ถกสนั่นโลกออนไลน์กรณี เด็กสาววัยเรียนโพสต์ภาพอุ้มท้องไปเรียน โดยบอกไม่แคร์ จะมาเรียนจนวันสุดท้าย ซึ่งชาวโซเชียลเสียงแตก ฝ่ายหนึ่งชื่นชมที่ไม่ทำแท้ง เห็นด้วยที่กล้าเปิดเผย และให้กำลังใจที่ยังมุ่งมั่นเรียนต่อ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าตั้งครรภ์วัยเรียนไม่ได้จบตรงการคลอดลูก หากต้องมีความพร้อมอีกหลายด้าน ที่สำคัญ การโพสต์ภาพและข้อความมั่นใจหาญกล้าเกินเยี่ยงนี้จะกลายเป็นค่านิยมผิดๆ ให้กับเด็กวัยรุ่นคนอื่นๆ
ไม่แคร์คนมองใส่ชุดนร.ท้องป่อง
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่เพิ่งผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก YouLike (คลิปเด็ด) ได้เผยแพร่ภาพของเด็กสาวรายหนึ่งที่ถ่ายภาพของตัวเอง พร้อมโพสต์ข้อความว่า
“นี่ก็แบกท้องไปเรียน ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนมองใส่ชุดนักเรียนแต่ท้องป่อง...แต่เรารู้สึกไม่แคร์ กลับกลายเป็นรู้สึกหน้าด้านขึ้น 555 สู้มาเรียนขาดใจจนวันสุดท้าย ไม่สนขี้ปากใคร ก็กูจะมาเรียน”
“ถ้าแบกลูกไปรร.ได้ หนูก็จะทำค่ะ อยากมีโมเม้นท์อุ้มลูกไปเรียนด้วย แต่ของหนูไม่ได้เรียนกศน. แต่เป็นอาชีวะค่ะ ดีที่เลือกเรียนสายแบบนี้ ถ้าอยู่มอปลาย มีหวังโดนไล่ออกแน่ๆ”
“โดนพ่อมันทิ้งไปแล้วค่ะ 555”
ภาพและข้อความนี้ได้รับสนใจ ชาวโซเชียลแชร์กันกระจาย รวมทั้งหลายเพจดัง และสื่อออนไลน์หลายสำนักก็นำไปโพสต์ต่อ แต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ก็พากันลบ
“โพสใหม่แป้บ สเตตัสเมื่อกี้น้องเด็กนักเรียนที่ถูกพูดถึงในข่าวเขาบอกให้ลบน่ะ อันนี้ลบละ แต่ขอพูดถึงประเด็นท้องในวัยเรียนกันต่อ....” เพจดัง drama-addict รีโพสต์ พร้อมชูประเด็นชัดๆ
“ในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ต้องเกื้อหนุนและให้โอกาสเด็กเขาให้ชีวิตเขาเดินหน้าต่อไป เรื่องการศึกษานี่ก็เช่นกัน เด็กจะเลือกเรียนต่อจนกว่าถึงตอนคลอด หรือจะพักการเรียนชั่วคราวไปจนกว่าจะคลอดแล้วค่อยกลับมาเรียนก็ได้ ไม่มีใครมีสิทธิไล่เด็กออก หรือบีบให้เด็กออกจากโรงเรียนเพื่อรักษาภาพพจน์ของสถาบันการศึกษาทั้งนั้น
ใครทำแบบนั้นผิดกฎหมายนะ
...ที่เห็นชื่อเสียงของโรงเรียน...มีค่ายิ่งกว่าชีวิตของคนสองคนที่เป็นรูปธรรมกว่าเห็นๆ”
ทว่าชาวเน็ตก็ยังคงกลับมาถกเถียงประเด็นเดิมถึงความเหมาะสมในการโพสต์ภาพและข้อความสุดมั่นของเด็กสาวผู้กำลังจะเป็นแม่คน
ชื่นชมให้กำลังใจ VS กำลังสร้างค่านิยมผิด
ตัวอย่างความคิดเห็นเป็นกำลังใจ
“พลาดแล้วแต่คิดดี ไม่เอาออก ดีแล้วค่ะ เราก็ท้องตอนเรียนไม่จบเหมือนกัน ผ่านมานานแล้ว ถือเป็นบทเรียนนะ สู้ต่อไป เหนื่อยหน่อย แต่มีความสุขดี สู้ๆนะ”
“ก็เนอะไหนๆ ก็พลาดแล้วไปแล้ว ดูแลเค้า ให้ดีนะ แล้วน้องจะพบสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต พี่ก็คนหนึ่งแหล่ะที่มีแบบพลาด เข้าใจความรู้สึกดีว่าเวลาคนอื่นมองและนินทาลับหลังมันเป็นยังไง อย่าได้แคร์ค่ะ สู้เพื่อลูกเพื่อตัวเองก็พอ สู้ๆนะเป็นกำลังใจให้”
“เค้าไม่ได้บอกว่าทำดีแล้ว แต่ในเมื่อพลาดแล้วก็ต้องให้กำลังใจ....”
ตัวอย่างความคิดเห็นว่าไม่ควรโพสต์อวด
“อย่ามั่นใจอะไรขนาดนั้น มันไม่ได้น่าชื่นชมขนาดนั้น ที่แบกท้องไปเรียน....”
“ต่อไปก็ท้องป่องเต็มห้องเรียนเลยสินะ แต่ดีกว่าที่จะไปเอาออก คิดอีกมุมหนึ่งคือ ถ้าคนนี้อุ้มท้องมาเรียนได้แล้วเด็กคนอื่นๆหล่ะ”
“พลาดแล้วก็ควรเงียบๆ จะเรียนก็เรียนไป ไม่ใช่มาโชว์ในโซเชียล”
“1.ผิดที่น้องท้องในวัยเรียน 2.ถูกต้องที่น้องยังมีความใฝ่ที่จะเรียนต่อ แต่น้องไม่ควรเอามาโชว์ เพราะอนาคตข้างหน้าเด็กรุ่นใหม่จะเห็นว่าท้องในวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติไปแล้ว จะทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นโดยไร้ประสิทธิภาพในการดูแล อยากให้น้องพร้อมกว่านี้มีการมีงานทำก่อน การดูแลใครสักคนมันไม่ได้ง่ายเลยนะ...”
ควรตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม ความรู้ป้องกัน
ทั้งนี้ ชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยเห็นว่าควรวกกลับมายังสาเหตุต้นตอของปัญหา ขึ้นชื่อว่าเป็นวัยรุ่นยิ่งในวัยฮอร์โมนพุ่งแรง คงมิอาจกดทับความรู้สึกอยากใกล้ชิดสัมผัสลองมีเพศสัมพันธ์ได้หรอก แต่สามารถป้องกันได้
ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้เกี่ยวข้องต้องหันมาให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลความรู้และแนวทางการป้องกันแก่เยาวชนของเรามากกว่า
“ก็เลือกเอาค่ะว่าจะตัดไฟแต่ต้นลม สอนให้เด็กคิดและป้องกันเวลามีเซ็กซ์ก่อนวัยอันควร หรือจะวัวหายแล้วค่อยล้อมคอก ท้องมาแล้วควรทำอย่างไร นานาจิตตังค่ะ ไม่ซ้ำแต่ก็ไม่โอ๋ ส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยที่จะตัดโอกาสทางการศึกษา แต่ควรหยุดพักไป คลอดแล้วกลับมาเรียนใหม่ แต่ก็ไม่ใช่หอบลูกมาเข้าห้องเรียน รู้จักทำเด็กก็ต้องรู้จักรับผิดชอบ รับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวเองและถึงที่สุด”
“ที่สำคัญเราว่าจะต้องสอนให้เด็กเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา สอนป้องกันดีที่สุด เพราะเอาเข้าจริงเวลามันเกิดอารมณ์อย่างว่าไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ดีชั่วอย่างไรก็ไม่คิดแล้วถึงผลที่จะตามมา”
“เรามองว่าการป้องกันก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ความสำคัญนั้นก็ไม่น้อยไปกว่าการให้โอกาสคน คือการจะไปพูดเรื่องการป้องกันหลังเกิดเรื่องไปแล้วเรามองว่าไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่ว่าคนจะแห่กันท้อง แต่การที่สังคมจะกดให้เขาไม่มีที่ยืนเลย ไม่ใช่แค่ตัวคุณแม่ในวัยเรียนเท่านั้นนะคะที่จะหมดอนาคต แต่เป็นลูกในท้องเขาด้วย”
“บ้านเรามัวแต่สอนว่าควรทำตอนไหน "ไว้โตก่อนนะ ไว้เป็นผู้ใหญ่ก่อนนะ" ไม่ค่อยสอนเรื่องป้องกัน ให้ความรู้ที่ถูกเรื่องยา”
ตั้งครรภ์วัยเรียน ผลกระทบทางลบมหาศาล
จากบทความ ความเสี่ยงผลกระทบของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ใน social-problem.blogspot.com ให้ข้อมูลว่า เด็กสาวบางคนอาจหาทางออกไม่เจอ ตัดสินใจฆ่าตัวตาย หรือไม่ก็ทำแท้ง หรือหากพยุงการตั้งครรภ์ต่อไป ก็มีปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ
- โรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่นกามโรค หนองในแท้และเทียม แผลริมอ่อน ไวรัส ตับอักเสบ บี ฯลฯ
- ตั้งครรภ์มีปัญหาครรภ์เป็นพิษ (ความดันโลหิตสูง การทำงานของไตผิดปกติ มีอาการชักได้)
- ประมาณ 57% มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดภายใน 4 ปี
- ทางด้านสังคมแม่วัยรุ่นกลุ่มนี้จบการศึกษาต่ำกว่าศักยภาพ มี ปัญหาเรื่องการเรียน
- สภาวะอารมณ์ที่ไม่มั่นคง มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า เครียด ที่จะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ การปกปิดไม่ให้ผู้ปกครองรู้
- ขาดอาหาร วัยรุ่นมักเลือกอาหาร กลัวอ้วน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และใช้ยาบางอย่างที่อาจมีผลต่อทารกในครรภ์ จึงมีความเสี่ยงที่จะได้ทารกที่ตัวเล็ก น้ำหนักน้อย ส่วนหนึ่งของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์จะขาดแคลเซียม โปรตีน ทำให้พบภาวะโลหิตจางมีมาก
- การเจริญเติบโตของกระดูกเชิงกรานยังไม่สมบูรณ์ ทำให้คลอดลำบากจะต้องผ่าท้องคลอดเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เทียบกับมารดาวัยอื่นๆ
- อัตราตายของเด็กที่คลอดสูงผิดปกติแต่กำเนิด หรือเลี้ยงดูเด็กไม่เหมาะสมจนเกิดปัญหาตามมาได้ง่าย
- คลอดก่อนกำหนด
สถิติเด็กวัยรุ่นคลอดลูกเดือนตค.มากที่สุด
จากข้อมูลการใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ (สิทธิ์ สปสช.) พบว่า สถิติการคลอดลูกของวัยรุ่นที่อายุตั้งแต่ 11-19 ปี ที่ใช้สิทธิ์ สปสช.นั้นมีประมาณร้อยละ 8 ของเด็กที่เกิดในแต่ละปี และข้อมูลล่าสุดเมื่อปีก่อนนี้เองชี้ว่าตุลาคมเป็นเดือนที่มีการคลอดลูกมากที่สุด นั่นหมายความว่า เด็กกลุ่มนี้จะตั้งครรภ์ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ (จำนวนดังกล่าวไม่นับรวมการทำแท้งนอกโรงพยาบาล) ขณะที่เดือนเมษายนและพฤษภาคม. เป็นช่วงเดือนที่เสี่ยงน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอม
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงปัญหา "ท้องไม่พร้อม" ในวัยรุ่น ว่าเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความรักมาก จนปล่อยปละละเลย และไม่สนใจอนาคตของตนเอง ซึ่งผู้ปกครองและอาจารย์ต้องให้ความสำคัญกับเด็ก ไม่ควรละเลย ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้การป้องกัน และตระหนักถึงผลที่ตามมาจากการมีเพศสัมพันธ์
ผศ.ดร.ดลพัฒน์ ยศธร ก็เขียนใน “วัยรุ่น :รักษ์ตัวตน อดทนมุ่งมั่นบากบั่นเพื่ออนาคต” ไว้ว่าจากการศึกษา เรื่องสภาวะการมีบุตรของวัยรุ่น พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนมารดาอายุต่ำกว่า 20 ปีคลอดบุตร ซึ่งเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้อีก คือ ต้องไม่เกินร้อยละ 10
สาเหตุของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยวัยรุ่นมาจากพฤติกรรมของเด็กเองที่ขาดความรู้เรื่องการคุมกำเนิด ความอยากรู้อยากลอง การขาดความรู้สึกสำนึกถึงความมีคุณค่าในตน, ปัจจัยด้านครอบครัว อย่าง สภาพครอบครัวแตกแยก ปัญหาด้านเศรษฐกิจในครอบครัว การอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม การถูกล่วงละเมิดจากบุคคลในครอบครัว และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่ ความเสื่อมของสภาพแวดล้อมในชุมชน อิทธิพลจากเพื่อนที่มีค่านิยมผิดๆ อิทธิพลของสื่อที่ไม่เหมาะสม
ทุกวันนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่าสื่อออนไลน์มีอิทธิพลและเข้าถึงเด็กวัยรุ่นได้ง่ายมาก ลำพังเนื้อหาทางเพศอันไม่เหมาะสมที่มีทั้งแอบแฝงยั่วยวน และโจ่งครึ้มชวนก๊อบปี้ ก็สกรีนกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว ผนวกกับองค์ความรู้ด้านเพศศึกษาการป้องกันก็กระมิดกระเมี้ยน ครูผู้ปกครองเหนียมอายลักปิดลักเปิด ไม่กล้าแนะนำตักเตือนอย่างจริงจัง ด้วยวิธีอธิบายแบบวิทยาศาสตร์
แล้วไงล่ะ เด็กสาววัยใสยุคนี้ตั้งท้อง แล้วมั่นจัด ออกมาประกาศแชะโชว์ลงสื่อโซเชียล เรียนไปท้องไป ไม่แคร์ใคร หวั่นว่าค่านิยมที่ผิดนี้จะผุดฮอตฮิตในหมู่วัยรุ่น นำมาซึ่งการเลียนแบบอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปัญหาสังคมต่างๆ ตามมาอีกกองพะเนินน่ะสิ !?!
ขอบคุณภาพจาก unigang.com , smartteen.net
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754