xs
xsm
sm
md
lg

“คริสตี้” นางฟ้าสนามดริฟต์ เบิร์นมิติชีวิตให้เร้าอารมณ์!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักดริฟต์-นักเปียโน-นางแบบ... ไม่น่าเชื่อว่า 3 มิติความมุ่งมั่นที่เห็น จะรวมอยู่ในคนคนเดียวได้อย่างลงตัวขนาดนี้ แถมแต่ละพาร์ตความต่าง ยังมีความเก่งรับประกันคุณภาพอัดแน่นอยู่เต็มดีกรี ไม่แปลกใจเลยที่ความเป็นเธอในวันนี้ จะดึงดูดให้ทุกองศาร้อนในตัว ผงาดขึ้นมาโดดเด่นสะกดทุกสายตา เมื่อเอ่ยถึงนางฟ้าหนึ่งเดียวแห่งสนามดริฟต์... “คริสตี้หลุยส์”




สิงห์สาวสายโค้ง นางฟ้าสนามดริฟต์!!

บรื้น..บรื้น..บรื้น...เอี๊ยด!! แรงเสียดสีระหว่างแผ่นยางหน้ากว้าง 265 กับพื้นผิวซีเมนต์ในลานกว้าง ส่งให้เกิดเสียงกรีดร้องจากวงล้อดังเอี๊ยดอ๊าดกึกก้องไปทั่วบริเวณ กระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้ระดับอะดรีนาลีนเดือดพล่าน ด้วยแรงเหวี่ยงที่เกิดจากการดึงเบรกมือขณะเครื่องยนต์กำลังเผาไหม้เต็มกำลัง
 
ความดุดันของสิงห์สาวแห่งสนามเสี่ยง ผู้ควบคุมโลกหลังพวงมาลัยเอาไว้ด้วยใจระทึก ปรากฏออกมาผ่านเขม่าควันจากการเบิร์นมิติความมัน ผ่านเส้นโค้งสีดำเข้มบนลานกว้างที่ฝากร่องรอยประดับไว้ กว่า 10 นาทีที่ผู้สังเกตการณ์ยืนดูอยู่ห่างๆ พร้อมกลั้นลมหายใจ เพื่อเซอร์เวย์เส้นทางก่อนเหยียบคันเร่งเข้าไปค้นทุกมิติความเป็นเธอ

“CHRISTY” ตัวหนังสือกราฟิกบ่งบอกความเป็นเจ้าของเอาไว้อย่างชัดเจน บนเครื่องยนต์เหล็ก 500 แรงม้า รุ่น “Cefiro A31” เครื่องร้อนคู่ใจ “คริสตี้หลุยส์ นามวงษ์” หญิงสาววัย 22 เจ้าของสมญานาม “นางฟ้าสนามดริฟต์”


เธอก้าวขาลงมาจากตัวรถ สาวเท้าอย่างสง่างามจนถึงคนที่ยืนอยู่อีกฝั่งในแววตาไร้ความกลัวความกังวล ทุกท่าทีที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ช่วยให้ยิ่งมั่นใจว่าบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างเราก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีดีแค่ราคาคุย แต่คือมุมมองผ่านประสบการณ์ของ “นักดริฟต์สาวหนึ่งเดียวในไทย” ตัวจริง!!

“คนจะดริฟต์ได้ ต้องใช้ความชำนาญบางอย่างที่มากกว่าเรื่องความเร็วค่ะ ถ้าเป็นสนามเซอร์กิต (Circuit: สนามแข่งทางตรง) จะเฉือนชนะกันได้ มันขึ้นอยู่กับเรื่องความเร็ว การชะลอเกียร์ และการเข้าโค้งให้เฉียบที่สุด เพื่อไม่ให้รถหลุดวงโคจรออกไปข้างนอก วัดกันที่ความเร็วในการเข้าโค้ง เน้นการขับแบบ out-in-out เพื่อจะได้ไม่ต้องคอยเหยียบเบรกให้เสียเวลา

แต่ถ้าเป็นการแข่งในสนามดริฟต์ (Drift: สนามแข่งทางโค้ง) มันจะวัดกันอีกแบบหนึ่ง เวลาดริฟต์ เราจะต้องใช้คลัตช์ ใช้เบรก แล้วก็ใช้เบรกมือตลอด คันเร่งก็ห้ามปล่อย ต้องทำทุกอย่างให้มันสัมพันธ์กัน ระหว่างที่ดริฟต์ มือเราจะเป็นระวิงเลยค่ะ เพราะต้องเปลี่ยนทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา แต่ความท้าทายของมันจะอยู่ตรงที่ว่า เราได้ควบคุมรถในระหว่างที่มันเสียอาการ รถมันเหมือนจะคอนโทรลไม่ได้ แต่เราดันพยายามเข้าไปคอนโทรลมัน มันมันตรงนี้แหละค่ะ


ขับๆ อยู่ เห็นกำแพงอยู่ข้างๆ ตรงนั้น จะดึงเบรกยังไงให้ตัวรถมันเบี่ยงออกไปแล้วไม่พุ่งเข้าชน ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีทักษะการดริฟต์ มันเป็นสิ่งที่ต้องฝึกจริงๆ ค่ะ ต้องแยกประสาททุกอย่างให้ได้ ต้องดูว่าโค้งหักศอกเราจะดริฟต์ยังไงให้รอดภายในครั้งเดียว ถ้าคนถนัดวิ่งทางตรงเน้นความเร็ว มาวิ่งทางแบบนี้ เจอโค้งหักศอกเข้าไปโดยไม่มีพื้นฐานการดริฟต์ ก็มีโอกาสที่จะพุ่งชนและพลาดได้มากเหมือนกัน

“สิงห์สาวสนามโค้ง” ส่งผ่านมุมมองบนลานแข่งด้วยสีหน้าและแววตาที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา ช่วยให้คู่สนทนาพอจะคาดเดาได้เองในที่สุดว่า อะไรที่ทำให้เหลือ “นักดริฟต์สาว” เพียงคนเดียวบนเส้นทางสายโค้งสุดเสี่ยงสายนี้ คงเพราะความยากในการวาดโค้งจากเบรกมือ ซึ่งมีคนใจเกินร้อยเพียงหยิบมือเท่านั้นที่จะทำมันออกมาได้ดี และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ โค้ชมือฉมังทั้ง 3 รายของเธอ... “เป้” และ “ปอนด์” จากทีม Injection และ “หนิง” จากทีม Speedway

“เขาเป็นแชมป์ประจำปีของประเทศไทยค่ะ ทั้งพี่เป้ พี่ปอนด์เลย เป็นแชมป์ทั้งการแข่งแบบดริฟต์ แล้วก็แบบเซอร์กิตด้วยค่ะ เพราะเขาไม่กลัวโค้งเลย เวลาแข่งสนามเซอร์กิต เขาก็ใช้ความชำนาญเรื่องดริฟต์เข้าไปปิดช่องโหว่ จนทำให้คว้าแชมป์ประจำปีมาหลายปีติดๆ กันแล้ว

พี่ปอนด์เป็นนักแข่งไทยคนเดียวที่ได้สิทธิให้ไปแข่งที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสนามมาตรฐาน เป็นต้นตำรับของการดริฟต์จริงๆ ส่วนพี่หนิงก็เคยได้แชมป์เหมือนกันค่ะ ถือว่าโชคดีมากๆ ที่ได้พี่ทั้ง 3 คนนี้สลับกันมาช่วยสอนเรา (ยิ้ม) แต่คริสตี้ยังไม่เคยมีโอกาสได้ลงสนามแข่งนะคะ ยังอยู่ในช่วงฝึกดริฟต์ให้ line ของตัวเองเด็ดขาดก่อน


หลังฝากรอยล้อฝึกหัดไว้บนสนามแข่งมาได้ปีกว่าๆ ทุกวันนี้คริสตี้สามารถดริฟต์โชว์ตามสถานที่ต่างๆ ได้แบบสบายๆ ทุกพื้นฐานการควงพวงมาลัยให้เป็นวงโดนัท หรือแม้แต่รูปเลข 8 เธอทำได้หมด

เกิดวันใดวันหนึ่ง ขับรถ ฝนตก แล้วเกิดถนนลื่นจนเสียการควบคุมขึ้นมา มั่นใจได้เลยว่าจะสามารถใช้การดริฟต์ช่วยเบรกและควบคุมสถานการณ์เสี่ยงเอาไว้ได้แน่นอน ส่วนเรื่องวาดลวดลายในฐานะมือดริฟต์นักแข่งนั้น คงอีกไม่นานเกินรอ ทุกวันนี้เจ้าตัวพยายามตามเก็บได้ทุกรายละเอียด ศึกษาทุกแง่มุม เตรียมตัวให้พร้อมเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว!!

สนามดริฟต์จะแข่งทีละ 2 คันค่ะ ต้องผลัดกันเป็น 'รถนำ' กับ 'รถตาม' ถ้าช่วงที่เราเป็นรถตาม เขาขับนำไปแล้ว รถที่ตามก็ต้องตามไปให้ชิดที่สุด แต่ก็ต้องรักษา line ของเราไปด้วย แล้วก็อย่าไปชนเขา ถ้าชนจะเสียคะแนน ส่วนรถที่นำก็มีหน้าที่วิ่งเก็บ 'เป็ก (aspect)' ไปเรื่อยๆ ตามมุมที่กรรมการกำหนดเอาไว้ว่าแบบไหนจะได้คะแนน

ในระหว่างที่แข่ง จะมีกล้องตัวจับเป็กอยู่รอบรถ คนแข่งต้องดริฟต์ให้ท้ายชิดกับมุมที่กำหนด ให้ได้มุมที่สวยที่สุด ถึงจะเรียกว่าเก็บเป็กให้ได้คะแนนสูงๆ เพราะฉะนั้น จะเข้าถึงเส้นชัยก่อนหรือหลัง ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ว่าขับช้าได้ เรายังต้องแข่งกับเวลาของคันหน้า ถ้าคันนำไปเร็ว เราก็ต้องเร็วตามเขา ถ้าเขาช้า เราก็ต้องช้าให้ได้ตามนั้น ที่สำคัญคือเราต้องควบคุมรถไม่ให้เสียอาการให้ได้!!

[จัดเต็ม!! คลิปโชว์ดริฟต์แบบ full line เต็มสตรีม!!]



เสน่ห์แห่งตัวโน้ต ครูสาวนักเปียโน

ด้วยเลือดนักเสี่ยงแห่งทางโค้งที่มีอยู่ในตัว เกือบชักพาเธอเข้าสู่การลงทะเบียนเรียนสายยานยนต์ไปแล้วในช่วงเลือกอนาคตในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ด้วยความอ่อนไหวในจังหวะตัวโน้ต ที่ซึมซับจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมายาวนานกว่า จึงช่วยดึงให้คริสตี้ตัดสินใจเลือกเรียนสายดนตรี สอบตรงเข้า ม.มหิดล คณะดุริยางคศิลป์ เอกเปียโน เดินตามเส้นทางที่คุณแม่โรยเอาไว้ให้ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ในที่สุด

“เหมือนเด็กธรรมดาทั่วไปเลยค่ะ พ่อแม่ส่งไปเรียนดนตรี ตอนแรกๆ ก็เรียนไปโดยที่ไม่ได้รู้สึกรักอะไรมาก แต่พอวันหนึ่ง ช่วงที่ขอหยุดเรียนลองไปทำอย่างอื่น ช่วงอายุประมาณ 7 ขวบ ถึงได้รู้สึกว่าอะไรบางอย่างมันขาดๆ หายๆ ไป กลายเป็นว่าเรื่องดนตรีมันซึมซับเข้ามาอยู่ในชีวิตของเราแล้ว ก็เลยขอคุณแม่กลับไปเรียนอีกครั้งหนึ่ง และหลังจากนั้นก็ไม่เคยคิดอยากเลิกเรียนเปียโนอีกเลย

[มีดนตรีในหัวใจมาตั้งแต่เด็ก]

พอช่วง ม.6 ปุ๊บ ก็เริ่มถามตัวเองว่าเราชอบอะไรกันแน่ เพื่อนๆ คนอื่นๆ เลือกเรียนบริหาร เรียนบัญชีกัน แต่ทางสายนั้น เรามองแล้วมันไม่ใช่ตัวเรา (ยิ้ม) เราน่าจะเหมาะกับสายดนตรีมากกว่า รู้สึกว่ามันใช่ตัวเราที่สุดแล้ว ก็เลยตัดสินใจพุ่งมาทางนี้เลย

ที่เลือกเรียนเครื่องดนตรีเอกเปียโน สาย sound engineer เพราะนอกจากจะอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องซาวนด์ดนตรีที่อยู่เบื้องหน้าแล้ว เราอยากรู้ให้ลึกไปกว่านั้น รู้ให้ครอบคลุมเรื่องการควบคุมพาร์ตดนตรีในงานโชว์-งานอัดด้วยค่ะ กว่างานชิ้นหนึ่งจะสำเร็จออกมาได้ มันต้องผ่านการกรองความคิด ความละเอียดอ่อนทุกอย่างออกมาหลากหลายมุมมาก เลยคิดว่าถ้าเราเลือกเรียนทางศาสตร์ดนตรีแล้ว เราก็น่าจะไปให้มันสุด ให้รู้ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

[จำลองการเป็น sound engineer ในฐานะนักศึกษา ม.มหิดล คณะดุริยางคศิลป์]

ถึงตอนนี้ บทบาทของคนมีดนตรีในหัวใจอย่างเธอ ไม่ได้สิ้นสุดลงในตำแหน่ง “ผู้เรียน” เท่านั้น แต่ยังใช้ความสามารถตรงนี้ หารายได้ส่งเส้นทางฝันให้ตัวเองในตำแหน่ง “ครูผู้สอน” ได้ด้วย สาวหน้าสวยยอมกระซิบบอกความลับเล็กๆ ให้ฟัง ถึงที่มาที่ไปในการเปิดสถาบันสอนดนตรี Louis Music Studio ของตัวเองขึ้นมาว่า มีแรงผลักมาจากต่อมความอยากในการดริฟต์รถนั่นเอง

“การดริฟต์รถ มันต้นทุนสูงค่ะ ต้องซื้อรถที่เอาไว้ใช้ดริฟต์โดยเฉพาะ ไหนจะค่ายาง ค่าอุปกรณ์แต่งรถหลายๆ อย่าง และการจะดริฟต์ได้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ ถ้าลองแล้วเกิดทำไม่ได้ เกิดเบื่อขึ้นมาทำยังไง ลงทุนไปแล้วเป็นแสน ยิ่งแต่งยิ่งปรับหลายอย่าง รวมๆ แล้วน่าจะหลักล้านได้ อย่างน้อยแค่เปลี่ยนยางเส้นเดียวก็เสียไม่ต่ำกว่า 5,000 แล้ว แต่มันก็จำเป็น เพื่อความแม่นยำในการควบคุมรถเวลาดริฟต์

ตอนนั้นคิดหนักเลยค่ะว่าจะพิสูจน์ตัวยังไงดี ให้ผู้ใหญ่เขาเห็นว่าเราอยากทำจริงๆ นะ บอกคุณแม่ว่าเราจะหาทางหาเงินมาช่วยสมทบทุนเรื่องรถด้วย ก็คิดถึงเปียโนเป็นอันดับแรกเลย (ยิ้ม) เราเล่นเปียโนได้ เราต้องถ่ายทอดได้แหละ ก็เลยเริ่มเป็นครูสอนเปียโนมาตั้งแต่ตอนนั้น


[อีกหนึ่งบทบาท "ครูสอนเปียโน"]
ตอนแรก ยังไม่ได้ตั้งเป็นสถาบันสอนดนตรีอย่างทุกวันนี้เลยค่ะ เริ่มจากให้เด็กมาเรียนกับเราที่บ้านแบบตัวต่อตัวก่อน ช่วงเรียนปี 1 ก็เริ่มแล้ว อาศัยคนใกล้ตัวนี่แหละค่ะชักชวนกันมา แจกใบปลิวในหมู่บ้านว่าเรารับสอนเปียโนนะ ไม่เคยคิดว่าจะทำอะไรใหญ่โตเลย เปิดสอนที่บ้านด้วยเปียโนเครื่องเดียว สอนคนเดียว แต่พอนักเรียนเริ่มเยอะขึ้น ก็ชวนเพื่อนที่มหิดลมาทำด้วยกันค่ะ แล้วก็ค่อยๆ ขยายจนเปิดเป็นสถาบัน

ให้ลองมองย้อนกลับไป ก่อนหน้าที่จะพุ่งมาเรื่องดริฟต์รถ ชีวิตเรายังไม่เคยมุ่งมั่นกับอะไรขนาดนี้มาก่อนเลย มันเหมือนเราค้นหาตัวเองเจอแล้วค่ะว่าต้องมาสายนี้ จากแต่ก่อนจะใช้วิธีลองทำไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยน แต่พอมาครั้งนี้ ครอบครัวเริ่มเห็นว่าเราจริงจังจริงๆ เขาเลยสนับสนุน ให้โอกาสเราได้ลองทำ”

ถึงจะได้ชื่อว่าเป็น “ครูสอนเปียโน” ให้เด็กๆ แต่จริงๆ แล้ว คริสตี้เล่นดนตรีได้หลากหลายกว่านั้น ทั้งกีตาร์และไวโอลิน แต่สองอย่างหลังเธอออกปากว่าแค่ “เล่นได้” ไม่ใช่ “เล่นเก่ง” อะไรมาก และไม่เคยหยิบไปเล่นโชว์ที่ไหน สิ่งที่เรียกว่าเป็นที่สุดของเครื่องดนตรีสำหรับคริสตี้ จึงมี “เปียโน” ครองอันดับหนึ่งในใจตลอดกาล


“ถ้าเทียบกับเพลงหนึ่งเพลง อาจจะมีเสียงประสานเสียงต่ำ, มีเสียงนักร้องร้องควบคู่กันไปเป็นเสียงเมโลดี้ พอท่อนโซโลก็จะมีเสียงกีตาร์ เบส กลอง เล่นระหว่างเข้าท่อนฮุก ซึ่งเสียงทั้งหมดนี้ สามารถแทนที่ได้ด้วยเปียโนตัวเดียว เล่นคนเดียวก็ทำได้ทั้งเดินเบส เล่นเสียงโมเลดี้ หรือแม้แต่โซโลเพลง

เปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่มีความเด่นอยู่ในตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้หนุนเครื่องดนตรีอื่นให้เด่นขึ้นมาได้ด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะจับคู่เปียโนกับกีตาร์ เปียโนกับเชลโล เปียโนกับไวโอลิน ฯลฯ เราสามารถใช้เปียโนเล่นเสริมทุกเครื่องดนตรีให้เกิดเสียงที่กลมกล่อม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นได้ คริสตี้ว่าตรงนี้แหละค่ะคือเสน่ห์ของเปียโน




ร่ายมนตร์บนรันเวย์ เทียบชั้นมืออาชีพ!!

อย่าบอกนะว่าที่ไปเป็น “นางแบบ” ก็เพราะอยากหาเงินมาแต่งรถสำหรับดริฟต์เหมือนกัน? คนถูกยิงคำถามได้แต่หัวเราะรับ แล้วตอบกลับผ่านมุมความเชื่อในฐานะคริสเตียนว่า “คงเป็นสิ่งที่พระเจ้าจัดวางเอาไว้ให้ค่ะ”

“ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะมาเป็นนางแบบเลย เรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในหัวมาก่อนเลย พอดีวันนั้นไปทานข้าวที่โรงอาหารใหญ่ของมหาวิทยาลัย วันเดียวกับที่เขามีบูทแบรนด์สินค้ามาตั้ง มีแคมเปญค้นหานางแบบหน้าใหม่ เราไปเข้าห้องน้ำ ออกมาเห็นหลังเพื่อนไปยืนกรอกใบสมัครอยู่ ก็เลยเดินเข้าไปดู เขาเลยเรียกเราไปกรอกใบสมัคร ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมากค่ะ เขาตื๊อให้กรอก เราก็กรอกแลกกับของรางวัลไป (หัวเราะ) คิดว่าเขาจะส่งเอกสารมาขายของตามประสา

ปรากฏว่าหลังจากนั้น 3 เดือน ช่วงเปิดเทอม 2 ตอนปี 1 พอดี เขาโทร.มาติดต่อให้เราไปออดิชัน เลยลองไปดู จะเป็นคนไม่ค่อยปิดโอกาสอะไรของตัวเอง มีอะไรเข้ามาก็อยากลองทำ ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นอะไร เพราะไม่ได้ซีเรียสตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ผลออกมาว่าเราได้เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย ก็ประกวดบนเวทีมาเรื่อยๆ จนได้รางวัลชนะเลิศมา ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่ได้เรียนเดินแบบอะไรเลย

โชคดีที่แคมเปญนี้ต้องเดินสายไปทั่วเอเชีย ตอนแรกเราก็ไม่รู้ค่ะ เขามาบอกทีหลังว่าเขาได้เก็บภาพระหว่างการประกวดเราทุกอย่างเอาไว้แล้ว ถ้าอยากจะประกวดต่อ จะส่งให้ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของรายการนี้เป็นคนตัดสิน ผลออกมาว่าเราได้ชนะเลิศของเอเชีย เขาเลยส่งไปเทรนที่นั่นแบบเต็มตัว แล้วชีวิตการเป็นนางแบบก็เริ่มมาจากตรงนั้นเลยค่ะ


[ก้าวใหญ่บนรันเวย์ ร่วมเทรนกับ “Storm” เอเจนซีระดับโลก]
ต้นสังกัดในต่างแดนที่ว่า คือ “Storm” บริษัท modeling agancy รายใหญ่ระดับโลก แห่งเดียวกับที่ดูแลนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง “Emma Watson” ทั้งยังมีชื่อเสียงถึงขนาดที่รายการเรียลิตีนางแบบ “Asia's Next Top Model” ขอเชิญให้เข้าร่วมตัดสินด้วย การก้าวไปเยือนกระทบไหล่นางแบบมืออาชีพตั้งแต่ก้าวแรกบนเส้นทางสายแคตวอล์ก จึงถือเป็นก้าวใหญ่ในการพัฒนาตัวเองของเธอเหมือนกัน

“รู้สึกว่ามันเป็นการท้าทายตัวเองดีค่ะ เพราะเรามองว่าเราไม่ใช่นางแบบมืออาชีพ ไม่เคยทำงานสายนี้มาก่อน แต่ถูกจับวางให้ไปอยู่ในที่ที่มีแต่ professional ที่ที่ทุกคนอยากไป อย่างรายการ 'Asia's Next Top Model' คนที่ชนะเท่านั้นที่จะได้ไปสตูดิโอของเขา แต่เราได้มาที่นี่โดยตรงเลย มันเลยเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมาก

ตอนไปเทรนอยู่ที่นั่น จะถามตากล้องตลอดว่าฉันต้องปรับยังไงบ้างไหม คุณบอกฉันตรงๆ เลยนะ รูปนี้คุณคิดว่าดีหรือยัง เขาก็จะแนะนำเรา เราก็จะปรับตามนั้นค่ะ เพราะการถ่ายแบบสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารกับช่างกล้อง เราอย่าไปสนใจเสียงคนในกองถ่ายมากเกินไป อาจจะมีคนมาบอกให้เชิดหน้าขึ้นอีกนิด ทำท่านู้นท่านี้ดีไหม แต่จริงๆ แล้ว คนที่เราต้องเชื่อมากที่สุดคือช่างภาพค่ะ เพราะเขาจะรู้ว่าทำยังไงให้ภาพมันออกมาดูดีที่สุด

[โมเดลลิ่งตะวันตก เลือกเธอเป็นนางแบบให้แบรนด์ดิออร์ เอเชียแปซิฟิก]

นักดริฟต์-นักเปียโน-นางแบบ... ถ้าให้เลือกเดินได้เพียงเส้นทางสายเดียว มิติไหนที่คิดว่าบ่งบอกตัวตนได้มากที่สุด? จากทั้งหมด 3 ตัวเลือก คริสตี้ตัดสินใจ “ไม่เลือก” พร้อมให้เหตุผลว่าเลือกไม่ได้จริงๆ เพราะทุกมิติที่เลือกทำ คือส่วนหนึ่งของชีวิตที่หลอมรวมให้กลายเป็นเธออย่างในวันนี้

สังเกตให้ดี ทั้ง 3 มิติในตัวเธอ ดูคล้ายจะมีจุดร่วมกันอยู่ นั่นก็คือพื้นฐานนิสัยเรื่องการควบคุม ทำอย่างไรจึงจะสามารถถ่ายทอดความเป็นตัวเองผ่าน การดริฟต์-การบรรเลง-การเดิน ให้ได้มากที่สุด

เรื่องดนตรี ถ้าเล่นตามโน้ตก็จะได้อย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราใส่อะไรที่มากไปกว่าการเล่นตามนั้น มันก็คือควบคุมตัวโน้ตให้เป็นไปในทิศทางที่เราอยากให้เป็น ส่วนเรื่องเดินแบบ มันก็คือการสื่อตัวตนทางศิลปะของเราออกมาอีกอย่างหนึ่งผ่านการ performance จะทำยังไงให้ดูแตกต่าง มันเหมือนเป็นการดึงเอาสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ออกมาให้คนเห็นว่ามันมีอยู่จริง
 

หรือแม้แต่การดริฟต์รถ เวลารถเสียอาการ ดูเหมือนเราจะควบคุมมันไม่ได้แล้ว แต่ทำยังไงให้ควบคุมมันให้ได้ และบังคับให้เป็นไปในทิศทางที่ใจเราอยากให้ไป และจริงๆ แล้วยังมีอีกมิตินะคะที่คริสตี้อยากลอง ตอนนี้อยู่ในช่วงการพูดคุยกัน มันคือมิติเรื่องการแสดงค่ะ

เธอยังไม่ยอมปริปากให้รายละเอียดว่า กำลังจะมีผลงานออกมาบนจอทีวีหรือจอภาพยนตร์ บอกไว้แต่เพียงว่าทุกมิติที่รวมเป็นคริสตี้ในวันนี้ ยังไม่ถึงที่สุด และยังมีประตูอีกหลายบานที่รอการค้นพบ...

“รู้สึกว่าทุกอย่างมันยังไปได้อีก ถ้าเราคิดว่าเราดีแล้ว เป็นมืออาชีพแล้ว ก็เท่ากับเราหยุดการเรียนรู้ของตัวเอง บนโลกนี้ยังมีมุมมองอีกหลายอย่างมากมาย ถ้าเราปิดตัวเองอยู่แค่นี้ เราก็จะเป็นได้แค่นี้ แต่ถ้าเราเปิดกว้าง รับความคิดของคนอื่นๆ ก็จะทำให้เราไปได้มากกว่านี้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องมีชื่อเสียงให้ได้มากกว่านี้นะคะ แต่หมายถึงโลกทัศน์ของเรา


ไม่ว่าจะเป็นนางแบบ นักเปียโน หรือนักดริฟต์ ทุกอย่างที่เราทำมันยังมีมุมมองมากกว่านั้น ก็เลยบอกไม่ได้ว่าทำไปถึงขั้นไหนที่จะเรียกว่าดีพอ อย่างเรื่องดนตรี เล่นมาตั้งแต่ 7 ขวบ ถามว่าเราดีแล้วหรือยัง ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองดีแล้ว หรืออย่างการเป็นนางแบบ ก็มีอีกหลายมุมที่สามารถเปิดโลกทัศน์ของเราได้ ยังมีประตูอีกหลายบานที่รอให้เราเข้าไปค้นหา

ทั้งหมดที่คริสตี้กำลังพยายามอยู่ ไม่ใช่เพราะอยากดังเลยค่ะ แต่แค่อยากเป็นที่ยอมรับในสิ่งที่ทำ เพราะคนเรามักจะไม่ค่อยเปิดหูรับฟังใคร ถ้าคนคนนั้นไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียง เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากมีอิทธิพลต่อความคิดของใคร เราจำเป็นต้องเป็นคนมีชื่อเสียง

การดังเพื่อตัวเอง ดังเพื่อเติมเต็มความภาคภูมิใจของพ่อแม่อย่างเดียว ถามว่าชีวิตมันคุ้มแล้วเหรอคะที่เกิดมา ทุกอย่างที่ทำคงกลายเป็นสิ่งไร้ค่าและเปล่าประโยชน์ไปหมดเลย ถ้าเรามีชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติเอาไว้เพื่อตัวเราเองอย่างเดียว


ถ้ามีคนหันมาสนใจฟังคริสตี้ สิ่งที่อยากจะสื่อสารออกไปมากที่สุดก็คือ ยังมีอีกหลายคนบนโลกนี้ค่ะที่ต้องการโอกาส ในพระคัมภีร์สอนเอาไว้ว่าให้เรารักคนอื่น เหมือนรักตัวเราเอง สิ่งใดที่เรามี คนก็แบ่งปันให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ แบ่งปันโอกาส แบ่งปันความรู้ให้แก่เขา คริสตี้ไม่อยากเป็นคนไร้ค่าเพราะใช้ชีวิตไปวันๆ เพื่อความสุขสบายของตัวเองอย่างเดียว

การประสบความสำเร็จในสายตาของคนทั่วไป อาจจะนึกถึงภาพการวิ่งเข้าสู่เส้นชัย แต่สำหรับคริสตี้ ความสำเร็จมันอยู่ในทุกก้าวที่เราเดินผ่านมา ทุกก้าวที่เราได้เรียนรู้ เราต้องผ่านอะไรมาบ้าง เกิดอะไรขึ้นกับคนรอบข้างเราบ้าง ไม่ว่าปลายทางที่เส้นชัยจะคืออะไร ขอแค่วันนี้เรามีความสุขบนเส้นทางที่เลือกแล้ว แค่นั้นมันก็คือความสำเร็จระหว่างทางสำหรับคริสตี้แล้วค่ะ


[เร้าอารมณ์!! โชว์ดริฟต์สดๆ พิสูจน์องศาร้อน!!]


[นางฟ้าสนามดริฟต์ โชว์บทบาทนักเปียโน ]


หนูน้อยเกียร์กระปุก จุดเริ่มต้นเซียนนักดริฟต์

ที่บ้านให้หัดขับรถตั้งแต่ 7 ขวบแล้วค่ะ (ยิ้ม) เผื่อเกิดเรื่องฉุกเฉินขึ้นมา ถ้ามีรถ มีกุญแจทุกอย่าง แต่เราเอาออกไปไม่ได้ มันก็จะเปล่าประโยชน์มาก ที่บ้านก็เลยฝึกให้เราหัดช่วยเหลือตัวเองและคนอื่นให้ได้มาตั้งแต่ตอนนั้น

รถคันแรกที่ได้ลองคือขับรถกระบะเกียร์กระปุกค่ะ เริ่มจากขับรอบเล็กๆ ในหมู่บ้าน ทั้งๆ ที่ขาเรายังไม่ถึงนี่แหละ ต้องเอาเบาะมาซ้อน ใช้หมอนรองหลังไว้หลายๆ ชั้น ไม่ให้ตัวไหลลงไปในเบาะ ทุลักทุเลนิดหน่อย

ด้วยความที่เราเป็นเด็กตัวสูงกว่าเพื่อนๆ มาแต่ไหนแต่ไร และก่อนหน้าที่เขาจะให้หัดขับ อาๆ เขาจะให้เรานั่งเบาะหน้า ฝั่งข้างคนขับตลอด หัดให้เราใส่เกียร์ให้เขาจนเราชิน แล้วพอเรามาขับเอง เขาก็ไม่ได้ปล่อยค่ะ นั่งประกบช่วยสอนตลอด เรื่องขับรถก็เลยไม่ใช่เรื่องยากอะไรมากสำหรับเรา


แต่จุดที่ทำให้รู้สึกว่าเราต้องดริฟต์ให้ได้ มันมาจากตอนเด็กๆ ค่ะ ชอบดูหนังรถแข่งมาแต่ไหนแต่ไร เป็น big fan ของหนังเรื่อง '2 Fast 2 Furious' เลยนะ ดูทุกภาคเลยค่ะ (ยิ้ม) ตอนรู้ข่าว 'Paul Walker' ตาย เสียใจมาก ตอนจบที่มีเพลงขึ้นไว้อาลัยเขา หนูร้องไห้เลยค่ะ อินมาก ดูมาตั้งแต่ภาคแรก จนมาระเบิดประมาณภาคที่ 4 นี่แหละค่ะ (หัวเราะ) รู้สึกว่ารอไม่ได้แล้ว ต้องดริฟต์แล้ว!!

หลายคนถามว่า ทำไมไม่รอเรียนให้จบก่อนแล้วค่อยไปลองเรื่องดริฟต์ เพราะตอนนั้นก็ถือว่าเราเริ่มตอนอายุน้อยเหมือนกันค่ะ พอจะเป็นที่รู้จักก็ประมาณ 19 กำลังจะ 20 เอง หนูแค่มองว่ามันคือ passion ของเราในช่วงเวลานั้นค่ะ ถ้ารอหลังจากนั้นอีกสัก 5 ปีค่อยมาคิดใหม่ ความรู้สึก มุมมองหลายๆ อย่างในชีวิตเรา มันจะไม่เหมือนตอนนั้นแล้ว

ต้องคุยกับครอบครัวอยู่นานมากเหมือนกันค่ะ เป็นปีๆ เลยกว่าจะได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่ ต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราดูแลตัวเองได้ และเราก็รักที่จะทำมันจริงๆ



ตามหา “หัวใจคริสเตียน”

ผู้ชายที่เราจะชอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรี เป็นนายแบบ หรือต้องเป็นนักดริฟต์เหมือนกันก็ได้ค่ะ ขออย่างเดียวก็พอค่ะ ขอให้เขาคนนั้นมี 'หัวใจเป็นคริสเตียน' เพราะเรามองว่าเรื่องนี้มันอยู่ในชีวิตเรา มองว่าทุกอย่างคือการแสดงความรักผ่านทางการกระทำ

คำว่าคริสเตียนของคริสตี้ ไม่ใช่คนที่นับถือคริสต์ตามใบทะเบียนบ้านนะคะ แต่เป็นคนที่รู้จักการให้มาจากข้างใน รู้จักการอยู่เพื่อคนอื่น แค่มีตรงนี้อย่างเดียวก็ไปด้วยกันได้แล้วค่ะ แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เจอนะ



[ขอบคณสถานที่: สนามแข่งรถปทุมธานี สปีดเวย์]


[จัดเต็ม!! คลิปโชว์ดริฟต์แบบ full line เต็มสตรีม!!]




สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่องและคลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: สันติ เต๊ะเปีย
ขอบคุณภาพบางส่วน: เฟซบุ๊ก "Christy Louis"

ขอบคุณสถานที่: สนามแข่งรถปทุมธานี สปีดเวย์




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น