ข่าวมั่ว - ข่าวปลอมเรื่อง "ไวรัสโคโรนา” ออกมาไม่เว้นแต่ละวัน!! นำมาซึ่งการตั้งคำถามของสังคม ถึงเบื้องหลังการทำ Fake News ว่ามันอาจเป็นขบวนการดิสเครดิต-ทำสงครามระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจ “จีน-อเมริกา” และนี่คือคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง
ปล่อยข่าวลวง=สงคราม?
คนล้มทั้งยืน,แค่มองตาก็ติดเชื้อได้ ,ชาวจีนอพยพเข้าประเทศไทยกว่า 5 ล้านคน ฯลฯ นี่คือตัวอย่างของข่าวลวง ที่กำลังถูกพูดถึง และกำลังทำให้ข้อมูลเรื่อง “ไวรัสโคโรนา” ที่กำลังเกิดขึ้นกับเมืองอู่ฮั่น ในประเทศจีน ได้รับข้อมูลที่สบสน ซึ่งคนในสังคมเริ่มหันมาวิเคราะห์กันว่า หรือนี่จะเป็นการดิสเครดิตระหว่างคู่ค้า จนถึงขั้นทำสงครามเศรษฐกิจอย่างประเทศนี้หรือเปล่า
ดังนั้นเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทางทีมข่าว MGR Live จึงได้ติดต่อไปที่ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งเป็นคนที่เคยออกมาวิเคราะห์ถึงเรื่องสงครามระหว่างจีนกับอเมริกาอยู่บ่อยๆ ซึ่งเขามองเรื่องนี้ว่า ข่าวที่ออกมาไม่น่าจะใช่หน่วยงานรัฐที่ตั้งใจทำ เพื่อดิสเครดิตประเทศจีน
“ถ้าเราใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ ในกรณีนี้คุณลองวาดภาพดู ถ้าเกิดขึ้นจากอเมริกา ที่เรียกว่าใช้อาวุธเคมีเล่นงานจีน คุณคิดว่าจีนจะอยู่เฉยๆ เหรอ
เพียงแค่เล่นสงครามการค้ากับจีน จีนก็ตอบโต้แล้ว นึกภาพออกมั้ยครับ อันนี้คุณต้องลองใช้วิจารณญาณ อันที่ 2 เวลาที่เขาจะเล่นเรื่องของสงครามชีวภาพ เห็นชัดๆ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ทางด้านอาหรับ ใช้สงครามชีวภาพเล่นงานฝ่ายตรงข้ามหมายความว่าทุกคนพอจะจับได้ อเมริกาถึงจะเล่นงาน
เพราะเรื่องนี้ถ้ามีการทำอย่างนี้ ประเทศจีนก็คงไม่ยอมแน่ ประเทศต่างๆ ก็คงต้องออกมามีปัญหา แต่ถ้าเป็นอีกข่าวหนึ่ง ก็ต้องมาพิสูจน์ว่าข้อเท็จจริงตรงไหน
เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าการทำแบบนี้ไม่ใช่ว่าอเมริกาจะปลอดภัย เพราะว่าอเมริกาเองก็ต้องมีการควบคุมมีอะไรต่างๆ เหล่านี้ และจีนถูกกระทบ เศรษฐกิจจีนก็ต้องถูกกระทบด้วย”
เขายังย้ำให้ฟังอีกว่าเพราะประเทศจีนเป็นประเทศ ที่อ่อนไหวกับ Fake News มาก ผู้เชี่ยวชาญมองว่าถ้าอเมริกามาทำอะไรนี้ จะต้องตรวจสอบได้และจะต้องเล่นกลับไปหนักเหมือนกัน ไม่ยอมปล่อยให้เป็นแบบนี้ เพราะข่าวลวงจะส่งผลถึงด้านเศรษฐกิจ
ไม่เพียงแค่นั้น ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของข่าวมั่วคือ การสื่อสารทางโซเชียลมีเดีย ที่สามารถขยายตัว จาก 1 คน ไปสู่ล้านๆ คนได้ โดยอาจจะนำไปสู่การแยกขั้ว หรือสงคราม แต่สุดท้ายเขาก็ยังฟันธงอยู่ดีว่าไม่ใช่
“เรื่องฟันธงหรือเรื่องต่างๆ เหล่านี้ถามว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวในเรื่องไหน เพราะฉะนั้นในกรณีถ้าหากว่ามองในเรื่องของเศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะย่ำแย่ ในลักษณะที่เกี่ยวกับตรงนี้อันนี้ก็เป็นประโยชน์ของอเมริกา เพราะฉะนั้นในการที่จะบอก ฟันธงเรื่องต่างๆ เหล่านี้ นั้นแปลว่าเวลาที่เขาออกมาว่าบอกคุณก็จะต้องฟังหูไว้หู
ส่วนเรื่องที่บอกว่าเป็นสงครามที่มาใช้ในกรณีนี้ คุณก็ต้องให้มันชัด ถ้ามันเกิดสงครามจีนเองก็ไม่นิ่งเฉย และประเทศทั้งโลก ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ ตรงนี้หรอก ทั้งด้านยุโรป หรือทางด้านต่างๆ เหล่านี้ก็ออกมา
มีที่ไหนอยู่ดีๆ ประเทศสหรัฐอเมริกาเขาเล่นงานจีน ก็เล่นงานต้องมีความสามารถและมีเหตุผล แต่ไม่ใช่อยู่ดีๆ เอาเรื่องของชีวภาพไปเล่นงานประเทศหนึ่ง ซึ่งคุณฟังแค่อันนี้ก็พอก็เข้าใจแล้วครับ”
การเชื่อ “Fake News” สะท้อนการศึกษาคนไทย!!
ตอบคำถามเรื่องต้นต่อของข่าวลวงไวรัสโคโรนาในจีนไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังช่วยไขข้อสงสัยเรื่อง Fake News ที่กำลังระบาดในประเทศไทยว่าจริงๆ แล้วมันเกิดขึ้นได้ยังไง และทำไปเพื่ออะไร ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เขามองว่ามีหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือความสนุกสนาน
แต่เมื่อให้เขาแบ่งให้ชัดเจน เขาแบ่ง Fake News เป็นมี 2 แบบ 1.เป็นความไม่รู้ของคนที่ทำ ซึ่งมันไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น เหตุการณ์ที่เห็นคนล้มแล้วมีการโพสต์ แต่เขายังไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไร แต่คนที่แชร์กลับฟันธงว่าติดเชื้อไวรัสโพโรนา2.เป็นความตั้งใจ ที่จะมีการบิดเบือนข่าว หรือบิดข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นจะต้องแยกให้ออก
“ถ้าคุณเป็นฝ่ายหนึ่งที่ต้องการ หวัง คุณก็ได้ประโยชน์สิ หรือหลอกให้คนหัวปั่น คุณมีเป้าหมายหลอกให้เขาเชื่อในสิ่งที่คุณคิด เพื่อประโยชน์ทางด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ หรืออะไร กับอีกประเภทหนึ่ง ทำ Fake News เพื่ออะไรครับ ...สนุกสนาน ล่อให้คนเชื่ออะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็มีหลายปัจจัย หลายอย่าง มีเป้าหมายหลายอย่าง
และอีกประเภททำ Fake News โดยไม่รู้ อันนั้นยิ่งแย่ใหญ่เลยครับ การกระจายข่าวที่มัน Fake News ซึ่งอันนี้ก็มีเยอะมากเลยในประเทศไทย
กระทบอย่างเห็นได้ชัดนะ บางทีก็ให้ข่าวผิดๆ บางคนก็ออกมา เป็นข่าวที่เขายังไม่ได้พิสูจน์ออกมา เราจะเจอข่าวว่าโรคนี้มันไม่รุนแรง เพราะว่าติดต่อด้วยน้ำลาย ติดต่ออะไรอย่างนี้ มันมีข่าวแบบนี้ออกมา ทั้งที่ดูจากข่าวทั่วไป ยังไม่ปรากฎว่าคนอยู่ในการวิเคราะห์ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง”
เมื่อถามถึงการรับมือให้รู้เท่าทัน และเบื้องหลังการทำ Fake News จนทำให้เกิดการเข้าใจผิด เป็นกลุ่มประเทศไหนกันแน่ เขารีบให้คำตอบในทันทีว่าไม่มีเฉพาะเจาะจง
“ไม่มีหรอกครับ มันเป็นข่าวที่ใครต่อใครอยากจะทำ เบื้องหลังก็มีเป็นล้าน ๆ คน บางคนก็อยากจะหลอกเพื่อนฝูงก็เขียนไป พอหลอกแล้วเชื่อกันก็หัวเราะ อีกพวกหนึ่งก็หลอกให้กลายเป็นเหยื่อเพื่อช่วยในด้านนี้ เป็นเหยื่อแม้กระทั่งขายของหลอกคน เพราะฉะนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนว่า Fake News มีการขยายเยอะๆ และเกิดความเชื่อ มันอธิบายถึงคุณภาพการศึกษาสังคมนั้นๆ”
ข่าวโดยทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ: AFP