xs
xsm
sm
md
lg

“มาดามเดียร์” เพราะรักแบบไม่มีเงื่อนไข ถึงทำให้มีวันนี้... [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เราเป็นคนต้องมีพื้นที่ส่วนตัวค่ะ จะไม่ชอบให้คนเข้ามาอะไรกับเรามาก” นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงชื่อ “เดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี” ไม่ได้พาตัวเองมาอยู่ในแสงสปอตไลต์บ่อยครั้งมากนัก กระทั่งถึงวันที่สมญานาม “มาดามเดียร์” กลายเป็นที่จับตามองที่สุดในวงการกีฬา ผู้คนก็ยังมีโอกาสแทบนับครั้งที่จะได้รับสิทธิให้เข้าไปล้วงลึกถึงตัวตนของเธอ
บทสนทนากับทีมข่าว ผู้จัดการ Live ในคราวนี้ จึงดูพิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะไม่ใช่แค่ผู้สัมภาษณ์จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปเดินเล่นในโลกส่วนตัวของผู้หญิงเก่งคนนี้ แต่เธอยังยอมบอกเล่ามุมน่ารักปนฮาบนเส้นทาง “ชีวิตคู่” เอาไว้ให้อย่างที่ไม่เคยพูดถึงที่ไหน เตือนกันเอาไว้ก่อนเลยว่า บทสัมภาษณ์นี้อาจไม่เหมาะสำหรับหนุ่มๆ ที่ใจไม่แข็งพอ




หลากหลายตัวตน “โบรกเกอร์-ผู้บริหาร-ผู้จัดการทีม”

“เชียร์ลีดเดอร์ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ รุ่น 61” คือหนึ่งในภาพแห่งอดีตที่ถูกขุดขึ้นมาแชร์กันสนั่นเน็ต เพราะหลายต่อหลายคนอยากทำความรู้จักตัวตนของเธอให้มากกว่านี้ เมื่อผู้คลั้งไคล้ในตัวเธอช่วยกันสืบข้อมูลหลายๆ อย่าง จึงได้ทราบว่ามาดามเดียร์คือ “ศิษย์เก่าลูกแม่โดม” จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษและวรรณคดีภาษาอังกฤษ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใดจึงได้ทั้ง “เก่ง” และ “สวย” แบบนี้ และบรรทัดต่อจากนี้คือเบื้องหลังการเลือกเรียนคณะในฝันของเธอ

“จริงๆ แล้ว เดียร์อยากเป็น “มัณฑนศิลป์” (ยิ้ม) คือตอนสมัยเรียน ม.ปลาย เดียร์เรียนสายวิทย์-คณิตมา เลยทำให้รู้ว่าตัวเองไม่ชอบสายวิทยาศาสตร์ และส่วนตัวเราก็ชอบวาดรูปด้วย เมื่อก่อนวาดบ่อย พูดง่ายๆ คือชอบสายอาร์ต ตอนจะเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย ก็เลยตั้งใจจะมาหาแนวที่เป็นสายศิลป์เรียน ก็เลยฝันไว้ว่าอยากเรียนมัณฑนศิลป์ (คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

[ชีวิตในรั้วแม่โดม สมัยเป็นเชียร์ลีดเดอร์ งานบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ รุ่น 61]

แต่สุดท้ายที่ไม่ได้เลือกเรียนมัณฑนศิลป์ มาตัดสินใจเลือกศิลปศาสตร์แทน เพราะที่บ้านเดียร์เขาค่อนข้างเป็นห่วงค่ะ ด้วยความที่เราเป็นหลานผู้หญิงคนเล็กคนเดียว นอกนั้นจะมีแต่พี่ชาย และพี่ชายทุกคนก็จะมองว่าเป็นผู้หญิง ไปเรียนมัณฑนศิลป์ หรือไปทำอะไรแนวนี้ มันไม่โอเคกับเพศหญิง เหมือนเขามองว่ามันเป็นกึ่งๆ งานผู้ชายมากกว่า การทำงานที่ไม่เป็นเวลา แถมเป็นงานที่รายล้อมด้วยผู้ชาย ก็เลยเป็นที่มาของการมาลงที่การเรียนด้านภาษาแทน”

“เดียร์ว่าตัวเองเป็นคนถนัดทางด้านสายศิลป์มากกว่าค่ะ เพราะเป็นคนโง่เรื่องตัวเลข แต่ตอนเรียนจบ ที่เป็นโบรกเกอร์ได้ เพราะตัวเลขตรงนั้นมันเกี่ยวกับการบริหารค่ะ ซึ่งจะใช้เป็นเบสิกของการบวกลบคูณหาร และมีเรื่องของเหตุและผลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็เลยยังพอไปได้ แต่ถ้าเป็นประเภทวิทย์จ๋าๆ แบบฟิสิกส์ที่ให้คำนวณแรงเสียดทาน อันนั้นไม่ไหวเลย”


เรียนด้านภาษา แต่จบออกมาเป็น “โบรกเกอร์” ก่อนจะมาได้โอกาสทำงานด้านสื่อ เข้ารับตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด” และ “กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)” กระทั่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านตำแหน่ง “ผู้จัดการทีมชาติไทย รุ่นอายุ ไม่เกิน 23 ปี” คนที่เรียนไม่ตรงสายงาน แต่กลับประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้านขนาดนี้ อะไรคือแรงผลักอยู่เบื้องหลัง? เธอยิ้มให้กับตัวเอง 1 ครั้ง ก่อนให้คำตอบที่เรานึกไม่ถึง

ที่ไปเป็นโบรกเกอร์เพราะคุณพ่อเลยค่ะ คุณพ่อเขาเป็นคนดูดวง แล้วเขาก็บอกว่าดวงเดียร์เนี่ย ต้องไปทำเรื่องงานเกี่ยวกับการเงินนะ ถึงจะดี ตอนแรกก็ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เขาก็เลยให้ไปเป็นโบรกเกอร์ก่อน เพราะมันไม่ได้จำกัดว่าต้องจบจากสายอาชีพมาโดยตรง แต่ก็ต้องยอมรับว่ายากค่ะ


[พบรักกับ “คุณฉาย” ตั้งแต่สมัยทำงานเป็นโบรกเกอร์]
ครั้งแรกที่ไปฟังนักวิเคราะห์เขาพูด มีศัพท์เฉพาะเยอะมาก เช่น คำว่า “YOY” หรือ “Year on Year” ตอนนั้นสมอง blank หมดเลย ต้องพยายามกลับมาทำการบ้านตลอด ก็เลยคุยกับคุณพ่อว่า ถ้าทำแล้วไม่รุ่ง เราจะขอกลับมาทำในสิ่งที่อยากทำนะ พอทำไปได้ปี 2 ปี เดียร์ก็ได้เจอกับแฟนที่เข้ามาเป็นลูกค้า ก็เลยได้มาทำสื่อควบไปด้วย และพอหลายอย่างลงตัวก็ออกมาทำจริงจัง”

“แฟน” ที่มาดามเดียร์พูดถึง คือ “ฉาย บุนนาค” นักลงทุนคนรุ่นใหม่ที่คนในตลาดหุ้นรู้จักกันดี เพราะเขาเป็นนักลงทุนขาใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังความร้อนแรงของราคาหุ้นกว่าหลาย 10 บริษัท คือผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญที่ทำให้ผู้เป็นภรรยาหันมาสนใจคำว่า “สื่อมวลชน”


[ผู้หญิงแกร่ง ในบทบาทผู้บริหารสื่อ]
“ถ้าวัดจากความรู้สึกแรกๆ ต้องบอกก่อนว่าเดียร์ไม่เคยคิดว่าจะได้มาทำงานสื่อเลย แต่พอทำไปทำมา มันก็เกิดความอิน ความรู้สึกร่วมกับองค์กร ก็เลยทำให้ได้ทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ก็น่าจะคล้ายๆ กับตอนเดียร์เข้าไปดูเรื่องฟุตบอลใหม่ๆ ค่ะ แรกๆ คนก็มองว่าถึงแม้เราจะเป็นแฟนบอล แต่ก็ไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องนั้นเป็นทุนเดิมเลยด้วยซ้ำ แต่พอมีโอกาสทำ เราก็ทำเต็มที่

เมื่อถึงเวลาได้ลงมือทำอะไรจริงๆ จังๆ อินเนอร์ของเราก็จะมาอย่างเต็มตัวทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากับอะไร ถ้าเราตั้งใจทำด้วยความจริงใจ ทำจากใจจริง และทุ่มเทกับมันจริงๆ เดียร์ก็เชื่อว่าสุดท้ายผลลัพธ์ของทุกๆ งานก็จะออกมาตามสิ่งที่เราใส่มันลงไป ทุกวันนี้ถึงเราจะไม่ได้เป็นนักข่าวที่ลงไปทำข่าวเอง แต่เราก็มีจิตวิญญาณความเป็นสื่อมวลชนอยู่ในตัว คือเดียร์แทบไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้บริหารอย่างเดียวด้วยซ้ำค่ะ”





สตรองได้-ร้องไห้เป็น มุมอ่อนไหวของ “ผู้หญิงแกร่ง”

[หยาดน้ำตาแห่งชัยชนะ พาทีมชาติไทย (U23) คว้าชัย “ซีเกมส์ 2017”]
เห็นเป็นผู้หญิงแกร่งแบบนี้ อยากรู้ว่าจะมีเหตุการณ์ประเภทไหนบ้างที่ผ่านเข้ามาทำให้เสียน้ำตาด้วยความเสียใจ เพราะถ้าไม่นับรวมโมเมนต์ที่เธอเคยหลั่งน้ำตาด้วยความตื้นตันใจ หลังพานักฟุตบอลไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี คว้าชัยซีเกมส์ปีล่าสุด จนได้เป็นผู้จัดการหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่พาทีมชายคว้าเหรียญทองในรายการนี้ ก็แทบไม่เคยเห็นเธอหลั่งน้ำตาให้กับเรื่องอะไรอีกเลย

“ก็..(นิ่งคิดนิดนึง) ก็มีนะคะ ตอนทำงานแรกๆ พอเวลาเครียดๆ ก็มีโมเมนต์ร้องไห้เหมือนกัน หรืออย่างตอนที่ออกมา “ยุติบทบาทผู้จัดการ” มันก็มีโมเมนต์ที่น้ำตาซึมนะ (ยิ้มบางๆ) เพราะมันผูกพันเนอะ เราอยู่ด้วยกันมาปีหนึ่ง เราก็เหมือนเป็นครอบครัวไปแล้ว ยิ่งตอนหลังน้องๆ ในสมาคมมาทำ mv ให้ด้วย เราก็เลยยิ่งน้ำตาไหล รู้สึกคิดถึงบรรยากาศแบบเดิมๆ แต่สุดท้าย เราก็ยินดีที่จะตัดสินใจจากสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับ “ทีม” ค่ะ

[ผู้จัดการหญิงคนแรกของประวัติศาสตร์ ที่พาทีมชาติคว้าซีเกมส์]

นอกนั้นก็ไม่ค่อยได้ร้องนะ ร้องไห้จริงจังครั้งสุดท้าย ก็น่าจะตอนวัย 20 ต้นๆ ค่ะ เป็นช่วงชีวิตที่รู้สึกอึดอัด เหมือนเราต้องมาทำงานรับผิดชอบก่อนเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ทั้งๆ ที่เพื่อนเรายังลั้นลา-เฮฮาอยู่เลย เหมือนช่วงนั้นเป็นช่วงก่อร่างสร้างตัวด้วย ก็เลยมีทั้งเรื่องการเงินด้วยที่อยู่ในสภาวะตึงเครียด รู้สึกถูกรุมเร้าจนต้องร้องไห้ออกมา แต่ร้องแล้ว ได้ระบายแล้วก็จบไป และมันก็ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นด้วย

ทุกวันนี้ ที่ไม่ค่อยได้เสียน้ำตาให้กับเรื่องอะไร เป็นเพราะเธอ “เข้าใจอารมณ์ของตัวเอง” มากขึ้น “เป็นคนโชคดีของเราด้วยค่ะที่ชอบอ่านหนังสือ เมื่อก่อนจะอ่านหนังสือแนววรรณกรรมบ่อยๆ ที่ให้ข้อคิด พอช่วงที่เรารู้สึกดาวน์ พอได้กลับไปอ่านมันก็ช่วยเราได้ส่วนนึง”

“นอกนั้น หลักๆ เลยที่เดียร์ว่าเป็นประโยชน์มาก และทำมาตลอดตั้งแต่เรียนจบก็คือ การไปปฏิบัติธรรม ทุกครั้งเวลาเราเครียด เวลาเจอสภาพกดดัน ถ้าฝึกมาเรื่อยๆ ก็จะทำให้เรามีสติอยู่กับตัว ตระหนักได้ว่าความเครียดที่เรากำลังแบกไว้ มันเป็นสิ่งที่จัดการได้ และมันก็แค่เป็นเรื่องของปัจจุบัน ยังไม่ใช่อนาคต ดังนั้น อนาคตจะออกหัว-ออกก้อย มันก็ขึ้นอยู่กับที่เราจะมาแก้ไขสิ่งที่เราทำในวันนี้


เหมือนเราได้ “วิชาของพระพุทธเจ้า” นั่นแหละค่ะที่ทำให้เรามีสติ อย่างเวลาคนเรา “โกรธ” หรือ “เครียด” มันเป็นเพราะเราไม่รู้ว่าเรากำลังโกรธหรือกำลังเครียดอยู่ จิตมันก็ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราได้ฝึกแล้ว เราจะรู้สึกตัวว่าตอนนี้เราโกรธแล้วนะ เราเครียดแล้วนะ พอรับรู้ได้แบบนี้ ตามหลักธรรมชาติแล้ว จิตเราก็จะสงบไปได้แล้วครึ่งนึง เหมือนเรารู้ตัวแล้ว ต่อไปก็คือการดับอารมณ์นั้น”

วิธีการดับอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เธอใช้บ่อยที่สุดก็คือ “การกำหนดจิตตามอิริยาบถ” อย่างที่เคยฝึกปฏิบัติในวัด คือต้องกำหนดจิตให้อยู่กับการยืน-เดิน-นอน-นั่ง ถ้าทำจนเป็นความเคยชินแล้ว สักประมาณ 3-4 ปี มันก็จะซึมซับอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ให้เอามาใช้ในภาวะที่ต้องการที่สุดได้เอง

“ปกติแล้ว มนุษย์เราจะรับรู้ได้แค่ทีละ 1 อย่าง เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่าเราเครียด เราก็ดึงจิตกลับมาอยู่กับอิริยาบถ พอเรามีสติอยู่กับอิริยาบถ เราก็จะไม่ไปคิดเรื่องเครียด คือต้องบอกว่าถ้าไม่ได้ไปปฏิบัติ เราอาจจะไปไหนต่อไหนแล้วก็ได้ มันทำให้เดียร์รู้สึกได้จริงๆ ว่า มันเป็นประโยชน์จริงๆ ค่ะ เดียร์เลยค่อยๆ เริ่มเข้าใจว่าทำไมถึงต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มันเป็นเพราะอะไร


อาจถือได้ว่าที่ผ่านมา เธอได้ก้าวข้ามผ่าน “บททดสอบ” เรื่องการควบคุมอารมณ์ไปได้หลายขั้นแล้ว แต่หนทางชีวิตข้างหน้าก็ยังคงไม่ปรานีปราศรัย ยังพร้อมจะโยนบททดสอบใหม่ๆ ให้เธอได้แก้ไขต่อไป โดยเฉพาะอุปสรรคใน “ธุรกิจสื่อมวลชน” ที่เธอต้องฟันฝ่าคลื่นพายุแห่งกระแสต่อไปให้ได้ ในฐานะ “กรรมการผู้จัดการ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด” ที่เธออยากพิสูจน์ตัวเองให้ถึงที่สุด!!

“เดียร์ว่าความท้าทายของคนทำหน้าที่สื่อตอนนี้ก็คงไม่แตกต่างกัน เรื่องของสื่อดิจิทัลที่มันเข้ามาค่อนข้างจะรวดเร็ว เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เดียร์ยังเพิ่งไปประมูลทีวีดิจิทัลมา แต่ใครจะรู้ ดีไม่ดี อีกไม่เกิน 2 ปี ทีวีดิจิทัลก็อาจจะไม่มีความหมายอีกต่อไป


[อีกหนึ่งบทท้าทายของชีวิตในฐานะ "คนสื่อ" คนหนึ่ง]
การที่เราจะสามารถยืนหยัดธุรกิจอยู่ได้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การแข่งขันที่มันถาโถมเข้ามาเยอะ ตรงนี้จะเป็นความท้าทายของชีวิตมากๆ ครั้งนึง เรื่องบทบาททางด้านกีฬาก็ส่วนหนึ่ง แต่สำหรับบทบาทสื่อ ถ้าเราสามารถนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

ถึงวันนี้ ต่อให้ใครเป็นมืออาชีพขนาดไหน ก็ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีใครรู้ว่าธุรกิจสื่อจะออกหัวหรือออกก้อย หรือจะไปจบที่ตรงไหน ก็ยังเป็นความท้าทายที่ต้องต่อสู้ต่อไป เป็นความท้าทายหลักที่คิดว่าถ้าเราทำได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราภูมิใจ และยังได้สร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่พนักงานในองค์กรด้วย”




มาดามเดียร์-เฮียฉาย “คู่รัก-คู่แกล้ง”

[คู่รัก-คู่แกล้ง-คู่ชีวิตแนวลิ้นกับฟัน]
เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงอธิบายวิธีควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ตัวอย่างที่สุดแสนคลาสสิกอย่าง “คุณฉาย” ผู้เป็นสามี ก็ถูกหยิบขึ้นมาบอกเล่าในทันทีทันใด เห็นได้ชัดว่าเธอกำลังบอกเล่าเรื่องราวภายในครอบครัวแสนอบอุ่นด้วยแววตาของความรัก แม้จะมีบางช่วงเล่าด้วยอารมณ์หยิกแกมหยอก แต่ก็ยังเต็มไปด้วยความเอ็นดูสามีและลูกๆ อยู่ดี

ถ้าเป็นเมื่อก่อน เวลาทะเลาะกับแฟน เราจะพยายามใช้คำพูดให้เขาเจ็บ หรือไม่ได้ดั่งใจก็อาละวาด มีทุกรูปแบบ (ยิ้ม) แต่พอได้ปฏิบัติแล้ว โมเมนต์พวกนี้มันจะหายไปเลย สุดท้าย พอทะเลาะกัน เดียร์จะเป็นคนที่รู้ตัวและไม่อยากทะเลาะกับเขา เพราะถ้าทะเลาะไปก็มีแต่ฮึ่มฮั่มใส่กันมากกว่า เดียร์เลยจะเลี่ยงโดยการเดินออกมา พออารมณ์เย็นแล้วค่อยคุยกัน เพราะถึงคุยไปก็ใช้อารมณ์ มันไม่มีประโยชน์อะไร”

ส่วนใหญ่จะเถียงกันเรื่องอะไร? ผู้หญิงที่อยู่ตรงหน้าตอบกลับมาทันทีด้วยท่าทีเอ็นดู “โอย..ได้ทุกเรื่องค่ะ (ยิ้ม) ตั้งแต่เรื่องลูก-เรื่องงาน เถียงกันไปเรื่อย เวลาแฟนเดียร์เขาอยู่ที่บ้าน บางทีเขาจะเป็นเหมือนลูกชายคนโตมากกว่า เดียร์ก็จะชอบบ่นเขาว่า ช่วยทำตัวให้มีวุฒิภาวะให้เหมือนคนเป็นพ่อได้ไหม (ยิ้ม) คือเขาชอบแกล้งลูกจนลูกร้องไห้ เราก็แบบ...”

มาดามเดียร์หัวเราะปิดท้าย ประมาณว่าหมดคำอธิบายในความขี้แกล้งของคุณสามีจริงๆ ก่อนเริ่มเล่าวีรกรรมแสนแสบระหว่าง “เฮียฉาย” กับ “ลูกชาย” (น้องพอเพียง วัย 8 ขวบ)” ให้ฟังด้วยท่าทีสนุกสนาน


“ล่าสุด คุณพ่อเขาสัญญากับลูกๆ ว่าให้ไปสวดมนต์ช่วยหม่ามี้เวลาแข่งฟุตบอล แล้วถ้าได้แชมป์ จะให้โทรศัพท์คนละ 1 เครื่อง แต่ก็คือไม่ได้ซื้อเครื่องใหม่ให้นะคะ เอาเครื่องเก่าให้ พอลูกชายเดียร์ได้โทรศัพท์มา เขาก็เอาไปสมัครไลน์ แล้วพอดีว่าที่โรงเรียนเขามีผู้หญิงที่เขาชอบอยู่ และเด็กคนนั้นเขาก็แอดเข้ามาคุย

วันนั้นเดียร์ก็ออกไปกับลูก ลูกก็มาปรึกษาหม่ามี้ แล้วก็คุยทั้งวัน คุยเป็นเรื่องเป็นราว เป็นตุเป็นตะ แล้วก็เขินใหญ่ พอเดียร์ไปดูที่คุยกัน ตอนแรกก็ตกใจนะคะว่าทำไมเด็กคนนี้เริ่มดูแรงๆ มีส่งมาว่า “Do you miss me?” ด้วย จนแอบบอกลูกไปด้วยว่าให้บล็อกเดี๋ยวนี้เลย ไม่ให้คุยแล้วนะ (หัวเราะ)

ปรากฏสุดท้ายมารู้ทีหลังว่า เด็กผู้หญิงคนที่คุยมาตลอดทั้งวัน คือพ่อของตัวเองที่แกล้งแอดไลน์เข้าไป เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ทุกอย่าง (หัวเราะ) เดียร์ก็สงสารลูกมากนะ คือเขาก็ไม่รู้จะเขินหรือจะโกรธคุณพ่อดีเลย แล้วสิ่งที่ลูกตอบไว้ในไลน์ตอนนั้น เขาก็ยังเอามาแซวลูกจนถึงทุกวันนี้ (ยิ้ม) เขาเป็นคนอย่างนี้แหละค่ะ”


[ลูกสาวคนเล็กกับคุณแม่]
ถ้าเรื่องเล่าเหล่านี้ ไม่ได้ออกมาจากปากคุณภรรยาตัวจริงแบบนี้ ก็ยากที่จะเชื่อว่าหนุ่มธุรกิจมาดนิ่งที่หลายๆ คนมองเห็น จะมีมุมทะเล้นๆ ได้ขนาดนี้ “คนที่น่าสงสารที่สุดก็จะตกเป็นลูกทั้งสองคน (“น้องพอเพียง” กับ “น้องพอใจ”) เพราะเป็นคนที่ไม่มีสิทธิที่จะต่อกรกับพ่อ” มาดามเดียร์คอนเฟิร์มอีกที ก่อนเผยเคล็ดลับเล็กๆ ที่ทำให้เธอรอดจากการถูกแกล้งในทุกครั้งว่า “เดียร์จะพยายามมีสเปซกับเขา จะบอกเลยว่าห้ามแกล้งนะ (ยิ้ม)”

“เวลาเขาทำงาน เขาจะเป็นผู้ใหญ่ เวลาคนเจอเขา อาจจะคิดว่าเขาดูเคร่งเครียด ดูเหมือนคนน่ากลัว แต่เวลาเขาอยู่กับลูก เวลาอยู่ในบ้าน เขาจะเป็นเหมือนเด็ก จริงๆ แล้วถ้าสนิทกันจะรู้ว่าเขาเป็นคนขี้เล่น ที่สำคัญ เป็นคนชอบแกล้งคน”

ด้วยคุณสมบัติซนๆ ของคุณสามีแบบนี้แหละ ที่ทำให้เธอตกหลุมรักเข้าอย่างจัง “ส่วนตัวเดียร์เป็นคนชอบคนสนุกสนานค่ะ ชอบคนตลก คือครั้งแรกก็คุยกันในฐานะเพื่อนมากกว่า เพราะต่างคนก็ต่างมีแฟนของตัวเองอยู่ แต่อาจจะด้วยเพราะตอนที่คุยกัน และฉายเขาดูครั้งแรกเหมือนจะเป็นคนขรึมๆ แต่จริงๆ เป็นคนขี้เล่น พอเราคุยไปเรื่อยๆ ถึงได้รู้ว่าเขาเป็นคนตลก

“และจริงๆ ก็ต้องชื่นชมว่าเขาเป็นคนเก่งด้วยค่ะ เดียร์ว่าผู้หญิงทุกคนก็อยากได้ใครที่มาเป็นผู้นำให้เราได้ด้วย เพราะต่อให้จะเป็น “ผู้หญิงเก่ง” ขนาดไหน เราก็ยังรู้สึกว่าเรายังเป็นผู้หญิงนะ ยังอยากได้คนที่เดินไปกับเราได้ เป็นผู้นำให้เราได้ และเดียร์ว่าเขาก็มีทั้งส่วนผสมของ “ความเก่ง” และ “ความสนุกสนาน” อยู่ในตัว


[วันใสๆ กับ “น้องพอใจ” และเพื่อนๆ]
นอกนั้นก็คงเป็นเรื่องของการซัปพอร์ตซึ่งกันและกันค่ะ สำหรับตัวเดียร์เอง เวลาอยู่ที่บ้าน เราก็รู้ว่าบางทีเราก็ไม่ค่อยมีเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจและเดียร์ว่าแฟนเดียร์เขาก็รู้ก็คือ ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็แล้วแต่ เราไม่เคยที่จะทิ้งกัน คือถ้าเกิดต้องการความช่วยเหลือหรือมีอะไร เราก็จะพร้อมที่จะยืนอยู่ข้างๆ ช่วยเหลือ และเดินไปด้วยกัน

หรืออย่างเวลาเรามีปัญหา เขาก็ช่วยซัปพอร์ต ช่วยให้กำลังใจ เดียร์ว่าเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวจะต้องมีเรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ถึงจะสามารถทำให้ประคับประคองไปด้วยกันได้ เดียร์ว่าไม่ใช่แค่ตัวเดียร์เองหรือตัวแฟน ทุกครอบครัวต้องมีเหมือนกัน

เคยมีผู้ใหญ่สอนเราไว้ว่า ตอนเป็นแฟนกันแรกๆ ก็เป็นแฟนได้นะ แต่จะอยู่กันได้นานหรือไม่นาน ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าคุณจะสามารถพัฒนาให้คุณก้าวข้ามคำว่า “แฟน” ไปเป็น “เพื่อน” ได้ไหม คือคู่ของเราไม่ได้เน้นเรื่องโมเมนต์โรแมนติกอะไรมากมายกันอยู่แล้ว และเดียร์ว่าการอยู่ด้วยกันแบบ “เพื่อน” ได้ มันจะยืนยาวกว่า


[ครอบครัวอบอุ่น: มาดามเดียร์, น้องพอใจ (6 ขวบ), น้องพอเพียง (8 ขวบ) และไฮโซฉาย (สามี)]
เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกครอบครัวแหละ ไอ้โมเมนต์ที่มาเป็นแฟนกัน และเจอกันเฉพาะตอนออกเดต มันไม่มีหรอกในความเป็นจริง ความเป็นจริงก็คือ เวลามีปัญหาเข้ามา คนที่เราให้คุณค่าสุดท้ายก็ควรจะเป็นคนที่อยู่เคียงข้างเรา พร้อมจะสู้ไปกับเรา และช่วยกันแก้ปัญหา

อย่างคุณฉายเอง เขาจะไม่ค่อยแสดงออกด้วยคำพูด แต่เราจะรู้ได้จากการกระทำของเขา หลายๆ อย่างที่เขาพยายามช่วยซัปพอร์ตเรากลับมา ทำให้เรารับรู้ได้ว่ามันคือความเป็นห่วงของเขาจริงๆ




เพราะ “ความสวย” ไม่จีรัง “ความรัก” จึงสำคัญที่สุด

เห็นเป็น “บุคคลสาธารณะ” แบบนี้ เชื่อหรือไม่ว่า อัตราการโพสต์เรื่องราวของตัวเองลงโซเชียลฯ ของมาดามเดียร์ใน 1 ปี อยู่แค่หลัก 10 หรืออาจน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ!!

ต้องบอกว่าเราเป็นคนที่ต้องมีพื้นที่ส่วนตัวนิดนึงค่ะ ตอนเล่นเฟซบุ๊กแรกๆ ก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ต้องไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น พูดตรงๆ คือเราไม่ได้ต้องการตรงนั้น (ยิ้ม) เราไม่ได้อยากไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นขนาดนั้น ยิ่งตอน การแจ้งเตือนของเฟซบุ๊กเด้งเข้ามาในอีเมล เดียร์ยิ่งรู้สึกว่าฉันไม่เล่นแน่นอน เพราะมันคงจะเป็นอะไรที่น่ารำคาญมาก อันนี้วัดจากความรู้สึกของตัวเองนะคะ

และพอยิ่งมาทำสื่อ ได้มาทำโปรแกรม Social Listening หลังบ้าน ได้เห็นเทรนด์ใหม่ๆ ที่เข้ามา เรายิ่งเห็นว่าคนที่ใช้เฟซบุ๊กเนี่ย มันสามารถสืบข้อมูลได้หมดเลยว่า เราไปเข้าเว็บไหนบ้าง วันนี้เราอยู่ตรงไหน ทำอะไรบ้าง ยิ่งทำให้หลังจากนั้นเรากลายเป็นโรคจิตไปเลย (ยิ้มขำๆ)


เพราะเราเป็นคนอยากมีพื้นที่ส่วนตัวไงคะ เราเลยไม่ชอบให้คนเข้ามาอะไรกับเรามาก พอยิ่งเห็นว่าโซเชียลฯ สามารถเข้ามาเห็นไพรเวซี (privacy) เราได้ขนาดนี้ ก็เลยรู้สึกว่าอาจจะเป็นอะไรที่ส่วนตัวแล้ว ค่อนข้างแอนตี้นิดนึง

อย่างทุกวันนี้ก็เล่นแค่ไอจี (instagram) แต่ก็เซตเป็นไพรเวต (private) ไว้อยู่ค่ะ แล้วก็จะมีแค่คนที่เรารู้จักเท่านั้นที่เรากดแอกเซปต์ (accept) ให้เข้ามาดูโพสต์ของเราได้ (ส่วนแฟนเพจและไอจีที่ดูแบบสาธารณะได้นั้น มีคนทำให้มาดามเดียร์) ก็จะโดนเพื่อนเดียร์ด่าบ่อยๆ ว่า ตามอินสตาแกรมเดียร์แล้วรู้สึกว่าไร้ค่ามาก เพราะเหมือนผ่านไป 1 ปี มันไม่โพสต์อะไรเลย (หัวเราะ) แต่เป็นอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ

ส่วนใหญ่ถ้าจะเล่นโซเชียลฯ จะเอาไว้ใช้ชอปปิ้งค่ะ (หัวเราะ) เพราะจะไม่ค่อยได้ไปเดินห้างฯ เท่าไหร่ แล้วก็ดูเทรนด์ในอินสตาแกรมบ้าง เพราะมันทำให้เราเห็นถึงไลฟ์สไตล์ของคนจริงๆ ในฐานะคนทำสื่อก็อยากดูว่าเทรนด์มันไปถึงไหนแล้ว คนกำลังสนใจอะไร หรือฮิตอะไรกัน”

ดูเป็นคนจริงจัง ไม่ยอมเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระแบบนี้ หลายคนคงอยากรู้ว่าเธอโตมาแบบไหน และอะไรทำให้สาวสวยคนนี้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วในทุกแง่มุม ด้วยวัยที่เพิ่งจะ 31 ปีเท่านั้น มาดามเดียร์ได้แต่ยิ้มรับคำชมแล้วให้เครดิตบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิต ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในทุกๆ ก้าวของเธอ ซึ่งนั่นก็คือ “ครอบครัว” นั่นเอง


[รายล้อมด้วยครอบครัวใหญ่และอบอุ่น]
เดียร์โตมากับครอบครัวใหญ่ค่ะ ทำให้โชคดีที่เราได้รับความอบอุ่นที่ดีจากทุกๆ คน ทั้งลุงป้าน้าอาและพี่ๆ ด้วย มันน่าจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เราได้รับความอบอุ่นเพียงพอ มันเลยเป็นความอุ่นใจที่ทำให้เวลาเราออกไปทำงาน หรือจะทำอะไร เดียร์ว่ามันเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เราสามารถก้าวออกไปข้างหน้าได้ด้วยความมั่นใจ ทำให้เราไม่รู้สึกขาด

และตัวคุณแม่เดียร์ก็เป็นเวิร์กกิงวูแมน (working woman) ด้วย ทำงานไปด้วย ไม่ได้เป็นแม่บ้าน ก็เลยทำให้เราคุ้นชินภาพของผู้หญิงที่แอกทีฟ (active) มากกว่าจะเป็นแม่บ้านอยู่กับบ้าน เหมือนเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันเราอยู่แล้ว เหมือนเราโตมาโดยมีคุณแม่เป็นแบบอย่างในจุดนี้

ส่วนเรื่องการปลูกฝัง หลักๆ น่าจะเป็นเรื่องความอบอุ่นในครอบครัวค่ะ ทำให้เรารับรู้ได้ว่า ไม่ว่าเราจะเจอปัญหายังไง คนในครอบครัวก็จะยืนอยู่ข้างเราเสมอ ถ้าพูดภาษาอังกฤษก็คือ “Unconditional Love” ความรักจากพ่อกับแม่เป็นความรักแบบที่ไม่มีเงื่อนไขจริงๆ หรือถ้าวันนี้เราเจอปัญหาและไม่รู้จะไปหาใคร ก็จะยังมีที่ที่เราสามารถกลับไปได้ทุกเมื่อ


ท่ามกลางคำสรรเสริญเยินยอมากมายที่ได้รับในวันนี้ ทั้งสวย, เก่ง, แกร่ง, นิสัยดี, วางตัวเหมาะสม ฯลฯ อยากรู้ว่าเธออยากให้ผู้คนพูดถึงในแง่มุมไหนที่สุด ผู้หญิงที่อยู่ตรงหน้าตอบโดยแทบไม่ต้องคิดว่า “อยากให้โฟกัสเรื่องการทำงานเป็นหลักค่ะ เพราะเรื่องความสวย ถึงมันจะเป็นสิ่งที่ดี แต่มันไม่จีรังยั่งยืนค่ะ”

“การทำงาน สิ่งที่เราได้ทำไว้ มันคือสิ่งที่สำคัญกว่า คือสิ่งที่จะอยู่ติดตัวเราไป ไม่ว่าจะจะแก่หรือกระทั่งว่าเราอาจจะไม่อยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าคนชื่นชมเดียร์ในเรื่องศักยภาพการทำงาน จะทำให้เราภูมิใจที่สุดแล้วค่ะ

เพราะการเป็นผู้หญิงสวย ถือเป็นโชคดี เป็นทุนที่ดีมาตั้งแต่ตอนที่เราเกิด แต่มันก็ไม่ได้สร้างความภาคภูมิใจให้เรา เท่ากับการที่ผู้คนจดจำเราในภาพผู้หญิงที่ทำงานเก่ง อันนี้มันมาจากสิ่งที่เราลงมือทำ พยายาม และได้พิสูจน์ตัวเอง ตรงนี้แหละค่ะที่เป็นความภาคภูมิใจของเรา





ทำใจยอมรับคำว่า “มาดาม”

แรกๆ ไม่ชอบเลยค่ะ (ยิ้ม) คือที่ไม่ชอบไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอายุนะคะ แต่เดียร์ว่าคำว่า “มาดาม” มันดูสูง ดูเข้าไม่ถึง ซึ่งโดยบุคลิกเราไม่ได้เป็นคนที่อะไรขนาดนั้น แต่ตอนนี้ก็โอเคแล้วค่ะ เพราะเคยคุยกับพี่ๆ นักข่าว และเขาก็บอกว่ามันเป็นเรื่องปกติ ถ้าผู้หญิงมาทำงานด้านกีฬา เขาก็จะเรียกแบบนี้ เหมือนเป็นวัฒนธรรมของเขา ไม่ได้มีอะไร เราก็เลยโอเคค่ะ และหลังๆ ทุกคนก็ดูจะใช้คำนี้จนดูกลายเป็นชินๆ กันไปแล้ว แต่ตอนแรกๆ ก็รู้สึกดูขัดๆ เหมือนกัน



“ซีเกมส์-ซีโกง” ต้องอาศัย “จิตวิทยา”

ถามว่าตอนไปแข่ง (ซีเกมส์ 2017 ที่มาเลเซีย) โดนบ้างไหม ก็มีบ้างค่ะ (ยิ้มบางๆ) แต่เดียร์ค่อยไม่อยากใช้คำว่า “โกง” เพราะถ้าเป็นการแข่งขันกีฬาประเภทนับแต้ม ก็อาจจะพูดยากหน่อย แต่ถ้าเป็นฟุตบอล เดียร์ว่ามันอยู่ที่เรื่องในสนามมากกว่า คือเต็มที่ก็อาจจะเกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบกันบ้าง แต่ถ้าเราจัดการหลายๆ อย่างได้ มีแบกอัพแพลน(backup plan) เรื่องประสานงานที่พัก, อาหารการกิน, รสบัส, สนามซ้อม ฯลฯ เดียร์ว่ายังไงเจ้าภาพก็ไม่สามารถจะโกงได้ทั้งหมด

แต่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็เจอเหมือนกันค่ะ เช่น เลื่อนเวลาแข่งรอบรองชนะเลิศกับพม่า ทั้งๆ ที่มันเป็นการแข่งสนามแยก แทนที่เราจะได้แข่งเวลาเดียวกัน ตามหลักสากลจะไม่ให้รู้ผลชนะก่อน-หลังกัน แต่ก็ดูเหมือนเจ้าภาพเขาพยายามจะใช้ความได้เปรียบของตัวเองในจุดนี้

เพราะเขาให้ทางทีมไทยได้แข่งเวลา 4 โมงเย็นที่นู่น ซึ่งเวลาจะเท่ากับ 3 โมงเย็นที่นี่ และเป็นช่วงเวลาที่นักเตะจะต้องได้ใช้ร่างกายเยอะกว่าปกติ เพราะอากาศมันร้อนมาก เขาก็อ้างว่ามันมีปัญหาเรื่องการถ่ายทอดสดบรอดคาสต์ (Broadcast) ที่นู่น เดียร์ก็จี้ถามต่อว่าระหว่างเรื่องออกอากาศกับสุขภาพนักกีฬา เรื่องอะไรที่เขาควรจะให้ความสำคัญมากกว่า เขาก็เริ่มเลิ่กลั่ก บอกมีปัญหาอีกหลายปัจจัย พอจี้ถามมากๆ เข้า เขาก็จนมุม ตอบไม่ได้


อย่างตอนประชุมร่วมกัน ต้องพูดตรงๆ ค่ะว่า เดียร์ต้องใช้ “เกมจิตวิทยา” กับเขา คือเราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงเรื่องเวลาแข่งนะ เพราะเขาก็มีธงของเขาไว้อยู่แล้ว แต่เดียร์คิดว่าอย่างน้อยเราก็ต้องแสดงออกมาว่า เราไม่โอเคนะ เขาจะได้รู้ว่าจะมาทำอะไรมั่วๆ ซั่วๆ กับเราไม่ได้



ฝันทำ “สโมสรต่างแดน” อุดช่องโหว่ฟุตบอลไทย

ถ้าให้พูดถึงเรื่องช่องโหว่ เดียร์ว่าวันนี้น้องๆ ของเรา มีความเก๋าเกมทั้งด้านประสบการณ์และทักษะ ทำให้เราค่อนข้างอุดช่องโหว่มาได้เยอะแล้ว ด้วยเรามี “ลีกสโมสร” ที่แข็งแกร่งเพียงพอแล้ว นอกนั้นคงจะเหลือเรื่องการเปิดประสบการณ์ของนักเตะไทยกับนักเตะต่างชาติค่ะ เราควรจะพาตัวเองไปเจอชาติอื่นๆ ในเวทีระดับโลกให้มากขึ้น หรืออย่างน้อยในระดับเอเชียก็ได้ เพื่อให้น้องๆ ได้สร้างเสริมประสบการณ์ตัวเองมากขึ้นค่ะ


อย่างตอนที่เดียร์ดูแลทีมชาติไทย ก็จะมีทีมชาติอื่นๆ เข้ามาขออุ่นเครื่องกับเราเยอะมาก แต่ตอนนั้นเป้าหมายของเรา เราเลือกอุ่นเครื่องกับทีมนอกอาเซียนเป็นความสำคัญอันดับแรก เพราะเดียร์มองว่าวันนี้เราเป็นที่ 1 ของอาเซียนแล้ว ถ้าเรายังไปแข่งกับทีมในอาเซียน มันก็เหมือนเรายังอยู่ที่เดิม และเราก็ภูมิใจอยู่เหมือนเดิมว่าเราแข่งชนะ แต่เราไม่ได้พัฒนาตัวเราไปไหน

ดังนั้น ถ้าได้มีโอกาสทำสโมสร เดียร์ถึงมองว่าอยากทำสโมสรในต่างประเทศค่ะ เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้กับคนไทย เขาจะได้ไปเก็บเกี่ยวในลีกที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้นอีก และตัวเขาเองก็จะได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าทำสโมสรไทยตอนนี้ เดียร์มองว่าทุกทีมมีความแข็งแกร่งมากๆ อยู่แล้ว ถ้าเดียร์มาทำอีกคน ก็คงไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากนี้










สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วรวิทย์ พานิชนันท์
ขอบคุณภาพ: fb.com/dear.watanya.wongopasi และอินสตาแกรม @dear_watanya
กำลังโหลดความคิดเห็น