xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐเปิดใจรับแนวทางใหม่ ลดอันตรายจาก "ควันบุหรี่"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพทย์ชี้มาตรการ “ภาษี - คุมโฆษณา” ยังช่วยลด “สิงค์อมควัน” ไม่มากพอ สะท้อนรณรงค์เลิกบุหรี่อย่างเดียวไม่ได้ผล แนะรัฐเปิดใจศึกษาผลิตภัณฑ์ทดแทน เป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่ ตามแนวคิด “Tobacco Harm Reduction” เพื่อควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ ลดอันตรายจากควันบุหรี่

ยาสูบเป็นหนึ่งในอันตรายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ง่ายที่สุดของมนุษย์ กว่า 500,000 คนของประชากรอเมริกาเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และ ถ้าอัตราการสูบบุหรี่ยังมากขึ้นในอัตรานี้ อัตราการเสียชีวิตจากโรคที่เกิดยาสูบจะพุ่งสูงขึ้นถึงเกือบปีละ 8 ล้านคน ยังไม่นับรวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาและการสูญเสียเชิงเศรษฐกิจอีกมหาศาล เช่นเดียวกับในประเทศไทย ซึ่งผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2557 ระบุว่ามีคนไทยสูบบุหรี่กว่า 11.4 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 50,000 คน



ความพยายามในการรณรงค์เพื่อเลิกสูบบุหรี่และปรับใช้มาตรการควบคุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษี การกำหนดอายุขั้นต่ำ การลดการโฆษณา และการชี้ให้เห็นถึงอันตรายของบุหรี่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าประสบความสำเร็จ จำนวนผู้สูบบุหรี่และผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ลดได้

แต่ทว่า ยังไม่สามารถลดลงได้จนเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ยังเสพติดบุหรี่ เพราะผู้เสพติดบุหรี่ ส่วนใหญ่จะเสพติดทั้งพฤติกรรมการสูบและนิโคติน จึงมีความต้องการนิโคตินเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกายและจิตใจ ในขณะเดียวกันก็ได้รับของแถมเป็นสารพิษ สารก่อโรคต่างๆ ทั้ง โรคมะเร็ง โรคปอด โรคหลอดเลือดและหัวใจ ที่อยู่ในควันบุหรี่ไปด้วย ซึ่งอันตรายของสารเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับตัวผู้สูบเองและคนรอบข้าง



เมื่อการสูบบุหรี่ทำให้เกิดอันตรายจึงเกิดมาตรการควบคุมและการเลิกบุหรี่ขึ้น อย่างไรก็ตามการเลิกบุหรี่ทำได้ไม่ง่าย ด้วยหลายสาเหตุทั้งจากพฤติกรรมการสูบ สิ่งแวดล้อม และ ตัวนิโคตินเองทีมีฤทธิ์ในการเสพติดที่ง่ายและรุนแรง การเลิกสูบบุหรี่มีหลายวิธี ทั้งการหักดิบด้วยตัวเอง การเข้ารับบริการในคลินิกอดบุหรี่ การใช้ยาอดบุหรี่ และการใช้สารทดแทนนิโคติน เช่น หมากฝรั่ง แผ่นแปะ หรือ ยาสูดพ่น ที่มีเพียงนิโคติน ไม่ได้มีสารพิษจากควัน

การเข้าปรึกษาคลินิกเลิกบุหรี่คือการรักษามาตรฐานในการเลิกบุหรี่ แต่ทว่าด้วยจำนวนคลินิกเลิกบุหรี่มีไม่มากพอและไม่ดึงดูดใจ หลายคนเลยเลือกใช้วิธีเลิกด้วยการหักดิบด้วยตัวเอง หรือซื้อสารทดแทนนิโคตินมาใช้เอง ซึ่งอัตราความสำเร็จสูงไม่เกิน 20% และ แม้จะเลิกได้ส่วนใหญ่ก็หันกลับไปสูบอีก ทำให้ตัวเลขผู้สูบบุหรี่ยังสูงอยู่ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการลดอันตรายจากควันบุหรี่ทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้างในขณะที่ยังเลิกนิโคตินไม่ได้ หรือเรียกว่า Tobacco Harm Reduction



Tobacco Harm Reduction หรือการลดอันอันตรายจากควันบุหรี่ เป็นการนำส่งนิโคตินเข้าสู่ร่างกายด้วยอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์นิโคตินทดแทนที่ไม่มีการเผาไหม้ ทำให้ไม่มีควัน สารพิษก็จะลดลง Tobacco Harm Reduction จึงน่าจะเหมาะกับนักสูบที่เข้าสู่กระบวนการเลิกแล้วล้มเหลว หรือ คนที่ยังไม่พร้อมจะเลิก หรือ คนที่ยังเสพติดนิโคตินอยู่

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่มีใช้ในช่วงแรกๆ นำส่งนิโคตินในปริมาณที่ไม่เพียงพอและไม่ดึงดูดใจ ผู้เสพจึงยังเลือกที่ใช้บุหรี่ต่อไปทั้งๆ ที่ทราบดีถึงอันตราย ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกแบบมาให้น่าใช้ขึ้น เช่น Snus (สนุซ หรือ ยาสูบแบบอม), Electronic Cigarette (บุหรี่ไฟฟ้า), Heat not Burn Products (ยาสูบแบบไม่เผาไหม้) การศึกษาเชิงพิษวิทยา และการศึกษาทางคลินิกระยะสั้นผลออกมาว่า สารพิษที่ได้รับน้อยกว่าควันเผาไหม้จากบุหรี่มวนชัดเจน ทั้งพิษที่เข้าสู่ผู้เสพและคนรอบข้าง



แต่จุดสังเกตที่ยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป คือ ผลที่เกิดต่อร่างกายในระยะยาว ว่าอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์แบบใหม่นี้จะส่งผลอย่างไร และ ที่สำคัญ คือ นิโคตินที่ยังมีอยู่ จะส่งผลต่อการเสพติดต่อไปจนสุดท้ายก็จะไม่สามารถเลิกใช้ผลิตภัณฑ์หรือไม่ รวมถึงการศึกษาที่ต้องการคำตอบถึงการควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการผลิต อีกทั้งการยังต้องคงไว้ซึ่งการส่งเสริมการลดอันตรายโดยสมบูรณ์ คือ การลดทั้งควันเผาไหม้และนิโคตินด้วย

แต่เนื่องจากแนวคิดทั้งหมดนี้ยังเป็นสิ่งใหม่ แม้องค์การอนามัยโลก และองค์กรที่ควบคุมและศึกษาเรื่องบุหรี่ต่างๆ จะมีแนวคิดแบบใหม่นี้ออกมา สังคม ประชาชน และ ภาครัฐ ยังขาดความเข้าใจแนวคิดนี้อีกมาก


[นพ.ชาคริต หลิมพานิช ผู้เขียนบทความ]

อีกหนึ่งปัญหาหลักที่เป็นกังวล คือ การดึงดูดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเยาวชนให้มาใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านี้ จากเหตุผลของความน่าดึงดูดและอันตรายที่น้อยกว่า จนนำไปสู่การเสพติดนิโคตินจากผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ หรือ พัฒนาไปสู่การสูบบุหรี่มวน ซึ่งหลายๆ การศึกษามีผลออกมาว่าดึงดูดจริง และ มีเยาวชนและนักสูบหน้าใหม่ทดลองจริง

ดังนั้น หากต้องการลดอันตรายโดยรวมแล้ว ก็จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้มีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น แม้ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนจริง แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่นักสูบหน้าใหม่จะเริ่มต้นใช้

มาถึงบทสรุปถึงผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงนี้ที่ออกแบบมาให้กับผู้เสพที่ยังไม่ต้องการเลิกนิโคติน หรือ ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการเลิกแล้วล้มเหลว ไม่ใช่ออกแบบมาเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่แทนที่บุหรี่เดิม ดังนั้น การควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ และกระบวนการเลิกเสพติดนิโคตินก็ยังจะต้องทำควบคู่ไปด้วย จึงจะเป็นการลดความเสี่ยงที่แท้จริง

เรื่อง: นพ.ชาคริต หลิมพานิช อายุรแพทย์ โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จ.นครราชสีมา
แปลจาก: Annual Review of Public Health, Harm Minimization and Tobacco Control: Reframing Social Views of Nicotine Use to Rapidly Save Lives


กำลังโหลดความคิดเห็น