มีเหตุให้เรียนรู้อีกครั้ง สำหรับไฟไหม้ป่าบริเวณยอดเขา "ขุนช่างเคี่ยน" เขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ที่สร้างความเสียหายกว่า 200 ไร่ โดยคาดว่าสาเหตุมาจาก "มนุษย์" เข้าไปหาของป่า และเผาเพื่อหน้าฝนจะเกิดเห็ดเผาะ สามารถนำไปจำหน่ายได้ราคาสูง
หลังจากไฟไหม้ป่าบริเวณยอดเขา "ขุนช่างเคี่ยน" ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ลุกลามอย่างหนัก ล่าสุดไฟได้ดับลงแล้ว เหลือเพียงแต่ไหม้ขอนไม้เป็นหย่อมๆ ก่อนจะพบว่า มีการจุดไฟพร้อมกันถึง 4 จุดด้วยกัน โดยสาเหตุน่าจะมาจากชาวบ้านเข้าไปหาของป่าและเผา เพราะเชื่อกันว่า ถ้าฝนมาจะเกิดเห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ สามารถนำไปจำหน่ายได้ราคาสูง
แม้จะมีการออกมายืนยันว่า ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นอยู่ห่างไกลจากสถานที่สำคัญ ทั้งวัดพระธาตุดอยสุเทพ และพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ และไม่ลุกลามเข้าเขตพื้นที่ดังกล่าว รวมไปถึงมีการสั่งตั้งวอร์รูมควบคุมไฟป่า เพื่อประสานสั่งการมิให้กลับมาลุกไหม้ได้อีก
ทว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นครั้งรุนแรงที่ลุกลามหนักสุด บอกเล่าได้จากหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่เคยเกิดไฟไหม้อย่างหนักมา 2 ปีกว่าแล้ว และไม่เคยเกิดไฟไหม้เป็นแนวยาวในลักษณะนี้มากว่า 10 ปี โดยภาพรวมของป่าเสียหายไปกว่า 290 ไร่ ก่อนจะยืนยันว่า มาจากฝีมือของมนุษย์แน่นอน
นับเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ที่ทำให้เห็นผลกระทบชัดเจนจนต้องออกมาพูดเรื่องป่ากันอย่างจริงจังสักที โดยเฉพาะไฟป่าที่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ หนึ่งในนั้นก็คือ "การเก็บหาของป่า" สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดไฟป่ามากที่สุด ซึ่งนอกจาก "เห็ด" แล้ว ยังรวมไปถึง การเก็บไข่มดแดง ใบตองตึง ไม้ไผ่ นํ้าผึ้ง ผักหวาน และไม้ฟืนด้วย
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัย "การเก็บหาของป่าเกี่ยวอะไรกับการเกิดไฟป่า" มีข้อมูลจาก "กรมป่าไม้" บอกว่า การเข้าป่าเก็บของป่า ต้องจุดไฟเผาเพื่อให้พื้นป่าโล่ง เดินสะดวก หรือให้แสงสว่างในระหว่างการเดินทางผ่านป่าในเวลากลางคืน หรือจุดเพื่อกระตุ้นการงอกของเห็ด หรือกระตุ้นการแตกใบใหม่ของผักหวาน และใบตองตึง หรือจุดเพื่อไล่ตัวมดแดงออกจากรัง รมควันผึ้ง หรือไล่แมลงต่างๆ ในขณะที่อยู่ในป่า
ส่วนสาเหตุรองลงมาคือ การเผาไร่เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ตามมาด้วยการแกล้งจุดในกรณีที่ชาวบ้านมีปัญหาความขัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ทำกิน หรือถูกจับกุมจากการกระทำผิดในเรื่องป่าไม้, ความประมาท, การล่าสัตว์โดยใช้วิธีไล่เหล่า คือ จุดไฟไล่ให้สัตว์หนีออกจากที่ซ่อน, การเผาเพื่อเป็นแหล่งอาหารสัตว์ และเผาเพื่อความคึกคะนอง
สำหรับไฟไหม้ป่าที่เกิดจากธรรมชาตินั้น จากการเก็บสถิติพบว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับไฟป่าที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ โดยมีหลายสาเหตุด้วยกัน คือ ฟ้าผ่า, กิ่งไม้เสียดสีกัน, ภูเขาไฟระเบิด, ก้อนหินกระทบกัน, แสงแดดตกกระทบผลึกหิน, แสงแดดส่งผ่านหยดนํ้า, ปฎิกริยาเคมีในดินป่าพรุ และการลุกไหม้ในตัวเองของสิ่งมีชีวิต
"เผาป่า" มีโทษหนัก
เมื่อมาดูในตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ "เผาป่า" ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายไฟป่าโดยเฉพาะ ทำให้ในทางปฏิบัติจึงต้องอาศัยมาตรการตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับป่าไม้ ซึ่งในแต่ละฉบับจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิด เรื่อง "การจุดไฟเผาป่า" อยู่ด้วย ดังต่อไปนี้
- พื้นที่ป่าไม้ทั่วไป
พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 กำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดก่นสร้าง (การขุดต้นไม้ตอไม้และแผ้วถางเพื่อการก่อสร้าง) หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือเข้าครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่น ฯลฯ ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนในกรณีเผาป่าเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท
- พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 กำหนดไว้ว่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือ หรือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บของป่า หรือทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฯลฯ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท
ส่วนในกรณีบุคคลใดเผาป่าเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้สัก ไม้ยาง ไม้สนเขา หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ หรือไม้อื่น เป็นต้น หรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกิน 20 ต้น หรือท่อน หรือปริมาตรไม้เกิน 4 ลูกบาศก์เมตร หรือต้นน้ำลำธาร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-150,000 บาท
แม้กฎหมายจะมีโทษหนัก แต่ด้วยความยากจนในชนบท บีบบังคับให้ชาวบ้านต้องอาศัยป่าเพื่อการยังชีพ ไม่ว่าจะด้วยการเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ บุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ไฟท่ามกลางวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเริ่มประทุ ไม่แปลกที่ไฟไหม้ป่าจะมีความรุนแรง และเกิดผลกระทบให้เห็นชัดเจน เช่นเดียวกับในครั้งนี้ที่ถือเป็นบทเรียนต้องจำ และเร่งแก้ไข
สำหรับทางออกของปัญหานี้ คงไม่ใช่ตามดับเมื่อเกิดไฟไหม้ป่า แต่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ นั่นก็คือ "จิตสำนึกคน" ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกเอาไว้ โดยเฉพาะชาวบ้านทั้งที่รู้ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อให้ตระหนักถึงมหันตภัยอันเกิดจากไฟป่า รวมไปถึงมีความรู้ ความเข้าใจ และมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นอีก...
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้, ขอบคุณภาพจากคุณ Max Kittipong และแฟนเพจ Chiangmai News เชียงใหม่นิวส์
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754