xs
xsm
sm
md
lg

สุดทนค่ารักษามหาโหด! ล่าชื่อทะลุ 3 หมื่น ลุยยื่นคุมราคารพ.เอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ได้มากว่า 32,000 รายชื่อแล้ว สำหรับแคมเปญรณรงค์ของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ในการล่ารายชื่อเพื่อเตรียมยื่นเรื่องผลักดัน ตั้งคณะกรรมการคุมราคาค่ารักษาพยาบาล และออกกฎหมายควบคุม หลังมีประชาชนร้องเรียนอื้อ เหตุ รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาราคาแพง

เมื่อพูดถึงปัญหาการร้องเรียนกรณีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง บางเรื่องถูกแฉและแชร์ออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ผู้ป่วยบางรายหายจากโรคแต่ต้องช็อกเพราะค่ารักษา ซ้ำร้ายบางรายต้องผ่อนจ่าย-แปลงโฉนดที่ดินไปเป็นค่ารักษา

จากข้อมูลของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ระหว่างปี 2556-2557 มีประชาชนที่ร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเข้ามา 10 ราย โดยพบว่าต้องเสียค่ารักษาพยาบาลถึงวันละ 400,000 บาท ขณะที่บางรายต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากที่สุดถึง 1,300,000 บาท


นี่คือกรณีตัวอย่างที่ทางเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์เคยได้รับการร้องเรียนเข้ามา โดยทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ขออนุญาตหยิบยกมานำเสนอต่อ


กรณีแรก ผู้ป่วยชายมีอาการเจ็บหน้าอก เข้า รพ.เอกชนที่โฆษณาว่ามีหมอโรคหัวใจ 24 ชั่วโมง แต่นอนรอตั้งแต่สองทุ่มถึง 8 โมงเช้า ก็ไม่มีหมอหัวใจมาตรวจจนผู้ป่วยเสียชีวิต ต่อมาญาติฟ้อง รพ.เอกชนแห่งนั้น จึงมีการตรวจสอบบิลค่ารักษา พบว่าทาง รพ.เก็บค่าอะดรีนาลีนเพื่อกระตุ้นหัวใจ 148 หลอด ราคา 29,600 บาท


แต่ในเวชระเบียนระบุว่าใช้เพียง 30 หลอด ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจไปเบิกความว่า อะดรีนาลินนั้นใช้ได้ไม่เกิน 2 หลอด/ ชั่วโมง ถ้าใช้เกินคนไข้จะเสียชีวิต ความจริงคือช่วงที่แพทย์สั่งให้อะดรีนาลีนทางโทรศัพท์ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ดังนั้น การใช้อะดรีนาลินไม่น่าจะเกิน 10 หลอด ซึ่งคิดเป็นเงินเพียง 2 พันบาทเท่านั้น


หรืออีกกรณี เป็นผู้ป่วยหญิงรายหนึ่ง โดยเธอเล่าว่า เธอและสามีต้องไปหาหมอรพ.เอกชนทุก 3 เดือน ค่ายาแต่ละครั้ง 5-6 หมื่นบาทต่อคน เธอและสามีก้มหน้าก้มตาจ่าย ครั้งล่าสุดหมอจ่ายยาให้สามีเธอสำหรับ 3 เดือน เป็นเงินถึง 9.8 หมื่นบาท เรียกว่าเกือบหนึ่งแสน เธอตกใจมาก จึงไปสอบถามร้านยาว่า ยาลดไขมัน Ezetrol เม็ดละเท่าไร ร้านยาบอกว่า 50 บาท


ขณะที่ รพ.เอกชนแห่งนั้นขายเม็ดละ 117 บาท และยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะ Nexium40mg ที่ร้านยาขายเม็ดละ 55.75 บาท แต่ รพ.เอกชนขายเม็ดละ 156 บาท เมื่อเธอศึกษาพบว่าราคายาที่ต้องจ่าย 9.8 หมื่นบาท ราคากลางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดเพียง 3 หมื่นกว่าบาท สรุปแล้วเธอต้องจ่ายแพงขึ้นถึง 6 หมื่นกว่าบาท


นอกจากนั้น ยังมีการร้องเรียนไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อีกจำนวนไม่น้อย แต่สุดท้ายกลับไม่มีหน่วยงานไหนออกมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจังสักที


ทำให้ ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เป็นตัวแทนออกมาเรียกร้องด้วยการสร้างแคมเปญรณรงค์ผ่าน www.change.org เพื่อล่ารายชื่อ "ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคา รพ.เอกชน" เนื่องจากที่ผ่านๆ มาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วย และญาติจำนวนมากเกี่ยวกับการคิดค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินจริงของโรงพยาบาลเอกชน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเหล่านั้นโดยตรง แม้จะมี พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2545 แต่ก็ระบุเพียงแค่ให้สถานพยาบาลเปิดเผยค่ารักษาเท่านั้น

ทางฟากของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กตั้งคำถาม ทำไมไม่ออกมาพูดอะไรบ้างเลย


"เรื่องค่ารักษาแพงเกินจริงหรือไม่ ทำไมสมาคม รพ.เอกชนไม่ออกมาพูดอะไรบ้าง ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อเพื่อไม่ให้ดิฉันพูดข้างเดียว ก็บอกว่าอยากพูดอะไรก็พูดไป แพงก็ไม่ต้องเข้าไปรักษา นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของดิฉันกับนายกสมาคมรพ.เอกชน แต่เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ของการทำธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เมื่อมีปัญหารพ.โกงค่ารักษาจริง ก็ควรช่วยกันกำจัดปลาเน่าไม่ให้เหม็นทั้งค้องไม่ใช่หรือ?"


ขณะนี้ทางเครือข่ายฯ สามารถล่ารายชื่อประชาชนมาได้กว่า 32,000 รายชื่อแล้ว และมีการนัดหมายเพื่อเข้ายื่นเรื่องต่อ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ เวลา 12.30 น. จากนั้นจะไปยื่นต่อ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ รศ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สปช. เพื่อผลักดันให้ตั้งกรรมการคุมราคาค่ารักษาพยาบาลอย่างจริงจัง


ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ที่ต้องคิดค่ารักษาราคาแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐ 2-3 เท่า เพราะต้องดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายของบุคลากรทั้งโรงพยาบาล ค่าบริหารจัดการภายในโรงพยาบาลเองทั้งหมด แค่ค่าแรงอย่างเดียวก็คิดเป็นร้อยละ 50 ของรายได้แล้ว ต่างจากโรงพยาบาลรัฐที่มีงบประมาณของประเทศดูแลอยู่


อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เตรียมจะออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในวันที่ 8 พ.ค.นี้


สุดท้ายแล้ว พลังประชาชนจะปฏิวัติค่ารักษา สร้างความเป็นธรรมได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป แต่อย่างน้อยๆ การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ช่วยให้สังคมตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น แถมยังทำให้รู้ด้วยว่า ประชาชนที่มีความใส่ใจ และพยายามเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ยังคงมีอยู่


*** ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปยศอดสู! ค่ารักษามหาโหด ถึงเวลาคุมราคา "รพ.เอกชน"

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น