xs
xsm
sm
md
lg

"แม่ค้าเกียรตินิยม" พิสูจน์โชวห่วยยังไม่สิ้นลม โกยหลักแสนต่อเดือน!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจทายาทร้านโชวห่วย “เสาวนีย์ ซำหว้า” จากเด็กเกียรตินิยมสาธารณสุข ชีวิตพลิกผัน ทิ้งงานที่เมืองนอกตัดสินใจเลือกครอบครัว เริ่มต้นชีวิตสู่แม่ค้าร้านขายของในชุมชน ที่โกยรายได้หลักแสนต่อเดือน สู้ท่ามกลางกระแสทุนนิยมได้อย่างประสบความสำเร็จ

เพราะรายได้ “โชวห่วย” จึงส่งลูกจบสูงได้

“ไม่เคยคิดว่าร้านโชวห่วยจะตาย สินค้าที่จะขายมันมีตั้งหลายอย่าง เราไม่รู้ว่าทำไมข่าวมันออกไปว่า โชวห่วยจะล้ม เพราะว่าเซเว่นมา อย่างที่พนมสารคามที่เป็นแหล่งโชวห่วยเก่าแก่ เซเว่นก็ไม่สามารถตีได้นะ คือสินค้ามันมีรายละเอียดของมันอยู่แล้ว”
กช-กชณถกล เชาวน์เจริญ ทายาทร้านโชวห่วย “เสาวนีย์ ซำหว้า” วัย 37 ปี ชาวจังหวัดปราจีนบุรี เปิดใจถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต จากเด็กเรียนจบเกียรตินิยมสาธารณสุข ทำงานอยู่เมืองนอกดีๆ กลับ ต้องมารับช่วงต่อสู่การเป็นแม่ค้าร้านโชวห่วยของครอบครัว
แน่นอนว่าท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจในยุคนี้ พ่อค้าแม่ค้า หรือแม้แต่กระทั่งบริษัทน้อยใหญ่ก็ทยอยปิดตัวลงไปบ้างแล้ว อย่างที่เห็นเป็นข่าวกัน โดยเฉพาะในแวดวงการค้าขายถือว่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก
แต่ใครจะคิดว่าร้านค้าขายดั้งเดิมอย่างที่เราเรียกกันว่า ร้านโชวห่วย จะยืนหยัดต้านทานกระแสทุนนิยมได้อย่างประสบความสำเร็จ โกยรายได้ถึงเดือนละ 100,000 กว่าบาท



“รายได้อาจจะน้อยกว่าเซเว่น แต่ว่าค่าใช้จ่ายเราก็ไม่ได้มากเท่ากับเขาด้วย ต้องคิดตรงนี้ด้วย สุดท้ายก็คือมีกำไรอยู่ได้ ถ้าเป็นตัวเลขกลมๆ ที่วัดได้ก็ 100,000 กว่าบาท ต่อเดือน แต่อย่าลืมว่าในจำนวนนี้รวมต้นทุนด้วยไม่ใช่กำไร ส่วนกำไรก็อยู่ที่เดือนละ 10,000 กว่าบาท เท่านั้นเอง
คนที่โตมาจากร้านโชวห่วยจริงๆ จะรู้ว่าของมันไม่ได้แค่นั้น ความจริงแล้วโชวห่วยเขาไม่ได้ตายนะ แต่ว่าเขาส่งลูกเขาเรียนสูงๆ หมดแล้ว พอเรียนสูงเขาก็ได้งานดี แล้วพ่อแม่เขาแก่แล้ว ทำไม่ไหว ก็ยุบตัวลง
ลองไปสืบดู พ่อแม่ขายของ ลูกเรียนสูงทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครหรอกที่จะเรียนไม่สูง เพราะว่าเหมือนกับเงินมันหมุนแล้วส่งเรียนได้ น้องเราก็เรียนเภสัช ส่วนใหญ่ก็จบหมอ จบสูงๆ กันทั้งนั้น ก็คือพอเขามีอาชีพ อาจจะสบายกว่าโชวห่วย โชวห่วยลำบากนะ มันก็เหนื่อย แต่ว่าเราก็ทนได้”
นอกจากนี้ทายาทคนเดิมยังเล่าว่า เดิมทีไม่คิดที่อยากจะมาค้าขาย แต่ด้วยความจำเป็นต้องกลับมาดูแลยายและแม่ที่ป่วย จำเป็นต้องเลือกครอบครัวมากกว่าเงิน จึงคิดว่าโอกาสในชีวิต มีได้ตลอดจึงเลือกที่จะนำความรู้พื้นฐานที่มีเกี่ยวกับสาธารณสุขมาดูแลยาย ก่อนที่ทานจะสิ้นลมหายใจในอายุ 100 ปี
หลังจากที่ยายเสียชีวิตก็คิดอยากจะกลับไปทำงานต่อที่เมืองนอก แต่ด้วยความที่แม่ก็ป่วยเป็นรูมมะตอย จึงตัดสินใจลงหลักปักฐาน ปรับปรุงร้าน แยกประเภทสินค้าเป็นหมวดหมู่ ดูความต้องการของลูกค้า ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ถือว่าหนักมากสำหรับผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ก็ไม่เคยมีลูกจ้าง ลุงทุนลุงแรงทำกันเองในครอบครัวมาโดยตลอด





“ตั้งแต่แรกแม่เราก็ไต่เต้ามา แม่เราเป็นลูกคนจีนที่ไม่มีอะไรมา ตอนนั้นปี 2501 แม่อายุ 12 ปี ก็ออกมาจากโรงเรียน เริ่มแรกขายน้ำแข็งใสแก้วละ 1 บาท จากนั้นมาขายขนมครก ขายผัก จากนั้นก็เริ่มเป็นร้านชำแล้ว หาเงินมาเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ 50 กว่าปีแล้วที่ไต่เต้ามา ความจริงแม่เราเก่งนะ เราแค่มารับช่วงต่อเฉยๆ
ไม่เคยคิดทำร้านชำหรอก เราอยากเป็นเภสัช เราก็ได้แต่เขียนคำว่าเภสัชติดไว้ข้างฝาห้อง อยากเป็นแต่ไม่อ่านหนังสือ ด้วยความที่เรียนไม่เก่ง ก็รู้จุดนั้นนะ มันเอนทรานซ์ไม่ติด ก็เดินไปบอกแม่ว่าอยากเป็นเภสัช จะเข้ามหาวิทยาลัยหัวเฉียว แม่บอกว่าไม่มีเงินส่งเรียน จนในที่สุดสอบได้สาธารณสุข มหาวิทยาลัยบูรพา”




[ครอบครัวที่ต่อสู้ยืนหยัด ต้านทานกระแสทุนนิยมมา 50 กว่าปี]

เจ้าตัวยังเล่าย้อนไปอีกว่า หลังจากเรียนจบก็ได้เข้าทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนในพัทยา เป็นเลขาวอร์ด และคิดว่าต้องได้เงินเดือนสูงแน่ๆ แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิด ได้รับเงินเดือนเพียง 7,000 บาท ซึ่งทำเพียงแค่ 6 วันก็ลาออก เพราะคิดว่ายังไงก็ไม่พอใช้ เพราะความตั้งใจอยากจะหาเงินช่วยพ่อกับแม่
จากนั้นออกตระเวนสมัครทุกโรงงานนิคมอุตสาหกรรมในปราจีนบุรี ในตำแหน่งพนักงานวุฒิปริญญาตรี ไม่มีโรงงานไหนรับ ซึ่งส่วนใหญ่จะรับแค่วุฒิ ม.6 เท่านั้น
“จนมาได้งานที่อภัยภูเบศร เป็นพนักงานขายหน้าร้าน แล้วก็ถูกดึงตัวให้ไปทำการตลาดต่างประเทศ เพราะเราเรียนภาษามาบ้าง แล้วก็มีโอกาสไปทำงานที่สิงค์โปร
คิดว่าอยากจะไปอีก ก็เลยไปซื้อหนังสือเกี่ยวกับทุนมาอ่าน สมัครทุนอินโดนีเซีย ปรากฏว่าได้ เป็นทุนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม 40 ประเทศ ได้ไปอยู่ 1 ปี พอกลับมาบอกแม่ว่าอยากเป็นแอร์โฮสเตส ไปเรียนคอร์สอบรม สมัครเจแปนแอร์ไลน์ กับกาตาร์แอร์เวย์ สอบผ่านรอบแรก แต่ตกสัมภาษณ์ ก็สมัครไปอเมริกาด้วย
จากนั้นก็ได้ไปอยู่กับโฮสต์แฟมิลีในครอบครัวที่ปาล์มบีช ฟลอริดา ได้เงินเดือน 150 เหรียญต่ออาทิตย์ กินอยู่กับเขา เลี้ยงลูกให้เขาด้วย ทำงานร้านอาหารไทยด้วย อยู่ 2 ปี ความคิดตอนนั้นคืออยากช่วยเหลือครอบครัว อยากซื้อรถใหม่ให้ครอบครัว เพราะที่บ้านเก่ามาก ต้องขับไปซื้อของที่ตลาดมาขาย
เมื่อครบกำหนดก็กลับบ้าน อีกอย่างแม่บอกว่ายายป่วยด้วย เพื่อนๆ เขาก็อยู่ต่อกันนะ แต่เราเลือกที่จะกลับ แล้วก็มาทำร้านต่อจากแม่ เราอยู่กับยายเราก็มีความสุขนะ เงินไม่ได้เยอะ แต่มันก็มีความสุข แล้วดูสิตอนนี้มีคนสนใจเยอะเลย”



“เกียรตินิยม” ไม่ไร้ประโยชน์ พัฒนาร้านให้แตกต่างได้

“จบสูงแล้วทำไมมาเป็นแม่ค้า เราก็คิดนะแต่เราไม่พูด เราคิดว่าต้องเป็นแม่ค้าต่างจากคนอื่น มันก็คงไม่เดิมๆ อีกแล้ว แล้วเราก็จะทำให้ดู มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในเมื่อครอบครัวเราเป็นแบบนี้ แต่เราจะพัฒนาร้านเราให้ดี ไม่ใช่โชวห่วยที่แม่เคยทำไว้ เราต้องมีสไตล์ ทุกอย่างที่เราคิด เราออกแบบจะต้องดูดี เราจะต้องต่าง”
เมื่อก่อนคุณกช ยอมรับว่าเป็นคนเรียนไม่เก่ง สอบตกตลอด แต่หลังจากพอเข้ามหาวิทยาลัย มีคนบอกว่าถ้าจบเกียรตินิยมแล้วจะได้ทำงานดีๆ เงินเดือนสูงๆ แต่พอเผชิญกับโลกความเป็นจริงแล้วกลับไม่เป็นอย่างที่หวัง
แม้ชีวิตจะ พลิกผันกลายมาเป็นแม่ค้าร้านโชวห่วยในทุกวันนี้ ก็ยอมรับอีกว่า ไม่ง่ายอย่างที่คิด โดนหลอกสารพัด กว่าจะมายืนหยัดได้ถึงทุกวันนี้ จนถือว่าชีวิตตอนนี้มีความสุข และประสบความสำเร็จ
“ก็เห็นว่าแม็คโครเขามีการประกวดทายาทโชวห่วย ช่วงนั้นเราใส่ชั้นของ ปรับปรุงทำเลแล้ว เพราะเขาบอกว่าทำเลสำคัญ เราก็ทำการปรับปรุง แล้วเราชอบต้นไม้ตามในหลวงรัชกาลที่ ๙ เราก็ไปหาต้นไม้มาปลูก เรารู้สึกว่าเราต้องดึงทำเล ในเมื่อเราเปลี่ยนสถานที่ไม่ได้ เราต้องทำตรงนี้ แล้วก็เริ่มปลูกต้นไม้ เริ่มจัดสวน เริ่มใส่ชั้น
ค่อยๆ เรียนรู้ไป ปัญหามันก็มา ตอนนั้นก็โทรมมาก คนทักว่าเป็นแม่ลูกอ่อนเลย เราเก็บบ้านตลอดเวลา คือเราอยากให้มันสำเร็จ จากนั้นก็เริ่มไปเดินตลาดดูสินค้า จะซื้ออะไรเข้าร้านบ้าง เรามีประสบการณ์ด้วยความที่โตมากับสิ่งเหล่านี้ด้วย เราดูแวบเดียวเรารู้ว่าเราขายได้ ขายทุกอย่างที่ชุมชนต้องการ เกี่ยวกับพิธีกรรม งานบวช งานแต่ง ธูปเทียน



แม็คโครโชวห่วยก็เข้ามาพอดี เราก็ส่งร้านเข้าประกวด คัดเลือกเข้าไป 3 คนทั่วประเทศเข้าไปพรีเซ็นต์ เราก็ได้รองอันดับ 2 แมคโคให้ทุนเรามา 50,000 บาท เป็นคูปองให้ไปเลือกของมาขายที่ร้านได้ ตอนนั้นเราดีใจมาก
เราไม่รู้ว่าสำเร็จคืออะไร แต่ว่ามันดีขึ้น ไม่ลำบากเหมือนสมัยก่อน ยอดขายก็ดีขึ้น แต่ว่าไม่มีคำว่าสำเร็จหรอก มันต้องเดินต่อไปเรื่อยๆ ร้านค้ามันต้องปรับตามสถานการณ์ และสภาพการณ์ อย่างเศรษฐกิจไม่ดี จะดึงของมาขายก็ต้องปรับเปลี่ยนตลอด”
ทายาทคนนี้ยังฝากถึงร้านโชวห่วยทั่วประเทศอีกว่า ร้านอื่นๆ ควรมองหาโอกาส เพราะโอกาสถือเป็นสิ่งสำคัญ และอีกทั้งไม่ได้มองว่าร้านค้าสมัยใหม่ กับเซเว่นเป็นคู่แข่งทางการค้า



“เราคิดว่าร้านโชวห่วยควรมองหาโอกาสนะ แล้วมันเป็นโอกาสที่สำคัญ รัฐบาลและกรมการค้าเขาสนับสนุนโชวห่วยแบบดั้งเดิมให้พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น ของมันเข้าถึงฐานรากหญ้าจริงๆ โชวห่วยแบบเรา คนจนก็สามรถมาจับจ่ายได้
โมเดิร์นเทรดกับเซเว่นเราก็ไม่ได้มองว่าเขาเป็นคู่แข่ง เราก็ดูว่าเราอยู่ได้ เราเลี้ยงครอบครัวได้ แล้วเรื่องสินค้า ก็พยายามหาความรู้ ให้มองโมเดิร์นเทรดหรือเซเว่น เป็นองค์ความรู้นะ มองเขาเป็นตัวอย่าง เซเว่นเขาคงไม่คิดแข่งกับโชวห่วย ดูจากราคา ดูจากสินค้าที่เขาวาง มันแยกคนละกลุ่มเลยนะ แถมจะไม่ซ้ำ แล้วพื้นที่ของเขาก็ไม่สามารถจุสินค้าทุกอย่างลงไปได้เหมือนกับเรา
แต่เราเป็นคนในชุมชน เรารู้ความต้องการของชุมชนมากกว่า แล้วมีความยืดหยุ่นที่จะหาสินค้าที่จะเข้ามามากกว่า เพราะฉะนั้นมันจะตอบโจทย์ชุมชนได้มากกว่า กลุ่มเขาอาจจะตอบโจทย์ความสะดวกสบายเวลาคนเดินทาง แต่ของเรากลุ่มชุมชน กลุ่มพื้นที่
แล้วก็พยายามหาพันธมิตร อย่างบริษัทที่เขาสนับสนุน มีตั้งหลายบริษัทที่เขาสนับสนุนโชวห่วย แล้วสินค้าก็จะแตกลายออกมาอีก
แล้วเรายังมองเห็นโอกาสอีกว่า คือประเทศไทยต่อไปจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุนะ เราคิดว่าโชวห่วยอย่างเราๆ จะตอบโจทย์นี้ได้เลย เพราะผู้สูงอายุไปห้างไม่สะดวก เขาต้องการบริการควบคู่ ซึ่งโชวห่วยส่วนใหญ่คือคนในชุมชนอยู่แล้ว ที่อาจจะเติบโคมาดั้งเดิม รู้จักคนในชุนชน เราคิดว่าโชวห่วยช่วยกลุ่มผู้สูงอายุได้ในสังคมอนาคต”



ไม่เพียงเท่านี้ เรียกได้ว่าทายาทร้านโชวห่วยคนนี้ ยังครองใจคนในชุมชนอีกด้วย เพราะเมื่อเห็ฯคนในชุมชนลำบากก็พร้อมเข้าช่วยเสมอ
เราเห็นคนลำบากแล้วอยากจะช่วย เราชอบช่วยติดต่อให้ บางทีชาวบ้านเขาไม่มีความรู้มากพอ การพูดของเขามันไม่สามารถดีลกับเจ้าหน้าที่ได้ แล้วก็เรื่องของเทคโนโลยีด้วย ก็มีโพสต์เฟซบุ๊กขอความช่วยเหลือบ้านเขาจะถล่มแล้วนะ รอรัฐบาลมันช้า เขาก็เคสที่ต้องช่วยเหลือต้องต่อคิวกัน เราก็รอไม่ได้ฝนจะมาแล้ว ลมพัดแรง เดี๋ยวบ้านไปหมด พอมีข่าวออกไปก็มีคนเข้ามาช่วย
ก็มีความสุขนะ เราไม่ชอบเห็นคนมีความทุกข์ พอคนมีความทุกข์ก็รู้สึกไม่ดีนะ ถ้าเราช่วยได้ก็ช่วย เราไม่รู้หรอกว่าเคสแต่ละเคสจะสำเร็จหรือเปล่า แต่ว่าเราเลือกช่วยแล้ว แต่ถ้าสำเร็จก็โชคดีไป เราก็คิดแบบนี้ ก็บรรเทาทุกข์ได้ในระดับหนึ่งในความสามารถที่มีอยู่
ช่วยเหลือชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่ง ก็เหมือนทำการตลาดไปในตัวนะ ถ้าคิดดีๆ เราช่วยเหลือเขา ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเด็ก เขาก็ซื้อของกับเรา หรือถ้าเขาไม่ซื้อของกับเราก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าเป็นมิตรภาพในชุมชน”



สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Kochnatakon Chaocharoen”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น