ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจที่กำลังคุกคาม "ธุรกิจสิ่งพิมพ์" บวกกับการเติบโตของโซเชียลเน็คเวิร์ค และสื่อดิจิตอลที่กำลังเข้ามาแทนที่เรื่อยๆ ทำให้พฤติกรรมเสพสื่อผู้บริโภคเปลี่ยนไป สั่นสะเทือนถึงนิตยสารหลายเล่มจนต้องเข้าสู่อาการ "อ่วมอรทัย" แม้มีการรัดเข็มขัดแน่นหนา แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อคลื่นลมกรรโชกแรงจนเริ่มประคองตัวเองต่อไปไม่ไหว นิตยสารบางเล่มจึงส่อแววว่าจะปิดตัวลง ส่วนอีกหลายเล่มกำลังจะมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เท่าที่มีการยืนยันออกมาชัดเจนก็คือ นิตยสารดิฉัน ดีเดย์ปรับเป็นรายเดือนกรกฎาคมนี้หวังลดต้นทุนการผลิต ส่วนนิตยสารลิปส์ มีการปรับโฉมใหม่ ทำฟรีก๊อบปี้เสริม 2 เล่ม ในขณะที่สื่อยักษ์ใหญ่อย่าง "แกรมมี่ พับลิชชิ่ง" ยังคงยืนหยัด พร้อมปรับกลยุทธ์ตามกลุ่มคนอ่าน
ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live มีโอกาสได้นั่งคุยกับ "ลายคราม เลิศวิทยาประสิทธิ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม อินเตอร์ พับลิชชิ่ง จำกัด บริษัทในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนิตยสาร Madame Figaro, Her World, MAXIM, Attitude และ IN Magazine ถึงยุทธศาสตร์การประคองตัวเองอย่างมั่นคง พร้อมยืนหยัด แม้สื่อใหม่กำลังรุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็ว และยากที่จะหลีกหนีพ้น
แน่นอนว่า ช่วงระยะหลังๆ มีการพูดกันมาว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารกำลังจะตาย ซึ่งบางเล่มก็มีข่าวปิดตัวไปบ้างแล้ว ในฐานะผู้บริหารนิตยสารไลฟ์สไตล์ชั้นนำหลายเล่ม "ลายคราม" ยืนด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า "นิตยสาร" ยังไม่ถึงกาลอวสานในเร็วๆ อย่างแน่นอน
"นิตยสารไม่ตายง่ายๆ ค่ะ ตราบใดที่ตัวสื่อเองไม่หยุดนิ่ง และมีการปรับตัวให้เข้ากับสื่อใหม่อยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงลูกค้าที่เป็นผู้กุมเม็ดเงินในการลงโฆษณา ซึ่งพวกเขามีความต้องการในการกระจายสินค้าหลากหลายช่องทางมากขึ้น ดังนั้นตัวนิตยสารต้องมีช่องทางในการจำหน่ายเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคน ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงคนที่ยังหลงใหลในรูปเล่ม หรือแผ่นกระดาษ ซึ่งอย่างหลังจะเป็นต้นตอของการนำไปสู่การดาวน์โหลด ถ้าเราไม่มีตัวนี้ ไม่มีการวางแผง ไม่ให้คนเห็น มันก็ลำบาก เพราะฉะนั้นเราต้องทำสองทาง"
นอกจากนั้น ความจำเป็นในการอยู่รอดของนิตยสารยุคนี้ "อีเวนต์" คือความสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้ตัวหนาๆ "เราต้องเสริมด้วยการให้ลูกค้าที่ลงโฆษณาขายของได้ วิธีก็คือ ใส่อีเวนต์เข้าไป" ผู้บริหารหญิงเก่งบอก และพยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของสื่อนิตยสารที่จะต้องสร้างการจดจำในความรู้สึกของแพลนเนอร์และลูกค้า
ดังนั้น ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดนิตยสารที่ค่อนข้างสูง รวมถึงการเข้ามาของสื่อใหม่ "กิจกรรม" คือการสร้างความนิยมให้กลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสได้เห็นโฆษณาที่ลูกค้าต้องการสื่อ ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่า ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อโฆษณาสื่อสิงพิมพ์หรือไม่
"การจัดกิจกรรม หรืออีเวนต์ เราเอาลูกค้าเข้ามาร่วม ลูกค้าก็จะได้ชื่อเสียง จะได้กลุ่มเป้าหมาย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเลือกลูกค้าที่สามารถจะเข้ามาอยู่ในกลุ่มเป้าหมายเดียวกับสื่อของเรา ซึ่งเขาก็จะมีความผูกพันกับนิตยสารของเรา เวลาจัดอีเวนต์ หรือกิจกรรมอะไร เขาก็พร้อมใจสนับสนุนเรา
ถ้ามองให้เป็นศิลปะ มันคือการเชื่อมโยงกันไปหมด พอมองแบบนี้เราเอาธุรกิจเข้าไปควบรวมให้มันราบเรียบ ราบลื่น แล้วทำให้เกิดประสิทธิผล ทำให้มันเกิดการขาย หรือทำให้มันเกิดการอยู่รอดไปด้วยกัน ผิดกับเมื่อก่อนที่ไม่ต้องทำกันถึงขนาดนี้ ทำคอนเทนต์หรือเนื้อหากันอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ละ ทุกอย่างมันต้องรวมไปด้วยกันทั้งเนื้อหา และการทำการตลาด ซึ่งลูกค้าเองก็อยู่รอด ตัวสื่อก็อยู่รอด"
เมื่อถามถึงการลงโฆษณาในนิตยสารว่าลดลงอย่างมีนัยะหรือไม่ ผู้บริหารหญิงเก่ง ยอมรับว่ามี แต่คงไม่ใช่แอดติจูดเล่มเดียว เกือบทุกเล่มคงจะประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะทุกคนอยู่ในยุคที่งบประมาณการลงโฆษณามันลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ดังนั้น นอกจากเป็นสื่อที่ต้องเข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุม รวดเร็ว ทำหน้าที่โปรโมตสินค้า-บริการได้โดยที่ราคาโฆษณาไม่สูงมากนัก ผู้บริหารนิตยสารไลฟ์สไตล์ชั้นนำ บอกว่า ต้องรู้จักบริหารงานให้ครบวงจรด้วย ยิ่งถ้ามี "สายป่านยาว" ด้วยแล้วยิ่งได้เปรียบ
"ทำให้มันถูกใจ ถูกเวลา ถูกสถานที่ ซึ่งมันไม่ง่ายนะ เพราะคนทำหนังสือเพียงลำพัง เขียนงาน ปิดต้นฉบับก็เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว ยังจะต้องมานั่งคิดอะไรแบบนี้อีกเหรอ แต่มันจำเป็นค่ะ กองบรรณาธิการกับฝ่ายการตลาดมันต้องไปด้วยกันค่ะ อย่างแอดติจูดเองเราก็มีชัดเจน แต่ถามว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้เราจะจ้างคนมากมายมาทำเฉพาะมันไม่ไหว บางงานเราก็ต้องทำกันเอง ทำกันด้วยความรัก"
ด้าน ธวัชชัย ดีพัฒนา บรรณาธิการนิตยสาร attitude เสริมในเรื่องความอยู่รอดของนิตยสาร โดยให้ความสำคัญกับคาแร็กเตอร์ของตัวนิตยสาร
"เรื่องคาแร็กเตอร์เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าความชัดจะทำให้กลุ่มผู้อ่านเดินเข้ามาหา อย่างนิตยสารแอดติจูด เราชัดมาก ในขณะเดียวกันเราก็เปิดกว้าง ผู้หญิง ผู้ชายอ่านได้หมด นอกจากนั้น ที่เราอยู่มาได้ต้องขอขอบคุณผู้อ่านที่ให้การสนับสนุน ถ้าไม่มีพวกเขาเราก็คงกลับบ้านเก่าไปแล้ว" บก.นิตยสารเกย์ชั้นนำบอก
ปัจจุบัน บริษัทฯ ไม่อยู่นิ่ง พยายามคิด และปรับตัวตลอดเวลา ทั้งจัดอีเวนต์ จัดโรดโชว์ เปิดอีแมกกาซีน โดยรายได้ส่วนใหญ่ยังคงมาจากการลงโฆษณาเป็นหลัก
"ส่วนค่าสมาชิกยังมีสัดส่วนน้อย เพราะผู้อ่านส่วนใหญ่จะขอเป็นคนเลือกปกนิตยสารเอง ไม่อยากสุ่มเสี่ยงที่จะจ่ายเงินล่วงหน้า 1 ปีแล้วเป็นปกอะไรก็ได้ โดยทั่วๆ ไปสมาชิกก็ราวๆ หลักพันค่ะ ซึ่งก็ไม่ได้เยอะอะไร ด้านการดาวน์โหลดอีแมกกาซีนถือเป็นรายได้เสริม ซึ่งเป็นอีกทางที่จะเพิ่มรายได้โดยไม่ต้องเสียค่าพิมพ์" ผู้บริหารหญิงเก่งบอก พร้อมย้ำทิ้งท้ายว่า "ถ้าไม่ทำอะไร ไม่เปลี่ยนไปตามโลก ก็คงอยู่ยาก"
เรื่องโดย : ASTVผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754