เกิด 60 วง เหลือเพียง 10 วง ภายในเวลา 3 ปี!! นี่แหละคือชะตากรรม “ บอยแบนด์ - เกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติไทย ”ที่ไปไม่เคยถึงจุดพีกกับเขาเสียที และสกู๊ปนี้จะเจาะลึกให้รู้ว่าทำไมอุตสาหกรรมเพลงแนวนี้ในประเทศไทย จึงสู้ประเทศผู้เชี่ยวชาญอย่างแดนกิมจิไม่ได้!!
ค่ายเจ๊งยกก๊วน เพราะได้ไม่คุ้มเสี่ยง
เรียกได้ว่าในปัจจุบันคนไทยเองได้ผลิตเกิร์ลกรุ๊ป-บอยแบนด์ สัญชาติไทยออกมามากมาย ทั้งผ่านรายการวาไรตี้หรือแม้แต่การออดิชันตามค่ายเพลง จากการรวบรวมข้อมูลของทีมข่าว MGR Live ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีเกิร์ลกรุ๊ปและบอยแบนด์ผลิตออกมามากกว่า 60 วง แต่ปัจจุบันกลับเหลือเพียง 10 กว่าวงที่ยังอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 วงที่เปิดตัวแล้วมีกระแสมากที่สุด คือวง “BNK48” ที่ตัววงยังคงมีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบัน กับอีกหนึ่งบอยแบนด์ที่เป็นกระแสโด่งดังมากในประเทศจีน อย่างวง “SBFIVE” ค่าย Stashunter Studio ที่สมาชิกวงประกอบไปด้วยนักแสดงวัยรุ่นชื่อดัง 5 คน
วง “Sbfive” ศิลปินสัญชาติไทย ดังไกลถึงแดนมังกร
ถัดมาในปี 2561 ก็มีบอยแบนด์-เกิร์ลกรุ๊ปเปิดตัวราว ๆ 20 วง ที่เป็นกระแสและปังมากสุดคือวง “9x9” ค่าย 4NOLOGUE และวงที่ต้องปิดตัวไป หลังเปิดตัวได้ไม่นาน เช่น วง “Seventh Sense” จากค่าย 7th Sense Group วง “Lemonade” จากค่าย KWN Entertainment
ส่วนในปี 2562 ถือได้ว่าเป็นปีที่บอยแบนด์-เกิร์ลกรุ๊ป เยอะมากเกือบ 40 วงเลยก็ว่าได้ แต่วงที่โด่งดังที่สุด คือวง “TRINITY” จากค่าย 4NOLOGUE” ที่อัลบั้มเปิดตัวครั้งแรกก็มียอดสั่งจองมากถึง 20,000 อัลบั้ม
“TRINITY” บอยแบนด์สัญชาติไทย ที่กำลังเป็นที่นิยม
จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีจะมีศิลปินเพียงวงเดียวหรือ 2 วงเท่านั้นที่เป็นกระแสและคนทั่วไปรู้จัก ส่วนมากก็จะเป็นวงที่มีนักแสดงหรือศิลปินที่เป็นที่รู้จักอยู่ก่อนแล้ว ส่วนวงที่เปิดตัวในปีเดียวกันทำไมถึงไม่เป็นกระแสและบางวงแทบไม่ได้ออกสื่อโทรทัศน์เลย
เกี่ยวกับกระแสความไม่ปังของเกิร์ลกรุ๊ป-บอยแบนด์สัญชาติไทย "เอฟู-ณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์" โปรดิวเซอร์เพลงชื่อดัง ได้ช่วยวิเคราะห์กับทีมข่าว ถึงประเด็นนี้ เมื่อเทียบกับความสำเร็จของเกาหลีใต้ อุตสาหกรรมนี้ทำไมถึงยังไม่เติบโตเท่าที่ควร
เอฟู-ณรงค์ศักดิ์ โปรดิวเซอร์เพลงชื่อดัง ช่วยวิเคราะห์
“มันเกิดจากหลายอย่างเลยนะ จุดแรกมันเกิดจากโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง พูดถึง Business หูของในเมืองไทยกับวงการเพลงที่เป็นป็อปเนี่ย กระแสภาพรวมเลยไม่ว่าเกิร์ลกรุ๊ป-บอยแบนด์ หรือเพลงป็อปเดี่ยว มันน้อยลงไป เพราะมันลงทุนค่อนข้างสูง หลายคนที่เป็นบริษัทที่เขาทำเพลงแนวนี้ เขาก็ว่ามันลงทุนสูงและได้ผลตอบรับมาค่อนข้างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยทำไปแล้วก็อาจจะขาดทุนหลายๆ บริษัทเขาก็เลิกทำไป
ถ้าเป็นในบริษัทใหญ่ๆ เราสังเกตว่าเพลงแนวนี้มันจะหายไป ดังนั้นอย่างแรกเลยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง จีเอ็มเอ็มแกรมมี่, อาร์เอส, โมโนมิวสิค หรือกามิกาเซ่ ที่เคยมี เกิร์ลกรุ๊ป-บอยแบนด์ เขาก็เลิกทำไปมันก็มีผลกระทบทันทีในระยะนี้ เราก็จะไม่เห็นกัน
“Lemonade” ตัวอย่างศิลปินกลุ่มไทย ที่เกิดแล้วดับหลังเปิดตัว
แต่มันก็เกิดแนวใหม่ซึ่งเป็นแนวอื่นที่ลงทุนไม่มากนัก เช่น เป็นศิลปินเดี่ยวแนวฮิปฮอปที่เกิดขึ้นมาแทนที่ กระแสโลกทางด้านแนวเพลงเกิร์ลกรุ๊ป-บอยแบนด์ทางตะวันตกก็ไม่ค่อยมา แต่ว่าจะมีทางประเทศเดียวมั้งที่ยังได้รับความนิยมอยู่คือประเทศเกาหลีใต้ เพราะว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่และรัฐบาลเขาสนับสนุนเต็มที่ทำให้ยังสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง
แต่เราจะเห็นว่าสิ่งที่มันเริ่มกลับมาใหม่เช่นเกิร์ลกรุ๊ป-บอยแบนด์ ที่เป็นโปรเจกต์ไม่ใหญ่มาก พอไม่ใหญ่มากก็มีทุนในการโปรโมตได้น้อย หลายคนก็ทำ หลายคนก็เลิกทำ”
ถอดโมเดลความปัง “BNK48”
กระแสเพลงบอยแบนด์-เกิร์ลกรุ๊ปจะมีช่วงเวลาซาลงไป แต่ก็มีปรากฏการณ์กลับมายอดฮิตอีกครั้ง เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา บริษัท นาดาว บางกอก ที่เคยสร้างหนังและซีรีส์มากมาย ก็ได้ผลิตเพลงแนวนี้ออกมา อย่างเพลง “รักติดไซเรน” เพลงประกอบซีรีส์ชื่อดัง “รักฉุดใจนายฉุกเฉิน” ที่โด่งดังเป็นอย่างมาก ปัจจุบันก็มียอดวิวมากกว่า 100 ล้านวิว
หากมองว่าทำไมเพลง “รักติดไซเรน” ถึงได้เป็นกระแสโด่งดังทั่วบ้านเมือง จะเห็นว่าตัวเพลงที่ติดหู ฟังง่าย นักร้องก็เป็นนักแสดงวัยรุ่น มีชื่อเสียงพอสมควร อย่าง ไอซ์-พาริส และ แพรวา-ณิชาภัทร
เพลง “รักติดไซเรน” ฉุดกระแสให้ “เกิร์ลกรุ๊ป-บอยแบนด์ไทย” กลับมาเกิด
อีกทั้งตัวมิวสิกวิดีโอเอง ยังมีนักแสดงชื่อดังมาร่วมเล่นด้วยทั้ง ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, ใหม่-ดาวิกา, แบงค์-ธิติ รวมถึงนักแสดงวัยรุ่นอีกมากมาย นั้นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ชมชื่นชอบ และติดตามจนเพลงโด่งดัง
นอกจากนี้ในปี 2016 วง “BNK48” ได้เปิดตัวในประเทศไทยครั้งแรกพร้อมกับเพลงดังที่ติดหูทั่วบ้านทั่วเมือง อย่างเพลง คุกกี้เสี่ยงทาย จนทำให้วงมีงานเข้ามามากมาย และถือว่าเป็นความหวังของเกิร์ลกรุ๊ปไทยเลยก็ว่าได้
ด้วยความที่ BNK48 เป็นวงน้องของ “AKB48” ในประเทศญี่ปุ่นที่มีมามากกว่า 10 ปี ถือว่าตัววงเองก็พอมีฐานแฟนคลับมาจากเดิมอยู่แล้วพอสมควร บวกกับกระแส cover เพลงจากดารา ศิลปินในไทย จึงทำให้คนทั่วไปรู้จักและเริ่มติดตาม
“BNK48” รุ่นที่ 1 โมเดลเกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติไทยที่ประสบความสำเร็จ
ตัววงมีความแปลกใหม่ มีเรื่องราวของวงที่น่าสนใจ แตกต่างจากศิลปินในไทย และการตลาดที่พยายามให้แฟนคลับมีส่วนร่วม เช่น งานจับมือ งาน 2shots หรืองานเลือกตั้ง มีตัวสำรองตัวจริงในแต่ละเพลง ให้แฟนคลับได้ลุ้นตลอดว่าเพลงนี้จะมีสมาชิกเป็นใครบ้าง ทำให้แฟนคลับรู้สึกมีส่วนร่วมในความสำเร็จของศิลปิน
แม้ BNK48 จะมีกระแสโด่งดังมากกับเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในปีต่อ ๆ มาเพลงของวงเองก็ไม่ได้เป็นกระแสหรือโด่งดังเท่าช่วงเปิดตัว โปรดิวเซอร์เพลงรายเดิมก็ได้บอกถึงเหตุผลที่ทำให้กระแสของ “BNK48” ไม่ปังเท่าช่วงแรก
“วง BNK48 ที่ทำมาแล้วดังในช่วงแรก แต่กระแสก็ลดลงมันเป็นเพราะกาลเวลาด้วย และอุตสาหกรรมเพลงมันต้องการแนวร่วม BNK48 ต้องยอมรับเลยว่าทำได้ดีมาก แล้วก็เป็นอะไรที่จุดประกายที่ดี แต่ต้องบอกว่าถ้า แนวร่วม ในวงการเพลงไม่มี มันก็ไม่สามารถไปร่วมไปต่อได้เพราะด้วยแรงแค่ BNK48 คิดว่ามันยังไม่พอในวงการนี้
ปัจจุบันบอยแบนด์-เกิร์ลกรุ๊ปเริ่มมีกระแสขึ้นมา แต่ว่าด้วยเศรษฐกิจมันก็สำคัญมันทำได้ก็จริง แต่ก็ต่อยอดได้ยาก ลงทุนสูงกว่าเพลงออกเดี่ยวหรือออกคู่ มันก็เลยไปยากในระยะยาวมันต้องรอ มันต้องสอดคล้องกับเศรษฐกิจด้วยเพราะมันต้องพึ่งพาเศรษฐกิจ
ในอนาคตวงการเพลงแนวนี้สามารถที่จะมีกระแสขึ้นมาได้แต่ว่าต้องดูเศรษฐกิจของไทยว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ นั้นคือจุดเริ่มต้น เพราะประชาชนถ้าเขายังลำบากเรื่องการใช้ชีวิตอยู่ เรื่องวงการบันเทิงมันก็ตามมาเป็นเรื่องปกติ”
T-POP อยากปัง ต้องกล้าเสี่ยง
ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นตลาดที่สำคัญของ K-POP อย่างมาก เมื่อปีที่ผ่านมามีศิลปิน K-POP เดินทางมาจัดคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้งต่าง ๆ ทั้งนักแสดง ไอดอลมากมายกว่า 20 ศิลปิน
ยกตัวอย่างวง “BTS” ศิลปิน K-POP ระดับโลก สัญชาติเกาหลีใต้ ได้มาจัดคอนเสิร์ตที่ไทยกว่า 6 ครั้ง และครั้งล่าสุดก็จัดที่ราชมังคลากีฬาสถานเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา จำนวน 2 วัน ราคาบัตรที่แพงที่สุดอยู่ที่ 6,800 บาท ถูกสุด 2,000 บาท รายได้รวมทั้งหมดกว่า 450 ล้านบาท นี่เป็นเพียงรายได้จากการมาไทยครั้งล่าสุดเท่านั้น ถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับศิลปินไทย
วง “BTS” บอยแบนด์แดนกิมจิ สาวกทะลักในไทย
วง “GOT7” อีกวงที่มีชื่อเสียงมากในต่างประเทศรวมถึงประเทศไทย เป็นวงเกาหลีใต้วงแรกที่จัดทัวร์ 4 ภาคในประเทศไทย และเป็นศิลปินจากเกาหลีใต้ที่มาไทยบ่อยที่สุดทั้งงานวงและงานแยก มาไทยมากกว่า 40 ครั้งในปีที่ผ่าน ในปีนี้เอง วง “GOT7” มีโอกาสได้มาจัดคอนเสิร์ตที่ราชมังคลากีฬาสถาน เป็นศิลปินเกาหลีใต้ลำดับที่ 2 ที่จัดคอนเสิร์ตเดี่ยวในสเตเดียมที่ใหญ่ที่สุดของไทยและจัดด้วยกันถึง 2 รอบ
นอกจากนี้ยังมีวง “BLACKPINK” เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากเกาหลีใต้ ได้สร้างสถิติเป็นเกิร์ลกรุ๊ปหญิงของเกาหลีใต้ ที่ได้จัดคอนเสิร์ตอิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี ถึง 3 รอบติด โดยราคาบัตรที่แพงที่สุดอยู่ที่ 7,500 บาท
“BLACKPINK” เกิร์ลกรุ๊ปแดนกิมจิ ที่มี “ลิซ่า” เด็กไทยอยู่ในนั้น
แต่ก่อนที่ศิลปินจากเกาหลีใต้ จะมากอบโกยรายได้จากต่างประเทศได้มากมายขนาดนี้ หากได้ดูรายการวาไรตี้ของเกาหลีจะเห็นได้ว่าการแข่งขัน และการฝึกซ้อมของเด็กฝึก ที่เตรียมตัวเพื่อไปเป็นศิลปิน จะมีความจริงจังมาก มีตารางการฝึกซ้อมที่ชัดเจน บางคนถึงกับออกจากการเรียน ยอมมาฝึกนานเป็น 10 ปี เพื่อจะได้โอกาสเป็นนักร้องที่โด่งดังไปทั่วโลก
เพราะเด็กไทยไม่มีความสามารถ ไม่เทียบเท่าเด็กเกาหลีหรือเปล่า จึงทำบอยแบนด์ - เกิร์ลกรุ๊ป ออกมาได้ไม่ปัง ? วุธ-อนุวัติ วิเชียรณรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โฟโนล็อค จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบอยแบนด์สัญชาติไทยอย่างวง “9x9” เคยวิเคราะห์เอาไว้เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวว่า ไม่ใช่เหตุผลนั้นแน่ ๆ แต่อยู่ที่เรื่องการ “ลงทุน” มากกว่า
วุธ-อนุวัติ วิเชียรณรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โฟร์โนล็อค จำกัด
“คนไทยเก่งนะ อย่างเวลาคนไทยไปอยู่ในวง เกาหลี เช่น ลิซ่า BLACKPINK, แบมแบม GOT7 เราจะเด่นขึ้นมาเลยนะเก่งสุด ๆ เลย แต่เรากลับเอาคนเก่ง ๆ ไปอยู่เมืองนอก คำถามคือแล้วทำไมเราไม่ทำอุตสาหกรรมเพื่อรองรับเด็กพวกนี้ล่ะ ทุกวันนี้คนที่มี passion แรงๆ เขาก็ไม่เลือกอยู่กับค่ายเพลงไทย เพราะคิดว่าคุณจะทำเขาออกมาเป็นศิลปินแบบไหนล่ะ
ศิลปินเกาหลีออกอัลบั้มนึงใช้เวลาในการเตรียมตัวอย่างน้อย 1 ปี นี่ยังไม่รวมเวลาในการฝึกซ้อมอีก 3-4 ปี แต่พอออกมาทีนึง ทุกวันนี้ยังขายได้อยู่เลย วงนึงอายุไม่ต่ำกว่า 10-11 ปี แถมขายได้ทั่วโลก คือมันเหนื่อยแต่มันคุ้ม
ทุกคนก็พูดว่า ต่อให้คนที่กุมธุรกิจบันเทิงใหญ่ที่สุดในประเทศนี้ ยังเลิกทำเลย เพราะเขามองว่าธุรกิจเพลงไปไม่ได้ เราก็รับฟังอย่างนั้นมาตลอดตั้งแต่เด็ก และเรายังเคยเคลิ้มไปกับความเชื่อเหล่านั้นเลยว่า เราทำไม่ได้หรอก
“GOT7” ศิลปินเกาหลีสุดปัง มี “แบมแบม” สัญชาติไทยเป็นสมาชิก
จนมาตื่นลืมตาขึ้นมาอีกที ก็ตอนที่เห็นว่า แล้วคนที่มาดูคอนเสิร์ตเราทุกวันนี้ ใครที่จ่าย ๆ ค่าบัตรคอนเสิร์ตกันใบละ 6-7 พันเนี่ย ก็คนไทยหรือเปล่า ถามว่าเขาจ่ายมาดูอะไร ก็มาดูศิลปิน มาฟังเพลง และหน้างานเขาก็ซื้อของ
ถามว่ามีคนพร้อมจ่ายตั้งเท่าไหร่ แล้วทำไมธุรกิจบันเทิงไทยรายใหญ่ถึงบอกว่า มันขายไม่ได้แล้ว มันทำไม่ได้ เราก็เลยไปตั้งโจทย์ ตั้งคำถามเอาไว้ว่า แล้วทำไมถึงขายไม่ได้ จนได้คำตอบว่า เพราะไม่มีคุณภาพที่มากพอไง ใครจะเสียเวลาดูคลิป 3 นาทีที่ดูไปแล้วไม่ได้อะไร”
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่วันหนึ่งบอยแบนด์ - เกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติไทย จะดังมากกว่านี้และอยู่รอดในอุตสาหกรรมบันเทิง จนสามารถสร้างกระแส T-POP ให้โด่งดังได้? ผู้เชี่ยวชาญในวงการเพลงรายเดิมบอกเลยว่า เป็นไปได้ถ้ามีความเชื่อ และ กล้าลงทุน
“9x9” บอยแบนด์สัญชาติไทยที่ปัง แต่ปิดโปรเจกต์ไปแล้ว
“เราจะไม่มีวันได้เป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของตัวเอง เราอยากให้มีวงบอยแบนด์ของไทยจริง ๆ ที่ใช้มาตรฐานระดับสากล คำว่า “มาตรฐานระดับสากล” หมายความว่า เราไม่ได้บอกว่าเราเก่งเทียบกับระดับสากล หรือเก่งที่สุด แต่ถ้าเราเริ่มใช้มาตรฐานสากลมาวัด เราก็จะได้ผลอย่างที่เป็นสากล แต่ถ้าเราเริ่มแบบต่ำกว่ามาตรฐานนั้น เราก็จะได้ผลออกมาแบบนั้น
และการจะเริ่มให้ได้แบบ “เป็นสากล” มันต้อง “ใช้เงิน” ครับ บอกได้เลย เพราะ “ใช้ใจ” อย่างเดียวไม่พอ เราต้องลงทุนไปกับการฝึกด้วย เพราะเรายังตามหลังทุกคนทั้งโลกอยู่ และถ้าเราไม่ฝึกในมาตรฐานนั้น เราก็จะไม่มีวันได้ศิลปินตามมาตรฐานสากล
ถามว่าทำไมต้องทำสิ่งเหล่านี้ด้วย คำตอบคือ “ความเชื่อ” ครับ ความเชื่อที่ว่า “ถ้าเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้” แค่นั้นเอง”
สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: อรุณรัตน์ หัตถะการ
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “BNK48", "4NOLOGUE", "0316 Entertainment","seventh sense thailand fanclub”, "Sbfive Land" และทวิตเตอร์ @bts_official @got7official @ygoffcialblink @nadaobangkok
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **