“พระปลอม” ออกเรี่ยไรเต็มอัตรา ครองพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดแนวชายแดนเป็นถิ่นทำกิน! เครือข่ายชาวพุทธไม่อาจรับสถิติที่ออกมาได้ ร้องให้สำนักพุทธฯ เร่งตรวจสอบ คุมเข้มพระบวชใหม่ พร้อมคาดโทษหนักตามกฎหมาย ด้านพระภิกษุชี้ ยังมีหนทางรู้ทันเล่ห์ “โล้นห่มเหลือง” ขอชาวพุทธอย่าตระหนก
รู้ทันเล่ห์ มิจฉาชีพห่มเหลือง!
ทนไม่ไหว! ผศ.ดร.เสถียร วิพรมหา นายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) จึงเดินทางไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) พร้อมกับตัวแทนศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และเครือข่ายชาวพุทธ ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบเหล่ามิจฉาชีพในผ้าเหลือง ปลอมแปลงเข้ามาบวชเพื่อหาผลประโยชน์ เรี่ยไร และสร้างความเสื่อมเสียให้แก่พระพุทธศาสนา เผยพื้นที่สุ่มเสี่ยงสูงสุดคือกรุงเทพฯ รองลงมาคือภาคตะวันออก และจังหวัดตามแนวชายแดน
ด้านสำนักพุทธฯ ตกลงรับเรื่อง สั่งการไปยังสำนักงานทั่วประเทศ ให้เร่งประสานกับเหล่าตำรวจพระ ตรวจสอบและจับกุมเหล่า “โล้นห่มเหลือง” ในข้อหาแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ ซึ่งมีความผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งยังมีความผิดตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 มาตรา 44 ตรี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขอความร่วมมือจากเจ้าคณะปกครองในพื้นที่และพระอุปัชฌาย์ ช่วยเข้มงวดกวดขันการรับบุคคลเข้าบวชเป็นพระใหม่ เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระมหาวิชาญ สุวิชาโน ผู้อำนวยการส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ช่วยวิเคราะห์เอาไว้เพื่อชี้ทางสว่างให้พุทธศาสนิกชนว่า...
“เรื่องพระปลอม อาตมาอยากให้มองว่าเป็นการกระทำของบุคคลที่ไม่ใช่พระ หรือพวกมิจฉาชีพที่ต้องการเข้ามาใช้ช่องโหว่จากความศรัทธาของผู้คนหาผลประโยชน์ ใช้ภาพลักษณ์นี้เป็นช่องทางทำกินมากกว่า ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่วงการสงฆ์เท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้มันระบาดไปทั่วทุกอาชีพ ทุกวงการด้วย เช่นมีคนที่ปลอมเป็นทหาร ปลอมเป็นตำรวจ เพื่อรีดไถและเรี่ยไรเงินของประชาชนก็มี อย่างที่เราจะเคยเห็นตามข่าวกัน ซึ่งแท้จริงแล้ว คนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่กระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน คือเป็นกลุ่มคนที่แอบอ้าง หลอกลวงผู้อื่นด้วยความไม่ละอายชั่วกลัวบาป
ถามว่าระหว่างคนที่ปลอมเป็น ตำรวจ ทหาร หรือ ปลอมเป็นพระ อะไรเป็นบาปมากกว่ากัน อาตมามองว่ากลุ่มที่ปลอมเป็นพระอาจจะบาปน้อยกว่า กลุ่มผู้ปลอมหรือแอบอ้างด้วยอาชีพอื่นๆ เนื่องจากการปลอมเป็นพระ ใช้เพียงเครื่องนุ่งห่มเหลืองคลุมร่างกาย ไม่ได้มีอาวุธใดๆ ช่วยประกอบความผิดบาป แต่การปลอมด้วยอาชีพอื่นๆ อาจจะอุปกรณ์ มีด หรือปืนเป็นเครื่องมือใช้ข่มขู่ ประกอบการทำมาหากิน
แต่ไม่ได้หมายความว่าสนับสนุนให้กระทำบาปในรูปแบบไหน หรือสนับสนุนให้คนปลอมเป็นพระ เพียงแต่จะบอกว่า ถ้าพิจารณาในเรื่องบาปมาก บาปน้อย นั้น ขอให้ดูผลเสีย ผลร้าย อันตรายต่อชีวิตต่อคนหมู่มาก หรือความเดือดร้อนที่เขาได้ทำขึ้นต่อผู้อื่น ถ้าบุคคลนั้นทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและได้รับความทุกข์มากเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นบาปติดตัวผู้กระทำมากเท่านั้น ไม่ว่าจะปลอมเป็นสถานภาพใดก็ตาม ถ้ามีคนเดือดร้อน สูญเสียเงินทองทรัพย์สิน อันตรายมากเท่าใด เขาก็บาปมาเท่านั้น
ในเรื่องการทำบุญ แยกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ให้ กับฝ่ายผู้รับ ในฝ่ายผู้รับ ถ้าหากว่าเขาได้ตั้งใจศรัทธาที่จะให้แล้ว บุญย่อมสำเร็จ ถ้าเจอพระจริง หรือพระปลอมก็ได้ผลบุญจากการให้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า มากหรือน้อยต่างกันไปตามศีลและคุณธรรมของท่าน ส่วนพระสงฆ์เอง ท่านก็มีหน้าที่รับถวายจากสาธุชน ตามมีตามเกิด ไม่เรียกร้อง แล้วมาฝึกฝนอบรมตนให้มีศีล มีคุณธรรมเอาเอง ถ้าปลอมมาก็รับผลบาปเอาเอง ผู้ถวายไม่มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ บุญจะเกิดมากหรือน้อย อยู่ที่ความบริสุทธิ์ ทั้งสองฝ่าย”
ส่วนวิธีแยก “พระจริง” ออกจาก “พระปลอม” นั้น มีข้อสังเกต ดังนี้
“ประการแรก ให้ดูที่ “การแต่งกาย” พระปลอมจะแต่งกายไม่เรียบร้อย รุ่มร่าม ห่อๆ อุ้มผ้าจีวรกันไป บริขารไม่ครบ บาตร จีวร สังฆาฏิ หรือ แต่งกายอลังการเกินพระ เป็นต้น
ประการที่สอง ให้ดูที่ “จริยาวัตรพระสงฆ์” พระปลอมจะรู้แต่การบิณฑบาต การขอ การเรี่ยไร ถามอย่างอื่นตอบไม่ได้ ตอบไม่ถูก บางทีก็ใช้ศัพท์ผิดตามที่ได้ยินต่อๆกันมา ถามเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา กรรมฐาน ธุดงค์ จะงงแป๊บ... รู้ได้เลยทีเดียว อันนี้ถ้าญาติจะรู้จักพระปลอม ต้องศึกษาลักษณะพระแท้ไว้ด้วย มองแต่ภายนอกจะมองไม่ออก พระแท้จะสำรวม มีความละอายต่อสายตาประชาชน พูดเสียงไม่ดัง หัวเราะไม่ดังในที่ชุมชน การเดินการเหินก็จะต่างกัน เวลาบิณฑบาตร พระปลอมจะมุ่งรายได้มากกว่าอาหาร เดินว่อน วนเวียน โฉบเฉี่ยวไปมา เป็นต้น
[ตัวอย่าง ใบสุทธิพระ]
ประการที่สาม ให้ดูที่ “ใบสุทธิพระ” เป็นหนังสือยืนยันความเป็นพระด้วยเอกสารที่เป็นทางการ ออกและรับรองโดยพระอุปัชฌาย์ที่บวชให้ แต่ปัจจุบันก็มีใบสุทธิพระปลอมทำออกมาเช่นกัน วิธีการตรวจสอบให้ดูที่ลายเซ็นของพระอุปัชฌาย์ ต้องมีตราประทับเจ้าคณะอำเภอ และระบุสังกัดวัดเอาไว้เรียบร้อย ใบสุทธิที่ถูกต้อง จะต้องมีหน้าครบ ไม่ถูกฉีกออก ไม่มีขีดฆ่า มีหมายเลขเล่มถูกต้อง ซึ่งญาติโยมมีสิทธิขอเรียกดูได้เลยหากมีพระรูปใดเข้าไปขอเรี่ยไร
ถ้าพระรูปนั้นอ้างว่าเป็นพระธุดงค์ไปมาเรื่อย ถามแล้วบอกไม่มีสังกัดวัด ให้ระวังเอาไว้ก่อนได้เลยว่าอาจเป็นเพราะปลอม เนื่องจากตามกฎของคณะสงฆ์แล้ว พระทุกรูปที่ผ่านการบวชจริง ต้องมีวัดสังกัดและต้องได้รับการรับรองจากอุปัชฌาย์ด้วย”
ได้บุญหรือได้บาป? ทำทานกับ “พระปลอม”
“การทำบุญกับพระจริงที่เรี่ยไร ติดลาภ แสวงหาลาภ ถือเป็นการทำบุญกับคนที่มีศีลไม่ครบ ซึ่งก็ยังถือว่าได้อานิสงส์สูงกว่า การทำบุญกับคนที่ไม่มีศีล ส่วนการทำบุญกับพระปลอม เท่ากับการทำบุญกับคนธรรมดาทั่วไป เพราะเขาไม่ใช่พระ ที่อาจจะไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ขาดศีล แต่ก็ยังมีดีกว่าทำบุญกับเดียรัจฉาน และการทำบุญกับสัตว์เดียรัจฉานต่างๆ เช่น หมา, แมว ฯลฯ ก็ยังดีกว่าการไม่ทำบุญกับใครเลย”
ชาวพุทธทั้งหลายคงได้คำตอบแล้วว่า การทำทาน ไม่ว่าจะทำกับใครก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น ตามที่ พระมหาวิชาญ สุวิชาโน ผู้อำนวยการส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ช่วยอธิบายเอาไว้ ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมี “คนโกนผม ห่มจีวร” ระบาดทั่วเมือง ยากต่อการแยกแยะ “พระจริง” กับ “พระปลอม” ในฐานะชาวพุทธที่อยากช่วยสนับสนุนศาสนาคนหนึ่ง แต่สุดท้ายท่านก็เชื่อว่า “ปัญญา” จะช่วยให้พุทธศาสนิกชนแยกแยะสิ่งปลอมแปลงออกจากเนื้อแท้ของศาสนาได้ในที่สุด
“หากเป็นพระที่ปฏิบัติดี คือพระที่แท้ ก็จะมีความละอายในการขอนะ จะไม่แม้แต่จะเอ่ยถึงหรือกล่าวเป็นนัย เพื่อให้ญาติโยมควักกระเป๋าบริจาคพร่ำเพรื่อ เช่น เมื่อมีญาติโยมมากราบไหว้ ให้คำเทศน์ไม่ทันไร ก็จะกล่าว ก็จะเริ่มต้นขอบริจาคโน่นนี่ พระที่ดีท่านจะไม่ทำ เพราะมันถือเป็นการผิดหลักจรรยาบรรณของพระ พระที่ดีจะไม่แม้แต่จะแสดงเล่ห์คำพูดหรือท่าทางใดๆ เพื่อชักจูงให้คนบริจาคแก่ตน อาจจะมีบ้างก้เพื่อส่วนรวม ทางพระวินัยท่านห้ามขอกับคนที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา คือต้องมีคนปวารณายินดีให้ความอุปถัมภ์ก่อน จึงขอได้ ส่วนการเรี่ยนไรนั้นต้องมีเอกสาร มีหนังสือแสดงเจตจำนงในการสร้าง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคปัจจุบัน พระยังมีความจำเป็นในการใช้วัตถุ และปัจจัย ยังมีอยู่ เพื่อเอามาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และบางครั้ง เมื่อมีญาติโยมมาฟังเทศน์ฟังธรรม มาพักใต้ร่มเงาของวัด ศาลาต่างๆ อาจจะมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีการก่อสร้างขึ้นเท่าที่จำเป็น และเป็นไปด้วยความสมัครใจ ศรัทธาเห็นคุณค่าของสิ่งที่จะทำร่วมกันก่อนจึงทำ ซึ่งการบริจาคทานจากญาติโยมชนิดนี้จะเป็นตัวช่วยได้มากให้มันดำเนินไปได้ แต่ต้องทำด้วยปัญญา”
ถึงอย่างนั้น พระที่ดีจะไม่เดินเรี่ยไรเงินหรือไปยื่นซองตามบ้านให้แก่ญาติโยม แต่จะเลือกวิธีที่ฆราวาสช่วยทำ โดยการประชุมคณะกรรมการวัดอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับโปรเจกต์นั้นๆ ขึ้นมา บอกกล่าวกันอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ จากนั้นทางพระท่านอาจมีการติดต่อกับญาติโยมที่สนิท ติดต่อไปทางมัคทายก เพื่อให้เขาไปดำเนินการแทน สงฆ์จะไม่เดินทางไปเรี่ยไรเงิน จะไม่ไปเคาะตามประตูบ้านของฆราวาส เพราะมันเป็นการกระทำที่ผิดต่อจรรยาบรรณของความเป็นสงฆ์ ถ้ามีพระไปเคาะหน้าบ้าน หน้าร้าน หรือยืนตื๊อนานๆ แนะให้สามารถไล่ไปได้เลย เพราะถึงจะเป็นเพราะแท้หรือปลอมก็ไม่สมควรทำ สร้างความเสียหายต่อพระสงฆ์โดยรวม
ทุกวันนี้ พระบวชใหม่ถูกปล่อยปละละเลย พระปลอมจึงได้โอกาสสวมรอย แต่ตามพระวินัยแล้ว พระบวชใหม่ ต้องอยู่ในการดุแลรับผิดชอบของอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์จะต้องคอยคุมพฤติกรรมพระใหม่ ไม่ปล่อยให้ออกธุดงค์หรือออกไปทำกิจอันใดที่ไม่จำเป็นโดยเอกเทศ จนกว่าจะผ่านพ้นการบ่มเพาะความเป็นพระให้ได้ 5 พรรษาก่อน หรือที่เรียกว่า “นิสสัยมุตตกะ” ซึ่งปัจจุบัน ความเข้มงวดตรงนี้แทบหาไม่ได้แล้วในประเทศไทย มีเพียงวัฒนธรรมของวัดป่าบางแห่งเท่านั้นที่ยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้ไม่ให้สลายไปกับยุคสมัยอันฉาบฉวย
พระใหม่จึงไม่ได้รับการฝึกฝน ขัดเกลาในข้อวัตรปฏิบัติ จริยาวัตร ตามที่ควรจะเป็น บางทีก็มาผสมปนเปกับพระปลอม แยกกันไม่ออกจึงทำให้ส่วนใหญ่แล้ว พระอุปัชฌาย์ปล่อยให้ย้ายวัด ท่องเที่ยวไป ก่อนครบ 5 พรรษา พอพระ-เณรต่างๆ ออกมาทั้งๆ ที่ยังไม่มีความสำรวม หรือเข้มแข็งมั่นคงพร้อมและศึกษาอบรมมาไม่พร้อม จึงกลายมาเป็นพระ-เณรที่ไม่ได้เข้าใจถึงแก่นแท้แห่งธรรมในที่สุด
เหตุผลอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดช่องโหว่ทางศาสนาจนก่อให้เกิดมิจฉาชีพห่มเหลืองมากขึ้นเรื่อยๆ น่าจะมาจากนิสัยการ “ทำบุญ” ของชาวพุทธ ซึ่งมักจะยึดติดกับบุญประเภทแรกเป็นหลัก คือ “ทำทาน” ถวายวัตถุปัจจัย ถวายสังฆทาน โดยเชื่อว่าจะช่วยต่อเติมบุญ ช่วยเสริมบารมี สะเดาะเคราะห์ ฯลฯ ทั้งที่ความจริงแล้วยังเหลือทานอีกถึง 9 ประเภทด้วยกัน ที่ยังสามารถเลือกทำได้และได้บุญเท่าๆ กัน แต่พุทธศาสนิกชนกลับไม่เคยสนใจ อาจเพราะไม่เคยเข้าใจแก่นแท้ของคำว่า “ทำบุญ” กันจริงๆ ว่ามีทั้งหมด 10 ประการ ดังนี้
1.ทานมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน ไม่ว่าจะเป็นกำลังทรัพย์ ตลอดจนกำลังกายและสติปัญญา เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม 2.สีลมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล 3.ภาวนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา 4.อปจายนมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ 5.เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ กระทำสิ่งดีๆ ต่อส่วนรวม
6.ปัตติทานมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์ 7.ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา “สาธุ” เพื่อเป็นการยินดีและขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น 8.ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม และพยายามเอาความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ 9.ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม และ 10.ทิฏฐชุกัมม์ บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง ทำความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ และวางตนอยู่ในสัมมาทิฏฐิเสมอ
จะเห็นได้ว่า มีเพียงข้อแรกข้อเดียวเท่านั้นที่ต้อง บริจาคเงินทองสิ่งของ ที่เหลือนั้นไม่ต้องเลย แต่ชาวพุทธกลับไม่สนใจ ไปมุ่งแต่วัตถุประการเดียว การนับถือศาสนาถึงไม่เจริญด้านปัญญา
“ทุกวันนี้ นานาประเทศมองว่าประเทศไทยคือเมืองพุทธ คือจุดศูนย์รวมแห่งใหญ่แห่งหนึ่งของพุทธศาสนา แต่เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดกันแล้วกลับพบว่า เราอาจจะโดดเด่นในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ชาวพุทธโดยมากยังขาดการศึกษาพระธรรมให้มีคุณภาพอ ดูง่ายๆ จากหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาในห้องเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ก็ได้ หรือแม้แต่ธรรมศึกษา เน้นกันไปที่การท่องจำ เน้นจำนวนสอบได้ สอบตก ญาติโยมตามวัดต่างๆก็เน้นบทสวด ทำบุญ พิธีกรรม ต่างๆ โดยไม่ได้ขวนขวายที่จะศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ถึงปัญญาที่พระพุทธเจ้าสอนไว้
ถ้าอยากให้พุทธศาสนาของเราหลุดพ้นจากช่องโหว่ หลุดพ้นจากเหล่าพระปลอมที่เข้ามาหาผลประโยชน์ในสังคม เราอาจจะต้องหันมาปลูกฝังแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาให้หยั่งรากลึกลงในจิตใจของชาวพุทธตั้งแต่เด็กๆ ถ้าชาวพุทธทั้งหลายหันมาศึกษาพระไตรปิฎกและหลักธรรมวินัยกันมากขึ้น ลองนำเอาหลักธรรมต่างๆ ไปปรับใช้ในชีวิตจริง ไม่ยึดติดเรื่องการทำบุญแล้วจบอยู่ที่ “ทาน” เพียงอย่างเดียว แต่ดำเนินไปให้ถึง “ศีล” และ “ภาวนา” ด้วย ช่องโหว่ต่างๆ ที่มองเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ก็จะได้รับการซ่อมแซมและช่วยหนุนให้ชาวพุทธเข้าถึงแก่นแท้แห่งธรรมที่แท้จริง
ปัญญา ความรู้ความเข้าใจ ในธรรมวินัยนี้เอง จะช่วยให้ชาวพุทธ แยกแยะพระแท้ พระปลอมออกจากกันได้ เหมือนเราศึกษา ลักษณะพระเครื่องแท้กับพระเครื่องปลอมได้แล้ว รู้ตำหนิ รู้เนื้อมวลสารแล้ว มองแป๊บเดียวหรือจะส่องนั่นนี่ก็ดูออกว่าพระปลอมหรือพระแท้ ความรู้ในกางพุทธศาสนาที่แท้จริงก็เช่นกัน จะทำให้สามารถแยกแยะ พระปลอมออกจากพระแท้ได้ง่าย อันนี้ต้องศึกษา ต้องเน้นปัญญาให้มาทันศรัทธา
สังคมไทย เป็นสังคมศรัทธา เชื่อไว้ก่อน ยังไม่ต้องหาความจริง แต่พระพุทธศาสนา เน้นปัญญา หาความจริงกันก่อน จึงศรัทธา สังคมไทยจึงไปไม่ถึงไหน ปรากฏการณ์แห่ง พระปลอม จึงเป็นบทเรียนอัหนึ่งที่ชาวไทยต้องหันมาปฏิรูปวัฒนธรรม ให้เป็นวัฒนธรรมแห่งปัญญาเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ให้จงได้ ไม่ใช่ปฏิรูปตัวคน อยู่แต่การจับผิด จับถูกมาลงโทษ ปัญหาทุกปัญหา แก้ด้วยการศึกษา หรือที่เรียกว่า “สิกขา” ปราศจากการศึกษา สังคมก็ไปไม่รอด แยกแยะไม่ออก สังคมก็ทรุด ทั้งสังคมสงฆ์และสังคมไทย
แทนที่จะโทษกันไปมา จงใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสที่จะพัฒนาร่วมกัน ก็จะรุ่งเรืองมั่นคงทั้งสังคมสงฆ์และสังคมไทยไปพร้อมๆ กัน”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754