xs
xsm
sm
md
lg

สุดเสี่ยง “ตากข้าวบนถนน” วิถีชาวบ้าน หรือ เห็นแก่ตัว!?!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดรามาเพราะ “ข้าว”! โซเชียลฯ ซัดกันเละ เหตุ “ชาวนาตากข้าวบนถนน” คนขับต้องหักพวงมาลัยหลบกันอลวน ทำรถชน มีคนเจ็บ อีกฟากสวนกลับ “ปีละครั้ง หยวนๆ กันหน่อย” ด้านกูรูความปลอดภัยบนท้องถนนชี้ ขับมาช้าก็เสี่ยงอยู่ดีเพราะไม่มีระยะเบรก ส่วนทนายย้ำ ตากข้าวผิดที่ มีโทษปรับหลายหมื่น!!!

“ถนนข้าวเปลือก” เสี่ยงลื่น-หักหลบ-ประสานงา

ปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกร หลายพื้นที่ตามต่างจังหวัดในช่วงนี้ มักจะเห็นชาวนานำข้าวออกมาตากเพื่อไล่ความชื้น ที่ต้องอาศัยความร้อนจากแสงแดดและพื้นที่ราบเพื่อแผ่ข้าวให้แห้ง โดยแต่ละครอบครัวจะทำลานกว้างไว้สำหรับตากข้าวในพื้นที่ของตนเอง หรือไม่ก็ตากตามลานกว้างในชุมชนที่มีการจัดสรรพื้นที่ไว้ให้ เช่น ลานกว้างของวัดและโรงเรียน เป็นวิถีชีวิตที่เห็นจนเป็นภาพชินตา

แต่สำหรับชาวนาบางคน เมื่อไม่มีพื้นที่หรือมีผลผลิตในปริมาณที่เยอะจนล้น ก็มักจะนำข้าวออกมาตากบนถนน ทั้งเส้นทางในหมู่บ้านและถนนสายหลัก บางครั้งก็กินพื้นที่ถนนไปกว่าครึ่ง จนถนนทั้งสายต้องกลายเป็น “ถนนข้าวเปลือก” ทำให้ผู้ที่ต้องใช้เส้นทางในการสัญจรผ่านไป - มา ต้องคอยหลบหลีกกันให้วุ่น เพราะเกรงว่าจะทำให้ข้าวเสียหาย หรืออาจเกิดอุบัติเหตุลื่นไถล จากการเหยียบข้าวสารที่ลื่นไม่ต่างจากเหยียบทราย



ล่าสุด วิถีชาวบ้านดังกล่าว ก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นติดกันถึง 2 ครั้ง เพราะมีชายหนุ่มคนหนึ่งใน จ.ยโสธร ขี่รถจักรยานยนต์กลับจากการไปดูหมอลำช่วงเช้ามืด โดยเส้นทางที่เขาขี่ผ่านเป็นถนน 2 เลน แต่ทว่า มีคนนำข้าวไปตากไว้เต็ม 1 เลนแล้ว ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ชายคนขี่รถจักรยานยนต์มีอาการคล้ายคนเมา ได้ขี่รถชนยายที่กำลังตากข้าว ทำให้ทั้งคู่ได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกตามร่างกาย ต่อมาเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้พาคนเจ็บนำส่งโรงพยาบาลแล้ว

ส่วนอีกเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ แม้ครั้งนี้จะไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก็คงจะหนักเอาการ เพราะเฟซบุ๊ก เบนซ์ไฟไซเรน ปลีกส่ง ได้โพสต์ภาพรถยนต์คันหนึ่งที่มีสภาพยับเยินไปทั้งคัน ที่รถเสียหายขนาดนี้ คาดว่ามีสาเหตุมาจากการหักหลบข้าวของชาวบ้านที่นำมาตากไว้ครึ่งถนนจนลงข้างทาง เขาจึงทวงถามถึงความรับผิดชอบ ว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เจ้าของข้าวหรือเจ้าของรถที่ผิด

“เหตุเกิดต่างพื้นที่ แต่อยากรู้ว่าหากเกิดเหตุแบบนี้ใครถูกใครผิด ใครรับผิดชอบหรือประมาทร่วม เท่านั้นครับ หรือสุดท้าย ข้าวไม่มีเจ้าของตกเป็นของแผ่นดิน เจ้าของรถซ่อมเคลมเองเหมือนชนวัวชนควาย”



หลังจากที่อุบัติเหตุทั้งสองเหตุการณ์ ถูกส่งต่อกันไปบนสังคมออนไลน์แล้ว ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือด และทำให้ความคิดเห็นที่มีต่อเหตุการณ์นี้ ถึงกับแตกออกเป็น 2 ฝั่งทันที โดยส่วนใหญ่จะออกมาตำหนิคนที่นำข้าวมาตาก ว่าเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนที่ต้องใช้ถนนคนอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน ฝั่งที่อยู่ข้างชาวนาก็ให้เหตุผลว่า ควรเห็นใจชาวนาที่ปลูกข้าวให้กิน น่าจะอะลุ่มอล่วยบ้าง เพราะการตากข้าวมีเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

“พื้นที่เขาไม่แห้งค่ะแล้วก็มันไม่เรียบด้วยค่ะเขาตากถนนมันแห้งไวแล้วเขาก็ได้เอาไปขายไวค่ะจนลืมคิดไปว่าไม่ควรทำเพราะถ้าช้าปากท้องเขาก็หิวค่ะ”

“ผมเห็นใจชาวนาครับ ถนนหลวงก็จริง แต่สิ่งที่ชาวนานำไปวางนั้น คือ "ข้าว" นะครับ ข้าวที่ปลูกให้เรากิน ไม่มีรถขับ เราอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีข้าว เราอยู่ไม่ได้”



เพื่อความชัดเจนของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทีมข่าว MGR Live ได้สอบถามไปยัง นพ.ธนะพงศ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ให้ช่วยวิเคราะห์ถึงอันตรายและความเสี่ยงของการขับขี่รถบนถนนที่มีข้าวตากอยู่

“ความเสี่ยงสำคัญ อย่างแรกเลยเขาจะตากในเส้นทางที่เป็นถนนโล่ง คือทางหลวงชนบทหรือไม่ก็ทางหลวงท้องถิ่น จะมีปริมาณรถไม่มาก การตากข้าวส่วนใหญ่จะไม่พบการแจ้งเตือนหรือมีป้ายบอก คนขับจะมาเห็นเมื่อจะถึงจุดตากข้าวแล้ว ถนนลักษณะนี้จะมีการใช้ความเร็วที่ 60 - 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถ้าลองวิเคราะห์ดู เอาแค่วิ่งที่ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง 1 วินาที รถเคลื่อนตัวไปแล้ว 16.6 เมตร ถ้าเห็นว่าข้างหน้ามีของวางอยู่บนถนน จะแตะเบรกต้องใช้เวลาประมาณ 2 วินาที ซึ่งเท่ากับรถเคลื่อนตัวไปแล้วเกือบ 30 เมตร กว่าเขาจะเบรกแล้วหยุดได้ ก็ใช้ระยะหยุดไม่ต่ำกว่า 37 - 40 เมตร จึงมีโอกาสที่จะหยุดไม่ทัน

ถ้ารถสัมผัสกับข้าว การขับรถแล้วล้อไม่ได้เหยียบพื้นถนน ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะลื่นไถลเพราะแรงเสียดทานลดลง พอขับมาแล้วเห็นจะเบรกก็ไม่ทัน จะหักหลบก็อีกความเสี่ยงจะลื่นไถล ส่วนอีกปัจจัยที่จะสัมพันธ์กันได้คือ ช่วงฤดูเก็บเกี่ยว มันเป็นช่วงเข้าสู่หน้าหนาว เช้าๆ ที่ออกมาตากข้าวจะมีหมอก ก็ยิ่งลดทัศนวิสัยในการมองเห็น และอีกประการ ถ้ามีรถสวนมา ถนนที่ตากข้าวส่วนใหญ่เป็นถนน 2 เลน พอเหลือช่องทางเดียว คนก็เลือกที่จะไม่เหยียบข้าว ตรงนี้ก็เสี่ยงที่จะไปประสานงา”

นอกจากนี้ กูรูความปลอดภัยบนท้องถนน ได้ฝากคำแนะนำไปยังทั้งผู้ขับขี่และคนนำข้าวมาตากด้วย แม้ถนนจะโล่งแต่ผู้ใช้รถก็ต้องลดความเร็ว ส่วนชาวนาก็ควรเลี่ยงการนำข้าวมาตากบนถนนสายหลัก และต้องนำปัญหานี้ไปหาทางออกกันในชุมชน



“ในมุมคนขับผมคิดว่าถ้าต้องวิ่งถนนในทางชุมชน และยิ่งวิ่งในฤดูนี้ อย่างแรกต้องลดความเร็วลง ต่อให้ถนนโล่งก็อย่าวิ่งจนเพลิน มันมีโอกาสเสี่ยงมาก ถ้าเบรกไม่ทันแล้วไม่มีรถสวนมา โดยสัญชาติญาณก็หักหลบไปวิ่งอีกเลน แต่ถ้ามีรถสวนมา ก็ต้องเหยียบข้าว อันนี้เป็นเรื่องทักษะ การควบคุมพวงมาลัยรถ

ในมุมผม การเบรกกะทันหันมันก็มีโอกาสเสี่ยงที่รถจะพลิกด้วย หลายคนอาจจะมองว่าเราไปทำทรัพย์สินคนอื่นเสียหาย อันนี้ต้องเอาชีวิตไว้ก่อน บางกรณีเขาวางผ้าใบไว้ใต้ข้าวด้วย อันนี้ก็จะยิ่งอันตรายเพราะมันมีโอกาสทำให้ลื่น ยิ่งเศษผ้าใบมันม้วนไปติดในใต้ท้องรถ มันดึงให้รถพลิกคว่ำได้เลย แต่ข้อแนะนำของผมอยากให้หักหลบเพราะผ้าใบมันมีโอกาสพลิกได้เยอะ ทั้งข้าวเปลือก ทั้งผ้าใบยาง

ส่วนมุมของชาวนา ก็เข้าใจนะว่าเขาไม่มีที่ตาก แต่มันไม่ใช่แค่ชาวนา มันเป็นโจทย์ของชุมชนว่าทำยังไงจะเพิ่มพื้นที่ตากข้าวที่ไม่ต้องไปอยู่บนถนน หรือถ้าจำเป็นต้องตากก็ควรเลี่ยงถนนที่รถใช้ความเร็ว ไปตามในถนนชุมชน ที่นานๆ จะมีรถผ่าน เป็นถนนที่วิ่งช้าๆ ครับ”

เคลียร์ชัด ‘ตากข้าวบนถนน’ มีความผิด!

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่ครั้งแรก โดยแต่ละปีหลังฤดูเก็บเกี่ยว ก็มักจะมีกรณีของผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชนบ้าง รถคว่ำบ้าง ที่ล้วนแล้วแต่เกิดจากการตากข้าวบนถนนเสมอๆ

ก่อนที่ความคิดเห็นบนโลกโซเชียลฯ จะดุเดือดไปมากกว่านี้ ทางด้านของ ทนายรัชพล ศิริสาคร เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “สายตรงกฎหมาย” ก็ได้ออกมาให้คำตอบเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่มาก ว่าตกลงแล้ว การที่ชาวนานำข้าวมาตากบนถนน จนทำให้ประชาชนคนอื่นๆ ต้องเดือดร้อนนั้น มีความผิดหรือไม่ โดยทนายคนดังได้ชี้แจง ตามบรรทัดต่อจากนี้



“พ.ร.บ. ทางหลวง 2535 มาตรา 39 มาตรา 72 มีหลักว่า ห้ามนำสิ่งใดมาวางขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การตากข้าวบนถนน เข้าข่ายเป็นการกีดขวางการจราจร และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นการนำสิ่งของมาวางบนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายแก่บุคคล

นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ห้ามวางของบนถนนอีก ซึ่งมีโทษทางอาญาเช่นเดียวกัน เช่น พ.ร.บ. จราจรทางบก 2522 มาตรา 114 ที่มีหลักว่า ห้ามวางสิ่งใด หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่เป็นการกีดขวางทางจราจร เว้นแต่ได้รับอนุญาต ซึ่งตามมาตรา 148 หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 มาตรา 19 มาตรา 57 มีหลักว่า ห้ามวางวัตถุใดๆ บนถนน หากฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ผู้ใดกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของหรือกระทำด้วยประการอื่นใด ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยไม่จำเป็น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

วิถีชาวบ้าน ควรปรับเปลี่ยนใหม่ เพราะต้องเห็นใจคนใช้ถนนด้วย”



เช่นเดียวกันกับ ปกรณ์ ศรีปานวงศ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสุรินทร์ ที่เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อไว้ถึงประเด็นเดียวกันนี้ว่า กรมทางหลวงมีพระราชบัญญัติการควบคุมทางหลวงปี 2535 ระบุว่า มิให้มีการดำเนินการติดตั้ง แขวน วาง หรือกองวัสดุ อันจะส่งผลต่อการกีดขวางหรือทำให้เกิดอันตรายต่อการจราจรกับยานพาหนะที่จะสัญจรบนถนน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากพบเห็นการตากข้าวเปลือกบนถนนของชาวนา จะเข้าไปตักเตือนให้ขนย้ายภายใน 2-3 วัน หากยังไม่ขนย้าย จะทำหนังสือแจ้งว่ามีการกระทำผิด หากยังไม่แก้ไขอีก แขวงทางหลวงจะดำเนินการขนย้ายเอง และเรียกค่าเสียหายกับเกษตรกรต่อไป

กล่าวโดยสรุปก็คือ ใครก็ตามที่ยังนำข้าวมาตากไว้บนถนน หากถูกจับดำเนินคดี ก็จะมีความผิดทั้งจำทั้งปรับหลักหมื่น!

สำหรับทางออกของปัญหานี้ ก็คงต้องย้อนกลับแก้กันที่ต้นเหตุ คือ “การปฏิบัติตามกฎหมาย” ฝั่งชาวนาไม่นำข้าวมาตากบนถนน ส่วนฝั่งผู้ที่ขับขี่ยวดยานพาหนะ ไม่ว่าจะมีข้าวอยู่บนถนนหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ควรใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วยเช่นกัน ...


กำลังโหลดความคิดเห็น