xs
xsm
sm
md
lg

โบกไตรรงค์สู่โอลิมปิก! “นุศรา” มือเซตอันดับหนึ่งของโลก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพและข้อมูล: หนังสือ “เซตสู่ฝัน” (แพรวสำนักพิมพ์)
เธอคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย” ก้าวสู่ระดับอินเตอร์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คืออัศวินม้ามืดที่ควบให้อนาคตวงการนักตบไทยสดใส คือตัวเซตที่ดีที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี คอยพลิกร้ายเป็นดีด้วยพรสวรรค์และพรแสวงที่อัดแน่นอยู่ในตัว คือผู้เล่นตัวสำคัญที่กำลังจะพาธงไตรรงค์บนอกซ้ายไปผงาดอยู่ใน “โอลิมปิก” สนามแห่งเกียรติยศในนามนักกีฬา ด้วยแรงฝันและแรงใจเกินร้อย พร้อมรับใช้ชาติในเฮือกสุดท้ายอย่างสุดชีวิต!


 

ฝึกโหดงานหิน! กว่าจะเป็น “เซตเตอร์” มือหนึ่ง

(ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Nootsara Tomkom[นุศรา ต้อมคำ] FC")
กว่าที่นุชจะก้าวมาได้ถึงจุดนี้ ต้องบอกว่าเราใช้ความอดทนแล้วก็ความเพียรพยายามมากในการเล่นวอลเลย์จริงๆ วันหนึ่งนุชเซตบอลเป็นหลายพันลูกนะคะ ไหนยังต้องมาซ้อมก่อนคนอื่นเขา เลิกทีหลังเขาด้วย ช่วงที่หนักที่สุดคือช่วงแรกของการซ้อมทีมชาติค่ะ หนักถึงขนาดโค้ชเขาต้องไล่ออก ให้กลับบ้านเลยค่ะเพราะซ้อมไม่ไหว (ยิ้มบางๆ ให้กับรอยอดีต) พอเราผ่านช่วงนั้นมาได้ ตอนนี้ก็เลยได้แต่คิดว่า เฮ้ย! ทำไมเราซ้อมเบาจังวะทุกวันนี้ แต่จริงๆ แล้วเราก็ยังซ้อมหนักอยู่แหละค่ะ แต่แค่รู้สึกว่ามันไม่หนักเหมือนช่วงเริ่มต้นแล้ว”
 
นุช-นุศรา ต้อมคำ มือเซตที่เก๋าที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ถ่ายทอดความรู้สึกด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่นไม่แพ้ประกายไฟที่กำลังลุกโชนอยู่ในแววตาของเธอ ท่ามกลางกลุ่มก้อนคำถามจากสื่อมวลชนที่รุมล้อมขอสัมภาษณ์ในวันเปิดตัวพ็อกเกตบุ๊ก “เซตสู่ฝัน” หนังสือชีวประวัติเล่มแรกในชีวิตของเธอ นุชไม่มีท่าทีเหน็ดเหนื่อยแสดงออกมาให้เห็นแม้เพียงสักนิด แต่กลับเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและมุกตลกที่ปล่อยออกมาเป็นระยะๆ ตามคาแรกเตอร์ “เซตเตอร์” แสนขี้เล่น ผู้สร้างความสุขให้แก่เพื่อนๆ และน้องๆ ในทีมได้เสมอๆ

 
แต่จะมีสักกี่คนที่รู้บ้างว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ผู้ได้รับรางวัล “มือเซตอันดับหนึ่งของโลก” ไปครองถึง 2 สมัยติดกัน ไม่ได้มีแค่รอยยิ้มเปื้อนหน้าอย่างที่เห็น แต่เคยปาดน้ำตาแห่งความท้อแท้จากการฝึกสุดหินกับโค้ชสุดโหดมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว โดยเฉพาะช่วงแรกของการฝึกในฐานะนักกีฬาทีมชาติ
 
ด้วยความที่ติดทีมชาติตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยกฎเคารพระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ทำให้นุชและเพื่อนอีกคนต้องรับภาระทุกอย่างในสนามซ้อม ทั้งถูพื้นสนาม ขัดบอล เอาน้ำแข็งใส่กระติก นับบอล ขึงตาข่าย ฯลฯ บวกกับตำแหน่ง “ตัวเซต” ที่จำเป็นต้องซ้อมหนักกว่าตำแหน่งอื่น กำลังใจของนุชจึงถดถอยอย่างรวดเร็วจนถึงขั้นอยากกลับบ้านเกิดที่ราชบุรี แต่เธอก็ทำได้แค่โทร.ไปฟังเสียงปลายสายที่คุ้นเคย ไม่กล้าบ่นอะไรให้ฟังนักเพราะกลัวผู้ปกครองที่อยู่ต่างจังหวัดจะยิ่งห่วง พยายามคิดว่าต้องไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง กัดฟันสู้ต่อจนได้รองแชมป์วอลเลย์บอลเยาวชนหญิงชิงแชมป์เอเชียมาครองในปี 2545 เป็นรายการแรกเพื่อประกาศความสามารถที่แท้จริงออกมา
 
“เห็นเวลาเราส่งสัญญาณนิ้วไหมคะ ตัวเล่นแต่ละคน แต่ละตำแหน่งก็จะมีสัญญาณนิ้วไม่เหมือนกัน เราก็ต้องเซตทุกลูกที่มีสัญญาณนิ้วน่ะค่ะ คือทีมหนึ่งจะมี 5 ตำแหน่ง แต่ละตำแหน่งก็จะแยกย่อยออกเป็นบอลสั้น, บอลเร็ว, บอลสูง ฯลฯ แบ่งออกไปอีกเยอะมาก เฉลี่ยแล้วก็ตกตำแหน่งละประมาณ 5-10 ซิก (Signal) ค่ะ
ซ้อมอันเดอร์ก็หนักเหมือนกันค่ะ แต่ละตำแหน่งจะต้องอันเดอร์ครั้งละประมาณ 30 ลูก ต้องทำทั้งหมด 3 เซต มีอยู่ประมาณ 10 กว่าซิกก็คูณเข้าไป จะซ้อมอย่างนี้ตลอดเลยค่ะ ทุกวันนี้ก็ยังซ้อมอยู่ แต่ช่วงหลังๆ โค้ชจะเริ่มไปเคี่ยวเข็ญเด็กใหม่มากกว่าแล้ว (ยิ้ม)”
 


(ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Nootsara Tomkom[นุศรา ต้อมคำ] FC")
เธอมุ่งสู่สายอาชีพสู่ตำแหน่งทีมชาติไทยจนคว้าแชมป์ซีเกมส์ที่กรุงฮานอย ปี 2542 มาครอง เฉือนเอาชนะจีน แชมป์ตลอดกาลได้ในที่สุด ส่งให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยโด่งดังเป็นพลุแตก มีแฟนกีฬาเชียร์กันทั่วบ้านทั่วเมือง ซ้ำยังย้ำความฮอตของเหล่านักตบสัญชาติไทยด้วยการคว้าแชมป์เอเชียนคัพเพิ่มอีกในปี 2543 ด้วยความสูง 169 ซม.ของนุศรายังถือว่าเสียเปรียบผู้เล่นตำแหน่งเดียวกันจากทีมชาติอื่นๆ อยู่มาก แต่ด้วยใจสู้บวกกับไหวพริบ
ทั้งหมดที่สั่งสมอยู่ในตัว นุชจึงไม่เคยดึงจุดนี้มาเป็นข้ออ้างหรือมองว่าเป็นจุดด้อยของตัวเองแม้เพียงสักครั้งเดียว
“อย่างเมื่อก่อน เวลาดูทัวร์นาเมนต์ในเอเชีย จะมีตัวเซตคนหนึ่งของญี่ปุ่น (โยชิเอะ ทาเคชิตะ อดีตตัวเซตมือเก๋าแห่งแดนอาทิตย์อุทัย) เห็นเขาตัวเล็กๆ แต่เขาทำได้ เราเลยคิดว่า เฮ้ย! เขาตัวเล็กกว่าเราอีก ทำไมเขาเล่นระดับโลกได้ มันก็เลยทำให้เรามีแรงบันดาลใจว่าเราต้องทำให้ได้เหมือนเขา เราก็ต้องเอามั่งดีกว่า ต้องเปลี่ยนจุดด้อยของเราให้เด่นขึ้นมา เราตัวเล็กก็จริงแต่เราต้องมีความไวกว่าเขา เราตัวเล็กก็จริงแต่เราต้องมีความผสมผสานที่แน่นอน เราตัวเล็กกว่าเขา เราต้องอาศัยความฉลาดในการเล่น เราถึงจะสู้คนตัวใหญ่ได้” เจ้าของความคิดปิดประโยคด้วยยิ้มกว้างและสีหน้าท่าทางที่เปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นเกินร้อย
 


(ขอบคุณภาพ: หนังสือ “เซตสู่ฝัน” โดย แพรวสำนักพิมพ์)
“วอลเลย์บอลหญิง” กีฬาที่เคยถูกมองข้ามมาตลอด เป็นกีฬานอกสายตาที่บุกเบิกกันมาตั้งแต่ยุคที่มีคนดูตามเชียร์เกาะริมสนามอยู่แค่ 2-3 คน จนวันนี้มีคอกีฬาหันมาให้ความสนใจอย่างล้นทะลัก บอกได้เลยว่าสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จเกินคาดหมายได้จนถึงทุกวันนี้มาจากคำๆ เดียว “ความเพียรพยายาม”
 
“อย่างเมื่อก่อนตอนที่ยังไม่มีคนมาดูพวกเรา เราก็ยังเล่นปกติเหมือนเดิม พอตอนนี้มีคนมาเชียร์พวกเรา เราก็ได้กำลังใจเพิ่มมากขึ้น แล้วในอีกแง่หนึ่งมันก็ค่อนข้างกดดันมากขึ้นด้วย เพราะทุกคนก็คาดหวังว่าเราจะต้องได้แชมป์นะ จะต้องชนะทีมนั้นทีมนี้ แต่ถ้ามองกลับกันอีกที เราก็คิดได้ว่าเราเองต่างหากที่ควรดีใจที่ได้กำลังใจจากกองเชียร์เพิ่มมากขึ้น เพราะในการแข่งแต่ละครั้ง ยิ่งถ้าเราแข่งในบ้านแล้วเราได้ยินเสียงเชียร์ ยิ่งลูกสุดท้าย ถ้าเราเป็นคนเสิร์ฟ เราจะรู้สึกว่าเราจะมีพลังมาก ถ้าได้ยินเสียงเชียร์ตะโกนมาบอกว่า เสิร์ฟให้ข้ามนะ! เอาเลย! มันก็จะยิ่งทำให้เรามีแรงฮึด!

ก็อยากฝากบอกกีฬาประเภทอื่นที่ยังไม่มาถึงจุดนี้ว่า อยากให้เขามีความอดทนและเพียรพยายามในการฝึกซ้อมค่ะ นุชคิดว่าถ้าตั้งใจและทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ผลตอบรับจะกลับมาดีแน่นอนค่ะ อย่างทีมเรา ทุกคนมีความเพียรที่จะไปถึงจุดหมายที่เราตั้งไว้ให้สำเร็จให้ได้ ไม่ว่าทุกวันหยาดเหงื่อเราจะหล่นลงพื้นขนาดไหน เราก็อดทนและเพียรพยายามต่อมันมาก คิดว่าตอนนั้นเราใช้คำว่าขี้เกียจมาเป็นข้ออ้าง ถ้าเรารักสบาย ถ้าเราไม่มีความเพียรพยายามมากพอ เราจะไม่มีวันมาถึงจุดนี้เลย


 

กำเนิด “นุศรา” มาจากโค้ชจอมดุ!

(“อ.ชาติชาย” โค้ชคนแรกที่สร้าง “นุศราตัวเซต” ด้วยลูกบาส)
“เด็กหญิงนุศราตอนนั้นอายุ 10 ขวบ เดินไปข้างสนามเพื่อรอพ่อเหมือนเดิม นั่งอยู่กับเพื่อนกลุ่มเดียวกันที่ยังไม่กลับบ้าน มีจังหวะหนึ่งลูกวอลเลย์ลูกหนึ่งกลิ้งมาหยุดตรงหน้า โค้ชตะโกนเสียงดังว่า “เอ้า! นั่งว่างๆ อยู่ ไหนมาลองเล่นซิ” หลังจากวันนั้น รู้ตัวอีกที นุชก็ยืนอันเดอร์ลูกวอลเลย์บอลอยู่ในสนามเดียวกับที่พี่สาวเคยยืนซะแล้ว ครูมาบอกทีหลังว่าเห็นเรามานาน หน่วยก้านส่วนสูงใช้ได้ แถมเป็นน้องสาวคนที่เคยอยู่ในทีมมาก่อนด้วย ครูเลยให้เรามาลองดู”

พูดได้อย่างเต็มปากว่าชีวิตของนุชผูกพันกับ “โค้ชจอมดุ” มาตลอด ตั้งแต่โค้ชคนแรกที่ขอยกตำแหน่งที่สุดแห่งความโหดให้อย่าง “อาจารย์ชาติชาย ราศรีดี” ที่ปั้นนุชมากับมือกลางลานซีเมนต์โรงเรียนวัดบ้านฆ้องน้อย โรงเรียนบ้านนอกแห่งเล็กๆ ประจำ จ.ราชบุรี ตั้งแต่ชั้น ป.4 จนมาถ่ายโอนมาให้ “อาจารย์บันเทิง ขาวผ่อง” มารับช่วงต่อตั้งแต่ ม.4 ที่ดุและเคี่ยวไม่แพ้กัน

กระทั่งเข้าสู่ช่วงชีวิตนักกีฬาอาชีพเต็มตัว ไปสู่มือของ “โค้ชยะ” ณัฐพนธ์ ศรีสมุทรนาค “โค้ชด่วน” ดนัย ศรีวัชรเมธากุล และ “โค้ชอ๊อด” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร กว่าจะหลอมทุกความเฮี้ยบของโค้ชออกมาเป็น “นุศรา ต้อมคำ” ในวันนี้ได้ บอกเลยว่าต้องเจอบทหนักมาแล้วหลายระดับ แต่ที่โหดหินที่สุดต้องยกให้อาจารย์ชาติชายที่มีอาวุธประจำกายคือ “ไม้เรียว” ซึ่งนุชไม่เคยชอบใจที่ถูกลงโทษด้วยวิธีการนี้เลยแม้สักครั้ง

(เมื่อครั้งยังเป็น “ด.ญ.นุศรา” - ขอบคุณภาพ: หนังสือ “เซตสู่ฝัน” โดย แพรวสำนักพิมพ์)


“ครูให้นุชเริ่มจากอันเดอร์ ท่าพื้นฐานก่อน แรกๆ ทำได้แค่วันละ 2-3 ทีก็เจ็บแขนแล้วค่ะ แต่ก็ฝืนทำต่อไปจนขยับมาเป็น 5 ที 10 ที กลายเป็นหลายสิบจนถึงหลักร้อย ทั้งตีทั้งอันเดอร์จนแขนบวม รู้เลยว่าการตีลูกวอลเลย์บอลมันเจ็บแค่ไหน ยิ่งถ้าวางตำแหน่งของมือไม่ถูกแล้วเข้าไปอันเดอร์ ยิ่งมีสิทธิ์แขนแตกได้ง่ายๆ อันเดอร์จนแขนชาก็ยังเจ็บ ตอนนั้นคิดในใจว่าเราคงไม่เหมาะกับมันแน่ๆ เลย อากาศก็ร้อน ไอ้วอลเลย์บอลนี่มันไม่มีอะไรดีเลยนอกจากได้อยู่กับเพื่อนๆ ครูก็ยิ่งเคี่ยวเข็ญหนัก ต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมงเพื่อไปซ้อมให้ทัน 7 โมงเช้า มาสายก็ถูกตีด้วยไม้เรียว

มีเหตุการณ์หนึ่งจำได้แม่น ตอนอายุ 12 มีแข่งรายการมินิวอลเลย์บอลของปลากระป๋องปุ้มปุ้ยปลายิ้ม ทีมโรงเรียนเราได้เป็นตัวแทนภาคกลางไปแข่งที่ตรังแล้วก็ได้แชมป์มา ได้เดินทางไปแข่งที่ไต้หวันเป็นครั้งแรก เลยเริ่มชักรู้สึกว่าวอลเลย์บอลก็สนุกเหมือนกันแฮะ ได้เงินเบี้ยเลี้ยงมาซื้อขนมด้วย แต่นุชก็ยังไม่พอใจเรื่องถูกทำโทษด้วยการตีอยู่ดีค่ะ โดนบ่อยๆ เข้าก็งง คิดว่าไม่เอาแล้ว พ่อแม่เรายังไม่เคยตีแบบนี้เลย

จนวันหนึ่งตัดสินใจว่าจะเลิกเล่น โดนครูตีปั๊บ คว้าจักรยานปั่นกลับบ้านเลย น้ำตาไหล บอกแม่ว่าไม่เอาแล้วนะ โดนครูตีมา นุชจะเลิกเล่น แม่ก็ปลอบ บอกว่าพรุ่งนี้จะไปบอกคุณครูให้ว่ามาตีลูกอย่างนี้ได้ยังไง พอวันรุ่งขึ้น ครูมาตามที่บ้านว่าทำไมไม่ไปซ้อม เราก็หันไปหาแม่ คิดว่าแม่จะช่วย แม่หันมาบอกเราว่า ทำไมไม่ไปซ้อม สุดท้ายเราก็ต้องกลับไปซ้อมตามเดิม ต้องบอกว่าถ้าไม่มีวันนั้น คงไม่มีนุชในวันนี้แน่นอนค่ะ”


(ขอบคุณภาพ: หนังสือ “เซตสู่ฝัน” โดย แพรวสำนักพิมพ์)
จากเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง คุณพ่อเป็นช่างรถยนต์ที่โรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง คุณแม่เป็นแม่บ้าน ไม่ได้มีต้นทุนทางสังคมอะไรมากมายนัก ชีวิตวัยเด็กของนุชอยู่แต่กับพี่ชายและพี่สาว ปั่นจักรยานไปเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้านทุกวัน เธอคือเด็กเรียนดีที่ไม่เคยทำผลการเรียนเสียหาย ไม่เคยสอบได้ต่ำกว่าที่ 3 เลยถึงแม้ระยะหลังจะหันมาเอาจริงเอาจังด้านกีฬาควบไปด้วยแล้วก็ตาม

“อาจจะด้วยความที่ชีวิตในวัยนั้นไม่ต้องคิดอะไรมากมายด้วยมั้ง บวกกับไม่มีสิ่งยั่วยุหรือสิ่งน่าสนใจอะไรมากกว่าการเรียน เลยทำให้นุชโฟกัสไปแค่การทำผลการเรียนออกมาให้ดีที่สุด ให้สมกับที่พ่อแม่เหนื่อยยากกว่าจะมีเงินส่งเสียมาให้เรียนหนังสือ เวลานอกเหนือจากนั้นก็จะทุ่มให้วอลเลย์
 
ตั้งแต่เริ่มเล่นวอลเลย์มา จนถึงวันนี้ นุชน่าจะมีโค้ชทั้งหมดเกือบๆ 50 คนได้แล้วค่ะ ถ้ารวมโค้ชจากต่างประเทศด้วย โค้ชช่วงมหาวิทยาลัยด้วย แล้วก็โค้ชตั้งแต่สมัยมัธยม-ประถม แต่โค้ชที่ดุสุดน่าจะเป็นโค้ชชาติชายค่ะ ที่ดุรองลงมาก็อาจารย์บันเทิง” ว่าแล้วนุชก็เริ่มย้อนวันวานเมื่อครั้งแสบๆ คันๆ จากรอยไม้เรียวให้ฟังด้วยแววตาที่แฝงไปด้วยความผูกพัน

“ถ้าเป็นโค้ชชาติชาย เราทำผิดลูกเดียว เขาจะตีเลยนะ ตีด้วยไม้เรียวเลย เพราะสมัยก่อนยังไม่มีกฎหมายว่าห้ามใช้ไม้เรียวกับเด็ก เขาจะมีไม้หวายยาวๆ เตรียมเอาไว้เลย ถ้าเห็นว่าทำผิดครั้งแรกๆ ครั้งหนึ่ง เขาจะพูดดีๆ กับเราก่อน พอครั้งที่สองผิดอีกปุ๊บ ตีเลย! เขาจะห้ามเราทุกอย่าง ห้ามเราเกเร ไม่ให้เราเดินซ้าย ไม่ให้เราเดินขวา เขาจะให้เราเดินไปตามที่เขาตั้งใจไว้เท่านั้น (ยิ้ม) เราก็จะดื้อไม่ได้เลย จะโดนตีจนต้องร้องไห้กลับบ้านทุกวัน ถ้าสมัยเด็กๆ เราไม่อดทน เราคงไม่ได้มาจนถึงป่านนี้ค่ะ

ส่วนอาจารย์บันเทิง แกเป็นคนใต้ เป็นคนที่จริงใจมาก (ยิ้มกว้าง) ก็เลยจะใช้คำพูดตรงๆ ของแกเลย สมมติว่าเล่นวอลเลย์กันอยู่ 6 คน แล้วไปยืนเบียดๆ กันที่เดียว แกก็จะพูดออกมาเลยว่า ไปยืนตรงนั้นทำไมเยอะๆ พ่อมึงตายเหรอ (หัวเราะ) เขาเป็นคนอย่างนี้อยู่แล้ว เป็นคนรักลูกศิษย์มาก เขาคิดว่าถ้าเขาสอนในวิถีของเขาแบบนี้แล้ว เด็กจะได้ดีแน่นอน เพราะว่ารุ่นสู่รุ่น เด็กเขาติดทีมชาติทุกคน ลูกศิษย์ทุกคนที่จบมาก็จะนึกถึงเขา จะเข้าหาเขาตลอด ก็คิดอยู่ว่าถ้าครูเขาไม่ดุจริง ชีวิตเราอาจจะไปเบี้ยวซ้ายเบี้ยวขวาตรงไหนแล้วก็ได้”
ถ้าจะบอกว่า “ได้ดีเพราะไม้เรียว” ก็คงจะไม่ผิดเพี้ยนนักสำหรับนุศราสุดยอดมือเซตระดับโลกในวันนี้ เธอจึงมองว่าไม้เรียวคือบทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้จักเข็ดหลาบ “สำหรับนุช ไม้เรียวเป็นเหมือนน้ำร้อนเลยค่ะ ถ้าเราโดนน้ำร้อนลวกแล้วเจ็บ เราก็จะไม่กล้าโดนอีก” ลองให้มองในผ่านยุคสมัยปัจจุบันที่ไม้เรียวถูกออกกฎห้ามใช้แล้ว เธอจึงมองมันอย่างเข้าใจในทั้งมิติความหวังดีของครูและความเป็นห่วงของผู้ปกครอง

“เพราะเราก็ไม่รู้ว่าผู้ปกครองเด็กจะรู้สึกยังไงตอนเห็นลูกถูกตี อาจจะไม่พอใจก็ได้ ด้วยความเป็นพ่อเป็นแม่ รักลูก บางคนก็ไม่เคยตีลูกเลย ไม่อยากเห็นลูกเจ็บ ไม่อยากเห็นลูกร้องไห้ แต่ในอีกแง่ มันอาจจะทำให้เด็กไม่มีความอดทนก็ได้ เวลาเราโตขึ้นแล้วไปเจอกับแรงกดดันหรือปัญหาต่างๆ แต่เด็กไม่เคยถูกทำโทษอะไรเลย แต่ถ้าเด็กทำผิดและโดนทำโทษ เด็กอาจจะจำก็ได้ว่าเคยทำแบบนี้มันผิดนะ จะได้ไม่ทำผิดแบบเดิมซ้ำต่อไปค่ะ


 

อู้+กะล่อน = คุณสมบัติสำคัญของตัวเซตอัจฉริยะ!!?

เขาว่ากันว่า “นุศรา ต้อมคำ” มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวอยู่ที่การอู้เก่งและกะล่อนมากๆ จริงหรือเปล่า? คนถูกถามหัวเราะตอบรับทันทีที่ได้ยินสองคุณสมบัตินี้ ตั้งแต่ประโยคคำถามยังไม่จบดีด้วยซ้ำ จากนั้นจึงตอบกลับด้วยรอยยิ้มขำๆ ในแววตาขี้เล่น

“อย่าเรียกว่าเป็นการอู้เลยค่ะ มันคือเทคนิคขั้นสูงนะ (น้ำเสียงขี้เล่น) เราก็จะบอกน้องๆ ตลอดว่าพี่มีวิธีการสอนเทคนิคขั้นสูงของน้องๆ ทำยังไงถึงจะไม่ให้บาดเจ็บ ทำยังไงให้เวลาลงเล่น เวลาแข่งจะสามารถรักษาคุณภาพได้ เขาไม่เรียกวิธีการอู้นะคะ เขาเรียกเทคนิคขั้นสูงค่ะ” เธอหัวเราะเบาๆ ก่อนตัดเข้าสู่โหมดจริงจัง

“อย่างตัวนุชเอง นุชเล่นทีมชาติมาทั้งหมด 13 ปีแล้ว และแต่ละปีเราเคยผ่านจุดที่ซ้อมหนักที่สุดในชีวิตมาแล้ว และเรารู้ว่าวิธีการฝึกซ้อมแบบนั้น สมัยเด็ก ร่างกายเราอาจจะยังแข็งแรง ยังมีกล้ามเนื้อที่สามารถทนต่อการฝึกซ้อมขนาดนั้นได้ เพราะว่ากล้ามเนื้อวัยรุ่นกับกล้ามเนื้อของคนอายุมากแล้ว มันจะไม่เหมือนกันค่ะ เราผ่านตรงนั้นมาแล้ว เราเลยคิดว่าพอเรามีทักษะที่คงที่ มีร่างกายที่สมบูรณ์ มีประสบการณ์ที่ดีแล้ว เราจะทำยังไงให้เซฟตัวเองให้เล่นได้นานที่สุด ทำยังไงให้กล้ามเนื้อเราไม่บาดเจ็บ

การจะเล่นให้ได้ดี นุชว่าเราต้องแบ่งดีๆ ค่ะระหว่างช่วงที่ผ่อนคลายกับช่วงที่ต้องโฟกัสในเกม เราจะบอกน้องๆ ในทีมแบบนี้ตลอด จะทำให้เห็นว่าช่วงที่เราเอาจริงเอาจัง ช่วงที่เราต้องการแต้ม ต้องการคะแนน เราก็จะโฟกัสกับตรงนั้น พอเสร็จปุ๊บ เราก็จะผ่อนคลาย จะหัวเราะ ยิ้มให้กัน นุชจะเป็นอย่างนี้ตลอดค่ะ น้องๆ ในทีมก็จะสังเกตรุ่นพี่แต่ละคนเองว่าจะต้องทำยังไงบ้างถึงจะประสบความสำเร็จ พี่ๆ ต้องทำถึงขนาดไหนถึงจะมีกล้ามเนื้อขนาดนี้”


(ขอบคุณภาพ: IG @nootsara13)
ถ้ามองจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว นุชอาจดูไม่แข็งแกร่งเท่านักวอลเลย์บอลคนอื่นๆ อย่างที่ “กิ๊ฟ-วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์” หรือ “กัปตันกิ๊ฟ” ของทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติมอบฉายาให้กับนุชเอาไว้ว่าเป็นนักกีฬาที่ “กล้ามเนื้อไม่แสดงออก” ดูภายนอกเหมือนบอบบาง แต่แท้ที่จริงแข็งแกร่งเกินกว่าที่หลายคนคาดคิดไว้!

เขาเป็นคนที่ “กล้ามเนื้อไม่แสดงออก” ค่ะ (ยิ้มมุมปาก) หมายถึงว่าดูด้วยตาเฉยๆ คิดว่าไม่มีกล้ามเนื้อ ดูหุ่นเขาแล้ว คิดว่าหุ่นแบบนี้ บางๆ ดูไม่มีกล้ามเนื้อ น่าจะไม่แข็งแรง แต่พอให้วิ่งจับเวลา เขาวิ่งเข้าที่ 1 แบบไม่มีใครตามทันเลยนะ คือวิ่งเร็วมาก อึดมาก แล้วก็ไม่เคยบาดเจ็บเลยด้วย กล้ามเนื้อเขาแข็งแรงมาก แถมยังกระโดดได้สูงอีก เราเลยมองมาตลอดว่า เด็กคนนี้ ถ้าเขาเล่นจริงๆ เขาจะเล่นได้นานมาก จนกว่าเขาจะอยากเลิกเอง เพราะเขาไม่เคยบาดเจ็บเลย หรือถ้ามีอาการบาดเจ็บจริงๆ ก็จะหายได้ไวมาก ต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนที่มีพรสวรรค์ทั้งเรื่องของการเซตแล้วก็เรื่องของร่างกายด้วย

ต้องชมไปถึงอาจารย์ท่านแรกที่วางทักษะของนุชมาได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นท่าทางในการเซต การออกบอล ทุกๆ อย่างมันออกมาเพอร์เฟกต์ กิ๊ฟไม่แปลกใจเลยที่วันนี้เขาเป็นอันดับหนึ่งของโลก เพราะทุกๆ สกิลที่เขาเล่น เขาเหนือว่าตัวเซตตัวอื่น จะมีแค่ในเรื่องของส่วนสูงที่อาจจะสู้ตัวเซตแถบยุโรปไม่ได้ แต่ในเรื่องของความคิด ไหวพริบ สกิลการเล่น การรับตบ แล้วก็การเสิร์ฟ มันเหมือนเขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้น่ะค่ะ เกิดมาเพื่อเป็นตัวเซตเลย

(กัปตันกิ๊ฟ เผยความกะล่อนของนุช ในมุมที่หลายคนอาจไม่เคยรู้!)

อีกคุณสมบัติที่กัปตันขอคอนเฟิร์มคือ “ความกะล่อน” ของนุช หรือถ้าจะพูดให้ดูดีขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง จะเรียกว่ามันคือ “ไหวพริบ” ในการใช้ชีวิตก็ไม่น่าจะผิดนัก ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้เองที่ทำให้ชื่อ “นุศรา ต้อมคำ” ประกาศศักดา “มือเซตมือหนึ่งของโลก” เอาไว้ได้อย่างเต็มภาคภูมิมาจนถึงทุกวันนี้ และบรรทัดต่อจากนี้คือประสบการณ์มันๆ ต่างแดนที่ช่วยยืนยันว่าความกะล่อนของนุชไม่ใช่แค่มุกตลก แต่ยังสำคัญต่อชัยชนะของทีมไปด้วยในคราวเดียว

“ตอนไปเล่นอาชีพที่สเปนด้วยกัน 2 คน เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้กันเลย และเขาเป็นคนชอบกินอาหารนอกบ้าน มีอยู่วันหนึ่งชวนไปกินพิซซ่าริมทะเล เราก็กังวลว่าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ นุชบอกไม่เป็นไร เดี๋ยวพอไปถึง เราก็ไปดูเขาเอาว่าเขาสั่งกันยังไง พอถึงร้าน คนขายพูดภาษาสเปน เราก็หันไปหาน้อง เอาไงดีเรา นุชเขาก็ใช้ภาษามือ บอกเอาพิซซ่า (ทำมือเป็นวงกลมใหญ่ๆ) อู๊ดๆ (ใช้นิ้วจิ้มจมูกให้เป็นหมู) 1 ที่ พอดีเขาไม่ทานเนื้อ เลยบอกว่ามอๆ (ทำท่าใส่เขาให้ตัวเองประกอบ) ไม่เอา ช่วยกันทำมือทำไม้กันใหญ่กว่าจะได้มากิน (เล่าไปยิ้มไป) แต่สุดท้ายคนในร้านเขาก็เข้าใจนะ

(ขอบคุณภาพ: IG @nootsara13)
ตั้งแต่ตอนนั้นเราก็มองแล้วว่า เอ้อ... น้องคนนี้มันกล้าแฮะ มันกล้าพาเราออกมา แล้วก็กล้าพาเราหลงทางด้วย (หัวเราะเบาๆ) มีครั้งหนึ่งต้องแข่งบ่ายโมง ขึ้นแท็กซี่ไปแข่ง เราก็ถามว่านุชมั่นใจนะว่าสนามชื่ออะไร นุชก็บอกมั่นใจๆ หนูจำได้ว่าที่พื้นสนามมันเขียนว่าอะไร มันเขียนชื่อสนามไว้ ขึ้นแท็กซี่ปุ๊บ บอกชื่อสถานที่ ปรากฏแท็กซี่พาไปสถานีตำรวจ (เล่าไปยิ้มไป) เราก็บอกว่าเฮ้ย! นุช อีกครึ่งชั่วโมงจะแข่งแล้ว โทรศัพท์ก็ไม่มี โทร.ติดต่อใครไม่ได้ สุดท้ายเขาก็ใช้ไหวพริบของเขาค่ะ เขาบอกว่างั้นเอางี้ หนูจำทางได้เพราะเดินไปซ้อมทุกวัน เลยบอกให้แท็กซี่ไปที่เดิมที่รับเรามา แล้วก็บอกให้เขาขับไปตามทางที่เราเดิน สุดท้ายก็มาถึงสนามทันเวลาพอดีแบบไม่ได้วอร์ม วิ่งลงไปเล่นเลย


(ขอบคุณภาพ: หนังสือ “เซตสู่ฝัน” โดย แพรวสำนักพิมพ์)
ทั้งหมดมันเป็นไหวพริบของการใช้ชีวิตในต่างประเทศ ทำให้เรามองว่าเออ... เด็กคนนี้มันมีแววนะ เพราะการที่จะเก่งกีฬาชนิดหนึ่ง มันไม่ใช่แค่ว่าเราจะเก่งแค่กีฬาไงคะ มันเหมือนการเรียนเลย ไม่ใช่เราจะเก่งแค่การท่องจำ มันต้องมีไหวพริบที่จะปรับแก้ด้วย หรืออย่างการสอน เราอ่านมาอีกอย่าง แต่เราก็ต้องมาปรับเปลี่ยนโจทย์กันอีกทีไปตามสถานการณ์

เหมือนอย่างนุชที่เขาเก่งและมีไหวพริบในการเล่นในสนาม อาจจะเป็นเพราะเขาเอานิสัยที่เขาใช้จากข้างนอกเกมมาอยู่ในเกมด้วย เขามีความเจ้าเล่ห์อยู่ในตัวเขา ทำให้เขาเอามาปรับใช้ในการเล่น ทำให้เขาโดดเด่นกว่าเซตเตอร์ตัวอื่น มันทำให้เขามีคุณสมบัติในตัวหลายๆ อย่างที่น่าค้นหา” 
 


 

เยียวยาแผลเก่า พิชิตเป้าหมายโอลิมปิก!

(ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Nootsara Tomkom[นุศรา ต้อมคำ] FC")
วันที่นุชมีความสุขที่สุดคือวันที่ได้เห็นคนไทยทั้งประเทศยิ้มพร้อมกันค่ะ วันที่เราได้แชมป์ และวันที่เราท้อแท้ที่สุดก็คือวันที่เราไม่ได้ไปโอลิมปิก เป็นวันที่คนไทยเสียใจกับเรา (กะพริบตาไล่ความรู้สึก) ตอนนั้นเราเหมือนคนอกหักไปแล้ว ทุกคนมองหน้ากันแล้วไม่อยากจะทำอะไรอีกแล้ว (กะพริบตาถี่) แต่ด้วยความที่เรายังมีหน้าที่ที่จะต้องทำ เราก็ตัดสินใจว่า เอาเถอะ! ตัดทิ้งไป อีก 4 ปีข้างหน้ายังมี เราก็เลยรวมพลังกัน รวมใจกันลุกขึ้นมาใหม่

ที่ทำให้เราผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งเลยค่ะ ต้องขอบคุณครอบครัวมากๆ ที่คอยอยู่เคียงข้างเรามาตลอด ไม่ว่าเราจะแพ้-ชนะ มีความสุข-ความทุกข์ยังไง เขายิ้มให้เราตลอด แล้วก็อันดับสองคือเพื่อนร่วมทีมที่ดีค่ะ ทุกครั้งเวลาแข่งขัน ทุกคนจะเห็นว่าทีมนี้เป็นทีมที่ยิ้มตลอด เหมือนเรามีกำลังใจให้กันและกันตลอด

(ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Nootsara Tomkom[นุศรา ต้อมคำ] FC")
อย่างตัวนุชเอง เคยไปเล่นที่ต่างประเทศมา ไปเล่นกับพวกฝรั่งด้วยค่ะ สภาพในทีมเขา เราเห็นแล้วต้องพูดเลยว่าเป็นอะไรที่กดดันมาก ทีมเขาจะเป็นประเภทที่ว่าถ้าคนเก่ง จะเก่งแบบไม่สนใจใคร คนทำเสียก็จะว่ากันในทีม ทำให้เรารู้เลยว่าเวลาคนทำเสียแล้วโดนว่ามันเป็นยังไง คือจะกดดัน จะเครียดกันขนาดไหน แต่ทีมเราบอกเลยว่าเราไม่เอาแบบนี้นะ เพราะทีมเราตัวเล็กอยู่แล้ว เราเสียเปรียบเขาทางด้านรูปร่างอยู่แล้ว เราหันมายิ้ม ให้กำลังใจกันดีกว่า เพราะถ้าเปรียบเทียบทางยุโรปแล้ว ทางเอเชียเราซ้อมหนักมากนะคะ คิดดูว่าทุกวันเราต้องเสียเหงื่อมาตั้งเท่าไหร่แล้ว แล้วทำไมเราจะต้องมาว่ากันด้วย เพราะมันก็ไม่มีใครอยากให้เสียแต้มอยู่แล้ว

ถึงแม้จะเจ็บปวดในแมตช์แห่งประวัติศาสตร์มากแค่ไหน ต้องอกหักจากรายการแข่งขันคัดเลือกวอลเลย์บอลหญิง ไม่ได้เป็นตัวแทนโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 30 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตามที่เคยหมายมั่นเอาไว้ ต่อให้ความฝันที่ปั้นค้างไว้จะพังทลายลงมาต่อหน้าต่อตา แต่ก็ถือเป็นบทเรียนของใจ ฝนให้เส้นทางนักตบสายอาชีพเส้นนี้ยิ่งเฉียบคมมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยหนทางขรุขระแต่ทว่าทรงคุณค่าและสุดแสนจะงดงาม ในวันที่ได้บทเรียนจากคำว่า “พ่ายแพ้”



(ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Nootsara Tomkom[นุศรา ต้อมคำ] FC")
ย้อนกลับไปในปี 2555 เสียงกองเชียร์ดังสนั่น เสียงลูกบอลลูกแล้วลูกเล่าถูกตบให้กระทบพื้น เปิดเกมมาด้วยการพ่ายให้แก่สุดยอดทีมอย่างรัสเซียแบบขาดลอย 3 ต่อ 0 เซต เฉือนคะแนนแพ้-ชนะกันไปมากับชาติอื่นๆ จนทีมชาติไทยได้ขึ้นเป็นอันดับที่ 4 ของตารางการแข่งขัน รอเพียงแมตช์สุดท้ายระหว่าง “ญี่ปุ่น” กับ “เซอร์เบีย” เท่านั้นที่จะชี้ชะตาว่าจะอยู่หรือไป

จากผลคะแนนตอนนั้น ถ้าญี่ปุ่นชนะ ทั้งไทยและญี่ปุ่นจะได้จับมือกันไปโอลิมปิกในฐานะทีมที่ดีที่สุดของเอเชีย แต่ถ้าญี่ปุ่นแพ้เซอร์เบีย 0 ต่อ 3 หรือ 1 ต่อ 3 เซต ไทยจะเป็นทีมที่ดีที่สุดของเอเชีย และได้ไปโอลิมปิกพร้อมกับเซอร์เบียตามแต้มที่สะสมไว้ แต่ถ้าพลิกโผ ญี่ปุ่นแพ้เซอร์เบีย 2 ต่อ 3 เซต ญี่ปุ่นก็จะกลายเป็นทีมที่ดีที่สุดของเอเชีย และได้เข้ารอบสุดท้ายโอลิมปิก ซึ่งดูมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะจากศักยภาพของญี่ปุ่นในทุกแมตช์ที่ผ่านมา มองอย่างไรก็สามารถชนะเซอร์เบียได้แบบสบายๆ แต่ทว่า...

“โค้ชบอกว่าให้พวกเรามานั่งดูคู่ญี่ปุ่นปะทะเซอร์เบียด้วยกัน บรรยากาศก่อนเกมเป็นไปด้วยความชื่นมื่น มีแต่เสียงหัวเราะและรอยยิ้มเต็มห้องไปหมด แต่แล้วสัญญาณไม่ดีบางอย่างเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ค่ะช่วงเซตที่ 4 ญี่ปุ่นทีมที่เล่นละเอียดมากกลับปล่อยแต้มให้เซอร์เบียไปง่ายๆ หลายแต้ม ตามปกติแล้วตอนแข่งกับไทย ถ้าญี่ปุ่นเสียแต้มให้ไทยแค่ 3 แต้มรวด โค้ชเขาจะรีบขอเวลานอกเพื่อเบรกเกมเรา แต่นี่ไม่มีเลย ญี่ปุ่นปล่อยให้เซอร์เบียทำได้ 6 แต้มติดกันโดยไม่ขอเวลานอกเลย

นุชนั่งมองสิ่งที่เกิดขึ้นในทีวีแล้วรู้สึกในทันทีว่าถ้าเราทำได้ดีกว่านี้ ทำได้เต็มที่กว่านี้ด้วยฝีมือทั้งหมดที่เรามี ก็คงไม่ต้องมานั่งลุ้นให้ใครอื่นทำอะไรให้เรา เราต้องทำเองเท่านั้น อย่าไปคิดว่าคนอื่นเขาจะเห็นใจเรา มันไม่มีหรอก...
พอเข้าสู่เซตที่ 5 นุชก็ทนดูต่อไปไม่ได้ พาตัวเองออกมายืนอยู่หน้าประตูห้อง ไม่มีเสียงเชียร์เล็ดลอดออกมาจากฝั่งเรา น้ำตานุชไหล จบเกม เราไม่ได้ไปโอลิมปิก...

กัปตันกิ๊ฟบอกพวกเราว่าถึงเมืองไทยแล้วอย่าร้องไห้นะ แต่ทันทีที่เท้าแตะถึงพื้นสนามบินสุวรรณภูมิน้ำตาก็ไหลกันทุกคนในทีมเลยค่ะ ภาพที่เห็นคือคนไทยออกมาต้อนรับเราอย่างเนืองแน่น ในมือถือป้ายคำพูดให้กำลังใจต่างๆ มากมายหลายข้อความ มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนที่รักเรา... ขอบคุณนะคะ”

ลองปล่อยให้เวลาได้เยียวยาทุกอย่าง ทีมวอลเลย์บอลแห่งความหวังทีมนี้ก็เริ่มกลับมาแข่งขันตามทัวร์นาเมนต์ต่างๆ กันอีกครั้ง แต่ด้วยสภาพร่างกายของแต่ละคนยังไม่ค่อยพร้อมจากการกรำศึกหนักในลีกอาชีพ บวกกับตระเวนแข่งระดับชาติมายาวนาน เวลาในการเตรียมทีมมีจำกัด รวมถึงเสียงค่อนขอดที่ดังก้องในใจเรื่องอายุและศักยภาพผู้เล่นส่วนใหญ่ในทีม

เริ่มมีคนพูดถึงเรื่องอายุของตัวผู้เล่นว่าแก่เกินไปหรือยัง บางคนถามว่าทำไมยังไม่วางมือสักที บางคนเห็นว่าเริ่มแข่งแพ้บ้างในบางนัดก็เริ่มถามว่า เมื่อไหร่กลุ่มที่ติดทีมชาติกลุ่มนี้จะหลีกทางให้น้องๆ รุ่นใหม่บ้าง ด้วยอุปสรรคนานัปการบวกกับแผลเก่าตอนพลาดไม่ได้ไปโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นยังฝังอยู่ในใจ เลยยิ่งทำให้สภาพจิตใจของคนในทีมดำดิ่งไปกันใหญ่ ยังดีที่สุดท้ายแล้วเสียงเรียกร้องภายในใจก็ชี้ทางให้พวกเขาเดินหน้าและทำมันต่อไปด้วย “ความรัก” ต่ออาชีพที่สูบฉีดอยู่ในสายเลือดอย่างแรงกล้า!




“ในช่วงเวลาแย่ๆ ถ้าไม่มีมิตรแท้ อะไรที่แย่อยู่แล้วก็มีแต่จะแย่ลงไปกว่าเดิม นุชโชคดีมากค่ะที่นุชมีมิตรแท้คือเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกคนในทีม เราให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผลักดันให้ลุกขึ้นสู่ต่อ มีพ่อแม่ที่อุตส่าห์ตามมาเชียร์ มีแฟนๆ ที่มาเชียร์จนล้นสนาม เลยคิดว่าเราจะปล่อยให้คำพูดเล็กน้อยของไม่กี่คน รวมถึงผลงานที่ผ่านไปแล้วมามีอิทธิพลต่อเราจนทำให้เราเดินต่อไปไม่ได้เชียวเหรอ จำไม่ได้หรือไงว่าเป้าหมายของเราคืออะไร จำไม่ได้หรือไงว่าวอลเลย์บอลคือชีวิตของเรา และที่สำคัญ เราเล่นวอลเลย์บอลไปเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อความสุขของตัวเอง ครอบครัว และคนในชาติ


(ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "Nootsara Tomkom[นุศรา ต้อมคำ] FC")
ตอนนี้ เป้าหมายของเราคือ เราอยากพาธงไตรรงค์ของไทยไปโบกสะบัดในพิธีเปิดโอลิมปิกปีหน้าที่ประเทศบราซิลค่ะ เรามีความมุ่งมั่นมากร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะว่าเราจะต้องไปสู่โอลิมปิกให้ได้ เป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะคะ!!


เด็กกะโปโล ยิ้มสู้เพื่อครอบครัว

(พี่หนู, คุณพ่อฉลวย, น้องคนสุดท้องของบ้าน และคุณแม่ประนอม)
ทันทีที่ได้ยินเสียงซื่อๆ ของ “คุณพ่อฉลวย” และ “คุณแม่ประนอม ต้อมคำ” ด้วยสำเนียงเหน่อนิดๆ ตามแบบฉบับคนราชบุรี บวกกับรอยยิ้มที่ส่งตรงออกมาจากใจ ทำให้หายสงสัยไปหมดสิ้นว่าอะไรทำให้นุชดูเป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มได้ทั้งวี่ทั้งวันได้อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะที่บ้านเลี้ยงดูมาแบบสบายๆ อยู่อย่างง่ายๆ อยู่กับธรรมชาติ และนี่คือ “นุศรา ต้อมคำ” ผ่านสายตาคนที่รู้จักตัวตนของเธอดีที่สุด ผ่านคำบอกเล่าของคุณพ่อ คุณแม่ และ "พี่หนู-นิตยา รอดศิริ" พี่สาวแท้ๆ ของเธอ

คุณพ่อฉลวย: เขาเป็นคนไม่เคยพูด ไม่เคยแย้มมาเลยในความรู้สึก เขาจะอยู่แบบธรรมชาติ ยิ้มแย้มตลอด เคยถามตอนมาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ โทร.ถามว่าเป็นไง ลำบากไหม เหนื่อยไหม เขาก็บอกเหนื่อยมากเลย แล้วพ่อก็ถามว่าพอไหวไหม เขาก็บอกไหว พ่อก็บอก เอ้า! งั้นลุยให้เต็มที่เลย! ไม่ต้องห่วงข้างหลัง เพราะข้างหลังเป็นกำลังใจให้อยู่แล้ว

ทุกครั้งที่โทร.คุยกัน ก็จะพยายามถามเขาคำเดิมนี่แหละ ถ้าบอกยังไหว สบายมาก ก็จะบอกให้ลุยเต็มที่ แพ้-ชนะ ไม่ต้องไปเครียด เราไม่ได้สอนอะไรเขามากเลย ให้เขาคิดตัดสินใจเอาเอง บอกอะไรผิดอะไรถูก โตขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวจะรู้อะไรอีกเยอะ จะทำอะไรก็ต้องคิดให้ดี เพราะถ้าทำพลาดอะไรไป บางทีมันก็แก้คืนไม่ได้

คุณแม่ประนอม: ตอนแรกเหมือนมันจะไม่เอาไหน แต่มันก็เก่ง มีความสามารถ ยอมรับลูกเลย เขามีความอดทน ไม่เคยคิดเลยว่าลูกจะมาถึงจุดนี้ ไม่เคยคิดเลย (พูดไปยิ้มไปด้วยสีหน้าปลาบปลื้ม) เขาเป็นคนไม่เคยทำตัวเครียดให้เราเห็นเลย เขาจะร่าเริง จะยิ้มตลอด แล้วเขาก็ห่วงพ่อแม่ ห่วงครอบครัวมากเลย ไม่เคยดื้อกับพ่อแม่เลย ก็จะสอนเขาว่าอย่าลืมตัว เงินทองเราก็เก็บไว้ตอนเล่นไม่ได้ เผื่อตอนบาดเจ็บเรื้อรัง เขาก็บอกเขารู้ เขาก็ส่งเงินให้ใช้ตลอด ตอนนี้พ่อแม่ก็อยู่สุขสบายมาก


(ขอบคุณภาพ: IG @nootsara13)
พี่หนู-นิตยา: เขาเป็นเด็กกะโปโลค่ะ เป็นคนร่าเริง ห่วงใยคนอื่น จะไม่ค่อยมีความทุกข์ หาแต่เรื่องที่สนุกมาให้พ่อแม่ ถ้าเวลาเขาทุกข์ เขาเศร้า เขาจะไม่ค่อยบอกใคร แต่ถ้าเรื่องมันผ่านไปแล้ว เขาถึงจะมาเล่าให้ฟัง จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อนตลอดเลย

ตอนนี้ก็ถือว่าเขาเป็นเสาหลักของครอบครัวเลยค่ะ เพราะพ่อก็เกษียณแล้ว ตั้งแต่เขาติดทีมชาติ มีเงินเดือน พอดูแลตัวเองได้ เขาก็จะส่งมาให้ทางบ้านตลอด ทำบ้านให้ ซื้อรถให้คุณพ่อ รถกระบะ 1 คัน รถเก๋ง 1 คัน แล้วก็ส่งเงินให้พ่อกับแม่ใช้ตลอด ส่วนตัวเขาก็ซื้อคอนโดอยู่เอง ซื้อรถเป็นของตัวเอง รับผิดชอบตัวเองได้ทุกอย่าง

เวลามีอะไรส่วนใหญ่เขาจะคุยกับเราค่ะ ยิ่งตอนเขาแข่งแพ้ แมตช์ที่ไม่ได้ไปโอลิมปิก อันนั้นเขาหนักเลย เขาเสียใจ เขาก็จะโทร.มา จะคุยกันตลอด เราก็จะบอกว่าไม่เป็นไร ทำดีที่สุดแล้ว บางทีมันอยู่ที่ดวงด้วย มันอาจจะยังไม่ใช่ ยังไม่ถึงเวลา เขาก็ลองใหม่ ยังมีอีก 4 ปีข้างหน้า ตรงนี้มันเป็นความฝันของเขาเลย เขาบอกอยากไปเล่นโอลิมปิกสักครั้ง เพราะเขาก็อายุ 30 แล้ว

ก็อยากให้น้องมีกำลังใจค่ะ พ่อแม่ ญาติพี่น้องทุกคน ถึงไม่ได้ไปเชียร์ตามขอบสนาม ไม่ได้อยู่ด้วย แต่ก็ติดตามทางทีวี ทางโซเชียลฯ อยู่ ไม่เคยซีเรียสเลยว่าผลจะออกมายังไง ถือว่าน้องทำดีที่สุดแล้ว เพราะถ้าคิดเปรียบเทียบกับตัวเรา เราก็ทำไม่ได้เท่านี้



แต้มต่อ “ความรัก” ของนักกีฬามืออาชีพ!

ออกสื่อก็หลายครั้ง เขียนพ็อกเกตบุ๊ก “เซตสู่ฝัน” อัตถชีวประวัติตัวเองไปถึง 187 หน้า รู้จักสาวแกร่งคนนี้มาก็หลากหลายมิติแล้ว แต่กลับไม่เคยเอ่ยปากถึงมิติ “หัวใจ” เอาไว้บ้างเลย จนมีคนแซวเอาไว้ว่าสงสัยต้องรอให้ออกพ็อกเกตบุ๊กเล่ม 2 ถึงจะยอมเผย เจ้าตัวก็ได้แต่หัวเราะเขินๆ และพยายามเบี่ยงเบนประเด็นไปหาหัวข้ออื่น เมื่อเห็นหลายคนหูผึ่งไปกับประเด็นนี้ เธอจึงยอมตอบแบบอ้อมๆ แอ้มๆ ออกมาว่า...

“โอ๊ย... ตายละๆ ความรักเหรอคะ... ยังไงดี... จริงๆ แล้วตัวนุชเองก็เป็นคนไม่โรแมนติกอะไรเลย เพราะเรายังมีหน้าที่สำคัญของเราที่จะต้องทำ เราก็เลยเลือกทำหน้าที่ของเราดีกว่าอันดับแรก ส่วนเรื่องส่วนตัว เราอยากให้เป็นเรื่องส่วนตัวค่ะ เพราะเราก็เป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ใช้ชีวิตทั่วไป เราไม่ได้อยากออกสื่อหรือให้คนติดตามว่าความรักเราเป็นยังไง เห็นบางคนก็มีดรามาเรื่องความรักบ้าง แต่เราไม่อยากให้ชีวิตเราเป็นแบบนั้น เราอยากให้ชีวิตเรา คนโฟกัสไปที่วอลเลย์บอลอย่างเดียวดีกว่า

นิยามความรักของเราเหรอ... (กวาดตานึกอยู่สักพัก) นึกไม่ออกอ่ะ (หัวเราะเบาๆ)... เพราะเราเป็นคนที่สามารถมีความรักได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะรักพ่อแม่ รักเพื่อน เราคิดว่าถ้าเราสามารถควบคุมตัวเอง สามารถควบคุมจิตใจของเราได้ เราคิดว่าเราก็สามารถควบคุมความรักได้ตลอดเวลา

(ขอบคุณภาพ: IG @nootsara13)
โสดไหม... (น้ำเสียงขี้เล่น) แต่งงานหรือยังล่ะ? (แถมหยิกแกมหยอก ด้วยท่าทีทีเล่นทีจริง) ยังค่ะ แต่เมื่อไหร่เหรอ... เราคิดว่าถ้าเราเจอคนที่ใช่ในเวลาที่เหมาะสม เราคิดว่ามันคงเป็นเวลาที่ลงตัวค่ะ แต่ถ้าถามตอนนี้ เรายังคงมีภาระหน้าที่ที่เราจะต้องทำอยู่ อย่างปีหน้า เราต้องตั้งใจมากๆ ในการคัดโอลิมปิกเดือน พ.ค.นี้ค่ะ เราเลยคิดว่าเรื่องส่วนตัวเราต้องเอาไว้ก่อน ตอนนี้เราต้องรับใช้ชาติให้ดีที่สุดค่ะ (น้ำเสียงหนักแน่น)

ตั้งแต่เด็กๆ เลย เราก็จะมีสเปกอยู่ว่าเราชอบผู้ชายสกินเฮด เกรียนๆ เราชอบผู้ชายอย่างนี้ (พูดไปยิ้มไป) เพราะด้วยบุคลิกของเรา เราจะเป็นคนห้าวๆ ไม่อ่อนหวาน เราก็จะชอบผู้ชายแบบนี้ เพราะถ้าเราไปชอบผู้ชายตี๋ๆ ขาวๆ เขาก็จะดูบอบบาง แล้วเราก็จะเป็นคนดูห้าวไปเลย แต่พอโตขึ้น ทัศนะเราก็เปลี่ยนไปค่ะ เราก็อยากได้คนที่เป็นผู้นำ มีความคิดเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ซื่อสัตย์กับเรา และต้องซื่อสัตย์กับเราทั้งต่อหน้าและลับหลังด้วยนะคะ ไม่ใช่ว่าต่อหน้าบอกรักเรา แล้วพอลับหลังไปคุยกับคนอื่น แบบนั้นเราไม่เอา เพราะเราเป็นคนไม่มีเวลาให้



เธอคือ “ซาร่า” นางงามประจำสนาม

(ขอบคุณภาพ: หนังสือ “เซตสู่ฝัน” โดย แพรวสำนักพิมพ์)
ด้วยชื่อ “นุศรา” ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Nootsara” ทำให้เธอมีชื่อเล่นๆ อีกชื่อแบบอินเตอร์ๆ ว่า “ซาร่า (Sara)” และยิ่งจะรู้สึกว่าชื่อโมเดิร์นๆ นี้เหมาะกับนุชมากเข้าไปอีก ถ้าได้รู้มุมรักสวยรักงามของเธอคนนี้ว่าเป็นหนักขนาดไหน และนี่คือคำเมาส์แซบๆ จากปากของคนในทีมอย่าง “กัปตันกิ๊ฟ-วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์” และตัวเต็งในทีมอีกคนอย่าง “นา-วรรณา บัวแก้ว” ที่เล่ามาจากประสบการณ์ตรงแบบไม่มีเม้ม!


(กัปตันกิ๊ฟ-พี่นา ร่วมตั้งวงเมาส์ "ซาร่า" แบบจัดเต็ม!)
กัปตันกิ๊ฟ: มีอยู่ครั้งหนึ่ง ก่อนลงแข่ง นุชก็ส่งข้อความเข้ามาในไลน์กรุ๊ป ตอนแรกเราก็คิดว่าจะสั่งเรื่องทีมว่าต้องเตรียมเรื่องนั้นเรื่องนี้เพราะกำลังจะไปแข่ง ปรากฏข้อความเด้งขึ้นมาว่า “เดียร์ หยิบที่หนีบผมไปสนามด้วยนะ” เราก็ส่งไปว่า แล้วทำไมไม่หนีบที่ห้อง เขาก็ตอบว่า “เดี๋ยวผมมันคลายพี่ ก่อนลง ไม่มั่นใจ”

อันนี้เป็นคาแรกเตอร์ของเขาเลย ทั้งทีมจะรู้กันนะ แม้กระทั่งโค้ชอ๊อดที่ว่าดุ เข้ามาในห้องแต่งตัวจะแบ่งเป็น 2 ฟาก ฟากกระจกกับฟากนั่งประชุม สักพักเขาก็ได้ยินเสียงไดร์เป่าผมวืดๆ เขาก็ถามว่า ใครมาทำอะไรในห้องประชุมวะ เขาก็เดินไปชะโงกแล้วก็บอกว่า “กูว่าแล้ว ไอ้นุชนี่เอง” (ยิ้ม) คือมันเป็นคาแรกเตอร์ของเขา เขาต้องสวยก่อน เขาถึงจะลงสนามได้

นา-วรรณา: เขาเป็นคนรักสวยรักงามมากจริงๆ ค่ะ ถ้าไม่แต่งหน้าหรือไม่ได้เขียนคิ้วก่อนลงสนาม เขาจะไม่มั่นใจ


นุช (ซึ่งนั่งอยู่ในวงสนทนาด้วยกัน): มันจะเป็นกังวลน่ะค่ะ พอเหงื่อออกแล้วเราไม่มีคิ้วแล้วด้วย เหงื่อมันอาจจะไหลลงมาที่หน้าโดยไม่มีอะไรเกาะไว้ (หัวเราะ)

กัปตันกิ๊ฟ: แต่มันก็เป็นข้อดีนะคะสำหรับน้องใหม่ๆ ที่เข้ามาในทีม ถ้าน้องคนไหนไม่ดูแลตัวเอง เขาก็จะเดินเข้าไปชี้ บอกเลยว่าเดี๋ยวมาหาพี่นะ ใครเป็นสิวเดี๋ยวจะแนะนำว่าให้ไปหาหมอคนไหน (ยิ้ม) คนนี้สีผมไม่ผ่าน ทำสีมาแล้วดูบ้านนอก เดี๋ยวต้องไปเปลี่ยน เขาจะเป็นแผนกนี้ เราก็ยกให้เขา บอกเลยว่าโอเค ถ้าเป็นเรื่องระเบียบวินัยนี่ อาจจะเป็นหนู เรื่องการทำงาน พี่ณาอาจจะสอนน้อง ส่วนนุชก็ให้ดูแลเรื่องความสวยความงามไป เพราะเดี๋ยวนี้ทีมเราไม่ใช่ทีมเหมือนแต่ก่อนที่ไม่มีใครรู้จักนะ ต้องอัปเกรดตัวเองนิดหนึ่ง (ยิ้ม)

นุช: คือเราเป็นพี่ที่ห่วงเรื่องความสวยความงามของน้องมาก เราก็จะบอกเขาตลอดเลยว่า ผมทรงนี้แล้วไม่ได้เลยนะแก เดี๋ยวไปออกกล้องมา เราต้องไปหน้าเป็นตาให้แก่สมาคมนะ เราก็จะบอกน้องว่าแกกลับไป แกไปทำผมทรงนี้เลย หรือไม่แกก็ไปทำสีผมนิดหนึ่งให้มันเข้ากับหน้า น้องก็จะแซวประจำว่าออกตังค์ให้ด้วยสิ เราก็จะบอกว่าเออ... ตัวใครตัวมันเหอะ (หัวเราะ)



(ขอบคุณภาพและข้อมูล: หนังสือ “เซตสู่ฝัน” โดย แพรวสำนักพิมพ์)
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ASTVผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพและข้อมูล: หนังสือ “เซตสู่ฝัน” (แพรวสำนักพิมพ์), IG @nootsara13 และ แฟนเพจ "Nootsara Tomkom[นุศรา ต้อมคำ] FC"




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น