เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า “ดอยหลวงเชียงดาว” กลายเป็น “ลู่วิ่ง” แห่งใหม่โดยไม่ทันได้ตั้งตัวเสียแล้ว หลังนักลงทุนชาวฝรั่งเศสวางแผนกิจกรรม “วิ่งขึ้นดอยหลวงเชียงดาว” เอาไว้เสร็จสรรพ เรียกเก็บเงินนักวิ่งแข้งทองไปแล้ว 400 ราย อ้างได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานฯ นักอนุรักษ์ไม่นิ่งเฉย แชร์เรื่องราวต่อจนกลายเป็นประเด็นร้อน เจ้าของสถานที่จึงออกมายืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ ทั้งสิ้นในกิจกรรมทำร้ายธรรมชาติในครั้งนี้
“หมื่นห้า” ทำร้ายป่า ไม่ได้-ไม่ยอม!
(นักอนุรักษ์ออกแรงร่วมต้านจนได้ผล)
“495 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา” ตีเป็นเงินไทยคือเกือบ 15,000 บาท คือราคาที่กลุ่ม “Ultra Thai Chaingmai” ผู้จัดกิจกรรมวิ่งตามเส้นทางวิบากขึ้นดอยหลวงเชียงดาวเรียกเก็บจากกลุ่มนักผจญภัยแข้งทองทั้งหมด 400 ชีวิต ที่ยื่นรายชื่อและสมัครเข้ามาผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อหวังจะได้สัมผัสบรรยากาศบนภูเขาสูงในเขตอุทยานแห่งชาติระหว่างกิจกรรมวิ่งมาราธอนในครั้งนี้
กิจกรรมนี้คงไปได้ดี ถ้าไม่ติดว่าเส้นทางการวิ่งที่ทางผู้จัดกำหนดนั้น คือเส้นทางต้องห้ามที่ทางอุทยานแห่งชาติไม่รองรับ แต่แรกเริ่มนั้น ผู้ริเริ่มกิจกรรมชาวฝรั่งเศสอย่าง “เซบาสเตียน แบตร็อง (Sebastien Bertrand)” อ้างว่าได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เรียบร้อยแล้ว จึงได้ดำเนินการตามที่วางแผนไว้ กำหนดเส้นทางวิ่งจากเชียงใหม่ เริ่มตั้งแต่ดอยสุเทพ ไปถึงดอยหลวงเชียงดาว เป็นระยะทางทั้งหมด 150 กม. ทั้งยังกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับร้านค้า จุดพัก และจุดปฐมพยาบาล เอาไว้อย่างน่าเชื่อถือ กระทั่งนักอนุรักษ์หลายรายปักใจเชื่อไปแล้วว่าเป็นกิจกรรมที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจริงๆ
กระทั่ง นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักอนุรักษ์ชื่อดังติดต่อไปยังหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จึงได้ทราบข้อมูลความจริงจากอีกด้านว่า ทางเซบาสเตียนเคยเข้ามาพูดคุยกับทางอุทยานฯ เรื่องการจัดกิจกรรมวิ่งจริงตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ทางอุทยานฯ ได้ปฏิเสธไปเรียบร้อยตั้งแต่ครั้งนั้น และคาดไม่ถึงว่าจู่ๆ จะมีกิจกรรมนี้ผุดขึ้นมาโดยไม่ได้รับอนุญาตในวันนี้
(นพ.รังสฤษฎ์ นักอนุรักษ์ชื่อดัง ตามติดประเด็นจนได้เรื่อง)
“เมื่อวานที่คุยกันกับผู้จัด เขาบอกว่าได้ขออนุญาตแล้ว ผมก็สงสัยว่าอนุญาตกันได้ยังไง มีเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไหม เขาบอกว่าไม่มีหลักฐานตกลงเป็นตัวอักษรครับ พอสอบถามไปยังหัวหน้าเขต เขาก็ยืนยันกับผมว่า ทางผู้จัดเคยเข้ามาคุยกับทางหัวหน้าเขตแล้ว บอกว่าจะขอจัดเส้นทางวิ่งบนนั้น แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดใหญ่โตอะไรแบบนี้ว่ามี 400 คน ทางเขตเลยออกมายืนยันชัดเจนครับว่าเขายังไม่อนุมัติ
เส้นทางที่ทางผู้จัดขอ คือเส้นทางที่ทางอุทยานเคยประกาศปิดไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เนื่องจากมันเป็นทางชันและอันตราย เพราะฉะนั้น พื้นที่ส่วนนั้นจะเป็นแหล่งอาศัยของกวางผาและสัตว์ป่าสงวนที่ปิดเส้นทางเอาไว้แล้ว การที่ผู้จัดขอเส้นทางตรงนั้นให้เป็นเส้นทางวิ่งจึงเป็นไปไม่ได้ มันผิดกฎหลายข้อ
(หน้าแฟนเพจของผู้จัดอีเวนต์นี้)
คุณเซบาสเตียน เป็นคนฝรั่งเศสที่เพิ่งมาอยู่เมืองไทยได้ 2 ปี อาจจะไม่ค่อยรู้รายละเอียดอะไรเท่าไหร่ พอมาจัดอีเวนต์แบบนี้เลยไม่ได้ปรึกษาคนท้องถิ่น ทั้งที่เรื่องนี้กระทบต่อคนเชียงดาวเยอะเหมือนกันนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องความรู้สึกเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของดอยนี้ ดอยเชียงดาวไม่เหมือนดอยอื่น ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนท้องถิ่นเพราะมี “เจ้าหลวงคำแดง” ตั้งอยู่คู่ดอยหลวงเชียงดาวมานานแล้ว
ถึงตอนนี้ ยังไม่แน่ใจว่าทางผู้จัดเขาจะถอนตัวหรือยกเลิกอีเวนต์นี้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์เลยหรือเปล่า หรืออาจจะหาทางออกอื่น หาเส้นทางใหม่ที่ถูกกฎหมาย แต่สำหรับเส้นทางบนดอยหลวงเชียงดาวที่เขาขอ ยังไงเสีย ถ้ากรมอุทยานฯ เขาไม่อนุญาตให้ทำ ผู้จัดก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี แต่ที่ผมกังวลตอนแรกและออกมาโพสต์ให้เห็น เพราะคิดว่าถ้ามีการปล่อยให้ทำเรื่องแบบนี้ มันก็เป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะเกิดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมายอย่างแน่นอน”
“สมรู้ร่วมคิด” ข้อกล่าวหาที่กรมอุทยานฯ ต้องแบกรับ
(ข้อมูลบนเว็บไซต์ แสดงเส้นทางที่วางแผนไว้อย่างดี)
เจ้าหน้าที่อาจมีส่วนรู้เห็นในตัวกิจกรรม แต่เมื่อเรื่องแดงกลายเป็นประเด็นเดือดบนโลกออนไลน์ จึงถอยห่างออกมา... หากเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายสักหน่อย อาจตีความกรณีที่เกิดในครั้งนี้ออกไปได้ในลักษณะนั้น และไม่ว่าจะถูกตัดสินอย่างไรในสังคม สมศักดิ์ ฐิติชยาภรณ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ก็ขอยืนยันเอาไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ ทั้งสิ้นกับกิจกรรมแหกคอกในครั้งนี้
“ผู้จัดเคยมาสอบถามทางอุทยานฯ เกี่ยวกับเรื่องกิจกรรมเมื่อปลายปีที่แล้ว ประมาณเดือน ต.ค.-พ.ย.ครับ แต่ตอนนั้นผมบอกไปว่าถ้าวิ่งลงตามเส้นทางนั้น จะไม่สามารถทำได้เพราะเราปิดเส้นนั้นไปนานแล้ว ตั้งแต่ปี 2547 เพราะมันเป็นเส้นทางที่อันตราย ส่วนเรื่องการจัดกิจกรรมแข่งขันวิ่งแบบนี้ ผมเคยแนะนำให้เขาไปปรึกษาท่านอธิบดี กรมอุทยานฯ โดยตรงดู จากนั้นเขาก็เงียบหายไปเลย มารู้อีกทีก็ตอนเป็นข่าวแล้วและประกาศรับสมัครคนร่วมกิจกรรมในเว็บไซต์แล้ว ผมเองก็งงเหมือนกันว่าในเมื่อเขาไม่มีใบอนุญาต แล้วเขาไปโฆษณาแบบนั้นได้ยังไง ผมก็ไม่เข้าใจ
ถามว่าแบบนี้เข้าข่ายหลอกลวงไหม ผมคงไม่มีอำนาจเข้าไปตัดสินหรือดำเนินการตรงนี้ได้ นอกจากว่าเขาเข้ามาในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ผมจึงจะสามาาถสั่งไม่ให้เข้าพื้นที่ได้ครับ ทางเรามีกฎระเบียบกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ต้องห้ามอะไรบ้าง การเข้าพื้นที่เชียงดาวจะมีกฎเกณฑ์มากกว่าการใช้พื้นที่ของอุทยานทั่วๆ ไป เพราะในอุทยานจะแบ่งโซนบริการท่องเที่ยวให้คนสามารถเข้าไปเที่ยวชมได้เลย แต่สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นเขตเฉพาะที่ตั้งขึ้นมาด้วยเจตนาที่ต่างกัน คืออนุญาตให้เข้าได้เหมือนกัน แต่ต้องให้เข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น ซึ่งทุกวันนี้ เรากำหนดพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวไว้ไม่เกิน 200 คนต่อครั้ง
ตอนนี้ ยังสรุปไม่ได้ว่าทางผู้จัดจะทำยังไงต่อไป เพราะทางเขายังไม่เคยมาขออนุญาตจากเราโดยตรง แต่ในเบื้องต้น คนจำนวน 400 คน ที่เขากำหนดไว้ว่าจะขอใช้พื้นที่ คงไม่สามารถอนุญาตให้ใช้ได้ครับ ถ้าเป็นแบบนั้น เราคงต้องห้ามไม่ให้มีการจัดกิจกรรมนี้ในพื้นที่เชียงดาว”
(โพสต์บนแฟนเพจเจ้าของอีเวนต์ ที่ลบออกไปแล้วหลังเรื่องแดง)
แต่ถ้าผู้จัดยินยอมเปลี่ยนเส้นทางที่กำหนดเอาไว้เป็นเส้นทางที่เหมาะสม นพ.รังสฤษฎ์ นักอนุรักษ์และนักวิ่งคนหนึ่งมองว่าอาจจะพอมีทางให้กิจกรรมนี้ดำเนินต่อไปได้บนพื้นที่ของเชียงดาว
“ทางเราก็พยายามหาทางออกให้เขาอยู่ครับ น้องๆ ที่อยู่ในพื้นที่เขาก็มาช่วยคุยกันดีว่าจะพยายามหาเส้นทางที่มันตอบโจทย์ให้ แต่ปัญหาตอนนี้คือทางผู้จัดไม่ได้อยากวิ่งบนทางถนนที่มีอยู่แล้ว เขาอยากวิ่งตามเส้นทางป่า การวิ่งแบบนี้เขาเรียกว่า Trial Running ครับ ซึ่งถือว่าช่วยให้ได้สัมผัสธรรมชาติ
ส่วนตัวแล้วผมสนับสนุนเรื่องการวิ่งและการเข้าหาธรรมชาตินะครับ แต่การจะเข้าไป เราก็ต้องทำตามข้อแม้และกฎระเบียบของมันอยู่ ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเข้าไปได้ทุกที่บนโลกใบนี้ มันก็ยังต้องมีจุดที่ควรจะสงวนเก็บไว้อยู่ เช่น เส้นทางที่เขาปิดเอาไว้ไม่ให้ลงไป ก็ต้องไม่ลง เมื่อทางเขตเขาไม่ให้ไปก็ต้องไม่ไป จะไปดื้อดึงทำไม เส้นทางมีอีกเยอะครับ เลือกไปเส้นที่ชาวบ้านเขาใช้สัญจรกันอยู่แล้วดีกว่า”
เข้าใกล้ได้ แต่อย่าเหยียบย่ำ!
(ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "Hasachai Boonnuang")
เทรนด์วิ่งมาราธอนกำลังมาแรง เทรนด์เข้าสู่ธรรมชาติก็ฮอตไม่แพ้กัน ดังนั้น เมื่อทั้งสองสิ่งมารวมอยู่ในกิจกรรมเดียวจึงไม่แปลกที่จะมีผู้คนสนใจ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นพ.รังสฤษฎ์ นักอนุรักษ์ผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว มองว่านี่คือบทเรียนครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่จะทำให้เราได้เรียนรู้วิธีเข้าหาธรรมชาติอย่างละเมียดละไมและยั่งยืนที่สุด
“ส่วนตัวแล้วยินดีนะครับที่มีจัดอีเวนต์วิ่งแบบนี้ แต่แค่อยากปรามไว้ว่าอย่าเข้ามาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเท่านั้นเอง ปกติผมก็วิ่ง ขี่จักรยาน เดินป่า อยู่แล้วครับ แต่จะทำกิจกรรมในแต่ละที่ เราก็ต้องพิจารณากันให้ดีๆ ก่อนว่ามันเหมาะสมไหม เพราะพื้นที่ในบ้านเรามีการจัดโซนนิ่งที่แตกต่างกันไป มีทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, เขตอุทยานแห่งชาติ, เขตห้ามล่า ฯลฯ วัตถุประสงค์การจัดตั้งแต่ละแบบแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น คนจัดกิจกรรมก็ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่าอยากจะเข้าไปวิ่งที่ไหนก็วิ่งได้ หรือแม้แต่การขับรถโฟร์วีลเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งหรือทุ่งใหญ่นเรศวร แบบนั้นก็ทำไม่ได้เลยครับ เพราะไม่ใช่พื้นที่ที่อนุญาตให้ทำ ถ้าจะทำก็ต้องไปเลือกทำที่อื่น
หรืออย่างดอยหลวงเชียงดาว จะมาสร้างกระเช้าให้คนขึ้นไป มันก็ไม่ใช่อีกเหมือนกัน เพราะพื้นที่ส่วนนี้ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวในปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องควบคุมปริมาณคนที่ให้เข้า เท่านั้นก็ถือว่าอนุญาตให้เข้าถึงธรรมชาติได้เยอะแล้วนะครับ เพราะปกติแล้ว เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าจะไม่อนุญาตให้คนเข้าเลย แต่ดอยหลวงเชียงดาวถือว่าอะลุ่มอล่วยกันมาตลอด ให้คนเข้าครั้งละ 200 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะเกินความสามารถในการรองรับของพื้นที่อยู่แล้ว
ดังนั้น คนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ก็ต้องเข้าใจครับว่า เราก็ควรจะหลงเหลือเวลานอกจากนี้สำหรับการฟื้นฟูของป่า การอยู่อาศัยของสัตว์ในนั้นด้วย เพราะฉะนั้น มันไม่จำเป็นว่าเราต้องเข้าไปให้ได้ทุกที่ มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายว่าต้องที่นี่เท่านั้น ยังมีทางเลือกอยู่ครับ ถ้าที่ไหนทำแล้วผิดกฎระเบียบ ทำแล้วกระทบต่อความรู้สึกของคนอื่นเขา ผมว่าก็ควรจะหลีกเลี่ยงดีกว่า
ส่วนคนที่เข้ามาลงชื่อขอร่วมกิจกรรม ต่อไปคงต้องคิดดูให้ดีๆ หาข้อมูลให้ดีๆ ก่อนจะมาสมัครครับ ถือว่าครั้งนี้เป็นบทเรียนสำหรับหลายๆ ฝ่าย ผมมองว่าการเข้าสู่ธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญนะ มันทำให้คนเราเปลี่ยนทัศนคติในการมองโลกและการดำเนินชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญมากที่ควรตระหนัก แต่การไปหาธรรมชาติ เราก็ต้องไปแบบอ่อนน้อมถ่อมตนด้วย ไปฝากรอยแผลให้น้อยที่สุด ต้องยอมรับว่าการที่เราไปเยือนธรรมชาติ มันส่งผลกระทบอยู่แล้วล่ะ แต่จะทำยังไงให้กระทบน้อยที่สุด
การจัดการในพื้นที่ก็จำเป็นต้องเข้มงวด จุดไหนที่สามารถอนุญาตให้เข้าไปได้มากหน่อยก็ต้องพิจารณาเป็นแต่ละพื้นที่ไป แต่จุดไหนที่มีความบอบบางสูง ยอมรับให้เข้าถึงได้น้อย เราก็ต้องชัดเจนกับตรงนี้ ซึ่งในต่างประเทศบางแห่งมีโควตากำหนดเอาไว้เลยนะครับว่าปีหนึ่งอนุญาตให้เข้าได้แค่กี่คน โดยที่ไม่ได้เอาจำนวนเงินมาเป็นตัวตั้ง แต่จะมองในระยะยาวว่าจะรักษาพื้นที่ให้ยั่งยืนได้ยังไง
(ช่วยยันยันว่าทางอุทยานฯ ไม่มีส่วนรู้เห็น)
ที่ผ่านมา ผมยังไม่เคยเห็นว่ามีการให้วิ่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านะครับ แต่สำหรับในเขตอุทยานแห่งชาติก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ ครับ จัดวิ่ง จัดปั่นจักรยาน ทีหนึ่งมีเป็นคนขึ้นไปเป็นพันๆ คันก็มี แบบนั้นก็ไม่ได้มีใครออกมาประท้วงอะไร เพราะงานนั้นอยู่ในโซนท่องเที่ยว ถูกจัดสรรมาเพื่อกิจกรรมแบบนั้น ก็ถือว่าอยู่ในกฎระเบียบที่ตกลงกัน แต่กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่ใช่พื้นที่ประเภทเดียวกันที่จะทำได้
แม้แต่เขตท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้ก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าไม่กระทบธรรมชาตินะครับ มันกระทบต่อสัตว์ป่าแน่นอน เพราะมันทำให้สัตว์ทำกิจกรรมอย่างปกติไม่ได้ เขาจะต้องหลบออกไปจากจุดที่มนุษย์เข้ามาอยู่ มีงานวิจัยสนับสนุนมากมายว่าสัตว์ถูกกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ดังนั้น เราก็ต้องกำหนดโซนการท่องเที่ยวเอาไว้อย่างชัดเจน ถึงจะต้องการให้มนุษย์เข้าไปหาธรรมชาติ แต่ก็ต้องระวังเรื่องแบบนี้ด้วย
อย่างอุทยานฯ ห้วยขาแข้ง หรือดอยอินทนนท์ สมัยก่อนเดินดูนกข้างทางได้สบายๆ เลยครับ มีสัตว์ป่าเต็มไปหมด แต่เดี๋ยวนี้คนขึ้นไปหลายพันคน เป็นหมื่นๆ ก็มี ยิ่งช่วงเทศกาลไม่รู้อีกเท่าไหร่ รถขึ้นไปติดข้างบนอีก มันทำให้นกที่เคยอยู่ข้างทางหายไปหมดเลย เพราะเขาสืบพันธุ์ไม่ได้ จับคู่ไม่ได้ ทำรังไม่ได้
(ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "Hasachai Boonnuang")
หรือแม้แต่การอนุญาตให้ขึ้นดอยเชียงดาวครั้งละ 200 คนนั้น สำหรับผมก็ถือว่ายังเยอะเกินไปอยู่ดี แต่ข้อนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ครับ เพราะมันก็ยังมีเรื่องรายได้ของลูกหาบและอีกหลายๆ ส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง จะตัดสินใจเรื่องโควตาอะไรก็ต้องตกลงกัน นอกเหนือไปจากนั้น เราต้องช่วยเป็นหูเป็นตากันทุกฝ่ายครับ
ผมเชื่อว่าครั้งนี้ทางอุทยานฯ ได้ทำหน้าที่ของตัวเองดีแล้ว ถึงตอนแรกอาจจะยังไม่ทราบเรื่อง แต่หลังจากทราบแล้ว เขาก็ออกมายืนยันว่าไม่อนุมัติ จริงๆ แล้วผมไม่อยากให้มันดรามา เพราะเราคุยกันด้วยเหตุด้วยผลได้ ส่วนทางผู้จัดเอง ถ้ามองแค่กิจกรรมของเขา มองแค่เรื่องการวิ่งอย่างเดียว ผมก็ไม่ได้มองว่ามันร้ายแรงอะไรนะ เพียงแต่มันดันไปจัดในจุดที่ทำไม่ได้ ซึ่งได้อธิบายกันไปแล้ว เมื่อทางการยืนยันว่าไม่ให้ทำ มันก็น่าจะจบ”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก "Hasachai Boonnuang" และ "Rungsrit Kanjanavanit"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- เสียงต้านระงม! ฝรั่งอุตริเก็บเงินเกือบหมื่นห้าต่อหัว จัดวิ่งขึ้น “ดอยหลวงเชียงดาว”