เดินทางถึงที่ แวะ 15 นาที หย่อนขาถ่ายเซลฟี แล้วก็สะบัดก้นหนีไป... พฤติกรรมผิวเผินแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นแน่ๆ ถ้าตกลงเลือกเดินทางมากับพวกเขา กลุ่ม “Local Alike” ผู้บุกเบิกเส้นทางผจญภัยสายใหม่ ให้ผู้ร่วมทริปได้เข้าใจถึงแก่นแท้ของคำว่า “ท่องเที่ยว” ที่ไม่ใช่แค่เข้าไปวางเงินให้คนในชุมชนแล้วหายไป แต่เข้าไปเพื่อซึมซับรากแห่งวัฒนธรรมด้วยหัวใจ เข้าไปเพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ลุงป้าน้าอาได้อิ่มเอมไปพร้อมๆ กับผู้มาเยือน
ทิ้งเงินแสน เพราะ “อินเดีย” ดลใจ...
(ภาพถ่ายจากฝีมือไผ แรงบันดาลใจจากความยากแค้นในทริปอินเดีย)
“ไปถึง เห็นคนอึอยู่ข้างถนนเต็มไปหมด จุดไคลแม็กซ์จริงๆ คือตอนเดินทางถึง “พุทธคยา” สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ครับ ซึ่งก่อนที่เราจะเข้าไปถึงที่นั่น มันจะมีแหล่งของกลุ่มคนวรรณะ “จัณฑาล” ที่เราเคยเรียนในหนังสือ แต่นี่เราได้มาเห็นกับตาจริงๆ เขาคือขอทานบ้านเรานี่แหละครับ ซึ่งพ่อแม่ลูกต้องนั่งขอทานกันทั้งวันทั้งคืนอยู่ตรงนั้น นั่งยาวเรียงกันเป็นหลายกิโลฯ เลย เหมือนกำลังรอรับบริจาคอะไรสักอย่าง เราเลยรู้สึกว่าเอ...ทำไมเขาถึงไม่มีโอกาสเหมือนเรา ทำไมเขาต้องมานั่งขอทานแบบนี้ด้วย ก็เลยรู้สึกว่าเราน่าจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง
รู้สึกว่าเราน่าจะทำอะไรที่มันดีต่อคนอื่นได้มากกว่านี้ รู้สึกว่าเขาก็เป็นเหมือนเราตอนเด็กๆ นะ ต่างกันตรงที่เรามีโอกาสมากกว่าเขา เราก็เป็นคนจนเหมือนกัน เป็นเด็กจากหมู่บ้านหนึ่งในร้อยเอ็ด แต่พ่อแม่ตัดสินใจเก็บเงินทั้งหมดส่งเราเรียนทั้งๆ ที่ท่านเป็นเกษตรกรธรรมดา ทำนา ส่งเราเรียนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนจบ ม.6 เอ็นท์ติด ได้มาเรียนวิศวะ ปิโตรเคมีที่ ม.ศิลปากร แล้วก็ได้มีชีวิตที่อยากมีมาจนถึงวันนี้”
ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ ย้อนรอยอดีตเมื่อ 7 ปีที่แล้วให้ฟัง จากทริปท่องเที่ยวพักผ่อนในครั้งนั้น จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจครั้งใหญ่ ผลักให้หัวหน้าวิศวกรฝ่ายผลิตประจำโรงงานสัญชาติเยอรมัน ยอมทิ้งเงินเดือนร่วมแสน เพื่อเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ซานฟรานซิสโก กระทั่งกลับมาก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมที่ชื่อ “Local Alike” บุกเบิกเส้นทางการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนตามคอนเซ็ปต์ “โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ได้สำเร็จ หลังหาประสบการณ์ในโครงการ “แม่ฟ้าหลวง” (ดอยตุง) จนเห็นรากของปัญหาที่แท้จริง
“ได้ลงไปอยู่กับชาวบ้านจริงๆ 2 เดือน ไปช่วยหมู่บ้านที่เขาอยากทำโฮมสเตย์ เพราะดอยตุงเองก็เป็นแหล่งท่องเที่ยว จะได้ทำมารับกันพอดี ลงไปศึกษาจนพบว่าปัญหาของการท่องเที่ยวในเมืองไทยเราคืออะไร อะไรที่ทำให้รายได้เข้ามาแล้วตกไปถึงชาวบ้านน้อยมาก ทั้งๆ ที่รายได้จากการท่องเที่ยวมีเยอะมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ แต่กลายเป็นว่าคนในเมืองที่เข้ามาทำทัวร์ต่างหากที่ได้ผลประโยชน์ ปล่อยนักท่องเที่ยวลงมาทัวร์หมู่บ้าน 15 นาทีแล้วก็ไป ไม่ได้แม้กระทั่งเข้ามาคุยกับชาวบ้าน ในขณะที่บริษัททัวร์ได้เอาๆ แต่ชาวบ้านไม่ได้อะไรเลย ก็เลยตั้ง Local Alike ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ครับ หลังจากทำงานที่นี่ไปได้ 3-4 เดือนแล้ว”
(โฮมสเตย์ ณ ดอยตุง/ ขอบคุณภาพ: localalike.com)
คำว่า “Local Alike” แปลตรงตัวหมายความว่า “เสมือนหนึ่งชาวบ้าน” ซึ่งมาจากความตั้งใจที่ต้องการให้ทุกทริปที่เกิดจากการบุกเบิกของทีม เป็นไปเพื่อซึมซับรากเหง้าพร้อมๆ กับร่วมพัฒนา โดยไม่เข้าไปเหยียบย่ำทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม เทียบกับบริษัททัวร์ส่วนใหญ่อาจมีคอนเซ็ปต์ในใจท่องไว้ว่า “นักท่องเที่ยวคือพระเจ้า” แต่การทำทัวร์ของที่นี่กลับแตกต่างออกไป เพราะยึดหลักที่ว่า “Meaningful Experience for Traveler and Local Alike” เน้นประสบการณ์ที่มีความหมายต่อทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้าน และที่สำคัญ ต้องสร้างรายได้ให้ลุงป้าน้าอาในพื้นที่เป็นหลัก ไม่ใช่ปล่อยให้คนนอกเข้ามากอบโกยอย่างที่เคยเป็นมา
(สร้างทริปจากความเข้าใจ รับรู้ความต้องการและปัญหาที่แท้จริง)
“แต่ก่อนเราเห็นว่า รายได้จากการท่องเที่ยว 85 เปอร์เซ็นต์มันไปตกอยู่กับคนในเมือง อยู่กับบริษัททัวร์-โรงแรมหมดเลย แล้วค่อยเหลืออีก 15 เปอร์เซ็นต์มาหาชาวบ้าน แต่วันนี้ เราเปลี่ยนโมเดลใหม่หมดเลย เปลี่ยนเป็น 70 เปอร์เซ็นต์เข้าชาวบ้าน และอีก 30 เปอร์เซ็นต์มาหาเรา ผู้บัญชาการ ผู้ช่วยจัดการ แต่การที่ชาวบ้านเคยได้ 15 เปอร์เซ็นต์ แล้วมาได้ 70 เปอร์เซ็นต์เนี่ย มันหมายความว่าเขาต้องยอมเหนื่อยกว่าเดิมหน่อยนะ คือต้องจัดการตัวเองให้เป็น
การที่เขาได้จัดการตัวเอง มันจะทำให้เขามีความภูมิใจในชุมชนของเขาเอง และช่วยกันรักษาให้มันคงอยู่และสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ ส่วนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็ได้ประสบการณ์ใหม่จากการเที่ยวในชุมชน และได้รู้ด้วยว่าเงินที่ตัวเองจ่ายไป มันไม่ได้ตกอยู่แค่ที่เจ้าของโรงแรมนะ มันไปตกให้ถึงทั้งหมู่บ้าน และเขาก็เอาเงินเหล่านั้นแหละไปพัฒนาหมู่บ้าน มันก็เลยเป็น win-win ทั้งสองฝ่าย จะว่าทั้งสามฝ่ายเลยก็ได้ครับ ทั้งเราเองในฐานะคนกลางที่เข้าไปช่วยพัฒนา เราก็ได้เห็นในสิ่งที่เราอยากให้มันเป็น นักท่องเที่ยวเองก็มีจิตสำนึกมากขึ้นในการเที่ยว ชุมชนเองก็พึ่งตัวเองได้”
เจาะวิถี “สโลว์ไลฟ์” ท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนปัญหา
(ขอบคุณภาพ: localalike.com)
“คอนเซ็ปต์ของ Local Alike คือการที่เราจะเข้าไปขายทัวร์ให้ชาวบ้านได้ เราต้องเข้าไปศึกษาเขาก่อน เขาจะได้เชื่อใจเรา เพราะเราอยากจะทำงานกับเขาระยะยาว ไม่ใช่ระยะสั้นๆ ในขณะที่บริษัททัวร์อื่นจะไม่ค่อยสนใจ ส่วนใหญ่จะไปลงพื้นที่เสร็จก็เอาทัวร์มาขาย ไม่ได้เข้าไปทำความรู้จักชาวบ้านเลย”
บางทีต้องเข้าไปใช้เวลาคลุกคลีพูดคุยกับในชุมชนเป็นปีๆ เลยก็มี ไผผู้ก่อตั้งและบริหาร Local Alike พูดไปยิ้มไปในแววตาเปี่ยมสุข “อย่างที่ดอยตุงนี่คือที่ที่หินที่สุดแล้วครับ ใช้เวลาอยู่ 2 ปีกว่า เพราะมันมีปัญหาหลายอย่าง มันเป็นเลเวลของพื้นที่ที่มีทรัพยากรสวย ชาวบ้านอยากทำทัวร์ แต่ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงเพื่อให้เป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนโดยสมบูรณ์แบบ ถึงตอนนี้ ชาวบ้านบอกอยากทำโฮมสเตย์แล้ว พร้อมแล้ว แต่เราก็ยังพยายามจะยื้อๆ ไว้อยู่เลยครับ เพราะมองเห็นแล้วว่าโฮมสเตย์อาจจะยังไม่เหมาะกับชาวบ้านที่นั่น ตอนนี้ก็สนับสนุนให้เขาทำเส้นทางเดินป่าของตัวเองไปก่อน รับนักท่องเที่ยวที่อยากลุยแบบนั้น แล้วก็ส่งไปนอนที่หมู่บ้านอื่นแทน
นี่คือเหตุผลที่เราเลือกทำงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงดอยตุงเป็นที่แรก เพราะศึกษามาแล้วเราชอบโมเดลของสมเด็จย่ามากที่ท่านทรงวางปรัชญาไว้ว่า “ช่วยเขา ให้เขาช่วยตัวเองได้” ครับ เราก็เลยรู้ว่าทำไมแม่ฟ้าหลวงถึงเป็นกิจการพัฒนาสังคมที่ดังที่สุดแล้ว เพราะเขาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน ชาวบ้าน และชาวเขาให้ดีขึ้นได้ และเราก็กำลังพยายามทำแบบนั้นอยู่เหมือนกัน บางหมู่บ้านที่เราเข้าไปช่วยเป็นหมู่บ้านใหม่เลยนะ บางที่ยังไม่เคยมีทัวร์ท่องเที่ยวเข้าไปเลย แต่ชาวบ้านอยากทำ เราก็แนะนำว่าต้องทำแบบไหน มันต้องเป็นคนในชุมชนเห็นด้วยร่วมกันนะว่าอยากทำ ในอนาคตพี่ถึงจะจัดการเองได้ จะได้มีกำลังต่อรองกับบริษัททัวร์ที่จะมาทำงานด้วยได้ในอนาคต”
(ขอบคุณภาพ: localalike.com)
อุปสรรคก้อนใหญ่สำหรับการบุกเบิกเส้นทางการท่องเที่ยวบนดอยตุงคือเรื่อง “ขยะ” และ “ชื่อเสีย” เรื่องยาเสพติด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เชื่อมฝั่งชายแดนพม่า ร่ำลือกันว่าเป็นเส้นทางที่มีผู้ลักลอบขนยานิยมใช้ ช่วงแรกๆ ที่เข้าไปจึงมีคนเพียง 4 คนเท่านั้นที่ยกมือแสดงตัวว่าอยากทำทัวร์ท่องเที่ยว ส่วนชาวบ้านคนอื่นๆ ต่างไม่เชื่อว่าเส้นทางรกร้างที่พวกเขาเคยชินจะกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างไร มีเพียงไผและทีมที่ยังคงมีไฟคุกรุ่นและหวังลึกๆ อยู่ในใจว่า มุมมืดๆ ในชุมชนแห่งนี้จะค่อยๆ สว่างและปลอดภัยมากขึ้นเอง เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแวะเวียน
“ขยะเยอะมากจริงๆ เพราะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านทิ้งขยะไว้ตามข้างทางของถนนหลักในหมู่บ้าน ตอนที่เราเข้าไปทำเส้นทางเดินป่าให้ เราก็จะบอกนักท่องเที่ยวที่เราพาเข้าไปเลยว่า เดินป่าที่นี่อย่าคาดหวังว่ามันจะสวยอะไรมากนะ เพราะมันอาจจะมีขยะ ซึ่งนักท่องเที่ยวก็เข้าใจ เพราะเขาชอบเดินป่า มาหมู่บ้านนี้ได้ทั้งปีนน้ำตก ได้เดินเขา ทั้งเส้นทางผจญภัยครบเลย ในขณะที่ถ้าไปเดินป่าที่อื่น จะเป็นเส้นทางเรียบร้อยเหมือนประดิษฐ์มาไว้แล้ว กลายเป็นการ Hiking ไม่ใช่ Trekking ซึ่งหมู่บ้านนี้ไม่ได้ประดิษฐ์อะไรไว้เลย และนักท่องเที่ยวก็ชอบกันมาก
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
หลังจากนั้น เราก็ใช้เงินจากการท่องเที่ยวตรงนี้นี่แหละมาแก้ปัญหาเรื่องขยะของหมู่บ้านครับ ทำ Big Cleaning Day กัน จากกองขยะที่ใหญ่มากในหมู่บ้าน เราก็เอาเงินตรงนั้นแหละไปเก็บ จากแต่ก่อนมีคนสนใจร่วมแค่ 4 คน ตอนนี้มีไกด์ประมาณ 8 คนได้แล้ว ไปคุยครั้งล่าสุด ยกมือกัน 80 เปอร์เซ็นต์แล้วว่าอยากมาร่วมทำทริปท่องเที่ยวกับเรา จากที่ไม่ยอมจ่ายค่าเก็บขยะเพื่อให้ อบต.เข้ามาเก็บ ทุกคนก็ยอมจ่ายแล้วครับ (ยิ้ม) บ้านละ 30 บาท ทุกวันนี้ที่เขาเคยทิ้งขยะตามข้างทางก็ไม่มีแล้ว เพราะเขาอยากจะเห็นหมู่บ้านของเขาสะอาด จะได้ไม่อายนักท่องเที่ยว
(ทีม Local Alike ผู้บุกเบิกเส้นทางท่องเที่ยวแนวใหม่ให้ยั่งยืน!)
พอทำไปเรื่อยๆ ชาวบ้านเขาก็จะรู้เองว่า กลุ่มไหนมาเพื่อผลประโยชน์ กลุ่มไหนมาเพื่อจะทำงานกับเขาจริงๆ และมองภาพเดียวกับเขา เราเองก็อยากได้หมู่บ้านที่มองภาพเดียวกับเรา มองว่าการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นมันต้องเข้ามาช่วยพัฒนาชุมชนได้จริงๆ นะ ไม่งั้นถ้าชุมชนไหนเขามองแค่การท่องเที่ยวเป็นเรื่องสร้างรายได้ เราก็ไม่ทำด้วยนะ มันต้องควบคู่ไปด้วยกันระหว่าง “สร้างรายได้” กับ “พัฒนาชุมชน” ผลที่ออกมาจะได้เป็นผลบวกต่อหมู่บ้านของเขาต่อไปได้จริงๆ”
การท่องเที่ยวกระแสหลัก บทเรียนที่ต้องเรียนรู้!
ถึงแม้จะใช้เวลาบุกเบิกเส้นทางท่องเที่ยวมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว พัฒนาชุมชนไปแล้ว 18 ชุมชน แต่ไผก็มองว่ายังทำได้น้อยอยู่ดีเมื่อเทียบกับจำนวนกว่า 100 ชุมชนที่อยากให้เข้าไปช่วย โดยเฉพาะชุมชนที่ทาง “สถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน” พยายามหาทางแนะนำให้ทัวร์ทั่วๆ ไปเข้ามาสัมผัส แต่กลับได้รับแค่คำปฏิเสธ เพราะสถานที่เหล่านั้นไม่ใช่แลนด์มาร์กที่จะขายนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้
“ในแวดวงการท่องเที่ยว ก่อนที่จะเปิดขาย เขาจะชวนบริษัททัวร์ไปลองดูว่าชอบหมู่บ้านนี้ไหม เขาบอกว่าเขาทำมา 20 ปี ยังไม่มีบริษัททัวร์ไหนที่ตกลงว่าจะขายทัวร์ชุมชนให้เขาเลย ทัวร์ไทยไม่มีใครอยากทำเลย เพราะเขาถนัดไปหย่อนตามหมู่บ้าน เที่ยว 15 นาที ไม่ต้องไปคุยกับชาวบ้านแบบนั้นมากกว่า เสร็จแล้วก็ไปหมู่บ้านอื่นต่อ
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
ในขณะที่โมเดลที่เราทำ มันเป็นโมเดลที่ต้องไปจ่ายให้ชาวบ้าน คุณต้องมีไกด์ชาวบ้านอธิบาย ถึงภาษาอังกฤษจะงูๆ ปลาๆ แต่มันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเทียบกับบริษัททัวร์ทั่วๆ ไปก็จะต่างกันมาก เพราะเขาจะมองว่าไกด์ต้องได้คุณภาพ ที่นอนต้องดี เขาก็มีความกังวลในแบบของเขา ซึ่งเรามองว่าอาจจะเป็นการตั้งการ์ดเอาไว้เยอะเกินไป ทำให้ชุมชนเข้าไม่ถึงบริษัททัวร์ เขาต้องการรักษามาตรฐานของตัวเอง มองเพื่อฝั่งนักท่องเที่ยวเยอะเกินไป โดยแทบไม่ได้มองฝั่งชุมชนเลย
ทาง Local Alike ก็เลยอยากทำให้เห็นว่าถ้าทำดีมันก็ทำได้ เวลาเราทำธุรกิจ เราจะเห็นโมเดลหนึ่งคือ มันต้องมีคนลุกขึ้นมาทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ลุกขึ้นมาเปลี่ยน แล้วมันก็จะมีคนที่เห็นคนนี้ทำได้ เราทำมั่งดีกว่า จากนั้นกลุ่มคนที่ไม่ยอมเสี่ยงอะไรทั้งสิ้นก็จะยอมตามมาเอง หลังจากเห็นว่าทำแล้วมันดีจริงๆ แต่จะดึงคนกลุ่มนี้มาร่วมได้ ต้องมีหลายๆ คนที่ทำแล้ว เราถึงได้ตัดสินใจก้าวเข้ามาทำให้เห็นไงครับ
ถ้าเราเป็นคนแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาทำและประสบความสำเร็จ และมีพื้นที่ให้เรา เราเชื่อว่าจะมีคนลุกขึ้นมาทำเหมือนกันตามมาเอง แล้วเดี๋ยวโมเดลเดิมๆ มันก็จะเปลี่ยนไป เราเปลี่ยนข้ามวันไม่ได้หรอก แต่เราสามารถไปกระตุ้นให้มันเกิดขึ้นได้ ไปแหย่มัน ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เรื่องปัญหาการท่องเที่ยวที่มันไม่ดี หรือแม้แต่เรื่องการคอร์รัปชัน ถ้าเราไปแหย่มัน มันก็จะกระเตื้องขึ้น และสุดท้าย มันก็จะเปลี่ยนไปได้เอง”
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
แต่ชุมชนที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ทันแล้วก็มีอยู่เหมือนกัน ในสายตาของไผ เขามองว่าแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตเหล่านั้นบอบช้ำจากการขายเชิงปริมาณ (Mass) จนแทบไม่เหลือเสน่ห์แห่งเค้าเดิมจากรากวัฒนธรรมให้สัมผัสอีกต่อไปแล้ว...
“เป็นเพราะเขาไม่ได้รับการจัดการที่ดี เราเคยคุยกับคนที่เขาเข้าไปพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นแรกๆ เขาบอกเลยว่ามีสิ่งหนึ่งที่เขาเสียใจ คือเขาไม่ได้กระตุ้นชาวบ้านให้ร่วมมือกันอนุรักษ์พื้นที่ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ไม่ได้เอาชาวบ้านมาร่วมกันจัดการ ตอนนี้เลยกลายเป็นจุดที่นายทุนเข้าไปซื้อที่ชาวบ้านจนจะหมดแล้ว จากแต่ก่อน ห้องเช่าเดือนละหลักพัน ตอนนี้กลายเป็นหลักหมื่นไปแล้ว มันกลายเป็นของแพง กลายเป็นการลงทุนของนักลงทุน เป็นการเข้ามาหาผลประโยชน์ของคนนอกไปแล้ว
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
Local Alike ก็เคยเข้าไปทำทริปให้กับ จ.สมุทรสงคราม เหมือนกันนะครับ อย่าง บางน้อย, บางพลัด, ริมคลองโฮมสเตย์ เขายังเรียนรู้ที่จะรักษาหลายๆ อย่างเอาไว้ได้ เพราะเขาเรียนรู้จากแหล่งท่องเที่ยวเชิงปริมาณบางแห่งแล้วและเขาไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ชาวบ้านเขาเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองแหละ สุดท้ายแล้ว เขาก็รู้ว่าถ้าไม่ระวัง มันจะกลายเป็น “ชื่อเสีย” มากกว่า “ชื่อเสียง” ไป
จริงๆ แล้ว มันก็ไม่ใช่ว่าการท่องเที่ยวแบบ Mass เน้นปริมาณนักท่องเที่ยวจะเสียหายไปหมดทุกที่นะครับ อย่างหมู่บ้านแม่กำปอง ที่เชียงใหม่ เขาก็มีคนไปเที่ยวเยอะเหมือนกัน แต่เขามองเรื่องการพัฒนามากกว่า ก็เลยทำให้เขาอนุรักษ์หลายๆ อย่างเอาไว้ได้ และนี่คือจุดสำคัญเลยที่ทีมเรากำหนดเอาไว้ว่า หมู่บ้านที่ทำงานกับ Local Alike ต้องเจียดรายได้จากการท่องเที่ยว 5-10 เปอร์เซ็นต์ เอาไว้มาใช้แก้ปัญหาหมู่บ้านต่อ ถ้าหมู่บ้านมีปัญหาเรื่องขยะ, การศึกษา, เด็ก, คนแก่, สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มีปัญหาตรงไหน เราก็เอาเงินส่วนนี้แหละไปแก้ ทำให้การท่องเที่ยวไม่พัง ทำให้มันเป็นระบบมากขึ้น
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
คือเราก็ไม่ได้ต่อต้านการท่องเที่ยวเชิงปริมาณนะ เพราะมันก็มีหลายเคสที่ทำแล้วออกมาดี เราชอบโมเดลของ ภูฏาน มาก ที่เขาจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเขาปีละกี่คน เทียบกับบ้านเรา ปัจจุบันนี้ ดอยหลวงเชียงดาว ก็เริ่มทำแล้วนะ ให้เดินป่าได้ไม่เกิน 20 คนต่อวัน แบบนี้มันก็ทำให้เราอยากไป รู้สึกว่าสถานที่แห่งนั้นมันมีคุณค่า
เราว่านักท่องเที่ยวอยากไปเพราะวิถีชีวิตเก่าๆ ทุกหมู่บ้านแหละ เพราะฉะนั้น คนในชุมชนก็ควรจะรู้ตัวว่าแบบไหนมันขายได้สำหรับเขา เขาก็ต้องพยายามรักษามันไว้ ขอให้ทำเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ไม่ว่าจะรับปริมาณนักท่องเที่ยวจะเยอะแค่ไหน แต่ถ้าสามารถรักษาคุณภาพของตัวเองเอาไว้ได้ รักษาความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชุมชนได้ มองแล้วว่าไม่มีผลกระทบต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน แบบนั้นก็ถือว่ายั่งยืนแล้ว”
ซึมซับ “ความหมาย” ของการท่องเที่ยว
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กำลังมา ผู้คนยุคใหม่นิยมแบกกระเป๋าเดินเข้าสู่ธรรมชาติกันมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่คล้ายจะไปเพื่อเปลี่ยนสถานที่เซลฟี มากกว่าจะปล่อยเวลาให้ตัวเองได้สัมผัสกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างแท้จริง ลองหยิบมุมมองเหล่านี้ มาถามหาความหมายของคำว่า “การท่องเที่ยว” ที่แท้จริง ผ่านสายตาของคนที่ไปมาสุดหล้าฟ้าเขียวในประเทศไทยแล้วอย่างไผดูบ้าง เขามองว่าพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายถือเป็นเรื่องธรรมดา
“โดยส่วนตัวแล้ว เรามองว่าการเที่ยวมันคือ Human Connections มันคือความสัมพันธ์ระหว่างคน ไม่ใช่แค่สถานที่อย่างเดียว แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าการท่องเที่ยวมันสามารถแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 แบบคือ การท่องเที่ยวกระแสหลักกับการท่องเที่ยวทางเลือก ซึ่งแบบทางเลือกเนี่ย จะเน้นเรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความยั่งยืน เน้นการได้สัมผัสกับคนในพื้นที่จริงๆ
ในมุมมองของเรา การท่องเที่ยวทางเลือก คือการได้ลงไปคุยกับคนในชุมชน ได้ไปแลกเปลี่ยนไปเรียนรู้เขา ส่วนการท่องเที่ยวกระแสหลัก ก็จะมีกันอยู่แล้วว่าไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ไปโรงแรม เน้นถ่ายรูปสวยๆ ซึ่งมันก็มีอยู่และเราก็ไม่ได้อยากจะไปเปลี่ยนอะไรพวกเขา แต่เราคิดว่าจะทำยังไงให้การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมันถูกชูขึ้นมาให้ได้มากกว่าเดิม
ทางเมืองนอกส่วนใหญ่ เขารู้จักเมืองไทยแค่เรื่องการท่องเที่ยวกระแสหลัก แต่เขาไม่รู้ว่าเรามีการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน กระแสทางเลือกอยู่ เขาไม่ค่อยรู้กันว่า “การท่องเที่ยววิถีไทย” มันมีอยู่นะ เราก็พยายามจะยกตรงนี้ให้เท่าเทียมกัน ระหว่างกระแสหลักกับกระแสทางเลือก แต่ปัจจุบันมันเป็นอย่างนี้ (ยกระดับมือเทียบให้ดูว่าต่างกันราวฟ้ากับเหว)
ในสายตาคนต่างชาติ มันก็มีบางส่วนที่ด่าเมืองไทยว่าพัทยาพัง บอกว่าขายเซ็กซ์บ้าง ในขณะที่ยังมีกลุ่มคนที่พยายามทำตรงนี้อยู่ พยายามที่จะผลักดันและพัฒนาให้การท่องเที่ยวทางเลือกมันดีขึ้น เรามองว่ามันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำให้เขารับรู้ต่อไป ซึ่ง Local Alike ก็ไม่ใช่แค่องค์กรเดียวนะที่ทำเรื่องนี้ ยังมี NGO อีกหลายๆ แห่ง มีพาร์ตเนอร์ของเราที่ทำเรื่องพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกันอยู่ มีหน่วยงานของรัฐโดย อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ที่เขากำลังพยายามช่วยชูมันขึ้นมา
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
(ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @localalike)
ส่วนคนที่ไม่เคยลองเที่ยวแบบทางเลือกแบบนี้ ก็อยากให้ลองเปิดใจดูครับ ไม่จำเป็นต้องมากับทาง Local Alike ก็ได้ เอาง่ายๆ แค่เริ่มจากเวลาไปเที่ยวถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ ตามวัดวาอาราม เราก็อาจจะลองเดินออกนอกกรอบนิดหนึ่ง ลองไปคุยกับชุมชนที่อยู่ข้างๆ วัดดู แล้วจะได้อะไรอีกเยอะมากเลย จากเดิมเราอาจจะแค่อ่านป้ายวัด ถ่ายรูปเสร็จแล้วก็ไป ในขณะที่ชุมชนเหล่านี้เขาอยู่กับวัดมานาน เขารู้ภูมิหลังดี และเขามีเรื่องราวอยู่ในตัวอีกเยอะเลย เราไม่อยากเห็นคนไทยไปเที่ยวที่ไหนแล้วไม่ได้คุยอะไรกับใครเลย ไปเที่ยวแล้วก็อยู่แต่กับในกลุ่มตัวเอง หรือไปนั่งเล่นไพ่ กินเบียร์ตามชายหาด
อย่างเวลาเราลงพื้นที่สำรวจชุมชน เราก็ถือว่าตัวเองเป็นนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเหมือนกัน อย่างตอนลงชุมชนคลองเตย เราก็เดินไปคุยกับป้าขายแผงลอย คนขายขนมครก เจอใครก็คุยหมดเลย ซึ่งแบบนี้ใครๆ ก็ทำได้นะ (ยิ้ม) แค่ลองก้าวออกจาก Comfort Zone ของตัวเองนิดหนึ่ง ลองก้าวออกไปหาเขาอีกก้าวหนึ่งแล้วจะพบว่า ชุมชนทุกชุมชน เขาพร้อมจะคุยกับคนแปลกหน้านะ พ่อค้าแม่ค้าแถวนั้นเขาน่ารักหมดแหละ และเราจะได้อะไรๆ อีกหลายอย่างเลยแหละจากพวกเขา
ที่ประทับใจมากคือเราได้คุยกับคุณป้าคนหนึ่ง เขาซ่อมเสื้อด้วยจักรในชุมชนคลองเตย ก็ไปถามเขาว่าทำไมถึงอยู่คลองเตย ป้าแกบอกเขารักคลองเตยนะ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นคนในคลองเตยนี่แหละ เอาเสื้อมาปักตัวละ 20-30 บาท ในขณะที่เอาไปปักข้างนอกอาจจะตัวละ 100-200 บาท คนในนั้นรู้ว่ารายได้เขาน้อย ถามว่าคนอยู่ตรงนั้นทำไมเขาไม่ย้ายออกไปไหน มันคือความผูกพันนะ เหมือนพ่อแม่เรา อยู่ตามต่างจังหวัด เขาก็ไม่อยากมาอยู่ในเมือง ในขณะที่เขาก็รู้ว่าปัญหามันคืออะไร และเขาก็อยากเห็นมันพัฒนา เราก็เข้าไปช่วยทำให้โอกาสเขามี มันก็น่าจะดีที่จะทำให้เขาได้ภูมิใจในความเป็นคลองเตย”
ได้เที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วยแบบนี้ อาจถือเป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่ถ้าได้มาลองใช้ชีวิตเป็นนักบุกเบิกเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดูจริงๆ สักอาทิตย์หรือแค่สักวัน จะรู้เลยว่าถ้าใจไม่รักจริงๆ อาจจะอยู่ไม่ได้นาน
“เราเรียกสิ่งที่เราทำอยู่ว่าเป็น “Workation” นะ (ยิ้มกว้าง) มันคือ “Vacation” ผสมกับ “Work” แรกๆ ที่ทำงานก็ตื่นเต้นนะ ได้เที่ยวตามหมู่บ้าน แต่หลังๆ มาก็เริ่มรู้สึกว่าเราไม่ได้เที่ยวแล้วจากไป เราเที่ยวเพื่อที่จะให้ชาวบ้านและชุมชนเขายอมรับในตัวเราว่าเราจะทำงานกับเขาในระยะยาว
การท่องเที่ยวก็เหมือนต้นไม้ เวลาเราเป็นนักท่องเที่ยว เราไปเห็นแค่ใบสวยๆ ของมัน แต่เราจะยังไม่ได้เห็นส่วนรากของมัน ในขณะที่กลุ่มคนที่ทำงานด้านนี้ เขาพยายามจะพัฒนารากมัน ให้มันแข็งแรง ซึ่งมันมีอะไรเยอะแยะมากมายที่พันกันวุ่นไปหมด (พูดไปยิ้มไป) จนกระทั่งโตมาเป็นใบที่สวยงามที่ทุกคนได้เห็น ถ้าจะทำอะไรแบบนี้ ก็ต้องมองว่าตัวเองสามารถไปคลุกคลีกับรากของมันได้หรือเปล่า”
ส่วนคนที่รักที่จะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การท่องเที่ยวและเรื่องราวข้างทางแบบเดียวกันนี้ ไผไม่มีคำแนะนำอะไรมากมายนอกจาก... “แค่เรารู้ตัวว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ทำลาย แค่นั้นก็พอแล้ว ไม่ว่าเราจะเที่ยวแบบไหนก็ตาม”
(ครบทีมทั้ง 12 คน ตัวจริงผู้บุกเบิกเส้นทางเพื่อชุมชนแห่ง "Local Alike")
สัมภาษณ์โดย ASTVผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพ: localalike.com, เฟซบุ๊ก “Local Alike” และอินสตาแกรม @localalike
มาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน!!ตัวอย่างงานในเซ็กชั่นทั้งหมด>>>...
Posted by ASTV ผู้จัดการ Live on Friday, August 21, 2015
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754