ในช่วงเวลานี้ เขาอาจเป็น “น้าราม” ผู้ชายอบอุ่นแสนดีที่สาวๆ ทั้งประเทศต้องจิกหมอนนอนจิ้นเพราะอินบทละคร แต่สิ้นเสียง “คัต” เมื่อไหร่ ชายคนเดียวกันนี้ก็พร้อมจะเดินออกจากแสงไฟ แบกเป้บุกลุยเข้าไปในดินแดนต้องมนต์ ในฐานะ “แบ็กแพกเกอร์” หยิบกล้องตัวโปรดขึ้นพาดสะพายบ่า มองโลกผ่านเลนส์ตาของ “ช่างภาพมือรางวัล” ก่อนปลดสัมภาระทั้งหมดวางทิ้งไว้ แล้วหันหน้าเข้าหาโรงครัว โหมเปลวไฟ ปรุงอาหารจานเด็ดเสิร์ฟร้อนในนาม “เชฟอู๋” ออกมาให้ทาน
มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะโชคดี ได้มีโอกาสพบเจอผู้ชายคนนี้ในช่วงเวลาไหน มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเห็นเงาของใคร ในความเป็น “ธนากร โปษยานนท์”
กระแสแรง น้ารามฟีเวอร์!!
["หนูนา-น้าราม" ฉากเรียกน้ำตาแห่งปี]
แนวเคราครึ้ม ในมาดนิ่ง แววตาคมเข้ม น้ำเสียงจริงจัง... นักแสดงเจ้าบทบาท ดาวค้างฟ้าวัย 43 ยังคงถามคำตอบคำ ในช่วงแรกที่บทสนทนาเพิ่งตั้งไข่หัดเดิน เขาหัวเราะเบาๆ กลับมาเป็นคำตอบ เมื่อถูกกระเซ้าถามถึงฟีดแบ็กละครเรื่อง “ตามรักคืนใจ” ว่าใครต่อใครต่างก็พูดถึงแต่ “น้าราม” หนุ่มใหญ่ใจดีในเรื่อง ยิ่งกว่าพระเอกของเรื่องอย่าง “ณเดชน์ คูกิมิยะ” เสียอีก จนคอละครแซวกันขำๆ ว่าละครรีเมกเวอร์ชันนี้ “น้าราม มาเพื่อฆ่า ณเดชน์” เห็นๆ... คนถูกชมก็ได้แต่ยิ้มมุมปาก แล้วตอบกลับมาเบาๆ ว่า “คงเป็นเพราะพล็อตเรื่องนี้ เขาเน้นเรื่องระหว่างพ่อกับลูกมากกว่า”
“เป็นการเสียน้ำตาให้กับละครที่คุ้มค่าที่สุด” ผู้ชมพูดถึงฉาก “เจ้าก้านไม้ขีดไฟ” เอาไว้เป็นเสียงเดียวกัน เป็นฉากที่นางเอก (มิว นิษฐา) เผยความจริงว่าเป็นลูกของน้าราม หลังปิดบังสถานะเพื่อเฝ้าดูคนเป็นพ่ออยู่นาน เป็นซีนอารมณ์ที่ทั้งคู่ตีบทแตกกระจุย เล่นเอาน้ำตาท่วมจอกันมาแล้วทั้งประเทศ ยิ่งวินาทีที่สองพ่อลูกโผเข้าหากันเพื่อสวมกอด ยิ่งส่งให้ฉากนี้กลายเป็นฉากเรียกน้ำตาแห่งปี เรตติ้งพุ่งสูงสุดถึง 8.6 อย่างที่ไม่เคยมีตอนไหนของละครเรื่องนี้ทำได้มาก่อน
โดยเฉพาะฝีมือการแสดงขั้นเทพของอู๋-ธนากร ที่แฟนๆ ต่างขอรุมกราบ โพสต์ยกย่อง ปรบมือรัวๆ ให้ บอกเลยว่าบนโลกออนไลน์ตอนนี้มีแต่แฮชแท็ก #น้าราม กับ #ตามรักคืนใจ เต็มไปหมดแล้ว!!
“ความยากของบทนี้ก็คือ เราไม่เคยมีลูก เราก็เลยต้องไปปรึกษาพี่อ๊อฟ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) กับคนทั้งหลายที่มีลูก ไปซึมซับเอาความรู้สึกจากเขามา แต่พอถึงเวลาแสดงจริงๆ อย่างไอ้ฉากพีกฉากนั้น หลายคนก็ถามว่าตอนแสดงคิดอะไรอยู่ เราก็ตอบว่าไม่คิดครับ เราปล่อยว่างเลย แล้วก็พยายามดึงความเป็นพ่อในสัญชาตญาณออกมาให้ได้มากที่สุด”
ที่ทำให้อินเนอร์มาเต็ม คนดูหลงรักน้ารามได้ขนาดนี้ อู๋ไม่เคยมองว่าเป็นผลงานของเขาคนเดียว แต่ขอยกความดีความชอบทั้งหมดให้ผู้กำกับอย่าง “ป้าแจ๋ว-ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์” ที่วางคาแรกเตอร์และกำกับทุกอย่างออกมาได้มีเสน่ห์ขนาดนี้ คิดดูว่ากำกับจนทำให้สาวเล็กสาวใหญ่ต่างจิกหมอน นอนฝันว่าสักวันจะได้ไออุ่นจากอ้อมกอดของน้ารามอย่างในเรื่องไปตามๆ กัน
[ความอบอุ่นของ "น้าราม" ที่ทำเอาสาวๆ หลงใหลทั้งประเทศ]
คิดว่า “น้าราม” กับ “น้าอู๋” มีจุดเหมือนกันบ้างไหม? ผู้สัมภาษณ์ยิงคำถามนี้เอาไว้เพื่อเอาใจ #ทีมน้าราม “มีอย่างเดียวเลย... แก่ (ยิ้มมุมปาก) มันต้องให้คนอื่นมองนะของพวกนี้ว่าเราเป็นยังไง เราคงไม่ได้รู้ตัวเราเองหรอก เพราะเราไม่ได้มีกระจกส่องตัวเราเองตลอดเวลา แต่เอาจริงๆ เวลาสั่ง “คัต” ปุ๊บ เราก็ต้องตัดตัวละครออกจากชีวิตจริงนะ จะเอามาอยู่กับเราด้วยไม่ได้หรอกครับ”
[ใครๆ ก็อยากเป็น "น้อง" หญิงสาวที่ได้ใกล้ชิดน้าราม รับบทโดย เดียร์น่า ฟลีโป]
ถ้าให้ลองเป็นกระจกช่วยสะท้อนอีกแรง นิสัย “มุ่งมั่นจริงจัง” คงบ่งบอกความเป็นตัวตนของเขาได้ชัดเจนที่สุดแล้ว “กว่าจะมาถึงตอนนี้ เราผ่านเวิร์กชอปเรียนการแสดงมาเป็นร้อยๆ ชั่วโมงแล้ว ต้องคอยพยายามนั่งสังเกตพฤติกรรมคน เพราะแต่ละคนจะมีคาแรกเตอร์ที่ต่างกัน ถ้าวันนึงเราต้องมาเล่นคาแรกเตอร์คล้ายๆ คนนี้ เราก็จะได้รู้ว่าเขาทำอย่างนี้เพราะอะไร การเดินแบบนี้เพื่อไปหยิบของตรงนั้น เขากำลังคิดอะไรอยู่ เราต้องมานั่งวิเคราะห์ ต้องตีโจทย์การแสดงออกมาให้ได้” นักแสดงมากประสบการณ์พูดถึงวิธีพัฒนาการแสดงในแบบของเขา
“ถ้าเทียบกับนักแสดงเมืองนอก ต้องบอกก่อนว่าเวลาเขาจะเล่นเรื่องนึงเนี่ย เขาต้องทำเวิร์กชอปกันนานมากนะเพื่อให้เป็นตัวละครตัวนั้น ส่วนของเรา สมัยเข้าวงการมาใหม่ๆ ต้องทั้งเรียนด้วย ทั้งถ่ายละคร ทำหลายๆ อย่าง เวลาที่เราจะไปทำเวิร์กชอปเหมือนของเมืองนอกมันไม่มี มันทำได้อยู่ในระดับนึงเท่านั้นเอง เราเลยต้องใช้วิธีเอาประสบการณ์ของตัวเองเข้ามาช่วยด้วยเยอะๆ
[เติบโตมาจากการเป็น "นายแบบ"/ ขอบคุณภาพ: 70-90memory.blogspot.com]
อย่างช่วงแรก เราเริ่มต้นมาจากค่ายยูม่า ก็เรียกได้ว่าย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ที่นั่นเลยครับ กินนอนที่นั่นตลอด แล้วก็มีพี่เอ๋ (วิไลรัตน์ บุญประเสริฐ) คุณยุ (ยุวดี ไทยหิรัญ) แล้วก็คุณเมาส์ (ชูชัย องอาจชัย) 3 คนนี้คือคนที่สอนทุกอย่างให้เรา จากตอนแรกที่เป็นคนค่อนข้างขี้อาย พอได้อยู่ใกล้ชิดกันบ่อยๆ มันช่วยได้เยอะนะ ถึงเวลาเข้าฉาก ไอ้ความเขินอายของเราก็จะไม่ค่อยมีแล้ว เพราะสนิทกันแล้ว
[โฆษณาตัวแรกในชีวิต/ ขอบคุณภาพ: 70-90memory.blogspot.com]
เทียบกับตอนเข้าวงการแรกๆ ตอนเป็นนายแบบ มันไม่ต้องอาศัยความกล้าเยอะเท่ากับการแสดงนะ แค่โพสท่าถ่ายรูป present เสื้อผ้าออกมา ทำไปเรื่อยๆ มันก็เริ่มชิน ก็เลยไม่ได้ยากอะไรเท่าไหร่ แต่พอมาแสดงละคร มันยากกว่าเยอะครับ ต้องอาศัยความกล้าที่มากกว่าเดิมอีก แต่การเรียนคลาสการแสดงก็ช่วยได้ ทำให้เรามีสมาธิ ตัดสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบข้างออก เพื่อไม่ทำให้เราเขินอายที่จะต้องไปยืนตรงนั้น พอผ่านมาได้ระยะนึง มันก็เลยช่วยให้ความขี้อายบางส่วนของเราตัดไปได้ แล้วก็เริ่มรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพอย่างนึงด้วย เลยคิดว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไร”
[ผลงานสมัยแรกๆ ของการเข้าวงการ/ ขอบคุณภาพ: 70-90memory.blogspot.com]
ลองนับนิ้วถอยหลังกลับไป จะพบว่าดาวดวงนี้เปล่งประกายเฉิดฉายอยู่ในวงการบันเทิงมาได้ 21 ปีแล้ว “เราก็แค่ทำหน้าที่ในความรับผิดชอบออกมาให้ดีที่สุดแหละ ไม่เคยไปมองจุดนั้นเลยครับ” อู๋บอกเอาไว้ด้วยน้ำเสียงเรียบๆ เมื่อคู่สนทนายื่นคำว่า “ดาวค้างฟ้า” ให้แทนภาพความสำเร็จในวันนี้
[ขอบคุณภาพ: 70-90memory.blogspot.com]
“การเป็นนักแสดงมืออาชีพมันมีองค์ประกอบเยอะนะ อย่างแรกก็คงเป็นเรื่องของมารยาทในการทำงานครับ สองคือการเคารพผู้อาวุโส ซึ่งมันก็เป็นปกติของขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยนะ สามคือการเอาใจใส่ในการแสดงของตัวเอง ดูว่าเราจะพัฒนาจากวันที่เราเข้ามาได้ยังไงบ้าง ต้องพยายามหาศักยภาพของเราไปเรื่อยๆ
[นายสิงห์ ในวันก่อน - น้าราม ในวันนี้/ ขอบคุณภาพ: 70-90memory.blogspot.com]
ผมไม่เคยเชื่อคำว่า “พรสวรรค์” เลย แต่จะเชื่อคำว่า “พรแสวง” เราต้องหมั่นทำเพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวเอง เพื่อเพิ่มทักษะของตัวเองไปเรื่อยๆ ในทุกๆ ด้านครับ เพื่อให้ทุกคนเห็นแล้วอยากได้เราไปร่วมงานด้วย”
“อู๋ซามะ” นักการทูตสุดฮิป!
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
นอกจากเสียง “คัต” จากการตีสเลตในกองถ่ายแล้ว เสียง “แชะ” จากการลั่นชัตเตอร์นี่แหละที่เป็นเพื่อนสนิทของผู้ชายมาดเข้มคนนี้ที่สุดแล้ว คิวถ่ายทำว่างเมื่อไหร่ เป็นได้เห็นเขาแอบเก็บความทรงจำอยู่หลังเลนส์ตลอด โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ที่ปล่อยให้แฟนๆ ได้เห็นฝีมือการชักภาพ ฝากเอาไว้ในการฟิตติ้งกองละครอยู่บ้างประปราย “ส่วนใหญ่จะถ่ายให้พี่อ๊อฟ (พงษ์พัฒน์) ครับ บริษัทอื่นเรายังไม่กล้าไปทำให้”
เห็นถ่อมตัวเอาไว้แบบนี้ แต่จริงๆ แล้ว อู๋มีดีกรีเป็นถึง “ช่างภาพมือรางวัล” เชียวนะ! และแน่นอนว่าถ้าไม่ถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกไปก่อน ผู้ชายที่ไม่ชอบอวดตัวอย่างเขาไม่มีวันพูดเรื่องนี้ขึ้นมาก่อนแน่ๆ เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปของรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายจากญี่ปุ่นที่ได้รับ เขาก็พูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ คล้ายไม่ได้ยินดียินร้ายกับชื่อเสียงทางด้านนี้มากนัก
[เซตรูปถ่ายจากฉากละคร "รอยฝันตะวันเดือด" ฝีมืออู๋ ที่คว้ารางวัลจากแดนอาทิตย์อุทัยมาแล้ว/ ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
“ก็ได้รางวัลครับ แต่ไม่ได้ไปรับ (ยิ้มบางๆ) เป็นการส่งภาพไปประกวดครั้งแรกของเราเลย ตอนนั้นเริ่มจากไปเสิร์ช google ดูว่ามันมี photo contest ของญี่ปุ่นรายการไหนบ้าง เพราะรูปที่ถ่ายเอาไว้คือรูปของ “ณเดชน์” กับ “ญาญ่า” จากกองเรื่อง The Rising Sun (รอยฝันตะวันเดือด) ที่ไปถ่ายทำกันที่นั่น พอดีไปเจออยู่รายการนึง เป็นการประกวดของการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งก็มีหลายหัวข้อให้เลือกเข้าร่วม ผมก็เลือกในส่วนของ culture ไป เพราะฉากที่ถ่ายไว้คือฉากพิธีแต่งงานแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
ผลการตัดสินวัดจากคะแนนการกด like ของคนที่เข้าไปดูครับ ตอนแรกก็มีหวังนิดๆ ว่าคงจะได้รางวัลอะไรเล็กๆ น้อยๆ บ้าง ตามธรรมดาคนที่ส่งงานเข้าประกวดที่อยากชนะรางวัลอะไรบ้าง แต่ไม่ได้คิดว่าจะได้รางวัลอะไรใหญ่โตกลับมา และอันนี้ที่ได้มันก็ไม่ได้ใหญ่โตนะ เขาก็แค่มีตั๋วเครื่องบินให้ ให้เราเดินไปรับประกาศนียบัตร มีให้นั่งล่องเรือฟรี แล้วเขาก็จะจุดพลุเป็นชื่อเราครับ”
ย้อนกลับไปในวันแรกของชีวิตหลังเลนส์ มันคือช่วงที่เด็กชายอู๋ เด็กนักเรียนชั้น ป.6 ได้รับอนุญาตให้หยิบเอากล้องของคุณพ่อขึ้นมาลองกดดู
“คุณพ่อเป็นคนเอากล้องมาให้จับครับ แล้วก็สอนเราว่า f-stop คืออะไร วันแรกที่ได้ลองถ่ายจริงๆ คือวันที่คุณพ่อไปตีกอล์ฟครับ พอดีเขาสะพายกล้องไปด้วย ผมก็เลยตามถ่ายพ่อตีกอล์ฟนี่แหละ (ยิ้ม) ถ่ายแบบงูๆ ปลาๆ ไปตามประสา จนได้มีกล้องตัวแรกเป็นของตัวเองประมาณ ม.3-ม.4 ครับ คุณแม่เป็นคนซื้อให้
หัดถ่ายมาเรื่อยๆ งูๆ ปลาๆ มาเรื่อยๆ แบบไม่ได้มีใครแนะนำ จนช่วงมหาวิทยาลัยก็หยุดถ่ายไปพักใหญ่ๆ แล้วพอได้เริ่มไปทริปเที่ยว ไปต่างประเทศบ้าง ก็เลยได้สะพายกล้องไปถ่าย แล้วก็เป็นที่มาของการกลับมาจับกล้องอีกครั้งนึง”
[มองโลกผ่านเลนส์ จากผู้ชายที่ชื่อ อู๋-ธนากร/ ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
บอกไม่ถูกว่าภาพที่ถ่ายๆ อยู่ทุกวันนี้เป็นแนวไหน ให้ถ่ายภาพวิวก็ดี ภาพ landscape ก็ได้ ภาพ portrait ก็ชอบ นิ่งคิดกับอยู่สักพักคนถูกถามจึงให้คำตอบว่า “จริงๆ แล้ว น่าจะชอบถ่ายช็อตจับอารมณ์คนมากกว่าครับ จะไม่ค่อยชอบถ่ายแบบที่ setup ขึ้นมาเท่าไหร่ จะชอบอะไรที่มันเป็นธรรมชาติมากกว่า พอตัวแบบหันมาได้ช่วง timing ที่มันสวยปุ๊บ เราก็ถ่ายเดี๋ยวนั้นเลย”
เหมือนอย่างภาพงานแต่งระหว่างพระ-นางที่เข้าฉากถ่ายทำในเรื่อง “รอยฝันตะวันเดือด” ก็เป็นช็อตที่อู๋มองว่า timing ทุกอย่างกำลังลงตัวพอดิบพอดี จึงตัดสินใจลุกขึ้นมาลั่นชัตเตอร์เก็บเอาไว้ จนเป็นที่มาของตำแหน่ง “ทูตการท่องเที่ยวประจำจังหวัดคางาวะ (Kagawa)” โดยไม่ได้ตั้งใจมาจนถึงทุกวันนี้
[ถ่ายสวยจนได้อวดฝีมือในนิตยสาร "เที่ยวรอบโลก"/ ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
“ตอนที่ไปถ่าย เขาจะมีเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นที่มาคอยประสานงานให้ พอเห็นว่าเราถ่ายรูป เขาก็สนใจครับ แต่เขาไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนไทยนะตอนแรก คิดว่าเป็นคนญี่ปุ่น (ยิ้ม) เขาก็บอกว่าคาแรกเตอร์ของเราหลายๆ อย่างมันเหมาะกับเมืองของเขาดี พอรู้ว่าเราชอบทำอาหารด้วย เป็นนักแสดงด้วย เขาเลยเอาโปรไฟล์เราไปขายให้ทางเมืองคางาวะดู ตอนนั้นเมืองนี้เขาเพิ่งเริ่มเปิดครับ คนไทยรู้จักกันยังไม่เยอะ เขาเลยอยากให้เราช่วยดึงคนไทยไปรู้จักไปเที่ยว อยากให้เราไปเก็บภาพให้ครบ 4 ฤดูของเขา ซึ่งตอนนี้เราก็ไปครบแล้ว”
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
ทุกวันนี้ถึงจะไม่ได้มีสัญญาผูกมัดในฐานะทูตประจำเมืองแห่งศิลปะแดนอาทิตย์อุทัย แต่อู๋ก็ยังคงแวะเวียนไปที่นั่นเสมอๆ ด้วยความที่หลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว “ถ้ามีโอกาสไปเที่ยว ญี่ปุ่นก็จะเป็น choice แรกๆ ที่เรานึกถึงครับ” รับผิดชอบตำแหน่งเกินหน้าที่ได้ขนาดนี้ สมแล้วที่ถูกเจ้าถิ่นเรียกว่า “อู๋ซามะ” หรือ “ท่านอู๋” สุดทุ่มเท
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
“ถามว่าตอนเด็กๆ ดูการ์ตูนอะไรล่ะ กินขนมก็มีขนมญี่ปุ่นอยู่ในนั้น ทุกอย่างมันอยู่กับเรามาตั้งแต่เด็กแล้ว การ์ตูนที่ผมชอบมากคือเรื่อง Cobra ที่ตัวเอกมี Cyber Gun ดึงแขนออกมาเป็นปืนข้างในน่ะ (ยิ้ม) ผมว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็ชอบความเป็นญี่ปุ่นนะ ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์เลย ชอบความเป็นระเบียบ วิธีความคิด ความเป็นคนมีน้ำใจ รายละเอียดหลายๆ อย่างของเขา
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
ยิ่งไปได้ทำงานด้วย สิ่งหนึ่งที่รู้เลยคือคนญี่ปุ่นจะนึกถึงส่วนรวมเป็นใหญ่ เรื่องตัวเองจะรองๆ ลงมา อย่างส่วนที่เราไปทำงานด้วย เขาจะเป็นส่วนของจังหวัดและจะคิดถึงคนในท้องถิ่นของเขาก่อนตลอดเวลา ซึ่งผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะ คือเขาไม่ได้คิดถึงประโยชน์ของตัวเอง แต่คิดถึงคนอื่นก่อนเสมอ ที่น่านับถือมากๆ คือเขาจริงจังกับงานกันมาก ทุกอย่างจะมาเล่นๆ ไม่ได้”
ทิเบต... “ทริปลำบาก” ในดวงใจ
[ทริปลำบากแต่สุดประทับใจของ "แบ็กแพกเกอร์อู๋"/ ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
“โชคดีที่เราไม่ต้องรอใคร เวลาเรานึกอยากไปไหน เราก็ไปได้เลย ทำอย่างนี้มาตลอด แล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันมีปัญหาอะไร” อาจไม่ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นคนชีพจรลงเท้า แต่นักผจญภัยนายนี้ก็ไม่เคยหยุดค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในต่างแดน
“ส่วนใหญ่เราจะชอบไปประเทศที่ยังไม่พัฒนาเท่าไหร่ครับ จะได้ไปเห็นชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรมที่แท้จริงของเขา คือถ้าให้เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไปอีก 10 ปีข้างหน้า เขาก็พัฒนา แต่ประเทศพวกนี้ มันจะเริ่มไม่เห็นแล้วนะ เพราะความเจริญทุกอย่างมันจะเข้าไปหมดแล้ว”
พี่เขยคือขาลุยที่ชอบเที่ยวแนวแบ็กแพกเหมือนๆ กัน ทริปทิเบต 7 วัน 6 คืน จึงเป็นจุดหมายในฝันของคนทั้งคู่ ทันทีที่มีคำเชิญจากรายการวิทยุรายการหนึ่งให้มาร่วมทัวร์ทริปลำบากครั้งนี้ อู๋จึงตอบรับทันที เช่นเดียวกับพี่เขยที่เตรียมกล้อง สะพายกระเป๋า พร้อมออกเดินทาง!
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
“เป็นที่รู้กันครับว่าการไปทิเบตมันคือความยากลำบาก เพราะว่าที่นั่นออกซิเจนมันน้อยมาก ปกติเวลาเราวิ่งขึ้นบ้านชั้น 2 ยืน เราสามารถก้าวทีนึงผ่านบันได 2 ขั้นไปได้สบายๆ เลย แต่ที่นู่น จะเดิน 1 ก้าวยังลำบากเลยเพราะออกซิเจนมันไม่พอ ตอนไปพัก ได้โรงแรมที่อยู่ชั้น 4 กลายเป็นประสบการณ์การเดินขึ้นบันไดที่ใช้เวลานานมากเลยนะ ต้องค่อยๆ เดิน เพราะเรายังปรับตัวไม่ค่อยได้ จากเราที่อยู่ในประเทศเหนือระดับน้ำทะเล 500 เมตร ต้องไปอยู่ประเทศระดับ 3,000 เมตรขึ้นไป มันจะเป็นโรคที่สูง หรือ altitude sickness (mountain sickness) ยิ่งเดินทางไปเรื่อยๆ ยิ่งต้องค่อยๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อาการมันจะยิ่งมา
อาการแรกที่เป็นเลยคือจะปวดหัว นอนไม่หลับเพราะออกซิเจนมันไม่มี พอนอนไม่หลับสัก 2-3 วัน อาหารจะเริ่มไม่ย่อย และเกิดอาการท้องอืดตามมา และอาการที่แย่ที่สุดคืออาการทางจิต เราจะเริ่มเกิดความหลอน กลัวตาย ทุกอย่างมาหมดเลย” จากที่เคยถามคำตอบคำมาตลอดบทสนทนา มาตอนนี้กลับรำลึกถึงช่วงเวลาแห่งความทรงจำได้อย่างออกรส เห็นได้ชัดว่าวิญญาณนักเดินทางในตัวของเขาเริ่มทำงานแล้ว
“ตอนแรกที่เราไป ทุกคนที่เคยไปก็เล่าให้เราฟังว่ามันจะมีอาการพวกนี้เกิดขึ้นนะ ต้องฟิตร่างกาย-ฝึกจิตใจก่อนไปนิดหนึ่ง แต่เราก็ไม่คิดว่ามันจะหนักหนาอะไรหรอก ปรากฏว่าตอนไปจริงๆ ถึงได้รู้ครับ มีคนนึงที่ร่วมทริปไปด้วยกัน ตอนก่อนขึ้นเครื่อง ผู้หญิงคนนี้เขายังพูดแบบน้ำไหลไฟดับอยู่เลย แต่พอไปถึงที่นู่นเราเริ่มไม่ได้ยินเสียงเขาแล้ว พอตกวันที่ 3 กลายเป็นว่าทุกคนต้องไปล้อมอยู่ที่เตียงแล้วก็ให้กำลังใจเขา เพราะตอนนั้นเขาอาการหนักแล้ว ร้องไห้บอกว่าไม่อยากตาย
ส่วนเรา วันแรกที่ไปถึงก็เริ่มปวดหัวละ นอนไม่หลับอยู่ 3 วัน คืนแรกจำได้เลยว่าได้ยินเสียงทุกอย่างลอยมาเข้าหูตลอดเวลา มีบ้านคนจีนที่อยู่ละแวกนั้นร้องคาราโอเกะ เราก็ได้ยินเขาร้องตลอด (พูดไปยิ้มไป) สักพักได้ยินเสียงคนเมาเดิน สักพักได้ยินเสียงคนสตาร์ทรถอีกแล้ว แล้วก็สตาร์ทไม่ติดสักทีด้วยนะ จึกๆๆ อยู่ตรงนั้นแหละ (ยิ้มมุมปาก) เราก็ภาวนาให้มันติดสักทีเถอะ (หัวเราะเบาๆ) เพราะมันหนวกหู นอนไม่หลับเลยจริงๆ ครับ
เป็นแบบนี้อยู่ได้ 3 วัน แต่พอวันที่ 4 ก็เริ่มปรับตัวได้ แล้วก็เริ่มไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนไปถึงระดับ 6,300 เมตร(เหนือระดับน้ำทะเล) ซึ่งถือว่าที่สุดแล้วนะ ได้ขึ้นไปอยู่บนความสูงระดับนั้น มันเท่ากับความสูงของเบสแคมป์ บนยอดเขาเอเวอเรสต์เลย”
เข็ดไหมกับความลำบากที่ได้เจอ? คนถูกถามส่ายหน้าพร้อมแนบรอยยิ้มกว้าง “อยากไปอีกครับ มันคือความประทับใจในชีวิตเราเลยนะ” ว่าแล้วเรื่องราวน่าเล่าก็ผุดขึ้นมาในหัวเพิ่มอีกหนึ่งเรื่อง
“สิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากๆ คือแรงศรัทธาในศาสนาพุทธของเขาครับ เห็นวิธีกราบของเขาไหม ท่าอัษฎางคประดิษฐ์ (การแสดงความเคารพด้วยวิธีนอนราบ เหยียดมือเหยียดเท้าออกไปเต็มเหยียด ให้อวัยวะ 8 แห่งจรดพื้น คือหน้าผาก 1, ฝ่ามือทั้ง 2, หน้าอก 1, เข่าทั้ง 2 และปลายเท้าทั้ง 2) ต้องแนบตัวจรดพื้นแบบนั้นไปตลอดทาง
แรกๆ ที่เราไป เราก็ไม่ค่อยเข้าใจอยู่อย่างหนึ่ง รู้สึกว่าทำไมคนที่นั่นต้อง money talk มองทุกอย่างเป็นเงินอยู่ตลอดเวลา (ยิ้มบางๆ) คือแค่ขอถ่ายรูปก็จะมีเรื่องเงินเข้ามาละ มันเป็นเพราะเขาเชื่อว่าใครขอถ่ายรูป มันก็เหมือนเป็นการดูดวิญญาณเขาไปหน่อยนึง ทำให้อายุเขาสั้นลงอีก หรืออย่างเวลาขายของก็จะขายแพงกว่าปกติมาก
อย่างที่รู้ๆ กันว่าต้องต่อของแบบครึ่งราคาเลย แรกๆ ที่ไปจะมองเป็นไปในทางลบนิดหนึ่ง แต่พอเราเริ่มได้อยู่ได้ศึกษาเรื่องราวของเขาสัก 4-5 วันแล้ว เราก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น...
[แรงศรัทธาแห่งทิเบต/ ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
อันดับแรกเลยคือ คนทิเบตเชื่อว่าในชีวิตนึงจะต้องมากราบพระที่โปตาลา (พระราชวังศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองลาซา) ซึ่งเป็นที่อยู่ขององค์ดาไลลามะให้ได้ เขาเชื่อว่าถ้าได้มาที่นี่แล้วจะมีบุญส่งให้เขาขึ้นสวรรค์ ยิ่งสวดมนต์ได้หลายจบ 3,000-4,000 จบ ยิ่งได้ขึ้นไปสูง และเราก็ต้องยอมรับว่าคนที่นี่เขายากจน หมู่บ้านที่อยู่ไกลๆ จากลาซา เลยไม่สามารถเดินทางมาได้ด้วยตัวเองหมดทุกคน เขาต้องคัดเลือกตัวแทนหมู่บ้านมา 1 คน แล้วก็ระดมเงินทุนเพื่อส่งให้ไปไหว้แทน บางคนฝากไหว้ 3,000 ที บางคนฝาก 5,000 ที ฝากกันแบบนี้ทั้งหมู่บ้าน ตัวแทนคนนั้นก็ต้องเริ่มไหว้ตั้งแต่เดินออกจากหมู่บ้าน อัษฎางคประดิษฐ์ไปเรื่อยๆ จนถึงปลายทาง
ในเมื่อมันต้องเดินทางไกล เขาก็ต้องกินต้องใช้ เงินที่คนในหมู่บ้านให้มาก็อาจจะไม่พอ มันก็เลยอาจจะต้องมีเรื่องเงินต่างๆ ระหว่างทางที่หาได้เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เขาได้ทำภารกิจที่รับมาให้สำเร็จ พอเราเริ่มรู้ภูมิหลังแบบนี้ เราก็เริ่มเข้าใจแล้วครับว่าทำไมต้อง money talk อย่างที่สงสัยตอนแรก ความไม่เข้าใจตอนแรกมันก็เปลี่ยนไป แล้วก็เห็นถึงความศรัทธาในแบบของเขา ทำให้ได้บทเรียนมาอย่างนึงว่าการที่เรายังไม่เข้าใจอะไรอย่างถ่องแท้ ก็อย่าเพิ่งไปตัดสินว่ามันเป็นยังไง”
อู๋-ธนากร = ผู้ชายหลากมิติ
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ภายในปีนี้คงได้เห็นผลงานภาพถ่ายชุด จ.ราชบุรี ออกมาให้ได้ดูกันผ่านมิติความเป็น “ช่างภาพ” ที่ซ้อนอยู่ในตัวเขา ถึงแม้จะไม่เคยคิดมุ่งสู่เส้นทางหลังเลนส์อย่างเต็มตัว ไม่เคยหวังจะมีงานนิทรรศการภาพถ่ายในฐานะศิลปินเดี่ยวเป็นของตัวเอง และถึงแม้จะพูดเสมอว่ามันคืองานอดิเรก แต่ก็ถือว่าเป็นงานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งที่ทำอย่างจริงจัง ไม่แพ้สิ่งที่เขาทำในมิติอื่นๆ
[โลกในอีกมิติ ฝีมือการลั่นชัตเตอร์ของอู๋/ ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
“เผอิญว่าตอนที่ไปทำงานที่ญี่ปุ่น เขาได้เชิญพี่ติ้ว-วศินบุรี (สุพานิชวรภาชน์) ศิลปินด้านเซรามิกไปร่วมด้วย พอได้คุยกัน พี่เขาก็มีไอเดียโปรโมต จ.ราชบุรี ที่คล้ายกับทางเมืองคางาวะอยู่ครับ คือเขาอยากใช้งานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในการโปรโมตเมือง เพราะพี่เขาก็เป็นศิลปินอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว และเขาก็เป็นอาจารย์สอนถ่ายรูปคนนึงของเราด้วย เขาถ่ายรูปเก่งมาก แนะนำเราเยอะมาก พอคุยกันเขาก็เลยชวนมาทำโปรเจกต์นี้ด้วยกันครับ
[รอ timing ที่พอดี แล้ว capture อารมณ์เก็บไว้/ ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
เห็นบอกอยากจัดแสดงเป็นนิทรรศการภาพถ่ายด้วย แต่เราก็บอกว่าเราไม่กล้าหรอก เพราะเราไม่คิดว่างานเราจะทำได้ถึงขนาดนั้น แต่พี่เขาดูงานแล้วบอกว่า เฮ้ย..ทำได้ๆ เดี๋ยวเขาเป็นที่ปรึกษาให้ ตอนนี้ก็เลยอยู่ในช่วงคุยงานกันอยู่ครับ ภาพส่วนใหญ่ที่จะเอาไปโชว์ น่าจะเป็น portrait ของนักแสดงที่เราร่วมงานด้วย เหมือนเป็นภาพเบื้องหลัง อันนั้นเป็นงานชุดนึง ส่วนอีกชุดนึงคือโจทย์ที่เขาให้มาเพิ่ม บอกไหนๆ ก็มาราชบุรีแล้ว อยากให้ไปถามถ่ายสถานที่ต่างๆ ในราชบุรีด้วย 1 ชุด แต่เรายังไม่มีเวลาเลยครับ ก็ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด งานนี้ก็จะได้เป็นชิ้นงานหนึ่งในตารางการทำงานของปีนี้”
[ฝีมือการถ่ายฟิตติ้งละคร "นาคี" ผลงานที่กำลังจะมีในอนาคต/ ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
“เชฟ” ผู้คิดค้นเมนูพิเศษประจำร้าน “Kyoto Yoshino Okonomi Yaki (เกียวโต โยชิโนะ โอโคโนมิ ยากิ)” และเจ้าของร้านอาหารสัญชาติญี่ปุ่นในไทยแห่งนี้ คืออีกมิติความสามารถของผู้ชายที่ชื่อ “อู๋-ธนากร” ชีวิตในก้นครัวของเขาเริ่มมาตั้งแต่สมัยยังเด็กที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอยู่บ้าน ตำน้ำพริก ขลุกอยู่กับคุณย่า
["เชฟมือทอง" อีกหนึ่งมิติของผู้ชายคนนี้/ ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
“บ้านผมชอบทำอาหารมาตั้งแต่คุณย่าแล้ว พอดีเราเรียนอยู่โรงเรียนประจำ เวลาเราหยุดก็จะหยุดไม่ตรงกับพี่น้องคนอื่นๆ อีก 3 คน (พี่สาวแท้ๆ 1 คน และพี่ชายที่โตด้วยกันมาอีก 2 คน) เราเป็นลูกคนสุดท้องที่จะได้อยู่กับคุณย่าเยอะหน่อย เลยต้องคอยทำนู่นทำนี่ช่วยเขา ระหว่างที่เขาเข้าครัว เราก็จะคอยเอาไม้ปัดยุงคอยปัดให้คุณย่า (พูดไปยิ้มไป) เลยได้อยู่ติดเรื่องทำอาหารแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ก็เลยทำมาตลอดครับ”
ทำได้หลายอย่างและเก่งในทุกๆ ด้านขนาดนี้ ชักไม่แน่ใจแล้วว่าจะเรียกเขาว่าอะไรดี ระหว่าง นักแสดงมืออาชีพ, ช่างภาพมือฉมัง หรือเชฟมือทอง ฯลฯ ลองถามดูสักนิดว่าจริงๆ แล้ว อยากให้คนรู้จักเขาในมิติไหนที่สุด จึงได้คำตอบจากผู้ชายหลากมิติคนนี้ออกมาว่า...
“ไม่เคยไปคิดว่าจะให้ใครมามองเราในมิติไหน-ยังไงเลยครับ ใครอยากมองยังไงก็มองไป อยากรู้สึกยังไงก็ได้ (น้ำเสียงสบายๆ) ผมว่ามันอยู่ที่ช่วงเวลามากกว่าว่าเราทำหน้าที่อะไรอยู่ อย่างถ้าเผื่อไปเจอผมที่ร้านอาหาร ผมก็ต้องเป็นเชฟ ไปกองถ่ายก็ต้องเป็นนักแสดง แต่ไม่ได้ตั้งใจหรอกว่าจะต้องให้คนมองเราว่าเราเป็นเชฟนะ เป็นนักแสดง หรือเป็นช่างถ่ายภาพนะ ไม่เคยคิดแบบนั้นเลย เราก็แค่ทำไปตามช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นเรารับหน้าที่ทำอะไร”
[ขอบคุณภาพ: @charmarmy]
แอบกระซิบเอาไว้นิดหนึ่งว่า ถ้าใครอยากเจอเขาในพาร์ตหนุ่มหน้าเตา สวมผ้ากันเปื้อนเสิร์ฟเมนูเด็ด ให้ลองเข้าไปทักทายกันในร้านได้ในวันอังคาร ถ้าโชคดีคงได้เจอกัน ส่วนเวลาที่หลงเหลือจากนั้นก็จะเป็นช่วงพักผ่อน ปลดระวางจากทุกตำแหน่ง เหลือเพียงมิติของ “ผู้ชายติดบ้าน” คนหนึ่งเท่านั้นเอง
“ถ้าวันที่ไม่ได้ทำงาน ตื่นเช้ามาก็จะทำอาหารเช้า ออกกำลังกาย แล้วก็เติมอาหารสมองสักหน่อย อ่านหนังสือ ดูหนัง ดูทีวี อะไรก็ว่าไป ส่วนใหญ่จะใช้เวลาอยู่บ้านครับ ไม่ได้ไปไหน เพราะอยู่บ้านมันสบายสุดแล้ว”
“เอาจริงๆ ผมเป็นคนรักสบายนะ” ถึงจะดูเป็นคน active ตลอดเวลาขนาดนี้ แต่ขวัญใจสาวๆ คนนี้ก็ยังยืนยันแบบนั้นอยู่ดี “จริงๆ แล้วผมขี้เกียจจะตาย รักสบายที่สุด (ยิ้ม) แต่ถ้าเป็นเรื่องงาน งานไหนคุณรับมาแล้ว เขานัด 7 โมง เราก็ต้องไปตามนั้น ผมไม่ใช่คนบ้างานเลยครับ แต่ถ้าต้องทำ ก็แค่รู้สึกว่าต้องจริงใจกับมัน เราจะได้ทำมันด้วยความสนุกได้ไปตลอด”
ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามจังหวะเวลา คือมุมเบาๆ ของชีวิตที่อู๋ได้ค้นพบหลังปลงผมบวชเป็นครั้งที่ 2 “รู้สึกว่าชีวิตคนเรามันแค่นั้นจริงๆ มันไม่มีอะไรยั่งยืน เราอยู่กับความไม่แน่ อยู่กับการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางดีและไม่ดี” เมื่อถามถึงเส้นทางชีวิตในวงการบันเทิงในวันข้างหน้า เขาจึงตอบด้วยท่าทีสบายๆ เอาไว้ว่าดูไปเรื่อยๆ ยังไม่ได้วางแผนอะไรเอาไว้มากมายขนาดนั้น
“ถามว่าการแสดงจะทิ้งไป-หยุดไปเลยหรือเปล่า เราก็ยังตอบไม่ได้ วันนี้-พรุ่งนี้จะไปทำอะไรเบื้องหลังไหม เราก็ยังตอบไม่ได้ เพราะมันยังไม่เห็นอะไรที่ชัดเจน ตอนนี้เวลาเจอโจทย์การแสดงซ้ำๆ ก็พยายามจะหลบๆ ครับ แล้วก็กำลังสนุกกับการดูงานเบื้องหลังอยู่เรื่อยๆ ส่วนเรื่องจะเป็นผู้จัดฯ ไหม ยังไม่ได้คิดครับ ทุกอย่างถ้ามันถึงเวลา มันคงเป็นไปตามจังหวะของมันเอง
ผมว่าหลังจากได้ฟังเทศน์ของหลวงปู่ชาก็ทำให้เราคิดได้มากขึ้นเยอะนะ เคยกดเข้าไปฟังใน youtube หลายๆ อย่างรู้สึกว่ามันกระทบใจ ธรรมะของท่านเป็นธรรมะที่สอนง่าย ฟังแล้วเราก็มานั่งคิดกับชีวิตตัวเอง หลายๆ อย่างก็มานั่งยิ้ม นั่งขำ นั่งหัวเราะกับตัวเองนะ เอ้อเนอะ...เราโง่อะไรอยู่ตั้งนานเนี่ย (ยิ้มบางๆ)
ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาขับรถ สมัยก่อนเราจะเป็นคนขับรถเร็ว ใจร้อนมาก แต่ถึงขับเร็วยังไง รถมันก็ยังติดอยู่ดี พอมาเริ่มฟังธรรม ได้ลองอยู่กับปัจจุบันจริงๆ มันทำให้เราทำใจได้ขึ้นเยอะเลย คือต้องอย่าเพิ่งไปคิดถึงจุดหมาย พอยิ่งคิดถึงจุดหมาย สิ่งที่เราคิดอยู่มันก็จะกลายเป็นการคิดถึงอนาคตแล้ว ความร้อนใจมันก็จะเกิด แต่ถ้าเราเริ่มปรับ กลับมามองปัจจุบัน มองทางที่ขับอยู่ตรงนี้ ไม่ไปเพ่งที่ปลายทาง มันกลับรู้สึกว่าถึงเร็วกว่าตอนที่เราใจร้อนรีบไปซะอีกนะ
คำสอนของพระพุทธเจ้า ผมว่ามันเอามาใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างดีทีเดียว อย่างเวลาโกรธ คุณชอบตัวเองไหม... งั้นเราจะเอาความโกรธเก็บไว้กับตัวทำไม ท่านบอกว่าตราบใดที่เราหายใจอยู่ เราสามารถคอยดูอารมณ์ของเราได้ตลอด ไม่ว่าจะกำลัง ยืน-เดิน-นั่ง-นอน สามารถควบคุมตัวเอง ทำสมาธิได้ตลอด ไม่จำเป็นต้องไปนั่งวิปัสสนาก็ได้ครับ แค่อยู่กับลมหายใจของตัวเองก็ได้แล้ว เพราะว่าลมหายใจของเรา มันคือปัจจุบันที่สุดแล้ว
ทุกวันนี้ผมพยายามอยู่แบบไม่คาดหวังกับอะไรเลย คือวางแผน คิดถึงอนาคตได้นะ แต่มันไม่ใช่การคาดหวัง เพราะถ้าคาดหวังมากๆ ว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะกลายเป็น “มิจฉาทิฐิ” จะกลายเป็นกิเลส ก็จะไม่ใช่การคิดวางแผนอนาคตที่ดี ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าในโลกนี้มันไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้หมด สุดท้าย ถ้าทุกอย่างมันไม่เป็นไปตามแผนที่เราวางเอาไว้ เราก็จะไม่ไปหงุดหงิดกับมัน
อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปฝังตัวกับอดีต อย่าไปคาดหวังกับอนาคต... ทุกวันนี้ ผมใช้ชีวิตแบบนี้แหละ” เจ้าของแนวเคราครึ้มในมาดเข้ม แนบรอยย่นบนมุมปากบางๆ เป็นบทส่งท้าย
ไม่ต้องสงสัย! ไม่ใช่ “ผู้ชายสีรุ้ง”!! [ขอบคุณภาพ: @charmarmy] “เรื่องความรัก... ผมไม่ได้เอามาเป็นสาระสำคัญของชีวิตเท่าไหร่ครับ ถึงเวลามันมา มันก็มา ถึงเวลามันมีก็มี แต่มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องออกมานั่งป่าวประกาศ ทุกวันนี้ หลายๆ มุมในชีวิตเรามันก็ไม่เหลือความเป็นส่วนตัวแล้ว บางทีเราก็อยากจะเก็บอะไรไว้กับตัวบ้างสักนิดนึงก็ยังดี เพราะส่วนใหญ่ถ้ามีแฟนแล้วไปเปิดตัว เละเทะตลอด ไม่รอดสักราย เราก็เลยอยากเก็บอะไรแบบเงียบๆ ในมุมของเราไว้ดีกว่า แต่ไม่ต้องห่วงนะ ไม่ใช่เกย์ ไม่ใช่กะเทยแน่นอน เห็นหลายคนชอบมาถามเลยบอกไว้ ผมยังชอบสรีระของผู้หญิงอยู่ ยังชอบความเป็นผู้หญิงอยู่ ไม่ต้องห่วง” เขายิ้มกวนๆ ปิดท้าย |
โรงเรียนการแสดงที่ดีที่สุด “จริงๆ แล้ว ผมเรียนคณะรัฐศาสตร์ (ม.ธรรมศาสตร์) มาครับ แต่ถามว่าเราชอบสายนี้ไหม เราก็ไม่ชอบ แต่ตอนนั้นถามว่าตัวเองอยากทำอะไร เราก็ยังไม่รู้หรอก รู้แค่ว่าเราไม่ชอบอะไรที่เป็น routine พอมาทำละคร ถ่ายไปได้สัก 2 เรื่อง เห็นเบื้องหลังการทำงานต่างๆ แล้วรู้สึกสนุกดี ก็เลยตัดสินใจว่า โอเคเดี๋ยวจะไปเรียนต่อทางด้านฟิล์มนี่แหละ ตั้งใจมาก สมัครเรียนเรียบร้อย กำลังจะไปแล้ว พอไปนั่งคุยกับคุณยุ (ยุวดี ไทยหิรัญ) เขารู้ก็บอกเราว่า เฮ้ย! โรงเรียนที่ดีที่สุดของมึงอยู่ตรงนี้แล้ว ทำไมต้องไปเสียตังค์ด้วย มันอยู่ที่เราแล้วว่าเราจะขวนขวายตักตวงความรู้หรือเปล่า มานั่งคิดๆ ดู เอ้อ...มันก็จริงอย่างคุณยุว่า สุดท้ายก็เลยตัดสินใจไม่ไปเรียน (ยิ้ม) แล้วก็ทำงานต่อมาจนถึงทุกวันนี้” |
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @charmarmy และ 70-90memory.blogspot.com
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754