สมกับการรอคอยจริงๆ The Hunger Games Mockingjay Part 2 เกมล่าเกม ม็อกกิ้งเจย์ พาร์ต 2 ทว่าหาใช่เนื้อหาภาพยนตร์ไม่ หากเป็นประเด็นร้อนเรื่องคุณภาพซับไตเติ้ล ที่ทำเอาคนรักหนัง เพลีย! เสียอารมณ์!
*************
"นั่งดูไปสักพัก ก็รู้สึกได้เลยค่ะว่าซับมันแปลแปลกๆ ตั้งแต่ต้นๆ เรื่องแล้ว มีหลายช็อตมากที่รู้สึกว่า เฮ่ย! มันไม่ใช่นะ ทำไมแปลอย่างนี้ บางจุดมันหลุดธีมของเรื่องไปเลยก็มี มีอยู่ช็อตนึงที่กำลังทำสงครามกัน ตัวละครพูดบางประโยคออกมาซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะสำหรับในเรื่อง แต่คนแปลกลับแปลไม่ได้อิงบริบท แปลตามตัวภาษาอังกฤษ มันเลยทำให้ความหมายหลุดไปเลย ดูแล้วก็แอบตกใจอยู่เหมือนกันค่ะ พออ่านซับฯ ไปสักพักก็เลยตัดสินใจเลิกอ่านไปเลยค่ะ คิดในใจ แปลเองก็ได้วะ (หัวเราะ)”
คอหนังอย่าง เพิร์ท-ณัฐนันท์ วิวิธวรกิจ ผู้เข้าแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ "แฮร์รี่ พอตเตอร์" เล่าต่ออีกว่าเพื่อนที่ไปดูด้วยกันบ่น
"ซับฯ แย่ว่ะ ซับไม่โอเคเลย"
ครั้นพอมาส่องในโลกโซเชียล โอ้โห กระหน่ำวิจารณ์ฟันธง
“หนังแม่งแปลซับฯ 'ห่วยว่ะ'”
และร้อนฉ่าเข้าไปอีก เมื่อเพจเฟซบุ๊ค Entertainmentbite by พริตตี้ปลาสลิด ส่งสารเพื่อความเข้าใจหัวอกคนทำซับไตเติ้ลภาษาไทย ซึ่งอธิบายเรื่องเทคนิค แจงแต่ข้อจำกัดเงื่อนไข
“...หลักการทั้ง 4 ข้อนี่น่าจะช่วยให้ข้อสงสัยในการตั้งคำถามว่า ทำไมไม่แปลแบบที่ภาษาอังกฤษเดิมพูดมาเช่นนั้น เพราะบางครั้งการแปลตรงๆตัวอาจจะไม่ได้ "ใจความทั้งหมด" โดยใช้คำที่ไม่เกินจำนวนเคาะตามหลักการ 4 ข้อ ซึ่งข้อจำกัดตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญที่บรรดานักแปล(หนังโรง)ล้วนแล้วแต่ปวดหัวมากและต่างก็เคยเจอปัญหานี้ด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นทางแก้ก็คือหลังจากแปลซับแล้ว ผู้แปลจะต้องมานั่งปรับคำอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าหนังที่พูดกันน้อยๆ ก็สบายหน่อย แต่ถ้ามันพูดกันเยอะก็ต้องปรับประโยคกันหัวระเบิด และยิ่งไปกว่านั้น "เวลาในการทำงาน" จำกัดมากบางครั้ง 3 วัน 5 วัน 7 วัน แล้วแต่ว่า 'ข้อจำกัดและวัตถุดิบของหนังเรื่องนั้นๆคืออะไร'
ข้อจำกัดที่ว่าคือ 1.ตัวหนังมาในรูปแบบไหน 2.ไม่มีหนังให้ดูตอนแปลมีแต่บทหนังมาให้แปล (ส่งผลให้บางครั้งสรรพนามผิด) 3.ไม่มีหนังให้ตอนแรก แต่ส่งหนังมาให้ตอนหลังเพื่อปรับแก้สรรพนาม 4.ฯลฯ ที่ยังนึกไม่ออก...”
แทนที่จะคอหนังจะเข้าใจ ส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่า “เป็นการแก้ตัว”
งานนี้ต้องถึงกูรูผู้คลุกวงในภาพยนตร์แล้วล่ะ
แปลซับ อย่าเอาอารมณ์นักพากย์ใส่ ไม่เคารพของเดิม
“ผมได้อ่านคำชี้แจง มันก็จริงนะครับ มันมีขอบเขตจำกัดอะไรหลายๆ อย่าง” สุทธากร สันติธวัช นักวิจารณ์ภาพยนตร์ระดับปรมาจารย์ ผู้มีประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจวงการซับไตเติ้ลในประเทศไทยเป็นอย่างดี พูดคอนเซ็ปต์การทำงานซับไตเติ้ลว่า
“สิ่งสำคัญสำหรับคนทำซับหนังคือ ต้องให้คนอ่านๆ ทัน และรู้เรื่อง จับใจความได้โดยไม่ต้องใช้เวลาอ่านมาก ซึ่งมันก็อาจจะขาดความครบถ้วนไป นี่ก็เป็นข้อจำกัดของซับฯ บางทีจำเป็นต้องลดทอนคำ เพื่อให้อ่านได้อย่างทันเวลา โอเคเวลาเราดูหนังแผ่น เราสามารถ pause อ่านได้ แต่หนังในโรง เราไม่สามารถ pause ดูสิ่งที่เราไม่เข้าใจ หรืออ่านไม่ทัน เราต้องอ่านทันทีเลย เพราะฉะนั้นคนทำซับฯ ต้องทำให้อ่านได้ใจความในระยะเวลาที่สั้น เค้าก็จะรวบรัด ไม่ได้ทำให้ละเอียดมาก”
ทว่าคำบางคำ ประโยคบางประโยค แปลไปไกลจากดั้งเดิม เล่นคำเอาฮา ทำให้หลุดประเด็นในสิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการนำเสนอ
“ผมคิดว่าเป็นสไตล์ของแต่ละคน บางคนใส่ความเป็นกันเอง เพื่อให้สนุกสนาน เคยมีซับบางคนแปลสถานที่ในหนังเป็นสถานที่ในเมืองไทยไป ยกตัวอย่าง แปลจตุรัสอะไรสักอย่าง ก็แปลเป็นสนามหลวง อันนี้ก็เพื่อความสนุก เป็นมุกตลก ถ้าถามความเห็นส่วนตัวผม ผมว่าเป็นการก้าวก่ายของเดิมไป ใส่ความสนุกของเราเข้าไปมากเกิน ใส่อารมณ์แบบนักพากษ์ที่ชอบใส่อารมณ์ตัวเองเข้าไป คือ ไม่เคารพของเดิม เอาสนุก รู้สึกว่าอ่านแล้วได้อารมณ์สนุกสนานไปด้วยมากกว่า”
ซับห่วย The Hunger Games ล่าสุด ไม่ใช่เรื่องแรก
สุทธากรย้อนอดีตประเด็นความขัดแย้งระหว่างคนทำซับฯกับคนดูหนังเมื่อเดือนที่แล้วนี่เองให้ฟังว่า
“ถ้าความเห็นผม The Hunger Games ไม่ใช่เรื่องแรกที่มีปัญหาแบบนี้ ผมคิดว่า The Hunger Games เป็นผลต่อมาจากเรื่อง The Martian เมื่อเดือนที่แล้ว คนแปลคือ คุณธนัชชา ศักดิ์สยามกุล ถูกวิพากษณ์วิจารณ์ว่าผิดตรงนั้นตรงนี้ ทำให้เสียอรรถรสมาก คุณธนัชชาเธอก็ตอบโต้ในโซเชียลค่อนข้างรุนแรง ว่าไม่ได้แปลผิด เลยเป็นประเด็นในออนไลน์ตอบโต้ระหว่างคนทำซับหนังกับคนดูหนัง”
เหตุการณ์นี้จึงมีส่วนทำให้คนแปลซับไตเติ้ลภาพยนตร์ถูกมองมากขึ้น เอ๊ะ เดี๋ยวนี้ซับหนังทำยังไง ทำไมเดี๋ยวนี้งานซับฯ ไม่ค่อยมีคุณภาพ คนแปลซับฯ ไม่รับผิดชอบต่องานของตัวเอง
“ยกตัวอย่าง ‘Good Flight?’ ความหมายคือ เดินทางเรียบร้อยดีไหม สะดวกราบรื่นดีไหม แต่คุณธนัชชาใช้คำว่า บินดี? ก็ความหมายเดียวกัน แต่มีคนวิพากษณ์วิจารณ์ว่าทำไมแปลอย่างนั้น คุณธนัชชาเธอย่อรวบรัด แบบภาษาไม่เป็นทางการ”
คุณสมบัติซับ ต้องเลือกใช้ “คำ” ให้เป็น
“อย่าง ตอนนาซ่าว่าถามพระเอกที่อยู่บนดาวอังคารว่า 'How Mars?' พระเอกตอบว่า 'ดาวอังคารยังอยู่ดี' คือ คำถามนี้-ดาวอังคารเป็นยังไงบ้าง ควรจะตอบว่าดาวอังคารเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่ตอบว่าดาวอังคารยังอยู่ดี
ทีนี้มันเป็นเรื่องของการเลือกใช้ 'คำ' มากกว่า 'ความผิด'
ความผิดในการแปลซับฯ ส่วนหนึ่งอาจเป็นความผิดจริง คนแปลอาจไม่เข้าถึงภาษาในมุมนั้นๆ แต่บางส่วนอยู่กับการตีความของคนดูแต่ละคน ซึ่งคนแปลใช้มุมมองของเขาในด้านอารมณ์ แต่เราคนดู ใช้มุมมองทางด้านเหตุผล”
มือซับฯ ขั้นเทพยังเคยพลาด
“มนุษย์มี error นะ ทุกคนแหล่ะ” สุทธากร เล่าถึงมิอซับฯ ระดับกวีซีไรท์ที่เคยพลาด
“คนที่เก่งภาษามากๆ อย่าง คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา สมัยแปลซับเยอะๆ มีเรื่องหนึ่งตอนหนึ่งตัวละครพูดว่า Break a leg ซับฯแปลว่า ขอให้ขาหักนะ ซึ่งผิดความหมายเลย เพราะความหมายจริงๆ คือ ขอให้ประสบความสำเร็จ หรือขอให้ทำงานได้อย่างราบรื่น ที่ผมยกตัวอย่าง ก็เพื่อให้เห็นว่าระดับมืออาชีพก็ยังพลาดได้ คนที่รู้ภาษาก็ด่าประเด็นนี้เยอะในสมัยนั้น แต่สมัยนี้มันง่าย เราสงสัย เราก็สามารถหาทางอินเทอร์เน็ตได้ว่าความหมายคำนั้นประโยคนั้นมีอะไรบ้าง”
ชาวโซเชียลยุคนี้นอกจากสืบคำหาความหมายที่ถุกต้องเองได้เองแล้วตามบริบทหนัง ยังถกเถียงถามหาวุฒิภาวะความสามารถของซับฯ และความรับผิดชอบของบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์
งานซับฯ เครือข่ายผูกขาดในระบบอุปถัมภ์
เมื่อผู้จัดการ Live ถามตรงๆ ว่า ทำไมไม่ค่อยเห็นเครดิตคนที่เก่งภาษาไทยเริ่ดภาษาอังกฤษมาทำงานแปลซับฯ เหมือนสมัยก่อน สุทธากร เผยข้อเท็จจริงว่า
“สิ่งที่เป็นอยู่ในวงการซับ โดยเฉพาะจากอังกฤษเป็นไทยทุกวันนี้คือ การผูกขาด บริษัทเค้าจะเลือกใช้งานคนทำซับที่เค้ารู้จัก เคยใช้งานใครก็ใช้คนนั้น เป็นระบบอุปถัมภ์ เป็นเพื่อนกันก็ส่งงานต่อให้กัน ไม่ได้หาคนทำซับฯ ที่มีคุณภาพ
ผมไม่ได้บอกว่า The Hunger Game เป็นเคสนี้นะครับ แต่โดยทั่วๆ ไป ค่อนข้างผูกขาด แต่ละค่ายเค้าก็ใช้งานคนที่เค้าสามารถโยนงานให้ได้ ไม่ได้ประเมินคุณภาพคนคุณภาพงานเป็นเรื่องเป็นราว”
เพราะคนที่ทำซับฯ ต้องมีความรู้เรื่องภาษาอย่างดีมาก”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเสียงสะท้อนวิพากษณ์วิจารณ์เรียกร้องคุณภาพงานแปลซับฯ จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ทั้งค่ายหนังหันมาเลือกเฟ้นคนทำซับฯ และคนทำซับฯก็กลับมาคำนึงถึงคุณภาพงานมากขึ้น
คนรักหนังก็จะได้ไม่เสียอารมณ์เน๊าะ
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754