xs
xsm
sm
md
lg

20-,18+ อวสานโลกสวย แรง..แต่จริง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เป็นอีกหนึ่งหนังไทยที่ถูกวิจารณ์ถึงภาพ และเนื้อหาว่า รุนแรง สำหรับ "อวสานโลกสวย" ทำให้ทีมผู้สร้างฯ แก้เกมหั่นฉากไม่เหมาะสม ปรับเป็นหนัง 2 เรต (20-,18+) หลังสำนักตรวจพิจารณาภาพยนตร์ฯ จัดให้หนังได้เรต 20- ด้านเพจ "รบกวนตัดต่อภาพนี้ให้หน่อยสิ" นำฉากหนึ่งของหนังมาเป็นโจทย์ให้ขาเกรียนโฟโต้ชอปได้โชว์ผลงานโลกสวยกันแบบจัดเต็ม

แม้จะไม่เจอพิษโดนแบน แต่กระแสการจัดเรตดังกล่าวก็ทำให้ทีมผู้สร้างรู้สึกเซ็งไปตามๆ กัน รวมถึงคอหนังในโลกออนไลน์ต่างวิจารณ์ถึงมาตรฐานการพิจารณาครั้งนี้ โดยโปรดิวเซอร์ และผู้อำนวยการสร้างฝ่ายผลิต กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส "กัลป์ กัลย์จาฤก" ได้เปิดใจว่า ไม่ต้องการให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรม แต่อยากให้ตระหนักถึงภัยมืดของโซเชียลมีเดียมากกว่า แต่ในเมื่อมีการพิจารณาออกมาแบบนี้ก็ยินดีรับฟังและปฏิบัติตามตามมาตรฐานของสำนักตรวจพิจารณาภาพยนตร์ฯ

"เรายินดีที่จะตัดภาพบางส่วนออกเพราะประเด็นของหนังไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมหรือเด็กใช้ความรุนแรงหรือเลียนแบบ แต่ประเด็นสำคัญคือเราต้องการให้ทุกคนได้ตระหนักถึงผลกระทบหรือด้านมืดของโซเชียลมีเดีย ที่อาจฟังดูเหมือนไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันใกล้ตัวพวกเรามาก ความรุนแรงในภาพยนตร์เป็นเพียงสิ่งที่เพิ่มอรรถรสในการชมเท่านั้น" โปรดิวเซอร์ และผู้อำนวยการสร้างชี้แจงถึงความตั้งใจในการทำหนัง

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ อวสานโลกสวย
ดังนั้น จึงได้ข้อสรุปว่า จะทำภาพยนตร์ออกมาเป็น 2 เรต คือ มีทั้งเรต 20- และ 18+ พร้อมเอาเข้าโรงภาพยนตร์ทั้ง 2 เรตเข้าฉายตามเวลาเดิม 21 มกราคม 2559 เพราะอยากให้ทุกคนได้มีโอกาสชมโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มที่โตมากับโลกโซเชียลมีเดีย ส่วนเรต 18+ มีการปรับภาพบางส่วน แต่ไม่เสียอรรถรสในการชมแน่นอน

"ไม่ใช่แค่เลือดสาดกระจายอย่างเดียว แต่มันมีประเด็นที่จะบอกออกมาที่จะนำเสนอออกมาในความบันเทิงในสไตล์ของเรา มันสุดในแบบของเรา ฉากพีคของเรื่อง เมื่อเข้าไปดูจะมีทัศนคติอีกแบบหนึ่งแล้วออกมาก็มีทัศนคติอีกแบบหนึ่ง นี่คือความน่าสนใจของอวสานโลกสวย ที่ผมเชื่อว่าทุกคนถ้าได้ชมเราจะออกมาคุยกัน ถกกันถึงสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงในสังคมทุกวันนี้" เขาให้สัมภาษณ์ผ่านทีมข่าวบันเทิงผู้จัดการออนไลน์


ด้านเพจดังอย่าง "รบกวนตัดต่อภาพนี้ให้หน่อยสิ" ได้โพสต์ฉากหนึ่งของหนังจากผู้ใช้สื่อโซเชียลฯ ท่านหนึ่งมาเป็นโจทย์ให้ขาเกรียนโฟโต้ชอปได้โชว์ผลงานโลกสวยกันแบบจัดเต็ม ก่อนจะโพสต์ตั้งคำถามถึงการกีดกันเรื่องความรุนแรงว่าแท้จริงแล้ว คือการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และเด็ดขาดได้จริงหรือไม่


“ ช่วยทำให้หนังดูรุนแรงน้อยลง เหมาะกับพวกโลกสวยมากกว่านี้หน่อยครับ ”มีคนส่งลิงค์ข่าวมาให้อ่านว่า โดนไปอีกเรื่องละ 55555...

Posted by รบกวนตัดต่อภาพนี้ให้หน่อยสิ on Friday, January 15, 2016


"...วันนี้ขออนุญาตบ่นยาวนิดนึงนะ ข่าวที่ออกมามันก็คิดได้หลายแง่แหละ เพราะเราก็ยังไม่ได้ดูหนังตัวจริงว่ามันเป็นยังไง พูดอะไรมากก็ไม่ได้ นึกถึงแง่ของคนทำหนังก็อยากจะสะท้อนมุมมืดให้ได้ขบคิดว่าเอฟเฟกต์มันรุนแรงแค่ไหน การไปตัดฉากนู้นฉากนี้ที่เค้าพยายามสื่ออารมณ์ออก ก็ทำให้หนังจืดลงสื่อความหมายไม่สุด คนดูก็เข้าไม่ถึงอารมณ์หนัง อีกแง่นึงก็คงไม่อยากให้เยาวชนในประเทศที่มีศีลธรรมอันดับ 1 ของโลกได้ซึมซับความรุนแรงอันมิดีมิควรเข้าไป...อืมม ต้องเป็นแบบนั้นแน่ๆ

สรุปแล้วการกีดกันคือการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และเด็ดขาดจริงๆ หรือ? ในเมื่อเด็กๆ เรายังถูกสอนถูกเฆี่ยนตีให้รู้จักหลาบจำ และเติบโตมากับความรุนแรงที่ผู้ใหญ่มอบให้จนชินตาตั้งแต่เล็กจนโต แต่สุดท้ายเราถูกปิดกั้นไม่ให้พบเรื่องพวกนี้จากสื่อที่ใช้เสพเพื่อความบันเทิง และอาจจะสะท้อนความจริงในสังคมให้เราตระหนักได้ สำหรับผมแล้วมันย้อนแย้งกันอย่างน่าตลก ชื่อหนังมันตั้งชื่อมาตบหน้าเราอ้อมๆ จริงๆ ว่ะ 555555"


ส่วนประเด็นเรื่องการเลียนแบบฉากความรุนแรงในสื่อละครหรือภาพยนตร์ "ธาม เชื้อสถาปนศิริ" นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) เคยพูดถึงปัจจัยการเลียนแบบหรือไม่ของเด็กและเยาวชนเอาไว้อย่างน่าสนใจผ่านบทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยงกับประเด็นนี้ได้ดี โดยมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ คือ 1. ประสบการณ์เดิม เช่น การเลี้ยงดู ปมชีวิต ค่านิยม โลกทรรศน์ ความทรงจำเรื่องใดเรื่องหนึ่งในอดีต


2. ความสามารถในการแปรความตีความ เช่น ดูแล้วไม่เข้าใจ ไม่คิดตาม หรือตีความรับเอาเฉพาะส่วน ฉากความรุนแรง หรือเอาเฉพาะส่วนที่ชอบ หรืออยากจะทำตาม แต่ไม่เอาส่วนที่เป็นโทษ 3. ปริมาณและการเปิดรับสื่อ เช่น ถ้าเด็กๆ ดู เปิดรับสื่อแต่เนื้อหาที่มีความรุนแรง เรื่องเพศมากๆ ก็จะไม่มีประสบการณ์รับสื่ออื่นๆ เลย การเปิดรับสื่อไม่ได้บอกว่ามากแล้วไม่ดี ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่รับชมด้วย

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์ อวสานโลกสวย
นอกจากนั้นยังพูดถึงความรุนแรงในหนังด้วยว่า ถ้าหนังทำดีจะต้องสื่อความรุนแรงว่าเป็นสิ่งที่มีสาเหตุและผลลัพธุ์ และจะต้องอธิบายที่มา ความเป็นไปของความรุนแรงนั้นๆ และจะต้องไม่สื่อว่า "คนเราควรแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยความรุนแรง" และที่สำคัญ จะต้องสื่อให้เห็นว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ผิด สังคมไม่ยอมรับ และผู้กระทำความรุนแรงต้องไม่นำเสนอเป็นเสมือนวีรบุรุษ เป็นฮีโร่

เช่นเดียวกับการนำเสนอเรื่องเพศที่ควรถูกนำเสนอมิใช่เพื่อหาผลประโยชน์ฉาบฉวยเพื่อดึงดูดความสนใจจากวัยรุ่น แต่ให้ดูว่า ผู้ผลิตนำเสนอในมุมอย่างไร เช่น เพศที่ไม่ป้องกัน เพศที่ไม่รับผิดชอบ ไม่ควรเป็นสิ่งที่ยอมรับได้, ไม่ควรเสนอเรื่องเพศก่อนวัยเรียน วัยที่เหมาะสม ว่าเป็นเรื่องปกติ, คนที่ไม่พร้อมเรื่องเพศ ได้รับบทเรียนอย่างไร, ไม่ควรละเลย หรือเพิกเฉยการป้องกันการติดต่อโรคทางเพศ เป็นต้น


อย่างไรก็ดี นอกจากคนทำหนังแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครองคือกลุ่มคนสำคัญที่นักวิชาการด้านสื่อท่านนี้มองว่า สามารถช่วยลดปัญหาพฤติกรรมเลียนแบบสิ่งไม่ดีของลูกหลานได้หากเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ เช่น ชวนลูกๆ ดูเรื่องการผลิต การเขียนบท ถ่ายทำ ตัดต่อ หรือการแสดง หรือชวนคุยเรื่องที่บ้าน ที่โรงเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องสังคมของลูกๆ บ้าง แต่ควรคุยอย่างเข้าใจ อย่าคิดว่าการเงียบ การไม่คุย การห้ามไม่ให้ดูคือวิธีแก้ปัญหา นั่นอาจจะได้ผลดีในบ้าน แต่ที่สุดเด็กๆ ก็อาจรู้ได้จากทางอื่น

ที่สำคัญคือ การเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกในการใช้สื่อต่างๆ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาอาจจะไม่ได้ผลเลยหากพ่อแม่ ผู้ปกครองเองเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

สำหรับเรื่อง "อวสานโลกสวย" เป็นภาพยนตร์ไทยแนวกระตุกขวัญเรื่องล่าสุดจากค่ายกันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส นำแสดงโดยสายป่าน อภิญญา สกุลเจริญสุข, มายด์ ณภศศิ สุรวรรณ, ลัทธ์กมล ปิ่นโรจน์กีรติ, เบสท์ ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์ นำเสนอเรื่องราวของภัยมืดของโลกโซเชียลฯ ที่พูดถึงเด็กสาวผู้ใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารสร้างภาพลักษณ์ สร้างตัวตนเพื่อให้ตัวเองมีคุณค่าในโลกออนไลน์มากกว่าตัวตนจริงและชีวิตจริงจนเมื่อความน่ารักสดใสไปขวางหูขวางตาสาวโหดสติแตก ชีวิตจึงต้องตกอยู่ในอันตรายกว่าที่คิด





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น