xs
xsm
sm
md
lg

ถกวุ่นทั่วรั้วมหาวิทยาลัย! ปรับเทอมตามอาเซียน มั่นใจหรือว่าดีมากกว่าเสีย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ข้อดีโดดเด้งมีข้อใหญ่ แต่ข้อเสียยิบย่อยบานตะไท! หลัง 27 มหาวิทยาลัยดังลองปรับเปลี่ยนภาคเรียนให้ตรงตามกลุ่มประเทศอาเซียนได้สักพักใหญ่ๆ ภาพผลดีที่เคยวาดฝันไว้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลกลับยังไม่ปรากฏ มีเพียงผลร้ายที่เริ่มส่อแววชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ส่งให้มีเสียงเล็ดลอดออกมาจาก “ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)” ว่าอาจถึงเวลาพิจารณากันอย่างเคร่งเครียดเสียทีว่า ประเทศเรายังควรให้เปิด-ปิดภาคเรียนตามช่วงเวลาของอาเซียน หรือจะก้าวขากลับไปใช้ระบบเดิมที่เหมาะสมกับตัวเอง?


 

โหวตเลย! ไม่เห็นด้วย เปลี่ยนแล้ว “ดี” ไม่พอ

“ข้อดีอย่างเดียวที่เราเห็น ณ ตอนนี้คือ เด็กมีโอกาสที่จะไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปมากขึ้น จากการเปิด-ปิดเรียนให้ตรงกันกับอาเซียน”
 
ผศ.เมธา เสรีธนาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยวิเคราะห์จากประสบการณ์ตรงในฐานะอาจารย์ท่านหนึ่ง แม้จะไม่สามารถเป็นตัวแทนของรั้วจามจุรีได้ทั้งหมด แต่มั่นใจว่าเหตุผลในส่วนนี้ก็หนักแน่นและสำคัญเพียงพอต่อระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่กำลังสั่นคลอนอยู่ในขณะนี้
 
ถ้าให้พิจารณาในด้านบวกแล้ว แน่นอนว่าการเลือกเปิดเทอมให้ตรงตามกลุ่มประเทศอาเซียน ช่วยผลักให้นักศึกษาในบ้านเราและเพื่อนบ้านได้แลกเปลี่ยนวิทยาการและความรู้ต่อกันและกันได้มากขึ้นหลายเท่าตัว แต่ถ้าให้พิจารณาจากเฉพาะวิชาชีพทางนิเทศศาสตร์แล้ว ยังไม่ค่อยเห็นความแตกต่างอย่างสำคัญเท่าใดนัก
 
ความน่าสนใจมันอยู่ที่เรามีโอกาสได้เห็นหลายๆ มหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ ว่าเขามีวิทยาการที่ก้าวล้ำกว่าเราไปขนาดไหนแล้ว แต่ถ้าพูดถึงแค่ทางนิเทศศาสตร์ ผมว่ามีอยู่แค่บางมหาวิทยาลัยเท่านั้นเองที่ล้ำ เลยไม่แน่ใจว่าจะได้ประโยชน์จากจุดนี้มากน้อยแค่ไหน หรือถ้าจะไปแลกเปลี่ยนเพื่อฝึกภาษาอย่างเดียว ก็อาจจะไม่จำเป็น เพราะถึงจะบอกว่าตรงนี้เป็นข้อดีของการเปลี่ยนเทอมให้เป็นแบบอาเซียน แต่มันก็เป็นข้อดีข้อเดียว ซึ่งก็ไม่ได้ดีแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วย”

ส่วนข้อเสีย ไม่ต้องคอยกระตุ้นให้หาคำตอบ อาจารย์ก็ตอบออกมาได้เป็นพรวน โดยเฉพาะผลกระทบจากช่วงเวลาเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปจนส่งให้ช่วงที่ควรเรียนไม่ได้เรียน ช่วงที่ควรพักกลับต้องมาคร่ำเคร่งกันแบบไม่ลืมหูลืมตา จากเดิม เปิดตอน มิ.ย.-ต.ค. และจะเปิดเทอมสองอีกทีช่วง พ.ย.-มี.ค. จะได้เรียนกันอย่างเต็มที่ มีช่วงวันหยุดที่จะมารบกวนการเรียนการสอนแค่ช่วงปีใหม่แค่นั้น แต่พอเป็นระบบใหม่จะกระทบมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“เปลี่ยนเป็นเปิดเทอมแรกตอน ส.ค.-ธ.ค. ซึ่งช่วงเดือน ธ.ค.มีวันหยุดเยอะ ทั้งวันพ่อ วันรัฐธรรมนูญ ไหนจะหยุดปีใหม่อีก แถมช่วงเดือนสุดท้าย เป็นช่วงใกล้สอบด้วย แทนที่ช่วงปลายปีจะเป็นช่วงได้ผ่อนคลาย เตรียมรับความสุข จากจุดนี้เองที่มันส่งผลต่อความรู้สึกไม่อยากเรียนหนังสือของเด็กๆ เยอะพอสมควร เพราะบรรยากาศมันไม่เอื้อต่อการเรียน

พอมาช่วงเทอมสอง ที่เปิดเรียนตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. เท่าที่ผ่านมา จะสังเกตได้เลยว่าช่วงเดือน เม.ย.แทบหานิสิตไม่เจอเลย เขาหายไปไหนหมดไม่รู้ ในขณะที่การเรียนการสอนเราก็ต้องจัดอย่างต่อเนื่อง หลังจากหยุดยาวสงกรานต์ อาจารย์ก็ต้องมาบิวต์ความรู้สึกนักศึกษากันขึ้นมาใหม่อีก เลยไม่รู้ว่าตกลงแล้วจะยังไงกันดี


ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กโดยตรงที่เห็นได้ชัดๆ เลยก็มีเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องการฝึกงานของนิสิตชั้นปีที่ 3 ในภาควิชาการสื่อสารมวลชน (วิทยุ-โทรทัศน์) ที่จะมีฝึกงานอยู่ 2 ช่วงคือ ช่วงแรกฝึกตอนปิดเทอมใหญ่ซึ่งยังไม่ค่อยกระทบอะไรมาก กับอีกช่วงคือช่วงปิดเทอมเล็ก (ปลายเดือน ธ.ค.-ต้น ม.ค.) ที่กระทบมากๆ มันทำให้เด็กที่ไปขอฝึกงานแทบจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย เพราะช่วงนั้นสถานที่ฝึกงานเขาจะรีบเร่งเรื่องการทำสต๊อกงาน

ถามว่าทำไมเราไม่ย้ายฝึกงานย่อยนี้ไปไว้หลังนิสิตจบปี 4 แล้ว เพราะเรามองว่า ณ เวลานั้นมันไม่น่าจะเป็นช่วงของการฝึกแล้วครับ แต่เป็นช่วงที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานแล้วจริงๆ การฝึกงานตรงนี้มันทำให้เขาได้ประสบการณ์บางอย่างเพื่อจะมาเป็นไอเดียในการเรียนต่อในเทอมสอง ทำโปรเจกต์ของตัวเองต่อไป หรือแม้แต่ช่วงเทอมปลาย ที่จะมีช่วงหยุดยาวสงกรานต์ ถึงเราจะมอบหมายให้นิสิตทำโปรเจกต์ช่วงหยุดด้วย แต่เขาก็ติดต่อใครไม่ได้เพราะคนอื่นเขาก็หยุดช่วงนั้นกันหมด เรียกว่าจังหวะเวลามันไม่ลงตัวจริงๆ ครับ

ข้อดีเพียงข้อเดียวคือเรื่องการแลกเปลี่ยนนักเรียนกับอาเซียน เพราะถ้าไปมหาวิทยาลัยที่เป็น MoU (A Memorandum of Understanding) กัน มีข้อตกลงร่วมกัน ก็จะได้รับการยกเว้นค่าเทอมไป เด็กจะรับผิดชอบแค่ค่ากินอยู่เอง ทำให้เปิดกว้างเรื่องการแลกเปลี่ยนกับทางอเมริกา, ยุโรป และประเทศในอาเซียนที่เขาสนใจได้ แต่ถ้าจะไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นกับจีนก็ไม่ได้นะครับ เพราะเขาไม่ได้เปิด-ปิดเทอมตรงกับเรา

ถ้าให้เลือกจริงๆ ผมขอโหวตให้กลับไปใช้เทอมแบบเก่าดีกว่า ด้วยเหตุผลทางการศึกษา ผมว่ามันไม่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ตราบใดที่ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) เขายังไม่เปลี่ยน ถ้าทางโรงเรียนยังเปิดเทอมเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนตามเทอมอาเซียนด้วย มันก็จะมีช่วงหยุดยาวมากก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ช่วง มี.ค.-ส.ค. ประมาณ 5 เดือนนั้น ถามว่าเด็กจะเอาไปใช้ทำอะไร?


 

ถ้าอยากจะเปลี่ยน ปรับเทอมโรงเรียนให้เหมือนกัน!

ไม่ใช่แค่นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเทอมที่ปรับเปลี่ยนใหม่นี้ แต่ภาพรวมของคณะครุศาสตร์ก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน รศ.พชรวรรณ กันทรางสูตร อาจารย์พิเศษ ประจำศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ บอกเลยว่า “ไม่เห็นด้วย” กับการปรับเปลี่ยนการเปิดและปิดภาคเรียนให้ตรงกับกลุ่มอาเซียน เพราะมันก่อให้เกิดปัญหานานัปการอย่างแท้จริง

“ระยะเวลาที่รับปริญญา ปกติเรารับเดือน ก.ค. แต่ตอนนี้เราต้องเลื่อนไปรับเดือน ต.ค. และยังต้องปรับการสอนหลายๆ อย่างมากๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ไม่เห็นด้วยเลยค่ะที่เราจะไปเปิดเรียนตามอาเซียนเขา ในเมื่อของเราแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว ยิ่งคณะครุศาสตร์ยิ่งเป็นปัญหาค่ะ พอมหาวิทยาลัยเปลี่ยนมาเปิดตามอาเซียนปุ๊บ เด็กปี 4 ปี 5 ที่จะต้องไปฝึกประสบการณ์ด้านวิชาชีพก็ต้องไปฝึกสอนในโรงเรียน ในขณะที่โรงเรียนก็ต้องเปิดเรียนตามปกติ กลายเป็นว่าเทอมของเด็กในโรงเรียนกับนิสิตของเราไม่ตรงกัน ทำให้การจัดรายวิชาประสบการณ์วิชาชีพครูตัวนี้เป็นปัญหาหนักเลยค่ะ

ส่วนตัวแล้วมองว่า การเปิดเรียนให้ตรงกันกับอาเซียนไม่ได้ช่วยให้คอนเน็กกันได้ง่ายขึ้นขนาดนั้นนะคะ แต่ก็เห็นด้วยว่าประเทศเราควรจะเปิดตัวเองไปสู่อาเซียน เปิดโลกทัศน์ของเด็กเราให้ไม่อยู่แต่ในบ้านตัวเอง แต่มันยังมีวิธีที่เราจะเปิดตัวเองไปสู่อาเซียนได้อีกค่ะ อย่างเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ตอนที่ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้ากิจกรรมนิสิต ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมให้ทางจุฬาฯ เราก็เคยพานิสิตไปแลกเปลี่ยนที่ลาว เราก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องรอให้เปิดเทอมพร้อมกัน ตอนที่เขาเปิดเทอม เราไปตอนปิดเทอมก็ยิ่งสะดวกใหญ่ จะได้ไม่ต้องไปเบียดบังเวลาเรียนในภาคเรียนปกติของเราเอง

การเปิดโลกทัศน์ในกลุ่มอาเซียนเป็นเรื่องที่ดีค่ะ มันทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรม สร้างจิตสำนึกของความเป็นพี่เป็นน้องกัน มหาวิทยาลัยจุฬาฯ เองก็มีการแลกเปลี่ยนกันกับมหาวิทยาลัยดงดกของทางลาวด้วย ครูที่มหาวิทยาลัยที่นั่น เขาก็มาเรียนกับเรา มาเป็นผู้ช่วยครูที่คณะครุศาสตร์กันแล้วก็กลับไปสอน แลกเปลี่ยนสิ่งดีๆ ให้แก่กัน ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในอาเซียนที่ได้ผลดีมากๆ


ดร.การดี เลียวไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการศูนย์ซีอาเซียน คืออีกหนึ่งเสียงที่อยากช่วยสะท้อนให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนภาคเรียนระดับอุดมศึกษา โดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงในระดับมัธยมหรือประถมศึกษาไปด้วย มันทำให้เกิดช่องว่างที่ก่อให้เกิดปัญหาได้มากกว่าที่คาดคิด ส่วนเรื่องจะใช้ระบบเก่าหรือระบบใหม่นั้น ไม่ขอออกความคิดเห็น ขอแค่ถ้าเลือกแบบไหนแล้วก็ควรทำให้เหมือนกันไปทั้งระบบการศึกษา

“เรื่องที่มหาวิทยาลัยเปิดภาคเรียนตามอาเซียนนั้น โดยตัวของมันเองไม่ได้มีประเด็นอะไรเท่าไหร่ค่ะ เพราะจริงๆ แล้วมันคือการเปิดให้ตรงกับระบบสากลมากกว่า แต่ที่ไม่เข้าใจคือ ไม่เข้าใจว่าในเมื่อระบบมหาวิทยาลัยปรับ แต่ทำไมระบบโรงเรียนไม่มีการปรับด้วย ถ้าจะปรับก็ควรปรับทั้งหมดเลย มันจะได้เชื่อมต่อกันไป มันทำให้เวลาจะการจัดการศึกษาหรือการทำกิจกรรมอะไรที่ต้องการการเชื่อมต่อระหว่างเด็กมัธยมกับเด็กมหาวิทยาลัย มันเป็นไปด้วยความยากลำบาก และถ้าจะปรับให้โรงเรียนเปิดตามอาเซียนด้วย คิดว่าไม่น่าจะกระทบอะไรนะคะ อาจจะกระทบแค่ตอนปรับแค่ครั้งเดียว แล้วหลังจากนั้นก็น่าจะดำเนินต่อไปเองได้

ส่วนเรื่องการปรับเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน ส่วนตัวแล้วไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่เรื่องในกลุ่มอาเซียนค่ะ แต่มองว่ามันคือการปรับตามสากลโลกเขามากกว่า เพราะเราก็เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนตอน ม.6 ที่ต้องกลับมาซ้ำชั้น ม.6 ที่ไทยอีกรอบ เพราะกลับมาเรียนไม่ทันและต้องรอไปอีกปีหนึ่ง สำหรับบางคนนั่นคือการเสียเวลา แต่ตอนนั้นเราก็ใช้ช่วงเวลานี้เตรียมตัวเพื่อเรียนต่อเมืองนอกค่ะ แต่มันคงจะดีกว่าถ้าเทอมมันตรงกัน และนักเรียนที่ไปแลกเปลี่ยนสามารถกลับมาเรียนต่อได้เลย จะได้ไม่เสียเวลา ไม่เปลืองตังค์ค่าเทอมด้วย”


 

มองให้ไกล อย่าคิดถึงแค่ผลประโยชน์ในประเทศ!

นี่คือโอกาสพิสูจน์ความเป็นผู้นำของไทย! รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะเกี่ยวกับประเด็นเดือดเอาไว้อย่างนั้น ถึงแม้จะไม่ได้พูดในฐานะตัวแทนของรั้วแม่โดมอย่างเป็นทางการ แต่คำตอบที่ว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบาย ควรให้เป็นไปตามความเห็นชอบของที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ” น่าจะเป็นคำตอบอ้อมๆ ว่าขณะนี้แนวโน้มน่าจะออกมาเป็นไปในทิศทางใด และบรรทัดต่อจากนี้คือภาพรวมที่อาจารย์ช่วยวิเคราะห์เอาไว้

“พอเราจะรวมกันเป็นอาเซียน เรื่องใหญ่ของแวดวงการศึกษาก็คือจะก่อให้เกิดการไหลเวียนถึงกันของนักศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน เพราะฉะนั้น ประเทศไทยในฐานะที่ด้านหนึ่งเป็นศูนย์กลางในเรื่องของโลเกชัน เป็นแถวหน้าในการผลักดันในเรื่องอาเซียนมาโดยตลอด เราจึงน่าจะอำนวยความสะดวกให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นกับบรรดานักศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน

ปัจจุบันนักศึกษาที่มาจากกลุ่มประเทศเข้ามาแลกเปลี่ยนในประเทศไทยเยอะขึ้นเรื่อยๆ พอมีการปรับตารางการเปิด-ปิดให้สอดคล้องกันจะช่วยให้เกิดการร่วมมือในการพัฒนานักศึกษาทั้งภูมิภาคได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มันไม่ได้ทำให้เราลำบากมากขึ้นไปกว่าเดิมเท่าไหร่ มันก็จะเอื้อให้เราได้มีบทบาทของความเป็นผู้นำ แทนที่จะไปคิดถึงเฉพาะประเทศของเรา พอเรารวมเป็นอาเซียน มันต้องคิดถึงอะไรที่ใหญ่กว่าประเทศของเราแล้วครับ ต้องคิดถึงภูมิภาค ต้องคิดถึงประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่เราควรทำ

ตอนนี้มีปัญหาอยู่เรื่องเดียวคือ ภาคการเรียนมันไม่สอดรับกับฤดูกาล เพราะเดิมทีเราเปิด-ปิดตามฤดูกาล เช่น ปิดในช่วงหน้าร้อนเพื่อให้เด็กๆ ได้หยุดไปทำอย่างอื่น แต่พอเราเปลี่ยนตามอาเซียน จะทำให้ช่วงบางช่วงที่เราเคยหยุดแล้วมากลายเป็นว่า เราต้องไปเรียนในช่วงนั้น ส่วนตัวคิดว่ามันจะเป็นประเด็นเรื่องของปรับตัว แต่ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะเรื่องใหญ่ของเราคือการเอื้อให้เกิดความร่วมมือและพัฒนานักศึกษาร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียนต่างหาก

ดังนั้น เวลาเราพูดเรื่องพวกนี้ เราอย่ามองเฉพาะตัวของเรา ประเทศของเรา เราควรจะมองทั้งภูมิภาค ถ้าเราอยากจะเล่นบทบาทความเป็นผู้นำในอาเซียน การคิด การทำอะไรจากนี้ไป จะคิดแค่ตัวเราไม่ได้ ต้องคิดว่ามันจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนในภูมิภาคได้แค่ไหน นี่คือสิ่งที่เราควรทำครับ


ส่วนเรื่องช่องว่างระหว่างรอยต่อระดับมัธยมศึกษากับอุดมศึกษาที่ยาวนานถึง 5 เดือนนั้น อาจารย์มองว่าไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจ แต่ถือเป็นผลดีเสียมากกว่าที่จะมี Gap Year ให้เด็กที่ตั้งหน้าตั้งตาเรียนมาหลายปีได้พักบ้าง

“คือเราต้องมองแบบนี้ว่า นักเรียนบ้านเราเรียนกันหนักหนาสาหัสมาก พอถึงเวลาก็ต่อเข้ามหาวิทยาลัยไปเลย ดังนั้น ผมว่าดีนะ ไม่คิดว่าจะเป็นโทษอะไร เพราะจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนจากเรียนในระบบ ให้เด็กได้ไปทำอะไรต่อมิอะไรที่เป็นประโยชน์ในชีวิตของพวกเขาในวงกว้างมากกว่าที่จะเรียนในห้องเรียนอย่างเดียว ถึงวันนี้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา ซึ่งมันไม่ใช่การก้มหน้าก้มตาเรียนจนจบมหาวิทยาลัยแล้วค่อยออกมาสู่โลกภายนอก ส่วนตัวคิดว่าวิธีคิดแบบนี้มันทำให้เราก้าวไม่ทันประเทศอื่นๆ

ถามว่าเราควรปรับภาคเรียนของโรงเรียนให้เป็นแบบเดียวกันไหม ผมว่าความร่วมมือในระดับมหาวิทยาลัยในอาเซียนมันเกิดขึ้นมาได้พักใหญ่ๆ แล้ว ซึ่งมันง่ายต่อการปรับเปลี่ยนมากกว่า และสามารถเอื้อประโยชน์ต่อกันและกันดี มันทำให้การแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศทำได้ง่ายขึ้นเยอะครับ ซึ่งประโยชน์ตรงนี้จะตกกับตัวเด็กเอง ทำให้พวกเขาสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้เต็มที่ ปัจจุบันบ้านเรามีเด็กที่เตรียมตัวไปแลกเปลี่ยน ต้องเรียนแบบครึ่งๆ กลางๆ ประมาณว่าทางนี้ก็เรียนไม่ได้เต็มที่ ทางนู้นก็ไม่ได้เต็มที่ แต่ถ้ามีการปรับให้ตรงกัน เด็กก็ได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ที่สุด

แต่การปรับเปลี่ยนอะไรแบบนี้ควรทำกับในระบบโรงเรียนด้วยไหม ผมก็ไม่รู้ว่าผู้เกี่ยวข้องเขาจะเห็นความสำคัญเรื่องการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียนจนคิดว่ามันมีความสำคัญที่ต้องปรับเปลี่ยนอย่างในมหาวิทยาลัยด้วยหรือเปล่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องนโยบายครับ ถ้าพูดถึงแค่ในระดับมหาวิทยาลัย ถ้าหากว่าที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเห็นชอบตรงกัน ส่วนตัวคิดว่าก็น่าจะเดินไปตามนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

สำหรับผม การเปิด-ปิดตรงกันในอาเซียน มันจะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนานักศึกษาและการแลกเปลี่ยน ตั้งแต่ในระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับทวีป พูดง่ายๆ ก็คือคนของเราก็ไปที่อื่นสะดวก ส่วนคนของเขาก็มาบ้านเราสะดวกด้วย เมื่อมีการแลกเปลี่ยนกันเกิดขึ้น ยิ่งมีความหลากหลายในตัวนักศึกษา คนก็จะมีความคิดความอ่านที่กว้างขวาง มีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง ก็จะยิ่งช่วยให้เกิดการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ได้ดีมากขึ้น


ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- ฟังกระแส “เห็นด้วย” ยกเลิกเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน!!!
- ยังยุ่งเหยิง! เปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน ประจานการศึกษาไทย
- ผลพวง ดี หรือ เสีย ปรับเวลาเปิด-ปิดเทอมรับอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น