เป็นประเด็นร้อนระอุโซเชียล จาก คลิปเด็กเล็กขอโทษเพื่อนสุดไร้เดียงสา ฮาไปทั้งโลกออนไลน์ กลายเป็นซุปตาร์เพียงข้ามคืน แต่นักวิชาการไม่ขำด้วย เพราะละเมิดสิทธิเด็ก หมอเด็กก็เป็นห่วงผลกระทบต่อจิตใจส่งผลตอนโต แต่โดนชาวเน็ตที่ไม่เห็นด้วยจวกกลับ ต่อมานักกฎหมายออกโรงพูดเลยว่าโพสคลิปลงโทษเด็ก คุก 6 เดือน/ปรับ 6 หมื่น!
กรณีแชร์คลิปวีดีโอจากเฟซบุ๊ก จตุรงค์ โพธาราม ซึ่งได้โพสต์เหตุการณ์สองหนูน้อยนักเรียนชายวัยอนุบาล โดยมีเสียงครูผู้หญิงถามเด็กว่าไปต่อยปากเพื่อนทำไม เด็กน้อยที่เป็นคนทำผิดตอบด้วยเสียงร้องไห้ว่า หนูเป็นโรคกลัวของเล่น และหันไปจับตัวเพื่อน พูดว่าขอโทษนะและเป่าปากเพื่อน ซึ่งครูก็ถามน้องบุ๋มซึ่งเป็นเด็กที่ถูกต่อยว่าจะให้เพื่อนพาไปหาหมอมั้ย จะให้แจ้งตำรวจมั้ย หรือจะเอาผิดเพื่อนมั้ย ซึ่งน้องบุ๋มก็ส่ายหัว ขณะที่เด็กน้อยที่ต่อยเพื่อนบอกว่า หนูจะตีตัวเอง ไม่ทำอีกแล้ว
“เราขอโทษนะเพื่อนบุ๋ม" เด็กที่ต่อยเพื่อนพูด พร้อมยกมือไหว้และกอดเพื่อนบุ๋ม
หลังจากคลิปนี้เผยแพร่ออกไป และถูกแชร์กระจาย เป็นข่าวออกทีวี ผู้คนพากันชื่นชมหัวเราะเอ็นดูในอากัปกริยาความไร้เดียงสาของเด็กที่ต่อยเพื่อน เนื่องจากร้องไห้สั่นกลัวหนักมากเวลาครูขู่จะแจ้งตำรวจ และจริงจังเข้าไปจุ๊บเป่าปาก ..เพี้ยงให้แผลที่ริมฝีปากเพื่อนบุ๋มหายเจ็บ ฯลฯ
แต่มีคนไม่ขำด้วย โดยเฉพาะนักวิชาการและแพทย์เด็ก
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Mana Treelayapewat
“...เชื่อว่าหลายคนคงขำ หรืออาจหลุดหัวเราะกับพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กอนุบาล ใสๆ ซื่อๆ แต่ผมดูแล้วกลับสลดใจครับ เพราะคลิปเหล่านี้ ล้วนถ่ายโดยครูอนุบาล !?! ครูที่เด็กไว้ใจ เชื่อใจ แต่ครูกลับ 'ขายเด็ก' อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเศร้าใจคือ คนดูคลิปจำนวนไม่น้อย กระโดดผสมโรงวิพากษ์วิจารณ์เด็กน้อยด้วยถ้อยคำรุนแรง ผมไม่แน่ใจว่าพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กเมื่อเห็นคลิปไวรัลของลูกหลานเขาแล้วจะคิดอย่างไรนะครับ
แต่เด็กน้อยเหล่านี้เมื่อโตขึ้น คงถูกหยิบยกเอาคลิปนี้มาล้อเลียนเป็นตราบาปประทับเขา/เธอไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่ว่า เวลาที่เราหัวเราะหรือแชร์คลิปเหล่านี้ เราเองกำลังละเมิดสิทธิเด็ก กำลังทำร้ายเด็กโดยไม่รู้ตัว”
แล้วท่านก็ติดแฮชแทค #cyberbullying ขณะที่ หมอมินบานเย็น เจ้าของเพจดัง เข็นเด็กขึ้นภูเขา ขึ้นแฮชแทคตอนต้นสเตตัส #เบื้องหลังที่มากกว่าความน่าเอ็นดูของเด็กในคลิปวีดีโอ
“...คนที่ได้ดูส่วนใหญ่ก็รู้สึกเอ็นดูและขำในความไร้เดียงสา แต่หมอเห็นแล้วรู้สึกไม่สบายใจและคิดว่าเป็นหน้าที่ ที่จะต้องมาเขียนเรื่องนี้ให้สังคมรับทราบ และมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นในเรื่องของเด็ก... ...
เด็กที่ตัวโตกว่าร้องไห้แสดงความกลัวออกมาอย่างเห็นได้ชัด และพยายามขอโทษเพื่อนบอกว่าจะไม่ทำอีก ส่วนคุณครูพูดในทำนองขู่ว่าจะโทรไปแจ้งตำรวจให้จับ
จริงอยู่ว่าการรังแกกันการทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องที่ไม่ถูก และต้องจัดการ แต่วิธีการจัดการของครู หมอก็คิดว่าไม่เหมาะสมเช่นกัน ในการถ่ายคลิปวิดีโอมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย และเรื่องการขู่เด็กให้กลัวก็เหมือนกัน หมอไม่คิดว่ามันจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนในการจัดการกับพฤติกรรมของเด็ก... ...
คำพูดอย่างหนึ่งที่ผู้ใหญ่มักจะพูดกับลูกเวลาที่จัดการพฤติกรรมไม่ได้ ก็คือ คำพูดข่มขู่ สำหรับเด็กเล็กๆ คำพูดข่มขู่อาจจะได้ผล เพราะทำให้เด็กกลัว เมื่อเด็กกลัวก็จะหยุดพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ชอบ อย่างเช่น คำขู่ ชนิดที่ว่า 'ครูจะเรียกตำรวจมาจับหนูไปเข้าคุก ถ้าหนูแกล้งเพื่อน'... ...
เด็กที่ถูกข่มขู่อยู่บ่อยๆ ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสวัสดิภาพของชีวิตตัวเอง และคนที่เด็กรัก เช่น พ่อแม่ เด็กคนนั้นก็จะเติบโตมาด้วยความกลัว ไม่มั่นคง ส่งผลให้อาจจะกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ โกรธง่าย เสียใจ หวั่นไหว และ เปราะบางกับสิ่งที่เข้ามากระทบ มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาทางจิตใจได้ง่าย เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า... ...
1) หมอไม่อยากให้คุณครูถ่ายคลิปเด็กแล้วเอามาลง เพราะการทำเช่นนี้สุ่มเสี่ยงเป็นการละเมิดสิทธิเด็กตามพรบ.(แม้จะคิดว่าคุณครูไม่เจตนา) พ่อแม่เด็กทั้งคู่อาจจะไม่สบายใจ เด็กเองจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นพวกเขาอยู่ในคลิปวิดีโอที่คนดูแล้วก็หัวเราะด้วยความตลกขบขัน ถึงแม้ว่าจะบอกว่าเป็นความเอ็นดูก็ตาม
2) เด็กที่ต่อยเพื่อนนั้นก็ดูขอโทษด้วยความกลัวอย่างมาก เด็กอาจจะมีประสบการณ์ไม่ดีจากการถูกทำโทษ หรือเคยถูกทำร้ายจากคนรอบข้างรึเปล่า และมาทำร้ายเพื่อนต่อ เป็นพลวัตทางจิตที่เราพบบ่อยๆ ในเด็กที่ทำร้ายเพื่อน ซึ่งเด็กที่แกล้งเพื่อนและเด็กที่ถูกแกล้งก็สมควรได้รับการช่วยเหลือ ดูแลทางด้านจิตใจเช่นกัน
3) แทนที่ครูจะถ่ายคลิปแล้วเอามาลงยูทูบ ครูควรจะคุยกับเด็กส่วนตัว ไม่ขู่ให้กลัว สร้างแรงจูงใจในการปรับพฤติกรรม เรียกพ่อแม่คุยถึงลักษณะนิสัยใจคอของเด็กเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือปรับพฤติกรรมอย่างยั่งยืนต่อไปมากกว่า
หมอเข้าใจว่าคุณครูมีความปรารถนาดีที่จะปรับพฤติกรรมของเด็ก แต่เรื่องของความรู้สึกเป็นเรื่องที่เราต้องมีความละเอียดอ่อน แถมโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ใครๆ ก็สามารถโพสต์อะไรก็ตามที่ต้องการลงไป เพียงแค่กดปุ่มเดียว ทุกอย่างก็จะกระจายไปทั่ว เพราะฉะนั้นคนที่ใช้โซเชียลมีเดียต้องมีความรับผิดชอบ มีสติรู้ตัว ในการกระทำของตัวเองเสมอ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะมากกว่าเด็กๆ นะคะ”
ปรากฏว่างานเข้า ชาวเน็ตจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยพากันสับนักวิชาการกับหมออย่างเละ บ้างว่านักวิชาการว่างจิต คลิปนี้สอนให้เด็กรู้จักยอมรับผิด รู้จักขอโทษ รู้จักให้อภัย ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลยสักนิด ตอนเด็กๆ ก็โดนพ่อแม่ขู่มาทั้งนั้น เดี๋ยวโตขึ้นก็ลืม ดัดนิสัยเด็กต้องดัดตั้งแต่เยาว์วัย ฯลฯ
แต่อีกจำนวนหนึ่งก็เข้าใจความปรารถนาดีของหมอนักวิชาการ ไม่ตลกเลยตั้งแต่เห็นคลิป เหมือนเด็กถูกประจาน สงสารเด็กมากที่สั่นกลัว หลายคนมองว่าครูต้องมีองค์ความรู้ทางจิตวิทยาร่วมด้วย ซึ่งมีชาวเน็ตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าครูปฐมวัยในปัจจุบันนี้ต้องได้รับการอบรมจิตวิทยาเด็กอยู่แล้ว ประเด็นคือ ครูท่านนี้จบสายปฐมวัยของแท้หรือไม่ หรือเป็นครูรุ่นเก่าที่ไม่ได้เรียนจิตวิทยาเด็กรุ่นต่างๆ มา
ผู้จัดการ Live เห็นหน้าครูผ่านข่าวทีวีวันก่อน นอกจากหนังหน้าท่านเข้าข่ายเริ่มสูงวัยแล้ว ท่านยังพูดว่าเห็นขำๆ ดี อนึ่งแม่ของเด็กที่ทำผิด ให้สัมภาษณ์ว่าตอนแรกทั้งตนเองและยายไม่กล้าเปิดโซเชียล กลัวคนด่าลูก แต่พอเพื่อนๆ บอกมีคนชื่นชมเยอะ ถึงกล้าเปิดดู ยายยัง..เออ หลานพูดจาฉะฉานดี คิดคำพูดเองได้
“...การที่นักวิชาการแสดงความเห็นว่ามันอาจละเมิดสิทธิเด็ก เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า โตขึ้นถ้าเด็กสองคนนี้มาเห็นคลิปนี้แล้วได้รับรู้ว่ากาลครั้งหนึ่งมันเคยเผยแพร่ทั่วเน็ต เขาจะรู้สึกยังไง หรือถ้ามาเห็นคอมเม้นท์ที่เอาคลิปนี้ไปด่าว่า เด็กในคลิปจะรู้สึกยังไง อย่าคิดว่าคลิปแบบนี้จะมีแต่คนคิดว่าน่ารักน่าชื่นชม คุณก็รู้ๆ กันอยู่ว่าโซเชียลทุกวันนี้เป็นยังไง
ซึ่งเรื่องนี้ในนานาประเทศที่เข้มงวดเรื่องสิทธิเด็ก เขาก้าวหน้าไปมากแล้ว อย่างฝรั่งเศสที่เข้มงวดถึงขนาดว่าถ้าพ่อแม่เอาภาพลูกโพสลงเน็ต แล้วลูกโตขึ้น เห็นพ่อแม่ทำเรื่องที่ว่าแล้วรู้สึกอับอายก็ฟ้องพ่อแม่ได้เลยนะ”
เพจดัง Drama Addict โพสสเตตัสและให้ข้อมูลการคุ้มครองสิทธิเด็กในต่างประเทศ ซึ่งเฟซบุ๊กเจ้าดังอีกเพจ ทนายคู่ใจ รีบให้ความรู้ด้านกฎหมายไทยทันที พาดหัวเลย “โพสคลิปลงโทษเด็ก คุก6เดือน/ปรับ6หมื่น”
“ในพรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 จะมีอยู่มาตราหนึ่งที่น่าจะเข้าข่ายที่สุดคือมาตรา 27 เกี่ยวกับการโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลเด็กโดยเจตนาที่จะทำให้ เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง หรือเกียรติคุณ หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
ซึ่งในมุมของนักวิชาการหรือนักกฎหมายเด็กก็จะมองว่าการเผยแพร่สื่อในลักษณะนี้ออกไปของเด็ก มีโอกาสที่จะกระทบกระเทือนจิตใจของเด็กคนนี้ในอนาคตได้
ซึ่งความกระทบกระเทือนตัวนี้เนี่ยแหละที่กฎหมายคุ้มครองเด็ก คุ้มครองเอาไว้ แรกเริ่มที่ครูสอนอนุบาลหยิบมาถ่ายคลิปเนี่ยอาจจะยังไม่ผิด แต่เมื่อมีการเผยแพร่ออกไปแล้วเด็กได้รับผลกระทบผู้มีส่วนในการกระทำความผิดต้องรับผิดชอบตามกฎหมายไปซึ่งมีโทษ 'จำคุกสูงถึง 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นหรือทั้งจำทั้งปรับ'
เรื่องหน่วยงานที่ต้องออกมาปรามๆ โดยหน้าที่ควรจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะรอให้ผู้เสียหายซึ่งคือเด็กหรือผู้ปกครองเด็กมาแจ้งความประสงค์ดำเนินคดีก่อน
อย่างไรก็ตาม อยากเตือนสติครูอาจารย์บางท่านหน่อยว่าการบันทึกภาพเด็กแล้วนำไปเผยแพร่ในโซเซียล
อาจจะไม่ผิดกฎหมายหมิ่นประมาท แต่ถ้าเด็กเสียหายหรือมีผลกระทบกระเทือนจิตใจเด็กมันจะผิดกฎหมายพรบ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 27 ทันที และถ้าเด็กหรือผู้ปกครองเขาเสียหายหนักมันอาจจะถึงขั้นไปผิดตามพรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปีปรับไม่เกิน 1 แสนบาทไปด้วย
ที่ต่างประเทศเขาละเอียดอ่อนเรื่องพวกนี้มากนะคุณ มีประเทศไทยนี่แหละ'อะไรก็ได้'”
...ดราม่าเรื่องนี้...จบได้ล่ะยัง!
ขอบคุณภาพประกอบจาก FB: เข็นเด็กขึ้นภูเขา, ทนายคู่ใจ, Mana Treelayapewat, Sanook
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754