xs
xsm
sm
md
lg

“เราต่างมีภูเขาอยู่ภายใน...” เบื้องหลังเส้นทางโหดหินผ่านสายตา “สาวไทยคนแรกผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์!!”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“...ฮัลโหล ซัมมิตแล้วนะ ซัมมิตแล้ว!!...”

เสียงบางๆ ของสาวไทยวัย 32 บอกผ่านสัญญาณบางเบา ส่งตรงมาจาก “จุดสูงสุดของโลก” เหนือระดับความสูงน้ำทะเล 8,850 เมตร ถึงกลุ่มเพื่อนที่ตั้งเต็นท์รอที่ฐานเบสแคมป์ด้านล่าง เพื่อจารึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญว่า เธอได้กลายเป็น “ผู้หญิงไทยคนแรก” ที่สามารถพิชิตจุดสูงสุดแห่งยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ ในช่วงเช้าของวันที่ 19 พ.ค.59 หรือ 09.45 น.ตามเวลาท้องถิ่นของเนปาล ส่งให้ชื่อของเธอกลายเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยไปแล้ว “หมออีม-ทญ.นภัสพร ชำนาญสิทธิ์”

[หมออีม กับความภาคภูมิใจของคนไทย]
 
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้เห็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลับมาตระหง่านอยู่บนยอดเขาแห่งคนกล้า หลังเคยมี “คนไทยคนแรก” ที่เคยขึ้นไปร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี พร้อมชูภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านเอาไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เพื่อจารึกประวัติศาสตร์ชาติไทย เขาคนนั้นคือ “หนึ่ง-วิทิตนันท์ โรจนพานิช” ซึ่งเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้มี “วันพิชิตฝัน” ของหมออีมในวันนี้!!
 
“เช้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ขณะที่เราใช้ชีวิตปกติกันอยู่ข้างล่าง เสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีล่องลอยในมวลอากาศบางเบาอยู่เบื้องบน เพียงไม่กี่คนบนนั้นได้ยิน...

ดึกสงัดคืนหนึ่งที่ระดับน้ำทะเล... บนหน้าจอLCD ฉันกดปุ่มฉายซ้ำ รอบแล้วรอบเล่า ภาพคนไทยคนแรกบนจุดสูงสุดของโลกกับเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วทุกอย่างก็กลับมาเงียบนิ่งฉันหูอื้อและมีน้ำตา...

ภาพและเสียงที่ก่อให้เกิดอะไรบางอย่างขึ้นมาในตัวฉัน ชีวิตในแบบวันนี้ของฉันเริ่มต้นจากคืนวันนั้น”

[หนึ่ง-วิทิตนันท์ คนไทยคนแรกผู้พิชิตได้สำเร็จ แรงบันดาลใจสำคัญของหมออีม]

ทันตแพทย์หญิง สาวไทยคนแรกผู้พิชิตจุดสูงสุดของโลกได้สำเร็จ เผยจุดประกายฝันของเธอเอาไว้ ผ่านบันทึกบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเขียนไว้เมื่อวันที่ 20 มี.ค.59 ก่อนเดินทางไปบุกลุยเส้นทางสุดโหดหินที่เต็มไปด้วยความเหน็บหนาวและอันตรายรอบด้าน ทุกย่างก้าวที่พลาดไปบนพื้นที่สูงชันแห่งนั้นย่อมหมายถึงชีวิต! มีหลักฐานจากร่างไร้วิญญาณของนักปีนป่ายหลากสัญชาติบนนั้น ฝากไว้เตือนใจหลายต่อหลายรายแล้ว ครั้งนี้ก็เช่นกัน...


“นับตั้งแต่วันซัมมิตวันที่ 19 พฤษภาคม มีความสูญเสียจากภูเขาเอเวอเรสต์เกิดขึ้นมากมาย เชอร์ปาตกเขา นักปีนที่ซัมมิตสำเร็จ แต่ไม่สามารถเดินทางกลับลงมาได้จากสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ ตาบอดชั่วคราว แพ้ความสูง ออกซิเจนหมดระหว่างทาง สูญเสียความร้อนในร่างกายขั้นรุนแรง ฯลฯ
 
นับจนถึงวันนี้ มีผู้เสียชีวิตในการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ในปีนี้แล้วถึง 6 คน มีผู้ถูกหิมะกัด (Frostbyte) ขั้นรุนแรงจนต้องตัดอวัยวะ กว่า 60 คน และอีกหลายคนยังติดค้างอยู่บนยอดเขา รอความช่วยเหลือที่อาจจะเดินทางไปไม่ถึง

[แต่ละแคมป์ที่ย้ายไป หมายถึงระดับความสูงที่เพิ่มขึ้น และเพื่อนร่วมทีมที่ค่อยๆ หล่นหายไปทุกทีๆ]
หลายวันมานี้ เฮลิคอปเตอร์กู้ภัย บินขึ้นลงตลอดทั้งวัน นำร่างทั้งที่มีชีวิตและไร้ชีวิตจาก Camp2 กลับลงสู่ EBC (Everest Base Camp) ส่วนที่อยู่สูงไปจากนั้นจะเกินระยะบิน นักปีนเขาต้องนำตัวเอง (หรือร่าง) ลงมาให้ถึง Camp2 ให้ได้ เพื่อรอรับการช่วยเหลือลำเลียงต่อไป”

เรื่องราวชวนขนลุกบนเส้นทางหฤโหดแห่งนี้ ถูกบอกเล่าเอาไว้ผ่านแฟนเพจ “Thai Everest 2016” เพื่อให้ผู้ไม่ได้ร่วมเดินทางทั้งหลายได้รับรู้ว่า การเป็นผู้เหลือรอดจากบททดสอบความเป็นความตายนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และยิ่งไม่ง่ายเข้าไปใหญ่กว่าจะได้ตำแหน่ง “ผู้พิชิตยอดเขา” มาครอง...
 
และบรรทัดต่อจากนี้คือเสียงในหัวของ “หมออีม” กับใจแกร่งๆ ของเธอ ที่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกบางช่วงบางตอนระหว่างทาง ฝากเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊ก “NAPASSAPORN CHUMNARNSIT”

“...เส้นทางสูงชัน ยาวนาน และดูไม่น่าไว้ใจตลอดเวลา ระหว่างทางมีเสียงน้ำแข็งลั่น ตามด้วยเสียงอุทานจากใครสักคน ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงทุกครั้ง ทุกย่างก้าวคือสติที่อยู่กับตัว ตลอดทางเราเกี่ยวตัวเราไว้กับเส้นเชือก ก้าวผ่านบันไดมากมายจนเลิกนับ ไต่ขึ้นกำแพงหิมะรอบแล้วรอบเล่า หลุดจาก ice fall มา ก็ยังมีเนินแล้วเนินเล่าให้ได้คิดว่า เมื่อไหร่จะถึงซะทีวะ!...”



“...ฉันจับปลายเชือกที่มองคล้ายถูกปล่อยห้อยมาจากฟ้าด้วยความรู้สึกหวิว ผนังชันที่ดูตั้งใจซ่อนตัวไม่ให้เห็นจนกว่าเราจะเดินไปยืนอยู่ตรงนั้น...”



“...นับเป็นครั้งแรกที่เฝ้านับทุกจำนวนก้าว สถิติสูงสุด 17 ก้าวต่อหนึ่งหยุด และร่วงลงไปที่ 2 ก้าว แล้วค้างอยู่กับที่เป็นแต้มต่ำสุด ดงเต็นท์สีเหลืองเบื้องบนคือจุดหมาย ฉันดันเผลอตัวไปตั้งโปรแกรมว่า จะหมดแรงที่เต็นท์เหลืองหลังแรกนั่นแหละ...”

“...ฉันสะดุ้งตื่นกลางดึก เหมือนดำน้ำอยู่แล้วอากาศใกล้หมด ฉันหายใจไม่พอ ต้องลุกขึ้นนั่ง ตั้งใจสูดลมหายใจลึกๆ ล้มตัวลงนอนอีกที ยังคงเหมือนเดิม หลับไม่ได้เลย นอนนับลมหายใจจนผล็อยหลับไปอีกครั้ง...”

“...คืนที่แสนยาวนาน และทรมานกว่าคืนไหน ฉันภาวนาขอแสงแรกแห่งอรุณให้มาถึงโดยไว...”


แต่แล้ว ด้วยใจที่ไม่ย่อท้อต่อเส้นทางสูงชัน ไม่หวาดหวั่นต่อความหนาวเหน็บเกินร่างกายของคนทั่วๆ ไปจะรับไหว ทันตแพทย์สาวประจำโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่รายนี้ ก็สามารถฝ่าดินแดน Death Zone จุดที่นักปีนเขาหลายต่อหลายรายสู้ไม่ไหวไปได้

ถ้าถามว่าอะไรคือ “ความฝันอันสูงสุด” ของเธอในวินาทีนี้ เชื่อแน่ว่าหมออีมคงไม่เหลือคำตอบอะไรเอาไว้ให้ เพราะเธอได้ “คว้าฝันอันยิ่งใหญ่” ตรงนั้นมาไว้กับตัว พร้อมทั้งมอบให้พี่น้องชาวไทยได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว

ไปทำไม ไปเพื่ออะไร คำถามที่ฉันเจอมาแล้วไม่รู้กี่รอบ แต่ก็ไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนเดิมทุกที ถ้าคุณมีความฝัน ไม่ว่าฝันถึงอะไรที่แตกต่างออกไป มันจะมีอยู่แค่เหตุผลร่วมเดียวที่เหมือนกันเท่านั้นแหละ ที่ทำให้คุณเดินหน้า แล้วเมื่อนั้นคุณจะเข้าใจคำตอบของทุกฝันอื่นๆ เอง


[มื้อประทังชีวิต]
ฉันกำลังออกเดินไปข้างนอกเพื่อกลับเข้าสู่ข้างใน ฉันออกไปไม่ใช่เพื่อพิชิตธรรมชาติ หากแต่พิชิตตัวเอง ฉันไม่ได้เดินอยู่โดดเดี่ยว หากมีฝันเดียวกันอยู่รายรอบ ฉันได้รับพลังจากทุกคนมาเต็มเปี่ยม อยากถ่ายทอดพลังใจให้กับทุกความฝันบ้าง มันเป็นพลังที่เด้งกลับไปมา เรารับมาและส่งต่อไป ทำมันเถอะค่ะ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่เราได้ลงไม้ลงมือกับฝันนั้นแล้ว มันจะไม่มีคำว่าเสียดาย

“...ภูเขาลูกแล้วลูกเล่าผ่านเข้ามา ค่อยๆ ขัดเกลาฉันอย่างเงียบๆ จนฉันกลายเป็นฉันอีกคน 'เขา' คือครูที่ต่างออกไป...
'เขา' ที่ตั้งตระหง่านอยู่เฉยๆ แต่กลับมีบทเรียนมากมายมอบให้ ทั้งโหดร้ายและสวยงาม
'เขา' สอนฉันให้อ่อนน้อม ถ่อมตน เตือนอยู่เสมอว่า ตัวเราเล็กและไร้ความหมายเพียงใด
'เขา' สอนถึงความจริงในธรรมชาติ
'เขา'
สอนให้ฉันมองเห็นตัวเอง...”



จากคำบอกเล่าในกลุ่มนักปีนทีมเดียวกัน บอกเอาไว้ชัดเจนว่า หมออีมมีพรสวรรค์ที่หาได้ยากยิ่ง มีร่างกายแข็งแกร่งที่พระเจ้ามอบมาให้อย่างน่าอิจฉา เหนือสิ่งอื่นใด เธอมีความพยายามอย่างสูงที่ขับเคลื่อนอยู่ภายใน บวกกับโชคดีที่ได้รับโอกาสจากอาจารย์ผู้ชักจูงเข้าสู่เส้นทางนี้อย่าง “ป๋าคมรัฐ พิชิตเดช” ที่ร่วมทริปปีนเขา “คินาบาลู” ด้วยกันครั้งแรกที่มาเลเซียเมื่อปี 2554 จนกลายเป็นคู่หูอาจารย์-ลูกศิษย์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดจนถึงทุกวันนี้

[หลังพิชิตยอดแห่งผู้กล้า หมออีมก็กลับลงมาฉลองชัยกับอาจารย์ และเพื่อนร่วมทีมที่รออยู่บริเวณเบสแคมป์]

[รอยจารึกแห่งความกล้า รอยไหม้บนสองแก้ม หลังเงยหน้าสู้แดดที่แรงมากขณะปีนเขาสูง]

ขอบคุณที่ฉันได้เกิดในแผ่นดินไทย ใต้ร่มพระบารมี... ขอบคุณความฝัน ขอบคุณที่มาเติมเต็มความว่างเปล่า... ขอบคุณพี่หนึ่ง-วิทิตนันท์ โรจนพานิช ผู้จุดประกายความฝัน แรงบันดาลใจแรงๆ... ขอบคุณป๋าคมรัฐ (พิชิตเดช) ผู้เปรียบเสมือนพ่ออีกคนของอีม ผู้ชี้ทาง ให้โอกาส ให้แต่สิ่งดีๆ กับอีมเสมอมา ป๋าผู้เปลี่ยนชีวิต... ขอบคุณสปอนเซอร์ทุกท่านที่ช่วยกันต่อเติมความฝันนี้ให้เติบโตและมีโอกาสเป็นความจริง

ที่จะขาดไปไม่ได้ ขอบคุณครอบครัว ขอบคุณสำหรับความรักความห่วงใย พยายามเข้าใจและสนับสนุนอีมเสมอมา ขอบคุณที่ยอมให้อีมไปทำตามฝัน และขอโทษที่หลายๆ ครั้ง เส้นทางฝันของอีมทำให้พ่อกับแม่เป็นห่วงและทุกข์ใจอยู่ไม่น้อย ขอโทษที่ไม่ค่อยได้มีเวลาอยู่ด้วยกันไม่ค่อยได้ดูแล”

[เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวเนปาล เพื่อรับมอบเกียรติบัตรสำหรับ "ผู้พิชิต"]

ภูเขาสูงชัน “หุบเขาแห่งผู้กล้าลูกที่สูงที่สุด” ลูกนี้ หมออีมได้พิชิตมันให้เห็นอย่างสมศักดิ์ศรีแล้ว เหลือเพียง “หุบเหวภายในใจ” ที่รอวันให้เธอและใครต่อใครพิชิตมันด้วยตัวเอง

“...เราต่างมีภูเขาอยู่ภายใน ไม่อาจวัดระยะได้ และไม่มีวันสิ้นสุด...”











ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: fb.com/projectthaieverest และ fb.com/Spaceworm




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น