ปรากฏการณ์ลดครึ่งราคา! รถแบรนด์ดัง “เชฟโรเลต” ทำเอาคนซื้อ “ราคาเต็ม” ไม่พอใจ รวมตัวเรียกร้อง “คืนเงินชดเชย-ยกเลิกสัญญาซื้อ” แต่เกิดกระแสตีกลับซะงั้น! ล่าสุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สะท้อน โปรโมชั่นหั่นราคาเป็นสิทธิ์ของผู้ขาย แต่ควรมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เรื่องบริการด้วยเช่นกัน!!
โปรลด 50% เอาเปรียบผู้บริโภค!?
“เราซื้อราคาเต็ม เห็นใจเราบ้าง พวกคุณทิ้งขว้างความเชื่อใจจากเรา”
ข้อความสุดช้ำใจจากกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อ “เชฟโรเลต” หลังมีการเปิดจองรถ โดยหั่นราคาเหลือครึ่งเดียว! สาเหตุจากบริษัทประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเลิกผลิต และเลิกจำหน่ายรถยี่ห้อเชฟโรเลตภายในสิ้นปี 2563 ทำให้มีประกาศลดราคาแบบไม่เคยมีมาก่อน
โดยมีราคาจัดโปรโมชั่นพิเศษ ลด 50% อย่าง CAPTIVA รุ่น LS 5 ที่นั่ง 499,000 บาท, CAPTIVA รุ่น LS 7 ที่นั่ง 510,000 บาท, CAPTIVA รุ่น LT 605,000 บาท และ CAPTIVA Premier 671,000 บาท จากราคาเดิมที่เกือบแตะหลักล้านในบางรุ่น!
เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจกับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ “ราคาเต็ม” ไปก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด นำมาสู่การรวมตัวออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากบริษัทผู้ผลิต โดยมีลงชื่อกันกว่า 100 คน เข้าร้องสำนักงานใหญ่ พหลโยธิน เนื่องจากมองว่าได้รับผลกระทบจากการขายล้างสต็อกก่อนปิดโรงงาน
โดยใจความสำคัญของการร้องเรียก หวังให้ชดเชยราคารถยนต์ที่ขาดหายไปตามจำนวนที่ทางบริษัทฯ ลดราคาให้ผู้ซื้อรายใหม่ เรียกง่ายๆ ว่าให้ชดเชยครึ่งต่อครึ่งที่กลุ่มผู้ซื้อราคาเต็มจ่ายไป
รวมถึงร้องเรียนให้ครอบคลุมถึงผู้ที่ซื้อรถยนต์รุ่นดังกล่าวตั้งแต่ที่มีการจำหน่ายครั้งแรกในประเทศไทย ที่สำคัญต้องยินยอมให้มีการยกเลิกสัญญาการซื้อขายดังกล่าวด้วย
“สาเหตุที่ออกมาเรียกร้อง ประเด็นหลักๆ มี 2 ส่วน คือ ผลกระทบเรื่องยุติการขาย ต้องการให้บริษัทมีความชัดเจนทำให้เป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีแผนการรับประกัน ศูนย์บริการ รับประกันสำรองอะไหล่ให้แน่ชัด
ต่อมา คือ ผลกระทบเรื่องการลดราคา กระทบโดยตรงกับลูกค้าที่ไว้ใจแบรนด์ ซื้อสินค้าราคาเต็ม โดยที่ทางบริษัทไม่มีการชี้แจงใดๆ ออกมาว่ากำลังจะปิดตัวลง หลังจากเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในระยะเวลาประมาณ 4 เดือน นอกจากนี้ผลกระทบที่ตามมาคือ ยอดสินเชื่อไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยต่างๆ เรื่องประกันภัยรถยนต์”
ส่วนหนึ่งจากคำพูดของตัวแทนกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์เชฟโรเลตในราคาเต็ม ขณะที่อีกกระแสก็ร้อนระอุไม่ต่างกัน เมื่อเกิดความคิดเห็นตีกลับถึงการออกมาร้องเรียนของลูกค้าที่ซื้อราคาเต็มว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกไปเรียกร้อง เพราะเจ้าของบริษัทเองก็มีสิทธิ์จัดโปรโมชั่นลดราคา อีกทั้งยังมองว่าการให้ชดเชยเงินคืนเป็นเรื่องที่ไม่สมควร
“ไปเคืองทำไม ในเมื่อตอนนั้นเขายังไม่จัดโปรโมชั่น ตัวคนซื้อก็รู้เองอยู่แล้วว่ารถราคาเท่าไหร่ก็ยอมที่จะผ่อนเองไม่ใช่หรือ อันนี้มันราคาโปรโมชั่น มีสิทธิ์ของทางผู้ขายที่จะจัดโปรโมชั่นตอนไหนก็ได้ ดันไปซื้อก่อนเองช่วยไม่ได้
“เป็นข้อเรียกร้องที่ฟังไม่ขึ้นเลย แบบนี้ใครซื้อก่อนลดราคาก็ประท้วงได้หมดสิ สินค้าในโลกนี้ก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว อย่างการซื้อของแบรนด์เนม วันนี้ซื้อราคาเต็ม พรุ่งนี้ลด 70% ก็เกิดขึ้นบ่อยๆ เจ็บใจก็เจ็บใจ แต่เรียกร้องไปก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี เพราะมันก็เป็นโปรโมชั่นของทางร้าน”
“ที่เรียกร้องมาเห็นด้วยเรื่องบริการหลังการขายที่ทางบริษัทต้องยืนยันให้ได้ว่าจะดูแลยังไงต่อ แต่เรื่องที่บอกว่าเพราะซื้อราคาเต็ม นี่ไม่เห็นด้วยนะ มันก็เรียกว่าเป็นความพอใจจะซื้อนะตอนนั้น แต่ปัจจุบันเขาจัดโปรโมชั่น ไม่น่าจะเรียกร้องอะไรได้”
ขณะที่ล่าสุด เชฟโรเลต ได้มีแถลงการณ์ออกมาเพื่อตอบคำถามสังคมด้วยว่า บริษัทไม่สามารถดำเนินการตามคำร้องขอเพื่อให้ชดเชยคืนเงินในกรณีดังกล่าวได้
โดยยืนยันว่าลูกค้าจะยังคงสามารถนำรถยนต์เชฟโรเลตมาเข้ารับบริการต่างๆ เช่น การซ่อมบำรุง และอะไหล่แท้มาตรฐาน ได้ที่ศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลตทั่วประเทศไทย
อย่าหลงกล “ราคาถูก-โปรไฟไหม้”
“เราไม่ได้มีปัญหากับการเลิกกิจการ แต่เรามีปัญหาว่าคุณเลิกกิจการแล้ว คุณก็ต้องรับผิดชอบผู้บริโภคด้วย คุณไม่ได้เจ๊ง แต่คุณเลิกกิจการเพราะกำไรน้อย ฉะนั้น การที่กำไรน้อยก็ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบผู้บริโภคด้วยเหมือนกัน”
“สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สะท้อนปมดราม่า “เชฟโรเลต” กับทีมข่าว MGR Live หลังจากที่มีการรวมตัวของกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าว ซึ่งในฐานะตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองเรื่องนี้ว่าบริษัทรถยนต์ควรแสดงความรับผิดชอบอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะการทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการ
“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีประเด็น 3-4 ประเด็น คือ เราคิดว่าคนที่ซื้อรถของเขาแล้วยังไม่หมดสัญญา หมายถึงว่าเวลาซื้อรถจะมีสัญญารับประกัน 1 แสนกิโลฯ ถือว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้ ทางเชฟโรเลตจะรับผิดชอบอย่างไร
ในกรณีนี้เราก็เสนอกันว่าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องเรียก GM มาทำข้อตกลง เพื่อที่จะให้รับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยที่อาจจะขอให้มีการวางเงินประกัน จริงๆ แล้วคนที่ซื้อตอนลดราคาก็ไม่ได้หมายความว่าไม่รับผิดชอบ แต่แน่นอนเราหมายถึงคนที่อาจซื้อรถไปก่อนหน้านั้น เช่น ช่วงปลายปี
หรือคนที่ซื้อช่วงลดราคา เขาก็ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน คุณขายถูกลง แต่แน่นอนเราก็เป็นห่วงคนกลุ่มที่ซื้อก่อนหน้านี้ไม่นาน เรียกว่าคุณไม่รู้เลยว่าบริษัทจะปิดกิจการ ซึ่งใครจะไปรู้ว่าบริษัทจะปิดกิจการ เราคิดว่าเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ไม่ใช่ว่าพอคุณจะปิดกิจการ คุณบอกผู้บริโภคแค่นี้ ไม่ถูกต้อง
เพราะรถคุณมีการรับประกันอย่างน้อย 3 ปี 1 แสนกิโลฯ ฉะนั้น คุณก็ต้องรับผิดชอบตามนั้น ไม่ใช่จะไม่รับผิดชอบอะไรเลย เราก็คิดว่าอยากให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเรียกให้บริษัทมารับประกันตรงนี้”
เมื่อถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่าผู้บริโภคสามารถเอาผิด หรือเรียกร้องส่วนไหนได้บ้าง ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้คำตอบว่าสิ่งที่ค่อนข้างเป็นห่วงที่สุดคือ “ความรับผิดชอบหลังการขาย” ที่บริษัทจะต้องทำบันทึกข้อตกลงให้แน่ชัดว่า หลังการซื้อสินค้าแล้วต้องมีศูนย์รับรอง หรือการบริการเพื่อผู้บริโภคจริงๆ
“แน่นอนตอนนี้ไม่ใช่ว่าคุณบอกว่าเลิกผลิต เลิกจำหน่ายแล้วก็ไปเลย โดยที่คุณไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราเรียกร้อง ซึ่งผู้บริโภคที่ซื้อก็ต้องติดตามว่าบริษัทจะจัดการเรื่องเหล่านี้ให้อย่างไร เช่น ต้องมีศูนย์ซ่อม ระบบอะไหล่ ฉะนั้น เราถึงเรียกร้องให้เขามาทำบันทึกข้อตกลง
อาจจะมีเงินประกัน ถ้าสมมุตว่าเงินประกันเหลือ เราก็คืนเขาไป เราไม่ได้หมายความว่าจะเอาเงินของเขามาเก็บไว้ นอกจากนี้มีข้อเสนอ ให้ สคบ. เรียกมา บริษัทต้องรับผิดชอบต่อสินค้า เช่น ถ้ามีการยอมรับว่าจะรับประกันแสนหนึ่งก็ต้องรับผิดชอบตามนั้น
อีกอย่างหนึ่ง ขอให้บริษัทชี้แจงว่าจะมีนโยบาย และความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคอย่างไร ก่อนที่จะยุติการผลิตและการจัดจำหน่าย เราได้ข้อมูลว่าจริงๆ บริษัทรถยนต์มีกำไรมากมายมหาศาล เช่น 200% ฉะนั้นความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคต้องมี”
ส่วนประเด็นที่หลายคนออกมาเรียกร้องเรื่องซื้อรถราคาเต็ม เรื่องนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่า ถือเป็นกลยุทธ์การขายของเจ้าของแบรนด์ที่สามารถจัดโปรโมชั่นลดราคาได้
ซึ่งคงไม่สามารถเอาผิดได้ในเรื่องนี้ พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายถึงผู้บริโภคด้วยว่าอย่าหลงเชื่อโปรราคาถูก แม้จะเป็นสิทธิของผู้บริโภค แต่แนะให้พิจารณาให้ดีก่อน
“ประเด็นนี้เราคิดว่าเป็นเรื่องของเทคนิคการขาย เราเป็นห่วงเรื่องความรับผิดชอบที่จะมีต่อตัวรถมากกว่า แต่ประเด็นเรื่องที่บอกว่าตอนนี้ขายราคาเท่านี้ อันนี้เป็นมาตรการส่งเสริมการขายของเขา ซึ่งเราก็คงไม่ไปยุ่ง แต่คุณจะส่งเสริมการขายยังไง คุณต้องรับผิดชอบผู้บริโภค
จริงๆ เราคิดว่าผู้บริโภคไม่ควรไปหลงกล โปรไฟไหม้ แต่ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลนะ พูดอะไรไม่ได้ ใครๆ ก็ชอบของถูก แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบนะ มันไม่ใช่ราคาบาทเดียว แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งเราก็ไม่ไปก้าวล่วง
เรื่องคนที่มาเรียกร้อง (ซื้อราคาเต็ม) ก็คงไม่พอใจด้วย แต่ตรงนั้นมันเป็นเรื่องของกลยุทธ์การขาย ไปทำอะไรไม่ได้หรอก สมมุตว่าเราซื้อของวันนี้แล้ววันรุ่งขึ้นลดราคา 50% มันก็อาจทำอะไรยาก แต่สิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบก็คือตัวผลิตภัณฑ์ของเขา ไม่ว่าเขาจะขายราคาเท่าไหร่ก็ตาม”
ข่าวโดย MGR Live