xs
xsm
sm
md
lg

โอ้แม่เจ้า! นักศึกษาซกมก นี่ห้องหรือกองขยะ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ถึงกับผงะ! ใครจะคิดว่าสาวๆ หน้าตาสวย แต่งตัวดี จะมีเบื้องหลังคือความรกและซกมกของห้อง ล่าสุด ภาพห้องพักของนักศึกษาหญิงคนหนึ่งในสภาพห้องที่เจ้าของหอพักต้องร้องไห้หนักมาก! ถูกแชร์วนไป พร้อมกับความรู้สึกของผู้ที่เห็นภาพ ได้คอมเม้นต์กันกระหน่ำถึงความรก


“นายเชด อิสระ - News Mahasarakham” เจ้าของเฟซบุ๊กผู้แชร์ภาพดังกล่าว โพสต์ข้อความว่า “ภาพนี้ ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเป็นห้องพักในจังหวัดมหาสารคาม ซึ่ง นักศึกษาหญิงท่านหนึ่งได้เช่าไว้ สภาพห้องอลังการมาก โคตรอินดี้ เจ้าของหอพักร้องไห้หนักมาก !!! ปล. แก้ไขข้อมูลเพิ่ม 4/6/60 เวลา 19.40 น. รูปถ่ายวันนี้ นะครับ 10 ชั่วโมงที่แล้ว ไมต้องทราบชื่อหอ และชื่อคนเช่า ไม่ต้องทราบชื่อ สถานศึกษาด้วย ทราบชื่อเขาก็จะอาย เจ้าของหอใหม่เขาก็จะไม่ให้เช่า ไปเรียนเพื่อนก็จะล้ออีก”

หลังจากภาพห้องรกๆ ที่เกลื่อนไปด้วยถุงขยะ ขวดน้ำ จานชาม เสื้อผ้า วางเกลื่อนทั้งบนพื้นและบนเตียงนอน ถูกแชร์ คนในโลกโซเชียลต่างรุมกระหน่ำคอมเมนต์ถึงความสกปรกของห้อง โดยบางคอมเมนต์ ซึ่งเคยเห็นความสกปรกของผู้เช่าห้องดังกล่าว เผยว่า "เห็นมาเต็มๆ ค่ะ เคยอยู่หอนี้ตอนปี 2 เจ้าของหอเปิดให้ดูเลยค่ะ เห็นแล้วสตันไปหลายนาที คิดอยู่ว่าเขาอยู่ยังไง อยู่ห้องข้างๆ ด้วยค่ะ”

อีกข้อความหนึ่งเผยว่า “เค้าค้างค่าหอค่ะ เจ้าของหอจำเป็นต้องให้ออก เพราะนี่คือครั้งที่สองที่เจอสภาพห้องแบบนี้” และตามด้วยข้อความ “นี่ครั้งที่สองแล้วค่ะ ครั้งแรกเข้าไปเปลี่ยนหลอดไฟ เจอสภาพนี้เลยตักเตือนกันไป นี่ครั้งที่สองค่ะ นางย้ายออกแล้วค่ะ เลยเข้าไปทำความสะอาด”

ด้านเจ้าของแฟนเพจได้สอบถามไปทางเจ้าของหอพักยืนยันว่า ภาพห้องรกๆ นั้น ผู้เช่าได้อาศัยอยู่จริง แต่ ทางเจ้าของหอพักไม่ขอเปิดเผยข้อมูลของทางหอพักและผู้เช่า

หลังจากมีความคิดเห็นต่างๆ ที่แสดงอาการสะพรึงกับความรกของห้องที่ปรากฏบนภาพ และส่วนใหญ่เทคะแนนให้กับอาการผิดปกติทางจิตของนักศึกษาสาวนางนี้ ที่ผ่านมา กรณีห้องหรือบ้านรกมากๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แถมบางกรณีเจ้าของห้องยังประสบอุบัติเหตุกับข้าวของที่วางเรี่ยราดด้วย เช่นเดียวกับกรณีของ Julia Pecha สาววัย 18 ปี ที่หน้าตาสะสวยแต่ปล่อยให้ห้องรกมากๆ จนตัวเธอเองเหยียบโดนปลั๊กของไอโฟน แทงทะลุเข้าไปในเท้า


หรืออีกหนึ่งกรณี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่สหรัฐอเมริกา เว็บไซต์มิเรอร์ รายงานว่า เด็กน้อยวัย 1 ขวบ 4 เดือน นอนเสียชีวิตอยู่ใต้โซฟาในบ้านของตัวเอง ในสภาพบ้านสุดรก หลังจากผู้เป็นแม่ได้แจ้งความว่าหายตัวไป จนเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังตามหาตัวนานกว่า 30 ชั่วโมง

โดยหลังจากตำรวจได้เข้าไปค้นหาหนูน้อยในบ้าน ก็เจอสภาพบ้านอันสุดสะพรึง มีทั้งข้าวข้องและเศษขยะอยู่เกลื่อนเต็มพื้นบ้าน ในห้องครัวมีกระป๋องยาฆ่าแมลงอยู่บนเคาน์เตอร์ ถุงขยะวางกองเต็มพื้น มีกระทะที่ทำอาหารแล้ววางซ้อนอยู่บนเตา กล่องพิซซ่าวางกองๆ ไว้ไม่ได้ทิ้ง ตามพรม ผนัง และถังขยะมีแต่ความสกปรก


สำหรับผู้ที่อยู่กับความรกได้นั้น นายแพทย์ธรรมนาถ เจริญบุญ จิตแพทย์ ได้เขียนบทความไว้ในเว็บไซต์ Haijai.com ว่า อาการนี้เข้าข่ายเป็นอาการของโรคจิตชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า โรคเก็บสะสมของ หรือ Hoarding disorder ซึ่งเป็นโรคที่พึ่งถูกเพิ่มเข้าไปในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM V) เมื่อปี พ.ศ. 2556 นี้เอง โดยก่อนหน้านี้ยังไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัยโรคนี้มาก่อน

เดิมทีเชื่อว่าเป็นอาการแบบหนึ่งในโรคกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ ด้วยเหตุว่าเป็นโรคใหม่ในภาษาไทย จึงไม่มีศัพท์ที่ใช้เรียกอย่างเป็นทางการ ดังนั้นในบทความนี้ผมเลยตั้งชื่อเองไปก่อนว่า “โรคเก็บสะสมของ”

การศึกษาในต่างประเทศพบว่า โรคนี้พบได้ประมาณ 2-5% ในคนทั่วไป โดยมีสัดส่วนที่เท่ากันทั้งชายและหญิง และส่วนใหญ่มักเป็นคนโสด โดยน่าจะเกิดจากกรรมพันธุ์ เนื่องจาก 80% ของผู้ป่วยจะมีญาติสายตรงที่มีอาการคล้ายๆ กัน การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางสมองพบว่า สมองบางส่วน (ส่วน cingulated cortex และ occipital lobe) ของผู้ที่เป็นโรคนี้มีการทำงานลดลง ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการคิดและการตัดสินใจ

อาการของผู้ที่ป่วยในโรคนี้ มีดังต่อไปนี้ เช่น เก็บของไว้มากเกินไป ทั้งของที่ใช้ประโยชน์ได้หรือใช้ประโยชน์น้อยมาก มีความยากลำบากใจในการทิ้งของ และปล่อยให้สิ่งของเหล่านั้นรบกวนการใช้ชีวิต หรือทำอันตรายได้ เช่น วางบนพื้นห้องจนไม่มีที่เดิน กองวางท่วมล้นบนโต๊ะทำงาน หรือของเยอะ รก เน่า จนทำให้เจ็บป่วยบ่อย หรือโดนของที่สะสมโค่นทับ เป็นต้น

ความเด่นชัดที่สังเกตได้ของอาการนี้ คือ ชอบสะสมแต่ไม่ชอบเก็บและปล่อยให้รก ซึ่งจะแตกต่างจากนักสะสมของที่เก็บทุกอย่างไว้เป็นสัดเป็นส่วน มีระเบียบ โดยโรคที่มักพบร่วมกับโรคสะสมของ ได้แก่ โรคย้ำคิดย้ำทำที่มีมากถึง 30% และพบได้ในผู้ป่วยโรคจิตเภทและโรคสมองเสื่อม

สำหรับกรณีของนักศึกษาสาวคนดังกล่าว ที่อาศัยอยู่กินกับกองขยะมากว่า 4 ปี คงหนีไม่พ้นอาการทางจิตประเภทนี้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น