หลังจากเกิดกระแสดรามาจากเอ็มวี “เที่ยวไทยมีเฮ” ไปไม่นานมานี้ เชื่อว่าหลายคนอยากรู้จักนักแสดงหนุ่มผู้อยู่ภายใต้หัวโขน ซึ่งรับบทเป็น “ทศกัณฐ์” ราชาแห่งยักษ์ ผู้โดดเด่นในหลายฉาก สร้างความประทับใจให้หลายคนยิ่งนัก ทว่ายิ่งปลื้มหนักเมื่อเขาเผยโฉมหน้าที่แท้จริง
เขาคือ ฟิล์ม - ณรงค์ฤทธิ์ เพชรจรัส หนุ่มใต้วัย 28 ปี ผู้มีใจรักนาฏศิลป์มาตั้งแต่เด็ก หนึ่งในสมาชิกคณะเพชรจรัสแสง ผู้นำทำหน้าที่ถ่ายทอดสืบสานวัฒนธรรมไทยผ่านศิลปะการแสดงนั่นเอง
ชีวิตนักเรียนนาฏศิลป์
คุณอา ผู้ผลักดันให้เขาสนใจในศาสตร์นาฏศิลป์ จึงทำให้เขาอยากจะเป็นผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยตั้งแต่แรกเห็น
"ผมเป็นคนชุมพร ขึ้นมาเรียนกรุงเทพฯ ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ตั้งแต่อายุ 13 เพราะคุณอาทำงานอยู่ที่กรมศิลปากร จึงชวนมาเรียนนาฏศิลป์ตั้งแต่ ม.1ก่อนเข้าเรียนคุณอาพาไปดูการเรียนของนาฏศิลป์ช่วงซัมเมอร์ ก็พาเราไปดู เราก็รู้สึกว่าชอบโขนละคร เราอยากเรียนแบบนี้ สาเหตุที่ชอบเพราะเห็นคุณอา อยู่กรมศิลปากร ท่านรำมาตลอด ออกทีวี เห็นคุณอาคลุกคลีทำการแสดงบนโรงละครแห่งชาติ เลยรู้สึกว่าน่าสนใจ อยากเรียน
เมื่อได้เข้าเรียนนาฎศิลป์จากนั้นคุณครูจะมาเลือกจากหน่วยก้านว่า หน้าตาแบบนี้ สูงแบบนี้ จะเป็นตัวอะไร หากใครตัวใหญ่หน่อยก็จะได้เรียนตัวยักษ์ หากใครตัวเล็ก จะเป็นตัวลิง ส่วนผมได้เรียนตัวพระ คือพระราม พระลักษณ์ ก็เรียนตัวพระมาตลอด 10 ปี”
เมื่อเขาเล่าย้อนไปช่วงที่เริ่มเรียน การเรียนโขนในวัยเด็กนั้น ค่อนข้างจะต้องฝึกฝนอย่างหนัก มีความอดทน
“ช่วงประมาณ ม.1-ม.2 ผมร้องไห้เลยนะ อยากจะลาออก บอกคุณอาตลอดว่าอยากจะลาออก เพราะเจ็บมือจากการดัดมือ วันแรกเด็กทุกคนร้องลั่นห้อง ต้องดัดมือให้ไปถึงข้อมือเลย เพราะตอนเด็กมือทุกคนจะอ่อน ทำทุกวันก็จะสามารถดัดได้ แต่ตอนแรกเจ็บชนิดที่ว่า หลายคนลาออกจากการดัดมือ ดัดขา ถีบเหลี่ยม เพราะต้องใช้ความอดทนล้วนๆ ถ้าใครที่ไม่มีความอดทนจริงๆก็จะไม่ไหว ลาออกกันไปเยอะแยะ
ในการเรียนก็มีทั้งความเหนื่อย สนุก สักพักพอเรียนไปเราก็ได้มีโอกาสออกงาน รวมทีม ซ้อม ไปแสดง ทำให้มีรายได้ เรียนไปทำงานไป แต่ไม่เสียการเรียน ผมมีรายได้ตั้งแต่อยู่ชั้น ม.3 - ม.4 แล้ว และผมก็ช่วยคุณอาออกค่าเล่าเรียนเอง เงินใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเริ่มมีงานแสดงตามร้านอาหารไปรำตอนกลางคืนแบบประจำ รายได้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 120-150 ต่อวัน ส่วนงานที่เป็นจ็อบๆ ไม่ประจำรายได้ก็อยู่ที่ 1,000-1,500 บาทต่องาน
ครั้นจบมัธยมเขาจึงเรียนต่อปริญญาตรีในสายศิลปินที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เพราะตั้งใจจะเอาดีด้านศิลปินให้ถึงที่สุด
“ปริญญาตรีผมเรียนที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จะมีให้เลือก 2 สาย คือ ศิลปนาฏดุริยางค์ หรือ สายศิลปิน เรียน 4 ปี กับศิลปศึกษา หรือ สายครู เรียน 5 ปี
ส่วนคณะที่ผมเรียน คือคณะศิลปิน คนจะเรียนกันน้อย รุ่นผมที่จบมาก็มี 21 คน เพราะส่วนใหญ่คิดว่า เรียนไปจะทำงานอะไร ไปหางานอะไรทำ พ่อแม่ ผู้ใหญ่บางคนอาจจะคิดอย่างนั้น แต่หากเป็นคณะสายครู คนจะเรียนเยอะ 200-300 คน มากกว่าคณะศิลปิน 3-4 เท่าเลย
ผมเลือกเรียนสายศิลปิน เพราะชอบด้านการแสดง ได้ทั้งรำ เต้น ร้อง แอคติ้งการแสดง ได้หลายศาสตร์เลย หากใครเรียนจบแล้วไปเป็นศิลปินอิสระแบบผม ก็ทำงานด้านการแสดงต่างๆ”
ผงาด!ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์
เมื่อความสามารถเริ่มมากขึ้นจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาจนมีรุ่นพี่เรียกไปร่วมทีมเพื่อประกวด ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ (Thailand's Got Talent) ซีซั่นแรก “ทีมคิดบวกสิปป์” และ “ทีมบางกรวย” ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ซีซั่น 6
“ผมเคยร่วมทีมคิดบวกสิปป์ เป็นการแสดงนาฏลีลาผ่านละครเงา ในไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ซีซันแรก ได้ฟอร์มทีมกับพวกพี่ๆแล้วก็แข่งกัน มีกระแสดีอยู่เหมือนกัน จากนั้นก็ต่างคนต่างแยกย้ายไปทำงาน
ล่าสุด ผมมาอยู่ทีม “เพชรจรัสแสง” ซึ่ง ทีมเพชรจรัสแสง จะเน้นการแสดงแบบไทยๆ ร่วมสมัย โชว์กลอง เต้นผสมรำ
ซึ่งก็คือศาสตร์ที่ผมเรียนมา ในทีมมีประมาณ 20 คน ทุกคนก็จะเก่งกันคนละ ไม่นานนักพี่เขาก็เลยชวนมาลงไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ซีซัน 6 ในปีนี้ โดยใช้ชื่อว่า ทีมบางกรวย ซึ่งได้ โกลด์ บัซเซอร์ (Gold Buzzer) จากพี่กาละแมร์ แต่ก็ไปตกรอบในรอบ Semi-Final ก็มีกระแสตอบรับดีมากในโลกโซเชียล เพราะทีมบางกรวยได้โกลด์บัซเซอร์ 2 ปีซ้อน คือปีที่แล้ว กับปีนี้ ซึ่งปีแรกผมยังไม่ได้ลง คนก็ติดตามทีมบางกรวยกันเยอะมาก”
เจตนาดี คิดดี…ดรามาเอ็มวียักษ์เที่ยวไทย
มาถึงเรื่องราวดรามาที่หลายคนอยากรู้ เพราะตัวเขาได้รับบทบาทเป็น”ทศกัณฐ์” ในมิวสิกวิดีโอ “เที่ยวไทยมีเฮ” ของ ททท. ทว่ามีฉากที่ทศกัณฐ์ต้องทำกิจกรรมไม่เหมาะสม เช่น หยอดขนมครก, ขับโกคาร์ท, เซลฟี่, ขี่บั้งไฟ , นั่งสปีดโบ้ท จนทำให้ผู้ที่คร่ำหวอดในแวงวงวัฒนธรรมไทยไม่ปลื้ม! เพราะทศกัณฐ์ เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง เพราะเป็นตัวละครในวรรณคดีที่สง่างาม น่าเกรงขาม จึงต้องหั่นฉากเหล่านี้ออกจากเอ็มวี
“สำหรับงานเอ็มวี เที่ยวไทยมีเฮ ในบทบาททศกัณฐ์ ตัวยักษ์ผมยังไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่นเท่าไหร่ เพราะผมเรียนตัวพระมา คือเรียนพื้นฐานมาเหมือนกัน พระ ยักษ์ ลิง ก็ต้องได้ทักษะ เพราะเรียนมาเกี่ยวกับโขน จะสอนในเรื่องออกท่าออกทางในลักษณะที่คล้ายๆกัน แต่ก็มีการทวนท่า การรำยักษ์ก็มีพื้นฐานเดียวกับตัวพระ แตกต่างกันเรื่องความอ่อนช้อยกับความแข็งแรง ไหล่จะต้องใหญ่ สง่างาม แต่ตัวพระจะอ่อนช้อย สวยงาม ต้องปรับพื้นฐานตรงนี้ เขาย้ำว่า สิ่งที่ทำไปมีเจตนาดี
ไปทำถ่ายทำประมาณ 4 จังหวัดครับ 8 วัน ส่วนจังหวัดอื่นผมไม่ว่าง ก็เป็นพี่เขาไปแทน นั่นเท่ากับว่า ทศกัณฐ์ที่ปรากฏในเอ็มวีไม่ใช่ฟิล์มคนเดียวทั้งหมด แต่หลักๆเป็นฟิล์มซะส่วนใหญ่ เพราะบางคิวก็ไม่ว่าง ส่วนฉากที่ดรามาส่วนใหญ่ก็คือฉากที่ผมแสดงหมดเลย คนที่ให้แสดงก็คือผู้กำกับ และผู้คิดโปรเจ็กต์
ทุกครั้งในการถ่ายทำผมก็จะไหว้ ขอขมาครูบาอาจารย์ทุกครั้ง เพราะผมคิดว่ามันเป็นงานชิ้นหนึ่งที่เราได้รับมอบหมายที่จะต้องทำ แต่ทีนี้ผมอาจจะมีไขว้เขวลืมนึกไปในเรื่องตรงนั้น เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ทุกอย่างที่ผมทำไปคือคิดดี เจตนาดี แค่นั้นเอง แต่สุดท้ายก็จบออกมาด้วยดี ให้ตัดบางฉากที่เป็นดรามาออกหมดเลย ซึ่งก็ปรับแก้เรียบร้อยแล้ว ผมยอมรับคำติชม ยินดีที่มีการปรับเปลี่ยน เราน้อมรับตรงนี้”
โขน…เป็นของมีครู
จริงๆแล้วโขนเป็นของมีครู ใช่เลยครับ ทุกคนก็คิดแบบนั้น แต่ตอนนั้นผมก็คิดว่า เป็นการหยิบตัวละครเพื่อมาโปรโมตการท่องเที่ยว ทางผู้กำกับ และผู้คิดโปรเจ็กซ์ เขาก็บอกตลอดว่าเราคิดดี ทำดีนะ เราหยิบตัวละครมาให้ออกมาโลดแล่นบนเอ็มวี เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวในประเทศไทย เพราะตอนนั้นคนเที่ยวเมืองไทยน้อยลง เพราะซบเซาจากระเบิดทางภาคใต้ จึงอยากจะดึงคนออกมาให้สนใจการเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น ให้ออกมาเที่ยวกันเถอะ เพราะตอนนี้ไม่มีระเบิดแล้ว แค่นั้นเอง
เรื่องเล่าก็เคยได้ยินว่า ห้ามข้ามหัวโขน เครื่องแสดงห้ามข้าม ไม่งั้นจะจุก ต้องเดินหลบ เพราะทุกอย่างเป็นของมีครูหมดเลย เวลาวางหัวโขนก็อย่าวางใกล้กัน ยักษ์กับลิง อย่าวางใกล้กัน เวลาแสดงก็ห้ามตายบนเวที ห้ามล้ม เป็นบทที่ต้องตาย ไม่ได้ ตายได้แต่ต้องฟื้นขึ้นมาเพื่อเข้าโรง ตายบนเวทีเลยไม่ได้
และเรื่องยอดบนหัว หากบนชฎาหัก หรือหลุดลงบนเวที ก็ต้องรีบไปทำบุญเช้าวันรุ่งขึ้น ต้องรีบไปขอขมาครู หากหลุดจริงเข้ามาหลังเวทีครูที่เป็นผู้ใหญ่เขาก็จะสวดไหว้ และเสียบให้เหมือนเดิม เวลาก่อนแสดงก็นึกถึงครู ไหว้ขอขมาครู และพูดถึงสิ่งดีๆว่าขอแสดงให้ประสบผลสำเร็จ ไม่มีอุปสรรคใดๆ”
บทบาทครู ผู้สืบทอด สืบสาน สร้างสรรค์
ทว่านอกจากด้านการแสดงที่เขาชอบแล้ว ยังการมีการ “ถ่ายรูป” ที่เขาโปรดปราน ว่างเมื่อไหร่เป็นต้องจับกล้องหยิบเลนส์ ออกท่องเที่ยว นอกจากนี้ เขายังชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก มีความใฝ่ฝันจะไปประกวดเดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว อีกด้วย
“ มีความชอบการถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อเปิดร้านถ่ายรูป เลยตั้งชื่อผมว่า "ฟิล์ม" ตอนเด็กๆ ก็จะเป็นนายแบบตลอด เพราะคุณพ่อเป็นช่างถ่ายรูป จึงซึมซับมาตั้งแต่เด็ก โตมาก็ฝึกฝนจากคนเล่นกล้องบ้าง เคยไปถ่ายรูปรับปริญญาให้รุ่นน้อง พรีเวดดิ้งก็เคย ถ่ายให้เพื่อนสนิท ถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ผมชอบท่องเที่ยวมาก ชอบธรรมชาติทางภาคเหนือ รักภูเขา น้ำตก ชอบอากาศเย็น”
สำหรับเคล็ดลับหุ่นฟิตนั้น เขาบอกว่าด้วยว่า เวลาทำงานการแสดงก็เหมือนได้ออกกำลังกายไปในตัวอยู่แล้ว เหงื่อออก ช่วยเผาผลาญ เพราะเวลารำต้องใช้ทุกส่วนของร่างกายหมดเลย นั่นเท่ากับว่า ทำงานไปด้วยออกกำลังกายไปในตัวด้วยเลย
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากงานการแสดงถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทยที่เขาทำอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เวลาว่างเขาก็ทำหน้าที่เป็นครูสอนรำให้กับน้องๆ ผู้มีใจรักนาฏศิลป์เช่นกัน
“ เป็นครูพาร์ตไทม์สอนเด็กและวัยรุ่น ที่เขามีใจรักทางด้านนี้ รับสอนตามบ้าน และตามสถาบัน โรงเรียน เด็กที่เรียนเขาก็ตั้งใจเรียน เป็นเรื่องดีเพราะตอนนี้คนเรียนนาฏศิลป์ค่อนข้างเยอะ
ผมรักศาสตร์นาฏศิลป์ และการแสดง สำหรับใครยังทำงานตรงนี้อยู่ ผมว่าก็เป็นการดีที่เราได้สืบสาน อนุรักษ์ และสร้างสรรค์ ต่อยอดให้รุ่นลูกรุ่นหลาน
“นาฏศิลป์ทำให้ผมมีวันนี้ มีทั้งงาน ประสบการณ์ วิชาติดตัว และได้ทั้งมารยาท การเข้าสังคม ได้ทุกอย่าง”
ประวัติ
ชื่อ-นามสกุล ณรงค์ฤทธิ์ เพชรจรัส
ชื่อเล่น ฟิล์ม
เกิด 29 มิถนายน 2531
อายุ 28 ปี
การศึกษา ระดับมัธยม วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรุงเทพฯ
ระดับปริญญาตรี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
ผลงานสุดภูมิใจ แสดงโขนพระราชทานชุดนางลอย
สัมภาษณ์โดยผู้จัดการ Lite
เรื่อง สวิชญา ชมพูพัชร
ภาพ พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร และขอบคุณภาพบาวส่วนจาก เฟซบุ๊ก ฟิล์ม เพชรจรัส
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754