธารณสุข เน้นไปที่การหยุดอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19


แต่ตอนนี้ตัวเลขอีกตัวเลขหนึ่งที่กำลังจะพุ่งขึ้นแทนที่ คือผู้คนที่คิดฆ่าตัวตาย ผู้คนที่กำลังจะอดอยากอยู่ในตอนนี้ เรามีมาตรการที่จะปิดไปอีก 1 เดือนอย่างนี้ ยอดคนเหล่านี้ที่เดือดร้อนจากเหตุการณ์แบบนี้ ในทางอ้อม ทางตรง


ทางตรงคือเสียชีวิตจากเหตุการณ์โควิด-19 ทางอ้อมก็คือความอดอยาก ความเดือดร้อนเหล่านี้กำลังจะเป็นตัวเลขที่ขึ้นมา


ดังนั้น มูลนิธิเราดูแลเรื่องนี้อยู่พอสมควรเลย เราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ สามารถที่จะส่งข้าวสารอาหารแห้ง รวมถึงอาจจะสมทบทุนเข้ามาให้เรา และเราจะขอเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะส่งต่อความช่วยเหลือนี้ เราจะพยายามทำให้เราได้แบบครอบคลุมที่สุด แล้วก็จะพยายามทำให้ใช้ทุกสิ่งที่คุณบริจาคให้เราให้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด


คือเพราะว่าตอนนี้เชื่อว่าทุกหน่วยงาน พยายามจะเซ็ตเรื่องนี้ขึ้นมาอยู่แล้ว กระจกเงาก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรหนึ่งที่จะพยายามเซ็ตระบบนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือคนให้ได้ครอบคลุมที่สุดเช่นกัน”


สุดท้ายหากต้องการบริจาค เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้เดือดร้อนผ่านมูลนิธิกระจกเงา ตอนนี้ยังสามารถส่งข้าวสารอาหารแห้ง ของอุปโภคบริโภคได้ ทางมูลนิธิยังคงเปิดรับ และยืนยันว่าจะนำสิ่งของเหล่านี้ไปให้ครอบคลุมพื้นที่เดือดร้อนให้มากที่สุด

“ถ้ากับมูลนิธิกระจกเงา คุณสามารถส่งข้าวสารอาหารแห้ง เข้ามาให้เราได้ต่อเนื่องเลยนะคะ เรารับทั้งหมดเลย แล้วก็โดยเฉพาะนมผง นมเด็ก แพมเพอร์สผู้ใหญ่ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ เรารับต่อเนื่อง คุณส่งให้เราได้มากเท่าไหร่ เราส่งออกได้มากเท่านั้น

สำหรับผู้บริจาคที่จะบริจาคเข้ามาเรารับข้าวสารอาหารแห้ง เรารับของที่จะช่วยเหลือผู้เดือดร้อนให้มากที่ตรงจุดให้มาก อยากให้มั่นใจว่าเราก็จะพยายามเซ็ตระบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้ของที่คุณบริจาคเข้ามา ส่งถึงผู้คนให้ครอบคลุมที่สุดเช่นกัน”

สำหรับคนที่อยากเป็นหนึ่งในคนยื่นมือช่วยเหลือสามารถบริจาคได้ที่มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191 ซอยวิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 สอบถามเพิ่มเติม โทร.06-1909-1840





ข่าวโดยทีมข่าว MGR Live

ขอบคุณภาพ : FB "มูลนิธิกระจกเงา"




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น