แม้จะใช้ชื่อว่า “อวสานโลกสวย” พร้อมคำโปรย “ใครไม่สวย แต่...กูสวย” แต่ดูเหมือนว่าความสวยของหนังใหม่จากค่ายกันตนาเรื่องนี้จะไม่อวสานเหมือนอย่างชื่อ เพราะเพียงเปิดตัวฉายในวันแรกก็เก็บรายรับไปมากกว่าสองล้านกว่าบาท ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าแม้กระทั่งหนังสตีฟ จ๊อบส์ ขณะที่ในฟากฝั่งของคำวิจารณ์ ทั้งนักวิจารณ์และคนดูผู้ชมก็ดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือเป็นบวก
ครับ, ในระยะสองสามสัปดาห์มานี้ เราคงจะได้ยินข่าวของหนังเรื่องนี้กันเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเรตติ้งของหนังที่ผ่านการพิจารณาให้ฉายโรงด้วยสองเรต คือ “18+” และ “ฉ 20 -” ซึ่งอันหลังนี้จะต้องมีการตรวจบัตรประชาชนก่อนซื้อตั๋วเข้าชม เนื่องจากจำกัดเฉพาะผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะอย่างไร เสียงยืนยันจากทางทีมงานภาพยนตร์ก็คือ ไม่ว่าคุณจะได้ดูเรตไหน ก็จะยังคงได้รับเนื้อหาแก่นสารอย่างครบถ้วนเช่นกัน โดยส่วนตัวผม ได้ดูฉบับ “ฉ 20 -” ทุกอย่างที่จะเขียนถึง จึงใช้มาตรฐานของหนังที่ฉายในเวอร์ชั่นนี้เป็นเกณฑ์
“อวสานโลกสวย” แต่เดิมนั้นเป็นผลงานหนังสั้นของสองนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต “ปัญญ์ หอมชื่น” และ “อรอุษา ดอนไสว” ก่อนที่ค่ายกันตนาจะเห็นแววแล้วซื้อมาต่อยอด ขยายสร้างเป็นหนังใหญ่ โดยได้เจ้าของผลงานต้นฉบับทั้งสองคนมารับหน้าที่เขียนบทและกำกับเองด้วย และจากผลลัพธ์ที่ออกมาแบบนี้ ผมรู้สึกว่าเด็กยุคนี้เขามีความสามารถที่น่าชมนะครับ หลายปีมานี้มีผู้กำกับที่เป็นคนรุ่นใหม่ๆ และอายุยังน้อยๆ เกิดขึ้นมาพอสมควร อย่างเมื่อปลายปีที่ผ่านมา “ขนิษฐา ขวัญอยู่” ผู้กำกับเรื่อง “อาปัติ” ก็แสดงให้เห็นชัดว่านั่นคือความหวังหนึ่งของหนังไทยคุณภาพ และก็เป็นที่แน่ชัดเช่นกันว่า สองผู้กำกับ “อวสานโลกสวย” ก็เหมือนแสงสวยๆ ที่ส่องขึ้นมาให้กับแวดวงหนังไทยเรา
โดยพื้นฐานที่มา ทั้งสองคนก็เป็นนักศึกษาด้านภาพยนตร์แห่งรั้ว ม.รังสิต ซึ่ง ม.รังสิตนี่ว่าจริงๆ ก็ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตนักศึกษาด้านภาพยนตร์และจบออกมาทำหนังจำนวนไม่น้อย มีดารานักแสดงคุณภาพหลายคน เช่น สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข” ที่รับบทนำในหนังเรื่องนี้
ความน่าสนใจอันดับแรกสุดของ “อวสานโลกสวย” คือเรื่องของการจับประเด็นทางสังคมที่กำลังเป็นค่านิยมของคนร่วมสมัยยุคออนไลน์โซเชียล ก่อนหน้านี้ เราอาจจะเคยได้ดู “โจ หัวแตงโม” (กำกับโดย กิติกร เลียวศิริกุล) แต่ประเด็นอาจเป็นไม่เป็นที่สนใจเท่าไหร่ ตรงกันข้ามกับ “อวสานโลกสวย” ที่ทุกคนก็คงจะเห็นพ้องต้องกันว่าหนังมีประเด็นที่หวือหวาและเป็นอารมณ์ร่วมของคนยุคนี้ซึ่งมีชีวิตผูกติดอยู่กับมันทุกวันทุกคืน กล่าวได้ว่า ตั้งแต่เมืองเมืองหลวงไปจนชนบท คำว่า “เน็ตไอดอล” ล้วนเป็นที่รู้จัก อีกทั้งการพูดถึงด้านมืดของเน็ตไอดอล มีการผสมแนวทางร้ายๆ สไตล์หนังอาชญากรรมหรือละครตบตีแบบมากจริตริษยาเข้าไปด้วย ก็ทำให้หน้าหนังดึงดูดความสนใจได้
จริงๆ ถ้าจะชมก็ต้องบอกว่าหนังเรื่องนี้เก็บรายละเอียดและทำการบ้านมาดี ตั้งแต่ชื่อหนังที่เย้ยหยันเหน็บแนมอย่างมีมิติ คำว่า “โลกสวย” ในช่วงหลายปีที่ผ่าน เป็นได้ทั้งคำชมและคำเหน็บแนม แต่ส่วนใหญ่ เป้าหมายที่ใช้เมื่อเรียกใครสักคนว่าโลกสวย มันมักจะไม่สวยเหมือนคำเรียก (เหมือนกับคำว่า “เน็ตไอดอล” ที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะมีคนอยากยอมรับ เพราะยิ่งนานวัน เน็ตไอดอลก็ยิ่งถูกลดเกรดที่แม้แต่เป็นเน็ตไอดอลในเรื่องเพศ กระตุ้นราคะก็ยังมี แต่ละคนจึงดูจะสยองๆ กับคำเรียกนี้ไปแล้ว และมักจะบอกว่า “อย่าเรียกเราว่าเน็ตไอดอลเลย เราไม่สามารถเป็นไอดอลของใครได้หรอก”) และยิ่งเติมคำว่า “อวสาน” เข้าไปด้วย ยิ่งทำให้ “โลกสวย” มีความหมายที่พิเศษมากขึ้น ซึ่ง “โลกสวย” ในความหมายธรรมดาอาจจะหมายถึงโลกอันสวยสดงดงามแลดูฟรุ้งฟริ้งมุ้งมิ้งตามสไตล์เน็ตไอดอลส่วนหนึ่งซึ่งหนังนำเสนอ ขณะที่อีกหนึ่งด้าน “โลกสวย” อีกมุม ก็อาจหมายถึง ความลวง (หรืออย่างที่ตัวละครในหนังบอกว่า “ตอแหล”) ได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ “อวสานโลกสวย” จึงอาจเป็นได้ทั้งอวสานของโลกสวยจริงๆ หรืออวสานของโลกสวยที่ผ่านการปรุงแต่งแปลงย้อม เป็นความจริงปลอมๆ ของคนบางคนบนโลกออนไลน์
ความจริงอันปลอมๆ นี่เราจะเห็นได้ตั้งแต่ชื่อของตัวละครหลักอย่างน้องเกรซที่เป็นเน็ตไอดอลคนหนึ่ง ในโลกความเป็นจริง “เกรซ” นั้นคือ “ก้อย” แต่จะใช้ชื่อ “ก้อย” ห้อยแขวนบนแฟนเพจ ก็ดูจะไม่มีเกรดสักเท่าไหร่ “ก้อย” จึงต้องปรับใหม่เปลี่ยนไปเป็น “เกรซ” หรือ “Grace” ที่หมายถึงงามสง่าประดุจเจ้าหญิง...แม้หนังจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่นี่คือวัฒนธรรมแบบหนึ่งในโลกออนไลน์ ชีวิตจริงของใครสักคน กับสเตตัสตัวตนบนสื่อโซเชียล มันก็แตกต่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ และเมื่อความลุ่มหลงในตัวตนที่ประกอบสร้างในโลกออนไลน์ ไปไกลเกินจะกู่ เรื่องราวที่น่าหดหู่ จึงตามมา...
สายป่าน-อภิญญา กับบทบาทของ “เกรซ” เธอคือเน็ตไอดอลผู้เคยเจ็บปวดกับเรื่องราวแต่คราวก่อน เธออาศัยอยู่กับ “แจ็ค” (เบสท์-ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์) เด็กหนุ่มที่กำลังลุ่มหลงสาวน้อยคนหนึ่งซึ่งชื่อ “เอแคร์” (มายด์-ณภศศิ สุรวรรณ) ในโลกโซเชียล “แคร์” เป็นเน็ตไอดอลที่มีแฟนคลับติดตามจำนวนมากตามสไตล์สาวน้อยน่ารักฟรุ้งฟริ้ง การสร้างสถานะเน็ตไอดอลสำหรับเอแคร์เป็นไปอย่างมีกระบวนการพร้อมกับเพื่อนร่วมงานอีกสองคนซึ่งคนหนึ่งเป็นช่างภาพและอีกคนเป็นคนเขียนสเตตัสเล่าเรื่องราว สถานการณ์ในหนังเดินมาถึงจุดวิกฤติ เมื่อ “เกรซ” ที่อยู่กับแจ๊ค พบว่าความหลงใหลของแจ็คที่มีต่อ “เอแคร์” นั้น ดูจะหนักข้อขึ้นทุกที และด้วยใจที่เปี่ยมแรงริษยาเกินพิกัดของเกรซ บวกกับความลุ่มหลงอย่างล้นเหลือของแจ็ค นำพาคนทั้งสองไปสู่การกระทำบางอย่างที่อุกอาจเกิดจะคาดถึง
โดยโครงสร้าง หนังแบ่งตัวเองออกเป็นสองเรื่องราวหลักๆ ที่เล่าแบบตัดสลับขนานกันไป แต่ก็ไม่ซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจ เรื่องแรกเป็นเนื้อหาในส่วนของ “เกรซ” สาวน้อยที่ในความเป็นจริงเธอชื่อก้อย เนื้อเรื่องตรงนี้สำคัญมากในแง่ของการทำให้เราเห็นถึงแรงผลักดันซึ่งทำให้เกรซมีตัวตน พฤติกรรม ตลอดจนการกระทำอย่างที่เราจะได้เห็นในส่วนที่สอง ... ส่วนที่สอง เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการบุกรุกเน็ตไอดอลที่ชื่อ “เอแคร์” โดยแจ็คและเกรซที่นำไปสู่เหตุการณ์บานปลาย กลายเป็นโศกนาฏกรรมความสูญเสีย
ท่ามกลางความงดงามฟรุ้งฟริ้งของเน็ตไอดอล “อวสานโลกสวย” แทรกซ้อนไว้ด้วยด้านมืดและภาพฉากที่ค่อนข้างรุนแรง ผมพยายามทำความเข้าใจว่าเพราะอะไร หนังเรื่องนี้ถึงได้เรต ฉ 20- ซึ่ในลำดับแรกสุด สิ่งที่ควรพูดและผมเห็นว่าหนังทำภาพออกมาได้มีชั้นเชิงโดยไม่จำเป็นต้องแสดงให้เห็นภาพแห่งการกระทำนั้น พูดสั้นๆ ว่ามันเป็นหนังเลือดสาดก็จริง แต่เราจะไม่ได้เห็น “ภาพแห่งการกระทำความรุนแรง” นั้น แต่เราจะรับรู้สัมผัสได้ถึงความรุนแรงดังกล่าว เช่น การที่ตัวละครตัวหนึ่งใช้ค้อนทุบหัวตัวละครอีกตัวหนึ่ง เราจะไม่เห็นตอนที่ค้อนทุบลงบนหัว แต่เราจะช่วงเวลาเงื้อง่าค้อนนั้น เห็นใบหน้าที่กราดเกรี้ยวโกรธแค้นของตัวละคร และหลังจากนั้น อาจมีภาพเลือดกระเซ็นโดนใบหน้าเสื้อผ้าของผู้ที่ใช้ค้อนทุบ เลยไปจากนั้น เราจะเห็นตัวละครที่ถูกทุบหัวนอนแน่นิ่ง เลือดไหลนอง ... ผมมองว่านี่คือการกระทำที่มีชั้นเชิงของหนัง คือไม่จำเป็นต้องเห็นภาพแห่งการกระทำ แต่เราสัมผัสได้ถึงความโหดร้ายรุนแรง ผ่านการแสดงของตัวละคร สีหน้าแววตาและท่าทาง ยังไงก็ยังต้องชมคนทำหนังในด้านการมีวิสัยทัศน์ในการสื่อ
แต่กระนั้น ผมคิดว่าก็พอจะเข้าใจอารมณ์ของฝ่ายจัดเรตติ้งครับ ผมย้อนกลับไปอ่านตัวบทกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับเรต ฉ 20- (อายุต่ำกว่า 20 ห้ามดู) เขาบอกไว้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ “มีลักษณะแสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ หรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองหรือผู้อื่น หรือแสดงวิธีการก่ออาชญากรรมซึ่งอาจจูงใจหรือส่งเสริมให้เลียนแบบหรือแสดงวิธีการใช้สารเสพติด หรือลัทธิหรือคำสอนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีหรือขนบธรรมเนียมประเพณีหรือจูงใจให้หลงเชื่อ” สังเกตคำที่เน้นและขีดเส้นใต้นะครับ ผมว่าจุดนี้ล่ะที่อาจจะทำให้ฝ่ายจัดเรต กดเรต ฉ 20- ให้กับอวสานโลกสวย เพราะเราก็ต้องยอมรับว่าการกระทำของเกรซและแจ๊คนั้นได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการก่ออาชญากรรมอย่างที่ข้อกำหนดได้ว่าไว้ อันนี้มองในมุมส่วนตัวนะครับ อาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ในเชิงของการเป็นภาพยนตร์ “อวสานโลกสวย” ถือเป็นหนังที่ดูสนุกเรื่องหนึ่ง นักแสดงนำของเรื่องก็เล่นได้ดีสมบทบาท คนแรก คุณสายป่านกับบทเกรซ ซึ่งผมเห็นด้วยกับผู้แสดงที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเป็นบทที่เล่นยาก ... ยากแน่นอนครับ เพราะมันต้องสลับระหว่างหลายอารมณ์ ที่มีทั้งความบ้าระห่ำ วิปริต จิตป่วย หัวเราะอยู่ดีๆ แล้วเปลี่ยนเป็นกราดเกรี้ยวรุนแรง หรือหัวเราะด้วยความโกรธกริ้ว เหมือนคนหลายบุคลิก บทแบบนี้เล่นยาก เพราะถ้าสีหน้าแววตาไม่ไปให้ถูกจังหวะแล้ว ล่มทันที แต่คุณสายป่านก็ผ่านบทนี้ไปได้ด้วยดี บางนาที บทของเธอทำให้เรารู้สึกใกล้ๆ เคียงๆ กับบทของคุณเดวิด อัศวนนท์ ที่เล่นเป็น “เฮซุส” ในหนังเรื่อง “เคาท์ดาวน์” อารมณ์ที่ยากจะคาดเดา ตัวตนที่ยากจะหยั่งถึง เป็นสิ่งซึ่งคนทั้งสองสื่อสารออกมาได้ดี...นอกจากนี้ อีกคนที่ควรชมก็คือ “เบสท์-ณัฐสิทธิ์” ผู้เคยได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ครั้งที่ 23 สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง “ตั้งวง”...บุคลิกท่าทางของเขาตอนไม่ได้เล่นหนังก็ดูปกติ แต่พอไปอยู่ในบทของแจ็ค ความคลั่งไคล้คล้ายพวก “จิตๆ” ออกเต็ม เหมือนโอตาคุ แต่เป็นโอตาคุสายหื่น วันๆ ไม่ทำอะไร นอกจากจ้องหน้าจอติดตามเรื่องราวของสาวไอดอล เพ้อๆ ฝันๆ อยากตัดชุดนั้นชุดนี้ให้เธอใส่ ดูแล้วน่าสะพรึงมาก!!
แต่ถึงอย่างไรก็เป็นหนังที่ต้องดู ผมรู้สึกอย่างนั้น...อวสานโลกสวย จะช่วยให้เรามองเห็นผลพวงอีกหนึ่งด้านของการเป็นซูเปอร์สตาร์หรือดาราแห่งโลกออนไลน์ที่คนเรียกขานกันในนามของเน็ตไอดอล สิ่งที่ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อก็คือ ความลุ่มหลงในการมีตัวตนบนโลกออนไลน์ มันกลับกลายเป็นสิ่งที่ชี้วัดคุณค่าของคนได้อย่างมากมายไปแล้ว ภาพของ “แจ็ค” กับ “เกรซ” ที่เฝ้าจ้องหน้าจอ หลังจากอัปรูปลงเฟซบุ๊ก จดจ้องหน้าจอ รอนับยอดไลค์ด้วยใจปลื้มปริ่มและยิ้มร่าเวลามีคนแชร์ เป็นภาพที่ชวนให้รู้สึกขันขื่นอย่างบอกไม่ถูก
กระนั้นก็ดี แม้หนังเรื่องนี้จะปล่อยให้สายป่านตบตีแหวกอกความเป็นเน็ตไอดอลจนกระจุยกระจาย แต่ในด้านหนึ่ง ก็ยังคงให้ความเป็นธรรมกับเน็ตไอดอลไว้ด้วย ผมชอบบทพูดของ “เอแคร์” ที่ตวาดใส่เกรซได้แสบทรวงว่าเพราะอะไรเธอถึงทำอะไรแบ๊วๆ แบบนั้นในโซเชียล เหตุผลที่เธอตีโต้ ประมาณว่า ทำให้พวกไม่มีน้ำยาอย่างเธออิจฉาตาร้อนอย่างไรล่ะ... ซึ่งมันก็สะท้อนย้อนกลับไปที่ตัวของเกรซหรือใครต่อใครที่ไม่ได้เป็นเน็ตไอดอลแต่ทำใจกับความดังของคนอื่นไม่ได้ว่า สุดท้ายแล้ว ใครกันแน่ที่ลุ่มหลงในตัวตนมากกว่ากัน หรือ “น่าสมเพช” มากกว่ากัน ระหว่างคนที่ทำไปตามปกติ มีรูปอะไรสวยๆ เก๋ๆ ก็อัปเฟซไปเรื่อยๆ กับคนที่มองดูคนเหล่าด้วยสายตานางอิจฉา อันนี้น่าคิดมากนะครับ
การเป็นเน็ตไอดอล ก็มีราคาที่ต้องจ่าย มีคนรักย่อมมีคนชัง เป็นคนดังย่อมมีคนด่าและอิจฉา ดูเหมือนว่าความจริงข้อนี้จะปฏิเสธได้ยาก เช่นเดียวกับเรื่องราวของเอแคร์และน้องเกรซ ที่ต้นเหตุแห่งเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวง ล้วนออกสตาร์ทจากจุดของการเป็นคนเด่นคนดัง แต่เครื่องมือสมัยใหม่อย่างสื่อออนไลน์หรือโซเชียล ก็ยังเร่งเร้าให้ผู้คนอยากมี “ตัวตน” บนโลกใบนั้นทุกเมื่อเชื่อวัน มีเน็ตไอดอลหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย หลากสไตล์หลายแบบ สุดแท้แต่ละคนจะพรีเซนต์ อีกทั้งบรรดาแฟนคลับก็สามารถกดรับปุ่มติดตามได้ตามความสนใจ
ถึงตรงนี้ พูดแบบ “โลกสวย” หน่อย ก็คงต้องบอกว่า “จะเป็นอะไรก็เป็นไปเถิด ไม่ว่าจะ “เน็ตไอดอล” หรือ “สาวเย็บผ้า” ล้วนมีค่าเช่นเดียวกัน สำคัญที่สุดก็คือเป็นคนดี” / อวสาน...
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม