ขอแสดงความเสีย ใจกับ.....!!!!!
เปล่า ไม่ได้จะแสดงความเสียใจกับคนที่ไม่ได้ไปต่อ แต่จะขอแสดงความเสียใจกับบรรดาแฟนนานุแฟน ที่ (อาจ) จะไม่มีโอกาสได้ดูรายการประกวดร้องเพลงยอดนิยม อย่าง The Star ค้นฟ้าคว้าดาว อีกต่อไป เพราะมีคำยืนยันจากปากคำของ “คุณหนูบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ” ว่าจะหยุดผลิตรายการนี้ไปอย่างไม่มีกำหนด นั่นหมายถึงตำนานของ The Star มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดไว้เพียงปีที่ 12
"ปีหน้าจะยังไม่มีแพลนที่จะมีรายการ The Star เราจะหยุดไปสักพักหนึ่ง ด้วยรูปแบบของรายการมันถูกกำหนดไว้ และมีการคาดหวังอะไรที่ไม่ได้ตรงกับความชอบของคนดูในปัจจุบัน เอาเป็นว่าปีหน้าไม่มี The Star แต่ไม่ได้บอกว่าจะหยุดไปเลย เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป อาจจะกลับมาอีกก็ได้ เราไม่ได้ทิ้งไปไหน แต่จะมีการประกวดร้องเพลงแบบอื่นที่แตกต่างกันออกไป อย่าง “หาคู่ดูเอท” รายการประกวดร้องเพลงรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้เห็นแค่ผู้สมัครร้องเพลงกัน แต่จะเห็นผู้สมัครมาร้องเพลงกับศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้ว"
เอาเข้าจริงๆ ความพยายามในการเปลี่ยนรูปแบบของ The Star ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลยทีเดียว โดยเฉพาะการเปลี่ยนคอมเมนเตเตอร์แบบยกเซ็ตในปีที่ผ่านมา จากที่ใช้บริการของ ม้า-อรนภา กฤษฎี , เพชร มาร์ และ โจ้-สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา มาตลอด 11 ซีซัน เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น ลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม , อ๊อฟ-ปองศักดิ์ รัตนพงษ์ และป๋าเต๊ด-ยุทธนา บุญอ้อม แต่กลายเป็นว่าเพิ่งได้สำแดงฝีมือเพียงปีเดียว รายการก็จะลาจอไปเสียแล้ว
ว่ากันตามตรง 12 ปีของรายการประกวดร้องเพลงในรูปแบบของเรียลิตี้ อย่าง The Star ก็ถือว่ายาวนานมากแล้ว ถ้าเทียบกับรายการอื่นๆ ที่ผุดเข้าผุดออก เรียกว่าเป็น 1 ใน 2 รายการที่เปิดหัวแหวนรายการเรียลิตี้ที่โด่งดังในบ้านเรา โดยมีเวทีคู่แข่งที่ถือกำเนิดมาในยุคเดียวกัน คือ True Academy Fantasia
แต่ถ้าสังเกตดูให้ดี จะเห็นว่ารายการ The Star ไม่ได้เน้นโปรโมตเรื่องเงินรางวัล หรือของรางวัลสำหรับคนที่ได้เป็นแชมป์ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าเงินรางวัล หรือของรางวัล ก็คือ “ปลายทาง” ของการประกวด
The Star ได้เปรียบ AF. และรายการประกวดร้องเพลงเวทีอื่นๆ ตรงที่มีค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และเอ็กแซ็กท์เป็นแบ็ค นั่นจึงเป็นสิ่งเย้ายวนใจให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาประกวดที่เวทีนี้เนืองแน่นทุกปี เพราะต่างก็รู้ดีว่ามีเป้าหมายของการได้เป็นศิลปินค่ายยักษ์ใหญ่อย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่รออยู่
แน่นอนว่าในขวบปีแรกๆ ผู้เข้าประกวดอาจจะคาดหวังในการเป็นศิลปิน มีผลงานเพลงเป็นของตัวเอง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป กระแสเพลงเริ่มเสื่อมความนิยมลง เป้าหมายของผู้เข้าประกวดก็อาจจะเบี่ยงเบนไป คือต่อให้ไม่ต้องเป็นนักร้อง เป็นศิลปิน ก็มีสิทธิได้เป็นนักแสดง อย่างน้อยที่สุดก็ซิตคอมของต้นสังกัด ในขณะที่เวทีอื่น ประกวดเสร็จ ได้แชมป์เสร็จ ก็ไม่มีหนทางไปต่อ หรือต่อให้ได้มีผลงานเพลง แต่ถ้าไร้ช่องทางในการโปรโมต หนทางการแจ้งเกิดก็ริบหรี่อยู่ดี
ในส่วนของรายการเอง ก็ดูเหมือนว่าจะปรับเปลี่ยนรสนิยมการคัดเลือกแชมป์เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย จากในขวบปีแรกๆ ที่เน้นย้ำในเรื่องคุณภาพเสียงเป็นหลัก แต่ในยุคต่อๆ มา สังเกตได้ว่า จะเลือกจากคนที่พินิจพิจารณาแล้วว่า สามารถหยิบจับมาใช้งานได้หลากหลาย นำไปต่อยอดธุรกิจได้ มีความสามารถครบวงจร โดยเรื่องคุณภาพการร้องเพลง อาจจะกลายเป็นประเด็นรองไป ซึ่งบรรดา The Star ที่โด่งดัง และรู้จักอย่างแพร่หลาย ก็ล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติที่สามารถทำอะไรได้มากกว่าหนึ่งอย่าง คือร้องเพลงได้ เล่นละครทีวี ละครเวทีได้ เป็นพิธีกรได้ โดยที่บางคนอาจจะไม่ได้เป็นแชมป์ประจำซีซันนั้นๆ ด้วยซ้ำ
ถ้าไม่เชื่อ ก็ลองไล่เรียงดูผู้เข้าประกวดในแต่ละปี แล้วก็รู้ว่าจะมีคนที่ถูกเรียกมาใช้งานไม่กี่คน ในขณะที่อีกหลายคนต้องตกที่นั่งเป็น The Star ที่ถูกลืม
และถ้าจะขอจัดอันดับ The Star ที่มีผลงานต่อเนื่อง และสร้างชื่อเสียงอยู่ในวงการอย่างยั่งยืน 5 อันดับแรก ก็คงไล่เรียงได้ ดังนี้
1.“บี้-สุกฤษฎิ วิเศษแก้ว” จาก The Star ซีซัน 3 (2549) เรียกว่าเป็นความภาคภูมิใจของเวที The Star ที่มีผลงานแทบจะทุกแขนง ทั้งในฐานะศิลปิน และในฐานะนักแสดง ทั้งละครทีวี และละครเวที รวมถึงกวาดรางวัลจากทุกสถาบันมานับไม่ถ้วน ซึ่งนอกจากจะโด่งดังที่สุดในรุ่น แม้ว่าจะไม่ได้เป็นแชมป์ (แชมป์ประจำซีซัน คือ”อาร์-อาณัตพล ศิริชุมแสง”) แล้ว ยังนับว่าโด่งดังที่สุดในบรรดา The Star ทั้ง 12 ปีด้วย
2.“นิว-จิ๋ว” (นภัสสร ภูธรใจ และปิยนุช เสือจงพรู) จาก The Star ซีซัน 1 (2546) ซึ่งในอัลบั้มชุดแรก ยังนับว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ทั้งคู่ก็กัดฟันสู้ กระทั่งกลายเป็นดีว่าคู่ดูโอที่ครองความนิยมมายาวนาน มีผลงานเพลงที่ได้รับความนิยมมากมาย อาทิ คนเจ้าน้ำตา ,อย่าเอาความเหงามาลงที่ฉัน ,รอแล้วได้อะไร ,ไม่รัก ไม่ต้อง ,ฉันก็รักของฉัน (เพลงประกอบละคร “สามีตีตรา”) ฯลฯ
3.“โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์” จาก The Star ซีซัน 6 (2553) เป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่ได้มีรางวัลแชมป์การันตี แต่ก็โด่งดังด้วยคาแรกเตอร์สไตล์ร็อกๆ แมนๆ เท่ๆ (ในแนวทางเดียวกับ “หนุ่ย-อำพล ลำพูน”) แต่ดูเหมือนจะโด่งดังในเรื่องข่าว มากกว่าที่คนจะจดจำเรื่องผลงาน
4.“กัน-นภัทร อินทร์ใจเอื้อ” แชมป์ The Star ซีซัน 6 ปีเดียวกับโตโน่ นำโด่งมาด้วยคุณภาพของเสียงร้อง และบุคลิกภาพที่ดูเหมือนจะนิ่มๆ สุภาพเรียบร้อยในตอนแรกๆ แต่เมื่อเจนเวที ก็เห็นได้ชัดว่า แอบมีลูกบ้าอยู่ในตัวไม่น้อยเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากบทบาทของการเป็นหนึ่งในพิธีกรรายการ “4 โพดำ”
5.“แก้ม- วิชญาณี เปียกลิ่น” แชมป์ The Star ซีซัน 4 (2551) สร้างปรากฏการณ์ในฐานะที่เป็น The Star หญิงคนแรก มาในสายของดีว่า ที่พลังเสียงไม่เป็นสองรองใคร แต่ก็ไม่ได้มีดีเฉพาะร้องเพลง ยังเล่นละคร และเป็นพิธีกรได้ แถมมีลูกบ้าไม่แพ้กัน-นภัทร คือกล้าเล่นตลกบนเวทีแบบไม่ห่วงสวย ไม่แคร์ตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม การประกาศยุติการผลิตรายการ The Star นั้น อาจจะมีเหตุปัจจัยว่ารายการในยุตหลังๆ เริ่มแน่นิ่ง (แม้จะพยายามเปลี่ยนตัวคอมเมนเตเตอร์แล้วก็ตาม) อาจจะด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งการมีคู่แข่งในหลายๆ เวทีเพิ่มขึ้น ทั้งการย้ายช่องจากโมเดิร์นไนน์ ทีวี มาออนแอร์ที่ช่อง One ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นช่องที่ยังไม่แข็งแรงมากพอ ถ้าเทียบกับช่องเดิมที่อย่างน้อยก็เป็นฟรีทีวี ที่มีภาษีสูงกว่า เข้าใจว่าเอ็กแซ็กท์ก็ต้องการจะใช้ฐานคนดูเดิม จากคอนเทนต์ที่ขายได้ มาเปิดตลาดให้ช่องของตัวเอง โดยอาจจะลืมนึกไปว่า ของที่ดียังไง แพคเกจเลอเลิศขนาดไหน ถ้าไปขายในตลาดที่เปิดใหม่ ก็อาจจะขายยาก
และอาจจะเป็นด้วยในระยะหลัง The Star หลายคนเริ่มมีข่าวคราวในทางเสื่อมเสีย บ้างก็ควบคุมความประพฤติยาก ทำให้ความขลังของเวทีลดน้อยถอยลง นามสกุล The Star ที่ถูกเรียกต่อท้ายชื่อ เริ่มไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนก่อน อาจจะถึงเวลาต้องสังคายนาอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อล้างบางนามสกุลเดิมให้สิ้นซาก แล้วสร้างนามสกุลใหม่เสียที
เพราะคงเล็งเห็นแล้วว่า เปิดรายการใหม่เลย น่าจะง่ายกว่าการ Re-Branding รายการเดิม !!
**********
ข่าวการปิดตำนาน The Star ที่ว่าช็อกแล้ว ก็ยังไม่น่าตกใจเท่ากับข่าวที่ บมจ. อสมท. มีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเลิกกิจการ บริษัท ซี้ดเอ็มคอท จำกัด ผู้บริหารคลื่นวิทยุ SEED FM 97.5 MHz เหตุอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจทำพิษ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้รายได้หดหาย กลายเป็นขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกันมา 2 ปี จนขาดสภาพคล่อง แตกต่างจากสถานีวิทยุที่ อสมท ดำเนินการเอง ที่ยังคงสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ จึงมีนโยบายที่จะดึงคลื่นกลับมาบริหารเอง
“นายพิเศษ จียาศักดิ์” รักษาการในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า
“ขณะนี้สถานการณ์ธุรกิจสื่อมีการแข่งขันสูง ในส่วนของ อสมท ต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารของ SEED MCOT ได้พยายามอย่างเต็มความสามารถ จึงขอขอบคุณผู้บริหาร พนักงานคลื่น SEED MCOT ร่วมกันทำงานอย่างทุ่มเทมาโดยตลอด
ในขณะเดียวกัน อสมท ต้องมีการประเมินผลการดำเนินงานของบริษัท คลื่น SEED MCOT ได้ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลากว่า 11 ปีแล้ว และไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ อสมท จะนำคลื่นกลับมาบริหารเอง ด้วยความพร้อมของสถานีวิทยุ อสมท ที่มี segmentation ที่หลากหลายครอบคลุมทั้งกลุ่มกีฬา ลูกทุ่ง ข่าว ทำให้เรามีสัดส่วนตลาดและสัดส่วนผู้ฟังเป็นอันดับ 1”
โดยเป็นที่รู้กันดีว่าคลื่น SEED FM 97.5 MHz หยัดยืนอยู่คู่หน้าปัดวิทยุ เป็นคลื่นขวัญใจวัยรุ่นมานานกว่า 1 ทศวรรษ บริหารงานโดย “ตุ้ย-ธีรภัทร์ สัจจกุล” ศิลปิน นักร้อง นักแสดง ทายาทของ “บิ๊กหอย-วนัสธนา สัจจกุล”
จุดเริ่มต้นของ คลื่น SEED เริ่มจากในยุคที่ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ” นั่งเก้าอี้เป็นกรรมการผู้ขัดการใหญ่ บมจ. อสมท. มีนโยบายที่จะนำคลื่นวิทยุของ อสมท 62 สถานี ที่ให้เอกชนเช่าเวลา หรือให้สัมปทาน มาบริหารเอง เมื่อปี 2547 โดยทาบทามตุ้ย เข้ามานั่งแท่นบริหารดูแลภาพรวม วางกลยุทธ์ทางการตลาด ในตำแหน่งผู้จัดการสถานี SEED RADIO ออกอากาศครั้งแรก วันที่ 1 มีนาคม 2548
กระทั่งเมื่อมิ่งขวัญพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2549 แต่ตุ้ยก็ยังคงนั่งแท่นบริหารคลื่น SEED กระทั่งเติบโตมาเป็น บริษัท SEED MCOT ในเวลาต่อมา จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มี นายธีรภัทร์ สัจจกุล, นายชัยนันท์ สันติวาสะ, น.ส.บุษราภรณ์ วัตถุ, นายศิวกร ชมสุวรรณ และ นายสุนทร อารีรักษ์ เป็นคณะกรรมการบริษัท โดย บมจ. อสมท ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 จดทะเบียนจัดตั้ง เพื่อประกอบกิจการด้านบันเทิงทุกประเภท เช่น ผลิตรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เพลงและผลิตภัณฑ์ดิจิตัลอื่นๆ พัฒนาสินค้า และจำหน่ายสินค้าพรีเมียม การจัดคอนเสิร์ต ละครเวที และแฟชั่นโชว์
สำหรับคลื่น SEED 97.5 FM ออกอากาศทางสถานีวิทยุ อสมท เอฟเอ็ม 97.5 เมกะเฮิรตซ์ ตลอด 24 ชั่วโมง และส่งสัญญาณกระจายเสียงครอบคลุม 53 สถานีวิทยุเครือข่าย อสมท ในช่วงเวลา 20.00 - 24.00 น. โดยมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและภาพลักษณ์ของคลื่น เช่น เทศกาลดนตรี SEED FAN FEST ปีละ 1 ครั้ง ถ่ายทอดสดผ่านทางเครือข่ายสถานีวิทยุ อสมท จำนวน 53 สถานีทั่วประเทศ รวมถึงงานประกาศรางวัล SEED AWARDS ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในรางวัลที่ได้รับการยอมรับในแวดวงของคนดนตรี
จากยุครุ่งเรือง SEED เริ่มประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน โดยจากการตรวจสอบงบกำไรขาดทุนย้อนหลัง 3 ปี พบว่า .....
ปี 2556 รายได้หลัก 156,747,454 บาท กำไรสุทธิ 20,474,350 บาท
ปี 2557 รายได้หลักลดลงเหลือ 100,580,206 บาท ส่งผลให้ ขาดทุนสุทธิ 33,340,661 บาท
ปี 2558 รายได้หลักลดลงเหลือ 83,238,495 บาท ขาดทุนสุทธิ 37,180,678 บาท
จากตัวเลขดังกล่าว ก็สอดคล้องกับที่ น.ส.บุษราภรณ์ วัตถุ หนึ่งในคณะกรรมการบริษัท โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ภายหลังข่าวการประกาศยุบ SEED MCOT ได้แพร่สะพัดออกไปเพียงชั่วข้ามคืน ความว่า
……….เราเปิดดำเนินการคลื่น SEED 97.5 FM. ตั้งแต่ 2548 เริ่มตั้งแต่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ คนเพียงไม่มีคน เราได้รับความช่วยเหลือจากพี่ๆ น้องๆ สื่อมวลชน ค่ายเพลงและศิลปิน ทำให้ซี้ดเติบโตขึ้นจนกลายมาเป็นบริษัทซี้ดเอ็มคอท ซึ่งบริหารคลื่นซี้ด 97.5 FM..จนกลายเป็นคลื่นอันดับต้นๆ ในปัจจุบัน เมื่อวานทางทีมงานได้รับกำลังใจมากมายจากศิลปิน ค่ายเพลง พี่ๆ น้องๆ ร่วมวงการ คราวที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เราจัดคอนเสิร์ต งบประมาณไม่พอ โทรไปต่อรองราคา ขอลดค่าตัวศิลปิน โทรไปขอลดราคาจากซัพพลายเออร์ต่างๆ ทุกคนก็เข้าใจและยินดีช่วยเหลือ ..........
อย่างไรก็ตามคลื่น SEED 97.5 FM ยังคงออกอากาศในรูปแบบเดิม ทีมงานเดิม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ศกนี้ ก่อนจะเปลี่ยนผ่านกลับไปให้ทาง อสมท. เป็นผู้ดำเนินการเอง กระนั้นก็ยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัดว่า จะปรับเปลี่ยนรูปแบบของคลื่นไปในทิศทางไหน รวมถึงยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ จากปากคำของตุ้ย-ธีรภัทร์ ที่เสมือนถูกปลดกลางอากาศ ชนิดไม่มีเวลาให้ตั้งตัว
**********
เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป
12 ปี The Star - 11 ปี SEED นับจากนี้เหลือเพียงตำนาน !!
ที่มา นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 366 19-25 พฤศจิกายน 2559