xs
xsm
sm
md
lg

สาวน้อยตู้ไอติม “ดานี่” นางเอกวัยใสแสนซน!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุ้นๆ ไหมกับยิ้มใสๆ แบบนี้?... คนที่ชอบรสหวานเย็น คงได้เห็นเธอบ่อยกว่าใครตั้งแต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในฐานะ “นางแบบตู้ไอติม” มาวันนี้ ถึงสาวน้อยในภาพนิ่งจะกลายเป็นสาวสวยในซีรีส์ เป็นขวัญใจวัยทีนไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ ความสดใสแสนซนของลูกครึ่งไทย-ฟินแลนด์คนนี้ และนี่คือบทสนทนาที่จะพาไปรู้จักเด็กวัย 15 ที่นิสัยห้าวกว่าหน้าตาและความคิดโตกว่าอายุ!!



หนักใช่เล่น! ชีวิตวัยว้าวุ่น

[รับบท “ปริม” ในซีรีส์เรื่องแรก "อัศจรรย์ คุณครูเทวดา"]
“เอาจริงๆ นะ หนูเห็นปัญหาเด็กผู้ชายยกพวกตีกัน เด็กผู้หญิงยกพวกมารุมตบกัน ในโรงเรียนไทยก็มีเยอะนะคะ เลยคิดว่าซีรีส์พวกนี้น่าจะมีส่วนช่วยได้บ้าง เผื่อวัยเดียวกันได้ดู เขาจะได้รู้ว่าควรจะรับมือยังไง ไม่ควรทำตัวแบบไหน เพราะทุกครั้งที่เนื้อเรื่องนำเสนอเรื่องแย่ๆ ออกมาในแต่ละตอน มันก็จะมีบทปิดท้ายด้วยการสอนทุกครั้ง”

ดานี่-มาริสา กาโปร พูดถึงซีรีส์ “อัศจรรย์ คุณครูเทวดา” ผลงานการแสดงเรื่องแรกในชีวิตที่ได้รับบทนางเอกแบบเต็มตัวผ่านโทนเสียงต่ำ ด้วยเนื้อหาที่จริงจังและน้ำเสียงที่เจือความห้าวเล็กๆ เอาไว้ จึงส่งให้หน้าหวานๆ ของเด็กสาววัยใส แลดูเข้มขึ้นกว่าแรกเห็นอยู่มากทีเดียว

ในฐานะที่เป็นนางเอกสองวัฒนธรรม เป็นลูกครึ่งไทย-ฟินแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญชีวิตวัยว้าวุ่นคอซองทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ประเด็นเปรียบเทียบวัฒนธรรมในรั้วโรงเรียนจึงกลายมาเป็นหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจ ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ดานี่ได้ย้ายไปเรียนอยู่ที่ฟินแลนด์ 2 ปี เพื่อเสริมรากแก้วให้ภาษาอังกฤษ จากนั้นจึงย้ายกลับมาต่อโรงเรียนนานาชาติในไทย บวกกับได้ซึมซับสังคมคอซองจากซีรีส์เรื่องนี้อีก จึงทำให้เธอแลกเปลี่ยนความคิดของตัวเองออกมาได้อย่างไม่ขัดเขิน


“อย่างเรื่องชุดนักเรียน ปกติตอนที่ไปเรียนจริงๆ หนูจะไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนไทยแบบนี้เลยค่ะ คือมียูนิฟอร์มนะ แต่จะไม่เรียบร้อยเท่านี้ค่ะ เสื้อจะอยู่นอกกระโปรง วันแรกที่ไปฟิตติ้ง หนูเลยใส่ชุดไม่เป็นเลย (หัวเราะเบาๆ) ต้องให้ไซซี (อภิญญา แซ่จัง) ช่วยบอกอีกทีว่าใส่ยังไง เพราะหนูไม่รู้เลยจริงๆ ค่ะว่าต้องใส่อะไรตรงไหน

เรื่องยูนิฟอร์มมันเป็นกฎของโรงเรียนไทยมานานแล้วค่ะ เหมือนอยากให้มีเพื่อเตือนให้เรารู้สึกตัวอยู่ตลอดว่าเป็นนักเรียนนะ ซึ่งมันจะต่างจากความคิดของโรงเรียนที่ฟินแลนด์ที่หนูเคยไปอยู่มา เขาจะไม่มาคอยกำหนดว่าเราจะใส่อะไรไปเรียน จะไม่ค่อยมีกฎเรื่องการแต่งตัว แม้แต่สีผมเราก็ทำสีอะไรก็ได้ เพราะเขามองว่าจะแต่งตัวแบบไหนก็เรียนได้เหมือนกันหมด

ที่นู่น ทั้งประเทศเขาไม่มียูนิฟอร์มของโรงเรียนเลยนะคะ เพราะเขาไม่อยากให้คนมานั่งแบ่งแยกชนชั้นกัน อย่างประเทศไทย มันจะมีชุดนักเรียนรัฐบาลกับชุดนักเรียนอินเตอร์ มันทำให้บางคนมองแบบแบ่งแยกว่า เด็กคนนี้อยู่โรงเรียนรัฐบาล เด็กคนนี้อยู่อินเตอร์ แล้วก็อาจจะเอาไปนินทา แต่คนที่นู่นเขาไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ค่ะ ก็เลยไม่กำหนดเรื่องยูนิฟอร์มขึ้นมา ให้แต่งอะไรก็ได้มาเรียน

แต่ก็ต้องยอมรับค่ะว่าถ้ามียูนิฟอร์ม มันก็จะช่วยให้ดูมีระเบียบเรียบร้อยมากกว่า พอแต่งตัวตามกฎแล้วมันก็ช่วยฝึกเรื่องวินัยกับกาลเทศะได้มากเหมือนกันค่ะ จะได้รู้ว่าเวลาออกไปข้างนอกต้องแต่งตัวยังไง รู้จักเตือนตัวเองตลอดเวลาว่าเราต้องดูแลตัวเองให้ดูดีในยูนิฟอร์มนะ แต่โดยส่วนตัวแล้ว หนูคิดว่าจะมียูนิฟอร์มหรือไม่มี จะแต่งแบบไหนก็ได้ค่ะ ถ้ามันไม่กระทบการเรียนนะ อย่างที่เซนต์จอห์นฯ ถึงจะมียูนิฟอร์มให้ใส่ แต่ก็จะมีบางวันที่อนุญาตให้แต่งอะไรมาก็ได้อยู่ค่ะ เป็นชุดกิจกรรม แต่ก็ยังถือว่าเคร่งเรื่องการแต่งกายกว่าต่างประเทศอยู่ดี


ยกพวกตบตีมีเรื่องกัน คืออีกหนึ่งปัญหาที่ดานี่มองว่าน่าปวดหัวมากๆ สำหรับวัยว้าวุ่น ต่อให้พยายามอยู่ให้ห่างจากเชื้อไฟ พยายามนิ่งเงียบแค่ไหน แต่บทจะถูกหาเรื่องก็ช่วยอะไรไม่ได้อยู่ดี ทางที่ดีคือต้องหัดรู้จัก “ป้องกันตัวเอง”!!

“ถ้าเทียบกับในซีรีส์ เวลาเด็กทะเลาะกันอาจจะมีตบตีกันนิดๆ หน่อยๆ แต่ที่นู่นจะมีบ่อยกว่า แรงกว่า แล้วก็ไร้สาระกว่าด้วย เคยดูเรื่อง 'Mean Girls' ไหมคะ (ยิ้ม) ในหนังเป็นยังไง ของจริงยิ่งกว่าอีก เทียบกับที่ไทย เรายังมีระเบียบ แต่ที่นู่น เด็กบางคนไม่ฟังครูเลยนะ

ตอนไปเรียนที่นู่น เคยไปอยู่แก๊งผู้หญิงกลุ่มใหญ่ของโรงเรียนด้วยค่ะ (หัวเราะ) ประมาณ 7-8 คน แต่ตอนหลังๆ เราก็ออกมาค่ะ เพราะรู้สึกว่าอยู่กับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ แล้วมันมีความสุขกว่า เพราะตอนที่อยู่ในกลุ่มใหญ่จะมีการแกล้งกันเยอะค่ะ เพราะเขาเป็นกลุ่มที่รู้จักคนในโรงเรียนเยอะ ค่อนข้างมีอิทธิพล ถ้าอยู่ดีๆ หัวหน้ากลุ่มไม่ชอบใครขึ้นมา เขาก็จะทำให้เห็นว่าไม่สนใจ เพื่อนคนนั้นก็จะถูกทิ้งไปเลยค่ะ แต่ยังดีที่ไม่ได้ตบตีอะไรกัน

แต่ที่เคยโดนแกล้งหนักๆ ที่ถูกเตะก็มีเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) แต่อันนี้เกิดที่ไทย โดนแกล้งบ่อย และหนูก็ไม่อยากโต้กลับ เลยจะเงียบๆ แล้วก็กลับมาฟ้องคุณแม่ จนคุณแม่ต้องจับไปเรียนเทควันโด แล้วหนูก็เรียนอยู่ 4 ปีจนได้สายดำเลยนะ (ยิ้ม) มวยไทยก็เรียนค่ะ พอหลังจากนั้นมาก็ไม่มีใครกล้าทำอะไรแล้ว เพราะเขาโดนกลับหมดเลย ทุกวันนี้เพื่อนกลัวแล้วเนี่ย (หัวเราะ) แต่เราไม่เคยรังแกใครก่อนนะ แต่ถ้าเขามาทำเราก่อน เราก็มีสิทธิจะป้องกันตัวหรือว่าสู้กลับอยู่แล้ว


ยิ่งตอนเด็กๆ ยิ่งถูกแกล้งบ่อยค่ะ เพราะเห็นเราเป็นเอเชีย ก็จะมีกลุ่มเด็กผู้ชายชอบเข้ามาแกล้งด่าหยาบๆ ช่วงที่เพิ่งย้ายไป ภาษาอังกฤษเราก็ยังไม่ถึงขนาดจะโต้ตอบได้ทันที เพราะเรียนโรงเรียน bilingual มา 6 ปี ภาษาก็ลืม เลยไม่รู้จะตอบอะไร พอโดนเขาว่า หนูก็เสียใจ แต่พออยู่ไปนานๆ เริ่มปรับตัวได้ เริ่มใช้ภาษาอังกฤษได้มากขึ้น กล้าพูดมากขึ้น พอเขาพูดอะไรมา เราก็สวนกลับได้ หลังๆ เขาก็ไม่มายุ่งกับเราแล้วค่ะ หรือแค่เราทำเป็นไม่สนใจ ไม่เสียใจกับการแหย่ของเขา เขาก็เลิกกวนเราไปเอง”



เกิดมาเพื่อเป็นนางเอก!

[หนูน้อยปันปัน (ซ้าย), หนูน้อยดานี่ (ขวา)]
ปู-ไปรยา, แป้ง-อรจิรา, มิ้นท์-ชาลิดา, เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ฯลฯ คือรายชื่อนักแสดงแถวหน้าที่ดานี่เคยสวมบทบาทเป็น “นางเอกตอนเด็ก” ให้หมดแล้วทั้งนั้น แซวเล่นๆ ว่าเธอเกิดมาเพื่อเป็นนางเอก คนที่อยู่ตรงหน้าจึงได้แต่หัวเราะขำๆ ตอบกลับ “จริงๆ แอบอยากลองเล่นบทร้ายดูเหมือนกันนะคะ ไม่ก็บทที่คล้ายๆ ตัวเองหน่อย ห้าวๆ หน่อย แนว action ก็ได้ค่ะ เพราะตอนหนูเล่นเป็นพี่แป้ง-อรจิรา (ละครเรื่อง “นางสิงห์สะบัดช่อ”) หนูก็เล่นฉากบู๊เหมือนกัน มันสนุกดีค่ะ เจ็บตัวดี” สาวน้อยวัยใสพูดไปยิ้มไปในแววตาซุกซน

“ถ้าให้เทียบกับตอนเด็กๆ หนูว่าตอนนี้หนูก็พัฒนาขึ้นพอสมควรเลยนะ” ว่าแล้วเจ้าของผลงานก็เริ่มวิเคราะห์ตัวเองให้ฟัง “แต่ก็ยังต้องพัฒนาอีกเยอะเลยค่ะ ถ้าคะแนนเต็ม 100 ตอนนี้คงได้แค่ 30-40 เอง (ยิ้มเขินๆ) ยังมีปัญหาเรื่องสายตาเยอะเลยค่ะ เหมือนอารมณ์ที่เราอยากให้สื่อมันไม่ออกมาทางตาด้วย ทุกวันนี้ พอมาดูที่ตัวเองเล่นแล้ว ยังรู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยได้อารมณ์เท่าไหร่ คือรู้สึกว่าเล่นดีขึ้นนะ แต่ยังไม่ถึงกับดีอ่ะค่ะ ยังต้องเรียนต้องฝึกต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อก่อนยิ่งมีปัญหาเรื่องจำบทด้วย แต่ทุกวันนี้ก็ดีขึ้นค่ะ จำอะไรได้เร็วขึ้นเยอะเลย จากแต่ก่อนขนาดว่าเอากลับไปท่องที่บ้านก็ยังจำไม่ได้เลย เหมือนเราไม่เข้าใจบทด้วย พอไม่เข้าใจแล้วแสดงออกมา มันเลยยังแข็ง ยิ่งเราตื่นเต้นด้วยมันเลยยิ่งยากค่ะ แต่หลังๆ พอเริ่มเข้าใจบทมากขึ้น เริ่มจำได้ เราก็ไม่ค่อยเครียดแล้ว พอไม่เครียดตรงนั้นปุ๊บ เราก็ไปได้แล้วค่ะ

แต่กว่าจะผ่านช่วงเล่นแข็งเป็นท่อนไม้มาได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนกัน ยิ่งตอนยังเป็น “เด็กหญิงดานี่” ที่ยังไม่เข้าใจว่าตัวเองมายืนทำอะไรอยู่ในสปอตไลต์ ยิ่งทำให้อะไรๆ มันยากกว่าที่คิด

“จำแม่นเลยค่ะ ตอนนั้นอายุประมาณ 5-6 ขวบได้ เขาเรียกเราไปแคส เป็นงานลูกอม 'Tommy' ให้เรากินแล้วก็ทำหน้าอร่อย (หัวเราะเบาๆ) หนูก็แค่เดินเข้าไป แล้วก็กินเฉยๆ ตอนนั้นยังเป็นงานแรกๆ อยู่เลยค่ะ กลัวกล้องไปหมด แล้วก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงบ้าง ยังไม่กล้าแสดงออกเลย เลยไปยืนกินแล้วก็ทำท่าเคี้ยวๆ เฉยๆ (ทำท่าเคี้ยวด้วยหน้าเฉยให้ดู) แต่เราก็คิดว่าเราทำหน้าอร่อยของเราแล้วนะ (หัวเราะ)

พอพี่เขาเห็นเราเล่นไม่ได้ เขาก็บอกว่าโอเค เสร็จแล้วค่ะ หมายถึงงานนั้นไม่ได้ค่ะ (ยิ้ม) เป็นแบบนั้นอยู่ประมาณ 5-6 งาน แต่ว่าแต่ละครั้ง เว้นระยะห่างกันเป็นปีๆ เลยค่ะ แต่ acting เราก็ยังไม่ดีขึ้น จนสัก 7-8 ขวบ เริ่มรู้เรื่องมากขึ้น พอมาเช็กที่ตัวเองแสดงที่จอมอนิเตอร์ดู ถึงได้รู้ว่าการแสดงของเรามันไม่ไหวจริงๆ (หัวเราะ) ต้องพัฒนามากๆ เลย พอประมาณ 9-10 ขวบก็เริ่มเป็นงานมากขึ้น เริ่มสนุก หลังจากถ่ายงานโฆษณามาหลายตัวหน่อย ก็เริ่มดีขึ้น


[ยังคงเป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็น "นางแบบตู้ไอติม" มาจนถึงทุกวันนี้]
ตัวที่คนจำได้เยอะสุด น่าจะเป็นงานที่ถ่ายภาพนิ่งของ Nestle ค่ะ ที่ติดอยู่ที่ตู้ไอติม (หัวเราะ) จริงๆ ตัวนั้นถ่ายไว้นานแล้วนะ ประมาณ 6 ปีได้ แต่คนเพิ่งมาแชร์ๆ กันเยอะช่วงนี้ ตัวนั้นเพื่อนล้อตั้งแต่ผลงานออกมาช่วงแรกๆ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังแซวกันอยู่เลยค่ะ ชอบถ่ายรูปคู่ตู้ไอติมแล้วส่งมาให้เราดู บอกเจอกันทุกเช้าเลยนะ (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ทุกคนจะเห็นมาหมดแล้วค่ะตู้นี้ กับอีกงานที่ถ่ายไว้นานแล้ว ประมาณ 7-8 ปีได้ แต่เขายังใช้ภาพมาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือ โฆษณา ‘Ocean’ ค่ะ ที่จะมีหนูเป็นเด็กถือจาน-ถือแก้ว-ถือเหยือก อยู่ข้างหน้า (ยิ้ม)”

จะว่าจับพลัดจับผลูมาเข้าสู่วงการบันเทิงก็ได้ เพราะดานี่ไม่เคยมีความคิดอยากเป็นซูเปอร์สตาร์หน้ากล้องมาก่อนเลย แค่ไปเดินตามห้างฯ กับคุณแม่แล้วโมเดลลิ่งก็เข้ามาติดต่อขอให้พาลูกไปแคสโฆษณา แรกๆ คนถูกชวนก็ไม่ได้สนใจ แต่พอมีคนมายื่นข้อเสนอมากๆ เข้า เลยตัดสินใจพาลูกไปชิมลางดูสักที ส่วนหนูน้อยอย่างดานี่ที่ยังไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร แรกๆ ก็ไม่ชอบและไม่เข้าใจการมีชีวิตอยู่หน้ากล้อง แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมองเห็นทางของตัวเองว่าน่าจะหาความสุขในการสวมบทบาทได้ ยิ่งถ้ามีดนตรีเข้ามาเพิ่มมิติของการแสดง ก็ยิ่งน่าลอง!!

“อยากเล่นละคร เล่นซีรีส์ เก็บประสบการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ ก่อนค่ะ และถ้ามีโอกาสก็อยากเล่นหนังโรงด้วย ละครเวทีหนูก็อยากทำค่ะ (ยิ้ม) เพราะหนูชอบฟังเพลง ชอบร้องเพลงอยู่แล้วด้วย จริงๆ หนูเคยเล่นละครเวทีของโรงเรียนมาเหมือนกันนะคะ เป็นโปรเจกต์ที่มีครูมหาวิทยาลัยอเมริกามาสอน เลยคิดว่าน่าจะพอทำได้

"รฐา โพธิ์งาม" หรือ "ญาญ่าญิ๋ง" คือไอดอลด้านการแสดงที่ดานี่ชื่นชมและชื่นชอบมาก บอกเลยอยากบริหารเสน่ห์ในการแสดงของตัวเองให้ได้อย่างมืออาชีพคนนี้ “ยิ่งเวลาเขาพูด ยิ่งดูมีเสน่ห์มากๆ ค่ะ พูดทุกคำชัดเจน จนมันทำให้เราต้องมองเขา คือแย่งซีนทุกคนได้ (ยิ้ม) ไม่ว่าจะเป็นบทในละคร ในหนัง หรือละครเวที จะเล่นใหญ่ เล่นแบบธรรมชาติ พี่เขาก็เล่นได้หมด แถมพี่เขาร้องเพลงเพราะด้วยค่ะ หนูเลยยิ่งชอบ ตอนนี้เลยพยายามพัฒนาเรื่องแสดงของตัวเองก่อนค่ะ แล้วถ้ามีโอกาสก็คงได้ฝึกเรื่องร้องเพลงเสริมไปด้วย”


และไม่ว่าจะอย่างไร “เรื่องเรียน” ต้องมาเป็นอันดับแรกเสมอ! สาวน้อยสองวัฒนธรรมถูกปลูกฝังเอาไว้อย่างนั้น ทุกวันนี้ถ้าคิวถ่ายทำชนกับวันธรรมดา เธอก็พร้อมจะก้าวถอยหลัง ออกมาดูเชิงก่อนว่าจะรับหรือไม่รับ

คุณพ่อไม่ค่อยอยากให้หยุดเรียนค่ะ เพราะถ้าเกรดไม่ถึงก็ต้องเสียเงินเรียนใหม่ และยังไงก็อยากให้เกรดดีไว้ก่อนค่ะ โรงเรียนหนูจะค่อนข้างกดเกรดนิดนึงด้วย ก็เลยต้องดันตัวเองขึ้นมาหน่อย

ที่บ้านจะสอนตลอดว่าเรื่องเรียนยังไงก็ต้องมาก่อน อย่างหนูถึงจะเรียนไม่เก่งอะไรมาก แต่ก็ไม่ยอมให้ตก แล้วก็ไม่ทิ้งการเรียนแน่นอนค่ะ ส่วนงานในวงการ เราก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องรีบทำงานเก็บเงินซื้อนู่นนี่นั่น ไม่ได้รีบร้อนอยากดังอะไร แล้วก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองดังด้วยค่ะ หนูแค่อยากทำไปเรื่อยๆ เก็บเป็นประสบการณ์มากกว่า แค่ทุกวันนี้ฟีดแบ็กดีขึ้นเรื่อยๆ มีคนบอกว่าชอบที่เราแสดง เวลาไปข้างนอกแล้วมีคนมาขอถ่ายรูปบ้าง มีคนพอจะจำเราได้บ้าง เท่านี้หนูก็พอใจแล้ว” เธอยิ้มใสๆ ปิดประโยค



Slow Life ใน “ฟินแลนด์”

[ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว คือการ Slow Life ที่ดีที่สุด]
50/50 ดานี่แบ่งวัฒนธรรมเลือดผสมที่มีอยู่ในตัวเอาไว้ในอัตราเท่าๆ กัน เธอบอกว่าคุณพ่อชาวฟินแลนด์ กับคุณแม่ชาวไทยแท้ ไม่ได้อยากให้ลูกเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว อยากให้มีความคิดแบบตะวันตกและตะวันออกอยู่ในจุดที่สมดุล จึงทำให้เธอและดาเนียล น้องชายของเธอ เหมาะกับคำว่า “ลูกครึ่ง” อย่างที่ถูกเรียกจริงๆ

“บางทีไปอยู่นู่นแต่คิดแบบไทยก็มี หรือตอนอยู่นี่แต่คิดแบบฝรั่งก็มี มันผสมกันไปมาค่ะ แต่เรื่องที่คุณแม่จะเน้นมากเลยคือเรื่องมารยาทแบบไทยๆ ค่ะ แต่จริงๆ แล้วที่ฟินแลนด์ก็ไม่ค่อยต่างจากบ้านเรามากนะคะ เพราะส่วนใหญ่คนที่นู่นเป็นแนวเงียบๆ เรียบร้อย อยู่กันแบบสงบๆ อยู่แล้ว ก็เลยเข้ากันได้ง่ายหน่อย เพราะวัฒนธรรมไม่ได้ต่างอะไรกันมาก


จะมีจุดต่างที่เห็นได้ชัดอยู่บ้าง คงเป็นเรื่อง “วิถีชีวิต” โดยเฉพาะช่วงเวลาหยุดพักผ่อนอยู่กับครอบครัว คนที่นู่นเขาจะใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติและการผ่อนคลายจริงๆ อย่างคุณพ่อของดานี่ ซึ่งเป็นวิศวกรบนเรือใหญ่ปลูกฝังความคิดแบบนี้ให้ลูกๆ เสมอๆ คือถ้าช่วงไหนที่ไม่ได้ออกเรือไปตรวจสอบงาน ก็จะเลือกใช้ชีวิตบนผืนดินและใช้เวลาอยู่กับคนที่รักให้ได้มากที่สุด

“คุณพ่อจะไม่ค่อยได้สอนอะไรเป็นคำพูดเท่าไหร่ค่ะ แต่เขาจะสอนให้เราทำ สอนให้เรา้โตมากกว่า บางทีอยู่บ้าน คุณพ่อก็จะสอนให้ช่วยทาสีบ้าน (พูดไปยิ้มไป) จะชอบให้ทำกิจกรรมกับครอบครัวค่ะ แต่หนูก็ทำบ้าง ไม่ทำบ้างนะ (หัวเราะ) เขาจะชอบให้เราออกไปทำนู่นทำนี่ด้วยกัน อย่างตอนไปอยู่ฟินแลนด์ พอช่วงหยุด summer คุณพ่อก็จะพาเอารถขึ้นเรือ ข้ามทะเล ไปเข้าป่า ไปตกปลา แล้วก็ย่างไส้กรอกทานกัน

“บ้าน Summer” คือบ้านพักตากอากาศที่แต่ละครอบครัวจะมีกัน เอาไว้เดินทางไปพักผ่อนช่วงวันหยุดที่อากาศกำลังพอดี ช่วงเวลาที่แสงแดดแวะมาให้เชยชมได้ไม่นานนักก็ลาจากไป จึงเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ปลูกฝังกันมาว่า แต่ละหลังจะต้องออกไป “ใช้แสงแดด” ให้คุ้ม!!

“ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมี 'บ้าน Summer' นะคะ แต่สัก 80 เปอร์เซ็นต์เลยจะมี จะมีบ้านกลางป่า อยู่ในเกาะติดทะเล เราก็จะขับรถไปขึ้นเรือค่ะ แล้วค่อยเอารถลงไปขับต่อที่เกาะ และจะมีบ้านแบบนี้อยู่ติดกันเป็นหลังๆ พอไปถึงเราก็จะไปเดินป่า (Trekking) กัน แล้วก็จะมีตกปลา มีเซาน่า ฯลฯ เป็นกิจกรรมบ้านๆ เลยค่ะ เป็นการผ่อนคลายที่คนที่นู่นทำกันตลอด เขาจะไม่ค่อยชอบไปเที่ยวไหนไกลค่ะ แต่จะเที่ยวกันในประเทศ แล้วก็ผ่อนคลายกันจริงๆ สัญญาณโทรศัพท์ก็จะไม่ค่อยมี ใช้ไม่ค่อยได้ คือไปอยู่กับธรรมชาติ ไปซึมซับกับมันจริงๆ

จะบอกว่าเวลาอยู่ที่นู่น มันต่างจากเพื่อนที่นี่นะ คือเวลาออกไปข้างนอก จะไม่มีใครเล่นโทรศัพท์กันเลย จะ outgoing มากๆ คือไปไหนก็ไปจริงๆ ไปเที่ยวกันจริงๆ คุยกันจริงๆ จะไม่มานั่งถ่ายรูปอาหารกัน คือถ้าจะ selfie ก็จะยกขึ้นมาถ่ายแล้วก็จบเลย



ถ้าหนูหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปอาหารตามมุมต่างๆ นี่ อายคนอื่นเขามากเลยนะคะ คนมองค่ะ (ยิ้มบางๆ) มันจะต่างกันตรงนี้แหละ คนเขาจะมองว่าคนนี้เป็นอะไรหรือเปล่า นั่งถ่ายรูปคนเดียว เพราะปกติเขาจะไม่ค่อยติดโลกโซเชียลฯ กันเท่าไหร่ค่ะ จะเน้นคุยกันจริงๆใช้ชีวิตจริงๆ คุณพ่อก็จะออกแนวนั้นมากกว่า

หรืออย่างช่วงหยุด เขาก็จะหยุดกันจริงๆ หยุดกันทั้งเมืองเลยค่ะ จะไม่มีร้านมาตั้งขาย หรือมีเสียงดังรบกวนอะไรมากมาย แต่ที่ไทย เวลาไปถึงที่เที่ยวที่พักผ่อนแล้ว หลายๆ ที่มันก็ยังต้องมีจุดอำนวยความสะดวกอยู่ ยังมีเซเว่นฯ อยู่ แต่ที่นู่น ถ้าไปที่พักผ่อน จะไม่มีร้านอะไรเหลือเลยค่ะ ตอนที่ไปอยู่กับคุณแม่ แล้ววันต่อไปเป็นวันหยุด หนูกับแม่ก็ต้องเตรียมไปซื้อของมาตุนไว้ล่วงหน้า 2-3 วัน เพราะ 6 โมงเย็น ร้านก็จะปิดหมดแล้ว เงียบทั้งเมืองจริงๆ ค่ะ”

ถึงทุกวันนี้ คำว่า “Slow Life” จะเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทย แต่ถ้าเทียบกับวิถีปฏิบัติให้ตรงกับความหมายของคำคำนี้ ก็ยังถือว่าหลายๆ คนในประเทศนี้ตีความผิดไปหลายขุมอยู่เหมือนกัน

“ของเรา คำว่า slow life มันออกแนวเหมือนขี้เกียจมากกว่า (หัวเราะ) แค่นอนเล่นโทรศัพท์อยู่ที่บ้าน บางคนก็ถือมันคือการ slow life แล้ว แต่ถ้าเป็นที่นู่น คำว่า slow life เขาจะไปผ่อนคลายกันจริงๆ เลยค่ะ กลับไปหาธรรมชาติ ไปใช้ชีวิตอยู่แบบเงียบๆ มันเหมือนคนไทยเราจะไม่ค่อยขาดโซเชียลฯ เท่าไหร่ ไปเที่ยวไปไหนก็ยังอัปลง IG ตลอด หนูว่าบางทีเราก็ต้องไปซึมซับธรรมชาติบ้างนะ

คือจะเล่นมือถือ จะอัปรูปบ้างก็ไม่เป็นไรนะสำหรับหนู แต่ไม่ใช่มานั่งเล่นตลอดเวลา บางคนติดมือถือมาก ต้องถ่ายแล้วอัปเดี๋ยวนั้น บางทีออกไปข้างนอกด้วยกัน แต่ไม่คุยกันมันก็น่าเบื่อนะ ถ้าไปกับเราแล้วมานั่งเล่นโทรศัพท์ มันดูไม่ค่อยให้เกียรติเท่าไหร่ ตั้งแต่หนูกลับมาจากฟินแลนด์ เวลาไปกับเพื่อน ถ้าเพื่อนเราอยู่ตรงนั้นด้วยแล้ว หนูจะไม่เล่นโทรศัพท์เลยนะ

ส่วนมากหนูจะชอบคุยกับคนจริงๆ มากกว่าค่ะ เวลาอยู่กับเพื่อน ก็จะไม่เล่นมือถือเลย แต่เวลาอยู่บ้านแล้วอยากคุยกับเพื่อน หรืออยากดูหนังในคอมพ์ ถึงจะอยู่หน้าจอ แต่เวลาอยู่กับครอบครัว คุณพ่อจะไม่สนับสนุนให้เล่นโทรศัพท์เลยค่ะ จะอยากให้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากกว่า

และจริงๆ แล้วหนูก็คิดว่า ถ้าคนเราคุยกันมากขึ้น โดยเฉพาะคนในครอบครัว อะไรๆ มันก็น่าจะดีขึ้นนะ หนูจะชอบชีวิตของคนยุคเก่าๆ มากเลยค่ะ ประมาณยุค 1960 ที่เขายังไม่มีสมาร์ทโฟน ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ถ้าอยากติดต่อกัน หลักๆ ก็ไปหากันเลย แล้วก็ได้คุยกันจริงๆ แต่เดี๋ยวนี้ การสื่อสารหลายๆ อย่างมันเปลี่ยนไป แค่ไม่ตอบไลน์บางทีก็มีปัญหากันแล้ว แต่สมัยก่อนมันไม่ใช่อย่างนี้ไง บางทีมันก็จำเป็นนะที่เราจะทิ้งเทคโนโลยีพวกนี้เอาไว้ แล้วออกไปทำให้สมองมันโล่งจริงๆ


ประวัติส่วนตัว

ชื่อ: ดานี่-มาริสา กาโปร
วันเกิด: 24 ก.ค.2543
การศึกษา: นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเซนต์หลุยส์ศึกษา
ผลงานเด่น: ภาพโฆษณาบนตู้ไอศกรีม Nestle และ ซีรีส์ “อัศจรรย์ คุณครูเทวดา” ทางช่อง One



ซนจนแม่ต้องปราม!

“ช่วงนี้ชอบเล่นสเก็ตช์บอร์ดค่ะ” ดานี่เริ่มพูดถึงมุมซนๆ ของตัวเอง “เพิ่งหัดเล่นเมื่อประมาณ 5 เดือนที่แล้ว ก็มีหกล้มบ้าง มีแขนซ้น เพราะหัดเล่นท่ายากๆ กับเพื่อนค่ะ (ยิ้มแหยๆ ใส่คุณแม่ที่นั่งอยู่ไม่ไกล) แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้เล่นเท่าไหร่แล้วค่ะ คุณแม่เค้าห่วง กลัวเราหัวแตก (เสียงอ่อย) กลัวว่าจะมีปัญหาเรื่องงานด้วยค่ะถ้าเกิดเป็นอะไรมาช่วงต้องถ่ายทำ ตอนนี้ก็เลยได้แต่ไถๆ ถูๆ บอร์ดเล่นๆ ไปก่อน

แต่มีแพลนว่าจะกลับไปเรียนต่อยมวยอีกรอบ “ช่วงนี้รู้สึกแขนขาไม่ค่อยมีแรงเลยค่ะ จะได้มีกำลังแขน-กำลังขา” ว่าแล้วคนเป็นแม่ก็พูดเสริมขึ้นด้วยน้ำเสียงเอ็นดูปนดุเล็กๆ “เขาซนมากค่ะ ซนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว จะชอบเล่นอะไรเหมือนเด็กผู้ชายตลอด” คนถูกปรามยิ้มรับซนๆ แล้วให้เหตุผล “คงเพราะตอนเด็กๆ โดนเพื่อนๆ แกล้งเยอะมั้งคะ พอโตมาเราก็เลยเหมือนต่อต้าน ก็เลยกลายเป็นแบบนี้ (หัวเราะ)"


สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพบางส่วน: IG @marisakaapro




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น