"ตำรวจ" กับ "ประชาชน" เกิดประเด็นทะเลาะกันอีกแล้ว เมื่อบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง ถ่ายคลิปขณะหิ้วเหรียญไปจ่ายค่าปรับ 400 บาท แต่ตำรวจไม่รับ บอกให้นับ พร้อมเสนอให้ไปแลกเป็นธนบัตร ทว่าอีกฝ่ายยืนยันว่านับมาแล้ว แถมไม่ยอมไปแลก กระทั่งตำรวจอารมณ์เดือดเมื่อถูกถามจากอีกฝ่ายว่า "เอาเข้าหลวงหรือของพี่เอง"
กลายประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์ขณะนี้ ทั้งฝ่ายที่เข้ามาตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และฝ่ายที่ตั้งข้อสังเกตถึงกระทำของอีกฝ่ายว่า ตั้งใจกลั่นแกล้งตำรวจหรือไม่
ล่าสุด พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อออนไลน์เว็บหนึ่ง โดยเปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่มีความผิด เพราะจะปฏิเสธไม่รับชำระค่าปรับด้วยเหรียญไม่ได้ ยกเว้นแต่จะเป็นเหรียญปลอม ส่วนประโยคที่ผู้ถ่ายคลิประบุว่า "เอาเข้าหลวงหรือพี่เอง" เข้าข่ายความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับในความผิดอย่างหลัง คงต้องวัดดวงกันอีกทีว่าจะถูกฟ้องกลับในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่ เพราะหากเจ้าหน้าที่ตำรวจคู่กรณีต้องการเอาเรื่องก็สามารถแจ้งความกลับได้ ด้านปฏิกิริยาจากผู้ใช้สื่อโซเชียลฯ แม้จะมีหลายฝ่ายที่เข้ามาตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของคู่กรณีที่ดูเหมือนจะมีเจตนากลั่นแกล้งมากกว่า
''ตร.ยัน!!..ไม่รับ'' #เสียค่าปรับโดยใช้เหรียญ (19'ก.พ.59)::--> ''ตร.ยัน!!..ไม่รับ'' #เสียค่าปรับโดยใช้เหรียญ (19'ก.พ.59) <--::#โปรดใช้วิจารณญาณไตร่ตรอง ~CREDIT: @Wattana Yaemchuti | https://goo.gl/IF8CbI*************************ขอบคุณคลิปแนะนำจาก––@Wattana Yaemchuti
Posted by YouLike (คลิปเด็ด) on Thursday, February 18, 2016
"พวกที่ด่าๆ กันว่าไม่รับเหรียญเนี่ย ได้ดูคลิปหรือเปล่า ตำรวจเขาให้นับตอนแรกมันก็ไม่นับ ไปกวนตีนเขา แถมยังไปดูถูกเขาอีก ผมเคยไปเสียค่าปรับกับพี่คนนี้ ซึ่งเขาพูดจาดีนะ"
"ตำรวจผิดที่ไม่รับเหรียญ แต่คุณวินถ้านับตอนที่ตำรวจบอกครั้งแรกก็จบ แต่ถ้านับให้แล้วแต่ตำรวจยังไม่รับ อันนี้คุณวินได้เปรียบมากๆ แต่คลิบนี้เหมือนตั้งใจมากวนตีนตำรวจนะ มุมมองแบบกลางๆ"
"เขาให้นับก็นับสิ ผมว่าคุณเรื่องมากเองนะคลิปนี้ เขาให้นับเพื่อความบริสุทธิ์ใจทั้ง 2 ฝ่าย หัวหมอเองไม่ยอมนับ เปิดกล้องตั้งใจมาหาเรื่องตั้งแต่แรกแล้ว โดยหวังจะแกล้งตำรวจ"
"ถ้ามันมีแต่เหรียญ 1 บาท 5 บาท 10 บาท ถือว่าสามารถชำระได้ครับ แต่ควรจะนับให้เขาดูต่อหน้า ไม่ใช่จะมาอ้างว่า ตนเองนับมาแล้ว แต่นี่นับก็ไม่ยอมนับ หนำซ้ำยังมีเหรียญสลึง 50 สตางค์ ผมว่ามันเจตนากวนตีน มากกว่าครับ"
"เคสนี้ เห็นใจตำรวจ เพราะไอ้คนถ่ายทำผิดกฎจราจรจริง แต่จงใจกวนตีน ส่วนตำรวจก็พูดจาสุภาพ และพยายามชี้แจงและอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด จริงๆแล้วไม่ชอบตำรวจหรอก เอาตามเรื่อง ไม่เอาอคติ ดูจบถามตัวเองดูนะว่า ถ้าเราเป็นตำรวจในคลิปเราจะอดกลั้นและพูดจาดีกับคนมากวนตีนแบบนี้ได้นานแค่ไหน"
อย่างไรก็ดี เมื่อเปิดดูกฎหมายพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 11 ระบุว่า "เหรียญกษาปณ์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไม่เกินจำนวนที่กำหนดโดยกฎกระทรวง" ดังนั้น หากจะชำระหนี้ หรือเสียค่าปรับด้วยเหรียญ ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้
- เหรียญ 25, 50 สตางค์ สามารถชำระหนี้ได้ในจำนวนหนี้คราวละไม่เกิน 10 บาท
- เหรียญ 1 บาท สามารถชำระหนี้ได้ในจำนวนหนี้คราวละไม่เกิน 500 บาท
- เหรียญ 2 บาท สามารถชำระหนี้ได้ในจำนวนหนี้คราวละไม่เกิน 500 บาท
- เหรียญ 5 บาท ทองขาว สามารถชำระหนี้ได้ในจำนวนหนี้คราวละไม่เกิน 1,000 บาท
- เหรียญ 5 บาท โลหะสีขาวเคลือบไส้ทองแดง สามารถชำระหนี้ได้ในจำนวนหนี้คราวละไม่เกิน 500 บาท
- เหรียญ 10 บาททุกชนิด สามารถชำระหนี้ได้ในจำนวนหนี้คราวละไม่เกิน 1,000 บาท
สำหรับกรณีนี้ ถ้าช่วยกันนับตั้งแต่แรกเรื่องดรามาก็คงไม่เกิด ส่วนถ้านับ และพบว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ค่าปรับด้วยเหรียญได้ โดยสาเหตุที่ต้องกำหนดการชำระหนี้ของเหรียญไม่ให้เกินจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดนั้นก็เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งกัน
ทางที่ดี ควรเลือกประเภทของเงินที่จะใช้ชำระหนี้ให้เหมาะสมน่าจะดีกว่า เพื่อไม่เป็นการก่อภาระอันเกินสมควรทั้งแก่ผู้ชำระหนี้ และผู้รับชำระหนี้ ไม่ว่าจะในกรณีเสียค่าปรับ หรือกรณีอื่นๆ ก็ตาม
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754