xs
xsm
sm
md
lg

อาตมาต้องปรับตัว!! ทำบุญยุค 4.0 “สั่งแอปถวายสังฆทาน-วิดีโอคอลรับพร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทำได้ ไม่แปลก” เปิดใจ “พระมหาไพรวัลย์” กับประเด็นทำบุญยุคดิจิทัล “ถวายสังฆทานผ่านแอป-รับพรผ่าน Video Call” ชี้เป็นอีกทางเลือกให้คนยุคใหม่ได้บุญไม่ต่างกับการถวายต่อหน้า “ตราบใดถ้าพระยังไม่ปรับตัว ธรรมะก็จะเป็นของตาย”

ทำบุญแบบล้ำๆ สั่งแอปถวายสังฆทาน!!

"นี่เรามาถึงจุดที่สามารถถวายสังฆทานโดยไม่ต้องเห็นหน้ากันแล้ว โยมจะทำบุญ เปิดแอปสั่ง FoodPanda ตัดเงินผ่านบัญชีแล้วมาส่งในวัด แล้วพระรับประเคนจากคนมาส่ง พร้อมโทร.มารับพรผ่าน Video Call #Disruption #โลกหมุนไวใจหมุนธรรม"

กลายเป็นประเด็นแวดวงผ้าเหลืองที่ถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้ หลังจากที่ "พระอิทธิยาวัธย์ สุวีรวราวุฒิ โชติปญฺโญ" พระวิทยากรชื่อดัง จากวัดนิคมประทีป จ.ตรัง ได้โพสต์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงความสะดวกสบายในยุค 4.0 ที่ทุกอย่างสามารถสั่งได้ดั่งใจผ่านปลายนิ้ว ไม่เว้นแม้แต่การถวายสังฆทาน!

เมื่อเรื่องราวดังกล่าวถูกส่งต่อกันไปบนโลกออนไลน์ ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งญาติโยมส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือมองว่า เป็นวิธีที่สะดวกสบายและค่อนข้างตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน



แต่สำหรับมุมมองของผู้ครองผ้าเหลืองล่ะ จะคิดเห็นเช่นไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักคิดนักเขียน แห่งวัดสร้อยทอง กรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นผ่านมุมมองของพระสงฆ์แก่ทีมข่าว MGR Live ว่า ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์การถวายสังฆทานลักษณะนี้ แต่ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้อยากทำบุญแต่ไม่มีเวลามาด้วยตนเอง

“พระที่ท่านโพสต์ อาตมาก็รู้จักเหมือนกันนะ อาตมามองว่าถ้ามันเป็นความสะดวกของคนที่เขาจะถวายทาน มันไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้วนะ บางทีเขาอาจจะติดขัดก็ได้ หรือมีธุระอะไรที่ไม่สามารถจะเดินทางไปวัดด้วยตัวเองได้ หมายถึงเขาอยากจะถวาย อาตมาว่าบริการเรื่อง GrabFood อะไรแบบนี้ มันก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่คนในยุคใหม่เขาก็มีสิทธิที่จะเลือกใช้บริการกันได้ อาตมาว่ามันไม่แปลก สามารถที่จะทำได้

ยังไม่ถึงกับมีลักษณะอะไรแบบนี้ที่มันเป็นการสั่งจาก GrabFood โดยตรงแล้วเขามาส่งเลย โดยปกติถ้ามันจะเป็นการถวาย ส่วนใหญ่จะฝากมามากกว่า สมัยก่อนเป็นการฝากของไป อย่างเช่นตัวของคนที่เขาจะถวายเขาไม่ได้มาด้วย เขาก็จะฝากเพื่อนเขามา

แต่ว่าอาตมาก็เคยมีลักษณะที่ว่ามีการอวยพรให้ผ่านทาง Video Call ทาง Line โยมอยู่ต่างประเทศ แต่ว่าเขาอยากจะทำบุญกับเราเขาก็ฝากเพื่อนเขามา พอดีว่าเป็นวันเกิดเขา เขาก็อยากจะได้พร เราก็ใช้วิธีการ Video Call ให้พรกัน ถามถึงความรู้สึก มันก็ต้องรู้สึกแปลกอยู่ แต่ว่าทุกวันนี้เวลาเราใช้ Line ใช้อะไรในการติดต่อสนทนากัน อาตมภาพคุยกับโยมที่บ้านเราก็มีการ Video Call กันอยู่แล้ว ไม่ได้รู้สึกว่ามันแปลกมากอะไร”


พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ

เมื่อถามว่า การถวายสังฆทานผ่านแอปพลิเคชันเช่นนี้ จะได้บุญแตกต่างจากการถวายต่อหน้ามากน้อยเพียงใด ภิกษุคนดังก็ให้คำตอบว่า การให้ทานไม่ได้อยู่ที่วิธีการ แต่อยู่ที่ความตั้งใจ

“มันไม่ได้อยู่ที่ว่าจะถวายต่อหน้าหรือไม่ถวายต่อหน้า แต่สิ่งที่สำคัญมันอยู่แค่ที่ว่าทานอันนั้นเป็นของใคร แล้วเจ้าของทานได้ทานมาด้วยความบริสุทธิ์หรือเปล่า ทรัพย์ที่ตัวเองใช้ในการที่จะซื้อวัตถุทานอันนั้นมาถวาย เป็นของที่มาจากปัจจัยเงินทองที่เขาทำมาหากินโดยความสุจริต โดยความบริสุทธิ์ แล้วเขามีความตั้งใจที่ดีที่จะทำ

ยกเว้นแต่ว่าเขาไม่ตั้งใจ เขาแค่นึกอยากจะทำก็ทำให้มันเสร็จๆ ไป หรือเหมือนว่าอาจจะมีใครทักเขามา หมอดูทักเขามาให้ทำบุญทำทาน แต่เขาไม่ได้มีความเชื่อในเรื่องของการให้ทานด้วยตัวเองอยู่แล้ว แล้วก็ใช้วิธีการสั่ง GrabFood มา แล้วเอาไปถวาย ทำเพื่อให้มันเสร็จๆ ไป อย่างนี้บุญมันก็ไม่ถึง บุญมันก็ไม่เกิด


ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

ข้อดีก็คือมันเป็นทางเลือกหนึ่ง แล้วก็เป็นความสะดวกสบายของคนที่เขาจะให้ทาน อย่างที่อาตมายกตัวอย่าง ถ้าเขาไม่สามารถจะไปได้จริงๆ แต่เขามีความตั้งใจของเขาว่าเขาอยากจะทำบุญหรือจะถวายสังฆทานหรืออะไรก็ตามแต่ มันก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถที่จะบรรลุความปรารถนาของเขาได้ อันนี้คือข้อดีของมัน แต่ว่าข้อเสีย ข้อจำกัดของมันก็เหมือนกับการที่เราได้มาอยู่กันต่อหน้า ได้สนทนากัน ได้เห็นกัน ได้พูดคุยกัน มันก็จะแตกต่างกันในลักษณะแบบนี้

แต่อาตมามองว่ามันก็ไม่ใช่ข้อดีทั้งหมดนะ การที่เราใช้ความสะดวกสบายอะไรอย่างนี้ มันก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนมันเริ่มห่างกัน แน่นอนมันทำให้สะดวกแต่ก็ไม่เหมือนกับการที่เรามานั่งคุยกัน มาพบปะกัน อยู่ต่อหน้า อรรถรสการพูดจามันก็ต่างกันมากอยู่แล้ว การถวาย GrabFood มันก็คือทำให้มันเสร็จไปเร็วๆ ใช่มั้ย จะ Video Call คุยกันนานก็ไม่ได้เพราะ Line Man พวก GrabFood เขาก็ต้องรีบไปส่งที่อื่นต่อ เขาจะมายืนถือจอ Video Call เราคุย ก็ไม่ได้หรอก”

หากไม่ปรับ ธรรมะก็ตาย…

ไม่เพียงแค่การถวายสังฆทานผ่านการสั่งอาหารในแอปพลิเคชันเท่านั้น ปัจจุบันมีพระนักเทศน์ นักคิดหลายรูปที่หันมาใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เว้นแม้แต่ตัวพระมหาไพรวัลย์เอง

“ควรต้องใช้ รูปแบบของการเผยแผ่ธรรมะ มนก็ถูกพัฒนา ถูกปรับเปลี่ยนมาทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้วนะ เมื่อก่อนก็เข้าไปอยู่ในวิทยุบ้าง เข้าไปอยู่ในรายการทีวีบ้างอะไรบ้าง ไปแปะอยู่ในเว็บไซต์บ้าง มาอยู่ในหน้าเฟซบุ๊กแทน อาตมาว่าถ้าใช้ในทางที่ดีมันดีด้วยซ้ำ ชาวพุทธเขามีทางเลือกของเขา ถ้าเขารู้สึกไม่สบายใจเขาจะได้ตามเฟซบุ๊ก ตามเพจของพระรูปนั้นรูปนี้ พระอาจารย์รูปนั้นรูปนี้ที่เขารู้สึกสนใจ ติดตามคำสอน

อาตมาเห็นหลายคนนะอย่างเช่น พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ลูกศิษย์ท่านก็เอาคำสอนของท่านมาเผยแผ่ทางเฟซบุ๊กของวัดป่า ถ้าจะต้องจำกัดว่าธรรมะต้องอยู่ในวัดอย่างเดียว ต้องมาฟังธรรมต่อหน้า ต้องขึ้นธรรมาสน์ อาตมาว่ามันล้าสมัยไปมาก แล้วมันไม่มีผลเท่าที่ควรด้วยซ้ำ คือคนเจเนอเรชันเดียวเท่านั้นหรือน้อยมาก ที่เข้าวัดแล้วมานั่งฟังธรรม มันได้คนไม่กี่กลุ่ม



แต่ถ้ามันไปในเฟซบุ๊ก มันได้กับคนทุกกลุ่มเลยนะ สมมติเพจนี้มีคนตามหนึ่งแสนคน ในหนึ่งแสนคน มีคนกลุ่มหลากหลายมาก หลายช่วงวัย แล้วแต่แหละใครอ่าน จะเป็นเด็กวัยรุ่นก็ได้ ถ้าเขารู้สึกชอบเขาก็อาจแชร์ไป คนเฒ่าคนแก่ก็ได้ อาตมาว่ามันหลากหลายกว่า แล้วมันเข้าถึงง่ายกว่า”

แม้ปัจจุบัน คำสอนของพระพุทธเจ้าจะถูกทำให้เข้าถึงพุทธศาสนิกชนได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งคำถามจากสังคมว่าการเผยแพร่ธรรมะรูปแบบนี้ เป็นสาเหตุให้คนเข้าวัดน้อยลงหรือไม่?

“จริงๆ การเข้าวัดน้อยลงมันเป็นอยู่แล้วนะ มันไม่ใช่เพิ่งจะมามีเฟซบุ๊กหรืออะไร เพราะความห่างระหว่างฆราวาสกับพระมันมีส่วนหนึ่ง ทุกวันนี้คนเข้าวัดก็จริง แต่ก็ไม่ได้เข้าวัดเพื่อไปฟังธรรมใช่มั้ย อย่างที่เราเห็นกันเข้าวัดส่วนมากจะเป็นวัดที่มันเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการจัดซุ้มจัดอะไรให้ถ่ายรูปกัน เช็กอิน มันก็จะเป็นไปในรูปแบบลักษณะนี้

แต่การที่เข้าวัดเพื่อฟังธรรม สนทนาธรรม มีน้อยมาก ในเมื่อมันมีพวกนี้ขึ้นมา พวกการ Live บ้าง การถ่าย VDO เผยแพร่ทางเพจของพระที่ท่านมีชื่อเสียง คนติดตามเยอะๆ มันก็ดี เป็นการเข้าถึงคนไปอีกรูปแบบหนึ่ง มันทำให้ธรรมะเป็นเรื่องไม่ตาย ตราบใดถ้าพระยังไม่ปรับตัวแล้วยังต้องให้โยมเข้าวัดเท่านั้นถึงจะแสดงธรรมได้ ไม่ใช่เฟซบุ๊ก ไม่ใช่เพจ อาตมาว่าธรรมะมันก็จะเป็นของตาย ไปไม่ทันกับสังคมยุคใหม่ คนยุคใหม่”

สุดท้าย พระมหาไพรวัลย์ ได้ฝากถึงญาติโยมเกี่ยวกับการทำบุญยุค 4G ไว้ว่า “อาตมาเห็นเยอะนะ ทุกวันนี้มีการทำบุญกันผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านสังคมออนไลน์เยอะขึ้น แล้วไม่ใช่เฉพาะพระทำนะ แต่มันเป็นการเรียกร้องของฆราวาสด้วย ก็เลยรู้สึกว่าเขาสะดวกแบบนี้มากกว่า



บางทีสมัยก่อนเวลาจะทำบุญ ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ต้องแจกซองแล้วคนก็ทำบุญ 20 50 ทุกวันนี้เขาไม่เอาซองแล้ว มันโบราณไป เขาขอเลขบัญชีวัดเลย โอนไปร่วมบุญ มันก็โอนเข้าบัญชีวัดเลย เขาจะเลือกวิธีการแบบนี้มากกว่า ที่เอาซองมาแจกเขาก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าเงินจะถึงวัดรึเปล่า ถึงคนที่เขาอยากจะทำบุญด้วยรึเปล่า

การทำบุญอาตมามองว่ามันเป็นเรื่องของความสบายใจส่วนตัวก็จริง แต่ว่ามันก็ต้องดูด้วย โดยเฉพาะยุคที่อะไรมันรวดเร็วอย่างนี้ เช่น มีคนมาชวนทำบุญเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ต้องตรวจสอบให้ดีด้วย เดี๋ยวนี้มันก็มีมิจฉาชีพเยอะ มีคนต้มตุ๋นหลอกลวงเยอะ ก็ต้องใช้สติกันให้มาก

อะไรที่มันเป็นความเร็วอาตมาว่ามันต้องยิ่งระมัดระวัง อย่าเอาความสะดวก ความง่าย ทำบุญต้องพิจารณาให้ดีนะเพราะพระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญการเลือกให้ดีก่อนแล้วถึงให้ เพราะฉะนั้นจะให้ทานให้แก่พระ ให้แก่มูลนิธิ ให้แก่อะไรก็ตามแต่ทุกที่ ต้องเลือกให้ดีก่อน คิดให้ดีก่อน แล้วทำบุญ กุศลมันถึงจะเกิดอย่างเต็มที่”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” และ “Foodpanda riders Thailand - รับสมัครพนักงานรับ-ส่งอาหาร”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น