xs
xsm
sm
md
lg

“ค่าตอบแทนสูงไม่ใช่ความสุขเสมอไป” ครูอาสาสาว สู้เพื่อเด็กเร่ร่อน แม้เหลือปอดข้างเดียว!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กว่า 15 ปีที่ “ครูเจี๊ยบ” ยังคงมุ่งมั่นช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน - คนด้อยโอกาส สอนทักษะชีวิต มอบโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้อยู่กับสังคมได้!! แม้ว่าเธอต้องต่อสู้กับการป่วย จนเหลือปอดข้างเดียว แต่ก็ไม่ถอดใจยอมทิ้งงานสบาย-เงินเดือนสูง มาสอนเด็กจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต




เสียปอด 1 ข้าง ไม่ละความมุ่งมั่น!!


“ภาพที่เจี๊ยบเคยเห็นเด็กที่อยู่ข้างถนน เมื่อ 15 ปีที่แล้วบ่อยๆ คือเด็กเก็บขยะกับพ่อแม่ รถซาเล้ง 3 ล้อ คำถามที่อยู่ในใจเรามาตลอดว่า ทำไมเด็กถึงไม่ได้ไปเรียนหนังสือ เด็กที่อยู่ในช่วงอายุไวเดียวกับเขา เขาได้ไปโรงเรียน เขาได้รับโอกาสตรงนั้น แต่ว่าเด็กตรงนี้ยังขาดโอกาส ถ้ามีโอกาสเราอยากจะช่วยเขา เป็นคำถาม เป็น Question mark อยู่ในใจมานาน”

“ครูเจี๊ยบ -วรัทยา จันทรัตน์” ครูอาสาผู้ที่อุทิศตนสอนเด็กเร่ร่อน เด็กด้อยโอกาส ในชุมชนริมทางรถไฟในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา บอกเล่าถึงความรู้สึกในใจ ตลอดระยะ 15 ปี ที่ผ่านมากับสิ่งแวดล้อมทีเธอพบเห็น จนเป็นคำถามในใจตลอดมา


แต่ใครจะรู้ล่ะว่า จากการอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม ทำให้ครูเจี๊ยบป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ แต่เธอยังคงยืนหยัดจะช่วยเหลือเด็กๆ ต่อไปจนกว่าลมหายใจสุดท้าย 

“เป็นโรคเกี่ยวกับปอดชนิดหนึ่ง คือปอดอักเสบ สาเหตุของการเป็นโรคนี้ คือจากสิ่งแวดล้อมสู่คน คุณหมอเขาให้ความเห็นว่าเราลงไปทำงานกับชุมชน เป็นชุมชนสองทางรถไฟ มันก็จะมีน้ำคำ มีกองขยะ คือเราไปอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างนั้นตลอด บางทีไปเขาก็เผาสายไฟ เพื่อเอาลวดทองแดงไปขาย ตอนนั้นยังแข็งแรงอยู่

คือเริ่มเหนื่อยง่าย หมอก็จะให้ไปฉีดยา ตอนนั้นรักษาโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วเขาไม่มีหมอเฉพาะทางด้านนี้ ก็รักษาตามอาการ


ตอนนี้ดีขึ้นเยอะ แต่ก็ยังเหนื่อยง่ายอยู่ เพราะปอดเราเหลือข้างเดียว เพราะปอดข้างซ้ายถูกทำลายจากการที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
เธอเล่าย้อนให้ฟังว่า ต้องตัดปอดข้างขวาออก เพราะปอดด้านซ้ายถูกทำลาย จากการที่รักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งรักษาไม่ถูกต้อง จนเธอต้องเหลือเพียงปอดข้างเดียว แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผู้หญิงคนนี้ หยุดความมุ่งมั่นที่อยากจะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ได้
“คือตอนที่เจี๊ยบป่วยตอนแรก หมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เขาก็บอกว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ก็ให้แต่ยาขยายหลอดลมมา เขาก็ไม่ได้ X-Ray ไม่ได้ดูรายละเอียด
พอถึงเวลาที่เจี๊ยบเช็กสุขภาพประจำปี ที่โรงพยาบาลเขา เขาถึงเห็นรอยโรคว่ามันเป็นนู่นนี่นั่น มันก็จะเป็นพังผืด เป็นอะไรที่เหมือนกำลังเยอะขึ้น”

สอดคล้องกับ "ไผ่-คิมหันต์ เปรมในเมือง" อดีตเด็กที่ครูเจี๊ยบเคยช่วยเหลือ สำหรับเธอแล้ว มองว่าครูรายนี้คือ “แม่” เพราะขณะที่ครูเจี๊ยบป่วยนอนซมอยู่ในโรงพยาบาล เธอยังคงทำงาน และเป็นห่วงเด็กๆ เสมอ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากครูรายนี้ ชีวิตคงเสเพ ติดยาแน่นอน

“ถ้าให้หนูมองกลับไป ถ้าไม่เจอครูเจี๊ยบ หนูคิดว่าชีวิตหนูตอนนี้คงเสเพ ติดยาแน่นอน อย่างถ้ามีลูกต้องท้องไม่มีพ่อแน่นอน


คือเวลาครูเจี๊ยบป่วย หนูก็จะไปดูที่โรงพยาบาล จะไปเยี่ยม ไปดู ไผ่ไม่เคยเห็นอาการอ่อนแอเลย เขาเข้มแข็ง แต่ถามว่าเจ็บมั้ย เจ็บแน่นอนเพราะเข็ม แต่ครูเจี๊ยบไม่เคยท้อแท้ให้เห็น
ครูเจี๊ยบอยู่โรงพยาบาล แต่ยังหอบงาน หอบอะไรไปทำที่โรงพยาบาล และยังฝากความคิดถึงเด็กๆ ถามความเป็นอยู่ของเด็กๆ ตลอด”




15 ปี อุทิศตนเพื่อ “เด็กเร่รอน-ด้อยโอกาส”


แน่นอนว่าสำหรับสังคม เด็กเร่ร่อนหรือเด็กด้อยโอกาส ยังคงไม่ถูกยอมรับ และมักพบว่าปัญหาเรื่องอาชญากรรม หรือแม้กระทั่งยาเสพติด ซึ่งสถานที่เล็กๆ ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยความแออัด และเป็นแหล่งกำเนิดของกลุ่มอาชกรเล็กๆ เป็นเบื้องต้น เพราะไม่มีการจัดการ และสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี

“มีเพื่อนถามว่า เฮ้ย!! เข้ามาได้ไงชุมชนนี้ ไม่กลัวเหรอ เขาก็ถาม คือเข้าไปก็มีวงเหล้า ตั้งวงเล่นไพ่บ้าง คือในส่วนของผู้ใหญ่ เราไม่สามารถไปปรับพฤติกรรมของเขาได้ แต่จุดประสงค์ของเราก็คือเด็กๆ”

ย้อนกลับไป ถึงจุดเริ่มต้นสำหรับการเป็นครูอาสา แรกเริ่มมาจากการได้ฟังวิทยุว่าเทศบาลรับสมัครครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อน ด้วยความสนใจและตั้งคำถามถึงหน้าที่ตรงนี้ เธอจึงตัดสินใจลองเข้าไปสมัคร

“คือก่อนหน้าเคยใช้ตำแหน่งคำว่าครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อน ไม่ใช่ครูอาสาสอนเด็กด้อยโอกาส เป็นชื่อที่บังเอิญวันนั้นจะฟังรายการวิทยุสถานีของเทศบาล พอช่วงท้ายรายการวันนั้นเประกาศรับสมัครพนักงานเทศบาลจำนวนหลายอัตรา หลายตำแหน่ง ก็ฟังไปเรื่อยๆ รู้สึกธรรมดา
ตำแหน่งสุดท้าย…ครูอาสาเด็กเร่ร่อน ฟังแล้วรู้สึกว่ามีด้วยเหรอตำแหน่งนี้ มันเป็นอะไรที่น่าสนใจ ฟังชื่อตำแหน่งแล้วท้าทายดีนะ อยากไปทำ”

สำหรับสองข้างทางชุมชนสองข้างทางรถไฟ ไม่ใช่มีแต่เด็กเร่ร่อน แต่ยังมีเด็กที่เสี่ยงเข้าไปสู่วงจรยาเสพติด ,เด็กที่ถูกทารุณกรรม หรือโดนบังคับให้ขอทาน รวมทั้งเด็กที่มีปัญหาไม่มีใบแจ้งเกิด


“คือจริงๆ แล้วเป็นที่ของทางรถไฟ แต่ว่ามีคนเข้ามาอาศัยอยู่ โดยเป็นที่บุกรุกรถไฟ มาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ที่นี่เป็นระยะเวลานานแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคนจากต่างจังหวัดที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ก็มาสร้างบ้านเป็นเพลิงเล็กๆ อยู่กัน

งานในหน้าที่ของเจี๊ยบ จุดแรกเลยที่เรามาหากลุ่มเป้าหมาย ก็จะเป็นเด็กเร่ร่อน ที่เขาอาศัยอยู่ในชุมชนนี้ ตอนแรกที่เราพบเขา เราไม่ได้พบเขาในชุมชนเลย เราพบเขาข้างนอก แล้วเราก็ติดตามเขาว่า เขาอาศัยอยู่ที่ไหน สภาพความเป็นอยู่เป็นยังไง เราก็อยากมาเยี่ยมครอบครัวเขา

ทำแบบนี้ทุกวัน พอช่วงหลังจากสำรวจเสร็จแล้ว เราได้ข้อมูลแล้ว เราก็ปรับกิจกรรมของเรา ก็เป็นการนัดกลุ่มเด็กว่ามาพบกันวันไหน ทำกิจกรรมที่วัดแจ้งนอก เราก็ใช้สถานที่ตรงนั้น”

หนึ่งในเหตุผลหลักๆ ที่ครูผู้เต็มไปด้วยอุดมการณ์รายนี้บอก คืออยากช่วยเหลือให้เด็กเหล่านี้ได้อยู่กับสังคม มีการศึกษา หาเลี้ยงชีพได้ โดยแนวทางการสอนของเธอนั้น จะเน้นไปด้านทักษะชีวิต ปลูกฝังการเป็นจิตอาสา

“จะเป็นเรื่องทักษะชีวิตมากกว่า จะไม่ได้เน้นวิชาการอะไร คือช่วงแรกๆ จะเป็นการฝึกอ่านออก เขียนได้ เขียนชื่อตัวเองได้ บวกเลขพื้นที่ได้ ตอนนั้นมีเด็กขายเรียงเบอร์ด้วย ก็เผื่อว่าไปขายเรียงเบอร์ ทอนตังค์จะได้ทอนถูก จะได้ไม่ถูกเขาโกง”


สำหรับสิ่งที่น่าสนใจคือ “กิจกรรมปลูกป่าในใจคน” เธอจัดทำเพื่อหวังว่าจะปลูกฝังความเป็นคนจิตใจดี มีความสามัคคีต่อกัน

“คืออยากจะปลูกฝังเด็กๆ ให้รักเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ เพราะว่าเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลกใบนี้ อย่างน้อยคือ ความมีจิตอาสาที่ได้มาช่วยกัน และมีความสามัคคีกันด้วย ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เขาก็ได้รับสิ่งดีๆ เหล่านี้ต่อไป ก็อาจจะทำให้เกิดเป็นคนที่มีความรัก ในการสร้างแรงบันดาลใจให้เขาชอบเรื่องการปลูกป่า”

ขณะที่ไผ่ เด็กที่ครูเจี๊ยบเคยช่วยเหลือ ยังเสริมถึงแนวคิด และมองถึงการเข้ามาช่วยเหลือเด็กๆ ของครูเจี๊ยบ นับเป็นสิ่งที่มอบโอกาสให้ใครหลายคน เป็นแรงบันดาลใจทำให้เธอเจริญรอยตาม ซึ่งเธอเคยได้รับโอกาสในด้านการศึกษา และมีปัญหาใบแจ้งเกิด

“จุดเปลี่ยนชีวิตเราก็เริ่มต้นจากการที่เริ่มผูกพันกับครูเจี๊ยบ คือเริ่มไปเรียนบ่อยขึ้น ได้เล่าปัญหาชีวิตของตนเองให้ครูเจี๊ยบฟัง ว่าเราเป็นเด็กที่ไม่มีอะไรเลย เลข 13 ก็ไม่มี ใบเกิดก็ไม่มี ครูเจี๊ยบก็เลยเอาเราไปฝากเรียนในระบบ ไปฝากเรียนทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐาน

หลังจากนั้นพอเราเริ่มเรียนครูเจี๊ยบให้คำมั่นสัญญาว่า ถ้าเราอยากมีบัตรประชาชนเหมือนเพื่อน หรือมีบัตรใบเกิด เราต้องไปเรียน ก็เลยยอมไปเรียนหนังสือ พอหลังจากนั้น เรียนหนังสือ แต่ครูก็ยังดำเนินการ คือสืบให้ ค้นประวัติให้ สรุปว่าครูเจี๊ยบก็ทำได้


ปัจจุบันตอนนี้เรียนจบชั้นม.6 ของกศน. แล้วหนูก็มีแผนว่าจะเรียนต่อที่มหาลัย’สุโขทัย เรียนสายครู เพราะว่าอยากเดินตามรอยครูเจี๊ยบค่ะ

ประทับใจมากๆ ที่ครูเจี๊ยบ เป็นครูผู้ให้ หนูเคยพูดกับครูเจี๊ยบเสมอว่า ถ้าหนูไม่อยากเรียกคุณครู อยากเรียกว่าแม่ได้มั้ย คือถามว่ารักมั้ย รักครูเจี๊ยบมาก รักเหมือนแม่คนหนึ่งเลย หนูก็จะบอกครูเจี๊ยบว่าขอบคุณ ที่ทำให้เด็กคนนี้มาไกลถึงทุกวันนี้ ขอบคุณที่ทำให้มีอนาคต ทำให้มีผู้ใหญ่หลายๆ คนที่รู้จัก ขอบคุณสำหรับโอกาสที่ให้ และอยากบอกว่าอยากให้ครูเจี๊ยบทำงานอย่างนี้ต่อไป ถ้าวันไหนที่ครูเจี๊ยบไม่ไหว หนูนี่แหละที่จะเป็นตัวแทนของครูเจี๊ยบเอง”




“ทำจนลมหายใจสุดท้าย ของชีวิต”


แม้เธอจะจบการศึกษาสูงถึงระดับปริญญาเอก แต่เธอไม่เคยคิดว่า ต้องเป็นครูสอนตามมหา'ลัย หรือเลือกทำงานสบายๆ ได้เงินเดือนสูงๆ แต่กลับเลือกที่จะเป็น “ครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อน”

เมื่อถามเธอว่าจบปริญญาเอก มีโอกาสที่จะทำงานที่สามารถพาเธอไปไกลกว่านี้ ทำไมถึงยังคงมุ่งมั่นที่จะทำต่อไป “การที่ได้เงินเยอะๆ ค่าตอบแทนสูงๆ มันไม่ใช่ที่มาของความสุขเสมอไป” เธอบอก

“เป็นคำถามที่วันไปสอบสัมภาษณ์ ท่านอาจารย์ที่สัมภาษณ์เจี๊ยบก็ถามว่าคุณจบปริญญาโท ทำไมคุณไม่ได้สอนในมหาวิทยาลัย ได้เงินเดือนเยอะๆ

คือทำงานตรงนี้ไม่เคยคิดว่าลำบากเลยนะคะ คิดว่ามีความสุขมากกว่าเงินเดือน มากกว่าโบนัสที่เราได้รับ ความสุขที่ได้รับกลับมาคือสิ่งที่เราได้รับจากคนที่เราไปช่วยเขา แล้วเขามีความสุข มีรอยยิ้ม เขาขอบคุณเรา คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น อันนั้นมันมีค่ากว่าเงิน มีค่ากว่าค่าตอบแทนเยอะๆ”

ทว่าการทำงานของครูเจี๊ยบ ที่ได้ชื่อว่าเป็นครูอาสาใช่ว่าจะราบรื่นโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอ บางปัญหาก็แก้ได้ยาก โดยเฉพาะความไม่เข้าใจของคนในสังคม สำหรับครูเจี๊ยบแล้วมองว่าถ้าอยากให้สังคมยอมรับ จะต้องเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งความสุขของเธอในตอนนี้คือการได้เห็นเด็กๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “ทำจนลมหายใจสุดท้าย” เธอเน้นย้ำให้ฟัง

“คือการที่เห็นเด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เขาเคยต้องไปเร่ร่อนขอทาน กับมาเป็นเด็กที่ได้รับการศึกษา แล้วเราก็มองเห็นอนาคตเขา ว่าเขาได้เรียนหนังสือแล้วมีอนาคต ต่อไปก็จะมีอาชีพ มีรายได้


กลุ่มเด็กกลุ่มนี้ ถ้าเกิดว่าไม่มีใครเข้ามาช่วยดูแล เขาก็อาจจะเป็นปัญหาของสังคมต่อไป คือเราเหมือนเป็นวัคซีนชีวิตให้กับเขา เขาจะได้มีภูมิคุ้มกัน

เจี๊ยบอยากให้สังคมมีพื้นที่ให้เขาให้มีความสุขกับการชีวิตในสังคม เพราะว่าถ้าเราไม่เข้าไปแก้ปัญหาอะไร ตรงนี้เหมือนกับเป็นระเบิดเวลาของสังคม สักวันจะระเบิดขึ้นตอนไหนก็ไม่รู้ เราก็มีหน้าที่ไปถอด

อย่างตัวอย่าง “สมคิด พุ่มพวง” ชีวิตเขาในวัยเด็กเขาก็อยู่ลำพัง เร่ร่อนไปเรื่อย ตั้งแต่อายุ 15 ปี เขาก็ไม่ได้อยู่กับใคร เขาก็ใช้ชีวิตเหมือนเด็กเร่ร่อน”

นอกจากนี้ครูผู้ที่อุทิศตน ช่วยเหลือเด็กๆ มอบโอกาสต่างๆ หลายนี้เป็นระยะเวลา 15 ปี จะนำมาซึ่งความเจ็บป่วย จนเหลือปอดเพียงข้างเดียว แต่เธอพร้อมจะยืนหยัด ทำเพื่ออนาคตของเด็กเร่ร่อน และเด็กด้อยโอกาสต่อไป พร้อมทั้งทิ้งท้ายให้ฟังอีกว่าเด็กทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง และสามารถทำประโยชน์ มีจุดยืนในอนาคตได้ เด็กๆกลุ่มเล็กๆตรงนี้ ควรจะได้รับโอกาสและแรงสนับสนุน

“ในส่วนของการพัฒนาของผู้ใหญ่หลายๆ ท่านมุ่งไปพัฒนาในเรื่องของโครงสร้างต่างๆ แต่ส่วนของการพัฒนาด้านเด็ก มันก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรจะได้รับการพัฒนาที่ต่อเนื่อง แม้การสนับสนุนจากผู้ใหญ่อย่างจริงจัง

เพราะว่าเด็กกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ต่อไปก็อาจจะเป็นคนที่สร้างคุณประโยชน์อะไรที่ยิ่งใหญ่ให้กับสังคม ก็อยากให้สังคมให้โอกาสเขามีพื้นที่ยืนให้เขา ยอมรับเขา

เด็กทุกคนเขามีศักยภาพในตัวเขา อยู่ที่ว่าเราจะค้นพบสิ่งนั้นในตัวเขามั้ย ถ้าเกิดว่าเด็กได้รับโอกาส เขาจะมีอนาคตที่ดีต่อไป ไม่เป็นภาระของสังคม ไม่ไปสร้างปัญหา สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมต่อไป”






สัมภาษณ์ รายการ "ฅนจริง ใจไม่ท้อ"
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น