“ส้วมนั่งยอง” คือส้วมที่ออกแบบมาได้รองรับสุขลักษณะ “การปวดเบ่ง” ที่ดีที่สุดแล้ว!! ด้วยเหตุผลข้อใหญ่ๆ ข้อนี้เองที่ทำให้หลายต่อหลายรายเสียดาย “ส้วมซึม” หรือ “ส้วมนั่งยอง” ซึ่งคิดค้นโดยบรรพบุรุษคนไทย เมื่อมีข่าวลือออกมาว่ากระทรวงสาธารณสุขประกาศ “ยกเลิกการใช้ส้วมนั่งยอง” จึงกลายเป็นประเด็นร้อนถกเถียงกันว่าควรหรือไม่ ล่าสุด ทางการออกมาขจัดข่าวลือเรียบร้อย ระบุไม่ได้สั่งให้ “ยกเลิก” เพียงแค่ “รณรงค์” ให้หันมานั่งชักโครกกันมากขึ้นเท่านั้นเอง
เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะมีประชากรวัย 60 ปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับสถิติผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่สูงกว่า 6 ล้านคนมาตั้งแต่ปี 2549 โดยเฉพาะวัย 75 ปีขึ้นไปซึ่งจะป่วยเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 80-90 อันเนื่องมาจากการนั่งพับเพียบหรือนั่งยองๆ เป็นเวลานานๆ ส่งให้ข้อเข่าได้รับบาดเจ็บ
ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงปิ๊งไอเดียมาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผุดโครงการ “ปลดทุกข์ด้วยรอยยิ้ม โถห้อยขาเสริมสุขผู้สูงวัย พ.ศ.2556-2559” รณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยทุกครัวเรือน เปลี่ยนโถส้วมจากประเภทนั่งยองๆ หรือ “ส้วมซึม” มาใช้โถส้วมแบบนั่งราบห้อยขา หรือ “ส้วมชักโครก” กันมากขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ว่าต้องเปลี่ยนให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2559
["ส้วมนั่งยอง" ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ]
เมื่อถึงกำหนดปีวาระโครงการสิ้นสุด ประเด็นข่าวดังกล่าวจึงถูกนำขึ้นมาแชร์อีกครั้ง จนกลายเป็นเหตุให้เข้าใจผิดกันไปว่ามีการประกาศยกเลิกโดยออกเป็นกฎหมายอย่างเด็ดขาด แต่ความจริงแล้วการรณรงค์ดังกล่าว เป็นเพียงรายละเอียดที่ระบุเอาไว้ใน “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนให้ครัวเรือนไทย หันมาใช้ “ส้วมชักโครก” ให้ได้ถึงร้อยละ 90 ส่วนสถานบริการสาธารณะ ก็ต้องเปลี่ยนจาก “ส้วมนั่งยอง” เป็น “ส้วมชักโครก” ให้ได้อย่างน้อยที่ละ 1 ห้อง(น้ำ) เท่านั้นเอง
“เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด ให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ ดังนั้น การใช้ส้วมนั่งราบหรือชักโครก จึงไม่ได้เป็นการบังคับว่าต้องมีทุกแห่ง เพียงแต่เป็นการขอความร่วมมือ และเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเท่านั้นครับ” นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ช่วยแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ส่วนประเด็นที่ถกเถียงกันว่า ระหว่าง “ส้วมนั่งยอง” กับ “ส้วมชักโครก” แล้ว แบบไหนเรียกได้ว่า “ถูกสุขลักษณะการขับถ่าย” มากกว่ากันนั้น ได้ข้อสรุปว่า ท่านั่งยองๆ คือท่าที่เหมาะแก่การขับถ่ายที่สุดแล้ว เพราะแรงกดจากหน้าขาของท่านั่งท่านี้ จะไปช่วยส่งแรงกดได้ตรงจุด ให้พอดีกับลำไส้ใหญ่ จึงช่วยให้ขับถ่ายได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ในระยะยาวแล้ว ท่ายองๆ สุดคลาสสิกนี้ อาจส่งผลให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมเมื่อสูงวัยได้
[ภาพจำลองแสดงให้เห็นว่า "ท่านั่งยองๆ" คือท่าที่รับกับการวางตัวของระบบภายใน และเป็นท่าที่เหมาะกับการขับถ่ายที่สุดแล้ว]
ดังนั้น ตัวเลือกที่ดีที่สุดในการขับถ่าย จึงอาจไม่ใช่การเลือกว่าต้องใช้ “ส้วมชักโครก” หรือ “ส้วมนั่งยอง” เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สามารถนำ “ท่านั่งยองๆ” ซึ่งเป็นส่วนดีที่มากับการออกแบบส้วมในตำนาน มาปรับใช้กับท่านั่งแบบห้อยขาได้ โดยให้หาเก้าอี้พลาสติกมาวางไว้ใต้เท้า เพื่อเสริมให้ “ท่านั่งห้อยขา” บนส้วมชักโครก ถูกแปลงให้ออกมาใกล้เคียง “ท่านั่งยองๆ” บนส้วมซึมได้มากที่สุด ก็จะได้ “ท่านั่งขับถ่ายที่สบายและถูกต้องตามหลักที่สุด” ซึ่งเป็นท่าเดียวกับที่นิตยสารวิชาการในต่างประเทศหลายๆ แห่งได้ตีพิมพ์เอาไว้
...เพียงแค่นี้ ก็ต้องไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันอีกต่อไปแล้วว่า... “ส้วมชักโครก” หรือ “ส้วมนั่งยอง” ดีกว่ากัน...
[ในต่างประเทศ ถึงกับสร้างเก้าอี้เสริมระหว่างนั่งบนชักโครก เพื่อให้ใกล้เคียง "ท่านั่งยองๆ" ซึ่งรับกับการขับถ่ายที่สุด]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วน: blog.auntyacid.com
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754