จากเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดทางภาคใต้ขณะนี้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 จึงออกมาให้ข้อมูล "คู่มือการป้องกันเกี่ยวกับวัตถุต้องสงสัย สำหรับประชาชน" จากหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัยกรมสรรพวุธทหารบก
"ตามที่ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นในหลายพื้นที่ตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ พ.ท.ทรงเดช สุกนุ้ย ผบ.ฉก.นราธิวาส 30 (พัน.ร.1511) ได้มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ทางแอดมินจึงทำการประชาสัมพันธ์คู่มือการป้องกันเกี่ยวกับวัตถุต้องสงสัย (ระเบิดแสวงเครื่อง) สำหรับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ช่วยเป็นหู เป็นตา และสอด ส่อง สิ่งแปลกปลอม ตลอดจนให้พี่น้องประชาชนปลอดภัยทุกๆ คน และถ้าพี่น้องประชาชนพบวัตถุต้องสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องทันทีครับ #ขอขอบพระคุณเอกสารคู่มือการป้องกันเกี่ยวกับวัตถุต้องสัยสำหรับประชาชน จาก #หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัยกรมสรรพวุธทหารบก
ทั้งนี้ ได้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ความรู้ด้วยว่า วัตถุระเบิด และระเบิดแสวงเครื่องคืออะไร รวมถึงข้อแตกต่างของวัตถุต้องสงสัย หรือ ระเบิดแสวงเครื่อง แตกต่างกันอย่างไร
ทว่า เนื่องจากระเบิดแสดงเครื่องที่พบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีสภาพหีบห่อภายนอกเหมือนกับสิ่งของที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถจะพิจารณาและตัดสินใจได้ว่าจะมีวัตถุระเบิดซุกซ่อนอยู่ภายในหรือไม่ จึงมีข้อแนะนำเพื่อช่วยในการตัดสินใจต่อไปนี้ สิ่งของที่พบเห็นนั้น ต้องเป็นสิ่งของที่
1.ไม่เคยเห็น หมายถึงเป็นสิ่งของที่ไม่เคยพบเห็นในบริเวณนั้นมาก่อน รวมถึงสิ่งที่เคยอยู่ ณ ที่นั้น ได้หายไป แล้วกลับมาวางอยู่ ณ ที่นั้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
2.ไม่เป็นของใคร หมายถึง เป็นสิ่งของที่ทิ้งไว้ไม่มีเจ้าของ ประกาศหาเจ้าของแล้วไม่มีผู้มาแสดงตัว
3.ไม่ใช่ที่อยู่ หมายถึง สถานที่ๆพบสิ่งของกับสิ่งของที่พบไม่มีความสัมพันธ์กัน หรือสิ่งของสิ่งนั้นควรจะอยู่ในสถานที่อื่นมากกว่าจะมาอยู่บริเวณนั้น
4.ดูไม่เรียบร้อย หมายถึง เป็นสิ่งของที่มีลักษณะภายนอกผิดปกติ หรือรูปร่างผิดไปจากเดิม เช่น กล้องมีรอยเปรอะเปื้อน มีการปิดผนึกไม่เรียบร้อย อาจมีรอยปิดผนึกใหม่ มีรอยยับต่างๆ มีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีรอยเชื่อมใหม่ มีการผูกมัดรัดตรึงที่แน่นหนาผิดปกติ มีสายไฟ หรือมีชิ้นส่วนต่างๆโผล่พ้นออกมาผิดปกติ
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยมีข้อแนะนำดังนี้ 1.หมั่นติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำที่เกี่ยวข้อง 2.หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่เสี่ยงต่ออันตราย 3.หมั่นตรวจดูสิ่งผิดสังเกตรอบๆตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ยังได้แนะนำอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันอันตรายจากแรงระเบิดและสะเก็ดอีกด้วย
1.ยางนอกรถยนต์ สามารถช่วยลดระยะอันตรายของแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิดได้ ความหนาของยางจะทำให้ลดระยะอันตรายของสะเก็ดได้ดีกับระเบิดแสดงเครื่องที่เป็นหีบห่อขนาดเล็ก ข้อดี หาได้ง่าย ข้อเสีย หากยางมีความหนาไม่มากพอ จะทำให้สะเก็ดอาจสาดกระจายออกได้ การแก้ไข โดยการวางซ้อนกันหลายวง ควรวางยางซ้อนกันอย่างน้อย 2.3 ชั้น
2.ยางล้อเครื่องบิน เนื่องจากยางล้อเครื่องบินภายในตันและมีขนาดใหญ่ สามารถป้องกันอันตรายจากสะเก็ดระเบิดได้ดี กับระเบิดแสวงเครื่องที่เป็นหีบห่อขนาดเล็กและขนาดกลาง ข้อดี กันสะเก็ดและแรงระเบิดได้ดี ข้อเสีย มีน้ำหนักมากหายาก
3.กระสอบบรรจุทราย สามารถใช้ป้องกันแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิดได้ดี โดยการนำมาวางเรียงรอบวัตถุต้องสงสัยห่างพอสมควร อย่างน้อย 2- 3 แถว ความสูงขึ้นอยู่กับพื้นที่รอบบริเวณนั้น เมื่อเกิดระเบิดจะเสียหายเพียงใด ควรวางให้สูงอย่างน้อย 4-5 ชั้น
พบแล้วจะทำอย่างไร?
เมื่อพบสิ่งของที่เข้าหลักเกณฑ์ เป็นวัตถุต้องสงสัย เพื่อความปลอดภัย
1.ห้าม หมายถึง การแตะ จับ ขยับ เคลื่อนย้าย
2.ถาม เมื่อพบวัตถุต้องสงสัยให้ถามหาเจ้าของก่อนว่ามีเจ้าของหรือไม่
3.จดจำ หมายถึงผู้ที่พบเห็นสิ่งของนั้น อย่าตกใจ ควรสังเกต ดูสิ่งที่ต้องสงสัยโดยรอบและควรจดจำลักษณะวัตถุต้องสงสัยนั้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะจำได้
4.นำแจ้งความ คือเมื่อพบวัตถุต้องสงสัยและจดจำรายละเอียดลักษณะรูปร่างแล้ว ให้ผู้ที่พบเห็นแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาจเป็นตำรวจ หรือทหาร ในพื้นที่
5.กำหนดเขตปลอดภัย หมายถึง ประเมินระยะอันตรายที่เกิดจากการระเบิด ระยะอันตรายขึ้นอยู่กับหีบห่อ จำนวนดินระเบิดที่บรรจุ
6.ให้คนออก หมายถึง ผู้พบเห็นควรแจ้งให้ทุกคนที่อยู่ในระยะอันตรายออกนอกเขตอันตรายให้หมดและควรอยู่ในที่กำบังแข็งแรง เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิด
พร้อมทิ้งท้ายข้อคิดคติเตือนใจ วัตถุระเบิด ไม่เคยปราณีใคร วัตถุระเบิด ไม่เคยให้โอกาสใครแก้ตัว วัตถุระเบิด ไม่เคยมีคำตอบที่ถูกต้องให้ใคร วัตถุระเบิด ไม่เคยจำว่าใครเป็นเจ้าของ วัตถุระเบิด คือดาบสองคม
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754