xs
xsm
sm
md
lg

“BILLbilly01” หนุ่มน้อยนักคัฟเวอร์ ปรับเก่า-เล่นใหม่ จนยอดวิวชิลชิลหลักล้าน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

[ขอบคุณสถานที่: ดีเลานจ์ (Dee Lounge) คาเฟ่ภายในโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ สาขาเพลินจิต]
31 ล้านวิว คือยอดการชมสูงสุดจากคลิปยอดนิยมบนชาแนลในยูทูบของเขา ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะมีอะไรมาหยุดแรงฮิตจากความสามารถตรงนี้ไว้ได้ คิดดูว่าเพลงฮิตเพลงหนึ่ง มีคนหยิบมาคัฟเวอร์ใหม่ไม่รู้กี่พันกี่หมื่นกี่แสนครั้ง หรืออาจมากกว่านั้น แต่ทำไมเวอร์ชันดัดแปลงจากหนุ่มน้อยคนนี้ ถึงได้มาแรงแซงทุกโค้ง เด็กตัวสูงโปร่งคนนี้มีดีที่ตรงไหน? เดี๋ยวได้รู้แน่จากการเจาะทุกมุมคิดด้าน “ตลาดเพลงออนไลน์” ผ่านประสบการณ์ดิบๆ ที่ไม่มีเขียนไว้ในตำราเล่มไหนแน่นอน!!



ไม่เล่นซ้ำ ไม่เหมือนเป๊ะ ไม่มีสูตรตายตัว

[คลิปยอดนิยมประจำช่อง feat.วี-วิโอเลต (ผู้เข้าประกวดชื่อดังจาก The Voice ซีซัน 2)]
เวลา 3 ปี คัฟเวอร์มาแล้วกว่า 120 บทเพลง แต่หาคลิปวิดีโอที่มียอดวิวต่ำกว่าหลักแสนแทบไม่มีเลย… ทำได้อย่างไร!!? มีอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะช่วยคลายความสงสัยข้อนี้ได้ นั่นคือเจ้าของสถิติการสร้างสรรค์ผ่านตัวโน้ตบนโลกออนไลน์อย่าง “บิลลี่-ณัฐดนัย ชูชาติ” เจ้าของช่องเพลงคัฟเวอร์แนวสากลอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เจ้าของชื่อ “BILLbilly01” คนนี้นี่เอง!!

“หลักของผมมีอยู่ 3 อย่างครับ หนึ่งคือ 'นักร้อง' ที่มาจะไม่ค่อยซ้ำหน้า ทำให้คนดูสามารถเลือกติดตามได้ ถ้าชอบเสียงคนนี้ ก็ตามคลิปอื่นๆ ของเขาในชาแนลนี้ได้ด้วย หรือถ้าไม่ชอบ ก็ยังมีตัวเลือกอื่นสำรองอีก สองคือ 'โปรดักชัน' ที่จะไม่ถ่ายทำกันแบบธรรมดาๆ แต่มีเซตไฟให้ดูจริงจัง มุมกล้องดูหวือหวาหน่อย ไหนๆ ถ่ายทั้งทีแล้ว ไม่รู้จะถ่ายเล่นๆ ไปทำไม ทำให้ดีไปเลยดีกว่า สามคือ 'ดนตรี' ครับ ที่พยายามจะนำเสนอให้หลากหลาย ไม่จำเจ

หนุ่มน้อยวัย 21 เผยทริกมัดใจคนรักเสียงเพลงผ่านท่าทีจริงจังแบบไม่หวงวิชา อาจเพราะเชื่อว่าต่อให้ใช้กรอบเดียวกันนี้ เลือกผลิตผลงานเพลงคัฟเวอร์ชิ้นเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาไม่เหมือนกันอยู่ดี เช่นเดียวกับตัวเขาเองที่ถูกคอเพลงมองว่าเป็น “Kurt Hugo Schneider เวอร์ชันเอเชีย” ด้วยความคล้ายหลายๆ อย่างที่บิลลี่มีเหมือนนักคัฟเวอร์เพลงชื่อดังระดับโลกรายนี้ แต่สุดท้ายบิลลี่ก็คือบิลลี่ ที่อยากให้จดจำเขาผ่านความเป็นตัวเอง ไม่ใช่ก๊อบปี้จากต้นแบบของใคร

ผมไม่ชอบทำคัฟเวอร์แบบที่เหมือนต้นฉบับเป๊ะๆ เพราะไม่รู้จะทำไปทำไม คัฟเวอร์ที่ดีคือการสร้างใหม่ขึ้นมา คือการหาอีกความหมายหนึ่งให้เพลง ง่ายๆ เลย ถ้าเพลงนั้นออริจินัลเป็นผู้ชายร้อง เราก็เลือกผู้หญิงมาร้องแทน แต่ต้องคิดดีๆ บางเพลงมันก็ทำไม่ได้จริงๆ บางเพลงความหมายก็มีไว้สำหรับผู้ชาย ผู้หญิงมาร้องแล้วอาจจะให้ความรู้สึกแปลกๆ แต่ถ้าทำได้ก็จะน่าสนใจมาก

[feat.อิมเมจ ผู้โด่งดังจาก The Voice ตัวอย่างที่ทำให้เห็นอีกหนึ่งจุดขายดึงดูดใจของช่อง คือ "นักร้องเสียงเพราะแฟนคลับแยะ" ไม่ซ้ำหน้า]

หรืออาจจะสร้างความแปลกใหม่ด้วยการ arrange เพลงใหม่ ดึงอารมณ์เพลงให้ออกมาอีกรูปแบบหนึ่งให้ได้ จากแบบออริจินัลอาจจะเป็นเพลงเร็ว ดูซิว่าแปลงให้มันเป็นเพลงเศร้าได้ไหม ลองเปลี่ยนความหมายของมันดูครับ
อย่างเพลง 'Habits' ของเดิมเป็นดนตรีตื๊ดๆ เป็นเพลงเปิดในผับมาก่อน ตอนเอามาคัฟเวอร์ ผมก็ยังคงกิมมิคเดิมเอาไว้ เช่น เสียงปรบมือ เสียงกุญแจ ฯลฯ แล้วเอามาทำจังหวะแบบใหม่ เปลี่ยนให้เป็นเพลงฟังมากขึ้น ไม่ใช่เพลงเต้นเหมือนเดิม แค่นี้ก็สามารถเปลี่ยนเพลงเพลงหนึ่ง ให้เป็นคัฟเวอร์ดีๆ ได้แล้วสำหรับผม

ช่วงที่ทำแรกๆ คิดเยอะเหมือนกันครับว่า ถ้าเลือกเพลงแนวนี้มาคัฟเวอร์ มันจะเชื่อมกับดนตรีแนวไหนได้บ้าง แต่ตอนนี้ผมไม่คิดอะไรมากแล้ว ผมมีปรัชญาใหม่ก็คือ 'ไม่ชอบเพลงอะไร ก็ทำเพลงนั้นแหละ' (ยิ้ม) ผมว่าถ้าเอาเพลงที่ไม่ชอบ มาทำให้ตัวเองชอบได้เนี่ย มันจะออกมาดีมากเลยนะ

แต่ถ้าเพลงไหนเราชอบอยู่แล้ว มันค่อนข้างจะเปลี่ยนอะไรยากมาก แต่เวลาทำก็จะฟินอีกแบบ แล้วก็จะกดดันกว่าด้วย จะรู้สึกอยู่ตลอดว่าเราอาจจะทำได้ไม่ดีเท่าของเดิมเขานะ มันเลยค่อนข้างอันตราย ผิดกับเพลงที่ไม่ชอบ เราเปลี่ยนง่ายมากเลย อยากจะรื้อโครงเดิมออกให้หมดเลย (แววตาซุกซน) รื้อแล้วสร้างใหม่จนชอบ ส่วนทำออกมาแล้วคนอื่นจะชอบไหม อันนี้ไม่รู้ (ยิ้มสบายๆ) มันไม่ใช่หน้าที่ของเราแล้ว ผมมีหน้าที่แค่ทำงานออกมา แค่นั้น จบ”


ต้องคัฟเวอร์เพลงในกระแสทุกเพลงแบบไม่ปล่อยผ่านด้วยไหม ถึงจะเป็นศิลปินเพลงรีเมกที่มีชื่อติดอันดับต้นๆ อย่างเราได้? โปรดิวเซอร์ไร้สังกัดผู้โด่งดังจากการอัปคลิปเพลงนิ่งคิดครู่หนึ่ง ก่อนโยนคำตอบกลับมาว่า “ไม่จำเป็นเสมอไป” แล้วยกตัวอย่างปรากฏการณ์คลิปที่ฮิตที่สุด ซึ่งมีผู้เข้าชมเฉียด 32 ล้านครั้งบนชาแนลของเขา เพื่อให้เห็นว่ามันไม่มีเรื่องการเกาะกระแสใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเลยจริงๆ

“เพลง 'Habits' ผมก็ไม่ได้ทำตอนกระแสเพลงนี้กำลังดังนะ แต่ทำย้อนยุคไปปีนึง คือเพลงมันดังมาตั้งแต่ปีก่อน แต่ผมเพิ่งหยิบมาทำและคลิปคัฟเวอร์คลิปนั้นมันก็ดังได้ คิดดูว่าจากช่วงแรกที่ฐานคนดูผมเฉลี่ยแล้วอยู่ที่หลักหมื่น พอทำคลิปนี้ออกมาปุ๊บ ฐานคนดูพุ่งขึ้นไปแตะหลักแสนเลยทันที ก็เลยจะบอกว่ามันไม่มีประโยชน์หรอกครับ ที่จะไปคิดเรื่องกระแสหรือยอดวิวอะไรขนาดนั้น อะไรจะเกิดมันก็เกิด เราแค่ทำให้มันดีที่สุดก็พอ”

[คัฟเวอร์เพลง "Habits" ที่ทำให้คลิปกลายเป็นประวัติศาสตร์ของช่องไปแล้ว]

อีกหนึ่งจุดสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นยอดผู้เข้าชมได้ คือการตั้งกลุ่มเป้าหมายของตัวเองให้ชัดตั้งแต่ต้น อย่างช่อง “BILLbilly01” บิลลี่กำหนดเอาไว้เลยว่าฐานแฟนของเขาคือกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบฟังเพลงสากลหรือเด็กอินเตอร์ หรือแม้แต่ฐานแฟน “นักฟังต่างประเทศ” ซึ่งวาดฝันแต่ยังไปไม่ถึง เขาก็วางเอาไว้ เพื่อช่วยขีดเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในอนาคตที่อยากจะให้เป็น

“เป็นกลุ่มที่ผมอยากได้มาก แต่มันค่อนข้างยากเหมือนกัน ด้วยความที่เราเป็นคนไทยด้วยมั้ง (ยิ้มบางๆ) ถ้าทำไม่ถึงจริงๆ สำเนียงไม่ได้จริงๆ ก็ยากที่เขาจะกดฟัง ผมพยายามหานักร้องที่สำเนียงดีที่สุดมาช่วยร้องแล้วนะ แต่คลิปก็ยังไปไม่ถึงตรงนั้น หวังว่าในอนาคตจะได้มีโอกาสคัฟเวอร์กับยูทูบเบอร์ (Youtuber) เมืองนอกบ้าง งานของเราจะได้ไปถึงกลุ่มตะวันตกจริงๆ ซะที



ยอดวิวทะลุล้าน ทางผ่านที่น่าภาคภูมิใจ

[เป็นพาร์ตเนอร์กับยูทูบ ผลิตผลงานสร้างสรรค์ไม่ต่ำกว่า 1 คลิปต่อเดือน]
“ศิลปินเพลงคัฟเวอร์” คือตำแหน่งที่แฟนเพลงส่วนใหญ่มอบให้ ถ้าวัดจากผลงานการเรียบเรียงท่วงทำนองและเสียงร้องให้ออกมาเป็นลายเซ็นเขาเองเสียใหม่ แต่ถ้าวัดจากความรู้สึกลึกๆ ภายในใจจริงๆ การประสบความสำเร็จบนเส้นทางรีเมกตัวโน้ตแบบนี้ ยังไม่ใช่เป้าหมายปลายทางสำหรับหนุ่มน้อยมากความสามารถคนนี้ จึงทำให้บิลลี่ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรนักหนาที่บางคนจะมอบสมญานามให้เขาแบกเพิ่มว่า “หนุ่มน้อยร้อยล้านวิว”

เอาจริงๆ ผมไม่ใช่คนที่อินกับยอดวิวอะไรขนาดนั้นนะ (ยิ้ม) ที่ยังทำคลิปมาได้จนถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะรู้สึกว่ามันสนุกอยู่มากกว่าครับ ผมค่อนข้างมั่นใจในสิ่งที่ทำ ยังพยายามทำออกมาฝึกตัวเองเรื่อยๆ จนทุกวันนี้สร้างระเบียบได้แล้วว่า ต้องอัปคลิปลงยูทูบให้ได้อาทิตย์ละครั้ง

เชื่อไหมว่าผมไม่เคยฝันว่าจะได้ยอดวิวสูงๆ เลย เรื่องที่ผมฝันเอาไว้จริงๆ คือ การได้ขึ้นเล่นในเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง 'Glastonbury' (ณ ประเทศอังกฤษ), 'Rock am Ring' (ณ ประเทศเยอรมนี) นั่นแหละครับที่สุดในชีวิตละ แต่ไม่ได้ไปในชื่อ 'BILLbilly01' นะ

หลังปิดประโยคด้วยแววตาซนๆ ของคนรุ่นใหม่ บิลลี่จึงเอ่ยชื่อ “Tilly Birds” ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพื่อให้เบาะแสแก่คู่สนทนาได้ติดตามสืบค้นต่อไปจนพบว่า มันคือชื่อวงดนตรีที่เขากับ “เติร์ด (Third)” เพื่อนสนิทสมัยมัธยม ร่วมกันก่อตั้งขึ้น โดยตั้งชื่อวงตามชื่อเล่นของทั้งสองคน “Billy+Third” รวมเป็นชื่อกวนๆ ออกเสียงตามระบบคำผวนอย่างที่เห็น

[วงดนตรีในฝัน สาเหตุเบื้องหลังทั้งหมดที่ทำให้สร้างชาแนลเพลงคัฟเวอร์ขึ้นมา]

“ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าจุดมุ่งหมายของการทำเพลงคัฟเวอร์ของผม จริงๆ แล้วมันเป็นเพราะผมมีวงนี่แหละครับ ตอนนั้นคิดอะไรไม่ออก จากมุมมองด้านการตลาดของเด็ก ม.6 เท่าที่จะคิดได้ตอนนั้น ก็คิดแค่ว่าถ้าไม่อยากรอค่ายเพลง เราก็ทำชาแนลของตัวเองขึ้นมาเลยสิ

ทำยังไงก็ได้ให้ช่องของเราบนยูทูบมันเป็นที่รู้จักให้ได้ก่อน แล้วค่อยเอาเพลงของวงมาปล่อยทีหลัง แต่พอทำมาได้ถึงตอนนี้ ก็ได้คำตอบแล้วครับว่า กลุ่มที่ดูคลิปคัฟเวอร์ กับกลุ่มที่จะฟังเพลงแต่งใหม่จากพวกเรา มันไม่ค่อยเหมือนกัน ฐานคนฟังคนละกลุ่มกัน 'ตลาดเพลง Cover' กับ 'ตลาดเพลง Original' มันช่างต่างกันเหลือเกิน แต่สุดท้ายผมก็ไม่เสียใจนะที่ได้ทำ 'BILLbilly01' ขึ้นมา

ลองเปิดดูหน้ารวมผลงานคลิปคัฟเวอร์บนชาแนลยอดฮิต ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 5 แสนรายในขณะนี้ แล้วกวาดนิ้วขึ้นข้างบนเพื่อโหลดประวัติศาสตร์ผลงานเก่าๆ จะพบว่ากำเนิดของความเป็นบิลลี่ ไม่ได้เริ่มต้นที่เพลงคัฟเวอร์อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ตั้งไข่มาจากคลิปทัตทิ่ง (tutting) สาธิตศิลปะการเต้นด้วยมือ จนสามารถเรียกความสนใจนักท่องเน็ตได้อย่างท่วมท้น หลังจากปล่อยคลิปออกไปได้เพียง 10 ตัวเท่านั้นเอง!!

“ตอนนั้นอายุประมาณ 15 ปีได้ครับ ไม่ได้คิดอะไรเลย พอดีเป็นช่วงชอบเต้นฮิปฮอป เต้นป็อปปิ้งโรบ็อต ซึ่งทัตทิ่งมันก็เป็นหนึ่งในนั้น ผมมองว่ามันมี visual elements ที่น่าสนใจในการถ่ายคลิป ก็เลยเอามาทำคลิป มิกซ์เพลงเอง ตั้งกล้องเอง ตัดต่อเองหมด พออัปลงมันดันมีคนดู ก็เลยทำอีกๆ เรื่อยๆ

จริงๆ แล้ว ก่อนหน้าที่จะทำคลิปเต้น ผมก็ลองทำคลิปหลายแนวอยู่เหมือนกัน มีทั้งเล่นมายากล เล่นรูบิก ฯลฯ ผมทำอะไรไว้เยอะแต่อย่าไปรื้อดูเลยครับ (หัวเราะเขินๆ) ลงแข่งควงปากกาก็เคยทำมาแล้ว แต่พอได้มาเต้นก็รู้สึกว่ามันสนุกกว่า เลยจริงจังกับเรื่องเต้นขึ้นมา ยิ่งพอได้มาเล่นดนตรี เรายิ่งสนุกกว่าเดิม เพราะมันเล่นได้กว้างกว่าเดิมมากขึ้นไปอีก”

เห็นเด็กหนุ่มคนนี้หยิบเครื่องดนตรีหลากหลายชิ้นมาเล่นได้อย่างคล่องมือ น้อยคนนักจะรู้ว่าเขาเพิ่งเทกคอร์สเรียนเปียโน ตามมาด้วยกีตาร์แบบจริงๆ จังๆ ก็ช่วงคลั่งการเต้นหนักๆ จนตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่า จะต้องทำเพลงเป็นของตัวเองเพื่อมาเติมเต็มจิตวิญญาณด้านการเต้น แต่พอได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับตัวโน้ตจริงๆ บิลลี่จึงถอนตัวจากดนตรีไม่ขึ้น จนต้องหันมาสร้างสรรค์งานเพลงเพื่อเติมเต็มจิตวิญญาณคนรักเสียงเพลงแบบเต็มตัว


“ถ้าให้พูดในฐานะคนทำงานตรงนี้ ผมว่ามันมองได้ 2 มุมมองนะฮะ คือมุมมองที่ 'ศิลปินมองตัวเอง' กับมุมมองที่ 'คนอื่นมองศิลปิน' ถ้าเป็นมุมมองแรก ศิลปินมองตัวเอง ถามว่าทำยังไงให้เราโดดเด่นขึ้นมา สำคัญมากเลยคือคุณควรจะมองตัวเองว่าเป็น 'ศิลปิน' ก่อน อย่าลืมว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันคือศิลปะ ดนตรีคือศิลปะ เราไม่ได้มาเพื่อร้องเพลง tie-in สินค้า

สังเกตดูว่าทุกคลิปที่ผมทำจะไม่มีเรื่องนี้เลย เพราะถ้ามีอะไรเข้ามาขัด ทำให้ผลงานเสีย ผมจะไม่เอา ไม่ยอม ไม่เสี่ยงเลย ในเมื่อเราเป็นศิลปินก็จงโฟกัสอยู่กับผลงานของตัวเอง หน้าที่ของคุณคือการทำงานศิลปะขึ้นมา ทำให้ดี ทำให้สุด ถึงแม้มันจะมีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็ต้องอย่าเสียจุดนี้ไปเด็ดขาด เพราะถ้าเราไม่ได้กำลังทำสิ่งที่ชอบอยู่ แล้วเราจะทำไปทำไมล่ะครับ จริงไหม?


ส่วนอีกมุมมองหนึ่ง เป็นมุมมองของศิลปินผ่านสายตาคนดู ส่วนใหญ่คนที่ฟังเพลงบนนั้น จะแบ่งคนทำเพลงแยกออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่ม 'ยูทูบเบอร์ (Youtuber)' กับ 'Musician (นักดนตรี)' มันเลยทำให้กลุ่มคนที่ฟังเพลงคัฟเวอร์ในช่อง 'BILLbilly01' ของผม มองตัวผมเป็นยูทูบเบอร์ เป็นคนผลิตคลิปอัปลงยูทูบ แต่กลุ่มที่จะฟังเพลงของวง 'Tilly Birds' จะเป็นคนฟังอีกกลุ่มนึง ทำให้ตัวตนผมตอนอยู่ในวงถูกมองว่าเป็นนักดนตรีมากกว่า


ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาผมเอาคลิปเพลงของวง 'Tilly Birds' ไปลงชาแนลของ 'BILLbilly01' นักดนตรีด้วยกันเองจะไม่มองวงผมในฐานะนักดนตรี จะมองเป็นเน็ตไอดอลยุคใหม่ที่ดังจากยูทูบ เขาจะเหมารวมแบบนั้นทันที ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว วิธีการทำเพลงของวงเรา มันคือการทำงานแบบดั้งเดิม เริ่มจากการเล่นดนตรีในผับ มีแมวมองมาดู ทำอัลบั้ม เซ็นสัญญาจากค่ายแล้วก็ดัง ซึ่งมันเป็นทางคนละสายกับการเล่นดนตรีคัฟเวอร์เลย เพราะฉะนั้น ที่ผมเคยมองว่าช่องคัฟเวอร์จะมาช่วยหนุนวงดนตรีของผมกับเพื่อน มันเลยทำไม่ได้ เพราะคนฟังมันคนละกลุ่มกันจริงๆ”

ลองปล่อยมิวสิควิดีโอของวงลงในช่องเพลงคัฟเวอร์ดูแล้วถึง 3 คลิป จึงได้คำตอบชัดเจนว่าผลงานในฐานะ “ศิลปิน” ไม่เหมาะจะวางรวมกันเอาไว้ตรงนั้น บิลลี่และทีมจึงมีแผนว่าจะย้ายทุกเพลงของวง 'Tilly Birds' ไปสร้างฐานแฟนของตัวเองในอีกไม่นานนี้ เพราะไม่อยากทู่ซี้ปล่อยคลิปลงชาแนล 'BILLbilly01' ให้ได้ยอดวิวดี แต่ไม่บ่งบอกอะไรเลย

“ถึงจะมีคนดู 2 แสนวิว แต่ผมก็มองว่ามันเป็นแค่ตัวเลขอยู่ดีครับ ผมไม่เคยสนใจเรื่องยอดวิวอยู่แล้ว เพราะมันไม่ได้มีความหมายอะไร สิ่งที่ผมสนมากกว่าคือคอมเมนต์ ผมสนสิ่งที่เกิดขึ้น ผมสน reaction ของคนฟังมากกว่าว่ามีใครพูดถึงเพลงของวงเราบ้างหรือเปล่า?

[เพลงล่าสุดจากบิลลี่และเพื่อน วง "Tilly Birds"]

แม้อาจจะต้องเหนื่อยหน่อยที่ในอนาคตต้องดูแลทั้ง 2 ชาแนลบนยูทูบควบคู่กันไป แต่บิลลี่ก็ไม่อยากทิ้งตัวตนในด้านใดด้านหนึ่งไป เพราะถ้าไม่มีช่อง 'BILLbilly01' คงไม่มีหนทางให้ศิลปินไร้สังกัดคนนี้ไปต่อได้ไกลขนาดนี้ “มันทำให้ผมได้พบเจอคนใหม่ๆ และที่แน่ๆ ที่เราฝีมือพัฒนาได้อย่างทุกวันนี้ก็เพราะช่องนั้น” รวมถึงรายได้จากการเป็นพาร์ตเนอร์ยูทูบ แลกกับการอัปคลิปเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 ครั้ง เพื่อให้ได้ค่าขนมมาหนุนวงดนตรีในฝันของเขากับเพื่อนให้อยู่ได้ไปนานๆ



ถามตัวเองให้ดี อยากเป็นศิลปิน “คัฟเวอร์” หรือ “ออริจินัล”?

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าวงการเพลงออนไลน์มีอาถรรพ์... อาถรรพ์การเป็น “ศิลปินเพลงคัฟเวอร์” หมายความว่าถ้าได้ก้าวขาไปยืนในตำแหน่งนั้นเมื่อไหร่ คนฟังจะอยากฟังแค่เพลงแนวนี้จากเราเป็นหลัก เมื่อไหร่ที่คิดวางมือไปสร้างสรรค์ตัวโน้ตที่แต่งขึ้นเอง กรอบความคิดหลอกหลอนแบบเดิมๆ จะกลายเป็นกำแพงหนาปิดหูปิดตาคนฟังในทันที จากประสบการณ์ที่อัดแน่นบนเส้นทางนี้มา 3 ปี บิลลี่จึงอยากแนะนำให้ถามใจตัวเองให้ดี ก่อนเปิดตัวจุดยืนในฐานะศิลปิน

“สมมติ ผมเริ่มทำชาแนลบนยูทูบเป็นเพลงคัฟเวอร์ แต่เอาเพื่อนในวง 'Tilly Birds' มาเล่น จนดังเหมือนที่ทำในช่อง 'BILLbilly01' แล้วค่อยมาปล่อยเพลงตัวเองที่แต่งเองหลังจากนั้น คนก็ไม่ฟังอยู่ดี เพราะเราถูกมองเป็นภาพนั้นไปแล้ว เหมือนเขาอยากได้แค่เพลงคัฟเวอร์จากเรา เขาไม่ได้ต้องการเพลงออริจินัลจากเรา เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะเป็นศิลปินที่มีเพลงออริจินัลของตัวเอง เราก็ต้องเลือกทางนั้นมาตั้งแต่ต้นครับ ไม่งั้นคนจะติดภาพ นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้มาตลอด 3 ปี ที่ทำคลิปบนยูทูบ

ไม่ใช่แค่คนฟังบ้านเรานะที่เป็นอย่างนี้ ต่างชาติก็มีปัญหานี้เหมือนกัน อย่างกรณีที่เห็นได้ชัดๆ เลยก็คือชาแนลของ 'Boyceavenue' ที่เขาก็ประสบความสำเร็จที่ตัวเพลงคัฟเวอร์ ไม่ใช่เพลงออริจินัลของตัวเองที่ปล่อยออกมาทีหลัง แต่ด้วยความที่เขามีฐานแฟนเพลงที่ใหญ่มาก เป็นวงอินดี้ที่มีฐานแฟนใหญ่ที่สุดในโลก ยอดวิวของเขามีพันล้านกว่าวิว มันเลยทำให้เขาได้รับยอดวิวที่จับต้องได้

ถึงเพลงออริจินัลที่เขาปล่อยคนจะดูน้อยเมื่อเทียบกับคลิปเพลงคัฟเวอร์อื่นๆ แต่น้อยของเขาคือมีคนดู 3-4 ล้านนะ ซึ่งก็ถือว่าเยอะแล้ว แต่อาจจะถูกมองว่าน้อยได้ ถ้าเทียบกับคลิปคัฟเวอร์ที่คนดู 60 ล้านกว่าวิว อย่างคนฟังในไทยเรา คนส่วนใหญ่ก็ฟังคลิปที่เขาคัฟเวอร์ทั้งนั้นแหละครับ ไม่ค่อยมีใครสนใจฟังเพลงที่เป็นเพลงของเขาจริงๆ เลย เพราะไม่มีใครอยากฟัง ก็เขาดังมาจากทำคัฟเวอร์เพราะนี่ (ยิ้มปลงๆ)
และถ้าผมทำวง คัฟเวอร์เพลงแล้วดัง แต่พอมาปล่อยเพลงตัวเองแล้วไม่มีคนฟัง ผมคงเศร้ามากเลย และเพราะไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ ผมเลยต้องเริ่มทุกอย่างใหม่ ตั้งชาแนลในยูทูบใหม่ให้แยกออกจากของเดิมไปเลย เป็นการรีแบรนดิ้งที่ต้องทำ ไม่อย่างนั้นกลุ่มเป้าหมายของเราจะผิดไปหมดเลย”

ไม่คิดจะลงประกวดในเวทีแข่งขันร้องเพลงรายการไหนบ้างหรือ เผื่อกระแสตอบรับดี คนจะได้ตามไปฟังเพลงของวง 'Tilly Birds' โดยที่ไม่ต้องมานั่งปั้นฐานแฟนเพลงใหม่ให้เหนื่อยอย่างที่กำลังคิดจะทำอยู่? ผู้วางกลยุทธ์การตลาดประจำวงส่ายหน้าพร้อมแนบรอยยิ้มหวาดๆ กลับมาเป็นคำตอบในทันที ก่อนเปิดใจให้เหตุผลส่วนตัวว่า...


“ผมแค่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไปประกวด เพื่อให้คนที่นั่งเก้าอี้อยู่ 2-3 คนมาบอกว่าเราร้องเพลงไม่เพราะด้วย? ทำไมต้องให้เขามาตัดสินเรา เราก็อยู่กับเพลงของเราสิ อยู่กับดนตรีสิ แค่ออกไปร้องเดี๋ยวก็มีคนมาฟังเอง พอรู้สึกแบบนี้ ผมเลยไม่ได้สนใจไปประกวดแบบนั้นครับ

หรือถ้าทำมาทุกวิธีแล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักวงของเราสักที พวกผมคงไปเล่นตามผับเพิ่มเอาครับ เล่นข้างถนน เปิดหมวกหรืออะไรก็ได้ให้คนฟัง เดี๋ยวคนก็จะรู้จักเราเอง คนที่ฟังจะบอกต่อๆ กันไปเองว่าวงนี้ดี มาดูกัน เขาเล่นที่นี่ๆ คืนนี้นะ ซึ่งทุกวันนี้วงเราก็ทำแบบนั้นครับ พยายามหาที่เล่นตามที่ต่างๆ เวลามีโอกาสเข้ามาเชื้อเชิญในฐานะวง ผมก็ไม่เคยปฏิเสธ เพราะคิดว่าแค่ได้เล่นก็สนุกแล้ว

ถ้าได้ตังค์จากการเล่นด้วยกันในวงมันก็ดี แต่นั่นก็ยังไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด เรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับผมคือการได้เล่นเพลงตัวเอง ได้เล่นกับคนที่ผมชอบ ได้เล่นกับเพื่อนๆ ที่ผมรัก วงผมไม่มีปัญหาเรื่องการเล่นคัฟเวอร์เพลงศิลปินคนอื่นนะครับ คัฟเวอร์โชว์สดได้หมด แต่เราจะคัฟเวอร์เป็นอีกแนวนึงไปเลย เปลี่ยนหมดเลย อยู่ที่คุณจะรับได้หรือเปล่า ถ้ารับได้ก็โอเค (ยิ้ม) แต่ถ้าเขาอนุญาตให้เราเล่นแต่คัฟเวอร์ ห้ามเล่นเพลงตัวเอง ผมก็ไม่อยากไป ผมอยากเล่นในที่ที่คนเปิดใจไปฟังเพลง จะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่ขอให้เปิดใจ ขอให้ฟังกันจริงๆ ก็พอ


อยากให้ทุกคนหันมาฟังเพลงเพื่อเพลงกันเยอะๆ ครับ ไม่อยากให้ฟังเพื่อฆ่าเวลา คือผมเข้าใจนะว่าคนเรามีรูปแบบการฟังเพลงที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะแค่เปิดเพื่อให้ห้องไม่เงียบ หรือบางคนอาจจะเปิดเพื่อบอกว่าตัวเองมีคลาส มันก็มีเหมือนกัน แต่สำหรับผม อยากให้เปิดเพื่อที่จะตั้งใจฟังมัน

เวลาเสพศิลปะอะไรสักอย่าง ผมจะชอบสังเกตครับ จะไม่ดูหรือฟังมันแบบเลื่อนลอย ต่อให้มีเวลาฟังเพลงทั้งโลกแต่บอกอะไรไม่ได้เลย มันยังไม่มีประโยชน์เท่าฟังแค่ 4 เพลง แล้วรู้จักส่วนประกอบทุกอย่างที่อยู่ในนั้น ทุกโน้ต ทุกคำพูด ทุกความหมาย ฟังแบบตั้งใจให้รู้ทุกอย่างในนั้น ไม่ใช่ฟังแบบปล่อยผ่านๆ ไป

ผมว่าบางทีคนยุคนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเรื่องการฟังเพลงมากเกินไปด้วยซ้ำ อย่างในยูทูบ เดี๋ยวนี้มันจะมีระบบ auto run ช่วยรันเพลงให้เราฟังไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องคลิกฟังเอง ซึ่งมันก็ดี แต่ในอีกแง่นึง พอคนไม่เลือกเพลงเอง ระบบก็จะเลือกแต่เพลงที่ยอดวิวเยอะๆ ให้ ทำให้เพลงดีๆ ที่อาจจะมียอดวิวน้อยๆ ไม่ได้มีโอกาสถึงหูคนฟังเลย มันเลยทำให้ผมอดคิดถึงความรู้สึกแบบเดิมๆ ของคนยุคก่อนไม่ได้ ที่เขาต้องไปหาแผ่นไวนิลมานั่งฟังเองให้จบทั้งอัลบั้ม มันคือการตั้งใจนั่งเสพอรรถรสไปกับตัวเพลงจริงๆ

ก็เหมือนเวลาดูหนังแหละครับ เรายังตั้งใจดูอย่างเดียวโดยที่ไม่ต้องทำอย่างอื่นได้เลย เพลงก็ทำได้ ผมว่าเพลงมันลึกกว่าหนังอีกนะ เพราะหนังมันมีภาพมีเสียงมาให้เราแล้ว เราไม่ต้องจินตนาการอะไรต่อแล้วก็ได้ แต่เพลงไม่มีภาพให้ เราต้องจินตนาการไปตามท่วงทำนองเอง ผมว่าเพลงมัน abstact กว่าอีก มันยังมีพื้นที่ให้เราได้เติมแต่งอะไรในความรู้สึกได้อีกเยอะแยะ แค่ลองเปิดหูเปิดใจฟังกันจริงๆ เท่านั้นเอง”


เรื่องน่าปวดหัวของศิลปินคัฟเวอร์เพลงไทย...

จะบอกยังไงดี... เมืองนอกเขาค่อนข้างมีระบบจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนครับ เลยไม่ค่อยมีปัญหาตรงนี้ อย่างที่ผมคัฟเวอร์เพลงของเขา เราสามารถส่งเรื่องไปขออนุญาตได้โดยหักส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์กันไป หรือถ้าเราไม่ติดต่อไปแล้วเขาพบว่าเราคัฟเวอร์เพลงเขาโดยที่ไม่ขอ เขาก็จะให้ทางระบบตัดเปอร์เซ็นต์ของเราไปให้เขาที่ปลายทางเองแบบอัตโนมัติ แต่บ้านเรายังไม่มีระบบแบบนี้เกิดขึ้น เลยทำให้การคัฟเวอร์เพลงไทยมันยากหน่อย

ถามว่าศิลปินที่คัฟเวอร์เพลงไทย ลำบากกว่าคนที่คัฟเวอร์เพลงสากลไหม? ผมว่าลำบากกว่าครับ แต่ไม่ได้ลำบากเรื่องดัง-ไม่ดังนะ เพราะคนไทยก็ฟังเพลงไทยเป็นหลัก เลยไม่ได้ยากที่จะดึงให้คนมาดู แต่อาจจะลำบากเรื่องลิขสิทธิ์มากกว่าครับ เพราะมันเป็นเรื่องซับซ้อนอยู่เหมือนกัน ดูน่าปวดหัวสำหรับนักดนตรี

ส่วนเรื่องการเป็นศิลปินอิสระก็ลำบากพอๆ กัน ผมเคยคิดว่าถึงไม่มีค่าย เราก็หาช่องทางของเราเองได้ ทำช่องของเราขึ้นมาเองให้คนติดตาม แต่จากประสบการณ์ที่ทำมา ตอนนี้ก็รู้แล้วครับว่ามันยาก ข้อดีของการเซ็นกับค่ายคือ มันทำให้เราได้เข้าไปอยู่ในวงการดนตรีเต็มตัว มี connection ได้เจอกลุ่มคนประเภทเดียวกัน

ที่สำคัญ มันจะเป็นทางหนุนสำคัญที่ทำให้เราได้ขึ้นเล่นในเฟสติวัลใหญ่ๆ ในต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งถ้าเป็นศิลปินอิสระ มันยากมากที่จะขึ้นไปบนนั้น ทั้ง Wonderfruit, Big Mountain, Overcoat ฯลฯ ต้องมีค่ายเท่านั้นถึงจะทำได้ หรือถ้าเป็นศิลปินอิสระก็ต้องเด่นจริงๆ ถึงจะได้โอกาสดีๆ แบบนั้น



ความสุขเล็กๆ ของ “นักทดลอง”

นอกจากเปียโนกับกีตาร์ที่เล่นได้หลักๆ แล้ว ก็จะมีเสียงอย่างอื่นที่พยายามใส่เข้าไปในแต่ละคลิปให้ได้อารมณ์ที่แตกต่างกันด้วยครับ เรียกรวมๆ ว่า 'Sampling' คือการอัดซาวนด์มา แล้วค่อยมาเสียงนั้นมาแต่งต่อ มันไม่ใช่เสียงจากเครื่องดนตรีแบบดั้งเดิม แต่เป็นดนตรีดิจิตอล อย่าง 'music by glass' ที่ใช้แก้วทำเป็นเสียงประกอบก็ถือเป็นหนึ่งในนี้ด้วยครับ มันคือการใช้ synthesizer มาแต่งเสียง ซึ่งเป็นทางที่ผมพอเล่นได้

ผมชอบทดลองทำอะไรไปเรื่อย ที่เลือกเรียนเอกฟิล์ม โทแอดฯ ก็เพราะอยากมีความรู้เกี่ยวกับหนังไปใช้ตัดต่อเอ็มวีเพิ่ม กับอยากเอาความรู้เรื่องการวางกลยุทธ์การตลาดจากงานโฆษณาไปใช้ ผมว่ามันมีประโยชน์มากนะที่เราเป็นนักดนตรีแล้วไม่ได้เรียนดนตรี การเรียนสายตรง เป็นนักดนตรีแล้วเรียนดนตรี มันไม่ได้ทำให้เราแตกต่าง

แต่ถ้าเราทำดนตรีแล้วเรียนหนัง เราก็จะเล่นดนตรีแบบคนทำหนัง มีมุมมองของคนทำหนัง มีการเล่าเรื่องแบบหนัง ซึ่งผมว่ามันแปลกใหม่และน่าสนใจกว่า และการเลือกเรียนโฆษณา ก็ช่วยให้ผมไม่ทำอะไรเอ๋อๆ ออกมาได้เยอะเหมือนกัน (หัวเราะ)













สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วรวิทย์ พานิชนันท์
ขอบคุณภาพบางส่วน: แฟนเพจ “Billbilly01”
ขอบคุณสถานที่: "ดีเลานจ์ (Dee Lounge)" คาเฟ่ภายในโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ สาขาเพลินจิต




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น