xs
xsm
sm
md
lg

ฮอตสุดเวลานี้! "ภิญโญ" กู้ภัยจับงู มือปราบอสรพิษแห่งทุ่งบางเขน (มีคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การจับงูเป็นทักษะความชํานาญเฉพาะตัว ห้ามลอกเลียนแบบโดยเด็ดขาด
"จ.ส.ต.ภิญโญ พุกภิญโญ" ชื่อนี้พูดไปคงไม่มีใครรู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเขาคือ "กู้ภัยจับงูเห่าด้วยมือเปล่า" ที่มาพร้อมกับทักษะการจับงูอันนุ่มนวล ละมุมละม่อม หลายคนคงพอจะคุ้นๆ และเคย เห็นเขาผ่านคลิปกันมาบ้างแล้ว ล่าสุดมียอดคนดูตั้งแต่วันลงคลิป (7 ต.ค.) จนถึงตอนนี้ปาเข้าไป 2 ล้านกว่าวิวแล้ว

ไม่แปลกที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยวัย 40 ต้นๆ ท่านนี้จะมีสื่อต่างๆ ให้ความสนใจสัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์จนทำให้ชื่อของเขา เป็นที่รู้จัก และถูกพูดถึงในวงกว้าง เช่นเดียวกับทีมข่าวผู้จัดการสุดสัปดาห์ที่แม้จะใช้เวลาคุยกันไม่นาน แต่ก็ได้ความรู้ และทำลายความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับงูลงไปได้มาก

"ผมคิดว่าเจ้าของบ้านถ่ายเก็บไว้ดูเล่นๆ ซึ่งผมก็ไม่อะไร จนมาตกใจกับยอดคนดูที่เยอะมากๆ สุดท้ายก็ร้องอ๋อ! คนโพสต์เป็นคนดังในโซเชียลฯ ยอดคนดูก็เลยพุ่งสูง ส่วนตัวไม่คิดไม่ฝันว่าจะมีคนพูดถึงเยอะมากขนาดนี้ แถมยังมีสื่อต่างๆ ให้ความสนใจกันมากอีกด้วย" เขาเริ่มต้นเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อกระแสคลิป "จับงู" อันโด่งดัง ก่อนจะขอบคุณทุกกระแสตอบรับทั้งเสียงชื่นชม และกำลังใจ รวมไปถึงความห่วงใยในการปฏิบัติหน้าที่
การจับงูเป็นทักษะความชํานาญเฉพาะตัว ห้ามลอกเลียนแบบโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ดี เขาไม่ใช่ "กู้ภัย" ธรรมดา แต่เป็นถึงเจ้าหนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชำนาญการ สำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร "ผมเป็นข้าราชการของกรุงเทพมหานครครับ" เขาตอบเสียงดังฟังชัด ก่อนจะขยายความตามมาว่า "ผมผ่านการสอบ และบรรจุจนได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ก่อนผมเป็นตำรวจดับเพลิงเก่า จากนั้นก็โอนภารกิจมาที่กทม. ประจำการ เตรียมความพร้อมอยู่ที่สถานีดับเพลิง และกู้ภัยบางเขน ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายมากๆ โดยหน้าที่หลักๆ คือดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับงานบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ

ไม่ว่าจะน้ำท่วม ไฟไหม้ หรือบางบ้านแจ้งมาว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ไฟช็อต ป้ายโฆษณาล้ม ผมก็รุดเข้าไปช่วย ตลอดจนการจับงูเข้าบ้าน หรือแมว สุนัขตกท่อผมเข้าไปช่วยหมด ซึ่งผมและเจ้าหน้าที่ทุกคน เราดูแลหมดไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ ซึ่งตัวผมจับงูมานานกว่า 10 ปีแล้ว"

กำเนิดมือปราบอสรพิษ


"ผมเป็นคนกลัวงูมาก่อน" เขายอมรับอย่างตรงไปตรงมา "ผมไม่ยุ่งกับงู ไม่รู้เรื่องงูเลยสักชนิด จนมาทำงานตรงนี้ ซึ่งการจับงูเป็นหนึ่งในงานที่ชาวบ้านร้องขอให้ไปช่วยจับ และการไปจับครั้งแรก ผมก็กลัวนะ เพราะตอนนั้นยังไม่รู้จักว่างูมีพิษหรือไม่มีพิษ รู้อย่างเดียวถ้ามันกัดคืออันตรายแน่นอน อาจจะทำให้เราได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตได้ แต่หลังจากพี่ผมเข้าไปหาความรู้ที่ 'สถานเสาวภา' สภากาชาดไทย ทำให้ผมค่อยๆ รู้จัก และเข้าใจเพื่อนร่วมโลกอย่างงูมากขึ้น
งูเห่า
ทั้งชนิดของงูที่มีพิษ และไม่มีพิษ ไปจนถึงพฤติกรรมการกินอยู่ของมัน ประกอบกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์หน้างานอย่างการจับงู รวมไปถึงคลุกคลีอยู่กับงูเป็นประจำ ทำให้ผมมีทักษะในการจับงูบนพื้นฐานของความไม่ประมาท"

ปัจจุบันมีบรรดา "งู" ที่คลุกคลีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น งูเห่า งูเขียวหางไหม้ งูแสงอาทิตย์ งูก้นขบ งูหัวกะโหลก และอื่นๆ ซึ่งในบรรดางูทั้งหมดที่มี เขาไม่ได้ต้องการเอาไปโชว์ หรือหาช่องทางเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่งูคือครูที่เอาไว้ศึกษา และเรียนรู้เพื่อสร้างความคุ้นเคย

"วันไหนถ้าห่างงู ผมจะรู้สึกกลัว ไม่มั่นใจขึ้นมาทันที" พูดจบก็หันหลังไปหยิบกล่องใส่งูที่เลี้ยงไว้จำนวนหนึ่งมาตั้งโชว์เพื่อประกอบการสัมภาษณ์ "ไม่ใช่ว่างูทุกตัวจะเล่นได้หมดนะ" เขาบอก "บางตัวก้าวร้าว ผมก็ไม่เอา หรือบางตัวไม่แผ่แม่เบี้ย อยู่ดีๆ ฉกขึ้นมาดื้อๆ แบบนี้ผมก็ไม่เอา
ดังนั้นงูทุกตัวที่ผมมี ผมคัดมาแล้วว่าสามารถเล่นได้

เวลาที่ผมไปจับงู อย่างที่เห็นในคลิป ผมจะหยั่งเชิงด้วยการตบหางมันเบาๆ พอตบแล้วขึ้นแผ่แม่เบี้ย ดูว่ามันอยู่ในมนต์สะกดเราหรือเปล่า มองตาเรามั้ย ถ้าเรามองแล้วนิ่ง ก็แสดงว่าสื่อกันได้แล้ว สามารถสัมผัสตัวได้ แต่ถ้าตบหางเบาๆ แล้วฟื้บฟาบไปทั่ว แบบนี้ต้องใช้ทักษะที่สูงขึ้น

การจับงูเป็นทักษะความชํานาญเฉพาะตัว ห้ามลอกเลียนแบบโดยเด็ดขาด
นอกจากนั้น การลงพื้นที่จับงูตามบ้าน หรือสถานที่ต่างๆ ในแต่ละครั้ง ผมไม่ได้แค่จับ แต่ยังมองลึกลงไปถึงการดูแลสัตว์ด้วย และการจับแต่ละครั้ง ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะทำ หรือลอกเลียนแบบได้ ยิ่งกระแสละครนาคีกำลังดัง มีฉากจับงูมาเล่นแบบน่าเอ็นดู ตรงนี้อันตราย และน่าเป็นห่วงมาก ทางที่ดีผู้ใหญ่ต้องชี้แนะ เพราะการจับงูต้องผ่านการอบรม และฝึกฝนทักษะเป็นอย่างดีจากองค์กรที่เชื่อถือได้

สำหรับตัวผม เวลาจับงูเห่า จะสังเกตพฤติกรรมด้วยการตบหางเบาๆ เพื่อดูท่าทีของมัน จากนั้นใช้ความนิ่งสยบ ซึ่งผมจะพยายามใช้ไม้คล้องให้น้อยที่สุด เพราะถ้ากระชากแรง งูอาจได้รับบาดเจ็บได้ ซึ่งถ้างูอยู่บนต้นไม้สูงๆ บางทีก็ต้องใช้ครับ มันจำเป็นจริงๆ แต่การใช้ไม้คล้องต้องระวัง ยิ่งคนกลัวยิ่งกระชากแรง ถ้าแบบนี้คือจบครับ งูตัวนี้จะเลื้อยไม่ได้ และตายในที่สุด เพราะกระดูกคอหลุดจากแรงกระชาก

ทุกวันนี้ หน่วยงานผมจับงูได้เยอะมาก เป็นพันๆ ตัว โดยงูเหลือมจับได้เยอะสุด เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า พื้นที่ในกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มากๆ แถมยังมีปัญหาที่เรื้อรังมานาน เนื่องจากจับและปล่อยในพื้นที่ ทุกวันนี้มีตั้งแต่ขนาดเล็กๆ กินหนูได้ ไปจนถึงขนาดกลางๆ และใหญ่ สามารถกินแมว กินสุนัขได้ ซึ่งเราพยายามไล่จับ และอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กัน"






"จับงู" ราวกับร่ายมนต์สะกด

ไม่ถามไม่ได้ถึงทักษะการ "จับงู" ที่ดูนุ่มนวลราวกับร่ายมนต์สะกด เพราะชวนให้ใครหลายคนสงสัยว่า มีของขลัง หรือคาถาอาคมอะไรหรือไม่ และนี่คือความจริงจากปากของเขา


"(หัวเราะ) จริงๆ ผมไม่ได้มีของดี ของขลังอะไรเลยครับ เห็นนิ่งๆ จ้องหน้างูเห่าในคลิป ผมไม่ได้ท่องคาถาอะไรทั้งนั้น แต่ผมกำลังทำสมาธิ ส่วนแหวนพิรอดผมก็ไม่มีครับ (ยิ้ม) ผมมีแต่ความรู้ที่ได้จากการอบรมและฝึกปฏิบัติจับงูที่สถานเสาวภา และประสบการณ์ที่ผมได้คลุกคลีอยู่กับงูทุกวัน เรียนรู้นิสัยของงูแต่ละชนิดจนเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ ส่วนความนุ่มนวลในการจับนั้น มีความจำเป็นอย่างมากครับ เพราะงูเจ็บไม่ได้ครับ ถ้าเจ็บ หรือตกใจปุ๊บ พฤติกรรมมันเปลี่ยนทันที โอกาสที่จะถูกฉกก็ย่อมมีได้สูง" มือปราบอสรพิษคนดังชี้แจง

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นอสรพิษร้ายที่ไม่ควรเข้าใกล้ แต่ยังมีหลายคนกล้าท้าความตายด้วยการนำงู โดยเฉพาะงูจงอางมาแสดงโชว์อย่างน่าหวาดเสียว ทั้งอมหัวงู จับงูให้เลื้อยเข้าไปในกางเกง ชกมวยกับงูจงอาง เป็นต้น ทำเอาผู้ชมหายใจไม่ทั่วท้อง ทว่าสุดท้ายก็มีหมองูจำนวนไม่น้อยที่ตายเพราะงู

การจับงูเป็นทักษะความชํานาญเฉพาะตัว ห้ามลอกเลียนแบบโดยเด็ดขาด
"ขนาดอาจารย์ชื่อดังท่านหนึ่ง ผู้เป็นเลิศด้านวิชาอาคม สุดท้ายก็จบชีวิตลงด้วยการถูกงูพิษ ซึ่งเป็นงูเห่าที่ท่านเลี้ยงไว้กัดตาย หรือหมองูท่านอื่นๆ ที่มีของดี และโชว์จับงูได้อย่างง่ายดาย ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องของความประมาท ถ้าวันใดวันหนึ่งคาถาไม่ขลังขึ้นมาล่ะ สุดท้ายก็เข้าสุภาษิต หมองูตายเพราะงู ทั้งที่ความจริงแล้วมันขึ้นอยู่กับอารมณ์ของงูแต่ละตัวครับ หลายคนบอกว่ามีคาถา หรือของดีอมไว้ในปากแล้วล้วงไปจับงูเห่าขึ้นมาโดยไม่ถูกกัด นั่นเพราะมันไม่เกรี้ยวกราด แต่ถ้าเจองูเห่าที่ดุ หากประมาทก็มีสิทธ์ตายได้ครับ"

มาอยู่ร่วมโลกกับงูกันเถอะ


"เรื่องงูเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าไม่โดนกับตัวเองจะไม่สนใจ บางทีก็ไปโทษงูอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเกิดจากความประมาทของมนุษย์เองด้วย อย่างงูเข้าไปอยู่ในรองเท้า ก่อนสวมใส่เราต้องทำการเคาะก่อนมั้ย เพราะอย่าลืมว่างูเป็นสัตว์เลือดเย็น มันไม่สามารถปรับสภาพได้ ถ้าเจออากาศเย็นๆ มันต้องเข้าที่อุ่นๆ

ดังนั้น อะไรที่งูสามารถเลื้อยเข้าไปซุกได้ ต้องระวังครับ บางคนบอกว่าบ้านฉันไม่มีงูหรอก ผมจะบอกว่างูอยู่รอบๆ ตัวคุณครับ ที่พูดไม่ได้บอกให้กลัวนะ แต่อยากให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมโลกใบเดียวกัน" 
เป็นคำพูดของเจ้าหน้าที่คนดังที่อยากให้ประชาชนทุกคนอยู่ร่วมกับ "งู" บนโลกใบนี้ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

สาธิตให้รู้พฤติกรรมและเอาตัวรอดจากงูเหลือม
"ส่วนตัวไม่อยากให้ไปรังเกียจงูครับ แต่ไม่ได้บอกให้กลับไปรักงูนะ แค่ไม่ทำร้ายมันก็พอ คนส่วนใหญ่พอเจองูเห่าคือตีแน่นอน เพราะเชื่อกันว่า ตีงูต้องตีให้ตาย ไม่เช่นนั้นมันจะกลับมาแก้แค้น ซึ่งมันเป็นความเชื่อที่ผิดมากๆ หรือเข้าใจว่างูสีดำทุกชนิดจะต้องมีพิษ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย อยากให้ศึกษาลักษณะ และเข้าใจพฤติกรรมของงูแต่ละชนิด

ผมพยายามเข้าไปประชาสัมพันธ์ว่า งูไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มันมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เราต้องดูที่จุดนั้น หลายคนเอากำมะถัน น้ำมันกาดมาไล่งู ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ได้กลัวอะไรพวกนี้นะครับ เราต้องมาดูปัจจัยหลักๆ ที่งูเข้าบ้านเพราะอะไร หนึ่งคือเป็นพื้นที่อยู่อาศัยเก่าของงู สองคือเป็นแหล่งอาหารของงู เช่น มีหนูเยอะ เลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่เป็นห่วงโซ่อาหารอย่างนก แมว กระต่าย และอื่นๆ ซึ่งบ้านไหนเลี้ยงสัตว์พวกนี้ โอกาสที่งู โดยเฉพาะงูเหลือมจะเข้าบ้านย่อมมีได้สูง

สามคือเป็นที่หลบซ่อน พูดง่ายๆ คือ บ้านรกมาก บ้านเป็นโพรง ซึ่งพื้นที่กทม.ส่วนใหญ่บ้านทรุดเป็นโพรง ไม่แปลกที่จะมีงู หรือตัวเงินตัวทองเข้าไปอยู่อาศัย และแพร่พันธ์ฯ เจริญเติบโตกันเป็นจำนวนมหาศาล ถามว่าโลกนี้ไม่มีงูได้ไหม 
ต่อให้คุณตีงูจนตายหมดทั้งโลก มันก็ผิดสมดุลธรรมชาติ เพราะโลกสร้างงูมาเพื่อรักษาสมดุล

ทุกวันนี้แมวกินอาหารเม็ดกันหมดแล้ว งูเท่านั้นที่จะสามารถคุมประชากรหนูไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ ถ้ากทม.หมดงูเมื่อไร หนูก็จะออกอาละวาดกันเต็มเมืองจนกลายเป็นปัญหาหนูล้นเมือง ดังนั้น โปรดเข้าใจว่า งูมันกลัวคน ไม่ได้มีเจตนาเข้ามาทำร้ายคน คนที่ถูกงูกัดส่วนใหญ่คือ ทำให้งูตกใจ หรือบาดเจ็บ"


งูไทย (ไร้พิษ) ที่น่าสงสาร

ขึ้นชื่อว่า "งู" ส่วนใหญ่ถูกเหมารวมว่า มีพิษ น่ากลัว ไม่แปลกที่งูไร้พิบางชนิดต้องตกเป็นแพะรับบาปทั้งๆ ที่ความเป็นจริงเป็นงูที่ค่อนข้างเชื่อง และไม่เป็นอันตราย แถมยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะความสำคัญในการจัดการประชากร "หนู"

งูแสงอาทิตย์ รักสงบ ไม่มีพิษ
"งูแสงอาทิตย์" คือหนึ่งในบรรดางูที่น่าสงสาร หลายคนเชื่อว่าถ้าถูกงูชนิดนี้กัดแล้วดวงอาทิตย์ขึ้นจะตาย จึงถูกทำร้าย และตีจนตาย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีพิษสงอะไรเลย ยืนยันได้จาก "ภิญโญ" ในฐานะวิทยากรผู้มีความรู้เรื่องงู บอกว่า เป็นงูที่ค่อนข้างเชื่อง และไม่เป็นอันตราย

"เวลาผมไปวิทยากรให้ความรู้เรื่องงู ผมจะหยิบยกงูชนิดนี้มาเป็นตัวอย่างเพื่อลดการทำร้ายงู เพราะเป็นงูที่มีนิสัยไม่ก้าวร้าว อาจจะมีตกใจบ้าง เวลาสะท้อนแสงแดดจะเงาแวววาวกลายเป็นสีรุ้งตลอดตัว หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมมันก็จะเลื้อยขึ้นต้นไม้ หรือขึ้นไปอยู่ตามขื่อบ้านได้ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าถ้าถูกงูชนิดนี้กัดแล้วดวงอาทิตย์ขึ้นจะตาย หลายคนจึงทำร้าย และฆ่ามัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่มีพิษสงอะไรเลย

อีกชนิดคือ งูก้นขบ งูที่มักเจอในห้องน้ำตามบ้านต่างๆ
เวลาถูกแดดจะเงาแวววาวเป็นสีรุ้งเหมือนกัน แต่ไม่ชัดเท่ากับงูแสงอาทิตย์ เวลาถูกรบกวนสังเกตง่ายๆ มันจะทำตัวแบนชูปลายหางขึ้นมาคล้ายหัวอีกข้างหนึ่ง ชาวบ้านจึงเรียกว่า งูสองหัว ด้วยความเข้าใจแบบนี้ จึงทำให้งูชนิดนี้ถูกทำร้าย และถูกฆ่าตาย เพราะคิดว่าเป็นงูที่มีพิษร้ายแรง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเป็นงูที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เลย อาหารของพวกมันได้แก่ หนอน งูตัวเล็กๆ ตัวอ่อนของแมลง เป็นต้น" เขาให้ความรู้ ก่อนจะเผยต่อไปว่า
งูก้นขบ ดูแปลกแต่ไร้พิษสง
"ทุกวันนี้ผมทำงานในจุดนี้ก็เหมือนเป็นคนดูแลความสมดุลของกรุงเทพมหานครว่างูชนิดไหนควรอยู่ หรือชนิดไหนมันเยอะไปอย่างงูเหลือมที่ต้องจับ และส่งอุทยานฯ หรือนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ห่างไกลบ้านเรือนประชาชนเพื่อลดจำนวน และควบคุมมัน แต่บางชนิดอย่างที่ยกตัวอย่าง เราสามารถปล่อยในพื้นที่ และพยายามประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลดความกลัว แต่ถ้าเจออย่าไปทำร้ายมัน ให้โทร.แจ้ง 199 ดีกว่า"

ทั้งนี้ในฐานะผู้มีความรู้ และประสบการณ์ด้านการจับงูมานานกว่า 10 ปี เขามองเห็นปัญหาว่า ประชาชนมีความรู้เรื่องงูน้อยเกินไป หรือแม้กระทั่งการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยเฉพาะวิชาลูกเสือ เนตรนารีของบางโรงเรียนที่ยังสอนวิธีปฐมพยาบาลจากงูกัดด้วยวิธีผิดๆ

"บางโรงเรียนยังสอนเรื่องการขันชะเนาะกันอยู่เลย ซึ่งวิธีนี้จริงๆ แล้วอาจทําให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงจนเกิดเนื้อตายได้ ปัจจุบันเขาเปลี่ยนมาใช้วิธีพันดามเพื่อลดการดูดซึมของพิษงูเข้าสู่กระแสเลือดกันแล้ว นอกจากนั้นความเชื่อผิดๆ เรื่องดูดพิษงูด้วยปาก ในละครเจอเยอะมาก ไม่ควรทำเด็ดขาดครับ 

ทางที่ดีหลังจากถูกงูกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และพยายามให้อวัยวะที่ถูกกัดอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ควรใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็ง ๆ รองหรือดามไว้จนกว่าจะถึงโรงพยาบาลเพื่อชะลอพิษงูซึมเข้าสู่ร่างกายช้าลง"

ทุกวันนี้ แม้สิ่งที่เขาทำอยู่จะเป็นงานที่เหนื่อย และอยู่ภายใต้ความกดดัน "แต่ก็สนุก และสุขใจดีนะ" คือคำพูดที่เผยให้เห็นแววตาที่เต็มไปด้วยความสุข นี่หรือเปล่าคือผลตอบแทนแห่งการงานที่ทำให้มีความสุขโดยไม่ต้องมานั่งคิดถึงค่าตอบแทน เพราะค่าตอบแทนมันอยู่ในทุกวินาทีที่ทำ "แค่น้ำเปล่าที่เจ้าบ้านหยิบยื่นให้ แค่นี้ผมก็ชื่นใจแล้วครับ" เขาทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มที่กว้างไม่ใช่เล่น

เรื่อง : ปิยะนันท์ ขุนทอง
ภาพ : สันติ เต๊ะเปีย
ขอบคุณสถานที่ : สถานที่ดับเพลิง และกู้ภัยบางเขน
ช่องทางติดตามคุณภิญโญ : เฟซบุ๊ก Pinyo love snakes




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น