xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่! “ประทับทรงแม่มด” พิธีกรรมไทย-เขมร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่! “ประทับทรงแม่มด” พิธีกรรมไทย-เขมร

ร่ำลือกันในหมู่คนทั่วไปว่า นั่นคือดินแดนที่เก็บงำเรื่องราวความเชื่อเหนือธรรมชาติของชาวไทย-กัมพูชาไว้ได้อย่างยาวนานที่สุด

ร่ำลือกันในหมู่ชาวอีสานว่า นั่นเป็นพื้นที่ปิดตายที่ไม่ยอมให้ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาบ่อนทำลายพิธีกรรมอันลึกลับที่ตกทอดมาแต่บรรพบุรุษ

ร่ำลือกันในหมู่คนท้องที่ว่า หากใครได้ลองสัมผัสกับวิถีชีวิตของพวกเขา จะรู้ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีร่วมสมัยไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต

"ระบำแม่มด" ทางรอดบำบัดโรค

ณ ชายแดนไทย-กัมพูชา ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ในคืนหนึ่งปลายฤดูแล้ง สายลมเอื่อยๆ ที่พัดมาจากทิศเหนือยังคงสร้างความรู้สึกอ้างว้างอยู่ลึกๆ ถนนลูกรังสายหลักที่ผู้คนในหมู่บ้านเคยสัญจรพลุกพล่านช่วงกลางวันก็เริ่มแลดูเงียบงัน มีเพียงแสงจันทร์เพียงดวงเดียวที่ส่องสว่างมาจากฟ้า ฉายให้เห็นศาลาไม้หลังหนึ่งซึ่งตั้งเด่นอยู่ปลายทาง เผยให้เห็นกลุ่มคนนิรนามท่าทางดุดันในชุดขาว กำลังบริกรรมคาถาเป็นภาษาที่ไม่รู้จัก ก่อนจะสาดน้ำมนต์ไปที่หญิงสาวนางหนึ่งซึ่งกำลังร้องไห้เป็นเสียงประหลาดราวกับสัตว์ป่า

วินาทีนั้น หน้าต่างทุกบานของบ้านทุกหลังในละแวกข้างเคียง เริ่มค่อยๆ ถูกเปิดออก ผู้คนภายในห้องไม่เว้นแม้กระทั่งลูกเด็กเล็กแดงต่างพากันโผล่หน้าออกมาเหนือชายคา เพื่อใช้สายตาสาดส่องไปยังที่มาของต้นเสียง ก่อนจะค่อยๆ ยกมือขึ้นพนมท่วมหัว พร้อมกับภาวนาคำบางคำด้วยความตั้งอกตั้งใจ จริงจัง จนเหงื่อไหลไคลย้อย 

ทว่า นัยน์ตาของทุกคนกลับยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง และความศรัทธา เนื่องจากรู้ดีว่า บัดนี้! พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แห่งการบำบัดโรคร้ายที่สืบทอดมาแต่รุ่นบรรพบุรุษของหมู่บ้านอย่าง “เรือมมะม็วด” ได้เริ่มขึ้นแล้ว

"ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ มันไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด" ลุงสมชาย อินทร์แก้ว วัย 60 ปี กำนันหมู่ 2 ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวน้ำเสียงหนักแน่นถึงกรณีความเชื่อเรื่องพิธีกรรมรำแม่มดที่ชาวภูไทย (ชายไทย-กัมพูชา) อย่างเขาปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่ยุคโบราณ ก่อนจะค่อยๆ ท้าวความว่า

เรือมมะม็วด หรือรำแม่มดเป็นพิธีกรรมอันเก่าแก่ของคนเชื้อสายเขมร พิธีนี้ไม่มีความแน่นอน หรือไม่มีกำหนดการตายตัวว่าจะต้องจัดกันปีละกี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับความเชื่อของผู้จัด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะจัดกันก็ต่อเมื่อมีใครต้องการแก้บน หรือมีคนในหมู่บ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วยร้ายแรง จนถึงขั้นแพทย์แผนปัจจุบันตามโรงพยาบาลไม่อาจเยียวยาให้หายขาด ซึ่งบรรยากาศในการประกอบพิธีก็จะมีลักษณะคล้ายกันกับการทรงเจ้า ด้วยชาวท้องถิ่นเชื่อว่า เทพหรือผีนั้นมีอยู่ 2 จำพวก คือ 1.พวกที่คอยมาดูแลมนุษย์ และ2.พวกที่อยากได้เครื่องเซ่น

ส่วนเรื่องการเตรียมพิธีนั้นจะมีหมอแหล่ หรือหมอครูที่หมายถึงผู้มีวิชาอาคมทางไสยศาสตร์แกร่งกล้าประจำหมู่บ้าน คอยแนะนำว่าต้องทำอย่างไร ใช้อะไรเท่าไหร่ที่จะทำให้พิธีบรรลุเป้าหมายไปได้ด้วยดี และเรื่องนี้ ลุงสมชาย ได้บรรยายขั้นตอนให้ฟังอย่างละเอียดยิบ 

การทำพิธีกรรมจะต้องเลี่ยงวันข้างขึ้น หรือแรม 15 ค่ำ โดยมากมักจะเลือกเอาวันอังคารหรือพฤหัสบดีที่ถือเป็นวันครู ภายในพิธีคนนั่งทรงจะต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และห้ามจัดภายในบ้าน จะต้องจัดพิธีในโรงปะรำที่มีเสา 9 ต้นเท่านั้น เพราะต้องใช้เสาต้นกลางผูกประต็วลไว้ใส่ไก่ต้ม ขนม ข้าวต้ม กรวย เทียน และอื่น ฯลฯ

ส่วนที่นั่งทรง ก็จะปูฟูกแบบครึ่งท่อนแล้วใช้ผ้าขาวปูทับไว้อีกชั้นหนึ่ง โดยที่ด้านบนมีสำรับอย่างบายศรีปากชามวางไว้ทั้งตำแหน่งซ้าย-ขวา พร้อมกับข้าวสาร เทียน จาน และเงินตามที่หมอครูกำหนด นอกจากนี้ยังต้องตอก (ขันโตก) เป็นขันใบใหญ่ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25-35 เซนติเมตร เพื่อใส่ข้าวสารประมาณครึ่งขัน ใบพลู 3 ใบ หมาก 1 ลูก กรวยขันชอม 1 คู่ กรวยหูกระต่าย 1 คู่ และเทียน 1 ครูอีกด้วย

เมื่อเริ่มเข้าทรงหัวหน้าพิธีจะทำการจุดเทียนให้สว่าง ปักไว้กับข้าวสาร แล้วเพ่งไปที่แสงเทียน จากนั้นผู้ช่วยในงานก็จะวางดาบ หอก ปืน รวมถึงของขลังเครื่องรางต่างๆ เช่น เขี้ยวหมูตัน งาช้าง เป็นต้น ใส่ถาดวางไว้ข้างๆ แต่ที่ห้ามขาดเลยนั่นก็คือ เปลที่ทำด้วยก้านกล้วย 3 ก้าน ซึ่งมักจะเอาไม้เสียบไว้ตรงกลางแยกเชิงให้เป็นขายัน 3 มุม จากนั้นก็ปักดอกไม้แดงหรือดอกมะละกอสาแหรกตรงกลาง ณ ที่เสียบไม้ คล้ายๆ นั่งร้านวางของ ก่อนจะวางแป้งปั้นที่เป็นรูปคน พร้อมกับไข่ไก่ 1 ฟอง รอเสกคลึงใส่เจ้าภาพเพื่อไล่ผีร้ายออกจากตัวผู้ป่วย 

เมื่อเตรียมอุปกรณ์เสร็จสรรพแล้ว ถึงคราวครูม้วดหรือครูเพลงของหมู่บ้านจะเข้านั่งทรงดนตรี เพื่อเริ่มบรรเลงเพลงตามขั้นตอน โดยใช้แคน ซอ ฆ้อง กลอง ในการสร้างทำนอง และนาทีนี้เอง ผู้เข้าทรงจะต้องเอามือทั้ง 2 ข้างจับไว้บนขันประจำตัวที่มีเทียนจุดไฟปักไว้หนึ่งคู่ พร้อมกับเพ่งสายตาไปยังเทียนตรงหน้า ก่อนจะค่อยๆหมุนขันไปมาเรื่อยๆ จนกว่าแม่มดจะเริ่มเข้าประทับทรง

"พอแม่มดท่านเข้าร่างนะ คนทรงบางคนก็ลุกขึ้นรำดาบ ทำท่าเหมือนต่อสู้อยู่กับอะไรสักอย่าง บางคนพอแม่มดเข้าก็เอาแต่เดินรำ เดินร้องไห้ไม่หยุด แต่ก็มีนะที่ถูกแม่มดด่าว่า เพราะคนป่วยไปทำผิดประเพณีเลยเป็นแบบนี้ จนเจ้าภาพ กับญาติๆ ต้องถามว่า เขาทำอะไรผิดแล้วต้องแก้ยังไงถึงจะหาย แล้วที่น่าแปลกคือ ส่วนใหญ่พอแก้ตามวิธีที่ร่างทรงแม่มดบอก อาการจะดีขึ้นจนหายเกือบทุกคน มันเหลือเชื่อไหมล่ะ"

รอดตายปาฏิหาริย์ เพราะแม่มด!

เรื่องเล่าถึงพิธีกรรมระบำแม่มดที่ถูกถ่ายทอดโดยลุงสมชายยังคงพรั่งพรู อาจฟังดูเลื่อนลอย ไร้น้ำหนักยากจะเชื่อถือ จนกระทั่งลุงสมชายชี้ไปยังกระท่อมไม้หลังหนึ่งซึ่งตั้งเด่นอยู่ท้ายหมู่บ้าน และที่นั่นเองที่ทำให้เราได้พบคำตอบว่า แนวทางการรักษาด้วยอำนาจที่มองไม่เห็นมีผลลัพธ์ที่ดีถึงเพียงใด ชาวศรีสะเกษหลายๆ คนถึงยอมเสี่ยงตาย ไม่ฝากชีวิตไว้กับหมอแผนปัจจุบัน

"ป้ารอดมาได้เพราะแม่มดนี่แหละลูก" น้ำเสียงเรียบ ประหยัดคำ แต่จริงจังของ ป้าบุญนาน น้อยคำยาง วัย 64 ปี ย้อนถึงที่มาที่ช่วยให้ตัวเองยังมีชีวิตมาจนวันนี้ แกเล่าว่า ราว 30 ปีก่อน หลังจากย้ายตามลุงเขื่อมสามีของแกมาอยู่ที่นี่ ด้วยความไม่คุ้นชินกับสภาพอากาศอันแห้งแล้งของตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ทำให้แกป่วยเป็นโรคไข้ป่า ต้องนอนซมอยู่บนเตียง หยอดน้ำข้าวต้ม ไม่มีเรี่ยวแรงแม้แต่จะลุกเข้าห้องน้ำ 

ทั้งสามีและเพื่อนบ้านต่างช่วยกันทุกวิถีทาง ทั้งพาไปโรงพยาบาลก็แล้ว นิมนต์พระ 9 รูปมารดน้ำมนต์ ทำบังสุกุลเป็นบังสุกุลตายต่อชะตาชีวิตก็แล้ว แต่ดูเหมือนหยูกยาแผนปัจจุบันจากโรงพยาบาล และความพิธีกรรมทางพุทธศาสนาก็ไม่อาจเยียวยาได้ จนหลายคนถึงขั้นถอดใจ ลือกันว่าแกคงไม่รอด กระทั่งเรื่องนี้ไปเข้าหูของ หมอแหล่ หรือหมอดูของหมู่บ้าน ผู้ทำนายว่า พิธีรำแม่มดเท่านั้น คือทางรอดเดียวของแก ถ้าไม่อยากให้เขาเอาวิญญาณไปต้องจัดพิธีอย่างด่วนที่สุด

"จำได้ว่าตอนที่เขาทำพิธีกัน ป้าไม่รู้สึกตัวเลย รู้แต่ว่าเขาช่วยกันอุ้มป้าไปนอนบนเตียงที่โรงปะรำ แต่ลูกสาวกับเพื่อนๆ มาเล่าให้ฟังทีหลังว่า ตอนที่อยู่ในพิธี พอคนที่เป็นร่างทรงแม่มดพูดว่า ป้าป่วยเพราะโดนของจากผีป่า ไม่ได้เป็นไข้ป่า จู่ๆ ป้าก็ลุกขึ้นมารำ แล้วก็ร้องไห้ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง 8 โมงเช้าโดยที่ป้าไม่รู้ตัว ป้าก็เลยคิดว่ามันใช่จริงๆ เพราะตอนเข้ามาอยู่ที่นี่ป้าไม่ได้ทำพิธีรับขวัญ ฝากตัวกับผีสางเทวดาในหมู่บ้านให้ถูกต้องตามประเพณี มันเป็นเรื่องสำคัญมาก ป้าเล่าแล้วยังขนลุกเลย"

ที่เป็นเช่นนี้ ป้าบุญนาน เล่าว่า ตามความเชื่อของชาวเขมร คนทุกคนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องคุ้มครองอยู่ขณะยังมีชีวิต ซึ่งในภาษาเขมรเรียกว่า "กรู" หรือ "ครู" ในภาษาบ้านเรา คือเมื่อคนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านตายไป ดวงวิญญาณก็ยังวนเวียนอยู่เพื่อคอยปกป้องดูแลลูกหลานของตน ให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในการประกอบสัมมาอาชีพ

ตามความเชื่อนี้ชนเผ่าเขมรจึงมีความเคารพและไม่ล่วงเกินต่อกันและกัน เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการทำผิดต่อครูซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลอื่น รวมถึงมีความเคารพยำเกรงต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จนมีจารีตการปฏิบัติที่แสดงออกถึงการระลึกถึงบุญคุณบรรพบุรุษอยู่เสมอ และการรำแม่มดก็คือหนึ่งในนั้น

อาจฟังดูเกินจริงหากมองในแง่วิทยาศาสตร์ ทว่า หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมรำแม่มด ป้าบุญนาน และครอบครัวก็ไม่รอช้าที่จะทำตามคำแนะนำของร่างทรง คือไปกราบขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และถวายเครื่องเซ่น 7 วัน 7 อย่างแก่วิญญาณบรรพบุรุษของหมู่บ้าน รวมถึงให้คนเฒ่าคนแก่ 30 คนจัดพิธีรับขวัญให้ ไม่นานจากหญิงสาวที่เคยนอนซมรอวันสิ้นลมอย่างช้าๆ ก็กลับมาเดินเหินใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง

"ตั้งแต่วันนั้น พอเขามีงานรำแม่มด ป้าก็ไปช่วยเขาตลอด มืดดึกยังไงก็ไป แล้วก็เห็นมาตลอดว่าหลายคนหายได้แบบไม่น่าเชื่อ" ผู้เคยรอดตายจากพิธีกรรมนี้กล่าวทิ้งท้าย

แม้ในอดีตพิธีกรรมรำแม่มดจะมีกันมากตามชายแดนไทย-กัมพูชาอย่างจังหวัดมุกดาหาร บุรีรัมย์ เป็นต้น ทว่า ปัจจุบันกลับมีเพียงจังหวัดศรีสะเกษแห่งเดียวที่ยังมีให้เห็นกันในหลายหมู่บ้าน เพราะผู้รู้ส่วนใหญ่ได้ล้มหายตายจาก จนขาดคนสืบทอดรวมถึงคนยุคใหม่บางคนที่แม้จะเชื่อศาสตร์แขนงนี้ แต่ก็กลัวอาถรรพ์ที่จะตามมา เนื่องจากผู้ทำ และผู้ประกอบพิธีต้องเคร่งครัดในกฎข้อห้ามต่างๆ 

หากฝ่าฝืนไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจ หรือหลงลืมก็ตาม จะมีภัยเข้าตัว เกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นกับชีวิต ซึ่งจากคำบอกเล่าของคนพื้นที่ มีไม่น้อยที่กลายเป็นคนวิกลจริต จึงทำให้ผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าสืบต่อ แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า วิชาพวกนี้ไม่ใช่มนต์ดำ แต่เป็นไสยขาวก็ตาม

เรื่องและภาพโดย ธิติ ปลีทอง




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



ก่อนพิธีกรรมรำแม่มดจะเริ่มขึ้น ชาวบ้านทุกคนจะช่วยกันจัดเตรียมสำรับด้วยความตั้งอกตั้งใจ
ภาพบรรยากาศของพิธีกรรม


หมอแหล่ ผู้เฒ่าชาวไทย-กัมพูชา ผู้มีวิชาอาคมแกร่งกล้าของบ้านเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน
นัยน์ตาเยือกเย็น แต่เสียงดังฟังชัด เกิดขึ้นเมื่อลุงสมชาย อินทร์แก้ว กำนันของหมู่บ้าน กำลังทำพิธีบายสีรับขวัญเป็นภาษาเขมร
สื่อแทนความอาลัย ของคนที่ยังอยู่ ถึงผู้ที่จากไป รวมถึงผีปู่ย่า และบรรพบุรุษ มักจะถูกสร้างขึ้นเมื่อหมู่บ้านมีพิธีกรรมสำคัญ เช่นรำแม่มด
กำลังโหลดความคิดเห็น