สาวประเภทสองตัดพ้อเป็นเพศที่สาม สมัครงานได้มั้ย? ด้านบริษัทตอกย้ำไม่รับสาวประเภทสอง นักสิทธิฯออกโรงบอกกรณีนี้เรียกร้องสิทธิ์ได้!
ถูกปฏิเสธเพียงเพราะเป็น “สาวสอง”
แม้ว่าปัจจุบัน ชาวต่างชาติจะพูดกันว่าประเทศไทยเป็นเมืองสวรรค์ของบุคคลหลากหลายทางเพศ หรือเพศที่3 แต่ในความเป็นจริง อาจเป็นภาพที่สะท้อนเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติมากกว่า
คนไทยบางคนอาจจะเข้าใจว่าสังคมไทยเปิดกว้างและยอมรับถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่สำหรับบุคคลเพศที่3ที่อยู่ในประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างมากทีเดียว
ล่าสุด เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพอีเมลที่ระบุข้อความถูกปฏิเสธรับเข้าทำงานจากบริษัทแห่งหนึ่ง พร้อมกับเขียนเล่าด้วยความน้อยใจว่า ได้ไปสมัครงานที่บริษัทแห่งหนึ่งและได้รับการเรียกสัมภาษณ์ แต่เมื่อได้ส่งอีเมลไปถามว่าเป็นสาวประเภทสองจะรับเข้าทำงานที่นี่หรือไม่ บริษัทดังกล่าวจึงได้ตอบกลับมาว่า ทางบริษัทไม่ได้รับสาวประเภทสอง
“เสียดายจังค่ะ ทางบริษัทฯไม่รับสาวประเภทสองค่ะ ต้องขออภัยด้วยนะ แต่คุณชื่อผู้หญิงมากค่ะ และหน้าตาก็เหมือนเลย ถ้าไม่ได้แจ้งก่อนมองไม่ออกเลยค่ะ เนื่องจากดิฉันไม่ได้มอง Mr.,Mrs.”
ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่ากรณีนี้เป็น การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ ผู้สมัครงานมีคุณสมบัติเหมาะสม แต่เมื่อเปิดเผยเพศของตนเองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือสาวประเภทสอง ทางบริษัทกลับปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน
สิ่งที่บริษัทตอบกลับมา
พ.ร.บ.คุ้มครองเพศคุ้มครองได้จริง?
เพื่อไขข้อข้องใจในเรื่องการเลือกปฏิบัติในครั้งนี้ทีมข่าวผู้จัดการLive จึงได้ติดต่อสัมภาษณ์ไปยัง จันจิรา บุญประเสริฐ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งได้แนะนำว่า สาวสองคนดังกล่าว สามารถเรียกร้องพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558ได้
“ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เกิดจากการไม่ยอมรับตัวตน มีอคติกับเพศที่3 ถ้ายอมรับเรื่องเพศจริงๆก็คงไม่มีการเลือกปฏิบัติ น้องเขาก็ได้ทำงานไปแล้ว รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม,ถูกลดทอนคุณค่าสำหรับคนข้ามเพศ ซึ่งหากรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศได้ และอยากให้นำมาใช้จะได้เกิดประโยชน์กับตัวของน้องเขาเอง และเป็นกรณีตัวอย่างให้ทุกคนดูด้วย”
และเมื่อถามถึงความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศของสังคมไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร แหล่งข่าวรายเดิมได้บอกว่า ดูเหมือนจะเข้าใจและยอมรับมากขึ้น แต่ก็เเป็นแค่คำพูดเท่านั้นเอง
“โลกภายนอกหรือคนภายนอกมองอาจจะมองว่าเป็นที่ยอมรับ แต่จริงๆไม่มีอะไรเลยที่เป็นที่ยอมรับ ทั้งสวัสดิการ หรือแม้กระทั่งเรื่องทำงานที่เห็นได้ชัดเจน คำนำหน้ายังต้องเลือกเลย
แม้แต่เรื่องการรักษาพยาบาล ถ้าเป็นกะเทย หรือเป็นแต่ยังไม่แปลงเพศ เมื่อเจ็บป่วยเข้าไปในโรงพยาบาล แค่เห็นบัตรประชาชนเป็นนาย ก็ถูกไปเข้าห้องของผู้ชายแล้ว แม้กระทั่งเรื่อง ของการใช้ชีวิตคู่ การอยู่ด้วยกัน แต่ใช้สวัสดิการในฐานะคนรักไม่ได้ ก็เป็นแค่เพื่อนที่อยู่ด้วยกันเฉยๆ ”
ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live