xs
xsm
sm
md
lg

เดินเซ-เวียนหัว-บ้านหมุน เสี่ยง "ตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด" โรคฮิตคนวัยทำงาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวียนหัว-ควบคุมการทรงตัวไม่ได้ แพทย์เตือน “โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในหลุด” พบได้บ่อยในกลุ่มวัยทำงาน-พักผ่อนน้อย ส่งผลให้สังคมตื่นตระหนัก กลัวตาย เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้



“เวียนหัว-บ้านหมุน-แขนขาอ่อนแรง” เสี่ยงเป็นโรค!!


กลายเป็นที่วิตกกังวลของสังคม เมื่อกรมการแพทย์มีการเผยแพร่เกี่ยวกับ “โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด” โรคสุดฮิตที่พบในกลุ่มวัยทำงาน ทำเอาสังคมแตกตื่นกันอีกครั้ง เนื่องจากชื่อโรคดูไม่ค่อยคุ้นชินหูมากนัก

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเอาไว้ว่าโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มวัยกลางคนและวัยทำงาน  เนื่องจากทำงานหนักและพักผ่อนน้อย และปัจจัยหลักๆ คือการเคลื่อนไหวด้วยท่าทางเดิมๆ

“โรคนี้จะไม่มีอาการหูอื้อและมักมีอาการเฉพาะ คือเวียนศีรษะเป็นๆ หายๆ บ้านหมุน เสียการทรงตัว โดยเกิดขึ้นทันทีทันใด เช่น ขณะพลิกตัวบนที่นอน หรือขณะลุกจากที่นอน ก้มดูของหรือเงยหน้าขึ้น มักเป็นอยู่ในช่วงสั้นๆ แค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ สักพักอาการจะค่อยๆ หายไป

หากขยับศีรษะในท่าเดิมอาการจะกลับมาเป็นใหม่ แต่ไม่รุนแรงเท่าครั้งแรกที่เป็น อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นอาการข้างเคียงร่วมด้วย  ทั้งนี้อาการเวียนศีรษะที่เกิดขึ้น อาจเป็นได้หลายครั้งต่อวัน และมักเป็นอยู่หลายวันแล้วจะค่อยๆ  ดีขึ้น"
 
โดยพบว่าเกิดจากหูบริเวณชั้นใน จะมีอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัวอยู่ และภายในอวัยวะนั้นจะมีตะกอนหินปูนที่เคลื่อนไป-มาได้โดยไม่หลุด เพื่อรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะ

แต่เมื่อตะกอนหินปูนนี้หลุดออก ศีรษะมีการเคลื่อนไหว ทำให้ไปกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนหัวขึ้น ส่งผลต่อการควบคุมการทรงตัวของเรา 

สำหรับอาการของโรคที่เด่นชัด คือ เสียการทรงตัวจะเกิดในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังมีการเคลื่อนไหวของศีรษะ มองไม่ชัด ในลักษณะภาพเบลอในขณะที่มีอาการเวียนศีรษะ และถ้าบางรายมีอาการเวียนศีรษะมาก อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนด้วย



ย้อนกลับไปเมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา ถ้ายกตัวอย่างคนดังที่เคยเป็นโรคนี้ ก็คือ “ไบร์ท- พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ” ผู้ประกาศข่าว เธอได้แชร์ประสบการณ์ป่วยผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ว่ารู้สึกเหมือนวิญญาณจะออกจากร่าง ถึงไม่ใช่โรคแปลก และโรคร้ายแรง แต่ว่าเวลาเป็นขึ้นมามันทรมานเป็นอย่างมาก

“มันจะหมุนติ้วๆ เหมือนเราอยู่ตรงกลาง แล้วทุกอย่างหมุนไปหมด แล้วไบร์ทก็มีอาการเหมือนเป็นลมร่วมด้วย มันจะวืดอยู่ในท้อง ทรมานมาก คือต้องหลับตาจิกหมอนอยู่อย่างเดียว

ตอนแรกคิดว่าทานข้าวน้อย พักผ่อนน้อย เพราะมันเป็นกลางคืน ก็พยายามกินพวกน้ำหวานเข้าไป แต่ไม่ช่วย แล้วอาเจียน เพราะเราเวียนหัว”

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักไม่มีอาการรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการได้ยิน มีเสียงดังในหู แขน-ขา ชา อ่อนแรง พูดไม่ชัด หมดสติ หรือเป็นลม ยกเว้นจะมีอาการของโรคอื่น ๆ แฝงอยู่



แพทย์เตือน “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” เป็นได้ทุกเมื่อ!!
 

“คือโรคตะกอนหินปูนชั้นในหลุด จริงๆตะกอนมีหน้าที่ทรงตัวให้เรา ปกติเวลาเขาอยู่เฉยๆก็จะเซไปทางซ้าย ทางขวา มันก็จะมีที่จะอยู่ ทุกคนต้องมี แต่เมื่อเวลาเขาหลุดออกมาการทรงตัวเราก็เริ่มมีเซนส์แปลกๆจริงๆ แล้วหัวเราไม่หัน แต่ว่ามันรู้สึกไปแล้ว่าเราหัน มันก็เลยเกิดอาการบ้านหมุนขึ้นมา”

ไม่เพียงแค่นั้นโลกโซเซียลฯ พากันตั้งข้อสงสัยถึงโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด และโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคชนิดเดียวกันหรือไม่ รวมทั้งโรคนี้มีอันตครายต่อชีวิตขนาดไหน

ทางด้าน พญ.ศิวะพร กียรติธนะบำรุง ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำตอบผ่านทางรายการพบหมอรามาฯ เอาไว้ว่าจะมีปัจจัยที่แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยที่แตกต่างกัน คือ1. ท่าทาง 2. การได้ยิน และ 3 ตัวกระตุ้น

โดยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ก็จะมีอาการที่หูชั้นใน คือการไม่ได้ยิน หรือจะมีอาการหูอื้อร่วมด้วย และจะเป็นโรคนี้ตอนไหนก็ได้

“ถ้าน้ำในหูไม่เท่ากัน จะเกิดขึ้นที่หูชั้นในบริเวณเดียวกัน แต่มันเป็นที่ความบวมของหูชั้นใน ชื่อเต็มคือความดันน้ำในหูไม่เท่ากัน

 

โรคทั้ง 2 มีอาการแตกต่างกัน เพราะว่าคนที่เป็นน้ำในหูไม่เท่ากัน ก็จะมีอาการที่หูชั้นในคือการไม่ได้ยิน หรือจะมีอาการหูอื้อร่วมด้วย เวลาเริ่มมีเสียงในหู หรือรู้สึกอื้อสักพัก จะมีการเวียนหัว

ถ้าเป็นโรคตะกรอนหินปูนในหูชั้นในหลุด จะเป็นตามท่าทาง เพราะว่าตะกรอนหลุด แต่น้ำในหูจะเป็นตอนไหนก็ได้ จะนอน จะนั่งอยู่เฉยๆ อาจจะเป็นก็ได้”

อย่างไรก็ดีโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด และยังไม่มียาสำหรับการรักษา ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะให้การรักษาจนไม่มีอาการเวียนศีรษะแล้ว แต่ก็อาจจะกลับมามีอาการได้อีก

ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทำให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้ โดยแพทย์ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือการแหงนหน้าอย่างรวดเร็ว ควรจะระมัดระวังท่าทางต่างๆ และหากพบว่าหากมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยทันที ซึ่งหากการรักษาตามอาการ และการทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเฉพาะในกรณีจำเป็น




ข่าวโดยทีมข่าว MGR Live
 

 




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น