ไปกันใหญ่! เมื่อคำว่า “แฟนคลับ” ไม่ได้มีไว้สำหรับการตามติดคนดังหรือเน็ตไอดอลอีกต่อไป แต่ลูกเด็กเล็กแดงอายุไม่ถึง 15 ดันเกิดอยากมีคนมาชื่นชอบเป็นของตัวเองบ้าง ถึงขั้นมีการ “รับสมัคร FC” ลงทุนแจกเบอร์โทร. ที่อยู่ และไอดีไลน์เอาไว้บนโลกออนไลน์ ขอแค่ได้มีคนตามเอาใจ กดไลค์ ซื้อของให้ ฯลฯ และอีกสารพัดกฎเกณฑ์ที่แต่ละคนตั้งเอาไว้ กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของเด็กน้อยที่หลงผิดจนถูกสังคมรุมประณามว่าเป็น “ขอทานออนไลน์”
“กฎเหล็ก” ที่ FC ของหนูต้องทำให้ได้!
“FC” คำนี้เป็นตัวย่อของคำว่า “Fanclub” ใช้เรียกเหล่าบรรดาแฟนคลับผู้ตามติดความเคลื่อนไหวของคนดังในวงการ ไม่ว่าจะเป็นเซเลบฯ ดารา หรือแม้แต่เน็ตไอดอล ส่วนแฟนคลับคนไหนจะมีวิธีการปฏิบัติต่อบุคคลผู้คลั่งไคล้ของตนเองอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยและวิธีการแสดงความรักของแต่ละคน
แต่วันนี้ คำว่า “FC” ในนิยามของเด็กไทยบนโลกโซเชียลมีเดียกลับเปลี่ยนไปอย่างไม่มีใครคาดคิด เมื่อเหล่าหนูๆ ซึ่งส่วนใหญ่อายุไม่เกิน 15 ปี ลุกขึ้นมาอัปคลิปลง Youtube โพสต์เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม บอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวของตัวเอง เช่น เบอร์โทร. ที่อยู่อาศัย และไอดีไลน์ (รหัสเฉพาะเพื่อใช้สืบค้นชื่อ account ที่ใช้บน “Line” โปรแกรมแชตยอดนิยม) โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าอาจเป็นช่องทางที่อาชญากรใช้ล่อลวงพวกเขาไปทำมิดีมิร้ายได้
("รับสมัคร FC" ก่อนหน้าที่คลิปจะถูกลบ แค่เสิร์ชคำนี้ ผลลัพธ์ขึ้นมาเป็นโขยง)
เด็กๆ เหล่านี้ยอมฝากข้อมูลสำคัญของตัวเองเอาไว้บนโลกออนไลน์เพียงเพราะอยากมีแฟนคลับเป็นของตัวเอง แต่มีข้อแม้ว่าแฟนคลับของเขาต้องทำตามกฎเหล็กที่กำหนดเอาไว้ได้ ดังต่อไปนี้...
“เรารับสมัคร FC อยู่นะ ใครอยากเป็นบ้าง? กฎเหล็กของเราคือ 1.ต้องเป็นเพื่อนที่ดี 2.ซื่อสัตย์ 3.ขอคนอายุมากกว่า 10 ปี 4.ห้ามทะเลาะกันในกลุ่ม 5.สามารถส่งของให้เราได้ทุกเดือน แต่เราไม่ส่งกลับนะ และ 6.ถ้าส่งของให้เราได้ เราจะตั้งเป็นเพื่อนรักหรือ FC ดีเด่น”
“รับสมัคร FC นะจ๊ะ 1.ส่งของมาไม่ส่งกลับ 2.ขออายุมากกว่า 9 ปี 3.เข้าไลน์อย่างน้อย 3 วัน 4.เป็นคนที่นิสัยดีเหมือนกัน 5.ดีมาดีตอบ 6.มีเรื่องอะไรคุยปรึกษาได้ทุกเรื่อง 7.คุยเล่นกันได้ตลอด 8.ทําตัวสบายๆ 9.เราเป็นคนที่ไม่ชอบคนส่งอะไรซ้ำๆ มาให้ และที่สำคัญ ขอคนที่รักหรือชอบเราจริงๆ นะ”
พฤติกรรมเหล่านี้กลายเป็นเทรนด์ที่เด็กวัยนี้ทำตามๆ กัน จนส่งให้คำว่า “รับสมัคร FC” กลายเป็นที่พูดถึงอย่างหนาหูเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กระทั่งเรื่องถึงหูชาวไซเบอร์ผู้มีอาวุโสกว่า หลายรายจึงต้องออกโรงมาเตือนให้ว่อนเน็ต บ้างก็เตือนด้วยเหตุผล บ้างก็กระแนะกระแหนด้วยคำด่าทอที่ว่าเด็กพวกนี้ไม่ต่างอะไรไปจาก “ขอทานออนไลน์” พร้อมทั้งตั้งคำถามตามมาอีกมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทยทุกวันนี้ อะไรทำให้พวกเขาอยากมีแฟนคลับเป็นของตัวเองจนต้องลงทุนขนาดนี้ อะไรที่ทำให้หนูน้อยวัยใสเหล่านี้เกิดอยากได้ของของคนอื่นแบบฟรีๆ จนต้องระบุรายละเอียดเอาไว้
ล้อเลียนคลิป “รับสมัคร FC” ถึงทีรุ่นพี่เตือนรุ่นน้อง
หลังเทรนด์ “รับสมัคร FC” ของหนูน้อยถูกประณามให้ว่อนโลกออนไลน์จนกลายเป็นกระแสต่อต้านระลอกใหญ่ในสังคม คลิปและโพสต์ของเด็กๆ ส่วนใหญ่ที่เคยอัปโหลดเอาไว้ก็ถูกลบออกไปจากโซเชียลมีเดียในทันที เหลือทิ้งไว้เพียงบางส่วนให้ดูเป็นขวัญตา สะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยวันนี้ และที่น่าสนใจไม่แพ้คลิปเด็กๆ ออกมารับสมัครแฟนคลับ ก็คือคลิปล้อเลียนที่คนโตกว่าทำออกมาเตือนรุ่นน้อง ซึ่งมีทั้งแบบด่าเอามัน กับเตือนด้วยเหตุผลและความหวังดี หนึ่งในนั้นคือคลิปจาก “คุณฟาง” ซึ่งขอออกมาพูดในฐานะคุณแม่ของเด็กมัธยมต้น ซึ่งทนอยู่เฉยๆ ไม่ไหวในปรากฏการณ์เด็กไทยใช้โซเชียลมีเดียไม่ถูกทางที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
(คุณฟาง ออกมาเตือนเด็กๆ ในฐานะคุณแม่คนหนึ่ง)
"เท่าที่เข้าไปอ่านและเข้าไปดูคลิปใน Youtube หรือแม้แต่น้องๆ ในเฟซบุ๊ก เห็นว่าคนที่รับสมัครแฟนคลับจะมีอยู่ 2 ประเภทคือ ประเภทแรก น้องๆ ที่อยากขายของ เขาเลยต้องการ FC มากๆ อยู่แล้ว เลียนแบบเน็ตไอดอล พอมี FC มาสมัคร ของเขาก็จะขายดี แต่ประเภทที่สอง เป็นน้องๆ ที่เลียนแบบอย่างเดียวเพราะอยากมีแฟนคลับแต่ไม่มีอะไรดีมากพอที่จะเป็นเน็ตไอดอลได้ แต่อยากมีของใช้ฟรี ก็เลยเลือกที่จะขอ แต่ไม่เลือกที่จะทำ
จริงๆ แล้วต้องพูดก่อนเลยว่า ช่องทางทางโซเชียลมีเดียที่ช่วยให้น้องๆ เข้าไปแสดงออกความสามารถมันมีได้เยอะมาก น้องๆ บางคนก็เล่นอูคูเลเล่เก่ง สอนทำ DIY ก็เยอะแยะ และการที่น้องๆ มีความสามารถในตัวเองแบบนี้อยู่แล้ว น้องๆ ก็ไม่จำเป็นต้องประกาศรับสมัครแฟนคลับเลย พอน้องๆ มีความสามารถ มีเวทีการแสดงออก เดี๋ยวพวก FC ที่ชื่นชมผลงานน้องๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กน้อย อาจจะมีผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบผลงานไปสมัครเป็นแฟนคลับน้องก็ได้ กดติดตามผลงานที่หนูอยากจะทำต่อไป แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ หนูก็จะมาขอ นึกออกไหมคะลูก ไม่ใช่อยู่ดีๆ กูไม่มีอะไรดีเลยแต่กูอยากเป็นเน็ตไอดอล อยากได้ของฟรี แล้วก็ออกมาขอแบบนี้ พี่ว่ามันไม่โอเค แต่ถ้าหนูมีดีจริง พี่เชื่อว่าน้องจะได้รับการยอมรับจากคนในสังคมจริงๆ
ต้องยอมรับว่ายอดไลค์ในสมัยนี้ ถ้ามีจำนวนมาก มันสามารถทำเงินทางออนไลน์ได้เหมือนกัน คนที่เข้าไปด่าน้องว่าเอาไลค์ไปกินข้าวเหรอ เป็น FC ไปทำไม ขอทานออนไลน์ ซึ่งถามว่าพฤติกรรมนี้มันเหมือนขอทานออนไลน์ไหม มันก็เหมือน แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากจะเข้าไปด่าน้องๆ อยากให้เปลี่ยนเป็นไปคอมเมนต์ แนะนำทิศทางให้น้องๆ ว่าจะทำเงินจากออนไลน์ยังไงดีกว่า ฟางเชื่อว่าพฤติกรรมของเด็กๆ แบบนี้ พ่อแม่ส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยมีเวลาเลี้ยงดูลูก เลี้ยงลูกด้วยสมาร์ทโฟน ลูกก็จะเอาเวลาไปดูเน็ตไอดอล อยากทำศัลยกรรมให้สวยเหมือนเขา หรืออยากสมัคร FC เพื่อจะรีวิวของ
บางทีเราก็ต้องเตือน เพราะมันเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ เหมือนกันกับที่เราเคยเลียนแบบตัวการ์ตูนในยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ และที่อยากจะแนะนำอีกอย่างคือ ไม่อยากให้น้องๆ โพสต์ชื่อที่อยู่ของตัวเองลงไปในโซเชียลมีเดีย เพราะคนอื่นสามารถเอาชื่อ-ที่อยู่ไปใส่ใน Google Map เพื่อที่จะหาพิกัดการอยู่ของเราได้เลย มันอันตรายมากสำหรับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ข่าวอาชญากรรมก็มีเยอะมาก
ส่วนเน็ตไอดอลที่คนติดตามเยอะๆ อยากให้ช่วยนำเสนอเรื่องอื่นด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องรูปร่าง ความสวยความงาม ความแรง ความตรง ฯลฯ หรืออะไรก็ตามแต่ที่เน็ตไอดอลชอบนำเสนอกัน แต่อยากให้นำเสนอความสามารถที่พอจะมีเพื่อให้เด็กสมัยนี้ได้เห็นคุณค่าว่า การที่จะเป็นเน็ตไอดอล เป็นที่ยอมรับในสังคมขึ้นมาได้ มันไม่ใช่แค่เพราะคุณมียอดไลค์หรือต้องไปขอให้ใครมาไลค์แค่นั้น
เราเองก็ไม่ได้เป็นคนดัง ไม่ได้เป็นเน็ตไอดอล แต่อยากพูดในฐานะผู้ปกครองเด็กมัธยมต้นคนหนึ่งที่เห็นพฤติกรรมแบบนี้ ก็อยากจะฝากด้วย"
“เน็ตไอดอล” และ “แฟนคลับ” ที่ถูกบิดเบือน
(ฝีมือเด็กๆ ออดอ้อนผู้สมัคร FC)
จริงๆ แล้วการเป็นแฟนคลับ ติดตามผลงานของใครสักคนนั้นไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสมอไป แต่การหลับหูหลับตาเป็นแฟนคลับโดยที่มองไม่เห็นความสามารถที่แท้จริงของคนที่ตนเองคลั่งไคล้ต่างหาก คือหายนะที่แท้จริง ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญโลกโซเชียลมีเดีย สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ช่วยวิเคราะห์
“แฟนคลับบนโลกออนไลน์ อาจจะเริ่มมาจากยุคของ “บล็อกเกอร์” ที่เกิดขึ้น ทำให้มีคนเริ่มติดตามอ่านผลงานของคนคนนั้นเพราะเขาเขียนเก่ง หลังจากนั้นในยุคถัดมา กลายเป็นยุคของ “เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม-โซเชียลแคม” มีคนกด Follow ตามความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะกลุ่มคนที่หน้าตาน่ารักๆ ประเภทพริตตี้-เน็ตไอดอล การอัปข้อมูลของพวกเขาก็จะไม่ค่อยมีอะไร นอกจากรูปภาพไลฟ์สไตล์ส่วนตัวซึ่งค่อนข้างเป็นไปในทิศทางอวดมั่งอวดมี อวดสวยอวดหล่อ ซึ่งถือเป็นยุคการเป็นแฟนคลับที่ตกต่ำลงกว่าเดิมมาก จากก่อนหน้านี้คนที่จะมีคนติดตาม เป็นแฟนคลับได้ จะเป็นพวกนักเขียน นักคิด คนที่มีคอนเทนต์ มีเรื่องราวในตัวเอง
พอมาถึงยุคที่สาม ยุคที่คนธรรมดาหรือเด็กๆ วัยรุ่นอยากเป็นคนสำคัญในสังคม เป็นยุคของ “สังคม wanna be” จากคนธรรมดาอยากจะเป็นใครสักคน ต้องการใช้พื้นที่บนโซเชียลมีเดียในการแสดงตัวตนของตัวเอง จากความรู้สึกที่ว่าการติดต่อกันบนโลกโซเชียลมีเดียเป็นโลกที่โดดเดี่ยวมาก เมื่อมีคนอื่นๆ มามองเห็นเขา มันเลยทำให้คนคนนั้นรู้สึกว่าตัวเองมีค่ามากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ ที่โตมากับยุคหลังการมีเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์-อินสตาแกรม และเริ่มติดตามความเคลื่อนไหวของเหล่าคนดังในสังคม เด็กเหล่านี้ที่เป็นแฟนคลับส่วนใหญ่จะค่อนข้างขาดความรักและไม่ค่อยมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ทำให้พวกเขาต้องควานหาความรัก ซึ่งทุกวันนี้สามารถแสดงออกได้ไม่กี่รูปแบบ และหนึ่งในนั้นคือการเป็นแฟนคลับ
จากก่อนหน้านี้ เด็กๆ ที่จะมีคนมาติดตามเป็นแฟนคลับได้ อาจจะเป็นเพราะมีผลการเรียนดี กีฬาเด่น หรือมีความสามารถพิเศษหรืองานอดิเรกอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ ทำให้รุ่นน้องหรือเด็กๆ รุ่นไล่เลี่ยกันถูกใจและติดตามที่ผลงาน กลายเป็นเน็ตไอดอล แต่ปัจจุบันคำว่า “แฟนคลับ” คนที่ติดตามคนที่น่าสนใจเปลี่ยนไปและกลายมาเป็นความคิดที่ทำร้ายสังคมไทยมาก เพราะเด็กๆ คิดว่าอยากเป็นดารา อยากเป็นคนเด่นคนดัง ในทางจิตวิทยาแล้ว เด็กพวกนี้พยายามควานหาเพื่อเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายไป อาจจะเป็นผลมาจากการขาดความรัก ความอบอุ่น ขาดการดูแลเอาใจใส่มาจากพื้นฐานทางครอบครัว
ส่วนตัวแล้วผมไม่ได้มองว่าการเป็นแฟนคลับไร้สาระนะ ถ้าเราติดตามคนคนนั้นที่แก่นของเขาจริงๆ อย่างหลานผมยังเป็นแฟนคลับของนักร้อง AF เลย หรือจะเป็นแฟนคลับของคนที่เป็นนักเขียนก็มี เป็นแฟนคลับจะไร้สาระหรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับว่าเด็กคนนั้นไปคลั่งตัวตนของคนดังคนนั้นในมิติไหน มันขึ้นอยู่กับว่าเด็กเลือก Follow กลุ่มคนแบบไหนและได้อะไรจากการเป็นแฟนคลับคนคนนั้นบ้าง
ผมถึงบอกว่าการเป็นแฟนคลับสมัยก่อนกับสมัยนี้มันไม่เหมือนกันนะครับ จากสมัยก่อน คนที่เป็นคนต้นแบบจะเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถหรือออกผลงานที่มีคุณภาพและน่าสนใจมาให้คนติดตาม ความคิดความอ่านของบุคคลคนนั้นจะค่อนข้างเป็นผู้นำ คนติดตามจะรู้สึกว่าคนคนนี้เท่จังเลยนะ ซึ่งเราดูจากลักษณะบุคลิกทางความคิดหรือวิถีชีวิตของเขา แต่คำว่าแฟนคลับทุกวันนี้เหมือนจะถูกบิดเบือนไป คือเด็กๆ ไม่ได้เลียนแบบที่ตัวตนของคนคนนั้นอีกแล้ว ไม่ได้ดูที่ “Identification” บุคลิก, ความคิด หรืออุดมการณ์ภายในตัวตนของคนคนนั้นเป็นหลักเหมือนเดิม แต่จะมองกันที่เปลือกนอกและความฉาบฉวยเป็นหลักกันเสียส่วนใหญ่
เด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่จะมองแฟนคลับแบบ “Imitation” คือชอบที่คนนี้เพราะเขาเซ็กซี่ น่ารัก ถ่ายรูปแอ๊บแบ๊ว หรืออาจจะมีถ่ายรูปคู่รถสปอร์ตโชว์ชีวิตหรู ฯลฯ ทำให้เด็กๆ เห็นว่าบุคคลเหล่านี้เป็นคนที่น่าเลียนแบบ น่าชื่นชม เพียงแค่บุคลิกภายนอกเท่านั้น ซึ่งเป็นนิยามการเป็นแฟนคลับที่ฉาบฉวยมากๆ เพราะเด็กๆ จะไม่เข้าใจอย่างแท้จริงเลยว่าการเป็น “บุคคลต้นแบบ” ที่น่าเอาเป็นแบบอย่างควรมีคุณบัติอะไรอยู่ในตัว สุดท้ายก็จะกลายเป็นการเห่อกันแบบฉาบฉวยเท่านั้นเอง
อันตราย! ควานหาตัวตนไม่เจอ
การที่เด็กๆ ออกโรงมาประกาศรับสมัครแฟนคลับของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย ถือเป็นวิกฤตภายในใจของหนูน้อยที่ควรได้รับการแก้ไข เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาต้องการการยอมรับและขาดความตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ตามหลักจิตวิทยาแล้วจะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าผู้มี Self Esteem ตกต่ำ จึงต้องควานหา Social Status หรือสถานะทางสังคมเพื่อมาเติมเต็มตัวเอง
“ถ้าจะให้ไปเรียนให้เก่งก็คงจะใช้เวลานาน เล่นกีฬา ศิลปะ ร้องรำนาฏศิลป์ก็ไม่เก่ง แล้วจะทำยังไง? ยิ่งเป็นเด็กต่างจังหวัด โอกาสที่จะมีใครพบเห็นความสามารถก็ยิ่งน้อย ก็เลยลุกขึ้นมาชวนคนเป็นแฟนคลับเองเสียเลย ในเมื่อไม่มีความสามารถพิเศษเด่นเรื่องอะไรเลย ก็เลยต้องใช้หน้าของตัวเองเป็นพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์ตัวเองแทน ซึ่งมันแตกต่างจากคนที่มีคนมาติดตามเป็นแฟนคลับด้วยตัวเอง มันสะท้อนให้เห็นว่าเด็กๆ เหล่านี้กำลังต้องการความรัก ต้องการการยอมรับนับถือจากคนแปลกหน้า จากสิ่งที่เขาไม่มี
(หลังเรื่องกลายเป็นประเด็นร้อน โผล่คลิปล้อเลียนมากมายขึ้นมาแทน)
ส่วนคนที่ตาม Follow กลุ่มเด็กเหล่านี้ก็น่าหนักใจไม่แพ้กัน อาจจะเป็นกลุ่มคนประเภทที่ใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป ศัพท์ในวงการจะเรียกกลุ่มนี้ว่า “ติ่ง” คนที่คอยตามกรี๊ดตามเฮตามสนับสนุนบุคคลบนโลกออนไลน์ อาจจะเป็นเพราะเขาใช้เวลากับการทุ่มความสนใจไปที่คนอื่นมากเกินไป เป็นคนขาดกิจกรรม ขาดงานอดิเรก ขาดการรับรู้ว่าตัวเองมีความสามารถที่เด่นๆ ไม่ค่อยควานหาว่าตัวเองมีความสามารถด้านไหนบ้าง แต่จะมีความสุขจากการชื่นชมคนอื่น จนอาจจะกลายเป็นองครักษ์พิทักษ์คนดังหรือเป็นสาวก เด็กกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเหมือนกัน ปัญหาเรื่องการควานหาตัวเองไม่เจอ พวกเขาจะมีความสุขด้วยตัวเองได้ยากมากเพราะเขาไปพึ่งพิง ยืมชีวิตคนอื่นมาหายใจ”
ที่สำคัญ การรับสมัครแฟนคลับออนไลน์ของเด็กๆ แบบนี้ มันไม่ใช่แค่การแชร์ข้อมูลและความทรงจำกับเพื่อนๆ ในสมุดเฟรนด์ชิปของเด็กสมัยก่อนซึ่งจะได้อ่านกันแค่กลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน ห้องเดียวกัน หรือโรงเรียนเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ควบคุมได้ แต่เมื่อข้อมูลเหล่านี้มาอยู่บนโลกออนไลน์ ผลลัพธ์มันจึงต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
“อย่างเฟรนด์ชิปให้เพื่อนไปเขียน อีก 3-4 วัน เราก็ทวงเพื่อนคืนได้และข้อมูลก็อยู่ในนั้น เราควบคุมมันได้ มันปลอดภัย แต่ในโซเชียลมีเดียมันไม่ใช่ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นพื้นที่เป้าหมายต่อการก่ออาชญากรรมเด็กข้ามชาติด้วย การใช้โซเชียลมีเดียจึงต้องระวังเป็นอย่างมาก กันไว้ดีกว่าแก้
ในต่างประเทศ ถึงกับมีการป้องกันเด็กอายุต่ำกว่า 13-14 ปีจากการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเข้มงวด มีกฎหมายป้องกันการเข้าถึงโลกไซเบอร์ก่อนวัยอันควรระบุไว้อย่างชัดเจน แต่เด็กไทยยังอัป Youtube กันง่ายมากเลย ผมว่า Youtube อาจจะต้องลงมาทำอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะ Youtube ประเทศไทย ควรจะลงมาจัดการคลิปของเด็กๆ ที่อัปลงในพื้นที่ของเขาด้วย หรือต่อไปถ้าเฟซบุ๊กจะห้ามให้เด็กอายุน้อยๆ ใช้นี่ เราต้องเคารพนะครับ เด็กๆ จะมาดรามากันไม่ได้นะ เพราะกฎนี้ถูกบังคับใช้ทั่วโลก เป็นกฎหมายปกป้องสวัสดิภาพของเด็ก แต่ในไทยเราการกวดขันยังอ่อนด้อยประสิทธิภาพเลยยังเห็นเป็นเรื่องปกติกันอยู่
ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขได้ ต้องให้พ่อแม่หรือครูอาจารย์ช่วยกันดู ถ้าเข้าไปแล้วกดเจอวิดีโอของลูกตัวเอง ให้กดแจ้งลบได้เลย และคุยกับลูกไปตรงๆ ว่าการทำแบบนี้ไม่เหมาะสมกับวัยยังไง มันจะนำไปสู่ช่องทางให้อาชญากรในโลกไซเบอร์มาล่อลวงกระทำชำเราทางเพศได้ โดยเฉพาะการบอกข้อมูลที่อยู่ เบอร์โทร.เอาไว้บนโลกออนไลน์แบบนั้น มันจะทำให้ลูกกลายเป็นคนที่ถูกเข้าหาได้ตลอดเวลา มันไม่ดีหรอกต่อชีวิตส่วนตัว เด็กๆ อาจจะได้เพื่อนแบบแปลกๆ เข้ามา หรืออาจจะมีใครเอาคลิปของลูกไปใช้ในเชิงผิดวัตถุประสงค์ตั้งแต่แรก มันจะอันตราย
ต้องบอกลูกๆ ว่าการเป็นคนดังในสาธารณะ ไม่ใช่เครื่องรับประกันความสุขได้ การเป็นคนธรรมดาก็มีความสุขได้ เพียงแต่ต้องหาคุณค่าของตัวเอง หาความดี ความเก่ง ความงามของตัวเองให้เจอ และไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงหรือไม่รับการยอมรับจากโซเชียลมีเดียก็ได้ถึงจะมีความสุข การมีชีวิตปกติแบบคนธรรมดาทั่วไปที่มีความเก่ง ความดี ความงามต่างหาก คือความสุขที่แท้จริง”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754