xs
xsm
sm
md
lg

เผยกล “ทุจริตสีเขียว” รุกป่า-โกยกำไร ถูกกฎหมายสไตล์ “นายทุน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สั่งรื้อ “สวนผึ้ง รีสอร์ต” ข้อหารุกพื้นที่ป่า 10 ไร่ แถมสร้างฝายทำชาวบ้านเดือดร้อน, สั่งตรวจ “โบนันซ่า สปีดเวย์” สนามแข่งรถไฮโซ สร้างเกินพื้นที่ถึง 166 ไร่ ผู้บริหารลั่นยินดีรื้อถอนคืนพื้นที่หลวง และสั่งตรวจสอบกลิ่นตุๆ ของบ้านพักหรูทางขึ้นเขาใหญ่ของ “สรยุทธ” ผู้ประกาศข่าวชื่อดังด้วยว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่... กี่ครั้งแล้วที่ “การบุกรุกพื้นที่ป่า” ของกลุ่มทุนสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ของกฎหมาย และดูเหมือนว่า “ธุรกิจคอร์รัปชัน” รูปแบบนี้จะกำจัดยากมากเข้าไปทุกที!


 

เอาหูไปนา-เอาตาไปไร่-รับไป “เงินใต้โต๊ะ”

(ขอบคุณภาพข่าว: ThaiPBS)
และแล้ว รีสอร์ตที่ใหญ่ที่สุดใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี อย่าง “สวนผึ้ง รีสอร์ต” ก็ถูกคำสั่งรื้อถอน เพราะดันไปสร้างบุกรุกพื้นที่ป่าด้านติดภูเขาถึง 10 ไร่ หนักไปกว่านั้นคือการสร้างฝายกั้นน้ำกักไว้ใช้ในรีสอร์ตจนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไปตามๆ กัน ทางกรมธนารักษ์เจ้าของที่ดินจึงขอเพิกถอนสัญญาเช่าและสั่งรื้อทั้งหมดภายใน 90 วัน เพื่อปรับพื้นที่และปลูกต้นไม้ขึ้นทดแทน
 มองในแง่ดี การมอบบทลงโทษในครั้งนี้อาจถือเป็นสัญญาณอันดีสำหรับ “ความยุติธรรม” ที่กำลังเกิดขึ้นในการจัดการเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าของทางภาครัฐ แต่หากลองมองให้ลึกไปให้ถึงโครงสร้างอันเน่าเฟะเรื้อรังจาก “การทุจริต” บนเส้นทางสีเขียวเหล่านี้มาหลายปี จะเห็นว่านี่อาจเป็นเพียงการตรวจจับอย่างจริงจังหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่เกิดขึ้น ยังมีนายทุนอีกหลายรายที่ไม่เคยได้รับบทลงโทษที่สาสมต่อการรุกพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว
 


(สนาม "โบนันซ่า สปีดเวย์" ก็ถูกตรวจสอบการรุกที่ป่า)
จำนวน 166 ไร่ 2 งาน กับอีก 40 ตารางวา คือพื้นที่ที่ทาง “โบนันซ่า สปีดเวย์” นายทุนกระเป๋าหนักแห่งเขาใหญ่เข้าไปละเมิดพื้นที่ป่า และกำลังอยู่ในระหว่างรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี เกี่ยวกับเรื่องนี้ทาง “พัทธมน เตชะณรงค์” ผู้บริหารโบนันซ่าเขาใหญ่รุ่นที่ 2 ออกมายืนยันว่าได้ที่ดินมาโดยถูกกฎหมาย หากพบว่ามีพื้นที่ส่วนไหนรุกป่า ยินดีที่จะรื้อถอนและนำไปคืนหลวง
 
ไม่เว้นแม้แต่บ้านพักสุดหรูของนักเล่าข่าวฝีปากกล้าอย่าง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ที่ส่งกลิ่นตุๆ ให้ต้องตรวจสอบว่าสรุปแล้ว โครงการบ้านจัดสรร “มูนแดนซ์” อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนหรือไม่ เนื่องจากทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยมีมติสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองที่ดินผืนดังกล่าวที่มีการออกเอกสารโดยมิชอบไปแล้ว จึงส่งให้ที่นี่กลายเป็นธุรกิจบนพื้นที่สีเขียวอีกแห่งที่ส่อพิรุธให้ต้องตรวจสอบกันต่อไป

(กลิ่นตุๆ ว่าไม่ชอบมาพากล จากบ้านพักหรูของนักเล่าข่าวชื่อดัง)

จากกรณีการบุกรุกป่าที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ชวนให้สังคมตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพราะผลจากการทำงานที่หละหลวมหรือการทุจริตคอร์รัปชันกันแน่? สำหรับ ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้มานานบอกเลยว่า “ผลประโยชน์ใต้โต๊ะ” คือกลไกสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสีเขียวหลายแห่งหมุนต่อไปได้อย่างราบรื่น

“จริงๆ แล้ว นายทุนหลายๆ แห่งที่ยังอยู่ได้ก็เพราะมีการจ่ายผลประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งนั้นแหละ ไม่งั้นจะก่อสร้างได้ยังไง ก็ต้องถามว่าแล้วทำไมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ถึงไม่รู้ตอนที่เขาสร้างและบุกรุก และส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ทั้งนั้นเลยครับ คือให้สัญญาเช่าที่ดินไป แต่ไม่ลงมาตรวจดูว่าจริงๆ แล้วรุกล้ำหรือสร้างเกินไปเท่าไหร่ อย่างสวนปาล์ม เราพบนายทุนเช่าสวมปาล์มไป 3,000 ไร่ แต่ตอนใช้จริง ใช้ไป 5,000 ไร่ และเจ้าหน้าที่ก็ไม่มาตรวจสอบ

หนักกว่านั้น พอหมดอายุสัญญาเช่าแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ไม่มาตรวจสอบอีก บางแปลง เช่ามาเป็นสิบๆ ปี เจ้าหน้าที่ก็ยังเก็บผลประโยชน์อยู่ แต่ไม่ดำเนินการเพิกถอนสิทธิจนเกิดความขัดแย้งเต็มไปหมด ส่วนบริษัทที่ได้สัมปทานนั้นก็ยังคงใช้ประโยชน์จากที่ตรงนั้นอย่างต่อเนื่อง

พอพื้นที่มันมีขนาดใหญ่ แล้วมีการตรวจจับได้ทีหลัง เจ้าหน้าที่ก็จะอ้างว่าตรวจสอบได้ไม่ทั่วถึง ทั้งที่ความจริงแล้วทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรู้หมดแหละว่ามีที่ดินแปลงไหนอยู่ตรงไหน มีสัญญาหมด แต่กลับไม่ตรวจสอบ แทนที่หมดสัญญาแล้วต้องให้นายทุนออกจากพื้นที่ แต่เนื่องจากสวนปาล์มมีผลประโยชน์มหาศาล เก็บได้เป็นสิบๆ ล้านถ้าแปลงใหญ่ พอหมดอายุสัญญาก็กลายเป็นเก็บฟรี และเอาเงินเหล่านี้ไปซุกใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบางส่วนเพื่อให้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ซึ่งพบที่กระบี่และสุราษฎร์ธานีหลายแปลง

เจ้าของที่ดิน นายทุนหลายๆ รายทุกวันนี้ ถ้าใครไม่มีอิทธิพลจริง จะไม่สามารถไปอยู่ที่ตรงนั้นได้แน่นอนครับ คิดดูว่าถ้าชาวบ้านตาสีตาสาไปสร้างบ้านตรงนั้นปุ๊บ รับรองจะถูกจับกุมดำเนินคดีทันที แต่พอเป็นกลุ่มนายทุนเข้าไป ทำไมถึงไม่มีการตรวจสอบตอนที่มีการก่อสร้าง และปล่อยให้สิ่งก่อสร้างอยู่เต็มไปหมดและทำอะไรไม่ได้ ที่วังน้ำเขียวก็ฮือฮากันอยู่พักนึง และตอนนี้ก็เงียบไปแล้ว”


 

ทุจริตเต็มสตรีม! ทั้ง “บิน” ทั้ง “บวม”
“ส.ค.1” (หลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน) คือตัวแปรสำคัญที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้ฉ้อฉลใช้แลกเงินใต้โต๊ะ เนื่องจากพื้นที่หลายแห่งรอบเขตป่าสงวนมีความสุ่มเสี่ยงต่อข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า และในหลายๆ พื้นที่หน่วยงานก็ประกาศพื้นที่ป่าสงวนทับหมู่บ้านที่ตั้งรกรากมาก่อน ทำให้ผู้อยู่อาศัยเดิมต้องเอาหลักฐานมาแสดงสิทธิเพื่อเป็นการพิสูจน์สิทธิที่จะสามารถอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ได้ มิเช่นนั้นจะมีความผิดฐานบุกรุกเขตป่าสงวน

แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่มาตรการที่ทางรัฐใช้ทุกวันนี้ยังไม่เป็นธรรมอยู่หลายอย่าง เช่น การใช้ภาพถ่ายทางอากาศที่ย้อนไปปีที่ประกาศป่าสงวนแห่งชาติเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว มีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องความลาดชันและพื้นที่ล่อแหลมเพิ่มขึ้นมาเพื่อตัดสิทธิที่ดินบางพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านเจ้าของที่ที่เข้าไปพิสูจน์สิทธิจาก 100 แปลง ผ่านได้แค่ 16 แปลงก็มี ที่เหลือถูกตราหน้าให้เป็น “ผู้บุกรุกป่า” ทั้งหมด เมื่อชาวบ้านไม่มีทางเลือก จึงตัดสินใจขายที่เหล่านี้ให้แก่นายทุนที่เข้ามากว้านซื้อ และเมื่อกลุ่มทุนเข้าไปพิสูจน์สิทธิบนที่ดินเดียวกัน กลับได้รับการรองรับให้ผ่านแบบสองมาตรฐาน ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมบอกเอาไว้อย่างนั้น

“มีนายทุนเข้าไปสวมและแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะจุดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม โดยเฉพาะเขาใหญ่และสวนผึ้ง จากเดิมปัญหาการบุกรุกเกิดจากชาวบ้าน แต่พอมีคนเข้าไปซื้อที่จากชาวบ้านและออกเอกสารสิทธิได้ หลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไป
เราพบว่ามีการทุจริตจากการออกเอกสารสิทธิด้วย จากเดิมที่ดินเดียวกันนี้ที่ชาวบ้านครอบครองมาเป็น 20-30 ปี ไปขอเอกสารสิทธิจากภาครัฐกลับไม่สำเร็จ แต่พอเปลี่ยนมือมาเป็นของนายทุน ไปขอกลับได้เอกสารสิทธิ สามารถออกโฉนดได้จากการใช้ช่องว่างของกฎหมาย


การทุจริตเอกสารสิทธิมีหลายรูปแบบ ทั้งที่เรียกว่า “ส.ค.1 บิน” คือที่ดินที่บินมาจากที่อื่น ออกเอกสารสิทธิจากที่อื่นแล้วมาสวมรอย และ “ส.ค.1 บวม” คือจากที่ดินเดิมมี 4 ไร่ พอนายทุนซื้อไปแล้ว ไปออกเอกสารสิทธิ ออกโฉนดเป็น 30-40 ไร่ก็มี อย่างกรณีที่เกิดกับเกาะหลีเป๊ะชัดเจนมาก คือ ส.ค.1 บวม ที่ดินที่ควรจะถือครองมันบวมออกมาจากเดิม

หลายกรณีที่เกิดขึ้นมันสะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจอิทธิพลของกลุ่มทุนเลยครับ ซึ่งในบางพื้นที่หนักถึงขนาดจ่ายเป็นรายเดือนให้กับกรมป่าไม้และหน่วยอุทยานฯ ในพื้นที่เลย เพื่อให้เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ และบางทีก็มีการใช้ชาวบ้านเป็นโล่กำบังด้วย พอจะตรวจจับการบุกรุกก็จะอ้างว่า ทำไมจะจับแต่เขา ต้องจับชาวบ้านด้วยสิ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องเลือกพิจารณาระหว่าง ชาวบ้าน กับ นายทุน ต่างกันไปตามความยุติธรรม”

“แนวกั้นไม่ชัด” คืออีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ส่งให้การทุจริตเหล่านี้ไม่จบสิ้นเสียที “ปรีดา คงแป้น” ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินและการบุกรุกของคนชายขอบ ช่วยอธิบายเพิ่มเติม

“เวลาประกาศเขตอุทยานฯ เช่น เขตเกาะหลีเป๊ะ เขตเกาะอาดัง ครั้งที่ผ่านมา เห็นเลยว่าเป็นการประกาศมั่วซั่วโดยที่ไม่มีความชัดเจน แม้แต่กรมที่ดินกับทางอุทยานฯ ทุกวันนี้ยังทะเลาะเรื่องแนวเขตกันอยู่เลยค่ะว่าเขตของใครอยู่ตรงไหนกันแน่ เพราะมันจะมีเขตที่กรมที่ดินออกเอกสารสิทธิให้เฉพาะบางพื้นที่ด้วย ตรงนี้คือปัญหาใหญ่เรื่องแนวเขตและการจัดการที่ไม่ชัดเจนเด็ดขาด โดยเฉพาะปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่เรื้อรังมานาน

วิธีที่จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด เกิดความขัดแย้งให้น้อยที่สุดคือ การแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วม คือให้ส่วนท้องถิ่นมาร่วมดูแนวเขตกัน มีการตั้งกรรมการร่วมในระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธานและมีเจ้าหน้าที่จากทั้งกรมป่าไม้, อุทยานฯ และชาวบ้านด้วย มาดูกันว่าเขตที่ชาวบ้านเคยอยู่แต่เดิมมันมีแค่ไหนแล้วก็ทำแนวเขตกัน ตกลงกันว่าจะไม่บุกรุกเพิ่ม ส่วนวิธีการสนธิกำลังของทหารแบบไม่รู้หน้ารู้หลังเข้ามาล้อมจับการบุกรุก อาจทำให้ตกเป็นเครื่องมือการถูกหลอกใช้ได้

อย่างที่ภูเก็ตเป็นตัวอย่างของการกำหนดแนวป่าที่ชัดเจนดีนะคะ จากที่มีชาวบ้านอยู่ตรงสัมปทานเหมืองแร่ตรงนั้น ซึ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นเขตป่าชายเลน ก็เลยทำแนวแบ่งเขต ขุดคูคลองล้อมรอบหมู่บ้าน ทำให้เห็นชัดว่าจุดไหนเป็นแนวคูคลองเป็นที่ปลูกป่าชายเลน จุดไหนเป็นพื้นที่หมู่บ้าน หรือบางที่ก็ทำแนวกันไฟไว้ระหว่างหมู่บ้านกับป่าด้วยการปลูกต้นหมาก-ต้นมะพร้าวกันไว้ ทำให้เข้าใจกันได้ชัดเจนมากขึ้น”

มองตามความเป็นจริง การทำแนวกั้นระหว่างพื้นที่ป่าสงวนให้ชัดเจนคงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป แต่ที่ทำไม่สำเร็จและเป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ คุณประยงค์ ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มองว่าเป็นเพราะเจตนาที่ไม่อยากทำให้มันชัดมากกว่า

ก็ถ้าทำแล้วเขาจะกินอะไรกันล่ะ เพราะจริงๆ แล้วการทำให้แนวชัดมันก็ไม่ได้ยากอะไร ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศก็ได้ หรือแม้แต่ชาวบ้านเองก็ใช้พิกัด GPS มาช่วยได้ แค่มีเงิน 20,000-30,000 ก็ทำได้แล้ว”


 

แยกให้ออก “งู” หรือ “ปลาไหล”?
ทุกวันนี้ที่ปัญหาที่ดินในบ้านเรามีความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมมาก เป็นเพราะไม่มีการ “จำกัดการถือครองที่ดิน” ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ผู้ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาที่ดิน บอกอย่างนั้น

“เราจะสูญเสียที่ดินป่าไปเรื่อยๆ ถ้าไม่จำกัดการถือครองที่ดินและปล่อยให้นายทุนซื้อที่ดินเท่าไหร่ก็ได้ พอคนจนไม่มีที่มาบุกรุก ทางเราก็เลยเสนอให้มีการจำกัดการถือครองที่ดิน หรือไม่ก็ควรจะต้องเก็บ “ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า” ใครถือครองมาก ควรจะต้องจ่ายมาก อันนี้เป็นร่างหนึ่งใน พ.ร.บ.แก้ปัญหาที่ดินและความเป็นธรรม 4 ฉบับ (4 Laws for poor) ที่เราเสนอไป

พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับนั้น ประกอบไปด้วย 1. “พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “โฉนดชุมชน” 2. “พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน” คือคนจนที่ไม่มีที่ดินมีสิทธิที่จะเข้าถึง 3. “พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า” เพื่อจำกัดการถือครองที่ดิน ให้คนรวยกระจายที่ดินออกมา ไม่ให้ที่ดินไปอยู่ในมือคนรวยเพียงไม่กี่กลุ่ม ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศที่ถือครองอยู่ และ 4. “พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม” ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนจนในกรณีต่างๆ โดยเฉพาะกรณีที่ดิน

ปัญหาที่ดินมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างว่าเราไม่จำกัดการถือครองที่ดิน เราไม่มีกฎหมายที่ดินอัตราก้าวหน้า ทำให้ที่ดินจำนวนมากของเราถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่า เคยมีนักวิชาการคำนวณเอาไว้ว่าที่ดินที่ปล่อยทิ้งรกร้าง เสียมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่าประมาณ 120,000 ล้านบาท ด้วยปัญหาจากเรื่องการถือครองที่ดิน มันก็นำไปสู่ปัญหาการบุกรุกป่า ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในสังคมด้วย”


(อวสาน "สวนผึ้ง รีสอร์ต")
ถ้าพูดถึงรูปแบบการบุกรุกทั้งหมด จะแบ่งออกเป็น 2 แบบหลักๆ คือ “นายทุนบุกรุก” กับ “ชาวบ้านบุกรุก” การที่ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่านั้น เกิดมาจากการไม่มีที่ดินทำกิน ส่วนนายทุนที่บุกรุกเป็นเพราะต้องการทำรีสอร์ตและเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งต้องมีบทลงโทษและจัดการด้วยวิธีแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมและยุติธรรม

การพิสูจน์เรื่องบุกรุกพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดที่ทางคณะทำงานเรียกร้องขอให้มีคือ การขอให้มี “กลไกกลาง” ลงมาพิสูจน์ คือไม่ใช่ว่าทาง วนอุทยานฯ เป็นฝ่ายมีข้อพิพาทกับทางชาวบ้าน เนื่องจากเป็นคนประกาศแนวเขตป่าสงวนเอง แล้วทางอุทยานฯ ลงมาพิสูจน์เอง แบบนี้ชาวบ้านเขาก็ไม่เชื่อ-ไม่ยอมรับ ก็เลยต้องเน้นความร่วมมือกับชาวบ้านเป็นหลัก พอตรวจสอบแล้วว่าค่อยมาตกลงกันว่าจะให้ชุมชนมีสิทธิใช้ร่วมกันได้แค่ไหนยังไง ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะถือเป็นการป้องกันการขายที่สงวนตรงนี้ให้หลุดไปอยู่ในมือกลุ่มนายทุนด้วย

ส่วนตัวแล้ว เห็นด้วยกับการที่ทางรัฐลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งทุนใหญ่ๆ ที่บุกรุกป่าหรือที่ดินรัฐนะคะ เพราะโดยส่วนใหญ่ วัดจากประสบการณ์ บอกได้เลยว่า 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปเกิดมาจากการบุกรุกโดยมิชอบอยู่เยอะ เมื่อตรวจสอบว่ารุกล้ำพื้นที่จริงก็น่าจะแก้ปัญหาด้วยการให้ส่งมอบพื้นที่คืนรัฐ

แต่ถ้าเป็นกรณีการบุกรุกจากระดับบุคคล ไม่ใช่แหล่งทุนใหญ่ เป็นหมู่บ้านในชุมชนดั้งเดิม ควรแก้ปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งคือ ใช้ “โฉนดชุมชน” เขามาช่วยแก้ปัญหา กันแนวให้ชัดว่าให้ชุมชนอยู่ในที่ดินตรงนี้นะ 20 ไร่ แล้วก็กันแนวป่าเอาไว้เลย ห้ามรุกล้ำ และให้คนในชุมชนช่วยดูแลป่าด้วย ถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบประนีประนอม และที่เราต้องประนีประนอมกับคนในชุมชน กับเกษตรกรก็เพราะการรุกล้ำในจุดนี้มันไม่ได้เกิดจากเจตนา แต่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างมาตั้งแต่ก่อนกำหนดเขตด้วยซ้ำ ทำให้พื้นที่ของเขาเบียดแนวป่าไปแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าทางรัฐจะจัดการเรื่องปัญหาการรุกล้ำแนวป่าอย่างจริงจัง ก็ควรจะแยกให้ชัดว่าจะจัดการอย่างถูกต้องยุติธรรมแบบไหนต่อ นายทุน และ ชุมชน

สอดคล้องกับหลักการของที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) เสนอเอาไว้ว่า “การจัดการกับเรื่องนี้นั้นต้องแยก “งู” ออกจาก “ปลาไหล” ด้วย ตัวชาวบ้านที่อยู่มาก่อนจะประกาศเขตป่าทับ ถือว่าชาวบ้านไม่ได้มีเจตนา ควรจะได้รับอนุญาตให้อยู่ได้ แต่ว่าทุกวันนี้มีทั้งงูมาอยู่รวมกับปลาไหลด้วย มีกลุ่มนายทุนมาอยู่กับชาวบ้าน คือว่ารูปร่างมันคล้ายกัน แต่อีกตัวดันมีพิษ อีกตัวไม่มีพิษ

ที่สำคัญ อาจจะต้องยกเลิกภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่เมื่อ 20-30 ปีก่อนที่เคยใช้แบ่งแนวกั้นป่าสงวนไปให้หมด แล้วประกาศให้ใช้แค่ตัวเดียว ภาพถ่ายทางอากาศปี 45 จะได้ไม่ต้องเป็นปัญหาเรื่องการกำหนดแนวกั้นไม่ตรงกันขึ้นมาอีก และต่อไปถ้าใครบุกรุกแนวนี้อีกก็จับดำเนินคดีตามกฎหมาย พอทุกอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตรวจสอบได้ง่าย คอร์รัปชันยากขึ้น เดี๋ยวก็จะช่วยให้ทุจริตกันน้อยลงไปเอง


ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น