“เนื้อหาภาพยนตร์ไม่เหมาะสมเพราะมีภาพสามเณรเสพของมึนเมา, ใช้ความรุนแรง, คำพูดส่อเชิงชู้สาว, ไม่เคารพต่อพระพุทธรูป” ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้กระทรวงวัฒนธรรมมีมติ “แบน” ห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากคอหนังที่กำลังเดือดพล่าน พร้อมตั้งคำถามถึงเสรีภาพและขอบเขตของคำว่า “เหมาะสม” ในมุมมองผู้ใหญ่บ้านเมืองนี้ว่าคืออะไรกันแน่!!?
คอหนังเดือด! ทวงถามมาตรฐาน “ความเหมาะสม”
[โพสต์จากแฟนเพจ "Sahamongkolfilm International"]
“ขอเลื่อนรอบพิเศษและรอบสื่อมวลชนของภาพยนตร์ "อาบัติ" เนื่องจากภาพยนตร์ถูกระงับการฉายจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดีทัศน์ รายละเอียดเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง” ค่ายสหมงคลฟิล์มประกาศอย่างเป็นทางการผ่านแฟนเพจ “Sahamongkolfilm International”
เมื่อทางทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live สอบถามไปยังผู้ดูแลเรื่องการโปรโมตภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงได้รับคำตอบยืนยันชัดเจนว่าขอเลื่อนวันฉายออกไปตามที่ได้ระบุเอาไว้บนโลกออนไลน์ ขณะนี้ทางทีมงานยังไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัดเท่าใดนักว่าจะถูกระงับการฉายออกไปจนถึงเมื่อไหร่ คงต้องมีการเข้าไปพูดคุยกับทางคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่ง และบรรทัดต่อจากนี้คือเรื่องย่อของภาพยนตร์ที่ทำให้ถูกมองว่าหมิ่นเหม่ศาสนา
“ซัน เด็กหนุ่มวัย 19 ปี ผู้เอาแต่ใจตนเอง ไม่สนใจใคร และใช้ชีวิตคึกคะนองอย่างสุดขั้ว เขาจึงถูกพ่อบังคับให้มาบวชเณรเพื่อดัดนิสัย การบวชอย่างไม่เต็มใจ ไร้ศรัทธา และด้วยความรู้สึกที่ไม่เข้าใจว่าตนเองทำผิดอะไรนักหนา จึงทำให้ซันยังคงใช้ชีวิตเหมือนปกติทั่วไป แม้จะอยู่ในผ้าเหลืองแล้วก็ตาม รวมถึงการแอบคบหากับ “ฝ้าย” สาววัยรุ่นท้องถิ่นผู้โหยหาในความรักซึ่งเหมือนเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเดียวที่ทั้งคู่มีให้แก่กัน และเชื่อมั่นว่าไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด
ทุกการกระทำที่ท้าทายการอาบัตินี้ ทำให้เณรซันต้องเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ลึกลับชวนขนหัวลุก ที่ถูกปกปิดไว้ภายในวัด ทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ของสีกากับพระ, การเผชิญหน้ากับผีเปรตที่ตามมาขอส่วนบุญ และทวงคืนชีวิตที่ต่างเชื่อมโยงกันอย่างคาดไม่ถึง รวมทั้งความผิดที่เขากำลังวิ่งหนี ก็เข้ามาตอกย้ำให้เขาต้องชดใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นตามสยอง...”
จากมติของทางคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ซึ่งประกาศออกมาเมื่อช่วงเย็นวันที่ 12 ต.ค. ระบุเอาไว้ชัดเจนว่ามีเหตุผลสนับสนุนถึง 4 ประการ จึงสั่งระงับการฉายคือ 1.ปรากฏภาพสามเณรเสพของมึนเมา 2.มีภาพสามเณรใช้ความรุนแรง 3.พูดความสัมพันธ์และใช้คำพูดเชิงชู้สาวที่ไม่เหมาะสม และ 4.มีการแสดงความไม่เคารพต่อพระพุทธรูป อย่างไรก็ตาม ฝั่งผู้สร้างภาพยนตร์ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ จึงเป็นเรื่องที่คอหนังอาจต้องติดตามกันต่อไป
“กระทรวงไดโนเสาร์แบนอาบัติแล้ว! ข่าวจริง คอนเฟิร์ม ตอนนี้ทางสหมงคลฯ เลื่อนฉายรอบพิเศษทั้งหมดแล้ว” แฟนเพจชื่อดังบนโลกออนไลน์ซึ่งมักจะติดตามความเคลื่อนไหวและรีวิวภาพยนตร์เรื่องต่างๆ อย่างเพจ “อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก” คืออีกหนึ่งความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ที่ช่วยสะท้อนแรงต้านของคอหนังเอาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะโพสต์ของทางแฟนเพจต่อจากนี้ที่แสดงทัศนคติเกี่ยวกับการแบนในครั้งนี้เอาไว้อย่างชัดเจน ตามคอนเซ็ปต์ของเพจที่บอกไว้ว่าเป็นเพจรีวิวหนังตรงไปตรงมา!
“หรือคนดูหนังไทยจะโดนบังคับให้อยู่ในกรอบ! 3-4 วันก่อน ถ้าใครได้ตามข่าวจะทราบว่า ภาพยนตร์เรื่อง “เจ้าชายมือใหม่” ได้รับการรับรองจากกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการว่า เป็นภาพยนตร์ส่งเสริมวัฒนธรรม ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” เพิ่งโดนสมาคมและคนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาดาหน้ากันไปประท้วง จนล่าสุดทราบมาว่าหนังโดนระงับฉายแล้ว
อยากถามว่ากระทรวงวัฒนธรรมมีสิทธิอะไรที่มาคัดกรองหนังให้คนไทยไม่มีทางเลือกขนาดนี้ งานภาพยนตร์ งานศิลปะมันสมควรแล้วหรือที่จะมาจำกัดสิทธิ หรือจิ้มให้ประชาชนเลือกว่าจะได้ดูหรือไม่ได้ดู น่าเบื่อหน่ายกับเรื่องเลวร้ายแบบนี้ คนเขาด่าว่าเผด็จการก็ไปว่าเขาแซะ ว่าเขาไม่รักชาติ แต่หนังนี่ความบันเทิง แยกแยะไม่ได้เลยเหรอ
หนังเกี่ยวกับพระที่ตีผี เรื่องพระผิดวินัยห้ามออกฉาย ทั้งๆ ที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยพระเลวๆ ที่ทั้งค้าขาย ทั้งปลุกเสกเครื่องราง นี่ยังไม่นับพระตุ๊ดพระแต๋ว พระหล่อโชว์ซิกซ์แพกลงโซเชียลฯ พระวัลลาบี (Wanna Be) ทำไมไม่ไปจัดการ แต่หนังที่สะท้อนวงการสงฆ์สั่งห้ามฉาย
ถ้าเวลาที่ใครเขาด่าว่าบ้านเมืองเรามันดัดจริต ก็อย่าไปว่าเขาเลย ผมเนี่ยทนกับเรื่องแบบนี้มานานแล้ว รู้สึกแย่ถึงแย่ที่สุด รับไม่ได้ว่ะ!!!!”
[เต็มไปด้วยคำกระแหนะกระแหน ค้านการแบนครั้งนี้บนโลกออนไลน์]
บวกพ่วงมาด้วยถ้อยคำกระแหนะกระแหนการแบนครั้งนี้จากคอหนังอย่างล้นหลาม ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวของทางกระทรวงวัฒนธรรมในครั้งนี้ และนี่คือความคิดเห็นบางส่วนจากคนรักภาพยนตร์
"ยัดเยียดแต่ในสิ่งตัวเองอยากให้ดู ให้รู้แต่ในสิ่งที่ตัวเองอยากให้เป็น จากเฉยๆ ก็ว่าอยากดูละ "อาบัติ" อะไรเนี่ย"
"เผด็จการทางด้านภาพยนตร์ของแท้ จำกัดสิทธิการดู ประชาชนเองไม่ใช่หรอกหรือที่จะเลือกที่จะดูหรือไม่ดู"
"เปลี่ยนชื่อหนังใหม่ เป็น "พระสดใสหัวใจพรุ้งพริ้ง" อาจจะได้เข้าฉายนะ"
"หนังดีไม่ให้ฉาย หนังคนกะงู...กันนี่ฉายทุกโรง"
"เปราะบางจัง ประเทศนี้!!"
“หลวงพี่อยากให้ดูนะ”
“หลวงพี่อยากดูนะ ให้เป็นการเรียนรู้ ถ้าหลวงพี่ดู หลวงพี่จะไม่ทำ” พระมหาวิชาญ สุวิชาโน ผู้อำนวยการส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เคยแสดงความคิดเห็นเอาไว้กับทางทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ตั้งแต่ช่วงภาพยนตร์เรื่องนี้ส่อเค้าว่าจะถูกแบนไม่ให้เข้าฉาย
ก่อนหน้านี้ทางสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) พร้อมภาคีเครือข่ายชาวพุทธอีก 5 องค์กร ได้เดินทางเข้ายื่นเรื่อง ขอให้ทางกระทรวงวัฒนธรรมช่วยพิจารณาทบทวนเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” ว่าหมิ่นต่อศาสนาพุทธหรือไม่ไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ก็คลี่คลายลงไปด้วยเจตนาของผู้กำกับภาพยนตร์ “ฝน-ขนิษฐา ขวัญอยู่” ที่ออกมาชี้แจงอย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีเจตนาหมิ่นศาสนาอย่างที่อีกฝ่ายเข้าใจแต่อย่างใด
“ทุกอย่างมันมีคำตอบในหนังอยู่แล้ว อยากให้เข้าไปดูในหนังก่อน แก่นของเรื่องนี้ตั้งใจที่จะนำเสนอในเรื่องของบาปบุญ คนที่ทำดีเป็นอย่างไร แล้วทำชั่วผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร” ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของพระมหาวิชาญ ที่เชื่อว่าคนดูมีวิจารณญาณในการรับชม ตัดสินและแยกแยะเองได้ว่า ทั้งหมดนี้คือภาพยนตร์ไม่ใช่เรื่องจริง!
“หลวงพี่เป็นกลางนะไม่ด่วนรับและไม่ด่วนปฏิเสธ เวลาที่เรารับสิ่งนี้ ถ้าเป็นตัวหลวงพี่คือเคารพวิจารณญาณของผู้ชม ว่าเขาไม่ได้เชื่อหมด เมื่อเขาดูแล้วเขาก็จะได้ตัดสินเอง ที่บอกว่าดูแล้วมันจะเชื่อหมดมันจะเสื่อมเสีย สมมติโยมดูโยมก็ไม่เสื่อมเสียหรอก เพราะว่าหนังก็คือหนัง แม้แต่หนังพระพุทธเจ้าเองก็ไม่ตรงพระไตรปิฎกประเทศไทยในหลายเรื่องหลายตอน หนังก็คือหนังนั่นแหละ และมันก็ไม่ได้ย้อนกลับไปหาองค์พระพุทธเจ้า องค์จริงที่อยู่ในพระไตรปิฎก ในส่วนนี้มันก็เป็นเครื่องทดสอบนะ เหมือนอาศัยเรื่องนี้เป็นการเรียนรู้
หนังเรื่องนี้ไม่ได้ดูเพื่อการบันเทิงแน่นอน เป็นเครื่องมือการเรียนรู้เลยว่าหนังก็คือหนังเป็นกรณีศึกษา ในนั้นก็มีพระ มีเณรอยู่องค์หนึ่งด้วยซ้ำไป หลวงพี่อยากดูนะให้เป็นการเรียนรู้ ถ้าหลวงพี่ดูหลวงพี่จะไม่ทำ มันมีหนังสงคราม หนังคนบาป หนังข่มขืน หนังฆ่า ทุกคนดูแล้วทำตามไหม หนังทุกวันนี้เป็นยังไงบ้างมีแต่หนังอาชญากรรม โจรแหกคุก แล้วมันสอนให้คนทำหรือสอนให้คนระวังตัว มันคล้ายๆ กัน แต่พอมาเป็นเรื่องศาสนา อะไรที่จับต้องไม่ถึง มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ มันจะถูกหลงลืมไป
เป็นเครื่องวัดผล ยังไม่จรรโลงหรือทำให้ดีขึ้นหรือลดลง ถ้าหากว่าดูแล้วภาพรวมโดยส่วนมาก ข้อที่หนึ่ง มั่นใจว่าคนที่ดูไม่เลียนแบบหรอก พวกหลวงพี่ที่บวชอยู่ไม่เลียนแบบแน่นอน อันที่สอง หลวงพี่ว่าคนที่ไปดูครึ่งๆ หรือ 70 เปอร์เซ็นต์ มีวิจารณญาณว่านี่ไม่ใช่ มันเป็นแค่หนัง เป็นแค่กรณีศึกษา ไม่ได้เชื่อหรอก แล้วก็กลับไปกราบหลวงพ่อตัวเองที่วัดก็เหมือนเดิม”
หากใครที่ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วเหมารวมว่าพระสงฆ์ไม่ดี หรือเป็นภัยไปเสียหมด ท่านมองว่าบุคคลนั้นยังขาดความรู้และเป็นการคิดจินตนาการมากจนเกินไป
“มันแปลกมากถ้าจะมีคนไปดูหนังแล้วบอกว่าคณะสงฆ์ไม่ดี มันเป็นเรื่องที่คิดจินตนาการเกิน แล้วถ้าดูหนังวัยรุ่นอะไรที่ออกมา ถ้าจะบอกว่าเด็กทุกคนเป็นหมด หลวงพี่ว่าไม่นะ คือส่วนตัวนะไม่ใช่ทั้งหมดหรอก เป็นเครื่องมือการเรียนรู้แล้วก็วัดผลว่า ถ้าคณะสงฆ์เห็นเรื่องนี้มันเป็นภัย แสดงว่าความรู้ของพุทธศาสนิกชนหรือว่าเยาวชนไม่เพียงพอ
เพราะฉะนั้น ที่มีการสอบธรรมศึกษายังไม่มีความคุ้มกันดีพอ เป็นเครื่องประเมินผล และเราก็หันหน้ามาจัดการการศึกษาและก็ให้ความรู้แก่เยาวชนหรือสามเณรที่จะหลงไป เหมือนกับมีเครื่องวัดผลชนิดหนึ่งที่อยู่กันไปตามประสาไม่มีแรงกระตุ้นที่ดีพอ เพราะเขาไม่ได้ประกาศว่าหนังเรื่องนี้แทนพระสงฆ์ทั้งหมด บางทีเขาก็บอกว่าโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม เป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นบทบาทสมมติเขาก็จะขึ้นหน้าจอเอาไว้
หลวงพี่ว่ามาสนใจในยูทิวบ์ หรือในเฟซบุ๊ก ที่เณรกะเทยมาลง มันน่าสนใจและเป็นเรื่องจริงมากกว่าหนังอีกนะ แต่ในหนังนี่ก็รู้ว่ามันไม่จริงใครจะเชื่อว่าหนังเป็นเรื่องจริง อย่าไปเอาความกับเรื่องไม่จริง เรื่องสมมติ เรื่องมายา หลวงพี่ว่ามาจัดการพระ หรือเณรที่กระทำไม่เหมาะสมดีกว่า ซึ่งอันนี้มันเป็นเรื่องจริง ต้องตามให้เจอ จัดการให้ได้
การวิจารณ์อาจทำให้หนังเขาดังมากขึ้นด้วยซ้ำไป ก่อนหน้านี้อาจจะยังไม่มีคนไปดู แต่พอมีกระแสขึ้นคนอาจจะไปดูเยอะขึ้น และควรแทรกบทกลางหรือสุดท้ายแทรกคำสอนไว้ ก็เสริมบทเป็นการเรียนรู้ เหมือนเอากฎแห่งกรรมมาเป็นกรณีศึกษา ก็สรุปเป็นบทเรียนให้ประชาชน ที่ไม่ควรกระทำแบบเณรองค์นี้แบบนี้เป็นต้น หรือคำพูดของตัวละครก็แทรกข้อคิดเกี่ยวกับหลักศาสนาด้วยไปด้วย
ความจริงอาบัติในพระไตรปิฎกก็มีเยอะมากเขาก็ยกมาข้อเดียวสองข้อ เรื่องจริงมันมีมากกว่าหนังอีกก็ต้องควรจัดการมากกว่า สิ่งที่ฝากคนดูหรือว่าหน่วยงานที่เดือดร้อนเราก็มองหาแนวทางประชุม หาทางป้องกันให้ความรู้กับสามเณรบวชใหม่ หรือระบบกลไกในการตรวจสอบเรื่องจริงๆ ในวัด ในศาสนสถาน ในเฟซบุ๊กจะดีกว่า อย่าไปเอาความอะไรกับหนังเล็กๆ น้อยๆ เลย”
[ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ"]
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754