การปลอมแปลงตัวตนบนโลกออนไลน์กลายเป็นปัญหาที่เกิดมากขึ้น บางกรณีถึงขั้นหลอกให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ แต่กับกรณีล่าสุดที่เป็นกระแสของเพจปลอมของตัน ภาสกรนที กลายเป็นประเด็นวิพากษ์ถึงการขาดวิจารณญาณในการแชร์ข้อมูลต่างๆ
หลังจากเพจดังกล่าวปิดตัวลงกลับเกิดเพจลักษณะคล้ายกันเพิ่มมากขึ้นอีกมหาศาล ไม่นานจากนั้นเมื่อโน้ส อุดมประกาศกำหนดการแสดงเดี่ยวครั้งต่อ เพจปลอมของเจ้าตัวก็กลับมาระบาดและเพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะที่เพจปลอดของดาราคนดังอีกมากมายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด บ้างก็ร้ายแรงถึงขั้นนำมาใช้ในการหลอกลวง ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนอาศัยอยู่ในเสมือนไม่ต่างจากโลกจริงยิ่งท่าทายวิจารณญาณในการรับข้อมูล แต่ดูเหมือนผลที่เกิดกลับตรงกันข้าม
ตัวตนปลอมก่ออาชญากรรม
ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์พบสูงขึ้นจากยุคสมัยที่ผู้คนเริ่มใช้ชีวิตกับเทคโนโลยีมากขึ้น และมีรูปแบบที่หลากหลายตั้งแต่การปลอมแปลงแอบอ้างตัวตนเพื่อหลอกให้อีกฝ่ายโอนเงิน โดยมีกรณีคนดังที่ถูกแอบอ้างมากมายปรากฏเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ และมีการแอบอ้างหาผลประโยชน์ที่แตกต่างกันไปหลายรูปแบบ
ตัวอย่างเช่น กรณี นุ่ม - วรนุช ถูกนำไปแอบอ้างในการทำธุรกิจ กรณีของตั๊ก บงกชที่มีแชตคุยกับบุคคลอื่นทำให้เสียชื่อเสียง โดยมีกรณีที่ร้ายแรงคือกรณีของแฟนเพจปลอมของโน้ส - อุดม ซึ่งมีการเรี่ยไรลูกเพจโดยใช้ชื่อเสียงของเจ้าตัวแอบอ้างทำให้มีผู้บริจาคเงินเข้ามาก จนต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีโดยที่เจ้าของเฟซบุ๊กปลอมขู่ให้เจ้าของจ่ายเงินสูงถึง 1. 5 แสนบาทในการหยุดดำเนินการ
จนถึงปัจจุบันหลายคนอัปเดตภาพตัวเองลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวมากมาย กลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพก่อเหตุนำภาพเหล่านั้นไปแอบอ้างได้ ล่าสุดมีกรณีของหญิงลี ศรีจุมพลนักร้องลูกทุ่งชื่อดังที่ถูกปลอมไลน์หลอกให้ศัลยกรรมโอนเงินสูงถึง 40,000 บาท ตามต่อมาด้วยกรณีพริตตี้ถูกนำภาพไปใช้ในการสนทนาไลน์แอบอ้างตัวหลอกให้คนโอนเงินมาให้โดยความเสียหายนั้นมีมูลค่ารวมสูงกว่า 1 ล้านบาท!
การปลอมแปลงเฟซบุ๊กที่พบมากในผ่านมามักจะเป็นเพจที่ทำออกมาคล้ายกับเป็นเพจของดาราคนดังแต่กลับนำมาใช้แชร์ต่างๆ ตามกระแสและเขียนพาดหัวลักษณะ click bait ล่อให้คนเข้ามาคลิก เมื่อคลิกแล้วจะปรากฏหน้าเว็บที่ไม่เกี่ยวกับข่าวแต่กลับเป็นหน้าเว็บที่ทำให้เกิดรายได้จากยอดคลิก ทั้งหมดนี้คือกระบวนการหารายได้ด้วยการแอบอ้างรูปแบบใหม่จากการทำเพจปลอม
ถึงตอนนี้กรณีเพจปลอมที่ได้รับความสนใจกันมากคือกรณีของตัน ภาสกรนทีที่ปัจจุบันมีการทำโปรโมชันโปรโมตด้วยการแจกสิ่งของต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไอโฟน 6 จนถึงรถเบนซ์ กลับถูกเพจปลอมแอบอ้างด้วยชื่อเพจที่พิมพ์ผิด ทั้งยังทำโปรโมชั่นปลอมแบบแจกแล้วแจกอีก แต่กลับมีผู้หลงเชื่อเข้ามาคอมเมนต์ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
โดยวิธีการรับมือเพจแอบอ้างนั้นมีตั้งแต่การรีพอร์ตไปทางเฟซบุ๊กเพื่อให้ลบบัญชีผู้ใช้หรือเพจดังกล่าวทิ้ง ส่งข้อความเจรจากับผู้จัดทำเพจโดยตรง หรือเก็บหลักฐานแจ้งความดำเนินคดี ทั้งนี้ผู้กระทำผิดอาจถูกดำเนินคดีในหลายข้อมูลด้วย
ตันตัวปลอมแยกร่าง
เพจแรกที่ตั้งต้นปรากฏการณ์หลอกลวงคนด้วยโปรโมชั่นแจกแหลกนั้น เริ่มที่เพจชื่อ ตัน พาไปสกลที ซึ่งมีการใช้รูปประจำตัวและภาพประกอบที่คล้ายกับต้นฉบับจนคนเกิดความเข้าใจผิด หลังจากเพจต้นฉบับมีการทำโปรโมชันแจกไอโฟนเพื่อให้คนช่วยแจ้งรายงานปิดเพจปลอมได้สำเร็จ เพจปลอมที่ทำการในลักษณะเดียวกันก็ผุดขึ้นราวดาวเห็ด
โดยการก่อเหตุลักษณะที่เกิดกับเพจ ตัน ภาสกรนทีดูจะมีลักษณะที่เป็นการหลอกผู้คนให้หลงเชื่อ หรือทำในลักษณะล้อเลียนเท่านั้น แต่จากกระแสที่ได้รับความนิยมก็ทำให้หลังจากเพจเริ่มแรกต้องปิดตัวจึงมีเพจที่ใช้ชื่อคล้ายกันเกิดขึ้นตามเป็นจำนวนมาก ยอดไลค์ของกระแสที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้นด้านหนึ่งก็อาจนำไปสร้างรายได้ให้กับเจ้าของเพจได้อีกด้วย
ปรากฏการณ์หนึ่งที่ถูกพูดถึงคือการใช้โปรโมชันแจกของเพื่อให้คนทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดในลักษณะที่ถูกเรียกกันว่า หวยชาเขียว มีลักษณะในการใช้ความโลภของผู้คนให้เป็นประโยชน์ คล้ายการพนันทางอ้อม จึงไม่แปลกหากเพจปลอมจะใช้สิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์ส่งให้จำนวนไลค์และแชร์ของเพจพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เคยถึงขั้นออกมาเตือนให้รัฐบาลหันมาออกมาตรการควบคุมรางวัลเสี่ยงโชคของบรรดาเครื่องดื่มชาเขียว โดยเขามองว่า รางวัลจูงใจมูลค่าสูงเหล่านี้มีเหมือนการพนันทางอ้อม
"ธุรกิจชาเขียวมีมูลค่าตลาดสูงถึงปีละ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาทบริษัทจึงใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการกระตุ้นยอดขาย จนกลายเป็นการมอมเมาประชาชน ทำให้ส่งเสริมพฤติกรรมการเสี่ยงโชคเป็นเรื่องที่น่าทดลอง เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ทำให้คนเชื่อว่าสามารถได้สิ่งที่ต้องการโดยง่าย สนุก ไม่เหนื่อยไม่ต้องทำงาน รอคอยโชควาสนา หากไม่ควบคุมเชื่อว่าสินค้าหลายตัวจะนำกลยุทธ์เช่นนี้ไปใช้จนกลายเป็นปัญหาของสังคมไทยได้"
บทเรียนจากเพจปลอม
ปรากฏการณ์ตัวตนปลอมบนโลกออนไลน์ที่มีมากขึ้น กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช หัวหน้าภาควิชาสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่าสิ่งนี้ส่งผลเสียต่อเจ้าของตัวจริงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเหล่าคนดังที่ต้องให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเองต่อสาธารณชน
“ตอนนี้ผู้บริโภคหลายคนที่ถูกหลอกให้แชร์เพจปลอมไป เริ่มรู้ตัวแล้วเกิดอาการขยาด ไม่กล้าแชร์อะไรง่าย ๆ อีกต่อไป เข้าทำนองว่าเสียหน้ามาก พอรู้ว่าพลาดไป ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าของเฟซบุ๊กจริงเอง ก็จะใช้กลวิธีให้คนแชร์ภาพเพื่อทำอะไรแบบเดียวกันนี้อีกไม่ได้เช่นกัน”
เขามองการเกิดขึ้นของเพจปลอมในกรณีของตัน ภาสกรนทีว่ามาจากความนิยมที่คนมีต่อโปรโมชันแจกของที่เพจจริงทำไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยเป็นกระแสที่เกิดในลักษณะตีกลับ
“เฟซบุ๊กปลอมที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนกระแสตีกลับ จากพฤติกรรมที่เจ้าของสินค้าเองชอบส่งเสริมให้คนแชร์เพื่อลุ้นโชคของคนไทยด้วย”
ในฐานะนักการตลาด เขาเห็นว่า โปรโมชันแบบเดิมนั้นอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“เพจต้นฉบับควรเปลี่ยนกลยุทธ์ลดละเลิกการแจกของในเฟซบุ๊กแบบเดิมๆ เพราะถ้าไม่เลิกก็จะโดนคนย้อนเกล็ดแบบนี้อีกอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ในประเด็นทางด้านจริยธรรม ผู้ที่ทำเพจปลอมเองก็ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการทำให้คนอื่นเข้าใจผิด ไม่ต่างอะไรกับการหลอกลวง ถึงแม้ว่าคำพูดจะบอกว่าแจกไฟล์รูปภาพ ไม่ได้แจกของในรูปจริงก็ตาม”
ด้านการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น การที่เพจต้นฉบับเริ่มเตือนผู้บริโภคถือเป็นสิ่งถูกต้องแล้ว เพราะการทำเพจปลอมนั้นอาจสร้างความเสียหายจากการแอบอ้างเพิ่มเติมได้
“ในส่วนของเพจต้นฉบับก็ทำถูกแล้วที่ออกมาเตือนให้ผู้บริโภคระวังเพจปลอม เพราะอาจจะมีคนทำเพจปลอมเพื่อหลอกมากกว่าแค่ให้ขายหน้า เป็นการหลอกเอาเงิน หรือ หลอกให้โอนเงินอ้างว่าเป็นค่าภาษีของรางวัลเลยก็ได้”
ในส่วนของการหลงเชื่อที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดายนั้น ส่วนหนึ่งเขามองว่ามาจากการที่ผู้บริโภคทั่วไปหวังจะรวยทางลัดด้วยการลุ้นโชค ทำให้ไม่มีการตรวจสอบและพิจารณาอย่างรอบคอบ
“เดิมผู้บริโภคส่วนมากกลายเป็นคนหวังรวยทางลัดง่าย ๆ ด้วยการลุ้นโชค ทำให้พอมีแฟนเพจปลอมมาบอกว่า ให้แชร์แล้วจะลุ้นโชค ก็แชร์เลย ไม่ได้ตรวจสอบหรือพิจารณาอะไรให้ดี หวังจะได้โชคเพียงอย่างเดียว จนความโลภบังตา คำผิดก็มองไม่เห็นเพจปลอมเหล่านี้จึงยิ่งมีคนถูกหลอกมากดไลค์ กดแชร์มากขึ้นเรื่อยๆ”
หากมองเฉพาะกรณีนี้ เขาเห็นว่าภาพลักษณ์ของตัน ภาสกรนที นั้นเริ่มได้รับนิยมน้อยลงกว่าแต่ก่อน จากกรณีเกลือหิมะเทียมที่จังหวัดเชียงใหม่ และการส่งเสริมให้คนลุ้นโชคใต้ฝาชาเขียวอย่างต่อเนื่อง จนถึงการแจกของผ่านแฟนเพจและไอจี จนเกิดกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่ชอบการทำตลาดด้วยวิธีดังกล่าวและสร้างเพจล้อเลียนขึ้นมาหลากผู้แสวงโชคคนอื่นๆ
“ควรดูแลภาพลักษณ์และฟังเสียงผู้บริโภค โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ให้ดี เดี๋ยวนี้การฟังเสียงผู้บริโภค และ มีเครื่องมือในการเก็บข้อมูลที่ผู้บริโภคพูดถึงเรา ถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เราเรียกว่า Social Listening นักการตลาดยุคใหม่ ๆ ต้องให้ความสำคัญกับเครื่องมือเหล่านี้ (Social Media Monitoring Tools) ก่อนที่จะเกิดความเสียหายจนยากที่จะกู้ภาพลักษณ์คืนมา”
…
เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้การปลอมแปลงตัวตนบนโลกออนไลน์สามารถทำได้ง่ายขึ้น การตกเป็นเหยื่อจึงเกิดขึ้นได้กับทุกคน หลักการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลจึงสำคัญยิ่งกับสิ่งลวงตาเสมือนที่พบเจอได้มากขึ้น และท่าทายวิจารณญาณในการรับส่งข้อมูลกันมากกว่าทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!! และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.comหรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754