xs
xsm
sm
md
lg

อนิจจัง! "นิตยสารเมืองไทย" เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และค่อยๆ ดับไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป" คือสัจธรรมของโลก เช่นเดียวกับ "นิตยสารเมืองไทย" นอกจากจะต้องรับมือกับมรสุมเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องเผชิญกับพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภค และการเติบโตของโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมไปถึงสื่อดิจิตอลที่เข้ามาแทนที่เรื่อยๆ แม้หลายเล่มจะรัดเข็มขัดแน่นหนา แต่สุดท้ายก็ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนจนต้องประกาศ "ปิดตัว" ในที่สุด

ในปีที่ผ่านมา นิตยสารหลายเล่มต้องเจอคลื่นลมกระโชกแรงจนประคับประคองตัวเองไม่ไหว บางเล่มทยอยปิดตัวลง ในขณะที่อีกหลายๆ เล่มเรียกประชุมเพื่อการปรับตัวครั้งใหญ่

ที่สร้างความฮือฮา และดรามาหนักมาก เห็นจะเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือการ์ตูนยักษ์ใหญ่ในไทยอย่าง "วิบูลย์กิจ" ประกาศปิดตัวนิตยสาร "วิว่า ฟรายเดย์" การ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์ถูกลิขสิทธิ์เล่มแรกของไทย พร้อมขอยุติการตีพิมพ์การ์ตูนเล่มบางส่วนไปก่อน เนื่องจากยอดขายตก คนหนีไปอ่านแบบละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านออนไลน์ ดังนั้นจึงจำต้องปรับกลยุทธ์รุกตลาดดิจิตอล

ด้าน "นิตยสารเปรียว" หลังอยู่คู่วงการสิ่งพิมพ์ไทยมา 35 ปีเต็ม สุดท้ายก็ต้านไม่ไหว ประกาศตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2558 เช่นเดียวกับนิตยสารวรรณกรรม Writer ที่ประกาศหยุดพิมพ์ หลังทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 ตามมาด้วยนิตยสารในเครือ "ทีวีพูล" ของ "เจ๊ติ๋ม-พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย" ก็หนีไม่รอดมรสุมในครั้งนี้ โดยนิตยสาร "สตาร์นิวส์" วางแผงฉบับสุดท้ายเมื่อปลายปีที่แล้ว ส่วนนิตยสาร "ทีวีพูล" ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ หล่อเลี้ยงบริษัทมายาวนาน รวมไปถึงนิตยสาร "สไปซี่" ก็ปรับไปเป็นฟรีก๊อบปี้

ส่วนการเปลี่ยนแปลงในวงการนิตยสารเกมอย่าง "Play" ก็ประกาศยุติการพิมพ์ โดยมุ่งหน้าสู่ดิจิตอลแบบเต็มตัว ไม่เว้นแม้แต่นิตยสารทางเลือกอย่าง "Way" ที่ "อธิคม คุณาวุฒิ" บรรณาธิการบริหาร บอกว่า ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นทางธุรกิจ โดยปรับเวลาวางแผงจากทุก 1 เดือน เป็นทุก 4 เดือน ด้านเนื้อหาคอลัมน์ประจำในนิตยสารรายเดือนบางส่วนก็ถูกเคลื่อนไปสู่สื่อออนไลน์เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการอ่านของคนในยุคนี้


นอกจากนั้นในปีเดียวกัน ยังมีนิตยสารหลายเล่มปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ เห็นได้จาก "นิตยสารดิฉัน" มีการปรับตัวครั้งใหญ่ เลือกเปลี่ยนจากรายปักษ์เป็นรายเดือนหวังลดต้นทุนการผลิต ขณะที่ "นิตยสารลิปส์" มีการปรับโฉมใหม่ ทำฟรีก๊อบปี้ 3 ฉบับเพื่อเป็นช่องทางหารายได้จากโฆษณาเพิ่ม


ต่อมาในปี 2559 ดูเหมือนธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จะยังไม่ดีขึ้น แม้ย่างก้าวเข้าเพียงเดือนแรกของปี 2559 ค่ายโมโน กรุ๊ป ก็ตัดสินใจประกาศปิดนิตยสารแนววัยรุ่น Candy ลงในปลายเดือนมกราคม ตามมาด้วยนิตยสารแฟชั่น Volume โดยวางแผนในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นฉบับสุดท้าย หลังดำเนินธุรกิจมากว่า 12 ปี และที่สะเทือนวงการอย่างมากก็คือ นิตยสารแฟชั่นที่วางแผงมากว่า 27 ปี อย่าง "Image" ล่าสุดก็สร้างความฮือฮา เพราะประกาศยุติดำเนินการ โดยจะวางขายฉบับเดือนพฤษภาคมเป็นเล่มสุดท้าย


ส่วนนิตยสารอีก 5 เล่มในเครือเดียวกัน (บริษัท ทรีแดนซ์ โฮลดิ้ง จำกัด) อย่าง IN Magazine, Madame Figaro, Her World, MAXIM และ Attitude ยังคงดำเนินการต่อไป เนื่องจากตัวเลขขาดทุนยังน้อยกว่า และสามารถต่อยอดธุรกิจอื่นได้


เช่นเดียวกับ นิตยสาร Cosmopolitan สัญชาติอเมริกัน ฉบับภาษาไทยที่อยู่คู่แผงหนังสือเมืองไทยมาเกือบ 20 ปี "ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา" ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทในเครือนิตยสารดิฉันตัดสินใจใช้เวลาในการประชุมแจ้งพนักงานเพียงแค่ 5 นาที โดยประกาศหยุดผลิตนิตยสารดังกล่าวเป็นเล่มสุดท้ายในเดือนพฤษภาคมนี้ ทำให้ต้องกระเด็นหายไปจากแผงก่อนที่สัญญากับบริษัทแม่ในอเมริกาจะหมดลงในช่วงปลายปีนี้


นอกจากนั้น เมื่อเดือนที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ก็ได้ปรับลดพนักงานทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ออกจากนิตยสารดิฉัน ซึ่งเป็นนิตยสารไทยอายุยาวนานกว่า 15 ปี ไปกว่า 15 คนด้วย


ด้านยักษ์ใหญ่วงการนิตยสารอย่าง "GM" ที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้ต้องออกมาประกาศปรับรูปแบบใหม่ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากนักอ่าน พร้อมเสนอกลยุทธ์เอาดีด้านฟรีแม็กกาซีน และรุกสื่อออนไลน์


หลังจากนี้ เล่มไหนจะอยู่หรือไป หรือจะมีกลยุทธ์อะไรในการมาต่อสู้กับสื่อดิจิตอล และสื่อใหม่ต่างๆ คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ที่แน่ๆ "ถ้าไม่ทำอะไร ไม่เปลี่ยนไปตามโลก ก็คงอยู่ยาก"
นี่คือความจำเป็นที่บรรณาธิการนิตยสาร attitude เคยบอกไว้ถึงความอยู่รอด ก่อนจะเน้นย้ำว่า คนทำนิตยสารไม่ว่าจะระดับบริหาร หรือพนักงาน ต้องพยายามคิด และปรับตัวตลอดเวลา ทั้งจัดอีเวนต์ จัดโรดโชว์ เปิดอีแม็กกาซีน คล้ายกันกับหลักคิดของบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother&Care "โลกเปลี่ยน นิตยสารไม่จำเป็นต้องตาย แค่เราเปลี่ยนวิธีนำเสนอ"

...แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผู้คว่ำหวอดในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ท่านหนึ่งได้เคยบอกเอาไว้ว่า การทำนิตยสารในยุคแห่งความท้าทายนี้ นอกจากการ "ปรับตัว" และ "ปรับเปลี่ยน" แล้ว การหาแหล่งรายได้ใหม่ก็สำคัญเช่นกัน ส่วนจะหาจากไหน ด้วยวิธีอะไรนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับ "กึ๋น" ของผู้บริหารแต่ละคน




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น