xs
xsm
sm
md
lg

เอไอเอส เปิดรับสตาร์ทอัปไฟแรง สร้างโอกาสเติบโตก้าวกระโดด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอไอเอส เปิดช่องทางใหม่ “AIS The Startup Connect” ให้เหล่าสตาร์ทอัปนำเสนอบริการร่วมกับทางเอไอเอสได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องรอโครงการประกวดอีกต่อไป หวังช่วยขยายตลาดสตาร์ทอัปให้เติบโต ภายใต้ 3 คีย์หลักของเอไอเอสที่มีระบบเพย์เมนต์ ฐานลูกค้า และการสร้างโอกาสในการเข้าสู่ตลาด

นายสุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารผลิตภัณฑ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสมีการสนับสนุนโครงการสตาร์ทอัปมาตั้งแต่ปี 2554 เพราะเชื่อว่า ในอนาคตบริการจากสตาร์ทอัปจะกลายเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญภายในอีโคซิสเตมส์ของเอไอเอสในการให้บริการแก่ลูกค้า

ล่าสุด เอไอเอสได้มีการเปิดโครงการ AIS The Startup Connect เพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่มีการจัดการประกวดเพียงอย่างเดียว เพื่อให้สตาร์ทอัปที่ให้บริการอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่มีความต้องการการเติบโตแบบก้าวกระโดดนำเสนอข้อมูลเข้ามาร่วมให้บริการแก่ทางเอไอเอส

โดยสิ่งที่เอไอเอสจะมีให้แก่ลูกค้าประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ในเรื่องของระบบเพย์เมนต์จากเกตเวย์ของเอ็มเปย์ ที่รองรับทั้งการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต การโอนเงินจาก 7 ธนาคาร หรือการใช้ระบบโอเปอเรเตอร์บิลลิ่งคิดค่าบริการรวมกับค่าโทรศัพท์รายเดือน หรือหักเงินจากระบบเติมเงินก็สามารถทำได้

ถัดมาคือ การเข้าถึงลูกค้า เพราะจากฐานลูกค้าของเอไอเอสกว่า 40 ล้านราย มีทั้งลูกค้าที่เป็นบุคคล และลูกค้าองค์กร เมื่อบริษัทสตาร์ทอัปต้องการนำเสนอบริการเข้าสู่ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น เอไอเอสที่มีทีมฝ่ายขายอยู่แล้วก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ สุดท้ายคือ การออกสู่ตลาด ที่บริษัทสตาร์ทอัปจะมีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ไม่จำกัดแค่การขายบริการเพียงอย่างเดียว แต่สามารถบันเดิลกับแพกเกจของเอไอเอสในการทำตลาดได้ เป็นต้น

“ถ้าบริษัทสตาร์ทอัปสามารถให้บริการแก่ลูกค้าของเอไอเอสได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการให้บริการประชาชนทั่วไปได้ ที่สำคัญคือ เอไอเอสมีฐานข้อมูลของลูกค้าที่สามารถดูพฤติกรรมการใช้งาน ดูค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมต่อกลุ่มลูกค้าเพื่อนำเสนอบริการที่เหมาะสมได้”

นายธนพงษ์ ณ ระนอง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานบริษัทร่วมทุน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า เป้าหมายหลักของการที่อินเว้นท์เข้าไปลงทุนมีด้วยกัน 2 ส่วน คือ การเลือกลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัปที่สามารถนำบริการมาเสริมให้แก่ทางเอไอเอส กับการช่วยผลักดันให้บริษัทสตาร์ทอัป เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตมีรายได้ ก่อนนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ หรือขายกิจการให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อนำบริการไปต่อยอดต่อไป

“ที่ผ่านมา อินเว้นท์มีการลงทุนในบริษัท Computerlogy ที่ล่าสุด ได้ขายกิจการให้แก่บริษัทไอทีจากเกาหลีไปแล้ว ก็ถือเป็นการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ส่วนอีก 2 รายที่มีโอกาสก็คือ วงใน และอุ๊คบี ก็มีโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า”

ดังนั้น ทั้งเอไอเอส และอินเว้นท์จึงมีบทบาทที่ชัดเจนในการสนับสนุนสตาร์ทอัปไทย ที่จะหนุนเสริมให้สามารถนำช่องทางลูกค้าเอไอเอส และเงินลงทุนของอินเว้นท์ไปขยายบริการ ก่อนกระจายไปสู่ฐานลูกค้าในกลุ่มสิงเทล ภายใต้โครงการ Innov8 อีกกว่า 25 ประเทศ

นอกจากนี้ ยังฝากถึงบริษัทสตาร์ทอัปรุ่นใหม่ที่กำลังต้องการเข้าสู่ตลาด ให้มองหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยสร้างการใช้งานให้แก่ผู้บริโภค โดยต้องเป็นบริการที่มีคนอยากได้แต่ไม่มีคนทำ หรือบริการที่มีคนทำอยู่แล้วแต่ไม่ดีพอ มาเป็นคีย์หลักที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้

ทั้งนี้ โครงการ AIS The StartUp ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มสตาร์ทอัปเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 ไอเดีย และผลิตภัณฑ์ รวมทั้งได้ร่วมต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดกว่า 23 ราย เช่น StockRadars, Golfdigg, ShopSpot FlowAccount, Social Giver, Local Alike และมีบางส่วนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่จะขยายไปยังตลาดต่างประเทศด้วย

ส่วนการประกวด AIS The StartUp ในปีนี้ก็จะจัดขึ้นเช่นเดิมในช่วงครึ่งปีหลัง แต่การเปิดโครงการ AIS The Startup Connect จะเข้ามาช่วยเสริมให้สตาร์ทอัปสามารถเข้าสู่ลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ ตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างแท้จริง

Company Relate Link :
AIS
กำลังโหลดความคิดเห็น