จากการโพสต์วิจารณ์สั้นๆ ว่า “ไม่น่ารักเลย” จากเพจกรมทรัพย์สินทางปัญญา ต่อกรณีหนังซูม “Deadpool” เมื่อหนึ่งเดือนกว่าที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกระแสติดแฮชแทค #ไม่น่ารักเลย ในโพสต์ต่างๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ พร้อมตื่นตัวช่วยกันรายงานเว็บไซต์แฟนเพจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อแจ้งให้ทางกรมทรัพย์สินฯ และดำเนินการตามกฎหมาย
ยอดแฟนเพจของกรมทรัพย์สินฯ พุ่งขึ้นอย่างไว ชนิดว่าไม่เคยมีหน่วยราชการไหนได้รับความสนใจตอบรับจากประชาชนเร็วขนาดนี้ แม้แต่เพจทำเนียบรัฐบาล!
ซึ่งกรมทรัพย์สินฯ ไม่ได้มาเล่นๆ เมื่อวานนี้เปิดอินสตราแกรม ใครฟอลโล่วมา ฟอลโล่วกลับ เจาะจับพ่อค้าแม่ขายหัวใส ฝากขายสินค้าปลอม เพื่อสร้างกระแสฉุดให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ซื้อไม่ขายของปลอม
วลีเด็ดโดน แฟนเพจตื่นตัวแจ้งเบาะแสสินค้าปลอม
สืบเนื่องจากกรณีแฟนเพจ Youlike (คลิปเด็ด) ได้โพสต์หนังซูมเรื่อง Deadpool เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แล้วแอดมินเพจกรมทรัพย์สินฯ เข้าไปคอมเม้นต์ “ไม่น่ารักเลย” ส่งผลให้เกิดกระแสตื่นตัว แชร์ข่าวสารข้อมูลสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ติด#ไม่น่ารักเลย
“ขอบคุณทุกท่านที่แจ้งรายละเอียดทั้งเว็บไซต์ และเฟซบุ๊กที่ไม่น่ารักทั้งหลาย ทั้งที่ขายของละเมิด และเผยแพร่ผลงานผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาติ ทางกรมไม่ได้นิ่งนอนใจ จะรวบรวมเพื่อประสานไปยังเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อให้ทราบและดำเนินความต่อไปครับ ^^”
แอดมินกรมทรัพย์สินฯ รีบสื่อสารกับประชาชนชาวเน็ต และแนะนำขั้นตอนในการแจ้งการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง
“#ลิขสิทธิ์ เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม #กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดให้มีการบริการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ เพื่อเป็นการการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องการติดต่อขออนุญาตใช้ผลงานจากเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ
ขั้นตอนการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ทำได้ง่ายๆ ตามขั้นตอนด้านล่างนี้เลยครับ ที่สำคัญ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น”
โดยทำเป็นอินโฟกราฟฟิก บอกขั้นตอนตั้งแต่เตรียมเอกสารแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์, เตรียมผลงานที่ต้องการแจ้งข้อมูล, ยื่นคำขอ, และรอรับหนังสือสำคัญ ตามลำดับ
“ช่วยดูให้นิดนึงค่ะ สงสารพ่อค้าที่ไปต่อแถว กว่าจะได้มาขาย แค่เดือนเดียว มีคนขนของปลอมมาขายแล้วค่ะ ร่วมมือกับอาดิดาสเลยก็ได้นะคะ จับแถลงลงหน้า1 ไปเลย”
เพจดังเจ้าหนึ่งแจ้งเบาะแส ซึ่งแอดมินกรมทรัพย์สินฯ รับเรื่องขอบคุณ จะส่งเรื่องต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทว่าทีเด็ดต่อมาคือ
“ปล. เพจอื่นขายพันห้าเอง”
ประโยคนี้ทำเอาชาวเน็ตแซวกันใหญ่ว่าแอดมินแอบอุดหนุนเพจอื่นอยู่หรือเปล่า ซึ่งก็มีอันต้องเฮฮากันขึ้นไปอีก เมื่อเพจดังเจ้าของกระทู้ออกมาบอกว่าได้ถามแล้ว แอดมินเพจกรมทรัพย์สินฯ ยืนยันว่าไม่เคยอุดหนุนของปลอม เพราะมีของแท้อยู่แล้ว
“ช่วงนี้ถ้าเจอเพจไหนแชร์หนังเต็มเรื่องบนฟีด facebook ผมแท๊กหา "กรมทรัพย์สินทางปัญญา" ตลอดเลย รู้สึกดี เหมือนช่วยจับโจร 55+” ชาวเน็ตผู้นิยมเสพใช้ของแท้รู้สึกคึกคัก ร่วมด้วยช่วนกันแจ้งเบาะแสของปลอม
เฟสสองบุกไอจี พ่อค้าแม่ขายของเก๊กลัว
“IG ก็มีกะเค้าแล้วนะครับ ขายของปลอมใน IG ก็อย่าคิดว่าจะรอด จะตามไปทุกหนแห่ง ว่าแล้วก็มาติดตามกันเยอะๆนะ ipthailand”
เมื่อสองวันก่อน แอดมินกรมทรพย์สินฯ โพสต์โปรโมทอินสตราแกรมที่เพิ่งเปิดตัว
“ดังแล้ว ไม่รีวิวขายครีมแน่นอนครับ ^^”
“เจอใครละเมิด แจ้งได้เลยนะครับ จะเข้าไปเตือนด้วยความหวังดี”
แฟนคลับแห่เข้าไปกดฟอลโลว์ ซึ่งแอดมินตามกลับทันที พร้อมโพสต์ว่า
“ฟอลมา ฟอลกลับ #ไม่โกง"
ชาวเน็ตแฟนคลับต่างพากันตะลึง ยอมใจแอดมินที่พากันเรียกว่า 'บอส' เลย
“ยอมใจเค้าว่ะ ไม่ใช่บอสไม่ยอมจริงๆ”
“บอสฟอลกลับ สะดุ้งเฮือก”
“ไวมากครับบอส อิอิ ขอบคุณครัช”
“ฟอลกลับไวมาก”
“ขำลั่น ฟอลโลมา”
“ฟอลกลับแล้วเครียดเลยอ่า 55+”
“ไอจีบอส คงไม่มีพ่อค้าแม่ค้า กล้าฝากร้านแน่นอน กลัวบอสฟอลกลับ 555”
แอดมินเพจกรมทรัพย์สินฯ ได้ตอบกระทู้นี้ว่า
“ฝากได้ครับ ถ้าไม่ละเมิด”
เห็นได้ว่า แอดมินเพจกรมทรัพย์สินฯ หาได้เอาฮาอย่างเดียวไม่ แต่พยายามสอดแทรกความรู้ให้ชาวเน็ตเสมอ อาทิเช่น
“ใบยาเภสัช ขายยาและอาหารเสริม หน้าร้านอยู่ที่ หนองหิ้ง จ. บึงกาฬ มีเภสัชประจำร้านซำเหมอ #ฝากร้านยังไงไห้ถูกกฏหมาย"
แฟนเพจถามฝากร้านอย่างไรถึงจะถูกกฎหมาย ซึ่งแอดมินตอบง่ายๆ ชัดๆ ว่า
“ฝากอย่างนี้แหละครับ”
เจาะกึ๋นของแอดมินโซเชียลแห่งกรมทรัพย์สินฯ
“แอดมินเว็บนี้อีคิวสูงปรื้ดเลย (แอบอ่านมาพักนึง)”
“ทำอย่างไรถึงได้แอดมินจ๊าบแบบนี้”
แอดมินเพจกรมทรัพย์สินฯ ดังจนสื่อตามสัมภาษณ์
"ด้วยหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ ทั้งเรื่องสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ต่างๆ อาจยากต่อการทำความเข้าใจให้กับประชาชน และปัจจุบันก็มีการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้น จึงต้องใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียสร้างความเข้าใจกับประชาชน และเลือกใช้ภาษาที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย"
เขากล่าวว่ามีทีมงานดูแลกันอยู่แค่ 3 คน ซึ่งล้วนเป็นหนุ่มในวัยเบญจเพศ จึงวางบุคลิกแอดมินให้ดูสนุก กวนๆ เข้าถึงได้ง่าย แต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อและหนังหน้า เพราะอยากให้คนจดจำภาพของเจ้าไอพีแมน ซึ่งเป็นมาสคอตประจำกรมทรัพย์สินฯ
“เราพยายามจะปรับภาพตัวเองจากความที่เป็นทางการให้ดูซอฟท์ลง เปลี่ยนลุคทั้งเรื่องการใช้ภาษาในการโต้ตอบ เนื้อหาต่างๆ คอนเทนต์ต่างๆ ให้เป็นภาษาพูด และให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย"
เขาแบ่งทีมงานคอยสอดส่องความเคลื่อนไหวในโลกโซเชียล ทั้งการตอบคำถามในเชิงข้อมูล และพูดคุยแบบสนุกสนาน รวมถึงการโพสต์รูปภาพให้เข้ากับกระแส
“ข้อสงสัยของประชาชนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงยินดีตอบคำถามไม่เว้นวันหยุดราชการ”
เห็นได้ว่า แอดมินกรมทรัพย์สินฯ ทีมนี้ในยุคนี้ช่างไม่ธรรมดาเลย นอกจากแหวกภาพลักษณ์เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เราๆ เคยสัมผัสกันมาก่อน ยังทำงานกันเป็นระบบ แม่นคอนเซ็ปต์อย่างจริงจัง
“เป็นกรมเดียวที่อยากติดตามครับ” ชาวเน็ตท่านหนึ่งให้ความคิดเห็น
และผลจากการบุกโซเชียลเฟสแรกทางเฟซบุ๊กภายในระยะเวลาเพียงเดือนกว่า มีผู้ร้องเรียนเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์และละเมิดทรัพย์ทางปัญญา ผ่านทางแอดมินเพจกว่า 55 เรื่องที่เป็นเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และ 24 เรื่องที่เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า
"สิ่งที่กรมมอนิเตอร์แล้วจริงๆ อยากจะสร้างกระแสให้เด็กรุ่นใหม่ หรือว่าคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ในที่นี้คือด้านทรัพย์สินทางปัญญา อยากให้ไม่ซื้อไม่ขายของปลอม" อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาบอกว่าเจ้าหน้าที่จะรวบรวม เพื่อประสานงานไปยังเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีต่อไป
ถือว่าเป็นการนำโซเชียลมาพลิกโฉมหน่วยงานราชการ ที่ช่วยขั้นตอนการของประชาชนให้เข้าถึงหน่วยงานได้ง่ายมากขึ้น
ขอบคุณภาพจาก FB และ IG: กรมทรัพย์สินทางปัญญา