xs
xsm
sm
md
lg

อาถรรพ์ "สะพานพระราม 8" จุดฆ่าตัวตายท็อปฮิต แหล่งเช็กอินปลิดชีวิตแห่งยุค!!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุกปีต้องมีชีวิตหายไปกับสายน้ำ “สะพานพระราม 8” สถานที่สุดฮิตเรื่องฆ่าตัวตาย หลายรายมาเพื่อไลฟ์สดก่อนพลีชีพ สุดเศร้าชาวบ้านเห็นบ่อยจนชินแต่ช่วยไว้ไม่ได้ งานวิจัยแนะสีของแสงไฟมีส่วนต่ออารมณ์ แพทย์ชี้นี่คือพฤติกรรมเลียนแบบ!!!






พรากชีวิตนับไม่ถ้วน “สะพานพระราม 8”
สายลมเอื่อยๆ พัดเข้ามาปะทะความรู้สึกหนักๆที่อัดแน่นอยู่ในใจผู้หญิงคนหนึ่ง ท่ามกลางแสงไฟสีส้มอ่อนๆ ที่กระทบกับผืนน้ำส่องให้หญิงสาวที่กำลังยืนมองความเวิ้งว้าง อยู่ริมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตัดสินใจทิ้งชีวิตของเธอลงไปในสายน้ำอย่างไม่มีวันหวนคืนแบบ

อะไรที่ทำให้ “สะพานพระราม 8 ” กลายเป็นสะพานยอดฮิตที่ผู้คนอยากปลิดชีวิตตัวเองโดย เลือกใช้เป็นปลายทางสุดท้ายมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ศพแล้วศพเล่าที่ต้องถูกเก็บกู้ขึ้นจากผืนน้ำใต้โครงเหล็กยักษ์ แม้แต่ชาวบ้านละแวกนั้นยังออกปากว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจนเคยชินไปแล้ว

 


“ ผมเห็นบ่อยจนมันเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่ผมเข้าไปช่วยไม่ได้ นั่งตรงนี้เราก็เห็นจนนับไม่ถ้วนครับ ส่วนมากจะเห็นตอนค่ำ ผมก็ยังงงนะว่า ทำไมคนถึงนึกจะมากระโดดน้ำที่นี่ แต่ก็รู้สึกชินแล้วครับ มันธรรมดาแล้ว ฝรั่งเองก็ยังเคยมากระโดดเลย”


ลุงรัตน์-รัตนชัย ชีรปัญญาธรรม ชาวบ้านวัย72 ที่อาศัยอยู่ภายในชุมชน ซึ่งห่างจากสะพานพระราม 8 ไม่ถึง 500 เมตร พูดเปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ผ่านน้ำเสียงเศร้าๆ กับการที่ได้เห็นภาพคนกระโดดน้ำลงไปต่อหน้าต่อตาจนเคยชิน แต่ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เพราะสะพานพระราม 8 มีกระแสน้ำที่เชี่ยวมาก ครั้นจะเข้าไปช่วย หลายรายก็ได้จมหายไปเสียแล้ว



ย้อนกลับไปดูชีวิตที่เลือกมาทิ้งร่างไว้ในสะพานแห่งนี้ จากการค้นคว้าหาข้อมูลของทีมข่าว พบว่าภายในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีกรณีที่เกิดขึ้นและเป็นข่าวใหญ่ๆแล้วถึง 3 ราย

และหนึ่งในนั้นก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นข่าวใหญ่ที่หลายคนต้องรู้จัก กับกรณีหญิงสาวที่เรียกกันในเน็ตว่า “น้องเคลียร์” ผู้จ้างวินมอเตอร์ไซต์ จากลาดพร้าวไปส่งที่สะพานพระราม 8 เมื่อถึงที่หมายก็จ้างให้วินอยู่ต่อ และให้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ก่อนดื่มเบียร์ แล้วกระโดดลงไปต่อหน้าต่อตาผู้ถ่ายคลิป ถือเป็นข่าวเศร้าสลด และเป็นที่วิจารณ์กันในวงกว้างในสังคมขณะหนึ่ง

ส่วนรายที่2เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว ชายวัย 30 รายหนึ่งทิ้งตัวลงไปในน้ำเชี่ยวกราก ไปต่อหน้าต่อตาคนตกเบ็ด แล้วจมหายไปเมื่อมีคนมาเห็น ซึ่งถือว่าเป็นข่าวหนึ่งที่เศร้าสลดมากเช่นกัน

อีกรายล่าสุด เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา หญิงสาวรายหนึ่งตั้งใจมากระโดดน้ำที่สะพานพระราม 8 เช่นเดียวกัน แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ เพราะก่อนที่เธอจะกระโดดได้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก แล้วมีการแชร์กันให้เข้าไปช่วยเหลือ ทำให้มีคนเข้าไปช่วยได้ทัน

นี่คือ 3 เหตุการณ์การฆ่าตัวตายครั้งใหญ่ๆที่เกิดขึ้น ณ สะพานอาถรรพ์แห่งนี้ ซึ่งยังไม่นับรวมคนที่มาปลิดชีพ แต่ไม่ได้เป็นข่าว หรืออาจมากระโดดไม่รู้อีกกี่รายแต่ทำไม่สำเร็จ


 
"สะพานพระราม 8 "

เมื่อเทียบกับสะพานหลายๆ แห่งอย่าง สะพานพระนั่งเกล้า ,สะพานซังฮี้แล้ว ก็ถือเป็นสถานที่ที่คนมาฆ่าตัวตายเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการนับจำนวนศพออกมาให้เห็นเด่นชัดเท่ากับสะพานพระราม 8 แห่งนี้ และเพื่อตอบคำถามว่า เหตุใดที่นี่จึงเป็นสถานที่ยอดฮิตที่มีคนเดินทางมาฆ่าตัวตายมากที่สุดแห่งหนึ่ง ทางทีมข่าวจึงได้ลงพื้นที่เพื่อค้นหาความจริงถึงเรื่องดังกล่าว

จากการลงสำรวจพื้นที่ในช่วงเย็นจนถึงค่ำ ของทีมข่าวพบว่า เรื่องความสูงของที่กั้นขอบสะพานน่าจะเป็นหนึ่งสาเหตุ
เพราะมีความสูงแค่ 110 ซม.หรือเทียบกับความสูงมาตรฐานของผู้หญิงไทยที่กั้นสูงแค่ประมาณอก และมีช่องตรงที่กั้นสามารถปีนขึ้นไปได้ ซึ่งช่องมีความยาว 10 นิ้ว กว้าง 9 นิ้ว เนื่องจากสะพานนี้ทำเพื่ออยากให้คนมองทัศนียภาพเห็นได้ชัดเจน แต่กลับกลายเป็นจุดหนึ่งที่คนที่คิดสั้นได้ใช้ในการปีนไปได้ง่าย


ทั้งนี้ บริเวณโดยรอบของตัวสะพาน เต็มไปด้วยผู้คนพลุกพล่าน โดยเฉพาะบริเวณใต้สะพาน ซึ่งเป็นลานกิจกรรมมากมาย เช่น การเล่นฟุตบอล , เต้นลีลาศ ,เล่นสเก็ตบอร์ด รวมถึงบนสะพานเองที่มีผู้คนเดินผ่านสัญจรไปมา และหลายๆคนก็มาหยุดนิ่งเพื่อถ่ายรูปวิวทิวทัศน์เก็บไว้ จึงทำให้คนที่มาเพื่อกระโดดน้ำฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นจุดสังเกตของคนอื่น เพราะคิดว่ามาทำกิจกรรมเหมือนคนทั่วๆไป
 






แพทย์ชี้ ไม่มีปัจจัยในการเลือก“สะพาน”

เป็นไปได้หรือไม่ว่าด้วยบรรยากาศ แสงไฟที่ตกกระทบแม่น้ำ ลมเย็นๆที่พัดผ่านหน้า การมองน้ำเอื่อยๆทำให้คนเกิดสภาวะจิตใจที่เศร้าหมอง หลายคนตั้งข้อสงสัยเอาไว้เช่นนั้น
จากการค้นคว้าหาข้อมูลพบว่า งานวิจัยของเวสต์แลนด์ ได้ระบุเอาไว้ว่าเรื่องสีของแสงไฟในสภาพแวดล้อมแห่งนั้น มีผลต่อการฆ่าตัวตายของคน เลยทำให้ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายบ่อยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก หยิบเอา"แสงสีฟ้า"มาใช้ในสถานีรถไฟ เพราะผลวิจัยออกมาแล้วว่า แสงสีฟ้าเป็นสีที่ปลอดภัยที่สุด ทำให้จิตใจสงบช่วยลดการซึมเศร้าของคนได้

ทั้งนี้นักจิตวิทยาได้วิจัยเรื่องดังกล่าว โดยได้จับเก็บข้อมูลเปรียบเทียบสถานีที่ใช้แสงสีฟ้า กับอีก 57 สถานีที่ใช้แสงธรรมดา ซึ่งผลลัพธ์ได้ออกมาว่า สถานีที่ใช้แสงดังกล่าว เป็นส่วนประกอบในการออกแบบช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้จริง รวมทั้งยังสรุปด้วยว่า แสงของสีดังกล่าวช่วยปรับลดอารมณ์และชีพจรทำให้ภาวะวิกฤตทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นคลี่คลายลงได้ ประเทศญี่ปุ่นเขาจึงได้แก้ปัญหาโดย การติดแสงสีฟ้ารอบบริเวณสถานีรถไฟ เพื่อช่วยป้องกันใครสักคนไม่ให้คิดสั้นได้

 
การใช้"แสงสีฟ้า"ในสถานีรถไฟประเทศญี่ปุ่น

จะเป็นไปได้หรือเปล่าที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนแสงสะพานเป็นสีฟ้า หรือเพิ่มแสงสีฟ้าในบางจุด เพื่อจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตาย เพราะงานวิจัยออกมาแบบนี้
เพื่อให้ข้อมูลหลายด้านและได้ตอบสมมุติฐานเรื่องสีของแสงไฟที่ตั้งไว้ ทางทีมข่าวจึงได้ติดต่อสัมภาษณ์ ไปยังนพ.ชัยวัฒน์ พานทอง ผู้เชี่ยวชาญจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ซึ่งได้เปิดเผยเกี่ยวเรื่องนี้ว่า การที่ผู่ป่วยเลือกฆ่าตัวตายที่สะพานพระราม 8 นั้นไม่น่าเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่จูงใจ แต่เกิดจากการลอกเลียนแบบเท่านั้นเอง

 
แสงไฟบนสะพานพระราม 8


“ที่ทราบมาไม่มีปัจจัยจากตัวสะพานนะครับ มันเป็นเรื่องของกระแสข่าวเป็นที่นิยมมากกว่า การฆ่าตัวตายต้องนึกถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยก่อนตอนนั้นเขารู้สึกตายแล้ว เขาคิดอะไรไม่ออกแน่นอน การฆ่าตัวตายแบ่งออกเป็น2 แบบคือ แบบวางแผนแล้ว และไม่ได้วางแผน แต่สำหรับคนที่ไม่วางแผนก็เป็นอะไรที่เขาคิดถึง ณ ตอนนั้นซึ่งในส่วนของสะพานพระราม 8 เป็นสถานที่สาธารณะ ดังนั้น การเลือกสถานที่มันการที่เขานึกขึ้นมาอาจเป็นเรื่องของข่าวที่เขารับรู้รับฟังแล้วก็ได้ยินมา”

และเมื่อถามถึงวิธีสังเกตและดูแลคนใกล้ชิดอย่างถูกต้อง แพทย์คนเดิมได้บอกว่า พฤติกรรมเขาจะมีการเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัด ต้องคอยดูแล และรับฟังเขาเยอะๆ
“มันจะมีความเปลี่ยนแปลงของชีวิตประจำวัน ความเอาใจใส่ดูแลตัวเอง หรือการเข้าสังคมครับ อาจจะมีการพูดถึงการทำร้ายตัวเอง พูดถึงการฆ่าตัวตายเป็นระยะๆ การพูดที่เหมือนเป็นการรำพึงรำพัน ไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว อันนี้เหมือนเป็นสัญญาณที่น่าจะต้องระมัดระวังและต้องให้ความสำคัญ และเอาใจใส่ จริงๆคนที่เขาอึดอั้นตันใจ หรือคิดอะไรไม่ออกเขาอยากได้คนรับฟังมากกว่าคนพูดครับ วิธีที่สุดคือการรับฟังเขา”

ขอบคุณภาพสถานีรถไฟประเทศญี่ปุ่นจาก Nextcity


กำลังโหลดความคิดเห็น