กลายเป็นไอเดียแปลกแหวกวิธีสู้เพื่อน้ำของนายก อบต.บ้านหม้อ อ.พรหมบุรี จ. สิงห์บุรี เมื่อเปลี่ยนถนนเป็นทางน้ำสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาชลประทานช่วยเหลือชาวบ้านเยียวยาปัญหาภัยแล้งที่ร้อนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่ไอเดียดังกล่าวต้องชะงัง เมื่อศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรโพสต์เตือนให้หยุดพร้อมระบุชัด หากมีชาวบ้านทำตามจะส่งผลเสียระยะยาว
ล่าสุด ASTV ผู้จัดการ LIVE ต่อสายตรงถึง ทวีป ผูกโพธิ์ นายกองค์กรบริหารส่วนตำบล บ้านหม้อ อำเภอ พรหมบุรี จังหวัด สิงห์บุรี สอบถามถึงความจำเป็นและปรากฏการณ์แก้ปัญหาเองโดยส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้น
เห็นใจชาวนา แต่รัฐต้องแก้ปัญหา!
หลังไอเดียสูบน้ำเจ้าพระยาและใช้กระสอบกั้นทำให้ถนนเป็นทางน้ำส่งให้ชาวบ้านแก้ภัยแล้งกลายเป็นข่าวดัง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์เฟซบุ๊กของตัวเองในชื่อ Sasin Chalermlarp แสดงความเห็นเกี่ยวกับไอเดียดังกล่าวว่า ตนรู้สึกเห็นใจชาวนาที่ต้องเผชิญปัญหาภัยแล้ง แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วางกระสอบทรายสองข้างให้เป็นทางน้ำ ก่อนสูบน้ำเจ้าพระยาไหลไปตามถนนเพื่อช่วยชาวนา เพราะหากทุกพื้นที่ทำตาม เพียงไม่กี่วันน้ำในแม่น้ำเจัาพระยาคงแห้ง และเมื่อน้ำทะเลหนุนจะกระทบแหล่งน้ำดิบจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ทั้งนี้ รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเตรียมการจัดการงบประมาณสำหรับปัญหาน้ำที่จะพบในปีต่อๆ ไปด้วย
“เรื่องน่ากลัวสำหรับ "ผม" เกิดขึ้นแล้ว อาจจะไม่น่ากลัวสำหรับคนอื่นนะครับ รัฐบาลแก้ปัญหาให้ไม่ทันใจ และบนเหตุผลที่ว่า "ชาวนาเดือดร้อนจริง ต้องเห็นใจเขา" ต้องเห็นใจ และต้องช่วยเหลือจริงๆ ครับ แต่ด้วยวิธีนี้ ลองคิดดู แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่กลางประเทศ ไหลมาจากนครสวรรค์ ถ้าตอนนี้สิงห์บุรีเริ่ม พรุ่งนี้ อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี เอาบ้าง เปิดท่อเมน (แม่น้ำเจ้าพระยา) ออก เป็นรูพรุน
“อีกสองวันน้ำแห้ง น้ำทะลน่าจะหนุนขึ้นมาพรวดเดียวทำลายทุกแหล่งน้ำดิบตั้งแต่อ่างทองลงมา ก็ชิบหายจริง ๆ ล่ะครับ ชาวนา และผู้นำก็ต้องแก้แบบท้องถิ่นไป ใครจะปล่อยให้ตัวเองตาย แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดการได้ ก็อยู่ในสภาพไร้การควบคุม เข้าสู่ยุคหนังเรื่อง แมดแม็กซ์ กันไปเลย
“แต่ย้ำครับ 1. ผมก็เห็นใจชาวนา 2. รัฐต้องตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่ไปหาน้ำมา แต่ต้องมีมาตรการควบคุมการใช้น้ำทุกภาคส่วนตั้งแต่เมือง อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว เกษตร ให้เสมอภาค 3. เตรียมงบไว้เรื่องนี้ได้เลย ต้องใช้เยอะ ปีนี้ปีหน้าอะไรไม่เฉพาะหน้าก็เอามาเตรียมเผื่อไว้เถอะครับ อาจจะไม่เกิดก็ได้ ผมกลัวของผมคนเดียว ย้ำ!”
ขอแค่ยื้อชีวิตข้าว
มาตรการสูบน้ำเจ้าพระยาลำเลียงผ่านถนนก่อด้วยกระสอบนั้น ต้นต่อความคิดทั้งหมดมาจาก ทวีป ผูกโพธิ์ นายกองค์กรบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อำเภอพรหมบุรี จังหวัด สิงห์บุรี โดยเดิมทีนั้นพื้นที่ดังกล่าวมักจะพบกับภัยน้ำท่วมเสียส่วนใหญ่ ทำให้มีความสามารถในการก่อกระสอบทราย แต่กับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและสร้างความประหลาดใจจนเป็นข่าวใหญ่ กับภาพถนนที่กลายเป็นทางน้ำชั่วคราวนั้น จุดเริ่มต้นถือเป็นความคิดที่ทุกคนหัวเราะและมองว่าไม่น่าจะสามารถทำให้เป็นจริงได้
โดยพื้นที่นาทั้งหมดนั้นมีอยู่ 6,500 ไร่ รวมกับพื้นที่ใกล้เคียงถึงจังหวัดลพบุรี และจังหวัดอ่างทองแล้วก็รวมประมาณ 8,000 - 9,000 ไร่ ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์นั้นคือรอยต่อ 3 จังหวัดได้แก่พื้นที่ของตำบลบ้านหม้อ อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี พื้นที่ตำบลบ้านเบิกและตำบลหัวสำโรง อำเภอท่าวุ้งจังหวัดลพบุรี และพื้นที่ตำบลชัยภูมิ อำเภอชัยภูมิ จังหวัดอ่างทอง
จนถึงตอนนี้เมื่อมีการท้วงติงจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เขาเผยว่า ที่ผ่านมาไม่มีท้องถิ่นพื้นที่อื่นเข้ามาดูงานแต่อย่างใด และลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นประเด็นที่พื้นที่อื่น ชาวบ้านที่อื่นจะทำตามนั้นคงเป็นไปได้ยาก
“ผมหยุดมา 2 วันแล้วครับ เพราะเราปล่อยน้ำลงนาไปเที่ยวหนึ่งแล้วก็ไปดูปริมาณความต้องการของชาวนาว่าเพียงพอมั้ย ปรากฏว่า มันไม่พอ เมื่อคืนก็เลยเริ่มเดินเครื่องสูบใหม่ ทั้งหมดนี้ผมตกลงกับชาวนาแล้ว ที่ทำนากันลงไปข้าวมันกำลังจะยืนต้นตาย เราดูดเอาน้ำไปรดข้าวเพียงให้มันรอดตายไปเท่านั้น
“เพียงแค่วันที่ 20 ฝนน่าจะตกได้แล้ว เราจะนำน้ำรดน้ำกันแค่เที่ยวเดียว ถ้าเกิดหลังวันที่ 20 สภาพดินฟ้าอากาศยังแล้งก็คงต้องตัวใครตัวมันแล้ว เพราะทางอบต.เราก็ไม่มีงบแล้วเหมือนกัน”
ทั้งนี้ ข้อจำกัดของการสูบน้ำจึงอยู่ที่งบประมาณที่ทำให้สามารถใช้เครื่องสูบน้ำได้อย่างจำกัด โดยในพื้นที่ทั้งหมดได้มีการทำประชามติกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปทั้งหมดไว้แล้ว หลังจากนี้หากยังมีภัยแล้งอยู่ก็จะไม่มีการสูบน้ำจากเจ้าพระยา
ในส่วนของประเด็นการที่ท้องถิ่นอื่นจะทำวิธีดังกล่าวไปใช้เลียนแบบนั้น เขามองว่าแต่ละตำบลมีพื้นที่ไม่เหมือนกัน การพลิกแพลงแก้ปัญหาจึงแตกต่างกันไป
“โดยสภาพทั่วไปพื้นที่ของผมต้องเจอกับภัยน้ำท่วม ตำบลบ้านผมอยู่ติดริมน้ำเจ้าพระยาเราสู้กับน้ำมาตลอด จากที่ผมเป็นนายกอบต.มา 10 กว่าปี น้ำไม่เคยท่วม ชาวนาผมลูกน้องผมชำนาญเรื่องป้องกันน้ำท่วม เรียงกระสอบได้ ผมเลยมองว่า ถนนเส้นนี้มันมี 2 เส้นคู่ ก็ขอพี่น้องใช้เส้นโน่น เส้นนี้ให้น้ำวิ่งแทนได้มั้ย เนื่องจากชลประทานไม่มีท่อส่งน้ำให้เรา จริงๆ ตอนแรกก็หัวเราะกัน นายกจะทำได้ยังไงเอาน้ำมาวิ่งบนถนน”
ด้านของการช่วยเหลือจากส่วนกลางในภาครัฐบาลนั้น เขาเผยว่าในช่วงแรกนั้นไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเลยกระทั่งในช่วงพล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่ส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยเหลือ
“นี่พูดด้วยความสัจจริงไม่มีใครมาช่วยเลย ส่วนใหญ่มองแต่ว่าทำไม่ได้ มีคนเดียวที่ให้คำแนะนำช่วยเหลือคือ ท่านแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ที่ให้ความอนุเคราะห์สั่งกำลังทหารลงมาช่วย เพราะว่าชาวนาที่นี่ก็มีแต่คนแก่ๆ ทั้งนั้น หนุ่มๆ สาวๆ ก็ไปทำงานโรงงานกันหมด”
ภัยแล้งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหารุนแรงมากในหลายพื้นที่ โดยเขาเผยว่า ชาวนาถึงขั้นทะเลาะกันเองเพื่อแย่งชิงน้ำ
“ผมสูบน้ำแค่ 5 - 10 วันมันไม่น่าเสียหายมากมาย ในความรู้สึกผมนะ แค่ราดน้ำในนาแล้วเราก็หยุดเลย สำหรับผมเองคิดว่า ทำได้ก็เลยทำ เพราะปู่ย่าตายายก็สอนมาให้นับถือเจ้าแม่โพสพ เราคนไทยก็นับถือเหมือนแม่ย่านางในนาเรา จะปล่อยให้เจ้าแม่โพสพล้มลงตายต่อหน้าต่อตาเรา ถ้าเราช่วยได้ก็ต้องช่วย”
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754