xs
xsm
sm
md
lg

#Saveภูกระดึง คือโอกาสในวิกฤต!! "อ.ศศิน" มองมุมกลับ ป่าสนวอดช่วยฟื้นระบบนิเวศ [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มันเป็นโอกาสในวิกฤต” เปิดใจ “ศศิน เฉลิมลาภ” นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชื่อดัง กับเหตุการณ์ไฟป่าภูกระดึง กลืนกินป่าสนอายุกว่า 100 ปีนับหลายพันไร่ เผยสาเหตุ ลูกไฟจากด้านล่างลอยขึ้นมา ซ้ำร้ายปีนี้แล้งหนัก ย้ำไม่ควรฟื้นฟูเป็นป่าสน “ไฟป่าไม่ควรเกิด แต่เมื่อมันเกิดแล้วก็ถือโอกาสนี้ในการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำกลับมา”


พลิกไฟป่า ให้เป็นโอกาส

“ปีนี้มันเป็นปีที่ไฟป่าน่าจะเกิดขึ้นเยอะเพราะว่ามันแล้งจัด น้ำไม่มีดับ ทุกอย่างมันแห้งหมด ประเด็นของภูกระดึงต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ว่าเขาคงทำงานหนักกันมาก แต่ว่ามันเป็น “โอกาสในวิกฤต”

หมายความว่าภูกระดึงมันไม่ควรมีป่าสนเยอะมาก มันควรจะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่บนหลังแป คราวนี้มันเกิดโครงการปลูกป่าสนแล้วมันก็ไปดึงน้ำพวกนี้ออกไปเยอะ ดังนั้น ไฟไหม้ครั้งนี้ก็ถือโอกาสเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำบนภูกระดึงซะ”



ศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้ความแก่ทีมข่าว MGR Live หลังสถานการณ์ไฟป่ารุนแรงที่เกิดขึ้น ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.เลย ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับป่าสนพื้นที่มหาศาล

จนโลกโซเชียลฯ ผุดแฮชแท็ก #Save ภูกระดึง ขึ้นมา เพื่อติดตามความคืบหน้าของเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่เข้าดับไฟป่าในครั้งนี้ โดยขอให้ทุกคนปลอดภัยและควบคุมไฟไหม้ให้อยู่ในความสงบโดยเร็ว

โดยนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า แม้ไฟป่าจะกลืนกินป่าสนอายุ 100 กว่าปีไปหลายพันไร่ก็จริง แต่ก็ควรมองวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการฟื้นฟูระบบนิเวศของภูกระดึง พร้อมอธิบายถึงสาเหตุว่าไม่ได้เกิดจากการที่มีนักท่องเที่ยวทิ้งก้นบุหรี่ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปก่อนหน้า หากแต่เป็นประกายไฟจากการทำการเกษตรที่ลอยขึ้นมาจากด้านล่าง


ศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“จุดเด่นของภูกระดึงคือ ป่าสนสลับทุ่งหญ้า ที่มันจะต้องไม่มีป่าสนทึบเกินไป การเกิดไฟป่าครั้งนี้ก็ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งไปตกใจมาก ป่าสนกี่ร้อยปีมันจะตายไปอย่าไปยุ่งกับมัน เดี๋ยวมันฟื้นฟูได้ แต่ไม่ควรฟื้นฟูเป็นป่าสนทั้งหมด ควรจะฟื้นฟูให้ระบบนิเวศดั้งเดิมที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำกลับมา เพราะว่าป่าสนมันถูกปลูกจนบริเวณที่เป็นทุ่ง ที่เป็นไม้พุ่มหายไปเยอะ

ไฟป่าไม่ควรเกิด แต่เมื่อมันเกิดแล้วก็ถือโอกาสนี้ในการฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มันมีพืชกินแมลง พืชที่มันคล้ายๆ เป็นพวกมอส พวกเฟิร์นที่อยู่บนพื้นราบแต่เดิม ให้มันปรับตัวกลับมาซะ ส่วนสาเหตุค่อนข้างชัดว่าลูกไฟลอยมาจากการทำไร่ข้างล่าง มันลอยขึ้นมาจากพื้นที่เกษตร แนวกันไฟมันช่วยไม่ได้หรอกเพราะมันเป็นลูกไฟที่ลอยขึ้นมา มาติดตรงไหนก็ไม่รู้ ปีนี้มันแล้งจัด

ช่วงนี้สภาพอากาศที่มันแปรปรวนก็ต้องระวังเรื่องไฟเป็นพิเศษ อย่างในออสเตรเลีย ในอะเมซอน ก็เกิดไฟป่า ฉะนั้น ตัวไฟป่าที่มันถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น มันก็น่าจะมาจากส่วนหนึ่งก็คือแล้งจัดจากสาเหตุโลกร้อน อันนี้เราก็ต้องปรับตัวในการดูแลให้มันดีขึ้น แต่ผมก็ยังไม่ค่อยซีเรียสเรื่องระบบนิเวศบนภูกระดึงมากนัก เพราะผมคิดว่าป่าสนน่าจะปรับตัวได้ ให้ระบบนิเวศมันจัดการตัวเอง”



เมื่อถามว่า การที่ภูกระดึงมีป่าสนเยอะเกินไปนั้น ส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างไร นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมก็ให้คำตอบว่า สนเป็นพืชที่ต้องการน้ำค่อนข้างมาก เมื่อมีจำนวนมากเกินไปจึงทำให้พื้นที่แห้ง และมีผลกระทบต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ

“ป่าสนเยอะไปไม่ได้ทำให้ภูกระดึงสวยนะ ภูกระดึงต้องมีป่าสนพอประมาณ แล้วก็มีสลับกับทุ่งหญ้า สลับกับระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำบนภูเขาหินทรายนะครับ มันถึงจะสวยกำลังดี เยอะเกินไปมีผลกระทบต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย เพราะสนมันก็ใช้น้ำเยอะ ก็ดึงน้ำขึ้นไปใช้หมด มันก็ต้องพอดีนะไม่ใช่ว่าสนไม่ดี แต่ตอนหลังๆ ป่าสน ไม้พุ่มมันชักจะเยอะไปหน่อย

ทีนี้การเกิดไฟป่าครั้งนี้เพราะว่าพื้นมันแห้งไปด้วย แล้วมันก็เกิดเปลวไฟจากข้างล่างขึ้นมา ก็ถือโอกาสนี้ในการที่ดูแลข้างบนซะหน่อย ปรับระบบนิเวศใหม่ให้มันมีป่าสนพอประมาณ กับมีพื้นที่ชุ่มน้ำกลับมาในปีหน้ามันก็อาจจะทำให้สถานการณ์ไฟไม่ได้รุนแรงมากนัก แต่ปีนี้ก็ต้องเฝ้าระวังกันพอสมควร เฝ้าระวังไปอีก 2-3 เดือน”



สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) เผยให้เห็นพื้นที่ป่าสนภูกระดึง ทั้งทางด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอุทยานฯ ทางตอนใต้ของผาเมษาและผาหมากดูก ถูกไฟป่าเผาไปประมาณ 3,700 ไร่ ซึ่งพบว่าเป็นรอยต่อกับพื้นที่การเกษตร

ส่วนความคืบหน้าล่าสุด ได้รับการเปิดเผยจาก ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมไฟป่าบนหลังแปยอดภูกระดึงได้แล้ว เบื้องต้น ไม่มีเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยวได้รับอันตราย และไม่มีทรัพย์สินของทางราชการ รวมทั้งของผู้ประกอบการได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้รถน้ำฉีดพ่นน้ำดับไฟที่ยังติดตามต้นไม้และขอนไม้ให้ดับสนิทภายในวันนี้

ภูกระดึง...สวรรค์ของนักนิเวศวิทยา

“ผมเคยขึ้นสัก 3-4 ครั้ง ครั้งแรกปี 2535 ภูกระดึงเป็น Trekking Trail ที่ดีที่สุดของประเทศไทย Trekking Trail คือที่สำหรับเดินขึ้นแล้วมันสวย ที่เหมาะกับการเดินขึ้น ระหว่างการเดินมันให้ความรู้สึกว่ามันได้เห็นอะไรที่เป็นป่าที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แล้วกิจกรรมการเดินประมาณ 5-6 กิโลบนภูกระดึงเป็นระยะที่พอดีที่ใครก็ขึ้นได้

คนส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายที่ขึ้นไป ถ้าไม่ใช่คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เดินขึ้นไปปุ๊บก็สวย สวยมาก สวยมากที่สุดในประเทศไทยที่มีวิวแบบนี้สำหรับการเดินชม เช่น เดินไป 10 กิโลจากหลังแปไปจนถึงผาหล่มสัก มันต้องเดินถึงจะเห็น เดินไกลกว่าเดินขึ้นอีก แต่มันเดินบนที่ราบ ดังนั้น มันคุ้มค่าที่จะเดินขึ้นไปชม”


อ.ศศิน เมื่อครั้งพิชิตยอดภูกระดึง

ไม่เพียงแค่ให้คำตอบเรื่องระบบนิเวศเท่านั้น แต่อาจารย์ศศิน ยังเผยถึงประสบการณ์เมื่อครั้งเดินทางไปพิชิตยอดภูกระดึง ซ้ำยังหลงเสน่ห์สถานที่แห่งนี้จนต้องกลับไปเยือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อมกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงผ่านมุมมองของตนเองในหลายๆ ด้าน ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาของสถานที่แห่งนี้

“ตอนหลังๆ มันไม่ค่อยสวยเท่าไหร่เพราะตัวไม้พุ่มกับป่าสนที่เกิดจากการเข้าใจผิดว่าต้องไปปลูกป่าเยอะๆ มันเยอะไปหน่อย ตอนหลังมันมีแต่ป่า มันไม่มีทุ่ง คือระบบนิเวศบนภูกระดึงมันต้องมีพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่อยู่ในพื้นราบ มีทุ่งหญ้า มีจอกบ่วาย มีพวกมอส มีข้าวตอกฤาษีคลุมดินอยู่ แล้วก็มีพืชเล็กๆ พืชกินแมลงอะไรแบบนี้ เป็นสวรรค์ของนักนิเวศวิทยาที่มันจะฟื้นฟูมาช่วงหน้าฝน มันจะสวย ของเล็กๆ อย่างนี้ ส่วนต้นสนเป็นองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นเอง



ผมว่าเส้นทางเดินเหมือนเดิม ไม่เห็นสะดวก มีของขายเยอะไปหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเป็นเศรษฐกิจชุมชน มีหมูกระทะกิน เมื่อก่อนไม่มี แต่ก็ไม่มีผลกระทบอะไรต่อระบบนิเวศ ไม่เป็นไร แล้วแต่รสนิยม ส่วนขยะดีขึ้นเพราะว่าหลังๆ นักท่องเที่ยวก็รู้ แล้วก็มีกระบวนการที่เอาขยะลง ดีๆ การจัดการภูกระดึงหลังๆ ผมว่าดีนะ”

พร้อมกันนี้ เขายังกล่าวถึงประเด็นร้อนที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน นั่นก็คือ “กระเช้าภูกระดึง” ที่จนถึงตอนนี้โครงการก็มีแนวโน้มยังดำเนินการต่อ

“ผมไปครั้งล่าสุด 2-3 ปีที่ผ่านมา ตอนที่มีโครงการ มีข่าวว่าเขาจะฟื้นโครงการกระเช้าภูกระดึง ก็ขึ้นไปดู ถึงตอนนี้เขาก็มีความพยายามของท้องถิ่นที่จะเดินทางทำต่อ แต่ว่าจากผลการศึกษาหลายๆ อย่าง มันไม่คุ้ม ก็แล้วแต่มุมมองแล้วแต่ชอบไง ถ้าอยากจะกินให้หมดเร็วๆ ก็ทำกระเช้าขึ้นไปซะ มันก็พังเร็วขึ้น มันก็มีหลายเหตุผล ก็แล้วแต่มุมมออ่ะนะ



ผมไม่สนับสนุนหรอก ไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิง ชาวบ้านก็โดนผู้นำท้องถิ่น โดนนักการเมืองท้องถิ่นชักนำไปเยอะ คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ ก็คือคนที่ไปกว้านซื้อที่รอบภูกระดึงไว้ ชาวบ้านจริงๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร ชาวบ้านก็ได้ปลายๆ ตรงที่ว่านักท่องเที่ยวระยะแรกมามากขึ้น การซื้อขายที่ดินก็มากขึ้นอะไรแบบนี้ ค้าขายทัวร์ได้มากขึ้น ก็ว่ากัน”

สุดท้าย ประธานกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ฝากถึงทั้งนักท่องเที่ยวให้ช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องระวังไฟป่า พร้อมส่งกำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่ที่ช่วยดับไฟในเหตุการณ์นี้

“ก็ให้กำลังใจครับ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ข้างบนก็ยากลำบาก ขึ้นไปทีก็ลำบาก นักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปก็ต้องช่วยกันดู อย่าไปทำให้เกิดเปลวไฟ เรื่องทิ้งก้นบุหรี่หรืออะไรก็สำคัญ ถ้าเห็นไฟก็ช่วยกันนะครับ แจ้งเจ้าหน้าที่ ถ้าเกิดกองเล็กๆ ช่วยกันดับได้ก็ช่วยกัน ไปเหยียบๆ มันซะ ในเส้นทางที่ท่องเที่ยว”







ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” และ “ภูกระดึง”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น