สะบัดพัดพลิ้ว เสมือนไฟที่โดนลมพัด ปลายทอดยาวตามเส้นนำสายตา ลายผ้าเอกลักษณ์ของชาวเพชรบุรีที่ไม่เหมือนใคร จากหนุ่มหน้าหวาน ดีไซเนอร์วัย 28 ปี คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่รักความเป็นศิลปะโบราณบนผืนผ้า ต่อสู้ดิ้นรนจากคำดูถูกเหยียดหยามจากครอบครัว จนประสบความสำเร็จเปิดร้านผ้าเป็นของตนเอง อีกทั้งยังเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความงามของผ้านุ่งในละคร “บุพเพสันนิวาส”
เหตุผลที่ “การะเกด- เกศสุรางค์” แต่งกายต่างกัน
จากกระแสการแห่แต่งกายชุด “ออเจ้า” ถ่ายบัตรประชาชนที่ผ่านมา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างแต่งตัวด้วยชุดไทยกระจายเต็มสถานโบราณต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งชาวต่างชาติ หรือแม้แต่การออกงานต่างๆ ที่จัดให้มีการใส่ชุดไทยประชันโฉมกันมากมาย รวมไปถึงสงกรานต์ที่ใกล้เข้ามานี้ จากที่คนเคยนิยมใส่ชุดลายดอกเล่นน้ำสงกรานต์ แต่กลับกลายเป็นว่า แห่ซื้อชุดไทยเล่นน้ำแทน ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้า หรือเจ้าของร้านเช่าชุดไทย นั่งนับเงินกันเป็นว่าเล่น
สาเหตุก็เป็นเพราะละครสุดฮอตที่กำลังโด่งดังในขณะนี้ อย่าง “บุพเพสันนิวาส” ซึ่งเป็นละครที่ไม่ได้มีจุดเด่นเฉพาะแสงสี ฉาก บทประพันธ์ และนักแสดงที่ยอดเยี่ยม แต่ยังรวมไปถึง “เสื้อผ้า” ที่เป็นหัวใจสำคัญ แฝงไปด้วยความงดงาม และสะท้อนความมั่งมีของอยุธยา ที่คนต่างให้ความสนใจไม่แพ้กัน
คู่พระนางจาก “บุพเพสันนิวาส” ถูกห่อหุ้มด้วยผืนผ้าที่ดีไซน์ด้วยหัวใจ
เมื่อพูดถึงผ้า จะไม่เอ่ยจุดขายสำคัญในละคร อย่าง “ผ้าลายอย่าง” ได้อย่างไร ผ้าที่ได้ถูกลืมเลือนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันกลายเป็นของสะสม เป็นมรดกตกทอด บ้างถวายวัด บ้างก็เปื่อยเสื่อมสภาพไปตามเวลา อีกทั้งขั้นตอนการทำก็ยุ่งยาก ทำให้ผ้าชนิดนี้มีให้เห็นเพียงในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น
และคนที่ทำให้ที่ออเจ้านุ่งในละคร ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาก็คือ ผู้ชายหน้าหวานอย่าง นิต-ธนิต พุ่มไสว ดีไซเนอร์วัย 28 ปี ที่จบการออกแบบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งเป็นคนที่ต้องมานั่งศึกษาและรวบรวมกระบวนลายผ้าในสมัยอยุธยานั้นเองทั้งหมด เพราะแทบไม่ได้มีการบันทึกไว้ นอกเสียจากลายไทยที่อยู่ตามวัด
“ต้องศึกษาจากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง และทำมันออกมาเป็นจริงให้ได้ ถามอาจารย์หรือใครก็ไม่มีใครรู้ ตอนนั้นได้แต่คิดว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จนสุดท้ายเราก็สามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ว่าผ้าลายอย่าง หมายถึงผ้าที่ราชสำนักคิดค้นลายขึ้นมา วาดลายลงบนผ้าให้อย่าง เป็นผ้าประดับยศ ถูกใช้ในพระราชทาน คำว่า “ลาย” ในสมัยอยุธยาหมายถึง ผ้าพิมพ์ลาย และคำว่า “อย่าง” คือ ตัวอย่าง ผ้าลายอย่างจึงหมายถึง “ผ้าตัวอย่าง”
“ผ้าลายอย่าง” ที่ถูกฟื้นฟูจากสมัยรัชกาลที่ ๕
ผ้าลายอย่างนั้นมีหลายลาย ซึ่งจะแบ่งแยกตามสถานะของผู้สวมใส่ อย่างเช่น ลายเทพนม จะเป็นลายของคนชั้นสูง ซึ่งมีความวิจิตรงดงาม ซึ่งต่างจากผ้าลายอย่างที่เป็นลายดอกไม้ธรรมดา ลักษณะลายก็จะเป็นลายที่มีฐานันดรลดลง ซึ่งความสวยงามจะคล้ายคลึงกัน ลักษณะยอดลายสะบัดเหมือนเปลวไฟที่โดนลมพัด ส่วนปลายสะบัดยาวพลิ้วไหว รูปดอกไม้ใบไม้มีความโค้งอ่อนช้อย”
นอกจากความงามของลาย คนออกแบบยังใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ ของความหมายที่มาที่ไป หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมลายผ้านุ่งของตัวละครต่างกัน ทั้งที่เป็นคนอยุธยาเหมือนกัน ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า “การะเกด” และ “เกศสุรางค์” ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องแต่งตัวไม่เหมือนกัน ทั้งที่เป็นฝาแฝด เจ้าของไอเดียได้ให้เหตุผลอธิบายไว้ว่า เป็นเพราะการกลับมาเกิดใหม่ของเกศสุรางค์ที่อยู่ในร่างการะเกด การแต่งกายจึงเปลี่ยนไป
“ผ้านุ่งของแม่หญิงการะเกด เราเลือกลายที่ไม่ใช่ลายใหญ่แบบที่สตรีชั้นสูงในสมัยนั้นนิยม เพราะต้องการสื่อว่าการะเกดเป็นธิดาอดีตเจ้าเมืองพิษณุโลก ไม่ใช่ชาวพระนคร และเป็นผ้าตระกูลล้านนา แต่เมื่อกลายมาเป็นเกศสุรางค์ การแต่งตัวก็กลายเป็นสาวในวัง เพราะเธอเรียนประวัติศาสตร์ และรับรู้มาว่าหญิงในสมัยอยุธยาต้องแต่งตัวแบบไหน ลายที่ใช้ในผ้านุ่งเกศสุรางค์จึงเป็นลายเล็ก เช่น ลายดอกไม้ร่วง ลายสมปักริ้ว ลายประจำยามเล็ก”
คลุกคลีกับ “ยาย” จนได้ดี
ใครจะรู้ว่าก่อนหน้านี้ นิต เป็นเพียงแค่นักศึกษาธรรมดาคนหนึ่งที่มีความฝันอยากทำผ้าขึ้นมาสักผืน แต่ด้วยความที่ไม่มีเงิน เพราะต้นทุนในการผลิตผ้าผืนหนึ่งค่อนข้างสูง แต่ด้วยความสามารถ ทำให้เขาได้รับโอกาสออกแบบผ้านุ่งในละครที่กำลังโด่งดัง ผ่านการชักชวนจากคอสตูมชื่อดังที่ดูแลเรื่องเสื้อผ้าทั้งหมดในละครเรื่องนี้
“ผมมองว่าเป็นเรื่องโชคชะตา เพราะผมบังเอิญรู้จักกับคอสตูมที่ดูแลเสื้อผ้าเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” อย่าง คุณกิจจา ลาโพธิ์ ซึ่งเขาเห็นผลงานของเราที่อัปลงเฟซบุ๊ก และได้ติดต่อเรามาทางเฟซบุ๊กนั่นแหละ รู้สึกดีใจที่เราได้รับโอกาสซึ่งถือว่าเป็นเกียรติมากที่ได้มาออกแบบผ้านุ่งให้กับตัวละครในเรื่อง
“แม่หญิงการะเกด” ในความงามของผ้าล้านนา
ถ้าถามว่ายากไหม ก็ยากนะครับ แต่ด้วยความที่เราเป็นคนจังหวัดเพชรบุรี และคลุกคลีอยู่กับคุณยายตั้งแต่เด็ก จึงทำให้เราได้รับความรู้เรื่องผ้าจากคุณยายมาบ้าง ประกอบกับได้มีโอกาสเรียนเขียนลายไทยจากครูคนหนึ่งที่มาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดในหมู่บ้าน จากนั้นก็รู้สึกชอบ และเริ่มศึกษาด้วยการตามไปดูลายไทยในวัดเก่าๆ
จากที่ได้ศึกษา สังเกตเห็นว่ารูปเทพนมที่อยู่ตามผนังวัดมักจะนุ่งห่มผ้าลายดอกใหญ่ๆ ที่ไม่ใช่ผ้ายกหรือผ้าทอ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ด้วยความสงสัยนี่แหละที่เป็นจุดประกายทำให้ผมต้องหาคำตอบ และเริ่มตามหาข้อมูลมาเรื่อยๆ สุดท้ายได้มาที่หอสมุดแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และได้พบกับผ้าลายอย่างผืนจริง ซึ่งตรงกับจิตรกรรมฝาผนังที่เคยเห็นในวัด และได้พบว่าผ้านั้นบุบสลายจนไม่สามารถหยิบจับได้ ผมคิดว่าในเมื่อเรียนด้านศิลปะการออกแบบมาแล้ว จึงอยากจะลองรื้อฟื้นทำผ้าโบราณแบบนี้ ให้สามารถนำมาใช้ได้จริง ไม่ใช่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น
ผมมองว่าลายผ้าเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย แต่ความแตกต่างของลายก็จะต่างกันออกไป บางที่นำลายจากฝาพนังโบสถ์มาเขียนลงในผ้า แต่สำหรับของผม จะบ่งบอกถึงศิลปะความเป็นเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดเด่นและไม่เหมือนใคร นอกจากความละเลียดของผ้าที่เยอะแล้ว ต้นทุนในการก็ทำค่อนข้างสูง แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับต้นทุนทางจิตใจ เพราะกว่าจะกลั่นกรองออกมาได้แต่ละผืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แค่ผืนเดียว ก็ใช้เวลาในการออกแบบนานร่วม 8 เดือน นี่ยังไม่รวมเวลาในการผลิต
งดงาม... “เกศสุรางค์” ในชุดสาวอยุธยา
ต้องยอมรับว่า มีหลายเจ้าที่ผลิตผ้าลายอย่าง แต่ระบบการพิมพ์ก็จะแตกต่างกันออกไป คุณภาพ การลงสี แต่เทคนิคอยู่ที่ว่าของใครจะโดดเด่นกว่า ใครจะสามารถใส่เทคนิคของลายลงไปในเนื้อผ้ามากกว่ากัน ซึ่งร้านของผมถือว่าเป็นเจ้าแรกในไทยที่สามารถพิมพ์ลายลงไปในเนื้อผ้าที่ซักแล้วลายไม่ลอก
ในเรื่องของลาย ต้องบอกว่าไม่เหมือนที่อื่น เพราะผมจะแกะลายขึ้นเอง มีความเป็นเพชรบุรี ลักษณะลายจะมีการสะบัดลายที่ยาวกว่าของคนอื่น ลักษณะลายเหมือนไฟที่โดนลมพัดแล้วสะบัดพลิ้วไปตามลม ปลายลายยาวสะบัดโค้ง ถ้ามองดีๆ เราจะเห็นลายที่มีความพลิ้วสะบัดตลอดเวลา
การวาดลายแต่ละลายของผมจะออกมาไม่เหมือนกัน ซึ่งจะมีความแตกต่างออกไปเรื่อยๆ ในแต่ละครั้งที่วาด ผมวาดลายด้วยมือก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิมพ์ แต่ละลายที่ออกมาต้องผ่านมือเราทุกราย เพราะอยากให้งานที่ออกมามีความละเอียดที่สุด”
ต้องกลืนน้ำสี? กว่าจะได้เป็นดีไซเนอร์
“จากเด็กคนหนึ่งที่ผ่านการดูถูกเหยียดหยามมาอย่างหนักหน่วงจากครอบครัวและสังคม จนสามารถผลิตผ้าที่ถือว่าไม่มีอยู่จริง หรือถูกลืมเลือนไปในอดีต ปัจจุบันนี้ได้ออกมาเป็นผืนผ้าให้ได้เห็นและสัมผัส ทำให้เรารู้สึกว่า เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนหันมาสนใจที่จะศึกษาเรื่องผ้าและประวัติศาสตร์มากขึ้น เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษน่าจะภูมิใจในตัวคนรุ่นใหม่อย่างเรา”
ประโยคสั้นๆ จากดีไซเนอร์หน้าใหม่คนนี้ ซึ่งทำเอาคนฟังรู้สึกทึ่งในมุมมองความคิดของเขา ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ด้วยความที่สนใจในผ้าไทยโบราณ แม้ว่าจะถูกครอบครัวดูถูกเหยียดหยาม แต่เขาก็ไม่ละความพยายาม ดั้นด้นศึกษาจนประสบความสำเร็จ จนเปิดร้านเป็นของตัวเอง ชื่อร้าน “ภูษาผ้าลายอย่าง”
เขาต้องต่อสู้กับอุปสรรคมากมายที่เรียกว่าหนักหน่วงพอสมควร ทั้งแรงกดดัน คำดูถูกต่างๆ นานา คนอื่นดูถูกไม่เท่าไหร่ แต่คนในครอบครัวดูถูกนี่สิ มันบั่นทอนจิตใจยิ่งกว่า
“เมื่อย้อนกลับไปวัยเด็ก ผมก็ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป เลิกเรียนกลับบ้านมาทำการบ้านของตัวเอง จากนั้นช่วยแม่ทำงานบ้าน แต่สิ่งที่เราชอบทำนอกจากนั้นคือ การวาดภาพระบายสี ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อไม่ชอบ เพราะด้วยว่าที่บ้านผมยากจน เขาจึงอยากให้ผมทำอาชีพที่มีรายได้หาเลี้ยงตัวเอง เขาให้เราเป็นทหารหรือช่างกล เพราะเป็นอาชีพที่มีรายได้ดี แต่เรากลับมองว่า ถ้าฝืนทำไปในสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ทำมันออกมาไม่ดี ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าตัวเองนั้นสู้ไม่ไหว เราจึงมองกลับมาว่า ทำอย่างไรเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงเรามา แต่ไม่ทิ้งสิ่งที่ชอบ และจะทำมันให้ดีกว่าในสิ่งที่เขาอยากให้เราเป็น
การที่ต่อสู้และพยายามทำในสิ่งที่รักในวันนั้น ต้องเจอกับคำดูถูกเหยียดหยามไม่ใช่น้อยเลย ทั้งจิตรกรไส้แห้ง จะเรียนไปทำไม เรียนราชภัฏด้วย เรียนศิลปะด้วย จบไปจะไปทำมาหากินอะไร และเพื่อนแม่ก็เปรียบเทียบว่า ทำไมไม่เรียนรัฐศาสตร์เหมือนลูกเขา เพราะเรียนจบแล้วจะได้ไปเป็นเจ้าคนนายคน แต่คำดูถูกของใครก็ไม่ทำให้เราเสียใจเท่าพ่อแม่เราดูถูกตัวเราเอง พยายามขัดขวางทุกอย่าง ทั้งโดนตีบ้าง ที่สำคัญเคยโดนพ่อบังคับให้กินน้ำสี ทั้งกินไปและร้องไห้ไป
เชื่อไหมว่าเราไม่เคยขอเงินพ่อแม่เลยตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย เพราะในระหว่างเรียนเราทำงานไปด้วย รับวาดรูปตามจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ที่จังหวัดเพชรบุรี และวาดลงบนไม้บ้าง แต่จะเป็นเฉพาะลายไทยเท่านั้น และก็ยังทำเครื่องประดับขาย เป็นพวกเครื่องประดับที่ใช้ในละครไทยโบราณ อันละ 5- 10 บาท ก็ขายมาแล้ว เพื่อเอาเงินมาแบ่งเบาภาระครอบครัว และทำให้เขาเห็นว่า เราสามารถไปรอดนะ ไม่ได้ไส้แห้งอย่างที่คิด”
จากเด็กที่เคยดูถูกเหยียดหยามเมื่อหลายปีก่อน และพูดกับตัวเองอยู่เสมอว่า วันหนึ่งฉันต้องประสบผลสำเร็จ และฉันนี่แหละที่จะพาพ่อแม่ไปเที่ยวต่างประเทศอย่างที่ฝัน ใช้ความชอบจินตนาการและวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก จุดประกายความฝันของตนเองให้ออกมาเป็นจริง จนปัจจุบันเขาลบคำสบประมาทจากทุกคนได้และสามารถเปิดธุรกิจให้กับครอบครัว
ฟื้นประวัติศาสตร์ผ้าไทย ผลงานสุดปราณีตของ “ธนิต”
“คำว่าไส้แห้ง คำดูถูกเหยียดหยามจากคนในครอบครัวก็หายไป กลับกลายเป็นคำชมแทน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราเพียงต้องการให้ผู้ปกครองเข้าใจและยอมรับว่า ไม่ควรขัดขวางความชอบและความฝันของบุตรหลาน เพราะเหมือนเป็นการทำลายอนาคตของเรา ต้องปล่อยให้เขาใช้ความสามารถให้เต็มที่”
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: นฤมล จำรูญสุข
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "ภูษาผ้าลายอย่าง"